คำนำ

ตามราชประเพณีมีมาแต่โบราณ การศึกษาของเจ้านายซึ่งเปนพระราชโอรสแลพระราชธิดา กวดขันยิ่งกว่าบุคคลจำพวกอื่น จำเดิมแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ในพระราชวัง พอรู้ความก็ต้องเริ่มทรงศึกษาอักขรสมัย แต่เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๕ ยังไม่ได้ตั้งโรงเรียนชั้นปฐมศึกษาสำหรับเจ้านาย จึงเรียนในสำนักเจ้านายพระองค์หญิง ซึ่งเปนผู้ใหญ่พระองค์ใดพระองค์หนึ่งเปนอาจารย์ (เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด ฯ ให้หม่อมเจ้าแลราชินีกูลที่เข้ามารับราชการฝ่ายในเล่าเรียนอักขรสมัยจนถึงชั้นสูง ท่านเหล่านี้มาได้เปนอาจารย์เมื่อรัชกาลที่ ๔ มีบ้าง) เจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ทรงศึกษาเบื้องต้นไปจนได้ความรู้ชั้นอ่านเขียน หรือถ้าจะเรียกอย่างปัจจุบันนี้ก็คือจนสำเร็จชั้นปฐมศึกษาก่อนพระชันษาได้ ๑๐ ปี ต่อนั้นถึงเวลาเรียนชั้นมัธยม คือเรียนภาษาไทยชั้นสูงขึ้นไป แลเริ่มเรียนภาษามคธ เรียนในสำนักอาจารย์เดิมบ้าง ไปเรียนต่ออาลักษณ์หรือราชบัณฑิตเปนอาจารย์บ้าง จนพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ คือพระราชกุมารเมื่อพระชันษาได้ ๑๓ ปี พระราชกุมารีเมื่อพระชันษาได้ ๑๑ ปี ตั้งแต่นี้ไปการศึกษาจึงได้แยกกัน ฝ่ายพระราชกุมารเมื่อไปทรงผนวชเปนสามเณร เล่าเรียนศีลธรรมแลพระสาสนาในสำนักพระอุปัชฌาย์อาจารย์ตามสมควรแก่พระชันษา แล้วลาผนวชมาประทับอยู่ฝ่ายหน้า แต่นี้ไปทรงศึกษาวิชาฉะเพาะอย่างตามพระอัธยาศัย คือศิลปศาสตร เช่นหัดทรงช้างม้าแลใช้เครื่องศัสตราวุธก็ดี หัตถกรรมทำการช่างต่าง ๆ ก็ดี นิติศาสตร์ราชประเพณีแลวรรณคดีก็ดี ชั้นนี้ทรงศึกษาในสำนักเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญในการนั้นๆ ไปจนพระชันษาได้ ๒๑ ปี ออกทรงผนวชเปนพระภิกษุ เทียบตรงกับเข้ามหาวิทยาลัย ทรงศึกษากิจในพระสาสนาชั้นสูงขึ้นไปถึงสมถภาวนาแลวิชาวรรณคดีถึงชั้นสูงสุด หรือวิชาอื่นอันไม่ขัดแก่สมณสารูป จนเสร็จการศึกษาลาผนวชก็เข้ารับราชการได้ตามคุณวิชา ฝ่ายพระราชกุมารีนั้น เมื่อทรงพระเจริญขึ้น ย่อมคงประทับอยู่ในพระราชวังตลอดไป ทั้งเปนสัตรีภาพไม่มีกิจซึ่งทรงศึกษาวิชาชาย การที่ทรงศึกษาต่อจากชั้นปฐมขึ้นไป ก็มีศีลธรรมแลพระสาสนาเปนต้น นอกจากนั้นก็อยู่ในวิชาวรรณคดีกับหัดถกรรมกระบวรช่างเปนพื้น บางพระองค์จึงทรงศึกษาต่อขึ้นไปถึงวิชาอื่นอันจะพึงเรียนได้ด้วยการอ่านตำหรับตำรา คือ วิชาเลข วิชาโหราศาสตร์ แลโบราณคดีเปนต้น ตามพระอัธยาศัย ถึงกระนั้นบันดาพระราชกุมารีย่อมได้ทรงศึกษามากทุกพระองค์ จึงได้มีเจ้านายพระองค์หญิงสามารถเปนองค์อาจารย์สั่งสอนเจ้านายซึ่งทรงพระเยาว์สืบต่อกันมาไม่ขาดทุกรัชกาล

การแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนนิยมกันมาแต่ก่อนว่าเปนองค์สำคัญอันหนึ่งของความรอบรู้วรรณคดี บันดาพระราชกุมารีแม้ทรงศึกษาวิชาอื่นตามพระอัธยาศัย แต่ส่วนวิชาวรรณคดีนั้นทรงแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนได้แทบทุกพระองค์ ผิดกันแต่สามารถยิ่งแลหย่อนหรือพระหฤทัยโปรดมากแลน้อยกว่ากัน แต่มีพระราชกุมารีบางพระองค์ซึ่งทรงสามารถโดยมีพระอุปนิสัยในทางวรรณคดีถึงได้รับความยกย่องของคนทั้งหลาย ว่าอาจแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนดีถึงกวีที่เปนชาย พระราชกุมารีซึ่งทรงพระเกียรติดังนี้มีน้อยพระองค์ ในครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ปรากฎพระนามสมเด็จพระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกษฐ ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงแต่งบทละคอนเรื่องอิเหนาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากุณฑลซึ่งทรงแต่งบทละคอนเรื่องดาหลัง (อิเหนาใหญ่) พระองค์ ๑ มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระองค์เจ้ามณฑาพระองค์ ๑ กับพระองค์เจ้าอุบลพระองค์ ๑ ได้ทรงแต่งหนังสือไว้หลายเรื่อง ที่ควรชมว่าเปนอย่างดียิ่งนั้น คือ “กุมารคำฉันท์” ซึ่งช่วยกันแต่งทั้ง ๒ พระองค์ ยังปรากฎอยู่ ในรัชกาลที่ ๓ ก็มีพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งทรงสถาปนาเปนกรมหลวงวรเสรษฐสุดาเมื่อรัชกาลที่ ๕ อีกพระองค์ ๑ ซึ่งนับถือกันว่าทรงสามารถแต่งบทกลอนสู้กวีผู้ชายได้ ถึงได้ทรงรับเชิญให้แต่งโคลงเรื่องรามเกียรติ์สำหรับจารึกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือห้องที่ ๒๐ ตอนพระรามเข้าสวนพิราพปรากฎอยู่ ต่อนั้นมาถึงพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ซึ่งได้รับความนิยมยอมทั่วกันหมด ว่าพระองค์ทรงเชี่ยวชาญวรรณคดี แลเปนกวีแต่งดีสู้ผู้ชายได้

ในส่วนสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ นั้น แต่เดิมนอกจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็มิใคร่มีใครทราบว่าทรงสามารถในวรรณคดีดังกล่าวมา จนเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณให้แต่งสุภาสิตคนละบทสำหรับรวมเข้าเปน “หนังสือวชิรญาณสุภาสิต” พิมพ์พระราชทานแจกเปนที่ระลึกในงารฉลองหอพระสมุดวชิรญาณในปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ทรงพระนิพนธ์สุภาสิตเปนโคลงดั้น ๒ บทส่งมาลงพิมพ์ พอปรากฎก็มีเสียงสรรเสริญแลยอมทั่วกันหมดในทันทีว่าทรงสามารถแต่งสู้กวีผู้ชายได้ แลโคลงดั้น ๒ บทนี้มีผู้ชอบจนจำกันได้ก็มาก แต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ โปรดทรงศึกษาวิชาการอย่างอื่นอีก คือโบราณคดีแลราชประเพณีเปนต้น ประกอบกับทั้งที่ทรงมีหน้าที่รับราชการเปนราชเลขาธิการฝ่ายในสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงมิได้มีโอกาศทรงแต่งบทกลอนเรื่องอันใดไว้อย่างยืดยาว เปนแต่ทรงพระนิพนธ์อย่างแต่งเล่นบ้าง ทรงแต่งกับเจ้านายชั้นพระภคินีบ้าง ทรงแต่งทูลเกล้า ฯ ถวาย แลแต่งประทานผู้ซึ่งชอบพระอัธยาศัยบ้าง เปนบางมื้อบางคราว พระนิพนธ์ของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ จึงยังมิได้พิมพ์อยู่โดยมาก ใช่แต่บทกลอน ถึงความร้อยแก้วซึ่งได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ก็ทรงแต่งดี จะยกตัวอย่างดังพระโอวาทประทานสมเด็จพระโอรสเมื่อจะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการในยุโรป ซึ่งได้พิมพ์ไว้ด้วยในสมุดเล่มนี้ ใครอ่านก็จับใจแลต้องเห็นว่าสู้สำนวนผู้ชายได้

เมื่อสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ เสด็จสิ้นพระชนม์ลง ข้าพเจ้าผู้แต่งคำนำนี้ได้เคยอ่านพระนิพนธ์ของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ มาแต่ก่อนเนือง ๆ คิดเห็นว่าควรจะรวมพิมพ์ขึ้นไว้เฉลิมพระเกียรติ์เนื่องในงารพระศพ ได้กราบทูลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต แลทูลพระเจ้าบรมวงศเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วย จึงโปรดให้ค้นสำเนาพระนิพนธ์ของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ประทานมาให้รวบรวมพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ขนานนามว่า “สุขุมาลนิพนธ์” สำหรับแจกเปนที่ระลึกในวันทรงบำเพ็ญพระกุศล เมื่อพระศพครบปัญญาสมวาร

อนึ่งในการพิมพ์หนังสือสุขุมาลนิพนธ์นี้ พระโสภณอักษรกิจ เจ้าของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรกราบทูลขออนุญาตพิมพ์ถวายสนองพระคุณสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ แลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศได้ทรงคิดลายหน้าใบปกถวาย นายพลตรี พระยาภักดีภูธร เจ้ากรมแผนที่ทหารบก ก็ได้รับทำพระรูปในสมุด สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตมีพระประสงค์จะทรงแสดงความขอบพระคุณแลขอบคุณท่านผู้ที่ได้ช่วยให้ปรากฎด้วย

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

วันที่ ๑๖ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๐

  1. ๑. กุมารคำฉันท์ พระนิพนธ์ของพระองค์เจ้าหญิงมณฑากับพระองค์เจ้าหญิงอุบล หอพระสมุด ฯ ได้พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ