บทที่ ๑

ตามที่ได้อ่านเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” มาแล้ว ท่านคงจะยังจำได้กระมังว่า ข้าพเจ้า — วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา — เป็นคนทะเยอทะยาน ชอบคิดชอบฝัน เป็นผู้ที่ได้ไปเมืองนอกกลับมามือเปล่าไม่มีดีกรี ไม่มีวิชาความรู้อะไรที่เป็นแก่นสาร แต่ท่านอย่าลืมเสียว่า ข้าพเจ้าได้เคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ของคณะหนังสือพิมพ์ “ไทมส์” ในประเทศอังกฤษ และได้สมญาว่า “บอบบี้” ได้เคยเห็น และอยู่ในชีวิตของ “ละครโรงใหญ่” เที่ยวไปทุกหนทุกแห่ง ได้เคยเห็นสิ่งต่างๆ มาแล้วมากกว่านักเรียนไทยเกือบทุกคนที่ได้ไปเมืองนอกมาแล้ว สหายบางคนเคยถามข้าพเจ้าว่า ในเมื่อได้มีโอกาสเป็นนักหนังสือพิมพ์ หาเงินได้ เที่ยวไปทั่ว ได้รับความสุขถึงเพียงนั้น เหตุใดข้าพเจ้าจึงได้กลับมาอยู่เมืองไทยเสียเล่า? ทำไมข้าพเจ้าจึงไม่คิดกลับไปเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เมืองนอกอีก? เพื่อนๆ ที่สโมสร หนังสือพิมพ์ มาเรีย เกรย์, เลดีมอยรา ดันน์, อาร์โนลด์ แบริงตัน ฯลฯ ข้าพเจ้าลืมเขาเสียหมดแล้วหรือ?

ในการที่จะตอบปัญหาดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้ายังรู้สึกลังเลใจ ไม่ทราบว่าจะตอบอะไรจึงจะได้ผลเท่าความต้องการ หนังสือพิมพ์เป็นวิชาที่แปลกทำให้เกิดความรู้สึกและความนึกคิดอันพิสดารสุดซึ้ง ยากที่จะกล่าวเป็นวาจาหรือเขียนเป็นตัวอักษรให้ถูกต้องได้ แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าจะพยายาม

จำได้ว่าเคยอ่านพบสุนทรพจน์อันฉลาดของนักการเมืองอังกฤษผู้หนึ่งที่ว่า “แม้ว่าท่านจะเป็นคนชาติอื่นซึ่งไมใช่ชาติอังกฤษ ถ้าได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง ท่านจะต้องรู้สึกภูมิใจในประเทศและผิวเนื้อซึ่งท่านมีส่วนเป็นเจ้าของเสมอ เมื่อท่านเกิดเป็นคนชาติหนึ่ง ก็ไม่มีวันที่จะกลายเป็นอีกชาติหนึ่งได้ ธรรมชาติจะเป็นผู้ป้องกันอย่างเด็ดขาดในเรื่องนั้น” สุภาษิตอันนี้ยังคงฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าเสมอ เพราะเป็นข้อเตือนใจให้รู้สึกว่าชาวอังกฤษเขาถือว่าพวกเขาดีกว่าพวกชาติอื่นเพียงไร ข้าพเจ้าเป็นคนไทย แม้จะได้เคยไปอยู่ต่างประเทศ เข้าหมู่ชาวฝรั่ง ร่วมชีวิตและร่วมสมาคมกับเขามาเป็นเวลาช้านาน ผิวของข้าพเจ้าก็ยังคงเหลือง หน้าตาก็ยังบอกอยู่เสมอทุกเวลาว่าข้าพเจ้าไม่ใช่ฝรั่ง ในการที่ได้มี โอกาสท่องเที่ยวไปทั่วทุกประเทศ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบอยู่เสมอก็คือ ปัญหาเรื่อง “ผิวเหลืองหรือผิวขาว” และไม่ใช่ “ผิวเหลืองและผิวขาว”

ข้าพเจ้าได้เคยพบนักเรียนไทยที่กลับมาจากเมืองนอกบ่นด้วยความท้อใจว่า “เมืองไทยไม่ไหวจริง! พวกเรามันเฟะกันเรื่อยไป เช่นนี้จะให้ผมรักชาติอย่างไรจึงจะสำเร็จ? ความคิดเช่นนี้จะทำให้ท่านรู้สึกเช่นไรข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ปัญหามีอยู่ว่าเขาพูดเช่นนั้นถูกหรือผิด? ประเทศหรือชาติก็เช่นเดียวกับบุคคล—ท่านหรือข้าพเจ้า—ต่างก็มีความดีความชั่วประจำอยู่ในนิสัย ก่อนมาถึงเมืองไทย นักเรียนพวกนี้ตั้งใจว่าจะทำคุณความดีให้แก่ประเทศสยามจนสุดความสามารถ ประเทศสยามจะกลายเป็นเมืองแก้วเพราะเขา แต่พอมาอยู่เข้าจริง ก็พบแต่อุปสรรค เกิดความท้อใจ ในที่สุดก็ไม่ทำอะไรนอกจากปล่อยตัวให้เป็นคน “เฟะ” ไปกับเขาด้วย ขี้เกียจรักชาติ ลืมความดีงามต่างๆ ที่ตนได้เคยพบเห็นมาแล้ว ลืมหน้าที่ของตนจะต้องสอนและแนะนำเพื่อนร่วมชาติในเมืองไทย ให้ประพฤติตนให้ต้องตามข้อบัญญัติอันดีงามของอารยประเทศ คนไทยโดยมากท้อใจง่ายเกินไป และเมื่อเกิดความท้อใจขึ้นแล้ว ก็ปล่อยตนและความรู้สึกของตนให้เป็นไปตามยถากรรม

สำหรับคนไทยในประเทศสยาม ข้าพเจ้าเชื่อมั่นทีเดียวว่า ข้าพเจ้ามีความคิดที่แปลกดีและอาจอำนวยความสุขกายสุขใจให้ได้ เมื่ออยู่เมืองนอก ข้าพเจ้าเป็นนักหนังสือพิมพ์ หาเงินได้มาก และใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย อยู่ในความแวดล้อมอันสนุกสบาย เคยต่อความหรูหราต่างๆ มาเป็นเวลากว่าหกปี เมื่อความจำเป็นมาปรากฏขึ้นว่า จะต้องลาจากสมาคมนี้กลับมาเมืองไทย ท่านคงจะ เข้าใจว่าข้าพเจ้าคงจะรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง และเสียดายที่ต้องจากสิ่งต่างๆ ที่เคยผ่านพบมาแล้ว แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นทีเดียวไม่ จริงอยู่ ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจและเสียดายที่ต้องจากเพื่อนฝูงที่รักใคร่ แต่ชีวิตหนังสือพิมพ์ได้สอนให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ปลงตก เห็นความจำเป็นสอนให้เป็นผู้ที่อดทน เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้นแก่ตนในเมื่อมาถึงประเทศสยาม แทนที่จะเป็นผู้มีโชคจมอยู่ในกองเงินกองทองที่ตนหามาได้เอง ข้าพเจ้าจะต้องมาเป็นคนจน ตั้งหน้าทำงานเพื่อจะหารายได้มาชดเชยให้ชีวิตดำรงอยู่ พยายามหาเงินมาให้พอที่จะมีความสุขได้เหมือนที่เมืองนอกถ้าสามารถจะทำได้ ข้าพเจ้าเคยกระทำสงครามเช่นนี้สำเร็จมาแล้วครั้งหนี่ง และทำได้ที่เมืองฝรั่ง มาคราวนี้จะต้องทำสงครามเช่นนี้อีก และทำในเมืองไทยอันเป็นบ้านเมืองของข้าพเจ้า ดังนั้นจึงเชื่อว่าคงจะบรรลุความสำเร็จได้ง่ายกว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่เป็นคนขลาดในเรื่องนี้

มีเพื่อนหลายคนเคยบอกข้าพเจ้าว่า ชีวิตเป็นของไม่น่าอยู่ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยแน่ใจเลยว่านี่เป็นความคิดที่ถูก จริงอยู่ ชีวิตของเราตามธรรมดามีความขมขื่นระทมทุกข์อยู่มาก แต่ก็ย่อมมีความสมหวัง ความสุข เป็นรางวัลหรือสินน้ำใจบ้างบางคราวเป็นแน่ โชคเป็นของแปลก ไมมีใครสามารถจะทราบหรือเดาได้ล่วงหน้า จนกระทั่งยาจกวณิพกยังไม่อยากตาย ทั้งนี้เพราะอะไร ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่น่าอยู่จริงหรือ?

เรามีความลับประจำชีวิตอยู่ด้วยกันทุกคน และเราผู้เดียวจะต้องเป็นผู้ทราบความลับนี้ เพื่อความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในโลกต่อไป สำหรับตนเอง ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิชาหนังสือพิมพ์ได้เผยความลับแห่งชีวิตให้ข้าพเจ้าทราบอยู่แล้วโดยตระหนัก มองไปที่กระจกครั้งใดก็เห็นเงาภาพอันแท้จริงปรากฏอยู่เสมอ กระจกเงาที่ดีแล้วย่อมไม่หลอก ข้าพเจ้ารู้จักรักและภูมิใจในประเทศสยาม ชาติไทย และ ผิวอันเหลืองของเรา ก็เพราะข้าพเจ้ามีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกมั่นใจทีเดียวว่า ข้าพเจ้าจะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศสยามได้มากกว่าประเทศอื่นหลายพันเท่านัก ทั้งนี้ก็เพราะข้าพเจ้าเป็นคนไทยและจะเป็นคนชาติอื่นไม่ได้เป็นอันขาด ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะไปเป็นพวกหนังสือพิมพ์ที่เมืองนอกอีก ข้าพเจ้ารู้ดีว่าตนไม่ใช่เป็นคนแข็งแรงพอที่จะทนต่อสู้กับชีวิตอันโยกย้ายตรากตรำไม่หยุดหย่อนนั้นไปได้นาน ในที่สุดก็ต้องเลิกถอน และสิ่งนั้นย่อมจะนำมาซึ่งความหายนะและโศกเศร้ายิ่งกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ จริงอยู่ ถ้าจะเปรียบกับเมืองนอก ชีวิตในเมืองไทยไม่สนุก ขั้นแรกข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนอยู่ในป่าดง ปราศจากความสนุกสนานเพลิดเพลินใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่ออยู่นานๆ ก็รู้สึกชิน ประเทศสยามอย่างน้อยก็เป็นที่ที่เงียบสงบ เป็นที่สงบใจ หาความสุขสบายได้ในทางที่ไม่มีการ “เต้นแร้งเต้นกา” มากนัก นี่แหละท่านคือเหตุผลทั้งมวลที่ข้าพเจ้าไม่คิดจะกลับไปเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เมืองนอกอีก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ