เรื่องลาสิกขาบท

ศักราช ๑๐๔๓ ปีรกาศก (พ.ศ. ๒๒๒๔) วันพุฒ เดือนอ้าย แรม ๘ ค่ำ มีพระราชโองการถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่า ภิกษุปลงสิกขาบทว่า “พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ” แปลว่าไฉน

ถวายพระพรว่า “พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ” นั้น แปลว่าอาตมาภาพจะปลงสรณคมน์ อันสมานทานเอาด้วยอุปสมบทว่า “พุทฺธํ สรณํ” นั้นเสียในกาลบัดนี้

จึงมีพระราชโองการตรัส ครั้นว่าดังนั้นสรณคมน์มิได้ติดตัวไปฤๅ

ถวายพระพรว่า ปลงสรณคมน์สำหรับภิกษุนั้นให้ขาดเสียก่อน เมื่อเปนคฤหัษฐ์แล้วนั้น จึงสมานเอาสรณคมน์สำหรับคฤหัษฐ์นั้นเล่า

จึงมีพระราชโองการถามว่า เมื่อบวชเปนภิกษุสวดญัติสวดกรรมวาจาเปนอันมากจึงเปนภิกษุ เมื่อสึกออกนั้นว่าแต่สองคำสามคำ คือ “พุทฺธํ คำหนึ่ง “ปจฺจกฺขามิ” คำหนึ่ง แต่เท่านี้ก็ขาดจากเปนภิกษุนั้นเปนไฉน

ถวายพระพรว่า เมื่อจะก่อสร้างนั้นก็ย่อมช้า เมื่อจะล้างเสียนั้นก็ย่อมพลัน แลลักษณะปลงสิกขาบทกอบไปด้วยองค์ ๖ ประการ จึงจะขาด จึงเปนอันปลงสิกขาบท มิพร้อมด้วยองค์ ๖ ประการมิขาดมิเปนอันปลงสิกขาบท จึงถวายพระคาถาอันจะรู้จักองค์ ๖ ประการดังนี้

“จิตฺตํ เขตฺตฺจ กาลฺจ ปโยโค ปุคฺคโล ตถา
ปรชานนาติ สิกฺขาย ปจฺจกฺขานํ ฉลงฺคิกํ”

อธิบายในคาถาว่า จะปลงสิกขาบท ให้กอบด้วยองค์ ๖ ประการสืบไปดังนี้

“จิตตฺจ” คือจิตรแห่งผู้สึกนั้น มิได้ยินดีในภาวจะเปนภิกษุกว่านั้นเลย อันนี้เปนองค์อันหนึ่ง

“เขตฺตฺจ คือแว่นแคว้นพระบาฬี อันพระเจ้าอนุญาตนั้น มีอาทิคือ “พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ” ก็ดี “คิหีติ มํ ธาเรหิ” มีอาทิดังนี้ก็ดี แลบุทคลผู้จะปลงสิกขาบทนั้น แลจะปลงด้วยภาษาใด ๆ ก็ดี ก็ให้ว่าตามแต่ในแว่นแคว้นพระบาฬี อันพระเจ้าอนุญาต อันนี้เปนองค์อันหนึ่ง

“กาลฺจ” คือบุทคลผู้จะปลงสิกขาบทนั้น เปนปัจจุบันกาล ว่าอาตมาปลงสรณคมน์ คือพุทธนั้นเสียในกาลบัดนี้ก็ดี ประการหนึ่งว่าท่านจงรู้ว่าอาตมาเปนคฤหัษฐ์ในกาลบัดนี้ อันนี้ก็เปนองค์อันหนึ่ง

“ปโยโค” คือบุทคลอันจะปลงสิกขาบทนั้น ว่าให้เต็มประโยค คือ กตฺตุ แลกรรม แลกิริยาบท คือ “อหํ” นั้น ชื่อกตฺตุบท “พุทฺธํ” นั้นชื่อกรรมบท “ปจฺจกฺขามิ” นั้น ชื่อกิริยาบท อันนี้เปนองค์อันหนึ่ง

“ปุคฺคโล” คือปลงสิกขาบทในสำนักบุทคลผู้เปนมนุษย์ชาติดุจกันจึงจะขาด แม้นมาตุคามก็ได้ดุจกัน แลจะปลงสิกขาบทในสำนักเทพดานั้นมิขาด เหตุจิตรเทพดานั้นรู้พลัน แลรู้อรรถนั้นก่อนแล้วจึงมิขาด อนึ่งจะปลงสิกขาบทในสำนักติรัจฉานนั้นก็มิขาด เพราะเหตุว่าติรัจฉานนั้นมิรู้อรรถแห่งถ้อยคำนั้น อันนี้ก็เปนองค์ประการหนึ่ง

“ปรชานนา” คือบุทคลผู้นั้นรู้พร้อมด้วยถ้อยคำแห่งบุทคลผู้ปลงนั้นว่า บุทคลผู้นี้ปลงสิกขาบทแล้วจึงขาด ถ้าบุทคลผู้ฟังนั้นแลรู้ต่อเมื่อภายหลัง สิกขาบทนั้นมิขาด เหตุดังนั้น บุทคลผู้ปลงสิขาบทด้วยมคธภาษาในสำนักบุทคลผู้เปนมิลักขภาษา สิกขาบทนั้นมิขาด บุทคลผู้ปลงสิกขาบทด้วยมิลักขภาษาในสำนักบุทคลผู้เปนมคธภาษา สิกขาบทนั้นมิขาด เหตุภาษาต่างกัน และมิรู้อรรถแห่งถ้อยคำนั้น แลบุทคลปลงสิกขาบทด้วยมคธภาษา ในสำนักบุทคลผู้เปนมคธภาษา สิกขาบทนั้นจึงขาด บุทคลปลงสิกขาบทด้วยมิลักขภาษา ในสำนักบุทคลผู้เปนมิลักขภาษา สิกขาบทนั้นจึงขาด เหตุภาษาเหมือนกัน รู้อรรถถ้อยคำฉับพลัน พร้อมด้วยกันกล่าวนั้นแล้ว อันนี้เปนองค์ประการหนึ่ง เปนคำรบ ๖ ประการดังนี้ จึงเปนอันปลงสิกขาบทแล ฯ

จบความเรื่องพระราชปุจฉาสมเด็จพระนารายน์เท่านี้

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ