บทที่ ๑๒

[๑]เจ้าหญิงอรุยาเป็นผู้ที่มีนิสัยตรงกันข้ามกับไอรีนทุกอย่าง ไอรีนเป็นนางพญาแห่งความสุข...ความร่าเริง ส่วนอรุยาเป็นนางพญาแห่งความทุกข์...ความโศกเศร้า...ความพินาศ เพียงแต่แววเนตรและสีพระพักตร์ของเธอเท่านั้น ก็เป็นเครื่องแสดงพออยู่แล้วว่า เธอมีความปั่นป่วนอยู่ในดวงหทัยมิใช่น้อย เจ้าหญิงอรุยาสนพระทัยและมีความรู้ในเรื่องการเมืองของโลกอย่างน่าพิศวง ในฐานที่เป็นนักเขียนเรื่องในหนังสือพิมพ์ ข้าพเจ้ามีหน้าที่ที่จะต้องเรียนรู้เรื่องการเมืองมากที่สุดที่จะทำได้ แต่ข้อความที่เจ้าหญิงรับสั่ง อันเกี่ยวกับการเมืองของโลกเป็นสิ่งที่ให้ความรู้ เปิดหูเปิดตาให้แก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก เจ้าหญิงอรุยาเป็นคนในจำพวกหนึ่ง ซึ่งเตรียมพร้อมที่จะอุทิศเลือดเนื้อให้แก่ชาติได้ ในเมื่อมีความเชื่อมั่นอันใดอันหนึ่ง เพื่อเป็นวิถีที่จะดำเนินไปสู่ความเจริญในอนาคต ขณะสนทนากันอยู่ เธอมักจะทำให้ข้าพเจ้านึกไปถึงความเป็นไปอันทุเรศของประชาชนชาวอินเดีย การเชื่อผีสางลางร้ายและขนบธรรมเนียม อันเป็นป่าเถื่อนร้อยแปดพันเก้าประการ ซึ่งควรจะเลิกล้มเสียตั้งแต่เมื่อสามพันปีมาแล้ว

เมื่อพระองค์เจ้าวรประพันธ์และพวกหนังสือพิมพ์ไปกันแล้วสักสามสี่วัน เวลาเช้าตรู่ ตื่นขึ้นไม่มีอะไรที่จำเป็นจะต้องทำ ข้าพเจ้าลอบเดินออกไปทางหลังบ้าน “บลูพีเตอร์” แต่ผู้เดียว เข้าไปเที่ยวในสวนหลวงริชมอนด์พาร์ก เดินอยู่สักครู่ก็พบเจ้าหญิงอรุยา เธอแต่งพระองค์ชุดเหลืองอ่อน กำลังทรงจูงสุนัขเกรตเดนขนาดกลางคู่หนึ่ง เดินอยู่ริมสระนํ้าใหญ่ สุนัขคู่นี้ชื่อฟีเรลล์และโจวีย์ ทางที่ ประทับเมืองแพนตันเขาพึ่งส่งมาถวายเธอเมื่อสองสามวันมานี้เอง พอเห็นข้าพเจ้าฟีเรลล์และโจวีย์ก็เห่าแล้วพยายามจะวิ่งลากเอาสตรีผู้เป็นเจ้าของให้มายังที่ที่ข้าพเจ้ายืนอยู่ เจ้าหญิงกริ้วและบังคับไม่ให้สุนัขเห่า ข้าพเจ้าเดินเข้าไปเฝ้า

“แหม ช่างเหมาะกันดียังกับเราได้นัดกันไว้ก่อน” เธอรับสั่ง “นี่เป็นวันแรกที่เธอเดินมาเที่ยวคนเดียวในสวนนี้ไม่ใช่หรือ?”

“กระหม่อม” ข้าพเจ้าทูลตอบ

“นี่เป็นวันแรกของฉันเหมือนกัน” เธอตรัสแล้วชี้ไปที่สุนัขตัวหนึ่ง “โจวีย์เป็นผู้หญิงที่ต้องการออกกำลังกายมาก เมื่อคืนนี้นอนไม่ค่อยหลับ กวนฉันและฟีเรลล์เกือบตลอดคืนทีเดียว”

ตรัสแล้วอรุยาก็ทรงปลดห่วงโซ่ที่ติดอยู่กับพวงคอสุนัขทั้งสองออก ปล่อยให้มันวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน

“ยังไง บอบบี้” เจ้าหญิงรับสั่งถามขณะที่เรากำลังนั่งเล่นอยู่ริมสระน้ำ “เธอไม่ได้เป็นอะไรกับเขาบ้างในเมืองไทยดอกหรือ?”

“เปล่า กระหม่อม” ข้าพเจ้าทูลตอบ “กระหม่อมเป็นเด็กหนุ่มธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งพยายามจะหาเงินและหาชื่อเสียงเท่านั้น แล้วก็ฝ่าพระบาทเล่า ทรงมีตำแหน่งและเกียรติยศอย่างไรในเมืองอินเดีย?”

“ฉันเป็นธิดาคนหนึ่งของตระกูลบารามซิงห์” เธอตรัส “เราเป็นชาวราชปุทส์ (Rajputs) ตระกูลของเราต่อเนื่องมาตั้งแต่พระเจ้าอเลกซานเดอร์ผู้เป็นใหญ่ ผู้ซึ่งได้เสด็จไปทางเบื้องบุรพทิศ เพื่อจะแสวงหาบ้านเมืองที่พระอาทิตย์ขึ้นอยู่สุกสว่าง บรรพบุรุษของฉันได้เป็นพระเจ้าอยู่หัวผู้ปกครองนครกันมาตั้งหลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว”

“ประวัติของตระกูลบารามซิงห์เห็นจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก” ข้าพเจ้าทูลถาม “กระหม่อมต้องขอประทานโทษที่เป็นคนรู้เรื่องของประเทศอินเดียน้อยเต็มที ในการที่จะสนทนากับฝ่าพระบาทต่อไปอาจทำให้ทรงรู้สึกว่ากระหม่อมเป็นคนบ้าก็ได้”

“ไม่เป็นไร ถามอะไรก็ถามมาซี” เจ้าหญิงรับสั่งแล้วทรงพระสรวล

“แล้วตระกูลของฝ่าพระบาทยังคงเป็นพระเจ้าอยู่หัวผู้ครองนครอยู่เวลานี้หรือเปล่า?” ข้าพเจ้าถาม

ทันใดนั้น ข้าพเจ้าก็ทราบได้ทันทีว่าอรุยาไม่พอพระทัย

“อะไร” เธอตรัสอย่างกริ้ว “เธอไม่เคยอ่านพงศาวดารอะไรเลยทีเดียวหรือ?”

ข้าพเจ้าสะดุ้งรู้สึกเหมือนถูกเข็มแทง เพราะไม่ได้เคยคิดว่าเจ้าหญิงจะทรงดูหมิ่นคนอย่างข้าพเจ้า ถึงกับจะถามว่า ข้าพเจ้าไม่ได้อ่านพงศาวดารอะไรเลยหรืออย่างไร ข้าพเจ้าเป็นผู้เขียนเรื่องในหนังสือพิมพ์ประจำวัน ข้าพเจ้าถือตนว่าเป็นผู้ที่ได้อ่านหนังสือมาก แต่ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่โกรธคนยาก นิสัยช่วยให้เห็นไปว่า สิ่งที่อรุยาตรัสถามมานั้น ควรจะเป็นที่น่าหัวเราะมากกว่าอย่างอื่น

“จริง ฝ่าพระบาท” ข้าพเจ้าทูลตอบอย่างค่อนไปข้างเยาะ “พงศาวดารกระหม่อมรู้น้อยเต็มที ในพงศาวดารกระหม่อมจำได้แต่เพียงว่ามี ยูเลียสชีซาร์, วิลเลียมเดอคองเคอเรอร์, ไคลฟ์วาเรนแฮสติงส์, โอลิเวอร์ครอมเวลส์ และเซอร์สแตมฟอร์ดแรฟเฟิล อยู่ด้วยเท่านั้น”

“พงศาวดารเหล่านั้นหาความจริงไม่ได้เลย” อรุยารับสั่งตัดบท “ชาวอังกฤษเขียนขึ้นเพื่อจะให้คนเห็นว่าพวกเขาเป็นเทวดา และไม่ได้ถือเอาความจริงเป็นที่ตั้ง แต่เรื่องของตระกูลบารามซิงห์ เป็นพงศาวดารที่เต็มไปด้วยความจริง ชาวอังกฤษไม่กล้าเขียนพงศาวดารของประเทศอินเดีย ก็เพราะพวกเขาได้ประพฤติตนเป็นคนใจฉกรรจ์ที่สุด ขโมยประเทศ ราชสมบัติ ฆ่าคนเสียนับล้าน”

ข้าพเจ้ายิ้มและทูลไปว่า “กระหม่อมชักจะรู้สึกสนุกเสียแล้ว” อรุยามิได้ถือในกิริยาอันเยาะเย้ยของข้าพเจ้า เธอรับสั่งต่อไปด้วยความขมขื่น “ใครที่รู้เรื่องเมืองอินเดียแม้แต่เพียงเล็กน้อย ถ้าเป็นคนใจตรงย่อมจะรู้อยู่ดีทีเดียวว่า ชาวอังกฤษเป็นสัตว์และเป็นพวกโจรที่ดุร้ายเพียงใด มัน (ชาวอังกฤษ) พูดกันไม่หยุดหย่อนถึงเรื่องอ้ายโน่นผิดอ้ายนี่ถูก เรื่องความยุติธรรมและอยุติธรรม มันคอยแต่จะส่งคนที่ลักเล็กขโมยน้อยไปใส่คุก มันถือว่าการลักเล็กขโมยน้อยเช่นนี้ เป็นความผิดทางอาญาอย่างร้ายกาจ แต่การที่ไปเที่ยวปล้นเอาของใหญ่โต เช่น บ้านเมืองและราชสมบัตินั้น มันไม่เข้าใจว่าเป็นความผิดทางอาชญาอะไรเลย กลับเห็นเป็นของดี ของเก่งฉกาจ ของหรู! พวกอังกฤษทำให้ฉันเบื่อโลกอย่างที่สุด เพราะความหน้าไหว้หลังหลอกความปดโป้ของมัน มันเห็นมนุษย์อื่นเป็นสัตว์ไปหมด เมื่อสมัยที่พวกฉันเป็นคนศิวิไลซ์ เป็นกษัตริย์...เป็นเจ้าครองนคร อ้ายพวกอังกฤษยังวิ่งเป็นชีเปลือยอยู่ในป่า ไม่ผิดอะไรกับลิงอุรังอุตังของเราเดี๋ยวนี้ เมื่อพ้นจากความเป็นป่าเถื่อน มันเปลี่ยนใจมาเป็นโจร ปล้นบ้านเมือง ปล้นราชสมบัติ ปล้นราชบัลลังก์ ฆ่าคนเล่นเสียนับล้าน!”

อรุยาหยุดรับสั่งเพราะหมดอัสสาสะ ความโกรธแค้นกำลังเดือดพล่าน จนเธอไม่สามารถรับสั่งอะไรต่อไปอีกได้ ส่วนข้าพเจ้าก็นั่งฟังอย่างตกตะลึงจนพูดไม่ออก ข้าพเจ้าทราบดีว่าอรุยาคงไม่ทรงฝันที่จะตรัสถึงเรื่องนี้กับชาวยุโรปใด ๆ แต่กล้าพอที่จะเผยความในพระทัยให้ข้าพเจ้าทราบ ก็คงจะเป็นเพราะทรงเห็นข้าพเจ้าเป็นชาวตะวันออกผิวเหลือง และทรงรู้สึกว่ามีความเชื่อมติดในทางวงศ์ญาติอะไรสักอย่างหนึ่ง

[๑] ความสำคัญในบทที่ ๑๒ ถึงบทที่ ๒๑ รวบรวมจากเรื่อง “A Prince of Malaya” โดย  Sir Hure Clifford

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ