พระราชปุจฉาเรื่องอุทิศเทวดาพลี
มีพระราชโองการสั่งให้เผดียง สมเด็จพระสังฆราชพระพิมลธรรม พระธรรมไตรโลก เทศนา ว่าเกิดเปนเทวดาได้ ๗ วันในสวรรค์คือได้ ๗๐๐ ปีในมนุษย์นี้ จึงระฦกได้รู้ว่าญาติพี่น้องบำเพ็ญกุศลสิ่งใดๆ ในมนุษย์นี้ อุทิศบุญนั้นไปให้แก่ญาติผู้เปนเทวดา แลญาติซึ่งเปนเทวดามิได้ส่วนบุญฤๅ แลส่วนบุญนั้นไปอยู่ที่ไหนเล่า ฤๅว่าญาติผู้กระทำบุญนั้นตายไปแล้วเกิดเปนเทวดา ครั้นครบ ๗ วันในสวรรค์ คือ ๗๐๐ ปีในมนุษย์ จึงเทวดาผู้เปนญาตินั้นระฦกถึงส่วนบุญอันญาติอุทิศไปนั้น จึงอนุโมทนาเอาส่วนบุญนั้นได้ ก็พิจารณาให้จงแจ้ง ฯ
วิสัชนาเรื่องอุทิศเทวดาพลี
วันนั้นสมเด็จพระสังฆราช พระพิมลธรรม พระธรรมไตรโลก ถวายพระพรว่า อาตมาภาพถวายพระธรรมเทศนาอุทัยพัทธสูตรนั้นว่า พระอุทัยพัทธราช กระทำบุญแล้วจุติไปเกิดเปนสมเด็จอมรินทราธิราช ครั้นถ้วนคำรบ ๗ วัน จึงระฦกถึงความสัญญาไว้แก่นางอุทัยพัทธราชเทวีก็ลงมาเปลื้องความสัญญานั้น ประการหนึ่ง อาตมาภาพมีสติปัญญาอันน้อย เหตุนั้นจึงถวายพระธรรมเทศนานั้นมิแจ้ง แลอาตมาภาพพิจารณาในวารพระบาฬีในอุทัยพัทธสูตรนั้นว่า “โพธิสตฺโต ปิ จุติขเณ ตาวตึสภวเน สกฺกตฺตํ ปตฺวา ยสมหนฺตตาย สตฺตาหํ อนุสฺสริตุํ นาสกฺขิ” เมื่อพระอุทัยพัทธราชบรมโพธิสัตวเจ้า จุติไปเกิดเปนสมเด็จอมรินทราธิราชในดาวดึงษเทวโลก มีนางเทพอับสรสองโกฏิ ๕ ล้านเปนบริวาร แลชมสมบัตินั้นเพลินอยู่ จึงลืมซึ่งคำอันให้สัญญาไว้แก่นางอุทัยพัทธราชเทวีแลมิอาจระฦกได้ ต่อถึง ๗ วันในดาวดึงษ์เปน ๗๐๐ ปีในมนุษย์นี้ จึงระฦกได้นั้นหามิได้ แลเมื่อเทวดาผู้นั้นอาวัชนะในขัณฑิตขณะใด จึงรู้ซึ่งอาการแห่งอาตมาภาพ อันอยู่ในมนุษย์โลกขณะนั้น ประดุจนิทานฉัตมาณพ อันตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ โจรฆ่าตายไปเกิดเปนเทวบุตรในดาวดึงษเทวโลก มีพระบาฬีดังนี้ “ฉตฺตมาณโว อตฺตโน สมฺปตฺตึ ปจฺจเวกขิตฺวา ตฺจ การณํ อุปธาเรนฺโต สรณคมนํ สีลสมาทานฺจ ทิสฺวา” ในขณะเมื่อฉัตมาณพจุติไปบังเกิดในเทวโลกนั้น จึงพิจารณาดูก็รู้ว่าอาตมาภาพได้สมบัตินี้ เหตุอาตมาภาพตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ จึงลงมากับทั้งวิมานในที่ฌาปนกิจของอาตมาภาพ เพื่อจะสำแดงซึ่งพระรัตนไตรยาทิคุณให้ปรากฎแก่คนทั้งปวง แลสูตรนี้แจ้งอรรถว่า เกิดเปนเทวดาแล้วก็ดี ต่อได้พิจารณาก่อนจึงรู้ ถ้ายังมิได้พิจารณาก็มิอาจรู้ประดุจพระธรรมเทศนาว่า แม้ถึงพระองค์สมเด็จพุทโธอัปปมาโณเจ้าก็ดี ทรงนามชื่อว่าพระสัพพัญญู “อาวชฺชนปฏิพทฺโธ” ย่อมเนื่องด้วยอาวัชนะ ต่อพิจารณาก่อนจึงรู้ มิได้พิจารณาก็มิอาจรู้ แลเทวดาทั้งปวงได้มโนมยจินตาก็ดี ต่อพิจารณาก่อนจึงรู้ มิได้พิจารณามิอาจรู้ แม้ถึงว่าบรมจักรพรรดิ์อันมีแก้วมณีโชติรัตน์ จะปราถนาสิ่งใดก็ย่อมได้สำเร็จด้วยอานุภาพแก้วนั้นก็ดี ถ้าบุรุษผู้ใดผู้หนึ่งจะมาขออาหารกินประมาณมื้อหนึ่ง บรมจักรพรรดิยังมิได้สั่งแก่นายภัตรการก่อน แลจะให้อาหารแก่บุรษทันใจนั้นมิได้ เมื่อใดสั่งนายภัตรการนั้นก่อนแล้ว จึงจะให้อาหารแก่บุรุษนั้นได้มีอุประมาดุจใด แลบุคคลบำเพ็ญกุศล จุติขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์เปนเทวดา จะระฦกการณ์สิ่งใดๆ ในมนุษยโลกย่อมพิจารณาก่อนจึงรู้ ถ้ามิได้พิจารณาก็มิอาจรู้ มีอุประไมยดังบรมจักรพรรดินั้นแล ฯ
ประการหนึ่ง ญาติกระทำบุญอุทิศส่วนบุญไปแก่ญาติอันไปยังปรโลกนั้น ก็มีในมิลินทปฤษณาว่า สมเด็จพระเจ้ามิลินทราชตรัสถามพระนาคเสนว่า ญาติอุทิศส่วนบุญไปแก่ญาติผู้ไปยังปรโลกนั้น ยังจะได้ฤๅมิได้ พระนาคเสนเธอจึงถวายวิสัชนาว่า ที่ได้ก็มีที่มิได้ก็มี ที่มิได้นั้น ๓ จำพวก คือสีสฉินนกเปรตจำพวก ๑ ขุปปิปาสานกเปรตจำพวก ๑ นิชฌามตัณหิกเปรตจำพวก ๑ แลที่ได้นั้นแต่เปรตจำพวก ๑ ชื่อปรทัตตูปชีวีกเปรตจำพวก ๑ ย่อมแสวงหาการกุศลแห่งญาติกาเพื่อจะอนุโมทนาเอาส่วนบุญของญาติอุทิศให้ไปนั้น ถ้ามิได้อนุโมทนาก็มิได้ซึ่งบุญ ฯ
ประการหนึ่ง พระธรรมเทศนาในติโรกุฑสูตรนั้นว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่สมเด็จพิมพิสารราชว่า ญาติทั้งหลายตายไปในปรโลกแลเปนปรทัตตูปชีวีกเปรต ย่อมเที่ยวแสวงหาญาติ เมื่อญาติกระทำบุญแลมิได้ระฦกถึง เหตุเปรตนั้นเมื่ออยู่ในมนุษย์นั้นตระหนี่มิได้ให้ทาน เห็นผู้อื่นทำทานแล้วห้ามเสีย เหตุนั้นอกุศลนั้นกำบังไว้จึงญาติมิได้ระฦกถึง มิได้อุทิศส่วนบุญไปให้ แลซึ่งปรทัตตูปชีวีกเปรตนั้น แต่ในกาลก่อนเปนมนุษย์นั้นมิได้ตระหนี่มิได้ห้ามทานแห่งท่าน ครั้นญาติบำเพ็ญกุศลญาติระฦกถึงอุทิศส่วนบุญให้ไป ก็ได้รับอนุโมทนาส่วนบุญนั้น ก็พ้นจากเปรตวิไสย แลเมื่อญาติมิได้บำเพ็ญกุศล แลมิได้อุทิศส่วนบุญไปให้เปรตนั้น ก็อดอาหารอยู่สิ้นกาลช้านาน ด้วยกรรมแห่งตนหากรักษาไว้แลกรรมยังมิได้สิ้นตราบใด ก็อดอาหารอยู่ตราบนั้น ฯ
ประการหนึ่ง พระธรรมเทศนาในสารสงเคราะห์ว่า เปรตแลอสุรกายอันนอกกว่าปรทัตตูปชีวีเปรตนี้มีครรภมลทิน แลเขฬสิงฆานิกาเปนอาหาร เหตุญาติอุทิศส่วนบุญไปมิได้ถึง เหตุกรรมอันตนกระทำนั้นหากกำบังไว้ แลบุญซึ่งญาติอุทิศเปนปัตติทานบุญกิริยาวัตถุ แลผลบุญนั้นก็เจริญแก่ทายกผู้เปนเจ้าของทานนั้นเอง แม้ถึงเทวดาก็ดี ถ้าแลได้อนุโมทนาเอาบุญซึ่งทายกอุทิศส่วนบุญไปนั้น จึงได้ซึ่งผลบุญนั้น ถ้าแลมิได้อนุโมทนาก็มิได้ผลบุญนั้นประดุจพระธรรมเทศนาในสุตตนิบาต เมื่อติณณปาลมาณพอันได้เข้าส่วนซึ่งผ้ากระทำกฐิน แลอุทิศส่วนบุญให้แก่สมเด็จอมรินทราธิราชมีวารพระบาฬีดังนี้ “สกฺโก ปิ กตํ ปฺุํ ปฏิคฺคเหสิ สมฺปตุติจฺฉิตกฺขเณเยว มหนฺตํ ทิพฺพสมฺปตฺตึ อภิวฑฺฒิ สกฺโก ตาสํ อฒเตยฺยโกฏิเทวจฺฉรานํ ตํ ปิ อทาสิ ตา เทวจฺฉรา ปฏิคฺคณฺหนฺติ สมฺปตฺติจฺฉิตกฺขเณเยว ตาสํ พหโว สมฺปตฺตี เยว วฑฺฒนฺติ” สมเด็จอมรินทราธิราชอนุโมทนารับเอาส่วนบุญแล้ว สมเด็จอมรินทราธิราชเร่งเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปแล้ว สมเด็จอมรินทราธิราชก็ให้ส่วนบุญนั้นแก่นางเทวอับสรกัญญา ๒ โกฏิ ๕ ล้าน แลนางเทวอับสรนั้น ก็อนุโมทนารับเอาส่วนบุญนั้นแล้ว สมบัติแห่งนางเทวอับสรนั้นก็เร่ง เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ฯ
ประการหนึ่ง เทวดาทั้งหลายในเทวโลกรู้ว่าญาติกระทำบุญได้อนุโมทนานั้น ก็มีในโลกวิจารณสูตร มีในอังคุตตรนิกายติกกนิบาต ว่าสมเด็จอมรินทราธิราชสั่งแก่จตุโลกบาลให้ใช้เทวอำมาตย์ ลงมาเอาบาญชีมนุษย์ทั้งปวงผู้กระทำบุญแลบาป แลเทวอำมาตย์รับเทวโองการแล้วลงมายังมนุษย์โลก ก็ถามภูมเทวดาว่า “ มาริสา พหูมนุสฺสา ปตฺเตยฺยา วุตฺตนเยเนว มนุสฺสานํ ปฺุํ ปติปุจฉิตฺวา” ดูกรท่านผู้เนรทุกข์ มนุษย์ทั้งหลายอันกอปรด้วยเมตตากระทำบุญแล้วอุทิศไปให้แก่กันนั้นยังมีบ้างฤๅหามิได้ แลภูมเทวดาบอกความว่า มนุษย์อันอยู่ในที่โพ้นๆ เขากระทำบุญแล้วแลอุทิศบุญนั้นไปให้แก่กันนั้นมี แลเทวอำมาตย์ก็กฎหมายเอาชื่อผู้นั้นเขียนลงในแผ่นทอง แล้วนำไปถวายแก่พระจตุโลกบาล ๆ ก็จบใส่เหนือเศียรเกล้าแล้ว ก็เอาบาญชีนั้นไปถวายแก่สมเด็จอมรินตราธิราชในดาวดึงษเทวโลก สมเด็จอมรินตราธิราชรับเอาจบใส่เหนือเศียรเกล้าอนุโมทนาแล้ว ก็ให้อ่านบาญชีนั้นไปในเทวสภาคศาลาที่ประชุมเทวดา “อตฺตมนา โหนฺติ ทิพฺพา วต โภ กายา ปริปูริสฺสนฺติ อปายกา ปริหายิสฺสนฺติ อันว่าเทวดาทั้งหลายอันอยู่ในที่ประชุมนั้น ก็ซ้องสาธุการอนุโมทนาชื่นชมยินดีด้วยถ้อยคำกล่าวแก่กันว่า เทวโลกนี้จะเต็มบริบูรณ์ด้วยเทวบุตรเทวธิดา แลอบายทั้ง ๔ นั้นจะเปล่าเสียแล้ว ครั้นถึง ๗ ค่ำ ๑๔ ค่ำนั้น พระจตุโลกบาลใช้เทวกุมาร อันเปนบุตรของอาตมาให้ลงมาเอาบาญชี ครั้นถึง ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ พระจตุโลกบาลลงมาเอาบาญชีด้วยตนเอง แล้วไปถวายแก่สมเด็จอมรินตราธิราชประดุจก่อนนั้น ข้อซึ่งว่าถึงวัน ๗ ค่พ แล ๑๔ ค่ำ ก็ดี วัน ๘ ค่ำ ก็ดี พระอินตราใช้เทวอำมาตย์ลงมาเอาบาญชีนั้น แลพรรณาวันในสูตรนี้ว่าตามวันในมนุษย์โลกนี้ ฯ
ประการหนึ่ง อันว่าเทวดาทั้งหลายอันอยู่ในชั้นยามา ครั้นได้ฟังเสียงเทวดาอันอยู่ในชั้นดาวดึงษ์ ก็ซ้องสาธุการอนุโมทนา ก็พลอยได้ซ้องสาธุการอนุโมทนาด้วยสืบๆ กันขึ้นไปตราบเท่าถึงปรนิมมิตวสวัสดีเทวโลกนั้น เหตุดังนั้นเทวดาจำพวกใดอันมิได้อาวัชนะ แลมิได้พิจารณาก็มิได้รู้ว่าบุคคลอุทิศส่วนบุญไปถึงอาตมา แลเทวดาจำพวกนั้นก็มิได้อนุโมทนาด้วย นักปราชญ์พึงรู้ด้วยนัยอันกล่าวมานี้ เทวดาจำพวกใดได้อนุโมทนาเอาส่วนบุญซึ่งบุคคลอุทิศไปนั้น แลผลบุญนั้นก็วัฒนาจำเริญแก่เทวดาผู้นั้น เท่าเว้นไว้แต่พรหมโลก เหตุว่าพรหมโลกนั้นหน่วงเอาฌานเปนอารมณ์อยู่ มิได้เอาอารมณ์อันอื่นเลย เหตุนั้นจึงมิได้สาธุการ แลซึ่งพรหมซ้องสาธุการนั้น แต่เมื่อพระบรมโพธิสัตวบำเพ็ญทาน แลเกิดมหัศจรรย์ด้วยอานุภาพทานบารมีของพระบรมโพธิสัตวนั้นเลิศนัก พรหมจึงได้ซ้องสาธุการ ฯ
ประการหนึ่ง เทวดาบางจำพวกมิได้เลื่อมใสยินดีในกุศลมีทานเปนอาทิ แลมิได้อนุโมทนาเอาส่วนบุญอันบุคคลอุทิศไปให้นั้น แลเทวบุตรนั้นเมื่ออยู่ในมนุษย์ทั้งหลายนั้นใจบาปเห็นท่านผู้อื่นกระทำบุญบมิได้เลื่อมใส เมื่อจุติจากมนุษย์นั้นเอากุศลเปนอารมณ์ จึงได้ไปเกิดเปนเทวดาในเทวโลก ครั้นจุติแล้วจำเดิมแต่หน้าปฏิสนธินั้น บาปธรรม ๓ ตัว คือ โลภะ โทสะ โมหะ อันเปนอกุศลมูลซึ่งได้กระทำในกาลก่อนนั้นมาเปนบริวารแล่นเข้าไปแซก จึงกำบังน้ำใจมิให้เลื่อมใสยินดีในกุศลมีทานเปนอาทิ แลจะให้เปนปัจจัยแก่อบายทั้ง ๔ จึงมิได้เลื่อมใสยินดี แลมิได้อนุโมทนากุศลผลบุญซึ่งบุคคลอุทิศไปนั้น ประดุจพระธรรมเทศนาอันมีในพระธรรมบทว่า เทวดาผู้หนึ่งอันสิงสู่อยู่ในซุ้มประตูแห่งอนาถบิณฑิกมหาเศรฐี แลอนาถบิณฑิกมหาเศรฐีถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์วันละ ๕๐๐ เปนนิจทุกวัน แลเทวดาผู้นั้นมิได้ยินดีด้วย จึงห้ามอนาถบิณฑิกมหาเศรฐีมิให้บำเพ็ญทาน ด้วยพระบาฬีดังนี้ “กินฺเต สมเณน โคตเมน อติปริจาคโต โอรมิตฺวา กมฺมนฺเต ปโยเชนฺโต กุฏุมฺพํ สณฺฐเปหิ” ดูกรมหาเศรษฐี “กึ ปโยชนํ” อันว่าประโยชน์ดังฤๅ ด้วยจะให้แก่พระสมณโคดม ท่านจงเว้นจากอันจะจำหน่ายทานนั้นเสีย เมาะว่าอย่าให้ทานไปกว่านั้นเลย ท่านจงประกอบกรรมทั้งปวงอันจะกระทำไร่นาค้าขายเถิด ทรัพย์ทั้งปวงก็จะบริบูรณ์แก่ท่านแล ฯ