บทที่ ๑๔

เมื่ออยู่เป็นสุขสบายในบ้าน “บลูพีเตอร์” มาจนครบกำหนดหนึ่งเดือน ข้าพเจ้าลาพวกเจ้าของบ้านกลับไปประจำการที่สำนักงานที่ถนนฟลีตสตรีต อยู่ที่นั่นเพียงอีกสัปดาห์เดียวก็ถูกส่งไปเป็นผู้แทนหนังสือพิมพ์ลอนดอนไทมส์ ตามประเทศต่างๆ ในคอนติเนนต์ ข้าพเจ้าเที่ยวไป...เที่ยวไป จนลืมเรื่องของพระองค์เจ้าวรประพันธ์ และนางสาวไอรีนสตีลส์ ส่วนเรื่องความเป็นไปของเมืองอินเดีย ที่เจ้าหญิงอรุยารับสั่งในคราวที่เราพบกันในสวนหลวงริชมอนต์พาร์ก ข้าพเจ้าไม่ได้ถือเอาเป็นสาระและพยายามจะลืมเสียเหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพราะตามที่ได้รู้เห็นมาแล้ว ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่ดีพอที่จะสละเวลาอันมีค่าไปค้นคว้าหาความจริงซึ่งเต็มไปด้วยความขมขื่นเหลวไหลและป่าเถื่อน

ข้าพเจ้าไม่นิยมและไม่สมัครจะถือเอาขนบธรรมเนียมอักษรศาสตร์ ตลอดจนความเป็นอยู่ของประเทศอินเดียมาเป็นครูข้าพเจ้าได้ อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับประเทศอินเดียมาแล้วมากหลาย จริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่สำหรับผู้ที่สามารถจะอ่านแล้วคิดเก็บข้อความรวบรวมปะติดปะต่อ ภาพแห่งความเป็นไปโดยแท้จริงของประเทศอินเดียจะปรากฏอยู่ในหนังสือเหล่านั้นแน่นอน ความจริงย่อมจะหนีความจริงไม่พ้น

ขนบธรรมเนียมซึ่งปรากฏอยู่ทุกวันนี้ มีแต่จะดึงให้อินเดียตกตํ่า การถือพวก ถือตระกูล จนเกินขีดแห่งความเป็นมนุษย์ ทำให้เกิดความร้าวสลายในหมู่คณะ ทำให้ปราศจากสามัคคีธรรม การบังคับให้เด็กอยู่กินเป็นสามีภรรยากันตั้งแต่อายุสิบเอ็ดสิบสอง เมื่อเด็กชายอายุได้สิบสี่สิบห้าก็คิดหาเมียให้จนนับไม่ถ้วน ให้เด็กหมกมุ่นอยู่ในเมถุนอันร้ายแรง จนเด็กไม่สามารถจะทำการงานอะไรให้เป็นประโยชน์ได้ ชาวฮินดูไม่มีโอกาสจะเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ ต่อจากวัยแห่งความเป็นเด็กก็เป็นคนชราเลยทีเดียว “กันดีย์” อาจเป็นคนเก่งด้วยประการทั้งปวง แต่เมื่อศิษยานุศิษย์ของแกเป็นคนจำพวกที่ได้กล่าวมาแล้ว แกคนเดียวจะกู้อิสรภาพมาให้อินเดียอย่างไรได้ แทนที่จะให้อังกฤษมีอำนาจลดน้อยลงในอินเดียตามความมุ่งหมาย โดยไม่รู้สึก “กันดีย์” อาจเป็นเหตุให้เหตุการณ์เป็น ไปตรงกันข้ามก็ได้ ในชั่วเวลาร้อยปีนี้ข้าพเจ้ากล้าพยากรณ์ได้ว่า อินเดียจะหลุดจากความปกครองของอังกฤษไปไม่สำเร็จเป็นอันขาด

เมื่อเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ทางคอนติเนนต์ได้ราวสามเดือน ข้าพเจ้าก็ถูกสั่งให้กลับมาประจำการในกรุงลอนดอนอีกครั้ง ที่นั่น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบพวก “สตีลส์” เสมอ มิสเตอร์สตีลส์มักจะพาพวกพ้องวงศ์ญาติมาที่สโมสรที่เฮย์มาร์เก็ต หรือไปที่บ้านของข้าพเจ้าและอาร์โนลด์ที่เอิร์ลสคอร์ตโรด ส่วนพวกเราก็ไปหาแกที่บ้าน “บลูพีเตอร์” บ่อยๆ เหมือนกัน

วันหนึ่ง พวกเรา - เลดีมอยรา, มาเรีย, อาร์โนลด์และข้าพเจ้า ได้รับเชิญให้ไปรับประทานอาหารคํ่ากับมิสเตอร์สตีลส์ที่บ้าน เมื่อไปถึง เราพบคนแปลกหน้าหลายคน ส่วนพวกที่คุ้นเคยก็มีพระองค์เจ้าวรประพันธ์และไอรีนและฟรีดา เจ้าหญิงอรุยาไม่ได้เสด็จอยู่ที่นั่น เพราะมีพระธุระจำเป็นต้องเสด็จกลับไปเมืองเพนตัน มิสซิสสตีลส์ ภรรยาท่านเจ้าของบ้านก็อยู่ที่นั่นด้วย แกเป็นคนหงิมๆ หน้าตาผอมซีด แสดงว่าเป็นโรคเรื้อรัง

ก่อนรับประทานอาหาร เรานั่งกันอยู่ในห้องรับแขก ข้าพเจ้ายืนอยู่ระหว่างพระองค์เจ้าวรประพันธ์และไอรีนที่ข้างหน้าต่างซึ่งเปิดไปเห็นสนามหญ้าหน้าบ้าน

“เออ นี่ฉันยังเห็นพวกบารามซิงห์เดินพลุกพล่านอยู่ที่นี่เสมอ” เราได้ยินมิสซิสเทอร์สตันพูดกับมิสซิสสตีลส์

“จริง เจ้าหญิงอรุยามาพักอยู่ที่นี่เสมอ” มิสซิสสตีลส์ตอบ “เวลานี้ไปอยู่เสียที่เพนตันอีกสองสามอาทิตย์ก็คงจะกลับ”

“อรุยาเกลียดพวกอังกฤษ เพราะเราเอาประเทศอินเดียของเธอมาปกครอง” มิสเตอร์สตีลส์พูดทีเล่นทีจริง “แต่อรุยาชอบพวกเรา เราก็เลยต้องชอบอรุยาด้วย เพราะเธอเป็นสหายคู่ทุกข์คู่ยากของฟรีดา”

“ฉันเคยอยู่โรงเรียนเดียวกับอรุยาที่เมืองไบรตัน” สตรีสาวคนหนึ่งพูด “ฉันจำได้ว่าเธอชอบเล่นเกมฮอกกี้ เล่นเก่งมาก”

“อรุยาเต้นรำสวยมากเหมือนกัน” อีกคนหนึ่งสอด “เออ ฉันยังจำได้ว่า มีนายทหารคนหนึ่งชื่อเฟรดคาเซิลติดพันรักใคร่เจ้าหญิงอรุยาอย่างจริงจังครั้งหนึ่ง” มิสซิสเทอร์สตันถาม “แล้วเรื่องมันไปอย่างไรกัน?”

“เรื่องไม่ได้ไปถึงแค่ไหน” มิสซิสสตีลส์ตอบ “พวกญาติของเฟรดคาเซิลเขาดีใจกันมาก ที่เขาพรากเฟรดไปเสียได้สำเร็จ เวลานี้เฟรดกำลังเดินทางไปประจำการที่อินเดียในเดือนมีนาคมนี้”

“แต่พี่ชายของอรุยา — เจ้าชายมุรัต — แต่งงานไปกับผู้หญิงอังกฤษไม่ใช่หรือ?” สตรีคนหนึ่งหล่อนชื่อเพิร์ลถามขึ้น

“จริงซี” มิสซิสเทอร์สตันพูด “เพราะการแต่งงานนี้ซี จึงเกิดเรื่องทะเลาะกันใหญ่โต ทั้งทางฝ่ายญาติเจ้าบ่าวและเจ้าสาว พวกญาติทางฝ่ายผู้หญิงเขาโกรธมาก เขาพยายามจะห้ามปรามอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ไม่สำเร็จ”

ขณะนั้นข้าพเจ้ามองดูพระองค์เจ้าวรประพันธ์ท่านทรงยิ้ม แล้วไปยืนอยู่ข้างไอรีน

“ฉันเชื่อว่าหล่อนคงจะเห็นเป็นของหรูและวิเศษที่จะได้มียศเป็นเจ้าหญิง” หญิงผู้ที่ชื่อเพิร์ลสอดขึ้น “ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้ว ผลที่จะได้มันจะน้อยกว่าผลที่จะเสียมากนัก”

“จริง ฉันเห็นด้วย” มิสซิสเทอร์สตันพูด “แต่เดี๋ยวนี้หล่อนคงจะรู้สึกตัวบ้างกระมัง เพราะคนโดยมากซึ่งเคยรู้จัก เขาเมินหน้าหนีหล่อนเสียแล้วเกือบทุกครั้งที่พบกัน ฉันได้ทราบว่าทางฝ่ายวงศ์ญาติเพื่อนฝูงของสามีหล่อนๆ ก็เข้าด้วยไม่ได้”

“ฉันรู้สึกสมนํ้าหน้าหล่อนทีเดียว ที่ไปทำตัวให้เหลวไหลถึงเช่นนั้น” เพิร์ลกล่าว

“ฉันเชื่อในการที่ชาวตะวันออกและชาวตะวันตกผิวเหลืองและผิวขาวจะเป็นเพื่อนกันได้” มิสซิสสตีลส์ปรารภ “แต่ถ้าจะชอบพอกันจนถึงกับแต่งงานกันนั้น ฉันรู้สึกว่าจะเป็นโทษด้วยกันทั้งสองฝ่าย เราไม่ควรทำอะไรที่รู้สึกว่าจะต้องเสียใจไปจนตลอดชีวิต”

ทันใดนั้น ข้าพเจ้าก็สามารถจะสันนิษฐานได้ทันทีว่า การที่มิสเตอรสตีลส์ปล่อยให้พระองค์เจ้าวรประพันธ์และไอรีนสนิทสนม จนถึงเป็นคู่รักกันนั้น เป็นสิ่งที่ภรรยาของแกไม่ต้องประสงค์อย่างยิ่ง

แม้ว่าจะทรงยิ้มแย้มในขณะที่ได้ยินเขาพูดถึงความไม่ดีงามต่างๆ ของการแต่งงานระหว่างชาวยุโรปและชาวเอเชีย ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่สิ่งเหล่านี้จะทำให้พระองค์เจ้าวรประพันธ์ตะขิดตะขวงพระทัย หรืออย่างน้อยก็ทำให้ทรงคิด เมื่อกำลังรับประทานอาหาร พระองค์ชายมีกิริยาเงียบเหงา ไม่รับสั่งอะไรที่ สนุกสนานอย่างธรรมดา ยิ่งกว่านั้นข้าพเจ้ายังรู้สึกว่าท่านทรงเป็นทุกข์ รับประทานอาหารแล้ว เราออกไปเล่นไพ่กันที่เฉลียงหน้าบ้าน คืนนั้นเมื่อเสด็จจากที่บ้าน “บลูพีเตอร์” ข้าพเจ้าชวนพระองค์ชายไปบรรทมค้างที่บ้าน ถนนเอิร์ลสคอร์ตโรด ขณะที่นั่งมาในรถเราไม่ได้พูดถึงเรื่องอะไร นั่งคล้ายตุ๊กตา!

รุ่งขึ้นเช้า ไอรีนสตีลส์โทรศัพท์มาชวนพระองค์ชายและข้าพเจ้าไปเล่นเทนนิสที่บ้าน นอกจากเราทั้งสาม ก็มีมิสเตอร์สตีลส์มาเล่นอยู่ด้วย รวมเป็นสี่คน วันนั้นสังเกตดูรู้สึกว่า ไอรีนแสดงกิริยาดีต่อพระองค์ชายเป็นพิเศษ หล่อนชมฝีมือในการเล่นเทนนิสของท่านไม่หยุดหย่อน และขอเล่นคู่กับท่านเสมอไป เลิกจาก เทนนิสเราไปกรรเชียงเล่นในลำแม่น้ำเทมส์ หล่อนชมว่าพระองค์ชายกรรเชียงได้ดีมาก และชวนให้ท่านมานั่งกับหล่อนทางท้ายเรือ ขณะที่หล่อนสังเกตเห็นพระองค์ชายค่อนข้างเหนื่อย การโอ้โลมปฏิโลมเช่นนี้ มิสเตอร์สตีลส์ก็เป็นผู้รู้เห็นด้วย แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แกพูดกับข้าพเจ้าถึงเรื่องไปยิงสัตว์ทางทวีปแอฟริกา!

พระองค์ชายยังคงเงียบหงอย ไอรีนก็ยังคงพยายามที่จะทำให้ชื่นบานเป็นสุข

“เน็ด ทำไมเธอจึงหงอยไปอย่างแปลกประหลาด?” หล่อนถาม “เน็ด” เป็นชื่อที่พวก “สตีลส์” เรียกพระองค์ชาย

หล่อนทราบดีว่า ทำไมพระองค์ชายจึงหงอยไปอย่างแปลกประหลาด แต่หล่อนก็มิได้เอ่ยถึงเรื่องที่พูดกันเมื่อคืนนี้

“เธอไม่ชอบอรุยาไมใช่หรือ เน็ด?” หล่อนถาม “ฉันเห็นว่าแกเกลียดพวกเรา...พวกอังกฤษอย่างมากทีเดียว”

“ฉันไม่ค่อยชอบอรุยา” พระองค์ชายรับสั่งตอบ

ดังนั้นเรือลำน้อยก็แล่นไปเรื่อยๆ ไอรีนพยายามฉอเลาะต่อไป... ต่อไปจนพระองค์ชายหายจากความเงียบหงอย กลับเป็นสุข... เป็นอย่างที่เคยได้เป็นมาแล้วเสมอ

ข้าพเจ้าได้ทราบในภายหลังว่า เจ้าหญิงอรุยาก็ได้รับสั่งให้พระองค์ชายทราบเหมือนกัน ถึงเรื่องเธอเกลียดพวกอังกฤษเพราะเขาปล้นเอาราชบัลลังก์ของบรรพบุรุษเธอไป พระองค์ชายได้เคยอยู่กับพวกอังกฤษมาตั้งแต่พระชันษาได้สิบสี่ถึงยี่สิบสามปี ชาวอังกฤษได้ให้ความสุข ได้ทำให้ท่านรักและเห็นใจพวกเขา ดังนั้น เมื่อทรงได้ยินเจ้าหญิงรับสั่งถึงความชั่วร้ายของผู้ที่ตนรักด้วยกิริยาอันค่อนไปข้างไม่สุภาพ พระองค์ชายจึงไม่ทรงเชื่อและรู้สึกเบื่อ บางทีก็ถึงกับชังนํ้าหน้าผู้ที่มาบอก

ตั้งแต่วันที่ไปกรรเชียงที่ในลำแม่นํ้าเทมส์ ข้าพเจ้าพบพระองค์เจ้าวรประพันธ์และไอรีน ไปไหนไปด้วยกันเสมอ พระองค์ชายมีพระพักตร์ชื่นบานเป็นสุข...เป็นสุขอย่างคนที่หลงรักผู้หญิงจะเป็นสุขได้ ในที่สุดก็ถึงวันที่จะต้องเสด็จกลับไปมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ข้าพเจ้าไปเฝ้าและส่งเสด็จที่บ้าน “บลูพีเตอร์”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ