บทที่ ๕

เรา — เลดีมอยรา, มาเรีย, อาร์โนลด์ และข้าพเจ้าไปถึงบ้าน “บลูพีเตอร์” ของมิสเตอร์ยอน แอลลิสัน สตีลส์ ที่ตำบลริชมอนด์พาร์ก เวลา ๑๐ นาฬิกาแห่งวันที่ได้กำหนดไว้ บ้าน “บลูพีเตอร์” เป็นตึกใหญ่สามชั้น ปลูกเป็นแบบสมัยใหม่ บริเวณบ้านเป็นสนามที่ใหญ่โตมาก มีสนามหญ้า มีสวนดอกไม้ที่งามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ มีสระหินสำหรับอาบนํ้า ฯลฯ ขณะที่อาร์โนลด์กดปุ่มกระดิ่งเรียกคนที่ประตูหน้าตึก เราได้ยินเสียงหญิงสาวสามสี่คนหัวเราะขณะที่จะเปิดประตู

“นี่ต้องเป็นเลดีมอยรา ดันน์พาพวกมาเป็นแน่” เสียงสตรีคนหนึ่งพูด

“นี่พ่อไปไหน ไอรีน?” อีกเสียงหนึ่งถาม

“ยังอยู่ในถังอาบน้ำ ฟรีดา” เป็นเสียงตอบ ในทันใดนั้นประตูก็เปิดออก ผู้ที่ทำหน้าที่คือสตรีสาวรูปสวยผู้หนึ่ง หล่อนสวมเสื้อแพรชีฟองสีน้ำเงิน มีดอกกุหลาบสีแดงติดอยู่ที่ไหล่ซ้าย ทางเบื้องหลังหล่อนมีสตรียืนออกันอยู่สามสี่คน ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจที่หญิงคนหนึ่งในจำนวนนั้นไม่ใช่ชาวอังกฤษ หรือชาวยุโรป เพราะผิวของหล่อนเหลืองเป็นผิวของชาวตะวันออก “แฮลโหล เลดีมอยรา!” สตรีผู้เปิดประตูเป็นผู้ทักขึ้นก่อน “กู๊ดมอร์นิ่ง มิสสตีลส์” เลดีมอยราทักตอบ สตรีทั้งสองจับมือกัน พวกที่อออยู่ที่ประตูหลีกทางให้เราเข้าไปในบ้าน

เมื่อพวกที่รู้จักกันมาก่อนได้ทักทายปราศรัยกันจนเป็นที่เสร็จสิ้นแล้ว เลดีมอยราจึงถือโอกาสแนะนำข้าพเจ้าให้รู้จักพวกนั้น “นี่แหละ มิสสตีลส์” หล่อนพูดกับสตรีสาวที่เปิดประตู “คือบอบบี้ที่เขียนเรื่อง ‘ตลาดบำเพ็ญบุญ’ ของคุณพ่อเธอ ชื่อจริงของเขาอะไร ฉันเรียกไม่ถูก มันยาวและมันยาก”

“ไม่เป็นไร เราจะเรียกนายคนนี้ว่ามิสเตอร์บอบบี้ก็แล้วกัน” สตรีผู้นั้นตอบ หันมาจับมือข้าพเจ้าและกล่าวต่อไปว่า “ยังไง มิสเตอร์บอบบี้ เธอเป็นเจ้าชายมาจากประเทศญี่ปุนหรือเป็นลูกสมุนเจียงไคเช็กมาจากเมืองจีน?”

พอสบตากัน ข้าพเจ้าก็ทราบได้ทันทีว่าหล่อนเป็นคนซน ชอบสนุก ข้าพเจ้าถามหล่อนว่า “เธอทายซิว่าฉันเป็นคนชาติอะไร”

“มิสสตีลส์ที่นี่มีสองคน” หล่อนตอบพลางชี้ให้ดูพี่สาวของหล่อนซึ่งยืนอยู่ข้างๆ “ฉันชื่อไอรีน และพี่สาวฉันชื่อฟรีดา” นิ่งอยู่สักครู่ หล่อนจึงกล่าวต่อไปว่า “เธอจะให้ฉันทายว่าเธอเป็นคนชาติอะไรงั้นรึ? อย่าโกรธนะถ้าฉันทายผิด”

“ไม่โกรธ มิสไอรีน” ข้าพเจ้ารับคำ

ไอรีน “ฉันคิดว่าเธอเป็นสุภาพบุรุษที่มาจากประเทศจีน”

ข้าพเจ้า “ฉันเป็นคนไทย มิสไอรีน และเป็นคนไทยที่เหลวไหลที่สุด โง่ที่สุด และขี้เกียจที่สุด”

ไอรีนหัวเราะแล้วพูดว่า “งั้นเธอก็เข้าพวกเราได้น่ะซี พวกเราที่นี่ก็คนดีๆ อย่างเธอเหมือนกัน นี่ฉันจะแนะนำให้เธอรู้จักพวกเรา”

พูดแล้วก็พาพวกข้าพเจ้าไปจับมือกับสตรีสาวอีกสองคน แล้วก็ถึงสตรีผิวเหลืองชาวตะวันออกที่ได้กล่าวมาแล้ว หล่อนเป็นคนค่อนข้างสูง ไว้ผมมวย แต่งกายแบบสตรีชาวยุโรป แต่มีแพรชมพูผืนใหญ่ห่มลงมาตั้งแต่ไหล่ถึงข้อเท้า ดวงหน้าของหล่อนทำให้ข้าพเจ้านึกถึงสตรีสาวในเรื่องอาหรับราตรี หล่อนเป็นชาวฮินดู

“นี่เจ้าหญิงอรุยาแห่งประเทศอินเดีย” ไอรีนแนะนำ “เจ้าหญิงมาอยู่อังกฤษตั้งแต่เล็กๆ เธอจะเห็นว่าเจ้าหญิงเป็นผู้ที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว”

ข้าพเจ้าโน้มศีรษะถวายคำนับเจ้าหญิงพระองค์นั้น เธอยื่นพระหัตถ์มาให้จับ

ฟรีดา พี่สาวของไอรีนซึ่งมีหน้าที่เป็นแม่บ้านแทนมารดาของหล่อน ในขณะที่ไปตากอากาศทางภาคใต้แห่งประเทศฝรั่งเศส ชวนให้พวกเราไปนั่งคุยกันในห้องรับแขกอันจัดไว้หรู ส่วนตัวหล่อนเองขึ้นไปบนตึก อ้างว่าจะไปตามมิสเตอร์สตีลส์ผู้เป็นบิดา และเจ้าของบ้านให้รีบลงมารับแขก

เมื่อผู้ส่งข่าวหรือผู้แทนหนังสือพิมพ์จะต้องเป็นคนเจ้าสังเกต ข้าพเจ้าก็เริ่มเอาใจใส่ในเรื่องเจ้าหญิงอรุยาทันที เธอประทับอยู่บนเก้าอี้นวมใหญ่ตรงข้ามข้าพเจ้า แม้ว่าดวงพักตร์ของเธอจะมีแป้งชนิดหนึ่งผัดไว้เหลืองนวล ดวงเนตรอันดำโตของเธอมีประกายแห่งไม่เป็นสุขปรากฏอยู่ เธอก็เป็นผู้ที่มีสง่า และความสง่านี้ทำให้ข้าพเจ้ารำพึงว่าอรุยาผู้นี้จะเป็นเจ้าหญิงแห่งประเทศอินเดียภาคหรือตอนไหนหนอ เธออาจเป็นเจ้าหญิงแห่งนครแคชเมียร์ ซึ่งเป็นเมืองที่มั่งคั่งที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง หรือเจ้าหญิงของเมืองใดเมืองหนึ่ง... เมืองที่จน เป็นเจ้าหญิงกำมะลอ... เป็นเจ้าหญิงไม่มีศาล ถ้าจะถือเอาเครื่องแต่งกายและความสง่าเป็นเกณฑ์ เธอจะต้องเป็นเจ้าหญิงแห่งนครแคชเมียร์หรือเมืองอะไรที่รํ่ารวยเช่นเดียวกันเป็นแน่ แต่ถ้าจะสังเกตดูเนตรอันเศร้าสลดของเธอแล้ว ข้าพเจ้าเกือบจะสาบานได้ทีเดียว ว่าเธอเป็นเจ้าที่มีทุกข์หรืออาจเป็น “เจ้าไม่มีศาล” ก็เป็นได้ ผู้ใดที่เกิดมาเป็นเจ้าแต่ต้องแบกเกียรติยศซึ่งเป็นภาระอันหนักยิ่ง เนื่องด้วยความไม่มีทรัพย์นั้น เป็นผู้ที่มีบุพกรรมที่ร้ายกาจที่สุด เจ้าไม่มีศาลเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ใน อินเดีย ในรัสเซีย และในสยาม ฯลฯ ข้าพเจ้ารู้สึกสังเวช “เจ้า” พวกนี้มาก และรู้สึกแค้นในความทารุณและอยุติธรรมของธรรมชาติ การเป็นคนจนอยู่ในหมู่ยาจกนั้นเป็นสิ่งที่อาจหาความสบายได้ แต่ถ้าจะเป็นยาจกในหมู่เศรษฐีหรือผู้มีเกียรติยศนั้น... ข้าพเจ้าจะหยุดแต่เพียงนี้ อย่าให้ข้าพเจ้าเปรียบต่อไปอีกเลย

พิเคราะห์ดูเจ้าหญิงอรุยา หัวใจอันสดชื่นของข้าพเจ้าเกือบจะเศร้าสลดไปในทำนองเดียวกับดวงเนตรของเธอ ไม่ทราบว่าเพราะอะไรแววเนตรของเจ้าหญิงองค์นี้จึงทำให้ข้าพเจ้านึกถึงฐานะของเจ้านาย หม่อมเจ้าในเมืองไทยหลายองค์... ทำไมหนอ ข้าพเจ้าต้องตื่นจากภวังค์แห่งความรำพึงเพราะไอรีนถามว่า “มิสเตอร์บอบบี้ เธอเป็นเจ้าในเมืองไทยหรือเปล่า?”

“เปล่า มิสไอรีน” ข้าพเจ้าตอบ “ฉันเป็นคนธรรมดา”

ไอรีน “ชื่อไทยของเธอมีอักษร ม.จ. ติดอยู่ข้างหน้าหรือเปล่า?”

ข้าพเจ้า “ไม่มี”

“ในเมืองไทยผู้ที่มีอักษร ม.จ. อยู่ข้างหน้าชื่อก็เป็นเจ้าเหมือนกันไม่ใช่หรือ?” หล่อนถามเมื่อสังเกตเห็นข้าพเจ้าแสดงท่าประหลาดใจในความรู้ของหล่อนเรื่องเจ้าในเมืองไทย ไอรีนหัวเราะ และกล่าวต่อไปว่า “ม.จ. คือพวกเจ้ากำมะลอหรือพวกเจ้าไม่มีศาลกระมัง?”

“มิสไอรีน มี ม.จ. ตั้งหลายคนในประเทศสยามที่ได้เป็นเสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่รับผิดชอบในการปกครองของประเทศสยามมาแล้วเป็นอันมาก”

“นั่นเห็นจะเป็นจำนวนหนึ่งในร้อยหรือพันกระมัง” เจ้าหญิงอรุยารับสั่งสอดขึ้น “ในอินเดียเราก็มีเจ้ากำมะลอหรือเจ้าไม่มีศาลไม่น้อยเหมือนกัน”

“พ่อเคยบอกฉันว่า” ไอรีนกล่าว “ในรัสเซียก่อนการกบฏบอลเชวิกใหญ่ครั้งที่แล้วมา ก็มีเจ้าจนมากมายเหมือนกัน”

“ธรรมชาตินี่ช่างร้ายกาจเหลือเกินนะ ไอรีน” เจ้าหญิงรับสั่งเสริมด้วยนํ้าเสียงอันแค้น “ที่ได้สร้างคนเป็นจำนวนตั้งหลายพันในโลกให้แบกเกียรติยศแห่งความเป็นเจ้า และไม่ได้ให้ภาชนะอันสำคัญยิ่งที่จะอุ้มชูเกียรติยศนั้นไว้”

“เจ้าหญิงอรุยา” ข้าพเจ้าพูดอย่างสุภาพ “ตามความคิดของกระหม่อม กระหม่อมรู้สึกว่าผู้ที่จะหาความสุขได้มากที่สุดคือคนธรรมดา... คือผู้ที่มีโอกาสรู้จักชีวิต... รู้จักความยากลำบาก ความจนและความมั่งคั่งสมบูรณ์ เจ้าที่มีโอกาสเป็นคนธรรมดาได้คือพวก ม.จ. นี้เท่านั้น”

“ความคิดของเธออาจถูกสำหรับคนบางคน มิสเตอร์บอบบี้” เจ้าหญิงรับสั่งอย่างไม่สู้พอพระทัย”

“มิสเตอร์บอบบี้” ไอรีนพูด เมื่อเจ้าหญิงและข้าพเจ้าเงียบไปแล้วสักครู่หนึ่ง “บางทีเธออาจจะสนใจที่จะทราบว่า แขกของเรามีคนไทยอยู่ด้วยอีกคนหนึ่งนอกจากเธอ เขาเป็นเจ้า... เจ้าจริงๆ ไม่ใช่เจ้ากำมะลอหรืลอเจ้าไม่มีศาล ฉันเชื่อว่าเธอคงรู้จักเขาดี เขาคือพระองค์เจ้าวรประพันธ์”

“ฉันรู้จัก มิสไอรีน” ข้าพเจ้าตอบ

ทันใดนั้นมีพวกหนังสือพิมพ์คณะเราที่ได้รับเชิญอีกหกคน ที่ไปถึงบ้าน “บลูพีเตอร์” ก่อนเรา เดินกันเข้ามาเป็นหมู่ เราต้อนรับทักทายปราศรัยกันอย่างสนุกสนาน จำนวนผู้ที่เป็นแขกในการต้อนรับของมิสเตอร์สตีลส์ครั้งนี้ประมาณ ๑๒ คน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ