คำนำ

มหาอำมาตย์ตรี พระยาประภากรวงศ์ (ว่อง บุนนาค) อรรคราชทูตณกรุงวอชชิงตัน ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับมากรุงเทพฯ จะทำการปลงศพสนองคุณ คุณหญิงพลอยประภากรวงศ์ วรวุฒิภักดี (ชาย บุนนาค) ผู้มารดา ปราถนาจะใคร่พิมพ์หนังสือเปนของแจกเนื่องในทักษิณานุปทานการกุศลซึ่งบำเพ็ญนั้นสักเรื่อง ๑ มาขอให้กรรมการช่วยเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครให้พิมพ์ตามประสงค์ ข้าพเจ้าชวนให้พิมพ์หนังสือประชุมพระราชปุจฉา ซึ่งหอพระสมุดฯ ได้รวบรวมใหม่ พระยาประภากรวงศ์เห็นชอบด้วย จึงรับพิมพ์ประชุมพระราชปุจฉาภาคที่ ๑ เล่มนี้

อธิบายว่าด้วยหนังสือพระราชปุจฉา

อันประเพณีมีพระราชปุจฉา กล่าวคือซึ่งพระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งถามข้ออรรถธรรมที่ทรงสงสัย ให้พระราชาคณะแต่บางรูปฤๅประชุมกันวินิจฉัยแล้วถวายวิสัชนานี้ เข้าใจว่าเปนประเพณีมีมาในเหล่าประเทศที่ถือพระพุทธสาสนาแต่โบราณทีเดียว ส่วนประเทศอื่นยังไม่ได้พบหนังสือพระราชปุจฉา นอกจากหนังสือเรื่องมิลินทปัญหา ซึ่งพระเจ้ามิลินท์ซักไซ้พระนาคเสนด้วยในประเทศอินเดีย บางทีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาต่อๆ มาจะนิยมแบบอย่างพระเจ้ามิลินท์ จึงเกิดประเพณีมีพระราชปุจฉาก็อาจจะเปนได้ ในสยามประเทศนี้ประเพณีมีพระราชปุจฉาปรากฎมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเปนราชธานี แต่หนังสือพระราชปุจฉาชั้นนั้นสูญไปเสียเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาโดยมาก ยังมีฉบับเหลืออยู่จนบัดนี้น้อยเรื่อง มามีเรื่องพระราชปุจฉาปรากฎมากเมื่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร เพราะเปนเวลากู้พระสาสนาซึ่งเศร้าหมองมาแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา เหตุด้วยคัมภีร์พระไตรปิฎกแลพระสงฆ์ซึ่งรอบรู้พระธรรมวินัยกระจัดพลัดพรายหายสูญไปเสียในคราวนั้นเปนอันมาก พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้องทรงพยายามทำสังคายนาแลสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกขึ้นไว้เปนแบบฉบับสำหรับพระนคร ทั้งทรงอุดหนุนทำนุบำรุงพระสงฆ์ซึ่งอุสาหะเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ทรงตั้งแต่งให้มียศศักดิ์เปนพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย แลให้ได้เปนถานานุกรมเปรียญตามสมควรแก่คุณานุรูป เพื่อจะให้พระสงฆ์ทรงความรอบรู้แลสั่งสอนพระสาสนาให้ถาวรวัฒนาการสืบไป การที่มีพระราชปุจฉาปัญหาธรรมเปนวิธีทรงบำรุงการศึกษาพระธรรมวินัยโดยอุบายอย่างหนึ่ง เพราะผู้ที่จะแก้พระราชปุจฉาจำต้องค้นคัมภีร์พระไตรปิฎกสอบสวนหาข้ออรรถธรรมมาถวายวิสัชนา เพราะฉนั้นจึงเปนประโยชน์เปน ๒ ประการ คือเปนเหตุให้พระราชาคณะหมั่นสอบสวนคัมภีร์พระไตรปิฎกประการ ๑ และเปนประโยชน์เพิ่มภูลญาณปรีชาของพระราชาคณะด้วยอิกประการ ๑ คงเปนด้วยเหตุนี้ในรัชกาลที่ ๑ จึงมีพระราชปุจฉาเนือง ๆ ถึงรัชกาลหลัง ๆ ก็ทรงถือเปนประเพณีต่อมา แต่ในรัชกาลที่ ๒ จะมีพระราชปุจฉาสักกี่เรื่องทราบไม่ได้ ด้วยยังไม่พบฉบับหนังสือพระราชปุจฉารัชกาลนั้น มามีเรื่องปุจฉามากในรัชกาลที่ ๓ อิกรัชกาล ๑ ต่อนั้นมาเห็นจะเปนเพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ ทรงบำรุงการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเฟื่องฟูแพร่หลาย ส่วนพระองค์เองก็ได้ทรงสอบสวนพระไตรปิฎกจนรอบรู้หาผู้ที่เสมอมิได้ ถึงรัชกาลที่ ๕ การที่จะมีพระราชปุจฉาไม่จำเปนในกิจแห่งสาสนูปถัมภกดังแต่ก่อน จึงมีพระราชปุจฉาแต่พอเปนประเพณีสืบมา จนรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงปฏิบัติอย่างเดียวกัน

ประเพณีการที่มีพระราชปุจฉานั้น ย่อมจดข้อพระราชปุจฉาแลคำพระราชาคณะถวายวิสัชนา รักษาไว้ในหอหลวงทุกครั้ง จึงเกิดมีหนังสือพระราชปุจฉาเปนทำนองจดหมายเหตุอย่าง ๑ แลเปนตำราเรียนด้วยอิกอย่าง ๑ ซึ่งบันดานักเรียนย่อมนับถือกันมาแต่โบราณ ผู้รักเล่าเรียนจึงมักขอคัดสำเนาไปไว้ศึกษา แล้วผู้อื่นก็คัดลอกต่อๆ ไป สำเนาจึงมีอยู่ในที่ต่าง ๆ กรรมการหอพระสมุด ฯ ได้พยายามรวบรวมหนังสือพระราชปุจฉาพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ เปนครั้งแรกก็มีผู้ชอบอ่านกันโดยมาก ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ประทานหนังสือพระราชปุจฉา ซึ่งทรงตรวจเห็นว่าในฉบับที่หอพระสมุดฯ พิมพ์ยังไม่มีมาอิกหลายเรื่อง แลหอพระสมุดฯ หาได้จากที่อื่นก็มีอิก กรรมการหอพระสมุด ฯ เห็นว่าหนังสือพระราชปุจฉาฉบับพิมพ์ครั้งแรกก็จำหน่ายหมดแล้ว สมควรจะพิมพ์ขึ้นใหม่อิกสักฉบับ ๑ แต่จำนวนเรื่องพระราชปุจฉามีเพิ่มเติมมากกว่าแต่ก่อน จะพิมพ์ในสมุดเล่มเดียวเหมือนครั้งก่อนจะเปนหนังสือมากนัก จึงได้คิดแบ่งพิมพ์เปนภาค ๆ เรียกรวมกันว่า “ประชุมพระราชปุจฉา”

ประชุมพระราชปุจฉาภาคที่ ๑ ซึ่งพระยาประภากรวงศ์พิมพ์นี้ รวมแต่บันดาพระราชปุจฉาครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานีทั้งนั้น เปนพระราชปุจฉา ๑๓ เรื่องด้วยกัน แต่ฉบับซึ่งหอพระสมุดฯ หาได้ บางเรื่องมีทั้งพระราชปุจฉาแลคำวิสัชนาบริบูรณ์ บางเรื่องมีแต่คำถวายวิสัชนา ส่วนพระราชปุจฉาหามีไม่ แต่ก็สามารถจะรู้ความอันเปนข้อพระราชปุจฉาได้ด้วยความที่ถวายวิสัชนาทุกเรื่อง เปนแต่ไม่รู้ถ้อยคำของพระราชปุจฉาเท่านั้น พระราชปุจฉาซึ่งพิมพ์ในภาคที่ ๑ นี้ เคยพิมพ์แล้วแต่พระราชปุจฉาของสมเด็จพระเพทราชาเรื่องเดียว นอกจากนั้นยังไม่เคยพิมพ์ทั้ง ๑๒ เรื่อง

ประวัติคุณหญิงพลอยประภากรวงศวรวุฒิภักดี

อนึ่งพระยาประภากรวงศได้จดหัวข้อเรื่องประวัติของคุณหญิงพลอยฯ มาให้ เพื่อประสงค์จะให้เรียบเรียงพิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วย พอจะได้ปรากฎอยู่เปนที่รฦกแก่ผู้ที่เปนญาติแลมิตรของคุณหญิงพลอย ฯ แลเปนวิปัสนานัยแก่สาธุชนทั้งปวง เรื่องประวัติมีเนื้อความดังนี้

คุณหญิงพลอยประภากรวงศวรวุฒิภักดี เกิดที่บ้านตึก ในจังหวัดพระนคร เมื่อวันพฤหัศบดี เดือนยี่ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ เปนธิดานายน้อยมหาดเล็กวิเศษ ๆ เปนบุตรพระพรหมสุรินทร (พรม) ๆ เปนบุตรพระยามณเฑียรบาลในรัชกาลที่ ๒ ผู้เปนต้นสกุลนครานนท์ ท่านผู้หญิงอิ่มในเจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒน์เลี้ยงไว้แต่ยังเยาว์จนเปนภรรยาพระยาประภากรวงศวรวุฒิภักดี (ชาย บุนนาค) มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน คือ

ที่ ๑ ธิดาชื่อจวง ได้เปนภรรยานายพลพ่าย (ชวน โกมารกุล ณนคร) ซึ่งเปนหลานเจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒน์ด้วยกัน แต่นายพลพ่ายนั้นถึงแก่กรรมเสียแล้ว

ที่ ๒ บุตรชื่อว่อง คือพระยาประภากรวงศ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าสืบสกุลพระยาประภากรวงศวรวุฒิภักดี มาจนได้รับพระราชทานพานทองเองในปีนี้

ที่ ๓ บุตรชื่อเวียน ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเยาว์

ที่ ๔ บุตรชื่อใจ เปนที่หลวงชลาไลยไกกลอยู่บัดนี้

พระยาประภากรวงศวรวุฒิภักดี ถึงอนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ เวลานั้นบุตรธิดายังย่อมเยาว์อยู่ น่าที่การปกครองบ้านเรือนแลเลี้ยงบุตรธิดาตกเปนภาระของคุณหญิงพลอยโดยลำพังแต่นั้นมา คุณหญิงพลอยอุส่าห์พยายามรักษาทรัพย์สมบัติเลี้ยงบุตรธิดามาจนเติบใหญ่ได้ออกเรือนแลทำราชการสนองพระเดชพระคุณเปนหลักแหล่งโดยลำพังตนแล้ว ก็ตั้งหน้าหาความศุขในทางธรรมปฏิบัติ คือรักษาอุโบสถศีลเปนต้น แลบำเพ็ญการกุศลอันเปนสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ตามกำลัง ได้สร้างวัดในเนื้อนาของตนที่คลองรังสิตถวายเปนพุทธบูชาแห่ง ๑ ทั้งอุทิศที่นาอิกส่วนหนึ่งถวายเปนที่ธรณีสงฆ์ด้วย นอกจากนี้ยังมีศรัทธาช่วยทำการปฏิสังขรณ์แลซ่อมถนนหนทางให้เปนประโยชน์แก่มหาชนก็อิกหลายแห่ง อาไศรยวัตรจริยาสัมมาปฏิบัติดังกล่าวมา กอปทั้งอัธยาไศรยอันสุภาพ ซึ่งมีอยู่ในตัวคุณหญิงพลอยเปนปรกติ จึงเปนที่นับถือชอบพอของบรรดาญาติมิตรทั้งปวงมาจนตลอดอายุ คุณหญิงพลอยป่วยถึงแก่กรรมที่บ้านพระยาประภากรวงศวรวุฒิภักดี ในจังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ คำนวณอายุได้ ๗๒ ปี สิ้นเนื้อความตามเรื่องประวัติเท่านี้.

ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณานุปทาน ซึ่งพระยาประภากรวงศได้จัดการปลงศพสนองคุณคุณหญิงพลอยผู้มารดาด้วยความกตัญญูกตเวที แลทั้งได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ให้ได้อ่านกันแพร่หลายเปนครั้งแรก หวังใจว่าท่านทั้งหลายที่ได้รับแลอ่านหนังสือนี้คงจะอนุโมทนาด้วยทั่วกัน.

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ