พระราชปุจฉา ว่าด้วยชาวอุดรกุรูมิได้เปนทุกข์

ศักราช ๑๐๔๔ ปีจอศก ในวัน ๕ ๑๑ ค่ำ (พ.ศ. ๒๒๒๕) มีพระราชโองการตรัสถามว่า ในสารสงเคราะห์ว่าชาวอุดรกุรู มิได้เปนทุกข์ถึงกัน แลว่านี้ผิดปรมัตถ์ เพราะว่าโลกีย์จะว่ามิเปนทุกข์กะไรได้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายพระพรว่า โลกีย์มิพ้นทุกข์ได้ มีในนิทานว่าพระโพธิสัตว เมื่อบังเกิดเปนพราหมณ์ชาติหนึ่งนั้น ก็ภาวนามรณานุสสติ แล้วสั่งสอนคนทั้ง ๕ คน คือภรรยาแลบุตรแลธิดาแลลูกสใภ้แลทาษี ให้ภาวนามรณานุสสติว่า “อิเมสํ สตฺตานํ มรณํ ธุวํ ชีวิตํ อธุวํ สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ขยวยธมฺมิโน” อันว่าความตายแห่งสัตวทั้งหลายนี้ เปนอันเที่ยงแท้ อันว่าชีวิตรแห่งสัตวทั้งหลายนี้บมิตั้งอยู่เปนอันมั่นคงเที่ยงแท้ อันว่าสังขารธรรมทั้งหลายบมิเที่ยงย่อมมีสภาวรู้สิ้นรู้ปไลย คนทั้ง ๕ คนนั้น ก็ภาวนาทั้งกลางวันกลางคืนบมิได้ประมาท ในกาลวันหนึ่ง พราหมณ์กับบุตรไปไถนาบุตรนั้นเก็บหญ้าไปเผา งูอสรพิษก็ขบบุตรๆนั้นล้มลง พราหมณ์แล่นไปดูก็รู้ว่าบุตรนั้นถึงแก่มรณะแล้ว จึงเอากเฬวระบุตรนั้นไปนอนไว้ใต้ร่มไม้เอาผ้าคลุมไว้ แล้วก็ไปไถนา จึงสั่งแก่บุรุษเพื่อนบ้านอันจะเข้าไปบ้านนั้น ว่าท่านจงไปบอกแก่นางพราหมณีผู้เปนภรรยาอาตมา ว่าวันนี้เอาอาหารมาแต่พอผู้เดียวเถิด แลให้คนทั้ง ๔ นั้นถือเอาดอกไม้แลของหอมแล้ว นุ่งห่มผ้าขาวมาด้วยกันทั้ง ๔ คนนั้นเถิด บุรุษเพื่อนบ้านไปบอกแก่นางพราหมณี กับคนทั้ง ๓ นั้น ก็รู้ว่ากุมารนั้นตายแล้ว แลคนทั้งสิ้นนั้นบมิได้เปนทุกข์โศกน่อยหนึ่ง เหตุกระทำมรณานุสสติ แลอันนี้จะสัญญาไว้ในใจมั่นคงแล้ว จึงมารู้ด้วยอาการอันพราหมณ์สั่งไปนั้น ให้พราหมณ์บริโภคอาหารแล้ว คนทั้ง ๕ คนนั้นเก็บฟืนมาทำเชิงตกรฌาปนกิจกเฬวระนั้น แลบุตรอันตายนั้นก็ไปบังเกิดเปนพระอินทร์ ๆ ก็พิจารณาดูก็รู้ซึ่งการณ์นั้น จึงนฤมิตรเปนพราหมณ์ก็มาในที่นั้น จึงถามพราหมณ์ผู้เปนบิดา ว่าท่านเผาเนื้อฤๅเผาอันใด พราหมณ์ผู้เปนบิดาจึงบอกว่าอาตมาเผากเฬวระบุตรแห่งอาตมา พระอินทร์ว่าบุตรผู้นี้บมิเปนที่รักแก่ท่านแลฤๅ พราหมณ์ผู้เปนบิดาจึงบอกว่าบุตรผู้นี้เปนที่รักแก่อาตมายิ่งนักแล พระอินทร์จึงว่าเหตุดังฤๅท่านจึงมิได้ร้องไห้รักบุตรนั้นเล่า พราหมณ์เมื่อจะบอกเหตุการณ์อันมิร้องไห้รักบุตรนั้น จึงกล่าวเปนพระคาถาดังนี้

๑ “อุรโคว ตจํ ชิณฺณํ หิตฺวา คจฺฉติ สนฺตนุํ
เอวํ สรีเร นิพฺโภเค เปเต กาลกเต สติ
ฑยฺหมาโน น ชานาติ าตีนํ ปริเทวตํ
ตสฺมา เอตํ น โสจามิ คโต โส ตสฺส ยา คติ”

อันว่างูอันลอกคราบอันชรานั้นออกแล้ว ก็ละคราบเสีย ก็ไปตามปราถนา แลมีอุปมาดุจใด ในเมื่อบุทคลกระทำกาลกิริยาแลไปยังปรโลกนั้นแลมี บุทคลผู้นั้นก็ย่อมละเสียซึ่งสรีระอันปราศจากวิญญาณแลบ่มิเปนที่จะบริโภคแห่งผู้อื่นนั้นเสียแล้วก็ไป ก็มีอุปไมยดุจนั้น กเฬวระอันเผาด้วยเพลิงนี้ บมิรู้ซึ่งศุขแลทุกข์ แลมีอุปมาดุจใด บุทคลผู้ไปยังปรโลกก็บ่มิรู้ซึ่งภาวะอันร้องไห้ร่ำไรแห่งญาติทั้งหลายก็มีดุจนั้น เหตุการณะดังนั้น อาตมาจึงบมิเปนทุกข์โศกร้องไห้ถึงบุตรนั้นแล อันว่าคติอันใดจะเปนที่ไปแห่งบุตรนั้น บุตรนั้นก็ไปสู่คตินั้นแล้วแล

พระอินทร์ก็ถามนางพราหมณีผู้เปนมารดานั้นว่า บุทคลผู้มรณะนี้เปนอะไรแก่ท่าน นางพราหมณีผู้เปนมารดาบอกว่า บุทคลผู้มรณะนี้เปนบุตรแห่งอาตมาภาพแล พระอินทร์ก็ว่า เหตุดังฤๅท่านจึงมิร้องไห้รักบุตรเล่า นางพราหมณีเมื่อจะบอกเหตุอันมิร้องไห้นั้น ก็กล่าวพระคาถาดังนี้

๒ “อนฺวหิโต คโต อาคา นานุฺาโต อิโต คโต
ยถา คโต ตถา คโต ตตฺถ กา ปริเทวนา
ฑยฺหมาโน น ชานาติ าตีนํ ปริเทวตํ
ตสฺมา เอตํ น โสจามิ คโต โส ตสฺส ยา คติ”

อันว่าบุทคลผู้นี้ เมื่อจะมาแต่ปรโลกนั้น อาตมาจะได้ไปเรียกไปหาวิงวอนให้มาหามิได้ก็มาเอง เมื่อจะไปปรโลกนั้นเล่า อาตมามิได้อนุญาตให้ไปก็ไปเอง มาด้วยประการฉันใด ก็ไปด้วยประการฉันนั้น แลกิริยาอันร้องไห้นั้นจะเปนประโยชน์ดังฤๅแก่อาตมภาพนี้ กเฬวระอันเผาด้วยเพลิงแลบมิรู้จักศุขแลทุกข์นั้นดุจใด บุทคลผู้ไปปรโลกนั้นบ่มิรู้ซึ่งสภาวะอันร้องไห้แห่งญาติทั้งหลาย ดุจนั้น เหตุการณ์ดังนั้น อาตมภาพจึงบมิร้องไห้รัก อันว่าคติอันใดแลเปนที่ไปแห่งบุทคลผู้นั้น ๆ ก็ไปสู่คตินั้นแล้วแล

พระอินทร์จึงถามนางกุมารีผู้เปนภคินีนั้นว่า บุทคลผู้นี้เปนอะไรแก่ท่าน ภคินีจึงบอกว่าเปนพี่ชายแห่งข้า พระอินทร์ว่าพี่ชายย่อมเปนที่รักแก่น้องหญิง เหตุการณ์ใดท่านจึงมิร้องไห้รักพี่ชายท่านเล่า ภคินีเมื่อจะบอกการณ์อันมิได้ร้องไห้นั้น จึงกล่าวพระคาถาดังนี้

๓ “สเจ โรเท กิสา อสฺสํ ตสฺสา เม กึ ผลํ สิยา
าติมิตฺตา สุหชฺชานํ ภิยฺโย โน อรตี สิยา
ฑยฺหมาโน น ชานาติ าตีนํ ปริเทวตํ
ตสฺมา เอตํ น โสจามิ คโต โส ตสฺส ยา คติ”

ว่าข้านี้ ถ้าจะร้องไห้ร่ำไรถึงพี่ชายอันไปสู่ปรโลกนั้น ข้าก็จะไผ่ผอมเสียเปล่าก็จะพึงมี อันว่าผลประโยชน์ดังฤๅจะมีแก่ข้าด้วยอันร้องไห้นั้น อันว่าทุกข์โศกอันยิ่งก็จะบังเกิดแก่ญาติมิตรสหายแห่งข้า เหตุเล็งเห็นซึ่งข้าอันร้องไห้นั้น กเฬวระอันเผาด้วยเพลิงนี้แลมิรู้จักความศุขทุกข์ ดุจใด บุทคลทำกาลกิริยาแล้วนั้น ก็บมิรู้ซึ่งสภาวะอันร้องไห้ร่ำไรแห่งญาติทั้งหลาย ก็มีดุจนั้น แลเหตุการณ์ดังนั้น ข้าจึงมิได้ร้องไห้ คติอันใดอันเปนที่ไปแห่งพี่ข้านั้น ๆ ก็ไปสู่คตินั้นแล้วแล

พระอินทร์จึงถามภรรยาว่า บุทคลผู้นี้เปนอะไรแก่ท่าน ภรรยาจึงบอกว่า เปนสามีแห่งข้า พระอินทร์จึงว่าเหตุการณ์อันใด ท่านจึงมิได้ร้องไห้รักสามีแห่งท่าน ภรรยานั้นเมื่อจะบอกซึ่งการณ์มิได้ร้องไห้นั้น จึงกล่าวพระคาถาดังนี้

๔ “ยถาปิ ทารโก จนฺทํ คจฺฉนฺตํ อนุโรทติ
เอวํ สมฺปทเมเวตํ โย เปตมนุโสจติ
ฑยฺหมาโน น ชานาติ าตีนํ ปริเทวตํ
ตสฺมา เอตํ น โสจามิ คโต โส ตสฺส ยา คติ”

อันว่าบมิรู้สิ่งอันจะพึงได้ อันจะบมิพึงได้ก็ร้องไห้ เพื่อประโยชน์จะเอาพระจันทร์อันไปในอากาศ แลมีอุปมาดุจใด อันว่าบุทคลผู้ใดแลร้องไห้เพื่อประโยชน์จะเอาบุทคลอันไปยังปรโลก ก็มีอุปมาดุจนั้น เหตุดังนั้น ข้าจึงมิได้ร้องไห้หาสามีแห่งข้า อันว่ากเฬวระอันเผาด้วยเพลิงแลบมิรู้จักซึ่งความศุขแลทุกข์ ดุจใด บุทคลไปยังปรโลกบมิรู้ซึ่งสภาวะอันร้องไห้ร่ำไรแห่งญาติทั้งหลาย ก็มีดุจนั้น อันว่าคติอันใดอันเปนที่ไปแห่งสามีแห่งข้า สามีข้าก็ไปสู่คตินั้นแล

พระอินทร์จึงถามทาษีว่า ผู้ตายนี้เปนอะไรแก่ท่าน ทาษีก็บอกว่าเปนเจ้าแห่งข้า พระอินทร์จึงว่า เหตุใดท่านจึงมิร้องไห้รักเจ้าแห่งท่านเล่า ทาษีจึงบอกเหตุอันมิได้ร้องไห้นั้น จึงกล่าวคาถาดังนี้

๕ “ยถาปิ อุทกกุมฺโภ ภิณฺโณ อปฺปฏิสนฺธิโย
เอวํ สมฺปทเมเวตํ โย เปตมนุโสจติ
ฑยฺหมาโน น ชานาติ าตีนํ ปริเทวตํ
ตสฺมา เอตํ น โสจามิ คโต โส ตสฺส ยา คติ”

อันว่ากละออมอันแตกแล้วนั้นก็บมิต่อเข้าได้ แลมีอุปมาดุจใด อันว่าบุทคลผู้ไปยังปรโลกแล้วนั้นก็บคืนดุจนั้น บุทคลผู้ใดร้องไห้หาบุทคลผู้ไปยังปรโลกก็เปนทุกข์เสียเปล่า กเฬวระอันเผาด้วยเพลิงนี้บ่มิรู้ซึ่งศุขทุกข์ ดุจใด บุทคลผู้ไปยังปรโลกก็บมิรู้ซึ่งสภาวะอันร้องไห้ร่ำไรแห่งญาติทั้งหลาย ดุจนั้น เหตุดังนั้นข้าจึงมิได้ร้องไห้ อันว่าคติอันใดอันเปนที่ไปของเจ้าแห่งข้านั้น เจ้าแห่งข้านั้นก็ไปสู่คตินั้นแล้วแล ขอถวายพระพร ฯ

อันว่าบุทคลผู้ใด จำเริญมรณานุสสติภาวนาไว้แต่เมื่อยังอยู่ดี เมื่อมรณะมาถึงนั้น บุทคลผู้นั้น บมิสดุ้งตกใจกลัว ดุจบุทคลเห็นงูอสรพิษแต่ไกล ก็บมิได้สดุ้งตกใจกลัว จะแล่นหนีก็ได้ จะเอาไม้เกียดเสียก็ได้ บุทคลผู้ใดบมิได้จำเริญมรณานุสสติภาวนาไว้ในใจแต่เมื่ออยู่ดี ครั้นมรณะมาถึง บุทคลผู้นั้นก็สดุ้งตกใจ ดุจบุทคลเห็นงูอสรพิษอันมาใกล้ตัวนั้น จะหนีก็บมิทันจะเอาไม้เกียดเสียก็บมิทัน ก็ย่อมสดุ้งตกใจกลัวนักหนาแล ฯ

จึงมีพระราชโองการตรัสว่า อันจะมิเปนทุกข์ก็มีแต่ละแห่งดุจนิทานนั้น อันนี้ว่าทั่วไปสิ้นทั้งปวงนั้น จะเปนไฉน

จึงถวายพระพรว่า ชาวอุดรกุรูนั้น ธรรมดาบมิได้หวงแหนพัศดุทั้งปวง แม้นถึงเปลื้องผ้ากองไว้ในที่ริมฝั่งแลลงไปอาบน้ำ ครั้นผู้ใดขึ้นมาก่อนก็เอาผ้านั้นนุ่งไป แลจะว่าผ้านี้ของอาตมา ผ้าผืนนี้ใช่ของอาตมาก็หามิได้ บริโภคเปนอันทั่วไปด้วยกันทั้งปวง อันนี้ก็เปนธรรมดาชาวอุดรกุรู ประการหนึ่ง ครั้นเกิดในอุดรกุรูนั้น ศีล ๕ ประการก็ตั้งอยู่ในสันดานนั้นเปนอันมั่นคง อันนี้เปนธรรมดาแห่งชาวอุดรกุรู ดุจพระพุทธมารดา ครั้นพระพุทธเจ้ามาเอาปฎิสนธิในครรภ์นั้น ศีล ๕ ประการก็ตั้งอยู่ในสันดานนั้นเปนอันมั่นคงมิได้มีราคจิตร อันจะยินดีในบุรุษกว่านั้น อันนี้ก็เปนธรรมดาแห่งพระพุทธมารดา แลมีดุจใด อันว่ามรณะทุกข์หาบมิได้แก่ชาวอุดรกุรู ก็เปนธรรมดาแห่งชาวอุดรกุรูก็มีดุจนั้น

จึงมีพระราชโองการตรัสว่า โลกีย์จะว่าหาทุกข์มิได้กะไร ถ้าถึงอรหันต์แล้วนั้น จึงหาทุกข์มิได้แล

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายพระพรว่า อาตมภาพจำได้แต่เท่านี้ อื่นกว่านี้ลืมเสียแล้ว ด้วยว่าสองวันพระนั้น อาตมภาพเปนไข้หวัด ร้อนเนื้อร้อนตัวรทดรทวยอยู่มิสบาย สิ่งอันได้ว่านั้นก็ลืมเสีย ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ