เรื่องสังฆภัตร

ครั้งหนึ่ง สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารในพระบรมโกษฐ์แก้วซึ่งล่วงไปแล้วนั้น ทรงพระวิตกถึงถวายสังฆภัตรในพระราชถาน มีพระโองการตรัสปุจฉาถามซึ่งวิธีเยี่ยงอย่างซึ่งจะกระทำ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายวิสัชนาซึ่งวิธีเปนเรื่องราวเยี่ยงอย่างให้ทราบพระทัยแล้ว ฯ บพิตรทรงพระวิตกมิสงไสย จึงตรัสถามสืบไปเล่าซึ่งผู้เปนเจ้าว่าทายกแต่งจังหันไว้ในบ้านก็ดี ในเรือนก็ดี แล้วถวายสังฆภัต มีสงฆ์มา ๑ รูปก็ดี ๒ รูปก็ดี ๓ รูปก็ดี มากกว่าก็ดี รับเอาจังหันนั้นฉัน เมื่อมีสงฆ์มาแต่รูปเดียวดังนั้น จะเอาสงฆ์รูปใดกระทำอปโลกนกรรมเล่า อนึ่งจังหันที่ทายกถวายแก่สงฆ์ ๆ ฉันเหลือแล้วสงฆ์ให้จังหันนั้นแก่บุทคลผู้ใด ๆ กิน ผู้นั้นยังจะเปนโทษบ้างแลฤๅเปนประการใด ฯ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงถวายพระพรว่า ทายกถวายจังหันเปนสังฆภัตรทั้งปวง อาตมาภาพบมิพบบาฬีในพระวินัย ว่าให้กระทำอปโลกนกรรม อนึ่งครั้งเมื่อกระทำสังฆภัตรในครั้งก่อน สมเด็จพระอริยกัสสปกับสมเด็จพระพิมลธรรมผู้เฒ่าซึ่งล่วงไปแล้วนั้น เถียงกันด้วยบาฬีแลเนื้อความซึ่งให้กระทำอปโลกนกรรมนั้น แลสมเด็จพระพิมลธรรมบมิยอมลง จึงถามพระอุบาฬีวัดเดิม ๆ ว่าไม่พบพระบาฬี แลสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงว่าท่านได้กระทำสืบ ๆ กันมามากแล้ว ครั้นจะว่าบัดนี้แต่ผู้เดียวเห็นจะมิควร จึงให้เชิญสมเด็จพระพิมลธรรมลงมานั่งในโรงสวดมนต์พร้อมกันจึงจะปฤกษาฯ วันนั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ๑ สมเด็จพระพิมลธรรม ๑ พระนิกรม ๑ พระธรรมเจดีย์ ๑ พระครูเฉวียง ๑ มหารัตนปาล ๑ นั่งพร้อมกันในโรงสวดมนต์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงถามสมเด็จพระพิมลธรรมว่า ทายกถวายจังหันเปนสังฆภัตร แลสงฆ์ว่าบาฬีอปโลกนกรรมนั้นพบบ้างแลฤๅ สมเด็จพระพิมลธรรมว่า ในวินัยที่ถวายจังหันเปนสังฆภัตรนั้น บมิพบเห็นแต่ปรัมปราจารย์กระทำสืบ ๆ กันมาดังนี้แล ฯ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงว่าในวินัยบัญญัตินั้น ว่ามีทายกมาถวายจังหันเปนสังฆภัตร แลสงฆ์รับประเคนแล้วจึงยกไปชี้บอกแก่พระมหาเถร ๆ จึงบังคับว่าให้สงฆ์แจกกันก็ควร พระวินัยว่าไว้ดังนี้ บุทคลหากเปรียบเทียบกระทำเอาแล ปรึกษาเห็นด้วยกันดังนี้พร้อมกันแล้ว

อนึ่งโสด จังหันทายกถวายเปนสังฆภัตรนั้น จังหันนั้นก็เปนของสงฆ์ ครั้นสงฆ์แจกแก่กันเปนส่วนออก บอกกล่าวกันแล้ว จังหันนั้นก็เปนของบุคคลิก ครั้นสงฆ์ฉันเหลือแล้ว สงฆ์ให้จังหันนั้นแก่ผู้ใด ๆ กิน ผู้กินนั้นหาโทษบ่มิได้ แลปฤกษาเห็นด้วยกันดังนี้พร้อมแล้ว ฯ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พิจารณาในพระบาฬีแจ้งอธิบายแล้ว จึงแต่งเรื่องราววิธีสังฆภัตรถวายแก่บรมบพิตรพระราชสมภาร

วิสัชนาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

อาตมาภาพถวายพระพร อันว่าสังฆภัตรนี้มีลัษณะ ๑๔ ประการ ดังนี้ คือทายกถวายเปนสังฆภัตร ๑ อุทเทสภัตร ๑ นิมันตภัตร ๑ สลากภัตร ๑ ปักขิกภัตร ๑ อุโปสถิกภัตร ๑ ปาฏิปทิกภัตร ๑ อาคันตุกภัตร ๑ คมิกภัตร ๑ คิลานภัตร ๑ คิลานุปัฏฐากภัตร ๑ นิจจภัตร ๑ กุฏิภัตร ๑ วารภัตร ๑ เปน ๑๔ ประการดังนี้ ฯ

ลักษณะถวายจังหันเปนสังฆภัตรดังนี้ ว่าทายกแต่งจังหันไว้พอประมาณแก่ภิกษุ ๑ รูปก็ดี ๒ รูปก็ดี ๓ รูปก็ดี ๑๐ รูปก็ดี มากก็ดี ไว้ในบ้านก็ดี ในศาลาก็ดี ทายกนิมนต์สงฆ์มานั่งในที่นั้นก็ดี บมินิมนต์สงฆ์มานั่งในที่นั้นก็ดี ครั้นแต่งแล้วทายกถวายด้วยบาฬีดังนี้ “อิมํ ภิกฺขํ สสูปพฺยฺชนํ สกลสฺส สงฺฆสฺส ทมฺมิ” อธิบายพระบาฬีว่า ข้าถวายจังหันนี้แก่สงฆ์ทั้งปวงบัดนี้แล้ว ผิแลมีสงฆ์รูปใด ๆ มารับเอาจังหันนั้นแม้ทุกวันๆ จนถึง ๑๒ วันก็ดี แลทายกอย่าห้ามว่า เจ้ากูมารับเอาจังหันข้าพเจ้าทุกวัน ๆ แล้ว จงให้สงฆ์หมู่อื่นมาบ้างเถิด ฯ ประการหนึ่ง ทายกอย่ากล่าวว่า สงฆ์หมู่อื่นตูข้ายังมิได้ถวายแต่ก่อน เจ้ากูยังตูข้าให้ได้ถวายสงฆ์หมู่อื่นบ้างเถิด แลทายกบมิได้กล่าวคำทั้ง ๒ ประการดังนี้ แลสงฆ์รูปใดๆ มาถึงทายกก็แต่งจังหันนั้นถวายแก่สงฆ์ผู้มาถึงนั้นๆ แม้สงฆ์ ๑ รูปก็ดี ๒ รูปก็ดี มากก็ดี แลทายกก็ถวายจังหันนั้นๆ จึงได้ชื่อว่าถวายเปนสังฆภัตรแล ฯ

ประการหนึ่ง ถ้ามีเจตนาจะถวายจังหันแก่สงฆ์ แต่ว่าเปนอุทิศเจตนาเฉพาะแก่สงฆ์อันเข้ามาอยู่ในราชฐานที่นี่ก็ดี ให้ถวายด้วยบาฬีดังนี้ “อิมสฺมึ ราชเคเห อิมํ ภิกฺขํ สสูปพฺยฺชนํ สขาทนียํ สโภชนียํ สเภสชฺชํ สงฺฆสฺสุ ทมฺมิ” อธิบายว่าอาตมาภาพถวายจังหันกอประด้วยต้มเจียวแลปิ้งจี่แลของกัดแลของเคี้ยวแลยานี้แก่สงฆ์อันมาอยู่ในราชถานนี้ ฯ ถ้าแลจะถวายจังหันเฉพาะแก่สงฆ์อันอยู่ในอารามที่ใดที่หนึ่งก็ดี ให้ถวายด้วยบาฬีนี้ “อิมสฺมึ อาราเม อิมํ ภิกฺขํ สสูปพฺยฺชนํ สขาทนียํ สโภชนียํ สเภสชฺชํ สงฺฆสฺส ทมฺมิ” อธิบายว่า ข้าถวายจังหันอันกอประด้วยต้มเจียว ฯลฯ แก่สงฆ์อันอยู่ในอารามนี้ เฉพาะออกชื่อราชถานแลอารามก็ดี แล้วจึงถวายดังนี้ จังหันนั้นเฉพาะได้แก่สงฆ์อันอยู่ในราชฐานแลอารามนั้น แลแม้สงฆ์ยังมิได้ปันแจกจังหันแก่กันในที่นั้น แลพาเอาจังหันนั้นไปในที่อื่น แลสงฆ์ในที่อื่นบมิได้ส่วนจังหันนั้นด้วยเลย เหตุทายกเฉพาะแต่สงฆ์อันอยู่ในที่นั้นแล้ว จึงกล่าวบาฬีดังนี้แล ถ้าแลทายกบมิเฉพาะแก่สงฆ์ในที่ใดๆ เลย แลเฉพาะแต่สงฆ์สิ่งเดียวแล้วกล่าวบาฬีดังนี้ “อิมํ ภิกฺขํ ฯลฯ สกลสฺส สงฺฆสฺส ทมฺมิ” อธิบายว่า อาตมาภาพถวายจังหัน ฯลฯ แก่สงฆ์ทั้งปวง ครั้นถวายด้วยบาฬีดังนี้ จังหันนั้นก็เปนของสงฆ์ทั่วไปทั้งปวง แลสงฆ์บมิแจกจังหันแก่กันในที่นั้นแลพาเอาจังหันนั้นไป ถ้าพบสงฆ์หมู่อื่นจำให้ส่วนจังหันนั้นแก่สงฆ์หมู่อื่นนั้นด้วยจึงควร เหตุดังนั้นสงฆ์หมู่ใดรับจังหันอันทายกถวายด้วยบาฬีบมิเฉพาะที่เขาถวายทั่วไปแก่สงฆ์ทั้งปวงดังนั้น ก็ให้สงฆ์เร่งแจกกันในที่นั้นให้สำเร็จๆแล้ว สงฆ์หมู่อื่นมาในที่นั้นเล่า ก็บมิได้ส่วนจังหันนั้นเลย ถ้าบมิแจกให้สิ้นทั้งนั้นก็ดีให้ปันแต่ ๒ ส่วน แลส่วน ๑ ยกถวายแก่มหาเถระนั้นก่อนด้วยคำว่า “อยํ ปฐมภาโค มหาเถรสฺส ปาปุณาติ อวเสสา ภาคา อมฺหากํ ปาปุณนฺติ” จึงอธิบายว่า ส่วนเปนประถมนี้ถึงแก่มหาเถร แลส่วนอันเหลือกว่านั้นถึงแก่อาตมาทั้งหลายครั้นเปนส่วนว่าตังนั้นแล้วจังหันนั้นชื่อว่าปันแล้วเปนอันเศษ จังหันนั้นชื่อว่าเปนของบุคคลิก เหตุดังนั้นสงฆ์หมู่อื่นมาภายหลัง บมิได้ส่วนจังหันนั้นเลยฯ ทักขิณาทานทั้งหลาย คือของฉันแลบริกขารทั้งปวงมีผ้าสบงแลจีวรเปนต้นอันควรจะแจกกันได้นั้น อันทายกถวายเปนของสงฆ์ๆ แต่เมื่อสงฆ์ยังไปปมิได้แจกกัน ครั้นสงฆ์แจกปันกันแล้วของนั้นเปนของบุคคลิกเหมือนด้วยจังหันนั้นดุจเดียวแล ฯ

ประการหนึ่ง อาตมาภาพถวายพระพรว่า ทายกถวายผ้าผืนหนึ่งเปนสังฆทานแก่ภิกษุ ๕ รูปอันอยู่ด้วยกันในที่แห่งหนึ่ง แลทายกบมิได้ว่าบาฬีก็ออกชื่อที่อยู่แห่งภิกษุนั้น แลว่าบาฬีดังนี้ “อิมํ วตฺถํ สงฺฆสฺส ทมฺมิ” อธิบายว่า ข้าถวายผ้าผืนนี้แก่สงฆ์ ถ้าภิกษุ ๕ รูปนั้น บมิได้ปันแจกผ้านั้นเลย ถ้าแลเอาผ้านั้นไปในที่อื่นนั้นก็ดี ถ้าแลพบภิกษุอื่นก็ดี ภิกษุ ๕ รูปนั้น จำปันส่วนผ้านั้นแจกให้แก่ภิกษุอื่นนั้นด้วยจึงควร เหตุถ้านั้นยังเปนของสงฆ์อยู่ พบสงฆ์เท่าใดจำปันผ้านั้นออกเท่าๆ กันแล้ว จึงแจกให้ถ้วนเท่านั้น ถ้าแลภิกษุ ๕ รูปนั้นปันส่วนแจกกันในที่นั้นแล้ว แม้พบภิกษุอื่นจะปันส่วนผ้านั้นให้อิกหามิได้เลย ถ้าแลภิกษุ ๕ รูปนั้นบมิปันผ้านั้นแจกกันเปน ๕ ส่วนก็ดี ให้ชักด้ายในผ้านั้นออกเส้น ๑ ให้เปนสำคัญ แล้วจึงปันด้วยคำว่าส่วนข้างนี้เปนของมหาเถร ส่วนข้างนั้นเปนของอาตมาทั้งหลายก็ควร ถ้าแลมิดังนั้นเล่า มาตรเอาเล็บมือก็ดี เอาสิ่งอันใดอันหนึ่งมีขมิ้นเปนต้นก็ดี ขีดลงไว้ในผ้านั้นเปนสำคัญแล้ว จึงปันด้วยคำว่า นี้เปนของมหาเถร ส่วนข้างนั้นเปนของอาตมาทั้งหลาย ครั้นว่าดังนี้แล้วผ้านั้นก็เปนอันแจกแล้ว ผ้านั้นก็เปนของบุคคลิกแล เหตุดังนั้นภิกษุ ๕ รูปนั้น เอาผ้านั้นไปในที่อื่น ถ้าแลพบภิกษุอื่นอย่าปันผ้านั้นให้แก่ภิกษุอื่นเลย เหตุผ้านั้นเปนของบุคคลิกแล้ว ผ้านี้ชื่อสังฆทานแล ฯ ประการหนึ่ง ถ้าแลทายกถวายจังหันก็ดี ผ้าจีวรสงบก็ดี แก่สงฆ์ในอารามแห่งหนึ่งมีสงฆ์อยู่มาก ถ้าแลของนั้นน้อยเห็นจะไม่พอสงฆ์ ให้ภัตตุทเทสภิกษุผู้สำหรับแจกของสงฆ์นั้น ให้แจกมหาเถรผู้เฒ่ามีวัสสาแก่กว่าทั้งปวงนั้นก่อนแล้วจึงแจกเปนลำดับลงไป แลของนั้นสิ้นไปถึงภิกษุรูปใดให้ตั้งภิกษุนั้นไว้เปนแดนแล้ว มีทายกมาถวายทานแก่สงฆ์อีกภายหลังเล่า ให้ภิกษุผู้สำหรับแจกของสงฆ์นั้นให้เว้นสงฆ์อันแจกแล้วในครั้งก่อนนั้นไว้แล้ว ตั้งแต่แดนซึ่งยังจะมิได้แจกในครั้งก่อนนั้น พึงแจกต่อลงไปตามลำดับวัสสา แลของนั้นน้อยสิ้นไปถึงภิกษุรูปใดตั้งภิกษุรูปนั้นไว้เปนแดนแล้วมีทายกมาถวายทานอิกเล่า ให้ภิกษุผู้รับแจกของสงฆ์นั้น ให้ตั้งแต่แดนซึ่งยังไม่ได้แจกในครั้งก่อนนั้น พึงแจกต่อลงไปเล่าตามลำดับเถิดแลเวียนไปดังนี้ ตราบเท่ารอบสงฆ์ในอารามนั้น แลลักษณะแจกของสงฆ์ดังนี้ เปนอริยประเวณีให้ภิกษุผู้แจกของสงฆ์ทั้งปวงประพฤติดังนี้ทุกๆ ประการเถิด ฯ

ลักษณะสังฆภัตรเปนประถมอันสำแดงมาแล้วนี้ เปนอธิบายแห่งพระพุทธโฆษาจารย์แต่งถวายแล้ว ฯ

----------------------------

วิสัชนาของสมเด็จพระพิมลธรรม

สมเด็จพระพิมลธรรมพิจารณาในพระบาฬีทั้งปวงแล้ว จึงแต่งเรื่องราวสังฆภัตรนี้ถวายเล่าว่า อาตมาภาพถวายพระพรอันว่าลักษณะสังฆภัตรทั้งปวงมี ๑๘ ประการ คือ ลักษณะอันทายกถวายเปนสังฆภัตร ๑ อุทเทสภัตร ๑ นิมันตภัตร ๑ สลากภัตร ๑ ปักขิกภัตร ๑ อุโปสถิกภัตร ๑ ปาฏิปทิกภัตร ๑ อาคันตุกภัตร ๑ คมิกภัตร ๑ คิลานภัตร ๑ คิลานุปัฏฐากภัตร ๑ นิจจภัตร ๑ กุฏิภัตร ๑ วารภัตร ๑ วิหารภัตร ๑ วัสสาวาสิกภัตร ๑ จตุกภัตร ๑ คุฬภัตร ๑ เปน ๑๘ ประการดังนี้

ในลักษณะสังฆภัตรนั้นว่า ในอาวาศโบราณแห่งหนึ่ง มีสงฆ์อยู่มากพึงให้ภิกษุรู้จักภิกษุ ๓ จำพวก คือพวกหนึ่งชื่อมหาเถร จำพวกหนึ่งชื่อมัชฌิมเถร จำพวกหนึ่งชื่อนวกะ ภิกษุมีพรรษาแต่ ๒๐ ขึ้นไป ชื่อมหาเถร ภิกษุมีพรรษาแต่ ๑๐ ขึ้นไปถึง ๑๙ ชื่อมัชฌิมเถร ภิกษุมีพรรษาแต่ ๙ ลงมา ชื่อนวกะ เปนภิกษุบวชใหม่ แลสงฆ์ทั้งปวงพร้อมกันให้พิจารณาเลือกเอาภิกษุรูปหนึ่งผู้กอประด้วยองค์ ๕ ประการ คือ มิได้รัก ๑ มิได้ชัง ๑ มิได้กลัว ๑ มิได้หลง ๑ มิรู้ว่าจะได้แลมิได้ ๑ เลือกได้แล้วสงฆ์พึงสมมติให้ภิกษุรูปนั้นแสดงภัตร คือแจกจังหันอันทายกถวายแก่สงฆ์ พึงแสดงให้ตามลำดับถึงมหาเถรก่อน สิ้นมหาเถรแล้วถึงมัชฌิมเถร แล้วถึงนวกะภิกษุหนุ่ม สิ้นนวกะภิกษุแล้วถึงมหาเถรเล่า แลเวียนไปดังนี้ตามวินัยบัญญัติ เปนประเวณีโบราณ อันนี้ถือถิติแลฯ

อันว่าสังฆภัตรนั้น ทายกให้ทั่วไปแก่สงฆ์ทั้งปวง แลจะถือถิติว่าแก่ว่าหนุ่มว่าปานกลางหามิได้ ถ้าทายกนิมนต์จะถวายเปนของสงฆ์ใช้ให้ภัตตุทเทสผู้สำหรับแจกของสงฆ์นั้นนิมนต์แต่สงฆ์แท้จริง คืออย่านิมนต์ตามถิติ อย่าเลือกว่าแก่ว่าหนุ่มว่าปานกลางเลย ทายกนิมนต์สงฆ์มากน้อยเท่าใดๆ พึงนิมนต์ให้ครบเท่านั้นเถิด เปนสงฆ์แท้ แลถ้านิมนต์ตามลำดับใช้ของนั้นปมิเปนสงฆ์เลย ฯ

อนึ่งโสด ถ้าแลสงฆ์ว่าแก่ภิกษุผู้เปนภัตตุทเทส คือได้ถือบาญชีนิมนต์สงฆ์นั้นว่า เราไม่ได้รับหลายวันแล้ววันนี้ให้รับบ้างเถิด ถ้าแลภัตตุทเทสภิกษุปฏิบัติตามซึ่งว่านั้นไซร้ ของนั้นบมิเปนสงฆ์แล ถ้าผู้นิมนต์นั้นบมิได้เฉพาะภิกษุชื่อนั้นๆ ก็ดี แลภัตตุทเทสภิกษุบมิได้เฉพาะนิมนต์ตามถิติ แลนิมนต์สงฆ์แก่ภิกษุหนุ่มก็ดี จะให้ครบตามที่ทายกนิมนต์นั้น ของนั้นเปนสงฆ์แท้แล ถ้าแลเข้าสังฆทานอันทายกให้ในอารามใด เข้านั้นได้แก่สงฆ์ทั้งปวงทั่วไปในอารามนั้น แลกับทั้งสงฆ์อื่นอันมาถึงอารามในขณะถวายนั้นด้วย เมื่อทายกจะถวายให้ว่าบาฬีดังนี้ “อิมสฺมึ อาราเม อิมานิ ภิกฺขานิ” ถ้าแลมีแกงแลสับปิจึงว่า “สสูปพฺยฺชนานิ” ถ้าแลมีขนมอ่อนบมิเปนของกัดจึงว่า “สปูวานิ” ถ้าแลมีขนมแข็งเปนของกัดจึงว่า “ขาทนียานิ” ถ้าแลมีเผือกมันแลรากไม้แลลูกไม้จึงว่า “สมูลผลานิ” ถ้าแลมีเภสัชยาทั้งปวงจึงว่า “สเภสชฺชานิ” ถ้าแลมีน้ำจึงว่า “สอุทกานิ” ถ้าแลมีผ้าจึงว่า สวตฺถานิ” ถ้าแลมีบริกขารจึงว่า “สปริกฺขารานิ” พุทธปฺปมุขสฺส สงฺฆสฺส เทมิ” ถวายดังนี้ มีอานิสงส์มากยิ่งกว่าอันถวายว่า “สงฺฆสฺส เทมิ” ซึ่งกล่าวว่า “พุทฺธปฺปมุขสฺส” นี้ สมเดจพระผู้มีพระภาคเทศนาแก่เวลามพราหมณ์ พระอัฏฐกถาจารย์สำแดงไว้ในเวลามสูตรแลฯ ถ้าแลถวายในกุฎีให้ว่า “อิมิสฺสํ กุฏิยํ” ถ้าแลถวายในศาลาโรงฉันให้ว่า “อิมิสฺสํ สาลายํ” ถ้าแลถวายในอุโบสถให้ว่า “อิมสฺมึ อุโปสถาคาเร” ถ้าแลถวายในบ้านให้ว่า “อิมสฺมึ คาเม” ถ้าแลถวายในเรือนให้ว่า “อิมสฺมึ เคเห อิมานิ ภิกฺขานิ สลูปพฺยฺชนานิ สปูวานิ สขานียานิ สมูลผลานิ สเภสชฺชานิ สวตฺถานิ สอุทกานิ สปริกฺขารานิ สงฆสฺส เทมิ” ถ้าแลทายกรับพระปฏิมากรไปตั้งไว้ด้วยจึงว่า “พุทฺธปฺปมุขสฺส สงฺฆสฺส เทมิ” ว่าดังนี้อานิสงส์ยิ่งนักหนา ถ้าแลบมิได้รับพระไปตั้งด้วยให้ว่า “สงฺฆสฺส เทมิ” ฯ

แลบท “สงฺฆสฺส เทมิ” นี้ แก้ในสารสงเคราะห์ว่า ถ้าแลทายกได้สงฆ์มาแล้ว เห็นสงฆ์นั้นผู้เฒ่าผู้แก่อันรู้หลัก แลยินดีว่าได้ผู้เฒ่าผู้แก่ดังนี้แล้ว ถวายทาน ๆ นั้นบ่มิเปนสงฆ์ อนึ่งถ้าแลทายกได้สงฆ์อันหนุ่มมิรู้มิหลัก แลยินร้ายว่าได้แต่ล้วนหนุ่มมิรู้มิหลักแลถวายทาน ๆ นั้นบมิเปนสงฆ์ ถ้าแลทายกได้สงฆ์แก่ก็ดี หนุ่มก็ดี ชั่วก็ดี ดีก็ดี แล้วยินดีว่าเปนสงฆ์แท้ ก็ชื่นชมยินดีรับเอาแล้วถวายทาน ๆ นั้นจึงเปนสงฆทานแล ถ้าแลทายกเปนเจ้าของคนเดียวว่า “เทมิ” ถ้าทายกหลายคนถวายด้วยกันว่า “เทม” ถ้าสงฆ์รูปเดียวทายกถวายจังหันเปนสังฆภัตร แลให้ภิกษุรูปนั้นรับ แล้วแบ่งจังหันออกเปน ๒ ส่วน กระทำสัญญาไว้แก่สงฆ์อันจะมาแต่อื่นส่วน ๑ แลส่วน ๑ นั้นแลฉันเอง ถ้าแลคอยอยู่เห็นจะพ้นเวลาแล้ว จังหันซึ่งแบ่งไว้นั้นฉันเองก็ได้ ถ้าสงฆ์รูปอื่นมาทันในเวลาเอาส่วนอันแบ่งไว้นั้นให้ ถ้าแลสงฆ์รูปอื่นมีพรรษาแก่กว่าภิกษุอันมาก่อนนั้น ให้เอาส่วนจังหันที่แบ่งไว้นั้นให้แก่ภิกษุอันแก่พรรษา ถ้าแลภิกษุอันมาในภายหลังนั้นหนุ่มกว่าภิกษุอันมาก่อนไซร้อย่าให้เลย แก้ในสารสังคหะแล้วเท่านี้ ฯ

ในคัมภีร์บาฬีมุตก์ว่า ทายกถวายเปรียง ๑๐ หม้อ เปนสังฆทานแก่ภิกษุทั้งหลาย ๑๐ รูป แลสงฆ์มิได้สมมติให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแจกต่างคนต่างเอาเปนของอาตมาองค์ละหม้อ ๆ พระอัฏฐกถาจารย์ว่าเอาเองนั้นมิชอบ ให้มหาเถระบังคับให้ภิกษุรูปหนึ่งแจก แลภิกษุผู้แจกนั้นให้พิจารณาดูหม้อเปรียงนั้นน้อยแลมาก หม้อใดแลมากให้ภิกษุรูป ๑ เอาให้พระมหาเถรผู้แก่จึงว่า “อิทํ สปฺปิ” อันว่าเปรียงนี้ “ปาปุณาติ” ถึงบัดนี้ “มหาเถรสฺส” แก่พระมหาเถร “อวเสสํ สปฺปิ” อันว่าเปรียงอันเศษ “ปาปุณาติ” ถึงบัดนี้ “อมฺหากํ” แก่ตูข้าทั้งหลายอันสงฆ์เอาดังนี้ จึงชื่อว่าเอาชอบแล ฯ

อนึ่งโสด ทายกถวายเปรียงหม้อเดียวแก่สงฆ์ทั้งหลาย สงฆ์พึงสมมติให้ภิกษุรูปหนึ่ง ตักเอาเปรียงนั้นใส่ภาชนะแลน้อยๆ ให้สิ้นเปรียงให้ครบสงฆ์ในที่นั้น แลพิจารณาอันบังควรแก่ผู้เฒ่าแก่กว่าดังนี้ “อิทํ สปฺปิ” อันว่าสับปินี้ “ปาปุณาติ” ถึงบัดนี้ “มหาเถรสฺส” แก่พระมหาเถระ “อวเสสํ สปฺปิ” อันว่าสับปิอันเหลือ “ปาปฺณาติ” ถึงบัดนี้ “อมฺหากํ” แก่ตูข้าทั้งหลาย ฯ

ในสังฆภัตรแลทายกถวายจังหันแก่ภิกษุ ๒ รูป ๓ รูปขึ้นไปจะได้มีบาฬีว่าดุจสงฆ์แจกเปรียงนี้หามิได้ ฯ

ในอุทเทสภัตรนั้น ทายกถวายอุทเทสภัตรไซ้ ทายกออกไปนิมนต์สงฆ์ในอารามอันสงฆ์กระทำถิติไว้ คือเวียนไปด้วยสืบๆ กัน ถ้าทายกจะขอภิกษุแต่รูป ๑ ขึ้นไปตามปราถนาแห่งทายก จะเอามากก็ดีน้อยก็ดีแลมิได้เฉพาะว่าจะเอาภิกษุชื่อนั้นๆ แลภัตตุทเทสภิกษุอันจะให้สงฆ์แก่ทายกผู้มานิมนต์นั้น สงฆ์ซึ่งได้รับอุทเทสภัตรแต่ก่อนแล้วนั้นให้ตั้งไว้อย่าเอาเลย ให้เอาสงฆ์ซึ่งยังไม่ได้รับอุทเทสภัตรในครั้งก่อนนั้น ให้แก่ทายกตามทายกจะเอามากแลน้อย ทายกก็ได้สงฆ์ไปแล้ว จึงถวายจังหันแก่สงฆ์หมู่นั้นว่า “อิมานิ อุทฺเทสภตฺตานิ สงฺฆสฺส เทมิ” ว่า ๓ ที ถ้ามีสูปพยัญชนะเปนอาทิ ให้ว่าดุจนับถวายสังฆภัตรนั้นเถิด แลอุทเทสภัตรนี้ เปนสังฆภัตรด้วยเหตุทายกมิได้เฉพาะแก่ภิกษุชื่อนั้นๆ นั้นแล ฯ

ลักษณะถวายอุทเทสภัตรดังนี้เล่าว่าทายกแต่งจังหันไว้แล้ว อุทิศแก่สงฆ์ในอาวาศแห่งหนึ่ง แล้วใช้คนให้ไปบอกด้วยถ้อยคำว่าท่านไปเชิญภิกษุประมาณเท่านี้ ๆ มาเถิด ครั้นภิกษุมาถวายจังหันนั้น จังหันชื่อว่าอุทเทสภัตรแล ฯ

ประการหนึ่งทายกใช้คนไปว่าท่านจงไปเอาบาตรมาใบ ๑ ก็ดี ๒ ใบก็ดี ถึง ๑๐ ใบก็ดี มากกว่านั้นก็ดี แต่มิออกชื่อบาตรของภิกษุชื่อนี้ ๆ ตามแต่คนใช้จะเอามานั้นเอาบาตรภิกษุผู้ใดๆ ก็ดี ก็ใส่จังหันลงในบาตรนั้น แล้วจึงถวายด้วยบาฬีดังนี้ “อิมานิ อุทฺเทสภตฺตานิ สงฺฆสฺส เทมิ” แล้วใช้คนให้เอาไปถวายแก่สงฆ์เจ้าบาตรนั้น จังหันนี้ได้ชื่อว่าอุทเทสภัตรแล ฯ

ประการหนึ่ง ทายกออกไปถึงอาวาศ แลเผดียงไว้แก่พระมหาเถรผู้เปนอธิการว่า เจ้ากูจงให้สงฆ์ ๑ รูปก็ดี ๒ รูปก็ดี ๑๐ รูปก็ดี มากกว่าก็ดี ไปรับจังหันของข้าพเจ้า ๑ วันก็ดี ๒ วันก็ดี ๑๐ วันก็ดี มากกว่านั้นก็ดี เปนนิจทุกวันก็ดี แลพระมหาเถระผู้เปนอธิการให้ภิกษุผู้ใดๆ ไปก็ดี ทายกก็ถวายจังหันนั้นแก่ภิกษุผู้มานั้น จังหันนั้นก็ได้ชื่อว่าอุทเทสภัตรแล ฯ

ประการหนึ่ง ทายกแต่งจังหันไว้เฉพาะอุทิศแก่ภิกษุอันอยู่ในวิหารก็ดี อยู่นอกวิหารก็ดี อันอยู่ในสีมาก็ดี อยู่นอกสีมาก็ดี อันเข้าไปในบ้านในเรือนก็ดี ในที่ๆ ใกล้บ้านใกล้เรือนก็ดี ทั้งนี้ชื่ออุทเทสภัตร เทียรย่อมเปนสังฆทานทั้งสิ้น ทั้งนี้แต่ทายกหากเฉพาะว่าภิกษุสงฆ์เท่านี้ๆ แลเฉพาะที่ไปแลที่อยู่ก็ดี เฉพาะเอาภิกษุสงฆ์ประมาณเท่านั้นๆ จึงได้ชื่อว่าอุทเทสภัตรแล ฯ

ในนิมันตภัตรนั้นว่า ทายกเปนใหญ่ด้วยอาตมาเอง เปนบุคคลิกทาน เหตุนิมนต์เฉพาะภิกษุชื่อนั้นๆ ถ้าภิกษุผู้เปนปฏิคคาหกนั้นมีศีลบริสุทธิ์เปนโสดา แลสกิทาคา แลอนาคา แลอรหันต์ก็ดี ก็เปนนาบุญยิ่งๆ ขึ้นไป ตามควรแก่ภิกษุรูปนั้น แลทายกผู้ถวายบุคคลิกทานนั้น ก็ได้ผลยิ่งๆ ขึ้นไป ตามคุณแห่งภิกษุผู้รับทานนั้น ถ้าแลภิกษุผู้รับทานนั้นหาศีล สมาธิ ปัญญา บมิได้ ทายกให้บุคคลิกทานแก่ภิกษุรูปนั้น ก็ได้ผลน้อยแล ฯ

ลักษณะในนิมันตภัตรนั้นมี ๒ ประการ คือนิมันตภัตรเปนบุคคลิกอันหนึ่ง คือนิมันตภัตรเปนสังฆทานอันหนึ่ง แลทายกนั้นเฉพาะต่อภิกษุผู้นั้นๆ แลนิมนต์เองก็ดี ใช้คนไปนิมนต์ก็ดี ว่าท่านจงไปนิมนต์ภิกษุชื่อนี้ๆ มาเถิด แลถวายจังหันตามเฉพาะตัวอันนิมนต์นั้น จังหันนี้ชื่อนิมันตภัต ทานนี้ เปนบุคคลิกทาน ถ้าแลทายกนั้นนิมนต์เองก็ดี ใช้คนไปนิมนต์ก็ดีมิได้เฉพาะตัว แลว่าแก่ภิกษุรูป ๑ ว่าข้าขอนิมนต์สงฆ์ ๑๐ รูปก็ดี ๒๐ รูปก็ดีไปรับจังหัน แล้วแลถวายจังหันแก่ภิกษุสงฆ์อันมานั้น จังหันนี้ชื่อนิมันตภัตร ทานนี้เปนสังฆทานแลฯ ลักษณะนิมันตภัตรนี้ไม่มีบาฬีถวายแล ฯ

ในสลากภัตรนั้น ภิกษุผู้จะให้สลากแก่ทายกผู้จะถวายสลากภัตรนั้น ให้กระทำสลากด้วยไม้แก่นก็ดี ด้วยไม้ไผ่ก็ดี ด้วยใบตาลก็ดี เปนอาทิแล้วเขียนชื่อแห่งทายกผู้จะให้ทานนั้นลงในไม้แก่น แลไม้ไผ่แลใบตาลอันกระทำเปนสลากนั้นแล้ว ใส่ลงในกระเช้าก็ดี ในขนบจีวรก็ดี แล้วระคนให้ปนกันไปแล้วให้ภิกษุผู้เปนภัตอุทเทสอันกอประด้วยองค์ ๕ ประการนั้น เอาสลากนั้นไปแจกตามถิติอันเวียนกันไป ถ้าแลถิตินั้นครบแล้วให้แจกพระมหาเถรเวียนไปเล่า ให้หยิบเอาคนละอันตามแต่จะถูกชื่อทายกผู้ใดๆ ให้ภิกษุผู้เปนภัตตุทเทสนั้นบอกตำบลที่อยู่แห่งทายกนั้นให้แก่ภิกษุผู้ได้สลากนั้นให้ไปรับเอาสลากภัตรนั้น ในบ้านทั้งหลายตามชื่อแห่งทายกอันมีในบ้านนั้น แลภิกษุทั้งหลายผู้ได้สลากนั้น ก็ไปสู่บ้านนั้นๆ แลทายกผู้จะถวายสลากนั้น ครั้นได้สงฆ์แล้วจึงว่า “อิทํ สลากภตฺตํ สลากคาหกสฺส สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที “อหํ” อันว่าข้า “ทมฺมิ” ถวายบัดนี้ “อิทํ สลากภตฺตํ” ซึ่งสลากภัตรนี้ “สงฺฆสฺส” แก่พระสงฆ์ “สลากคาหกสฺส” อันถือเอาซึ่งสลาก ฯ

ประการหนึ่ง ถ้าแลทายกเอาสลากภัตรมาถึงอารามก็ดี ในบ้านแห่งใดๆ ก็ดี ให้เขียนชื่อทายกวางลงในสลากภัตรดุจก่อนนั้น ภิกษุอันเปนภัตตุทเทส เขียนเอาสลากชื่อแห่งทายกใส่ลงในกระเช้าแล้วระคนกันเข้า แล้วจึงตีระฆังให้สงฆ์ประชุมกัน จึงเอาสลากอันหนึ่งให้แก่มหาเถรแล้วจึงว่า “อวเสสา สลากา” อันว่าสลากทั้งหลายอันเหลือ “ปาปุณนฺติ” ก็ถึง “อมฺหากํ” แก่ข้าทั้งหลาย แล้วสงฆ์จึงแจกสลากอันเหลือ แลสลากภัตรนี้เปนสังฆภัตรด้วยแล ฯ

ลักษณะในสลากภัตรดังนี้เล่าว่า ทายกนั้นเขียนชื่อทายกเองลงในสลากอันกระทำด้วยแก่นไม้ก็ดี กระทำด้วยไม้ไผ่ก็ดี ใบตาลก็ดี กระทำด้วยแผ่นผ้าก็ดี แลแผ่นกระดาษก็ดี ว่าสลากภัตรนี้ของผู้มีชื่อดังนี้ แลทายกนั้นถ้าจะถวายวันละ ๔ รูปก็ดี ให้เขียนชื่อลงในสลาก ๔ อัน ถ้าจะถวายวันละ ๘ รูป ก็เขียนชื่อลงในสลาก ๘ อัน ทายกนั้นปราถนาให้ทานนั้นวันละเท่าใด กระทำสลากเท่านั้น แลเอาสลากนั้นไปให้แก่ภิกษุอันเปนภัตตุทเทส ทายกมากหลายคนไซ้ ภิกษุผู้เปนภัตตุทเทสนั้น เอาสลากทั้งปวงนั้นใส่กระเช้าใส่ห่อผ้าก็ดี กวนไปกวนมาแล้วจึงให้ภิกษุทั้งหลายจับสลากรูปละอันๆ ภิกษุหมู่ใดจับได้สลากทายกผู้ใด ทายกผู้นั้นรับเอาภิกษุผู้นั้นไปถวายจังหันในบ้านก็ดี เอาจังหันนั้นมาถวายถึงอารามก็ดี ถวายว่า “อิทํ สลากภตฺตํ สลากคาหกสฺส สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อสลากภัตร เหตุทายกให้สลากแล้วจึงถวาย สลากภัตรนี้ก็เปนสังฆทานแล ฯ

ประการหนึ่ง ถ้าเขียนชื่อสงฆ์ทั้งปวงลงในสลากแจกให้แก่ทายกคนละอันๆ ทายกผู้ใดได้ชื่อสงฆ์ผู้ใดแล้ว เอาทักษิณาทานไปถวายแก่สงฆ์รูปนั้น ก็เปนสลากภัตรทาน ประดุจหนึ่งแลสงฆ์มากแลทายกผู้เดียว แลปราถนาถวายสลากภัตรแก่สงฆ์อันมาก เขียนชื่อสงฆ์ลงในสลากแล้วเอาสลากนั้นไปวางลงในทานนั้น มิได้เฉพาะต่อสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ชื่อสงฆ์รูปใดตกลงในทานอันใด ก็เอาทานนั้นถวายแก่สงฆ์รูปนั้น ทานนี้เปนสลากภัตรดุจเดียว ฯ

ในปักขิกภัตรนั้น ว่าเข้าอันใดอันทายกทั้งหลายขวนขวายด้วยบุญแล้ว ให้แก่ภิกษุทั้งหลายในปักษ์ทั้งหลาย คือจาตุททสี ๑๔ ค่ำวันดับก็ดี แลปัญจทสี ๑๕ ค่ำวันดับ แลวันเพ็ญปุรณมีก็ดี แลอัฏฐมี ๘ ค่ำ ในปักษ์หนึ่งก็ดี เพื่อจะรักษาอุโบสถศีล แลกระทำสติให้ตรง แลเข้านั้นก็ชื่อว่าปักขิกภัตร ถ้าแลทายกถวายเปนสงฆ์ เข้านั้นก็เปนสงฆ์ด้วย ถ้าทายกถวายเฉพาะแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เข้านั้นเปนบุคคลิกทานแล ฯ

ลักษณะในปักขิกภัตรนั้น ทายกถวายจังหันถึงปักษ์หนึ่งจึงถวายวันหนึ่ง คือถึงวัน ๑๔ ค่ำจึงถวายวันหนึ่ง ถึงวัน ๑๕ ค่ำถวายวัน ๑ ถึงวัน ๘ ค่ำจึงถวายวัน ๑ แลถวายว่า “อิทํ ปกฺขิกภตฺตํ สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อว่าปักขิกภัตรเปนสังฆภัตรแลเหตุมิได้เฉพาะตัว แลสงฆ์รูปใดๆ มาก็ดี ก็ถวายแก่สงฆ์ซึ่งมานั้น แม้จะเอาจังหันไปถวายแก่สงฆ์ในอารามก็ดี ก็มิได้เฉพาะตัว ถ้าแลเฉพาะตัวแล้วถวายจังหันนั้นชื่อบุคคลิกทาน ฯ

ในอุโปสถิกภัตรนั้น ว่าเข้าอันใดอันทายกสมาทานอุโบสถศีลแล้วแลกินเข้าอันใดด้วยอาตมา แลทายกให้เข้านั้นแก่สงฆ์ในวันอุโบสถแลเข้านั้นชื่ออุโปสถิกภัตร ด้วยทายกนั้นบมิได้กินเข้าในวันนั้นตราบเท่าถึงรุ่ง ฯ

ลักษณะในอุโบสถิกภัตร ว่าทายกสมาทานอุโปสถศีลในเมื่อถึงกึ่งเดือน คือวันดับทีหนึ่ง วันเพ็ญปุรณมีทีหนึ่ง แลทายกนั้นบริโภคโภชนาหารสิ่งใดๆ ก็ถวายโภชนาหารสิ่งนั้นๆ แก่พระสงฆ์ว่า “อิทํ อุโปสถิกภตฺตํ สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่ออุโปสถิกภัตรเปนสังฆทานแล ฯ

ประการหนึ่ง ทายกสมาทานศีล ในวันเมื่อถึงกึ่งเดือน คือวันดับก็ดี วันเพ็ญปุรณมีก็ดี แล้วแลตกแต่งจังหันถวายแก่สงฆ์ในอารามนั้นๆ มิได้เฉพาะ จังหันนี้ชื่ออุโปสถิกภัตรแล ฯ

ในปาฏิปทิกภัตรนั้น ว่าคนทั้งหลายมีศรัทธาเลื่อมใสยินดีกระทำสักการบูชาแก่สงฆ์อันขวนขวายกระทำอุโบสถกรรม ด้วยคิดว่าสงฆ์กระทำอุโบสถลำบากกาย ถ้าแลเราได้ถวายจังหันในวันค่ำ ๑ มีผลมากประดุจให้ทานเมื่อเข้าแพง ฯ

ประการหนึ่ง ทายกกำหนดกฎหมายว่า ภิกษุทั้งหลายกระทำอุโบสถกรรม แล้วมีศีลบริสุทธิ์แลเราได้ถวายทานในวันค่ำ ๑ แลทานนั้นมีผลมาก แล้วก็ถวายทานในวันค่ำ ๑ จังหันนั้นชื่อปาฏิปทิกภัตรแล ฯ

ลักษณะในปาฏิปทิกภัตรว่า ทายกคิดว่าวันอุโบสถไซ้คนทั้งหลายศรัทธา กระทำบุญให้ทานมากแล้ว แลวันค่ำ ๑ ภิกษุทั้งหลายอดอยากลำบากด้วยบิณฑบาตยาก แลทายกนั้นก็แต่งจังหันถวายแก่สงฆ์ในวันค่ำ ๑ ทุกที ๆ เมาะว่าครั้นวันค่ำ ๑ จึงถวายทีหนึ่งว่า “อิทํ ปาฏิปทิกภตฺตํ สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อปาฏิปทิกภัตรเปนสังฆทานแล ฯ

ในอาคันตุกภัตรนั้นว่า เข้าอันใดอันบุคคลให้แก่ภิกษุอันพึ่งมาสู่อาวาศใหม่ ด้วยคิดว่าสงฆ์พึ่งมาใหม่มิได้รู้แห่งที่จะไปโคจรบิณฑบาต แลไปบิณฑบาตเห็นลำบากยากกาย แลทายกทั้งหลายจึงแต่งอาคันตุกภัตรไว้แล้ว จึงนำไปให้แก่สงฆ์อันเปนอาคันตุกะพึ่งมาใหม่นั้น แลจังหันนั้นก็ได้ชื่อว่าอาคันตุกภัตรแล ฯ

ลักษณะในอาคันตุกภัตรนั้นว่า ทายกคิดว่าภิกษุอันมาใหม่ยังไม่รู้ที่จะไปบิณฑบาตก็จะลำบากด้วยจังหัน ทายกนั้นจึงแต่งจังหันไว้ถวายแก่ภิกษุอันเปนอาคันตุกะมาใหม่นั้นว่า “อิทํ อาคนฺตุกภตฺตํ อาคนฺตุกสฺส สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อว่าอาคันตุกภัตรเปนสังฆทานแล ฯ

ในคมิกภัตรนั้นว่า ภิกษุอันมาสู่อาวาศแล้วจะไปก็ดี อนึ่งภิกษุอันอยู่ในอาวาศเก่าและจะมีที่ไปก็ดี แลทายกทั้งหลายคิดว่า ภิกษุอันจะมีที่ไปนั้น ครั้นจะอยู่บิณฑบาตจะช้าเวลาจะสาย แดดจะร้อนจะลำบากกาย แลทายกมิศรัทธาจึงตกแต่งจังหันถวายแก่ภิกษุ อันจะมีที่ไปเวลาเช้า แลจังหันนั้นชื่อคมิกภัตรแล ฯ

ลักษณะในคมิกภัตรว่า ทายกคิดค่า ภิกษุผู้จะมีที่ไปนั้น ครั้นจะอยู่บิณฑบาตแล้วจึงไปไซ้แดดก็ร้อนจะลำบาก ทายกจึงแต่งจังหันถวายแก่ภิกษุผู้มีที่ไปนั้นว่า “อิทํ คมิกภตฺตํ คมิกสฺส สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อคมิกภัตรเปนสังฆทานแล ฯ

ในคิลานภัตรนั้นว่า ภิกษุเปนอาพาธไข้เจ็บแลจะไปโคจรบิณฑบาตมิได้ แลทายกผู้มีศรัทธาก็คิดว่าภิกษุผู้เปนอาพาธนั้นหนัก จะเที่ยวไปบิณฑบาตมิได้ ครั้นหาอาหารบริโภคมิได้ โรคนั้นจะมีกำลังจะลำบากจะถึงกาลกิริยา จึงแต่งบิณฑบาตเปนอาทิมีต้นว่ายาคู แลภัตรถวายแก่ภิกษุผู้อาพาธ จังหันนั้นได้ชื่อว่าคิลานภัตรแล ฯ

ลักษณะในคิลานภัตรนั้นว่า ทายกคิดว่าภิกษุผู้อาพาธนั้น ครั้นมิได้อาหารสบายไซ้ อาพาธนั้นก็จะเจริญขึ้นก็จะถึงกาลกิริยา ทายกจึงแต่งจังหันถวายภิกษุผู้เกิดอาพาธตามชอบใจปราถนาแห่งภิกษุนั้นว่า “อิทํ คิลานภตฺตํ คิลานสฺส สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อว่าคิลานภัตรเปนสังฆทานแล ฯ

ลักษณะในคิลานุปัฏฐากภัตรว่า ทายกคิดว่าภิกษุผู้เปนอุปัฏฐากรักษาภิกษุผู้เปนอาพาธนั้น ครั้นไปบิณฑบาตก็จะละภิกษุไข้นั้นเสีย ทายกนั้นจึงแต่งจังหันไว้ถวายแก่ภิกษุผู้เปนอุปัฏฐากรักษาภิกษุผู้ไข้นั้นว่า “อิทํ คิลานุปฏฺฐากภตฺตํ คิลานุปฏฺฐากสฺส สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อคิลานุปัฏฐากภัตรเปนสังฆทานแล ฯ

ลักษณะในนิจจภัตรมี ๒ ประการ คือนิจจภัตรเปนสังฆทานก็มี นิจจภัตรเปนบุคคลิกทานก็มี ทายกผู้ใดว่าแก่สงฆ์ทุกวันๆ ว่า “อิทํ นิจฺจภตฺตํ สงฺฆสฺส ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อนิจจภัตรเปนสังฆทานแล ถ้าทายกผู้ใดเฉพาะแก่ภิกษุรูปหนึ่งก็ดี ๒ รูปก็ดี มากกว่านั้นก็ดี แลถวายจังหันทุกวันๆ ว่า “ตุมฺหากํ นิจฺจภตฺตํ ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อนิจจภัตรเปนบุคคลิกทานแล ฯ

ลักษณะในกุฏิภัตรนั้นมี ๒ ประการ คือ กุฏิภัตรเปนสังฆทานก็มี กุฏิภัตรเปนบุคคลิกทานก็มี ทายกผู้ใดได้สร้างกุฎีถวายแก่สงฆ์แล้ว ก็แต่งจังหันถวายแก่ภิกษุสงฆ์อันอยู่ในกุฎีนั้นทุกวันๆ ว่า “อมฺหากํ เสนาสนวาสิโน อมฺหากเมว ภตฺตํ คณฺหนฺตุ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อกุฏิภัตรเปนสังฆทานแล ฯ

ทายกผู้ใดยินดีในบุคคลิก กระทำกุฎีถวายแก่บุคคลิก คือเฉพาะตัวให้อยู่ แลถวายจังหันทุกวันๆ ว่า “ตุมหากํ ภตฺตํ ทมฺมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อกุฏิภัตรเปนบุคคลิกทานแล ฯ

ลักษณะในวารภัตรว่า เมื่อเข้าแพงคนทั้งหลายผลัดกันถวายจังหันแก่ภิกษุเปนวาระ คือคนละวันก็ดี คนละ ๒ วันก็ดี คนละ ๓ วันก็ดี ว่า “อิทํ วารภตฺตํ สงฺฆสฺส เทมิ” ว่า ๓ ที จังหันนี้ชื่อว่าวารภัตรเปนสังฆทานแล ฯ

ลักษณะในถวายจังหัน ๑๔ ประการ ด้วยประการดังนี้ ฯ

แลซึ่งถวายทักษิณาทานทั้งนี้ จะถวายเปนบาฬีก็ได้ จะถวายเปนคำไทยก็ได้ แลซึ่งทานทั้งปวงนี้เอาจิตรเปนประธาน ครั้นตั้งจิตรอุทิศว่าจะถวายแห่งใดๆ ก็ดี แม้ไปถวายแก่สงฆ์ถึงที่อยู่แห่งสงฆ์ด้วยอาตมาก็ได้ แม้ถวายแต่ที่อยู่แห่งทายกแล้ว ให้บุคคลเอาไปถวายแก่สงฆ์ก็ได้ เหตุจิตรอันเฉพาะนั้นเปนประทาน แลสังฆทานนี้มีผลอานิสงษ์มากยิ่งกว่าบุคคลิกทาน แลทักษิณาทานจะสำเร็จผลแก่ญาติอันไปยังปรโลกนั้นพร้อมด้วยการณะทั้งหลาย ๑ คือบุคคลผู้รับทานนั้นกอประด้วยศีล แลญาตินั้นก็มาอนุโมทนาในที่นั้นด้วยเคารพชื่นชมว่า ญาติทั้งหลายหมู่นี้เขาอุทิศทักษิณาทานแก่อาตมาทั้งหลาย ประการหนึ่ง ทายกนั้นอุทิศทักษิณาทานนั้นให้แก่ญาติอันไปยังปรโลกนั้น โดยพระบาฬีดังนี้ “อิทํ โน ญาตินํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ าตโย” ฯ

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ