เรื่องอัฏฐธรรมปัญหา
พุทธศักราช ๒๒๓๓ ปีกับ ๒ เดือน ในวันอังคารเดือน ๘ ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมเมียตรีนิศกนักษัตร (จุลศักราช ๑๑๕๒) พระราชสมภารเจ้า นิมนต์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ให้เฉลยปัญหาปฤษณาธรรม ๘ ประการนี้ ว่า
(๑) ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร
(๒) ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด
(๓) หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร
(๔) ไม้โกงอย่าทำกงวาน
(๕) ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง
(๖) ถ้าจะให้เปนลูกให้เอาไฟสุมต้น
(๗) ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา
(๘) ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย
อนึ่งข้าพระเจ้าทุกอันนี้แสวงหาแต่ปฤษณาฉนี้ ด้วยข้าพระเจ้าฉิบหายปัญญาขลาดนัก จะทำประโยชน์ในชั่วนี้ ข้าพระเจ้ากลัวภัย ๔ ประการ คือทุคคติภัย กิเลสภัย วัฏภัย อุปวาทภัย แลข้าพระเจ้าจะแสวงหาแต่ประโยชน์ซึ่งจะไปข้างหน้า ทุกวันนี้ข้าพระเจ้ามีเสบียงบรรทุกสำเภาพอเลี้ยงอาตมาไปกว่าจะถึงฝั่งฟากโพ้น ด้วยยากแต่ต้นหนแลนายเข็ม ด้วยต้นหนข้าพเจ้านี้ชั่วนัก แลสมเด็จเจ้าสิเปนอาจารย์แห่งข้าพระเจ้า แลข้าพระเจ้าจะขอความรู้ที่จะปฤกษาต้นหน จะช่วยข้าพระเจ้าแล่นสำเภาไปให้ถึงยังฟากข้างโพ้น อย่าให้มีอันตรายกลางทางนั้นได้ กราบไหว้พระอาจารย์เจ้า ออกมาเถิด
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขอถวายพระพรจำเริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒมงคลพระชนมศุขจงทุกประการ แด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ผู้ประเสริฐ ด้วยทรงพระกรุณาพระราชทานปฤษณา ๘ ประการมา ให้อาตมาภาพพิจารณาถวาย อาตมาภาพยินดียิ่งนักหนา ด้วยปฤษณานี้อาตมาภาพมิได้พบมิได้เห็นแต่ก่อน แต่จะได้ฟังก็หามิได้ แลอาตมาภาพพิจารณาตามกิจคดีโลก เปนโลกโวหารก็จะเปนอันหาแก่นสารหาประโยชน์มิได้ ด้วยอาตมาภาพได้รับพระราชเสาวนีว่า ทุกวันนี้เสบียงข้าพระเจ้าบรรทุกสำเภาพอเลี้ยงอาตมาภาพไปกว่าจะถึงฝั่งฟากโพ้นแล้ว ด้วยยากแต่ต้นหนแลนายเข็ม เหตุดังนี้อาตมภาพจะขอพระราชทานพิจารณาอรรถแห่งปฤษณานี้ ตามพุทธฎีกาสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนานั้นถวาย จึงจะเปนต้นหนแลนายเข็มผู้มั่นสันทัดฉลาดอาจสามารถ เพื่อจะนำสำเภาเภตราคือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ ให้เสด็จพระราชดำเนิรข้ามสมุทสาครอรรณพสงสาร คือจตุรโอฆทั้ง ๔ ประการอันมีนามบัญญัติ คือกาโมโฆ ภโวโฆ ฐิฏโฐโฆ อวิชโชโฆ อกุศลธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ย่อมท่วมทับสัตวให้จมอยู่ในสงสารสาครขันฦกแลกว้างขวางยิ่งนักยิ่งหนา แลมิอาจเพื่อจะข้ามด้วยสำเภาเภตรานาวายานอันเที่ยวทางชลธีแลมีต้นหนแลนายเข็มอันเปนปรกตินั้นได้ แลพระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมข้ามสงสารสาครสมุทนั้นด้วยพระธรรมนาวา อันกล่าวคือพระปัญญาอันตรัสรู้พระจตุราริยสัจธรรม ๔ ประการ อันเปนนาวายานอันล้ำเลิศประเสริฐยิ่งกว่านาวายานทั้งปวงอันมีในโลกนี้ อันว่าพระธรรมนาวาคือพระปัญญาอันตรัสรู้พระจตุราริยสัจนี้ ก็มีแต่ในกาลเมื่อสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พระพุทธเจ้าบังเกิดในโลกนี้ จึงมีพระธรรมนาวา
๑. เหตุดังนี้ อาตมาภาพจะขอพระราชทานถวายวิสัชนาในประถมปัญหา ซึ่งว่าทางใหญ่อย่าเที่ยวจรนี้ ด้วยมีพระพุทธฎีกาสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า เมื่อได้ตรัสแก่สัพพัญญุตญาณแล้ว แลตรัสเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ มีพระโกณฑัญเถรเปนประธานในอิสิปตนมฤคทายวันมีพระพุทธฎีกาตรัสดังนี้
“เทวฺเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา”
“ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยืนว่าทางสองทางนี้เปนทางลามกอันชั่วอันถดถ่อยยิ่งนักหนา แลบุทคลผู้เปนบรรพชิตผู้จะบันเทาบาปธรรมทั้งปวงเสีย แลจะให้ถึงพระนิพพานด้วยฉับพลันนั้น อย่าพึงส้องเสพ เมาะว่าอย่าพึงได้ท่องเที่ยวจรไปในทางสองทางนี้ แลทางสองทางนี้คือสิ่งใดจึงตรัสวิสัชนาดังนี้
“โยจายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค หีโน คมฺโม โปถุชฺชนิโก อนริโย อนตฺถสฺหิโต อันว่ากอประด้วยกามศุข ในเบญจกามคุณทั้งหลายนั้น เปนอันชั่วถ่อย เปนของชาวบ้าน เปนของบุถุชน มิใช่เปนของพระอริยเจ้าทั้งหลาย กอประด้วยหาประโยชน์มิได้ อันว่ากอประด้วยกามคุณศุขนี้ ก็เปนทางใหญ่ยาวยิ่งนักหนา เหตุว่าบุทคลผู้กอประด้วยกามศุขนั้น ก็เที่ยวตายเที่ยวเกิดเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารหากาลที่จะถึงที่สุดมิได้ ดุจบุทคลผู้เที่ยวจรไปในทางอันใหญ่ อันยาวแลหากาลที่จะถึงที่สุดมิได้นั้นแล อธิบายว่ากอประด้วยกามศุขนี้เปนทางใหญ่ อันลามกอันชั่วอันถดถ่อยประการหนึ่งแล
“โยจายํ อตฺตกิลมถานุโยโค ทุกฺโข อนริโย อนตฺถสฺหิโต” อันว่ากอประด้วยวัตรปฏิบัติอันให้เกิดทุกข์ลำบากแก่อาตมานั้น คือวัตรปฏิบัติแห่งเดียรถีนิครณฐ์ทั้งหลาย มิได้เปนวัตรปฏิบัติแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย แลกอประด้วยหาประโยชน์มิได้นี้ ก็เปนทางใหญ่ทางยาวยิ่งนักหนาอันหนึ่ง เหตุว่าบุทคลผู้ปฏิบัติผิดนั้นก็จะเที่ยวตายเที่ยวเกิดเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารหากาลที่จะถึงที่สุดมิได้ ดุจบุทคลผู้เที่ยวจรไปในทางอันใหญ่อันยาว แลหากาลที่จะถึงที่สุดมิได้นั้น อธิบายว่ากอประด้วยวัตรปฏิบัติอันผิดนี้ เปนทางใหญ่เปนทางอันลามกอันชั่วถ่อยประการหนึ่งแล ฯ วิสัชนาให้รู้แจ้งว่ากามสุขัลลิกานุโยคแลอัตตกิลมถานุโยคนี้ เปนทางใหญ่อย่าให้เที่ยวจรไปนั้นแล
ขอถวายพระพรให้ทราบในพระญาณ ด้วยปฤษณานี้ชื่อว่าอวุตตสิทธิ ในคำอันมิได้กล่าวนั้นก็สำเร็จด้วยคำอันกล่าวแล้วว่าทางใหญ่อย่าเที่ยวจรนั้น แม้นกล่าวแต่เท่านี้แลมิได้กล่าวว่าให้เที่ยวจรแต่ทางอันอื่นกว่าทางใหญ่นี้ก็ดี คำนี้สำเร็จด้วยคำว่าทางใหญ่อย่าเที่ยวจรนั้น คำนี้ห้ามแต่ทางใหญ่อันเดียวนั้น มิได้ห้ามทางอันอื่นกว่าทางใหญ่นั้นเหตุดังนั้น นักปราชผู้มีปัญญาพึงรู้ตามพุทธฎีกาอันตรัสเทศนาว่า
เอเตเต ภิกฺขเว อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทธา อยเมว อริโย อฏฺงฺคิโก มคฺโค”
“ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่ามัชฌิมปฏิบัติอันพระตถาคตตรัสรู้นี้ มิได้แปดปนด้วยกามสุขัลลิกานุโยค อันเปนลามกดุจทางอันกอประด้วยเปือกตมแลอาจมเปนอสุจินั้น แลมัชฌิมปฏิบัตินี้มิได้แปดปนด้วยอัตตกิลมถานุโยค อันเปนที่เกิดทุกข์ลำบากดุจทางอันกอประด้วยหลักตอเสี้ยนหนาม แลจะไต่ตามเที่ยวจรไปเปนอันยากนัก แลมัชฌิมปฏิบัตินี้ประพฤติเปนไปในท่ามกลางห่งทางทั้งสองนั้น แลมัชฌิมปฏิบัตินั้น คือพระอัฏฐังคิกมรรคธรรมอันกอประด้วยองค์แปดประการ อันพระตถาคตตรัสโถมนาด้วยพุทธฎีกาว่า
“เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค | |
มคฺคานฏฺงฺคิโก เสฏฺโ | อุชุโก นาม โส มคฺโค |
เอเสว มคฺโค นตฺถฺโ | ทสฺสนสฺส วิสุทธิยา |
เอตฺหิ ตุเมฺห ปฏิปชฺชถ | มารเสนปฺปโมหนํ |
เอตฺหิ ตุเมฺห ปฏิปนฺนา | ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสถ |
อกฺขาโต โว มยา มคฺโค | อฺาย สลฺลสตฺถนํ |
ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ | อกฺขาตาโร ตถาคตา |
ปฏิปนฺนา ปโมกฺขนฺติ | ญายิโน มารพนฺธนา |
ปมาทํ ภยโต ทิสฺวา | อปฺปมาทฺจ เขมโต |
ภาเวถฏฺงฺคิกํ มคฺคํ | เอตํ พุทฺธาน สาสนฺติ” |
“ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย “อยํ มคฺโค” อันว่าทางคือพระอัฏังคิกมรรค ธรรมอันกอประด้วยองค์แปดประการนี้ “เสฏฺโ” เปนทางอันประเสริฐนักหนา ยิ่งกว่าทางทั้งปวง อันว่าทางคือพระอัฏังคิกมรรคธรรมอันกอประด้วยองค์ ๘ ประการนี้ เปนทางอันตรงอันซื่อไปสู่นิพพานมิได้คดคลาดแคล้วจากนิพพาน อันว่าทางคือพระอัฏังคิกมรรค ธรรมอันกอประด้วยองค์ ๘ ประการนี้เปนทางอันเดียวมิได้เปนสองทาง อันว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกโพธิเจ้าก็ดี พระอรรคสาวกเจ้าก็ดี พระอสีติมหาสาวกเจ้าก็ดี พระปรกติสาวกเจ้าก็ดี พระอริยเจ้าทั้งปวงนี้ก็ย่อมไปสู่นิพพาน ด้วยทางคือพระอัฏฐังคิกมรรคธรรมอันกอประด้วยองค์ ๘ ประการนี้ทางเดียว มิได้ไปสู่นิพพานด้วยทางอื่นกว่านี้หามิได้ อันว่าทางคือพระอัฏฐังคิกมรรค ธรรมอันกอประด้วยองค์ ๘ ประการนี้ ก็เปนไปเพื่อจะให้บริสุทธิ์แห่งญาณทัสนะ คือโสดามรรคโสดาผลนั้น อันว่าทางอันอื่นนั้นมิได้เปนไปเพื่อจะให้บริสุทธิ์แห่งญาณทัสนะ คือโสดามรรคโสดาผลนั้น อันว่าทางคือพระอัฏังคิกมรรค ธรรมอันกอปรด้วยองค์ ๘ ประการนี้ ก็ยังเสนามารให้หลง เมาะว่าอกุศลธรรมอันเปนเสนาแห่งกิเลสมารนั้น มิอาจเพื่อจะเอาพระอัฏฐังคิกมรรค ธรรมอันกอปรด้วยองค์ ๘ ประการนั้นเปนอารมณ์ได้ ดุจแมลงอันอันมิอาจเพื่อจะบินไปจับลงในก้อนเหล็กแดง อันเผาด้วยถ่านเพลิงร้อนอยู่ฉนั้น เหตุดังนั้นจึงว่าพระอัฏฐังคิกมรรคธรรมยังเสนามารให้หลง มิให้รู้แห่งไปในทางคือพระอัฏฐังคิกมรรคธรรมนั้นแล อันว่าท่านทั้งหลายจงเที่ยวจรไป เมาะว่าจงปฏิบัติตามทางคือพระอัฏฐังคิกมรรค ธรรมอันกอปรตด้วยองค์ ๘ ประการนี้เถิด ท่านทั้งหลายจักกระทำซึ่งที่สุดแห่งวัฏทุกข์ทั้งปวงนั้นแล อันว่าพระตถาคตตรัสรู้ด้วยพระสยัมภูญาณ ว่าพระอัฏฐังคิกมรรคธรรมอันกอปรด้วยองค์ ๘ ประการนี้ย่อมย่ำยีเสียถอนเสียซึ่งปืนยาพิษ คือราคะตัณหาอันบังเกิดในสันดานแห่งสัตว์ทั้งหลาย แลยอกเสียดแทงจิตรแห่งสัตวทั้งหลาย ให้เปนทุกข์ร้อนรนกระวนกระวายลำบาก ดุจต้องปืนกำทราบอันชุบด้วยยาพิษฉนั้น ครั้นเจริญพระอัฏฐังคิกมรรค ธรรมอันกอประด้วยองค์ ๘ ประการให้บังเกิดในสันดานในกาลเมื่อใด อันว่าราคะตัณหาดุจปืนยาพิษนั้นก็ระงับดับหายในกาลเมื่อนั้นแล พระตถาคตตรัสเทศนาให้แจ้งแก่ท่านทั้งปวงดังนี้ แม้อันว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี ก็ย่อมตรัสเทศนาดังนี้ อันว่าบุทคลทั้งหลายหมู่ใด แลปฏิบัติตามพระอัฏฐังคิกมรรค ธรรมอันกอประด้วยองค์ ๘ ประการนี้ บุทคลทั้งหลายหมู่นั้นก็พ้นจากบ่วงมารนั้นแล อันว่าบุทคลผู้มีปัญญาเล็งเห็นซึ่งประมาทนั้นว่าเปนที่เกิดภัย เล็งเห็นซึ่งอันมิได้ประมาทนั้นว่าเปนที่ปราศจากภัย ครั้นเล็งเห็นดังนั้นแล้ว ก็พึงเจริญพระอัฏฐังคิกมรรค ธรรมอันกอประด้วยองค์ ๘ ประการ บุทคลผู้นั้นก็จะพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวงนั้นแล อันนี้เปนคำสั่งสอนแห่งสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าทั้งปวงทุกๆ พระองค์แล ฯ
อาตมาภาพถวายวิสัชนาประถมปัญหา ด้วยพระธรรมเทศนานี้เพื่อจะเปนต้นหนแลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาประถมปฤษณาสำเร็จเท่านี้ก่อนแลฯ
๒ อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาในทุติยปัญหาปฤษณาคำรบสองซึ่งว่าลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด แลลูกอ่อนนั้น คือญาติวงศามีบิดามารดาแลบุตรธิดาเปนอาทินั้น เหตุว่าบุทคลผู้มีปัญญาแลเปนอริยสัปบุรุษนั้นก็ย่อมเปนอุปการรักษาซึ่งญาติวงศาแห่งอาตมาดุจบิดามารดา อันเปนอุปการรักษากุมารกุมาริกาอันเปนบุตรธิดาแห่งอาตมภาพนั้น ซึ่งว่าอย่าอุ้มรัดนั้น คือว่าให้อุ้มแต่ว่าอย่าให้รัดเข้าให้ติดอาตมา เหตุว่ากิริยาอันอุ้มนี้มีสองประการ คืออุ้มแต่พอมั่นแลมิให้รัดเข้าให้ติดอาตมาประการหนึ่ง คืออุ้มแลรัดเข้าให้ติดอาตมาประการหนึ่ง อุ้มเปนสองประการดังนี้ ซึ่งว่าอุ้มนั้นคือเปนอุปการรักษา ซึ่งว่ารัดเข้าให้ติตอาตมานั้นคือตัณหาอุปาทานเสนหา อันปราถนาถือมั่นด้วยความรักนั้นแล ซึ่งว่าอุ้มแลมิให้รัดเข้าให้ติดอาตมานั้น คือเปนแต่อุปการรักษาแลหาตัณหาอุปาทานเสน่หามิได้นั้นแล อันว่าบุทคลผู้เปนบุถุชนหาปัญญามิได้นั้น ก็เปนอุปการรักษาญาติวงศาด้วยตัณหาอุปาทานเสนหา อันปราถนาว่าญาติวงศาทั้งหลายนี้ เปนที่พึ่งที่พำนักแก่อาตมาเที่ยงแท้ ก็ถือมั่นด้วยความรักว่าญาติงศาทั้งหลายนี้เปนของอาตมาเที่ยงแท้ มีอุปมาดังบุทคลอันอุ้มลูกอ่อนแลรัดเข้าให้ติดอาตมานั้นแล อันว่าบุทคลผู้มีปัญญาแลพิจารณาเห็นสังขารธรรมทั้งปวง คืออาตมาเองนั้นก็ดี ญาติวงศาทั้งหลายก็ดี ก็ย่อมเปนอนิจจังทุกขังอนัตตา แลบุทคลผู้มีปัญญานั้นก็เปนอุปการรักษาญาติวงศาทั้งหลาย แต่ตามประเวณีอันมีเมตตาจิตรเปนบุพพภาค แลหาตัณหาอุปาทานเสนหามิได้นั้น ก็มีอุปมาดังบุทคลอันอุ้มลูกอ่อน แลมิได้รัดเข้าให้ติดอาตมานั้นแล อันว่าบุทคลผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นดังนี้ เหตุบุทคลผู้นั้นได้ฟังธรรมเทศนาดังนี้
“เปมโต ชายเต โสโก | เปมโต ชายเต ภยํ |
เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส | นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ” |
อันว่าโสกาดูรก็ดีก็บังเกิดแต่ความรัก อันว่าภัยก็ดี ก็บังเกิดแต่ความรัก อันว่าโศกก็ดี อันว่าภัยก็ดี ก็มิได้บังเกิดแต่ฐานที่ใดที่หนึ่งแต่บุทคลผู้หาความรักมิได้แลพ้นจากความรักแล้วนั้นแล อันว่าบุทคลผู้มีปัญญาแลเปนอุปการอนุเคราะห์ญาติวงศา แลหาตัณหาอุปาทานเสน่หามิได้นั้น แม้นแลญาติวงศาบังเกิดภัยอันตรายพินาศฉิบหายชีวิตรก็ดี บุทคลผู้มีปัญญานั้นก็มิได้บังเกิดทุกข์โทมนัสโสกาดูรอันยิ่งนั้นแล อันว่าบุทคลผู้มิได้สดับฟังธรรมเทศนา แลหาปัญญามิได้นั้นแล เปนอุปการอนุเคราะห์ญาติวงศาด้วยตัณหาอุปาทานเสนหานั้น ครั้นแลญาติวงศาบังเกิดภัยอันตรายพินาศฉิบหายชีวิตรก็ดี บุทคลผู้หาปัญญามิได้นั้น ก็บังเกิดทุกข์โทมนัสโสกาดูรยิ่งนักหนา ดุจเศรษฐีธิดาคนหนึ่ง อันมีครรภ์แก่แล้วแลจะเข้าไปหาบิดามารดาในเมืองสาวัตถี ก็ไปกับด้วยสามีแลทารกอันเปนบุตรนั้น ครั้นไปถึงท่ามกลางมรรคาก็จะคลอดบุตรนั้น แลบุรุษผู้เปนสามีนั้นถือพร้าเข้าไปในสุมทุมจะตัดเอาใบไม้มาทำร่มให้แก่บุตรภรรยา แลอสรพิษตัวหนึ่งออกมาแต่จอมปลวกก็ตอดเอาบุรุษผู้นั้น ๆ ก็ล้มลงถึงมรณภัยในที่นั้น แลเศรษฐีธิดานั้นจึงเอาทารกทั้งสองนั้นนอนไว้ในใต้อก ก็ครอบทารกทั้งสองนั้นไว้ยังรุ่ง ครั้นรุ่งเช้าเศรษฐีธิดานั้นเล็งเห็นสามีตายล้มอยู่ เศรษฐีธิดานั้นบังเกิดโสกาดูรร้องไห้ร่ำไรไปมา จึงอุ้มทารกอันประสูติใหม่ แลมีพรรณดังชิ้นเนื้อนั้น แลจูงมือทารกผู้รู้เดินนั้นไปถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง จึงให้ทารกผู้ใหญ่นั้นนั่งอยู่ณริมฝั่ง แล้วอุ้มทารกอันประสูติใหม่นั้นข้ามแม่น้ำไปถึงฝั่งฟากข้างโพ้น แลเอาใบไม้ปูลงแล้วจึงวางทารกนั้นให้นอนเหนือใบไม้นั้นแล้วก็กลับไปจะรับเอาบุตรผู้ใหญ่นั้นมา ครั้นไปถึงกลางแม่น้ำ จึงเหยี่ยวตัวหนึ่งบินมาในอากาศ เล็งเห็นทารกอันนอนเหนือใบไม้นั้นก็สำคัญว่าชิ้นเนื้อ ก็ฉาบลงคาบเอาทารกนั้น แลเศรษฐีธิดาเล็งเห็นก็ชูมือทั้งสองขึ้นแกว่งแล้ว ก็ร้องตวาดเหยี่ยวนั้น ทารกผู้ใหญ่อันอยู่ริมฝั่งข้างหนึ่งนั้น สัญญาว่ามารดาเรียกก็แล่นลงไปในแม่น้ำนั้น น้ำก็พัดเอาทารกนั้นไป แลเศรษฐีธิดาผู้นั้นก็บังเกิดความทุกข์โสกาดูรยิ่งนักหนา ก็ร้องไห้ร่ำไรไปมาว่าลูกน้อยนี้เหยี่ยวก็พาไป แลลูกใหญ่ก็จมลงในนที สามีงูก็ขบตายแล้ว เศรษฐีธิดาผู้นั้นเดินมาเล็งเห็นบุรุษผู้หนึ่งจึ่งถามบุรุษผู้นั้นว่าท่านยังรู้จักตระกูลเศรฐีอันมีชื่อโพ้น อันอยู่ในเมืองสาวัตถีนั้นแลฤๅ บุรุษผู้นั้นจึงบอกว่าฝนตกคืนนี้ ลมพายุพัดนัก เรือนมหาเศรษฐีนั้นหักทำลายลงทับมหาเศรษฐีแลภรรยาแลลูกชายตายทั้งสามคนแต่ในกลางคืนนี้แล้ว แลคนทั้งหลายเขาเอาไปเผาในเชิงตะกอนเดียวด้วยกันทั้งสามคนนั้นแล เศรษฐีธิดาผู้นั้นได้ฟังถ้อยคำบุรุษนั้นบอก ก็บังเกิดความทุกขเวทนานักหนาหาสติสมฤดีมิได้ แลผ้านุ่งผ้าห่มตกออกจากกายอาตมาก็ไม่รู้สึกตัว ก็ถึงซึ่งสภาวะเปนบ้าร่ำร้องไห้แล่นไปถึงพระเชตุพนมหาวิหาร คนทั้งหลายก็ห้ามมิให้เข้าไป จึ่งสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสรู้ว่าเศรษฐีธิดานั้นมีสมภารได้บำเพ็ญมาบริบูรณ์แล้ว แลจะถึงพระอรหรรต์ในชาตินั้น จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ท่านทั้งหลายอย่าห้ามเลยให้เข้ามาเถิด ครั้นเศรฐีธิดาเข้าไปใกล้จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรภคินีท่านจงได้สติสมฤดีเถิด เศรษฐีธิดานั้นครั้นได้ยินพระสุรเสียง นางก็ได้สติสมฤดี ด้วยอานุภาพพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าในขณะนั้น จึงรู้ว่าผ้านุ่งผ้าห่มตกจากกายเสียสิ้นแล้วก็นั่งลง จึงบุรุษผู้หนึ่งก็เปลื้องผ้าห่มของอาตมาออกซัดให้แก่เศรษฐีธิดา ๆ ก็นุ่งผ้านั้นเข้าแล้ว ก็ไปกราบนมัสการสมเด็จพระพุทธเจ้าแล้วก็กราบทูลว่าลูกข้าพระเจ้าคนหนึ่งเหยี่ยวก็คาบเอาไป ลูกข้าพระเจ้าคนหนึ่งน้ำก็พาเอาไป สามีของข้าพระเจ้าอสรพิษก็ขบตาย บิดามารดาแลพี่ชายข้าพระเจ้าเรือนก็หักทับตายสิ้นแล้ว ข้าพระเจ้าหาที่พึ่งที่พำนักมิได้ ขอพระพุทธเจ้าจงเปนที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าเถิด สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาตรัสว่าดูกรปติจฉรา แปลว่าท่านผู้มีอาจาระ คือหิริโอตัปปะอันตัดเสีย เหตุว่าผ้านุ่งผ้าห่มนั้นปราศจากอาตมาจึงเรียกว่าปติจฉรา อันว่าบุทคลผู้อื่นมิอาจเพื่อจะเปนที่พึ่งแก่ท่านได้ แต่พระตถาคตผู้เดียวนี้จะบังเกิดเปนที่พึ่งแก่ท่าน ๆ จงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาของพระตถาคตนี้เถิด สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาดังนี้
“จตุสมุทฺเทสุ ชลํ ปริตฺตํ
ตโต พหุํ อสฺสุชลํ อนปฺปกํ
ทุกฺเขน ผุฏฺสฺส นรสฺส โสจติ
กึการณา อมฺม ตฺวํ ปมชฺชสีติ”
ดูกรนางปติจฉรา อันว่าน้ำในมหาสมุททั้ง ๔ นั้นมีเปนอันน้อย อันว่าน้ำตาแห่งบุทคลผู้หนึ่งอันเที่ยวตายเที่ยวเกิดอยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลช้านานจะนับมิได้นั้น อันทุกข์โสกาดูรมาถูกต้อง แลร้องไห้ในกาลเมื่อญาติกาทั้งหลาย มิอาทิคือบุตรธิดาพินาศฉิบหายล้มตายนั้น แลน้ำตาแห่งบุทคลผู้หนึ่งนั้นก็เปนอันมาก ยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้น ดังฤๅท่านจะประมาทอยู่ด้วยรักญาติกาทั้งปวง ท่านก็จะได้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานดังนี้สืบไปในวัฏสงสารนั้นเล่า แลในเมื่อสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้ อันว่าความโศกในตัวแห่งนางปติจฉรานั้นก็น้อยลง สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้ารู้ว่าความโศกน้อยลงแล้วจึงตรัสเทศนาดังนี้
“น สนฺติ ปุตตา ตาณาย | น ปิตา นปิ พนฺธวา |
อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส | นตฺถิ ญาตีสุ ตาณตา |
เอตมตฺถวสํ ตฺวา | ปณฺฑิโต สีลสํวุโต |
นิพฺพานคมนํ มคฺคํ | ขิปฺปเมว วิโสธเย” |
ดูกรนางปติจฉรา อันว่าบุตรธิดาทั้งหลายก็ดี อันว่าบิดามารดาทั้งหลายก็ดี ก็มิได้เพื่อจะเปนที่พึ่งแก่บุทคลอันมัจจุราชหากครอบงำนั้น เมาะว่าบุตรธิดาแลญาติกาจะเปนที่พึ่งคือจะให้เข้าน้ำโภชนาหาร แลจะช่วยเปนอุปการกระทำกิจการทั้งปวงได้ก็แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่นี้ แลเมื่อมัจจุราชมาถึงแล้วนั้น ญาติวงศาทั้งหลายนั้น มิอาจเพื่อจะเปนที่พึ่ง แลจะห้ามมัจจุราชด้วยอุบายอันใดอันหนึ่งหามิได้ เหตุดังนั้น อันว่าสภาวะญาติทั้งหลายจะเปนที่พึ่งแก่บุทคลอันมัจจุราชครอบงำนั้นหามิได้ อันว่าบุทคลผู้มีปัญญารู้ว่าญาติทั้งปวงมิได้เปนที่พึ่งแก่อาตมาแล้วดังนี้ ก็พึงตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธสีลสังวร แล้วพึงชำระพระอัฏฐังคิกมรรค ธรรมอันกอปรด้วยองค์แปดประการ อันเปนทางนฤพานนั้นจงฉับพลัน ครั้นท่านชำระพระอัฏฐังคิกมรรคธรรมบริสุทธิ์แล้ว ท่านก็ถึงนิพพานแล้ว ท่านก็จะพ้นจากทุกข์โทมนัสโสกาดูรทั้งปวงนี้แล อธิบายว่าท่านจะปราถนาให้พ้นจากทุกข์ ท่านจงชำระสัมมาทิฏฐิคือปัญญาอันพิจารณาให้เห็นแจ้งในอริยสัจทั้ง ๔ ดังนี้ อันว่าปัญจขันธ์อันเปนที่บังเกิดทุกข์ทั้งปวงนี้ ชื่อทุกขอริยสัจ อันว่าตัณหาอันปราถนาจะให้บังเกิดปัญจขันธ์สืบไปนั้น ชื่อสมุทัยอริยสัจ อันว่าตัณหาดับบ่มิได้บังเกิดสืบไป ชื่อนิโรธอริยสัจ อันว่าปฏิบัติเพื่อจะให้ตัณหาอันชื่อสมุทัยสัจนั้นดับ แลมิให้บังเกิดสืบไปกว่านั้น ปฏิบัตินั้นชื่อมรรคอริยสัจ แลปัญญาอันรู้จักอริยสัจทั้ง ๔ ดังนี้ ชื่อสัมมาทิฏฐิ อันว่าสักกายทิฏฐิ อันถือว่าปัญจขันธ์นี้เปนตัวเปนตนเปนอหังมมังดังนี้ ชื่อมิจฉาทิฏฐิ แลท่านจงชำระสัมมาทิฏฐิ อันเล็งเห็นปัญจขันธ์ว่าเปนกองทุกข์สิ่งเดียวเที่ยงแท้ หาตัวหาตนหาอหังมมังมิได้ในปัญจขันธ์นี้ ครั้นท่านชำระสัมมาทิฏฐินี้ให้บริสุทธิ์ มิให้มิจฉาทิฏฐิบังเกิดได้กว่านั้น ก็ได้ชื่อว่าชำระองค์มรรคอันเปนประถมเปนทางพระนฤพานประการหนึ่งแล ท่านจงชำระสัมมาสังกัปปะให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาสังกัปปะบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาวาจาให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาวาจาบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมากัมมันโตให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉากัมมันโตบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาอาชีโวให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาอาชีโวบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาวายาโมให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาวายาโมบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาสติให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาสติบังเกิดได้ ท่านจงชำระสัมมาสมาธิให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีมิจฉาสมาธิบังเกิดได้ ครั้นท่านชำระธรรม ๘ ประการอันเปนองค์อริยมรรค ให้บริสุทธิ์ดังนี้แล้วในกาลเมื่อใด ท่านจะถึงนิพพานพ้นจากสังสารทุกข์ทั้งปวงในกาลเมื่อนั้นเปนอันเที่ยงแล
นางปติจฉราตั้งสมาธิจิตรฟังพระธรรมเทศนานี้ ก็หยั่งปัญญาไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็พิจารณาเห็นแจ้งว่าทุกข์ทั้งปวงนี้ บังเกิดแต่กิเลสธรรมอันมีตัณหาเปนมูลนั้นเที่ยงแท้ นางปติจฉรานั้นก็เผากิเลสธรรมอันเปนมูลแห่งทุกข์เปนอันมาก ดุจเมล็ดฝุ่นในแผ่นดินทั้งปวงนั้นให้ไหม้พินาศไป ด้วยเพลิงคือโสดามรรคญาณแล้วก็ประดิษฐานอยู่ในโสดาปัตติผลนั้น แล้วจึงขอบวชเปนภิกษุณีในพระพุทธสาสนา ก็ปรากฎชื่อว่าปติจฉราภิกษุนี แลเมื่อนางตักน้ำล้างเท้าในกาลเมื่อวันหนึ่งนั้น ก็เล็งเห็นน้ำอันรดลงก่อนนั้น ครั้นรดลงก็ทราบหายไป แลน้ำอันรดลงเปนคำรบสองนั้น ครั้นรดลงก็ไหลไปกว่าก่อนนั้นหน่อยหนึ่งแล้วก็ทราบหายไป น้ำอันรดลงเปนคำรบสามนั้นก็ไหลไปมากกว่าก่อนนั้นหน่อยหนึ่งแล้วก็ทราบหายไป ก็บังเกิดอุทยวยปัญญาพิจารณาเห็นว่าสัตวทั้งหลายอันตายในประถมวัยนั้น ดุจน้ำอันรดลงก่อนนั้น สัตวทั้งหลายอันตายในมัชฌิมวัยนั้น ดุจน้ำอันรดลงเปนคำรบ ๒ นั้น สัตวทั้งหลายอันตายในปัจฉิมวัยนั้น ดุจน้ำอันรดลงเปนคำรบ ๓ นั้นแล ฯ
จึงสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าเสด็จอยู่ในพระคันธกุฎีเปล่งพระรัศมีโอภาศไปให้เห็นดุจเสด็จอยู่ในที่เฉพาะหน้าแห่งนางปติจฉราภิกษุนีนั้น ก็ตรัสพระธรรมเทศนานี้
“โย จ วสฺสสตํ ชีเว | อปสฺสํ อุทยพฺพยํ |
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย | ปสฺสโต อุทยพฺพยํ” |
อันว่าบุทคลผู้ใดมีอายุได้ ๑๐๐ ปี แลมิได้เลิ่งเห็นอันเกิดแลดับแห่งปัญจขันธ์นี้ ชีวิตได้ ๑๐๐ ปีนั้นมิได้ประเสริฐ อันว่าบุทคลผู้ใดมีอายุแต่วันเดียว แลเล็งเห็นซึ่งอันเกิดแลอันดับแห่งปัญจขันธ์นี้ อันว่าชีวิตแห่งบุทคลวันเดียวนั้นประเสริฐกว่าชีวิตร้อยปีนั้นแล ฯ นางปติจฉราภิกษุนีได้ฟังพระธรรมเทศนา นางก็ ก็ลุถึงพระอรหรรต์กอประด้วยปติสัมภิทาญาณ ในกาลเมื่อจบพระธรรมเทศนานี้แล ฯ
ขอถวายพระพรอาตมาภาพพิจารณาทุติยปัญหา ด้วยพระธรรมเทศนานี้ถวายเปนต้นหนแลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาปฤษณาคำรบสองแล้วแต่เท่านี้แล ฯ
๓. อาตมาภาพขอถวายวิสัชนา ตติยปัญหาปฤษณาคำรบสามว่าหลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหารนั้น ชื่อหลวงเจ้าวัดนั้นคือจิตอันชื่อวิญญาณขันธ์ อันเปนประธานแก่เจตสิกทั้งปวงอันชื่อเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั้นแล เหตุว่าพระบาฬีดังนี้
“มหากสฺสปเถรปมุขปฺจสตาภิกฺขู” อันว่าภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐ มีพระมหากัสสปเถรเปนประธาน อันนี้เปนอุประมา “มโนปุพฺพํงคมา ธมฺมา” อันว่าอรูปธรรมทั้งหลาย คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ มีวิญญาณขันธ์ เปนประธาน อันนี้เปนอุประไมย อธิบายว่าดังนี้ อันว่าหลวงเจ้าวัดนั้นเปนประธาน แก่ภิกษุทั้งหลายอันเปนลูกวัดแลมีดุจใด อันว่าว่าจิตรก็เปนประธานแก่เจตสิกทั้งหลายก็มีดุจนั้น เหตุดังนั้นจึงว่าหลวงเจ้าวัดนั้น คือจิตรอันชื่อว่าวิญญาณขันธ์ แลเปนประธานแก่เจตสิกทั้งหลาย อันชื่อว่าเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั้นแล ซึ่งว่าอย่าให้อาหารนั้น คืออย่าให้จิตรยินดีต่ออาหาร ๔ ประการ คือกวฬีการาหาร ๑ ผัสสาหาร ๑ มโนสัญเจตนาหาร ๑ วิญญาณาหาร ๑ อันว่ากวฬีการาหารนั้น นำมาซึ่งรูปมีโอชาเปนคำรบ ๘ อันว่าผัสสาหารนั้น นำมาซึ่งเวทนาทั้งสาม อันว่ามโนสัญเจตนาหารนั้น นำมาซึ่งปติสนธิในภพทั้งสาม อันว่าวิญญาณาหารนั้น นำมาซึ่งนามแลรูป เหตุดังนั้นธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ จึงได้ชื่อว่าอาหาร ซึ่งว่าอย่าให้จิตรยินดีในอาหารนั้นเปนเหตุดังฤๅ เหตุว่าอาหารทั้ง ๔ ประการนั้น กอประด้วยภัย ๔ ประการ คือนิกันติกภัย ๑ อุปคมนภัย ๑ อุปปัตติภัย ๑ ปติสนธิภัย ๑ ฯ
อันอ่ากวฬีการาหารนั้นกอประด้วยนิกันติกภัยคือรศตัณหา เหตุว่าสัตวทั้งหลายมีอาทิ คือเนื้อแลปลาอันหลงด้วยรศตัณหา ก็ถึงภัยฉิบหายเปนอันมาก ประการหนึ่ง แม้นมนุษย์แลบรรพชิตแล้วก็ดี ครั้นยินดีในรศตัณหา ก็ย่อมถึงซึ่งภัยอันจะเปนอันตรายแก่พรหมจรรย์ก็มีเปนอันมาก แม้นบรรพชิตอันเปนปัจฉิมภวิกชาตินั้นก็ดี ครั้นยินดีต่อรศตัณหาก็ย่อมบังเกิดภัยดุจพระสุนทรสมุทเถร อันนางแพศยาตกแต่งโภชนาหารอันประณีต แลนิมนต์ให้เข้าไปฉันแต่ในศาลา อันเปนที่ชุมนุมภายนอกนั้นแล้ว ก็นิมนต์ให้เข้าไปฉันถึงหอนั่ง แล้วก็นิมนต์ให้เข้าไปฉันถึงในเรือน แล้วก็นิมนต์ให้ขึ้นไปฉันบนปราสาท ๗ ชั้น พระมหาเถระนั้นได้บริโภคอาหารอันประณีตแล้วนั้น ก็ยินดีด้วยรศตัณหาก็ไปตามใจแห่งแพศยาผู้นั้น แพศยานั้นจะให้นั่งฉันในที่ใด ก็ไปนั่งฉันในที่นั้น เหตุยินดีด้วยรศตัณหา ครั้นขึ้นไปนั่งฉันในปราสาท ๗ ชั้นนั้น แพศยานั้นหับประตูไว้แล้วก็เล้าโลมด้วยมารยาสัตรี อันมีประการต่างๆ เพื่อจะให้เปนคฤหัษฐ์แลจะให้บริโภคกามคุณ พระมหาเถรนั้นมีสมภารบริบูรณ์แล้ว ก็มิได้ยินดีในกามคุณนั้น ก็บังเกิดธรรมสังเวชก็ลุถึงอรหรรต์แล้ว ก็เหาะหนีไปในอากาศก็พ้นจากแพศยานั้น ถ้าแม้ยังมิถึงปัจฉิมภวิกชาติแลสมภารยังไม่บริบูรณ์ ก็จะถึงซึ่งภัยอันตรายพรหมจรรย์ด้วยแพศยาผู้นั้นแล อันว่ารศตัณหากอปรด้วยภัยดังนี้ จึงว่าอย่าให้จิตยินดีในกวฬีการาหารนั้นแล เหตุดังนั้นบุทคลผู้มีปัญญาปราถนาพ้นจากสงสาร แลจะเอานฤพานให้ได้นั้น แม้นบริโภคโภชนาหารอันประณีตนั้นก็ดี อย่าพึงยินดีในรศตัณหาบังเกิดก็คงบริโภคด้วยปัญญาอันพิจารณา ซึ่งอุประมาดุจบุทคลสองคนอันเปนสามีภริยาเดินไปในทางอันกันดารขาดอาหารจะสิ้นชีวิตนั้น ก็กินเนื้อกุมารผู้บุตรนั้น แลมิได้ยินดีต่อรศตัณหาในเนื้อบุตรนั้น แลกินเนื้อบุตรนั้นแต่เพื่อว่าจะรักษาชีวิต แลมีอุประมาดุจใด อันว่านักปราชผู้มีปัญญาจะปราถนาให้พ้นจากสงสารแลจะได้ถึงนฤพานจงฉับพลัน ก็พึงบริโภคโภชนาหารแต่เพื่อจะรักษาชีวิต แลจะเจริญภาวนาให้ได้วิปัสนาปัญญาสิบประการ แลมรรคญาณผลญาณอันจักกระทำนฤพานให้แจ้งนั้น แลอย่าให้บังเกิดความยินดีด้วยรศตัณหา ดุจคนทั้งสองอันกินเนื้อบุตรนั้นเถิด ฯ
อันว่าผัสสาหารนั้น กอประด้วยอุปคมนภัย คือสภาวะแห่งอารมณ์ทั้ง ๖ รูปารมณ์อันมาถูกต้องจักษุทวารนั้นก็ดี คือสัททารมณ์อันมาถูกต้องโสตทวารนั้นก็ดี คือคันธารมณ์อันมาถูกต้องฆานทวารนั้นก็ดี คือรสารมณ์อันมาถูกต้องชิวหาทวารนั้นก็ดี คือโผฏฐัพพารมณ์อันมาถูกต้องกายทวารนั้นก็ดี คือธรรมารมณ์อันมาถูกต้องมโนทวารนั้นก็ดี อารมณ์ทั้ง ๖ นี้ถ้าเปนอนิฏฐารมณ์อันชั่วอันถ่อยอันมิถูกถึงพึงใจแลมาถูกต้องทวารทั้ง ๖ นั้นก็ดี โทมนัสเวทนาก็บังเกิด แลโทมนัสเวทนานั้นให้คับแค้นเสียบแทงจิตรนั้นให้ลำบาก ดุจปืนอันกำทราบอันชุบด้วยยาพิษแลมาถูกต้องเสียบแทงในหทัยวัตถุฉนั้นก็เปนอันลำบากยิ่งนักหนา ก็ไหลลงไปในผัสสาหารอันถูกต้องทุกข์นั้น ก็ถึงภัยอันมิได้เปนประโยชน์ในอิธโลกแลปรโลกนั้น ถ้าแลอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นเปนอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปราถนา เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ ศุข อันงามอันดีเปนที่ถูกเนื้อพึงใจแลมาถูกต้องทวารทั้ง ๖ นั้นโสมนัสเวทนาก็บังเกิด แลโสมนัสเวทนานั้นก็ยังจิตให้ลำบากด้วยสภาวะกำหนัดยินดีในผัสสาหารอันถูกต้องอารมณ์นั้น ก็หลงไปในผัสสาหารอันถูกต้องศุขนั้น ก็ถึงซึ่งภัยอันมิได้เปนประโยชน์ในอิธโลกแลปรโลกนั้นแล ถ้าแลอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นเปนมัชฌตารมณ์บมิชั่วบมิดีแลมาถูกต้องทวารทั้ง ๖ นั้น อุเบกขาเวทนาก็บังเกิด แลอุเบกขาเวทนานั้นมิได้ตั้งอยู่นาน ดุจทุกขเวทนาแลศุขเวทนานั้น อุเบกขาเวทนานั้นบังเกิดบัดเดี๋ยวแล้วก็ดับไป อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่ใดอันยินดีในผัสสาหาร อันว่าสัตวทั้งหลายหมู่นั้นบมิได้พ้นจากสังสารทุกข์ เหตุว่าผัสโสนั้นเปนปัจจัยแก่เวทนา เวทนาเปนปัจจัยแก่ตัณหา ตัณหาเปนปัจจัยแก่อุปาทาน อุปาทานเปนปัจจัยแก่ภวะ ภวะเปนปัจจัยแก่ชาติ ชาติเปนปัจจัยแก่ชรามรณโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส ก็บังเกิดเปนกองทุกข์อยู่ในสงสาร เหตุยินดีต่อผัสสาหารนั้นแล อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญาอันจะปราถนาพ้นจากสงสาร แลจะใคร่ได้นฤพานจงฉับพลัน ก็อย่าพึงยินดีต่อผัสสาหารในทวารทั้ง ๖ นั้น ดุจแม่ไก่หาหนังมิได้นั้น แลแม่ไก่นั้นจะไปในถานที่ใดๆ สัตว์ทั้งหลายจะจิกทึ้งกัดเอาเนื้อกินเปนอาหารในถานที่นั้นๆ แม่ไก่อันหาหนังมิได้นั้นระวังระไวรักษาอาตมา เหตุว่ากลัวแต่สัตวทั้งหลายจะมาจิกมาทึ้งอาตมานั้น แลมิได้ยินดีต่อสัตวทั้งหลายอันจะมาจิกทึ้งกัดนั้นแลมีดุจใด อันว่านักปราชผู้มีปัญญาก็พึงระวังระไวรักษาทวารทั้ง ๖ อย่าพึงยินดีต่อผัสสาหารนั้น แลพึงกลัวแต่ผัสสาหารนั้น ดุจแม่ไก่อันหาหนังมิได้นั้น แม้นอารมณ์มาถูกต้องทวารทั้ง ๖ แลเวทนาบังเกิดก็ดี ก็พึงพิจารณาตามพุทธฎีกาสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้
“โย สุขํ ทุกฺขโต ลทฺเธ | ทุกฺขมทฺทกฺขิ สลฺลโต |
อุเปกฺขมสุขสนฺตํ | อทกฺขิ ตํ อนิจฺจโต |
สเว สมทฺทโส ภิกฺขุ | นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก” |
อันว่านักปราชญ์ผู้ใดแลเห็นซึ่งสุขเวทนานั้น ว่าเปนวิปรินามธรรม ธรรมมีความเปลี่ยนแปลงเปนธรรมดา เหตุว่าสุขเวทนานั้นย่อมแปรเปนทุกข์เมื่อภายหลัง แลเล็งเห็นทุกขเวทนานั้นดุจปืนอันกำทราบอาบด้วยยาพิษ แลเล็งเห็นอทุกขสมสุขเวทนาอันรงับเปนศุขนั้นว่าบมิเที่ยง อันว่านักปราชผู้นั้นชื่อว่าเล็งเห็นเปนอันชอบนักหนา นักปราชได้ชื่อว่าภิกษุก็ถึงซึ่งที่ใกล้นฤพานแล้วแล ฯ
อันว่ามโนสัญเจตนาหารนั้น กอประด้วยอุปปัตติภัยอันจะชักไปให้บังเกิดในภพทั้ง ๓ คือ กามภพรูปภพอรูปภพ อันค่ามโนสัญเจตนาหาร คือ อปุญญาภิสังขารนั้น ก็ชักไปให้บังเกิดในอบายทั้ง ๔ อันว่ามโนสัญเจตนาหารอันเปนกามาพจรบุญญาภิสังขารแลชักไปให้บังเกิดในกามสุคติภพ อันว่ามโนสัญเจตนาหาร คือรูปาพจรบุญญาภิสังขาร ก็ชักไปให้บังเกิดในรูปภพ อันว่ามโนสัญเจตนาหาร คือ อรูปาพจรอเนญชาภิสังขาร ก็ชักไปให้บังเกิดในอรูปภพนั้น เหตุดังนั้นอันว่าบุทคลผู้ยินดีในมโนสัญเจตนาหาร ก็จะเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ก็จะได้เสวยชาติทุกข์ชราทุกข์พยาธิทุกข์มรณทุกข์ โสกทุกข์ปริเทวทุกข์โทมนัสทุกข์อุปายาสทุกข์อันเปนภัยอันยิ่งนักหนา เหตุว่ายินดีด้วยมโนสัญเจตนาหารนั้นแล อันค่านักปราชผู้มีปัญญาปราถนาจะพ้นจากสงสาร แลจะให้ถึงนฤพานจงฉับพลัน ก็พึงพิจารณาด้วยปัญญาเล็งเห็นภพทั้ง ๓ ดุจขุมเพลิงทั้ง ๓ ขุม เหตุว่าภพทั้งสามนั้นเปนอันไหม้เดือดร้อนอยู่เปนนิจกาลด้วยเพลิง ๑๑ ประการ คือ ราคัคคี โทสัคคี โมหัคคี ชาตัคคี ทุกขัคคี ชรัคคี มรณัคคี โสกัคคี ปริเทวัคคี โทมนัสสัคคี อุปายาสัคคี เพลิง ๑๑ ประการนี้เผาไหม้อยู่เปนนิจกาล อันว่านักปราชผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งดังนี้แล้ว แลหน่ายยินร้ายมิได้ยินดีต่อมโนสัญเจตนาหาร นักปราชผู้นั้นก็จะทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ จะถึงนฤพานอันอุดมในอาตมาภาพอันเปนปัจจุบันนี้แล ฯ
อันว่าวิญญาณาหารนั้นกอประด้วยปติสนธิภัยเหตุว่าปติสนธิวิญญาณนั้น ยังสัตว์ให้ตกไปในภพสงสาร อันกอประด้วยทุกขเวทนาอันจะอดแลหยาก ดุจบุทคลอันเปนสัตรูแลข้าศึกอันยังบุทคลให้หลงแล้วแลประหารด้วยสาตราวุธนั้นแล อันว่าบุทคลผู้ยินดีต่อวิญญาณาหาร ก็จะถูกต้องด้วยปติสนธิภัย อันเปนทุกข์ลำบากอยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลช้านานยิ่งนักหนาแล อันว่านักปราชผู้มีปัญญาแลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าวิญญาณาหารนำมาซึ่งปติสนธิภัย อันเปนที่สดุ้งตกใจกลัวยิ่งนักหนา แลกอปรด้วยทุกขเวทนามีประการต่างๆ แลนักปราชผู้มีปัญญานั้นก็หน่ายก็ยินร้ายมิได้ยินดีต่อวิญญาณาหารนั้น นักปราชญ์ก็จะกระทำให้ถึงซึ่งที่สุดทุกข์ ก็จะถึงนฤพานอันอุดมในชาติเปนปัจจุบันนี้แล ฯ
อาตมภาพขอถวายพระพรให้แจ้งในพระญาณ ครั้นแลจิตรยินดีในอาหารทั้ง ๔ ประการ ก็จะเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารอันกอประด้วยทุกข์ดุจกล่าวมานี้ ครั้นแลมิให้จิตรยินดีต่ออาหารทั้ง ๔ ประการนี้ก็จะพ้นจากสงสาร ก็จะถึงนฤพานอันเปนศุขเที่ยงแท้ เหตุดังนั้นจึงว่าอย่าให้จิตรยินดีต่อยาหารทั้ง ๔ ประการ ดุจอย่าให้อาหารแก่หลวงเจ้าวัดอันกล่าวในปฤษณานั้นแล อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาด้วยพระธรรมเทศนานี้ เพื่อจะเปนต้นหนแลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาตติยปัญหาสำเร็จเท่านี้ก่อนแล ฯ
๔ อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาจตุตถปัญหา คำรบ ๔ ซึ่งว่าไม้โกงอย่าทำกงวานนั้น อธิบายว่าให้เอาไม้ขันตรงอันซื่อนั้นทำกงวานปฤษณานี้เปนอุปมา เหตุดังนั้นอาตมาภาพจะขอถวายวิสัชนาเปนอุปมาอุปไมยให้แจ้งในพระญาณ สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ประเสริฐ ชื่ออันว่ากงวานทั้งปวงนี้ก็เปนอุปการแก่สำเภา ให้แขงให้มั่นคงมิให้ไหวจลาจล อันว่าสำเภาอันหากงวานมิได้นั้น มิอาจจะทนทานกำลังระลอกในท้องทเลนั้นได้ แลมิอาจจะข้ามทเลไปได้ ก็จะแตกทำลายในทเลนั้น เหตุว่าสำเภานั้นหากงวานมิได้ อันว่าสำเภาลำใดมีกงวานอันมั่นคงสามารถ สำเภาลำนั้นก็จะอาจเพื่อจะทนทานกำลังระลอกในท้องทเลนั้นได้ ก็จะข้ามทะเลนั้นไปรอดถึงฝั่งข้างโพ้นตามความปราถนาแห่งวานิชผู้เปนเจ้าสำเภานั้นแลมีอุปมาดุจใด อันว่าอาตมาแห่งโยคาวจรผู้ปราถนาจะข้ามสงสารสาครนั้น ก็มีอุปไมยดุจสำเภานั้นแล อันว่ามิตรแลอำมาตย์แลทาษกรรมกร อันเปนอุปการปฏิบัติรักษาโยคาวจรนั้น ก็มีอุปไมยดุจไม้อันเปนกงวาน แลเปนอุปการรักษาสำเภานั้น เหตุดังนั้นอันว่าโยคาวจรผู้มีปัญญาปราถนาเพื่อจะข้ามสงสารสาครนั้น ก็พึงพิจารณาดูคนทั้งหลายด้วยปัญญา เล็งเห็นคนหมู่ใดอันมิซื่อมิตรงแลคดด้วยกายคดด้วยวาจาคดด้วยจิตร โยคาวจรอย่าเอาคนหมู่นั้นมาเปนมิตรเปนอำมาตย์เปนทาษกรรมกร ให้ปฏิบัติรักษาอาตมา อันนี้ชื่อว่าไม้โกงอย่าเยาทำกงวานนั้นแล อันว่าโยคาวจรผู้มีปัญญานั้น พึงเลือกเอาแต่คนอันซื่ออันสัตย์อันตรง มิได้คดด้วยกาย มิได้คดด้วยวาจา มิได้คดด้วยจิตรนั้น มาเปนมิตรเปนอำมาตย์แลเปนทาษกรรมกร ให้เปนอุปการปฏิบัติรักษาอาตมาแห่งโยคาวจรนั้น อันนี้ชื่อว่าให้เอาแต่ไม้อันซื่ออันตรงมาทำกงวานนั้นแล เหตุอันใดจึงว่าอย่าให้โยคาวจรเจ้า เอาคนอันคดแลมิได้ชื่อนั้น มาเปนอุปการแก่อาตมา เหตุว่าคนอันคดอันมิซื่อนั้น เปนคนอสัปบุรุษเปนคนพาลคนบาป แลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้
“เอกํ ธมฺมํ อตีตสฺส | มุสาวาทสฺส ชนฺตุโน |
วิติณฺณปรโลกสฺส | นตฺถิ ปาปํ อการิยํ” |
อธิบายว่า อันว่าบุทคลผู้ใดเว้นเสียซึ่งความสัจ แลกล่าวคำมุสาวาท แลเห็นแต่ประโยชน์ในอิธโลกนี้ แลมิได้เล็งเห็นประโยชน์ในปรโลก อันว่าบุทคลผู้นั้นจะว่ามิกระทำบาปนั้นหามิได้ เมาะว่าบุทคลผู้นั้นกระทำบาปเปนคนบาปเที่ยงแท้แล อันว่าอยู่ด้วยคนบาปคนพาลอันมิซื่อสัตย์นั้นก็เปนทุกข์ยิ่งนักหนา สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาว่า
“พาลสํคฺคจารีหิ | ทีฆมทฺธาน โสจติ |
ทุกฺโข พาเลหิ สํวาโส | อมิตฺเตเนว สพฺพทา” |
อันว่าบุทคลหมู่ใด แลมีปรกติท่องเที่ยวไปด้วยคนอันธพาลนั้น อันว่าบุทคลหมู่นั้นก็จะบังเกิดทุกข์โสกาดูรสิ้นกาลช้านาน เหตุว่าฟังถ้อยคำคนพาลแลกระทำบาปนั้น อันว่าอยู่กับด้วยคนพาลนั้น อยู่เปนทุกข์นักหนาดุจอยู่ด้วยข้าศึกนั้นแล อธิบายว่าบุทคลอันอยู่กับด้วยข้าศึกอันมีมือถือดาบจะฆ่าอาตมานั้นก็ดี อยู่ด้วยอสรพิษอันจะตอดอาตมานั้นก็ดี แลบุทคลผู้นั้นก็อยู่เปนทุกข์ในกาลทั้งปวง แลมีอุปมาดุจใด อันว่าบุทคลผู้อยู่ด้วยคนพาลนั้น ก็อยู่เปนทุกข์ในกาลทั้งปวง ดุจอยู่ด้วยข้าศึกแลอยู่ด้วยอสรพิษนั้นแล เหตุดังนี้จึงว่าอย่าให้โยคาวจรเอาคนพาลมาเปนอุปการแก่อาตมาภาพนั้นแล ประการหนึ่งซึ่งว่าให้โยคาวจรเขาคนซื่อสัจมาเปนอุปการนั้น ด้วยว่าคนซื่อคนสัตย์นั้นเปนคนสัปบุรุษแลอยู่ด้วยคนสัปบุรุษนั้นเปนศุขเที่ยงแท้แล สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้
“สาหุ ทส์สนมริยานํ | สนฺนิกาโส สทา สฺโข |
ธีโร จ สุขสํวาโส | ญาตีนํว สมาคโม” |
อันว่าอยู่ด้วยบุทคลผู้เปนสัปบุรุษนั้นก็เปนศุขในกาลทุกเมื่อ แลอย่าว่าอยู่ด้วยเลย แม้นแต่เล็งเห็นบุทคลผู้เปนสัปบุรุษนั้น ก็เปนสุขเที่ยงแท้นักหนาแล แม้นว่าอยู่ด้วยนักปราชญ์ผู้มีปัญญานั้น ก็เปนศุขยิ่งนักหนา ดุจอยู่ด้วยญาติกาแห่งอาตมานั้นแล เหตุดังนี้จึงให้โยคาวจร เอาคนผู้ซื่อเปนสัปบุรุษนั้นเปนอุปการแก่อาตมาภาพนั้นแลประการหนึ่ง สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้
“สเจ ลเภถ นิปกํ สหายํ
สทฺธิจรํ สาธุวิหาริธีรํ
อภิภุยฺย สพฺพานิ ปริสฺสยานิ
จเรยฺย เตนตฺตมโน สติมา
ตสฺฺมา ธีรฺจ ปฺจ พหุสฺสุตฺจ โธรยฺหํ
สีลวตฺตวนฺตมริยํ
ตํ ตาทิสํ สปปุริสํ สุเมธํ
ภเชถ นกฺขตฺตปถํว จนฺทิมา”
“ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าท่านทั้งหลายจะบำเพ็ญสมณธรรมปราถนาจะพ้นจากวัฏสงสาร ถ้าท่านทั้งหลายได้กัลยานิมิตรเปนกุศลอันกอประด้วยปัญญา แลมีปรกติอยู่เปนศุขอันดี อันจะบำเพ็ญสมณธรรมด้วยอาตมา แลกัลยาณมิตรนั้น ผจญเสียซึ่งราคะโทสะโมหะมานะทิฏฐิอันเปนภัยนั้นเสียแล้ว แลกัลยาณมิตรดังนี้ ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญสมณธรรมกับด้วยกัลยาณมิตรผู้นั้นเถิด เหตุดังนั้น29ท่านทั้งหลายจงส้องเสพซึ่งกัลยาณมิตรอันมีเพียร แลมีปัญญาแลเปนพุหูสูตร แลกอประด้วยสีลวัตรปฏิบัตินั้นเถิด อันว่าพระจันทร์อันเสพซึ่งอากาศ อันเปนทางแห่งดาวทั้งหลาย แลเปนอันรุ่งเรืองงามนักหนา แลมีอุปมาดุจใด อันว่าท่านทั้งหลายอันสร้องเสพซึ่งกัลยาณมิตร อันกอประด้วยคุณเห็นปานดังนั้น ท่านทั้งหลายก็จะรุ่งเรืองงามดุจพระจันทร์นั้นแล อธิบายปฤษณานี้ ว่าโยคาวจรอันจะปราถนาข้ามสงสารให้ถึงนฤพานนั้น อย่าได้สร้องเสพด้วยคนอันคดอันเปนอสัปบุรุษนั้น แลให้สร้องเสพด้วยคนอันซื่อเปนสัปบุรุษนี้ จึงจะข้ามสงสารถึงนฤพานตามปราถนา ดุจสำเภาเภตรา อันมีกงวานอันสามารถนั้นแล อันว่าอาตมาโยคาวจรนั้นดุจสำเภา อันว่ากัลยาณมิตรอำมาตย์ทาษกรรมกรนั้นดุจกงวานสำเภา อันว่าจิตรแห่งโยคาวจรนั้น ดุจพานิชเจ้าสำเภานั้นแล ฯ
ขอถวายพระพรอาตมาภาพวิสัชนาจตุตถปัญหาด้วยพระธรรมเทศนานี้ ขอจงเปนต้นหนแลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาจตุตถปัญหาปฤษณาคำรบ ๔ สำเร็จแล้วแต่เท่านี้แล ฯ
๕ อาตมาภาพ ขอถวายวิสัชนาปัญจมปัญหาปฤษณาคำรบ ๕ ว่าช้างสารอย่าผูกกลางเมืองนั้น เหตุว่าช้างทั้งหลายนี้มิได้ยินดีจะอยู่ในเมือง แลช้างทั้งปวงนี้ย่อมยินดีอยู่ในป่า ปฤษณานี้เปนอุปมาต่อโยคาวจร อันเจริญวิปัสนากรรมฐาน แลปัญญาอันชื่อนิพพิทาญาณนั้น มีในพระบาฬีพระคัมภีร์วิสุทธิมัคดังนี้
“ยถา จ สพฺพเสโต สตฺตปติฏโฐ อิทฺธิมา เวหาสงฺคโม ฉทฺทนฺโต นาคราชา นครมชฺเฌ นาภิรมฺมติ หิมวติ ฉทฺทนฺตทเหเยว 30อภิรมฺมติ เอวมยํ โยคีวารโณ สพฺพสฺมึปิ สํงขารคเต นาภิรมฺมติ อนุปฺปาโท เขมนฺติอาทินา นเยน ทิฏเฐ สนฺติปเทเยว อภิรมฺมติ ตนฺนินฺนตนฺตโปนตปฺปพฺภารมานโส โหติ”
อันว่าพระยาช้างฉันทันต์ตัวนั้น อันขาวล้วนถ้วนทั้งตัวแลมีที่ตั้ง ๗ แห่งคือเท้าทั้ง ๔ แลงาสองข้างแลงวง แลมีฤทธิ์อานุภาพเหาะเหิรเที่ยวไปในอากาศ แลพระยาช้างฉัททันต์นั้นมิได้ยินดีจะอยู่ภายในเมือง แลพระยาช้างฉัททันต์นั้นก็ยินดีในฉัททันตสระในหิมวันตประเทศนั้น แลมีอุปมาดุจใด อันว่าพระยาช้างคือโยคาวจรอันได้นิพพิทานุปัสนาญาณแล้วนั้น มิได้ยินดีในสังขารธรรมทั้งปวง แลช้างสารคือโยคาวจรนั้นก็ยินดีในนฤพานอันระงับดับกิเลสธรรม อันให้เดือดร้อนกระวนกระวายนั้นเสียแล้ว แลบังเกิดเปนอันเย็นอันเล็งเห็นด้วยนัยเปนอาทิว่า
“อนุปปาโท เขมํ อุปฺปาโท ภยํ” อันว่ามิได้บังเกิดนั้น เปนอันเขษมปราศจากภัยทั้งปวง คือชาติภัยชราภัยพยาธิภัยมรณภัย อันว่าบังเกิดนั้นกอประด้วยชาติภัยชราภัยพยาธิภัยมรณภัย แลใจแห่งโยคาวจรนั้นก็โน้มไปสู่นฤพานอ่อนไปสู่นฤพานเงื้อมไปสู่นฤพาน ก็มีอุปไมยดุจพระยาช้างฉัททันต์อันบมิยินดีจะอยู่ในเมือง แลยินดีในฉัททันตสระในหิมวันตประเทศนั้น เหตุการณะดังนี้ อันว่าโยคาวจรผู้ปราถนาพ้นจากวัฏสงสาร ก็พึงเจริญวิปัสนากรรมฐานให้ได้นิพพิทานุปัสนาญาณ อันหน่ายในสังขารธรรมแลมีจิตรผูกอยู่ในสังขารธรรมทั้งปวง แลให้จิตรยินดีในนฤพาน อันนี้ชื่อว่าช้างสารอย่าผูกไว้กลางเมือง31นั้นแล อันว่ากลางเมืองนั้นคือสังขารธรรม อันว่าช้างสารนั้นคือโยคาวจร อันว่าอย่าผูกนั้นคือนิพพิทานุปัสนานั้นแล ฯ
สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาโปรดอุคเสนเศรฐีบุตรดังนี้
“มฺุจ ปุเร มฺุจ ปจฉา | มชฺเฌ ภวสฺส ปารคู |
สพฺพตฺถ วิมุตฺตมานโส | น ปุน ชาติชรํ อุเปหีติ” |
ดูกรอุคเสนเศรฐีบุตรท่านจงอย่าผูกจิตรไว้ในสังขารธรรมคือปัญจขันธ์ อันล่วงไปแล้วในอดีตกาลนั้นก็ดี ท่านอย่าผูกจิตรไว้ในสังขารธรรม คือปัญจขันธ์อันจะบังเกิดในอนาคตกาลนั้นก็ดี ท่านอย่าผูกจิตรไว้ในสังขารธรรม คือปัญจขันธ์อันเปนปัจจุบันนี้ก็ดี แลท่านจงละเสียอย่าผูกจิตรไว้ในสังขารธรรม คือขันธะธาตุอายตนะอันมีในอดีตอนาคตปัจจุบัน ท่านจงถึงซึ่งฝั่งแห่งภวสาครด้วยปัญญา ๓ ประการ คือ ญาตปริญญา ติรณปริญญา ปหานปริญญา ท่านจงอย่าถึงชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ สืบไปเบื้องน่ากว่านั้นเลย อุคเสนเศรษฐีบุตรลุถึงอรหรรตแล้ว ก็บวชในพระสาสนานี้แล ฯ
อาตมาภาพถวายวิสัชนาปัญจมปัญหาปฤษณาที่ห้าด้วยพระธรรมเทศนานี้ ขอจงเปนต้นหนแลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาปัญจมปัญหาปฤษณาคำรบ ๕ สำเร็จแล้วแต่เท่านี้แล ฯ
๖ อาตมาภาพ ขอถวายวิสัชนาในฉัฏฐมะปัญหาปฤษณาคำรบ ๖ ซึ่งว่าถ้าจะให้เปนลูกให้เอาไฟสุมต้นนั้น อันว่าลูกนั้นคือผลทั้ง ๔ คือโสดา32ผล ๑ สกิทาคามิผล ๑ อนาคามิผล ๑ อรหัตตผล ๑ อันว่าไฟนั้นคือมรรคญาณทั้ง ๔ คือโสดามรรค ๑ สกิทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหรรตมรรค ๑ อันว่าต้นนั้นคือกิเลสธรรม อันมีอวิชชาตัณหาเปนมูลนั้นแล
เหตุการณะดังนั้น อันว่าโยคาวจรผู้ปราถนา จะข้ามสมุทสาครคือสังสารวัฏ จะเอาโสดาผลให้ได้ดุจใจปราถนา อันว่าโยคาวจรผู้นั้นก็พึงเจริญวิปัสนากรรมฐาน แลเผาเสียซึ่งกิเลสธรรมเปนสังโยชน์ ๓ ประการ คือทิฏฐิสังโยชน์ วิจิกิจฉาสังโยชน์ สีลพัตตปรามาสสังโยชน์ ให้ไหม้เสียด้วยเพลิง คือโสดาปัตติมรรคญาณแล้ว ก็จะได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล บังเกิดเปนอริยสาวกอันเปนประถม เหตุเผาเสียซึ่งทิฏฐิวิจิกิจฉาสีลพัตตปรามาสนั้นแล เหตุว่าทิฏฐิวิจิกิจฉาสีลพัตตปรามาสนี้ เปนต้นแห่งโสดาปัตติผล เหตุว่าทิฏฐิวิจิกิจฉาสีลพัตตปรามาส ยังอยู่ในสันดานนั้น โสดาปัตติผลมิได้บังเกิด เมื่อใดทิฏฐิวิจิกิจฉาสีลพัตตปรามาสหามิได้ในสันดาน โสดาปัตติผลจึงบังเกิดได้ ก็มีอุปไมยดุจชาติไม้อันเผาไฟสุมต้นแล้วจึงเปนลูกนั้นแล
อันว่าโยคาวจรผู้ได้โสดาผลแล้วจะปราถนาเอาสกิทาคามิผลนั้น ก็พิงเจริญวิปัสนากรรมฐานเผากามราคพยาบาทอันหยาบนั้นเสียให้ขาดด้วยเพลิงคือสกิทาคามิมรรคญาณ ก็จะได้สกิทาคามิผลนั้นแลเหตุว่ากามราคพยาบาทอันหยาบยังอยู่ในสันดาน สกิทาคามิผลจะบังเกิดมิได้ เมื่อไรกามราคพยาบาทอันหยาบหามิได้ในสันดาน สกิทาคามิผลจึงบังเกิดได้ ดุจชาติไม้อันเผาไฟสุมต้นจึงเปนลูกนั้นแล
อันว่าโยคาวจรได้สกิทาคามิผลแล้ว แลปราถนาจะเอาอนาคามิผลก็พึงเจริญวิปัสนากรรมฐานเผากามราคพยาบาทอันสุขุมนั้นเสีย ด้วยเพลิงคืออนาคามิมรรคญาณก็จะได้อนาคามิผล เหตุว่า เมื่อกามราคพยาบาทอันสุขุมยังไปมิขาดจากสันดาน อนาคามิผลจะบังเกิดมิได้ เมื่อใดกามราคแลพยาบาทอันสุขุมนั้นขาดจากสันดานแล้ว อนาคามิผลจึงบังเกิดได้ ก็มีดุจชาติไม้อันเผาไฟสุมต้นจึงเปนลูกนั้นแล
อันว่าโยคาวจรได้อนาคามิผลแล้ว แลจะปราถนาเอาอรหรรตผล ก็พึงเจริญวิปัสนากรรมฐานเผาเสียซึ่งสังโยชน์ทั้ง ๕ ประการ คือรูปราคสังโยชน์ ๑ อรูปราคสังโยชน์ ๑ มานสังโยชน์ ๑ อุทธัจจะสังโยชน์ ๑ อวิชชาสังโยชน์ ๑ ด้วยเพลิง คืออรหรรตมรรคญาณแล้วนั้น จึงจะได้อรหรรตผลเปนอริยบุทคลคำรบ ๔ อันประเสริฐยิ่ง ยิ่งกว่าอริยบุทคลทั้ง ๓ จำพวกนั้น เหตุเผาเสียได้แล้วซึ่งกิเลสธรรม คืออวิชชาตัณหาอันเปนต้นเปนมูลแห่งวัฏสงสารนั้นขาดสิ้นทุกประการแล้ว อรหรรตผลจึงบังเกิดได้ ดุจชาติไม้อันเอาไฟสุมต้นจึงเปนลูกนั้นแล อธิบายว่าเมื่อกิเลสธรรมอันเปนมูลแห่งสงสารนั้นยังมั่นคงอยู่ในสันดาน ผลทั้ง ๔ ประการนั้น ก็จะบังเกิดมิได้ สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้
“ยถาปิ มูเล อนุปทฺทเว ทเฬฺห
ฉินฺโน รุกฺโข ปุนเรว รุหติ
เอวัปิ ตณฺหานุสเย อนุปหเต
นิพฺพตฺตติ ทุกฺขมิทํ ปุนปฺปุนํ
สวนฺติ สพฺพธิ โสตา | ลตา อุพฺพิชฺช ติฏฺฐติ |
ตฺจ ทิสฺวา ลตํ ชาตํ | มูลํ ปฺาย ฉินฺทตฺ” |
“ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อรากไม้นั้นหาอันตรายมิได้ แลยังมั่นคงอยู่ อันว่าไม้นั้นแม้บุทคลตัดขาดแล้ว ไม้นั้นก็งอกขึ้นเล่าแลมีดุจใด ในเมื่อตัณหานุสัยแลยังไปมิขาดเสียได้นั้น อันว่าทุกข์ทั้งปวงก็บังเกิดเนืองๆ ก็มีดุจไม้อันตัดแต่กิ่งแลลำแลมิได้ขุดรากนั้นเสียแลงอกขึ้นได้นั้นแล “ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าน้ำอันไหลไปในถานที่ใด อันว่าเครือเชือกเขาก็งอกขึ้นในถานที่นั้น แลมีดุจใด อันว่าตัณหาอันไหลไปในอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปารมณ์เปนอาทินั้น อันว่ามูลแห่งตัณหาก็งอกในอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น แลท่านทั้งหลายเล็งเห็นมูลแห่งตัณหา อันเกี่ยวพันรัดรึงผ่านขึ้นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ ดุจเครือเชือกเขา อันเกี่ยวพันรัดรึงผ่านขึ้นไปในต้นไม้ทั้งหลายนั้น ก็พึงตัดพึงเผามูลแห่งตัณหานั้นเสีย ให้ขาดด้วยปัญญาแห่งท่านทั้งหลายนั้นเถิด สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทสนา สั่งสอนภิกษุทั้งหลายให้ตัดให้เผามูลแห่งตํณหาเสียด้วยปัญญาดังนี้ ก็มีดุจว่าให้เอาไฟสุมต้นไม้นั้นเสียแล ฯ
อาตมาภาพถวายวิสัชนาในฉัฏฐมปฤษณา ด้วยพระธรรมเทศนานี้ขอจงเปนต้นหนแลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาฉัฏฐมปัญหาปฤษณาคำรบ ๖ สำเร็จเท่านี้ ฯ
๗ อาตมาภาพ ขอถวายวิสัชนาสัตตมปัญหาคำรบ ๗ ว่าจะให้พลันล่มบรรทุกแต่เบานั้น คือห้ามมิให้บรรทุกเครื่องสักการอันหนัก อันว่าถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา คือว่าจะให้ถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุอันดับคือวิบากขันธ์แลกตัตตารูปเหลือบมิได้นั้น เมาะว่าดับสิ้นทั้งปวงแลมิได้บังเกิดสืบไปในวัฏสงสารกว่านั้น ดุจสำเภาอันล่มแลจมลงในท้องทะเลแลบมิได้เที่ยวไปในท้องทเลกว่านั้น อันว่าบรรทุกแต่เบานั้น คือกุศลธรรมทั้งหลาย คือสัตตติงสโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันโยคาวจรพึงให้บังเกิด ให้เจริญในขันธสันดานจงมากจงเนื่องๆ อย่าให้อกุศลธรรมบังเกิดในขันธสันดานนั้นได้จึงจะพลันถึงนฤพาน ก็มิได้เที่ยวไปในวัฏสงสารกว่านั้น ดุจสำเภาอันบรรทุกแต่เบาแลพลันล่ม แลมิได้เที่ยวไปในท้องทเลนั้นแล ในที่นี้จะทรงพระกังขาว่าบรรทุกแต่เบานั้น จะล่มด้วยเหตุอันใด อาตมภาพขอถวายพระพรให้แจ้ง ซึ่งว่าสำเภาอันบรรทุกสินค้าอันเบามีอาทิ คือฝ้ายแลผ้าแพรไหม แลหาศิลากดท้องเปนอับเฉานั้นมิได้ แลพานิชชักใบกะโดงนั้นขึ้นให้สิ้นเต็มกำลัง ครั้นลมอันมีกำลังพัดมาต้องใบกะโดงนั้น สำเภาอันเบานั้นก็หกขว้ำลงเปนอันฉับพลัน เหตุว่าหาศิลาจะกดท้องเปนอับเฉามิได้นั้นแล อธิบายว่าให้บรรทุกแต่เบานั้น คือห้ามมิให้บรรทุกหนัก แลบรรทุกหนักนั้นคืออกุศลธรรมทั้งปวง อันมีมิจฉาวิตกแลราคะโทสะโมหะเปนอาทินั้นแล อกุศลธรรมทั้งหลายนี้ ครั้นแลบังเกิดเปนอันมากในสันดาน ก็จะเที่ยวอยู่ในสงสารสิ้นกาลช้านาน ดุจสำเภาอันบรรทุกสินค้าอันหนัก มีอาาทิคือดีบุกแลทองแดงทองเหลืองเหล็กศิลากดท้องเปนอับเฉานั้น แม้ลมมีกำลังมาต้องใบกะโดงนั้นก็ดี สำเภาอันบรรทุกหนักนั้นก็มิได้ล่มก็ท่องเที่ยวไปมาอยู่ในท้องทเลนั้นสิ้นกาลช้านานนั้นแล ฯ
สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า ตรัสเทศนาสั่งสอนภิกษุทั้งหลายดังนี้
“สิฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ | สิตฺตา เต ลหุ เมสฺสติ |
เฉตฺวา ราคฺจ โทสฺจ | ตโต นิพฺพานเมหิสิ |
ปฺจ ฉิทฺเท ปฺจ ชเห | ปฺจุตฺตริ วิภาวเย |
ปฺจสงฺคาติโต ภิกฺขุ | โอฆติณฺโณติ วุจฺจติ |
“ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าสำเภาเที่ยวไปในห้องมหาสมุท แลทลุเปนช่อง ๖ แห่ง แลน้ำในมหาสมุทรก็ไหลเข้าไปตามช่อง ๖ แห่งนั้น สำเภานั้นก็เปนอันหนักด้วยน้ำอันรั่วเข้าไปนั้น ก็ไปในท้องทเลนั้นเปนอันช้า พานิชทั้งหลายก็ปิดช่อง ๖ แห่งนั้นไว้มิให้รั่วเข้าได้ ก็วิดน้ำในสำเภานั้นเสียให้สิ้น สำเภาอันพานิชวิดน้ำเสียแล้วนั้นก็บังเกิดเปนอันเบา ก็ไปถึงท่าสำเภาอันปราถนานั้นด้วยฉับพลัน แลมีอุปมาดุจใด อันว่าสำเภาอันกล่าวคืออาตมภาพแห่งท่านทั้งหลาย ก็เปนอันหนักด้วยน้ำคือมิจฉาวิตกทั้ง ๓ คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก อันบังเกิดในทวารทั้ง ๖ นั้นแล ท่านทั้งหลายจงปิดไว้ซึ่งทวารทั้ง ๖ ด้วยอินทรียสังวรศีลแล้ว แลวิดเสียซึ่งน้ำคือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก นั้นเสียแล้ว แลท่านทั้งหลายจงตัดเสียซึ่งราคะแลโทสะอันผูกไว้ในสงสาร ดุจเชือกแลพวนอันผูกสำเภานั้นให้ขาดจงสิ้น ท่านทั้งหลายก็จะถึงอรหรรตผล อันชื่อสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เหตุว่าเปนกิเลสนิพพานคือกิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ นั้นดับสิ้นแล้ว แลยังแต่เวทนาขันธ์สัญญาขันธ์สังขารขันธ์วิญญาณขันธ์อันเปนวิบาก เมาะว่าเปนผลแห่งกุศลากุศล อันได้กระทำแต่ชาติก่อนนั้น แลรูปขันธ์อันเปนวิบากเปนกุศลากุศลกรรมอันกระทำแต่ก่อนนั้น ให้บังเกิดนั้นยังเหลืออยู่นั้นแล้ว ท่านทั้งหลายก็จะถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ อันมิวิบากขันธ์กตัตตารูปบมิเหลือนั้นในกาลเมื่อสิ้นอายุแห่งท่านทั้งหลายนั้นแล้ว ประการหนึ่ง ดูกรภิกษุท่านจงตัดเสียซึ่งสังโยชน์ทั้งหลาย ๕ ประการ คือทิฏฐิสังโยชน์ ๑ วิจิกิจฉาสังโยชน์ ๑ สีลพัตตปรามาสสังโยชน์ ๑ กามราคสังโยชน์ ๑ พยาบาทสังโยชน์ ๑ แลสังโยชน์ ๕ นี้ย่อมผูกสัตวไว้ในอบายทั้ง ๔ ดุจเชือกอันผูกในบาทาแลชักไปสู่อบายอันเปนภาคเบื้องต่ำนั้น ท่านทั้งหลายก็พึงตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการนี้ ด้วยมรรคญาณทั้ง ๓ คือโสดามรรคญาณ สกิทาคามิมรรคญาณ อนาคามิมรรคญาณให้ขาดดุจบุรุษอันตัตซึ่งเชือกอันผูกเท้าทั้งสองให้ขาด ด้วยดาบอันคมนั้นแล้ว ท่านทั้งหลายก็พึงตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการ รูปราคสังโยชน์ ๑ อรูปราคสังโยชน์ ๑ มานสังโยชน์ ๑ อุทธัจจสังโยชน์ ๑ อวิชชาสังโยชน์ ๑ สังโยชน์ ๕ ประการนี้ ก็ย่อมผูกสัตวให้ไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกนั้นเปนภาคเบื้องบน ดุจเชือกบ่วงผูกคอแลชักขึ้นไปสวรรค์เทวโลกนั้น ท่านทั้งหลายก็พึงตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ นี้ให้ขาด ด้วยอรหรรตมรรคญาณดุจบุรษอันตัดซึ่งเชือกบ่วงผูกคอนั้น ให้ขาดด้วยดาบอันคมนั้น แลท่านทั้งหลายจงเจริญอินทรียธรรม ๕ ประการ ให้บังเกิดให้เจริญในสันดานเพื่อจะให้บังเกิดอรหรรตมรรคญาณ เพื่อจะประหารสังโยชน์ ๕ ประการนี้เสียให้ขาด แลอินทรียธรรม ๕ ประการนั้น คือสัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทริย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ ท่านทั้งหลายจงล่วงข้ามเสียซึ่งธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนี้ คือราคะโทสะโมหะมานะทิฏฐิ อันเปนกังวนให้ข้องอยู่ในวัฏสงสาร อันว่าบุทคลผู้ใดแลตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการเบื้องต่ำ แลตัดเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการเบื้องบน แลเจริญอินทรียธรรม ๕ ประการ แลล่วงข้ามเสียซึ่งกังวล ๕ ประการดังนี้ อันว่าบุทคลผู้นั้นพระตถาคตตรัสเทศนาว่าข้ามโอฆะทั้ง ๔ ประการได้แล้ว ก็ถึงนฤพานเปนอันเที่ยงแท้แล ฯ
อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาสัตตมปัญหา ด้วยพระธรรมเทศนานี้ ขอจงเปนต้นหน แลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาสัตตมปัญหาปฤษณาคำรบ ๗ สำเร็จแล้วแต่เท่านี้ ฯ
๘ อาตมาภาพ ขอถวายวิสัชนาอัฏฐมปัญหาปฤษณาคำรบ ๘ ว่าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียนั้น อธิบายว่าฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียจึงจะรู้คัมภีร์โหรา ถ้ามิฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียมิรู้จักคัมภีร์โหรา อันว่าคัมภีร์โหรานั้นคือไตรวิชชา ๓ ประการ คือทิพพจักขุญาณ ๑ บุพเพนิพาสญาณ ๑ อาสวักขัยญาณ ๑ อันว่าคัมภีร์โหรานั้นย่อมให้รู้จักผลบาปเคราะห์แลสมเคราะห์ ว่าครั้นบาปเคราะห์มาถึงในกาลเมื่อใด ก็บังเกิดทุกข์ในกาลเมื่อนั้น ครั้นสมเคราะห์มาถึงในกาลเมื่อใด ก็บังเกิดสุขในกาลเมื่อนั้น แลมีอุปมาดุจใด อันว่าทิพพจักขุญาณก็ย่อมเล็งเห็นวิบาก แห่งกุศลธรรมแลอกุศลธรรมดังนี้ อันว่าสัตวทั้งหลายหมู่นี้ กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นจุติก็ไปบังเกิดในอบายทั้ง ๔ คือเปรตแลนรก แลดิรัจฉานแลอสุรกายนั้นก็มีอุปไมย ดุจคัมภีร์โหราอันจะรู้จักบาปเคราะห์แลสมเคราะห์นั้นแล ประการหนึ่งอันว่าคัมภีร์โหรานั้น บอกให้รู้จักศุขแลทุกข์ในอดีตกาลอนาคตกาลดังนี้ ว่าจำเดิมแต่ท่านแรกเกิดนั้น ท่านได้เสวยศุขแลทุกข์ดังนี้แล้ว เมื่อท่านใหญ่มานี้อายุถึงเท่านี้ ๆ ท่านได้เสวยศุขทุกข์ดังนี้ ๆ แลแต่นี้ไปข้างหน้าเมื่ออายุท่านถึงเท่านั้น ๆ ท่านจะได้เสวยศุขทุกข์ดังนี้ ๆ แลมีอุปมาดุจใด อันว่าบุพเพนิวาสญาณก็รู้จักสัตว อันเสวยศุขทุกข์ในอดีตชาติแลอนาคตชาติดังนี้ อันว่าสัตวทั้งหลายหมู่นี้ เมื่อชาติก่อนโพ้นได้เสวยศุขทุกข์ดังนี้ ๆ แล้ว แลสัตวทั้งหลายหมู่นี้ จะบังเกิดสืบไปในอนาคตชาติก็จะได้เสวยศุขทุกข์ดังนี้ ก็มีอุปไมยดุจคัมภีร์โหรา อันให้รู้ศุขทุกข์ในอดีตอนาคตกาลนั้นแล ประการหนึ่งอันว่าคัมภีร์โหราอันตัดอายุนั้น ก็ให้รู้จักว่าบุทคลหมู่นี้ มีอายุสิ้นแล้วมิได้สืบไปภายหน้ากว่านั้น อันว่าบุทคลผู้นี้มีอายุยังมิสิ้นแลยังจะสืบไปภายหน้า แลมีอุปมาดุจใด อันว่าอาสวักขัยญาณ ก็รู้ว่าสัตวทั้งหลายหมู่นี้มีอาสวะทั้ง ๔ ประการ คือกามาสวะ แลภวาสวะ แลทิฎฐาสวะ แลอวิชชาสวะ สิ้นแล้ว แลจะนิพพานบมิเกิดสืบไปภายหน้ากว่านั้น อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่นี้ มีอาสวะทั้ง ๔ ประการยังไปมิสิ้น ยังจะเกิดในสงสารสืบไป ก็มีอุปไมยดุจคัมภีร์โหรา อันตัดอายุแลรู้ว่าอายุยังไปมิได้ฉนี้นั้นแล เหตุดังนั้นจึงว่าคัมภีร์โหรานั้น คือไตรวิชชาทั้งสามประการนั้นแล อันว่าอาจารย์ทั้งสี่นั้น คือโลโภโทโสโมโหมานะนั้น อันว่าอกุศลทั้งสี่นี้บังเกิดในทวารทั้งหลาย มีจักขุทวารเปนอาทิแห่งสัตวทั้งหลายนั้น แล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตวทั้งหลาย ให้กระทำบาปกรรมทั้งปวงดังนี้ อันว่าโลโภนั้นบังเกิดในทวารทั้งหกแห่งสัตวทั้งหลาย แล้วครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตวทั้งหลาย ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเปนวิสัยแห่งโลโภอันยินดีในกามคุณทั้ง ๕ ประการนั้น อันว่าโทโสบังเกิดในทวารทั้งหกแห่งสัตวทั้งหลายแล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอน สัตวทั้งหลายนั้นให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเปนวิสัยแห่งโทโส อันยินดีในอาฆาฏวัตถุเก้าประการนั้น อันว่าโมโหอันบังเกิดในทวารทั้งหกแห่งสัตวทั้งหลายแล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตวทั้งหลายนั้น ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเปนวิสัยแห่งโมโห อันมิรู้จักอริยสัจทั้งสี่ประการนั้น อันว่ามานะบังเกิดในทวารทั้งหกแห่งสัตว์ทั้งหลายแล้วครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตวทั้งหลายนั้น ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเปนวิสัยแห่งมานะด้วยมทะทั้งหลาย มีชาติมโทเปนอาทิ ดุจกล่าวในขุททกวัตถุนิกายวิภังค์นั้น เหตุดังนี้จึงว่าอกุศลสี่ตัวนี้เปนอาจารย์แล สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาในสังยุตตนิกายดังนี้ ฯ อนนฺเตวาสิกํ ภิกฺขเว อนาจริยพฺรหฺมจริยํ วสฺสติ สนฺเตวาสิโก ภิกฺขเว ภิกฺขุ สาจริยโก ทุกฺขํ น ผาสุวิหรติ อนนฺเตวาสิโก อนาจริยโก สุขํ ผาสุวิหรติ กถํ อิธ ภิกฺขุโน จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา อุปชฺชนฺติ ปาปกา อกุสลา ธมฺมา ปรสํกปฺปา สํโยชนิยา ตฺยสฺส อนฺโต วสนฺติ ตสฺมา อนฺเตวาสิโกติ วุจฺจติ เตน สมุทาจรนฺติ ตสฺมา อาจริโยติ วุจฺจติ ฯ
“ภิกขฺเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าภิกษุในสาสนานี้พึงเจริญสมณธรรม ด้วยอันหาลูกศิษย์สืบไปมิได้ ด้วยอันหาอาจารย์มิได้นั้นเถิด “ภิกขฺเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าภิกษุรูปใด อันอยู่กอประด้วยลูกศิษย์ กอประด้วยอาจารย์ อันว่าภิกษุรูปนั้นอยู่เปนทุกข์บมิสบาย อันว่าภิกษุรูปใดอันอยู่หาลูกศิษย์บมิได้หาอารจารย์บมิได้นั้น อันว่าภิกษุรูปนั้นอยู่เปนศุขอยู่เปนอันสบายยิ่งนักหนา จะปราถนาธรรมสิงใดก็ได้ตามแต่จะปราถนาเที่ยงแท้แล จึงตรัสปุจฉาว่าดังนี้ อันว่าลูกศิษย์นั้นคือสิ่งดังฤๅ อันว่าอาจารย์นั้นคือสิ่งดังฤๅ จึงตรัสวิสัชนาดังนี้ “ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าภิกษุในพระสาสนานี้ เล็งเห็นรูปารมณ์ด้วยจักษุนั้นก็ดี ได้ฟังสัททารมณ์ด้วยโสตนั้นก็ดี ได้สูบดมคันธารมณ์ด้วยฆานะก็ดี ได้ลิ้มเลียรสารมณ์ด้วยชิวหาก็ดี ได้ถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ด้วยกายก็ดี ได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนวิญญาณก็ดี อันว่าธรรมเปนอกุศลทั้งหลายหมู่ใด แลบังเกิดในทวารทั้งหกแห่งภิกษุรูปนั้น อันว่าธรรมอันเปนอกุศลทั้งหลายหมู่นั้น ตั้งอยู่ภายในสันดานแห่งภิกษุรูปนั้น พระตถาคตตรัสเทศนาชื่อว่าเปนลูกศิษย์แห่งภิกษุรูปนั้น เหตุว่าธรรมเปนอกุศลทั้งหลายหมู่นั้น ตั้งในสันดานแห่งภิกษุรูปนั้น ประการหนึ่งพระตถาคตตรัสเทศนาธรรมอันเปนอกุศลทั้งหลายหมู่นั้น ได้ชื่อว่าเปนครูเปนอาจารย์ ครอบงำข่มเหงสั่งสอนภิกษุรูปนั้นให้กระทำผิดธรรมนั้นแล สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงรู้ว่า โลโภโทโสโมโหมานะ อันเปนมูลแห่งอกุศลทั้งปวงนี้ว่าเปนอาจารย์ทั้งสี่เถิด เหตุว่าครั้นโลโภโทโสโมโหมานะทั้งสี่นี้หามิได้แล้ว อกุศลทั้งปวงก็หามิได้ เหตุดังนั้นจึงว่าให้ฆ่าอาจารย์ทั้งสี่เสียจึงรู้คัมภีร์โหรานั้นแล อธิบายดังนี้อันว่าพระอรหันต์ทั้งปวงอันทรงไตรวิชชาทั้งสามนั้น ก็ย่อมฆ่าเสียซึ่งโลภจิตรอันกอประด้วยทิฏฐิแลโมหจิตรอันกอประด้วยวิจิกิจฉานั้นให้พินาศ ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณแล้ว ก็จะย่อมฆ่าเสียซึ่งโลภจิตรอันปราศจากทิฏฐิอันเปนกามราคอันหยาบ แลโทสจิตรอันเปนพยาบาทอันหยาบนั้นให้พินาศด้วยสกิทาคามิมรรคญาณแล้ว ก็จะฆ่าเสียซึ่งโลภจิตรอันเปนกามราคอันสุขุมแลโทสจิตอันเปนพยาบาทอันสุขุมนั้น ให้พินาศด้วยอนาคามิมรรคญาณแล้ว ก็ฆ่าเสียซึ่งมานะแลโมหะขันกอประด้วยอุทธัจจะนั้น ให้พินาศด้วยอรหรรตมรรคญาณ จึงได้ตรัสรู้ไตรวิชชาสามประการ คือทิพจักขุญาณปุพเพนิวาสญาณ อาสวักขัยญาณ เหตุฆ่าเสียซึ่งโลโภโทโสโมโหมานะทั้งสี่ประการนี้ ให้พินาศด้วยสมุจเฉทประหาน ก็ได้ชื่อว่าพระอรหันต์ทั้งหลายเรียนโหรา แลฆ่าอาจารย์ทั้งสี่เสียนั้นแล เหตุการณ์ดังนั้นอันว่านักปราชญ์ผู้ประเสริฐ แลบังเกิดทรงนามบัญญัติชื่อโยคาวจร เหตุกอประด้วยความเพียรในสมถภาวนาแลวิปัสนาภาวนาด้วยปนิธานปราถนาจะข้ามมหรรณพสงสาร ให้ถึงอมฤตยนิพพานด้วยอรหรรตมรรคญาณ อันตรัสรู้ไตรวิชชาทั้งสามประการ ก็พึงฆ่าเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งสี่ประการนี้ ด้วยมรรคญาณทั้งสี่โดยอันดับกันดุจกล่าวมานั้นแล โยคาวจรผู้ประเสริฐพระองค์นั้น ก็ลุถึงอรหรรตมรรคญาณ อันทรงไตรวิชชาสามประการ ดุจพระอาจารย์อรหันต์เจ้าทั้งปวงอันทรงไตรวิชชานั้นแล ฯ
อาตมาภาพถวายวิสัชนาอัฏฐมปัญหาด้วยพระธรรมเทศนาอันมีสภาวะดังนี้ ขอจงเปนต้นหนแลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาอัฏฐมปัญหาคำรบแปดสำเร็จแต่เท่านี้แล
ขอกถวายพระพร ด้วยอาตมภาพได้รับพระราชเสาวนี ว่าจะขอความรู้ อาตมภาพยินดีนักหนา ด้วยอาตมาภาพได้วิสัชนาถวายมาแต่ก่อนบ้างแล้ว บัดนี้อาตมาภาพชราแล้ว จะขอถวายครั้งนี้เปนปริโยสานให้ทราบพระญาณจงยังแล้ว ด้วยพระราชสมภารเจ้าผู้ประเสริฐ จะแสวงหานิพพานอันดับสังขารทุกข์เที่ยงแท้ ฯ
แลในพระธรรมเทศนาในปรมัตถธรรมมี ๕๗ ประการ คือขันธะ ๕ ประการ อายตนะ ๑๒ ประการ ธาตุ ๑๘ ประการ อินทรีย์ ๒๒ ประการนั้น เปน ๕๗ ประการดังนี้ เมื่อจะผ่อนให้น้อยปรมัตถธรรมนี้แต่สองประการ คือนามธรรมประการหนึ่ง รูปธรรมประการหนึ่ง ในอินทรีย์ ๒๒ ประการนั้น อันว่าจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ รูปชีวิตินทรีย์ ๘ ประการนี้เปนรูปธรรม อันเหลือ ๑๔ นั้นเปนนามธรรม ในธาตุ ๑๘ นั้น อันว่าจักขุธาตุ รูปธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ ๑๐ ประการเปนรูปธรรม สัตตวิญญาณธาตุทั้ง ๗ นั้นเปนนามธรรม อันว่าธรรมธาตุเปนทั้งนามธรรม แลรูปธรรม ในอายตนะ ๑๒ นั้น อันว่าจักขวายตนะ รูปายตนะ โสตายตนะ สัททายตนะ ฆานายตนะ คันธายตนะ ชิวหายตนะ รสายตนะ กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ ๑๐ ประการนี้เปนรูปธรรม มนายตนะ เปนนามธรรม ธรรมายตนะนั้น เปนทั้งนามธรรมแลรูปธรรม ขันธะ ๕ ประการนั้น อันว่ารูปขันธ์นั้น เปนรูปธรรม เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทั้งสี่นี้นั้นเปนนามธรรม เหตุดังนั้นเมื่อโยคาวจรเจริญวิปัสนาภาวนา ก็ผ่อนเอาปรมัตถธรรมทั้ง ๕๗ นั้นเข้ามาเปนแต่นามธรรม แลรูปธรรมสองประการนี้แล เจริญบริกรรมภาวนาว่าดังนี้ ฯ นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ ทุกขํ นามรูปํ อนัตฺตา ฯ แลไตรลักษณญาณทั้ง ๓ ครั้นพิจารณาเปนอนิจจังก็เห็นด้วยกันทั้ง ๓ เหตุว่า ครั้นอนิจจลักขณปรากฎในปัญญาแห่งโยคาวจร ทุกขลักขณอนัตตลักขณก็ปรากฎด้วย ครั้นทุกขลักขณปรากฎ อนิจจลักขณ อนัตตลักขณก็ปรากฎด้วย เอาแต่นามธรรมแลรูปธรรมทั้งสองประการนี้ เปนบาทแห่งวิปัสนาก็เจริญไปได้ ลุถึงอรหรรตเปนอันมาก ประการหนึ่งพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย เมื่อจุตินั้นก็พิจารณาแต่นามธรรม แลรูปธรรมทั้งสองประการนี้เปนอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เปนอารมณ์ตราบเท่าถึงจุติจิตร อันกรรมนิมิตก็ดี คตินิมิตรก็ดี มิได้บังเกิดปรากฎแก่พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย เหตุดังนั้นครั้นจุติจิตร รูปธรรมแลนามธรรมทั้งปวงนั้นก็ดับพร้อมกัน ดุจเปลวประทีปอันมีไส้แลน้ำมันสิ้นพร้อมกัน เหตุดังนั้นปฏิสนธิจิตรก็หามิได้แก่พระอรหันต์ ก็ได้ชื่อว่าอนุปาทิเสสนิพพานธาตุพ้นจากสังสารทุกข์แท้แล ฯ
อาตมาภาพเห็นว่าความรู้ดังนี้เปนที่สุดความรู้ทั้งปวง เปนยอดความรู้ทั้งปวง จึงขอถวายประดับพระปัญญาบารมีสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าพระองค์ผู้ประเสริฐแล ๚
----------------------------