๔
สีหน้าของนิทัศน์สลดลงทันที เมื่อได้ยินว่าจันทาได้สูญเสียแม่ของเขาไปเสียแล้วด้วยโรคระบาด และเขารู้สึกสงสารมิตรของเขาเป็นอันมาก เมื่อหวนระลึกถึงถ้อยคำที่จันทาได้รำพึงถึงแม่ของเขาในวันก่อน
“แล้วพ่อของเธออยู่ที่ไหนเล่า?” นิทัศน์ถามด้วยความห่วงในในชะตากรรมของสหายมากกว่าความอยากรู้อยากเห็น
“พ่อฉันอยู่ที่เมืองขุขันธ์ คือบ้านเกิดของเรา แต่ท่านไม่เกี่ยวข้องทางโลกแล้ว”
“ท่านเป็นอะไรไปเล่า ป่วยเป็นอัมพาตหรือ ?”
“ไม่ใช่หรอก ท่านบวชเป็นพระ ท่านบวชตั้งแต่แม่ยังอยู่”
นิทัศน์รู้สึกโล่งใจ “ท่านก็เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากนะ”
“ในเวลาที่ท่านบวชไม่ใช่อย่างนั้น ท่านบวชเพราะมีเรื่องคับใจ มันเป็นเรื่องยืดยาวฉันได้ฟังจากพ่อบ้างและคนอื่นบ้าง”
แล้วจันทาก็เล่าเรื่องพ่อแม่ของเขาให้สหายฟัง เขาจดจำรายละเอียดของเรื่องเท่าที่เขาฟังมาได้ครบถ้วน
“พ่อเคยพูดว่า นิสัยของพ่อไม่เหมาะจะห่มผ้าเหลืองเลย แต่ก็จำใจต้องห่ม พ่อบวชตั้งแต่ยังหนุ่ม พ่อถูกคนรังแก....”
“แล้วพ่อไม่ต้องการสู้กับเขาหรือ?” นิทัศน์ถามสอดขึ้น
“ไม่ใช่หรอก” มีประกายตาวาววามปรากฏในดวงตาของจันทาเป็นครั้งแรก “พ่อเป็นคนกล้า พ่อชอบการต่อสู้ พ่อยอมเสี่ยงชีวิตทีเดียว ถ้าถูกกดขี่ข่มเหง” สีหน้าของนิทัศน์เต็มไปด้วยความเลื่อมใส “เพราะพ่อชอบการต่อสู้นี่แหละพ่อจึงต้องบวช”
สีหน้าของนิทัศน์แสดงความฉงนสนเท่ห์
“ฉันจะต้องเล่าตั้งแต่ต้น เธอจึงจะเข้าใจ”
จันทาปรารภแล้วเล่าต่อไป “เมื่อพ่อยังเป็นหนุ่มคะนอง อายุราว ๆ สักยี่สิบเศษ พอไปชอบผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงที่พ่อชอบนั้นเป็นชาวบ้านต่างตำบลกันอยู่ ห่างจากหมู่บ้านของเราราวสร้อยเส้น เดินราว ๆ สามชั่วโมง พ่อไปรู้จักเมื่อคราวที่บ้านพ่อไปทอดกฐินที่วัดตำบลนั้น ในปีนั้นท่านอาจารย์ของฉันซึ่งเป็นอาจารย์ที่เคารพของพ่อ ได้ปรารภกับพวกชาวบ้านว่า ท่านจะจัดให้พวกบ้านเราไปทอดกฐินเป็นการบุญใหญ่โตสักที จะจัดเป็นงานบุญกฐินของหมู่บ้านร่วมกันหลายหมู่บ้าน คนยากคนจนจะได้มาร่วมทำบุญกันได้ทั่วถึง ไปเกิดชาติหน้าจะได้ส่วนบุญกันทุกคน แล้วพวกเราที่เป็นคนยากจนจะได้พ้นจากความลำบากเสีย พวกเราพร้อมเพรียงกันทำบุญกฐินตามคำชักชวนของท่านอาจารย์”
“ก็พวกเธอยากจนกันอยู่แล้ว พวกเธอเอาเงินทองที่ไหนมาทำบุญกันเล่า ?” นิทัศน์ซัก
“พวกชาวบ้านของเราไม่ได้เอาเงินทองมาใช้จ่ายทำบุญกันหรอก โดยมากเราเจียดจากข้าวของที่เราทำกินมาทำบุญ มีข้าวบ้าง ผลไม้บ้าง ของใช้อื่น ๆ บ้าง มีเหมือนกันที่เจียดเงินที่เขามีอยู่เล็กน้อยมาทำบุญ พวกเราเลื่อมใสในการทำบุญกันมาก ถึงยากจนเท่าไรก็อดออมแบ่งเอามาทำบุญ พวกเราคิดว่าชาตินี้เราหนีความลำบากไม่พ้นแล้ว ก็จะหวังไปสบายเอาชาติหน้า” จันทากล่าวด้วยน้ำเสียงทีมีศรัทธา “ในปีนั้นท่านอาจารย์ได้นำพวกเราแห่องค์กฐินไปทอดตามวัดในหมู่บ้านสองสามแห่ง และได้ไปทอดวัดหมู่บ้านตำบลดงขะยูงเป็นวัดสุดท้าย ชาวบ้านในตำบลนั้นได้ต้อนรับเราอย่างเต็มอกเต็มใจ ท่านอาจารย์เป็นพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือแผ่ไปหลายตำบล พวกเราได้พักค้างคืนที่นั่น ได้มีการเลี้ยงดูสนุกสนานกันมากและพ่อได้เจอสาวที่นั่น เดือนที่เราไปทอดกฐินนั้นเป็นเดือนสิบสอง ตรงกับเดือนพฤศจิกายน ข้าวในนาของสาวยังไม่ได้เกี่ยว จะเกี่ยวในเดือนอ้ายคือเดือนถัดไป ส่วนข้าวในนาของพ่อจะลงมือเกี่ยวเมื่อกลับจากงานกฐิน พ่อนัดหมายสาวว่าจะไปช่วยเขาเกี่ยวข้าวในเดือนอ้าย สาวก็รับนัด ถึงเดือนอ้ายพ่อก็ถือเคียวเดินทางไปพบสาว ช่วยเขาเกี่ยวข้าวจนเสร็จแล้วพ่อก็ได้ความรักเป็นรางวัล” จันทาหยุดหน่อยหนึ่ง สีหน้าระรื่น
“แล้วแม่ผู้น่าสงสารของเธอเล่า พ่อได้พบตอนไหน ?” นิทัศน์ถามด้วยความเป็นห่วงถึง
จันทายิ้ม “สาวคนที่พ่อไปช่วยเกี่ยวข้าวและได้รับความรักเป็นรางวัลนี่แหละ คือแม่ของฉัน”
“แม่เธอคงจะสวยนะ พ่อถึงได้เดินทางตั้งไกลไปหา”
จันทานิ่งนึกครู่หนึ่ง “ผู้หญิงบ้านนอกน่ะจะพูดว่าสวยก็พูดยาก เพราะไม่มีอะไรจะตบแต่ง แต่แม่ไม่ใช่คนขี้ริ้ว แม่มีจมูกและปากสวยกว่าฉัน ฉันคิดว่าแม่เป็นคนสวยเหมือนกัน ถ้าแม่มีเครื่องแต่งตัวและมีเวลาจะแต่ง แต่ผู้หญิงชาวนาไม่มีโอกาสเช่นนั้นหรอก ฉันจะเล่าเรื่องต่อไป วันหนึ่งพ่อออกจากหมู่บ้านไปหาแม่ แต่ไม่พบแม่ที่บ้าน แม่ออกไปทำบุญที่วัดยังไม่กลับ พ่อถามหนทางไปวัดจากชาวบ้านแล้วก็ตามแม่ไปที่วัด แต่พ่อหลงทาง พ่อเดินไปทางวัดร้างซึ่งเป็นที่เปลี่ยว บังเอิญในวันนั้นมีพวกนักเลงนัดมาเล่นการพนันกันบนศาลาร้าง พ่อเป็นคนแปลกถิ่น พวกนักเลงไม่รู้จักหน้า เข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ปลอมตัวมาจะจับกุมเขา พวกเขาจึงดักทำร้ายเอา พ่อไม่ได้ระวังตัว ถูกแทงด้วยมีดซุยสองที่จนล้มลง แล้วพวกเขาก็หนีไป แต่บาดแผลที่ถูกแทงไม่สาหัส”
“พ่อเธอเป็นคนเหนียวกระมัง?” นิทัศน์ตาลุก
“ก่อนหน้านี้พ่อเคยถูกแทงครั้งหนึ่ง พ่อมีเรื่องวิวาทกับเจ้าหนี้ที่เหี้ยมเกรียมต่อชาวบ้านของเรา เขาจ้างคนทำร้าย พ่อถูกลอบแทงแต่ไม่เข้า พ่อมีพระที่ท่านอาจารย์ให้ไว้คุ้มตัว คราวที่นักเลงรุมแทง พ่อรอดตัวมาได้เพราะพระคุ้มครอง” จันทาพูดอย่างมั่นใจและนิทัศน์พยักหน้าด้วยความเลื่อมใส
“พ่อกลับบ้านไม่กี่วัน ตำรวจก็มาจับตัวไป”
“เอ๊ะ! ทำไมตำรวจมาจับพ่อเธอล่ะ ?” นิทัศน์เลิกคิ้วนัยน์ตาโต “ทำไมเขาไม่จับพวกนักเลงที่ลักลอบเล่นการพนันและทำร้ายพ่อเธอ ?”
“พวกนักเลงเหล่านั้น เขามีพวกพ้องอยู่ที่อำเภอ เมื่อเขารู้ว่าพ่อไม่ตาย เขากลัวว่าพ่อจะกลับมาเอาเรื่องกับพวกเขา เขาจึงคบคิดกับพวกที่อำเภอแต่งเรื่องขึ้นว่า พ่อคุมพรรคพวกไปปล้นบ้านเขาเกิดการต่อสู้กันขึ้น พ่อถูกแทงแล้วหลบหนีไปได้”
“เล่นโกงกันอย่างร้ายกาจ ใครเขาจะเชื่อ!” นิทัศน์อุทาน
“แต่ศาลท่านเชื่อ” จันทาเล่าไปด้วยอาการปกติ “ที่บ้านนอกถ้าใครมีพวกพ้องเป็นพวกนายอำเภอหรือตำรวจ จะคบคิดกันเอาใครเข้าคุก ก็ทำได้ไม่ยาก พ่อเคยบอกฉันอย่างนี้แหละฉันได้ยินมาเช่นนี้”
“ทำยังกะบ้านเมืองไม่มีขื่อแป !” นิทัศน์ร้องเสียงแหลม และนัยน์ตามีแววขุ่นเคือง ราวกับว่าเขาจะต้องริเริ่มสร้างขื่อแปของบ้านเมืองขึ้นมา เมื่อเขาโตพอที่จะสร้างมันได้
“เขาจ้างพยานเท็จมาสี่ห้าคน ให้มาเป็นพยานเบิกความตามเรื่องที่เขานั้นเรื่องขึ้น” จันทาเล่าต่อไป “ศาลชั้นต้นเชื่อคำพยานโจทก์พิพากษาจำคุกพ่อสิบสองปี ในวันที่ศาลอ่านคำพิพากษา พ่อตะโกนบอกเจ้าพวกนักเลงว่า ‘ถ้ากูยังมีชีวิตอยู่กูกับมึงจะต้องได้เจอกันอีก’ เมื่อคดีมาถึงศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็เชื่อตามศาลชั้นต้นพิพากษา แต่ศาลฎีกาท่านไม่เชื่อท่านสั่งปล่อยพ่อ พ่อถูกจำคุกอยู่สี่ปีโดยไม่มีความผิดอะไรเลย”
“แล้วแม่ล่ะ ?”
“แม่ก็ทำนาไปและคอยพ่อต่อไป” ดวงตาของผู้เล่ามีประกายแจ่มใส “เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วมีผู้ชายมาขอแม่ ยายก็หนุนว่า อย่าคอยพ่อเลย มันเป็นเวรกรรมของพ่อแต่ชาติก่อน ศาลท่านว่ามาอย่างนั้นแล้ว มันก็ต้องเป็นไปตามท่านว่า แต่แม่ยืนยันอย่างมั่นคงว่าจะต้องคอยพ่อจนถึงที่สุด เมื่อพ่อออกจากคุก ก็ได้พบแม่คอยอยู่ พ่อบอกฉันว่า ถ้าไม่มีแม่พ่อคงกลายเป็นอ้ายมหาโจรไปแล้ว แล้วฉันก็คงไม่ได้เกิดมาเป็นลูกพ่อ” ถึงตอนนี้ดวงตาของนิทัศน์จับอยู่ที่ดวงหน้าจันทาเขม็ง ด้วยความรู้สึกทึ่งในเรื่องราวที่เขาเล่าอย่างแรงกล้า “พ่อมั่นใจอยู่ตลอดเวลาที่พ่ออยู่ในคุกว่าออกจากคุกเมื่อใด พ่อจะตามไปเอาชีวิตอ้ายพวกนักเลงเหล่านั้นให้จงได้ ครั้นพ่อกับแม่ได้พบกัน แม่บอกพ่อว่า แม่เฝ้าคอยพ่อด้วยความหวังจะได้อยู่กินกับพ่อ ได้ช่วยกันทำมาหากินเลี้ยงชีวิตไปอย่างสงบ ถ้าพ่อจะตามไปฆ่าคนเหล่านั้นแล้ว พ่อก็จะต้องหลบหนีอาญาแผ่นดินไปอยู่ตามป่าตามเขา และถูกเจ้าหน้าที่ติดตามเรื่อยไป พ่อก็จะหนีเวรกรรมไปไม่พ้น เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อกับแม่ก็จะไม่ได้อยู่ด้วยกันสมกับที่แม่เฝ้าคอย พ่อเห็นใจแม่ ใจพ่อก็อ่อนลง ในที่สุดพ่อก็ล้มความคิดที่จะแก้แค้นศัตรูของพ่อ แล้วพ่อกับแม่ก็เป็นผัวเป็นเมียกัน พ่อออกจากหมู่บ้านโนนดินแดงไปอยู่กับแม่ เป็นประเพณีของพวกฉันที่ฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง และช่วยฝ่ายหญิงทำมาหาเลี้ยงพ่อแม่ของฝ่ายหญิง”
“ชีวิตของพ่อแม่เธอ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยังกับเรื่องอ่านเล่นเทียวนะ” นิทัศน์อุทานสอดขึ้น สีหน้าของเขาดูร่าเริง “และก็เป็นชีวิตที่ลงเอยอย่างเป็นสุข”
“นั่นยังไม่ใช่ตอนลงเอยหรอกเธอ พ่อยังพบความยุ่งยากต่อไปอีก และยังถูกรังควานต่อไปอีก เมื่อพ่อไปอยู่บ้านแม่แล้ว พ่อกับแม่ก็ช่วยกันทำงานเลี้ยงชีวิตมาได้อย่างสงบสักปีหนึ่งฉันก็เกิด ก่อนพ่อจะติดคุกและก่อนที่พ่อจะมาได้กับแม่นั้น พ่อเคยเล่าว่า พ่อไม่ใช่คนเรียบร้อยนัก แต่เมื่อได้อยู่กินกับแม่แล้ว พ่อก็พยายามเป็นคนดี พ่อรักและนับถือแม่มาก พ่อเคยพูดเสมอว่า แม่เป็นหญิงที่มีน้ำใจสัตย์ซื่อมั่นคงมีใจเดียวไม่มีสอง”
นิทัศน์พยักหน้ารับรอง ขณะจันทาหยุดนิดหนึ่ง “เมื่อพ่อออกจากคุก ทั้งที่พ่อไม่ได้ทำความผิดแต่ทางเจ้าหน้าที่เขาก็คอยจับตาดูพ่อด้วยความไม่ไว้ใจ อีกอย่างหนึ่งเจ้าหน้าที่บางคนเขาไม่ชอบพ่อ เพราะเขาสนิทกับคนมั่งมีบางคนที่เป็นอริกับพ่อ และมักพูดให้ร้ายพ่อ พ่อถูกเขาสงสัย และถูกเขาเอาตัวไปสอบสวนสองครั้ง ครั้งที่หนึ่งเขาสงสัยเรื่องขโมยควาย อีกครั้งหนึ่งเป็นเรื่องปล้นอีกนั่นแหละ เรื่องหลังนี้เกิดเมื่อฉันอายุได้เกือบสามขวบ พ่อรอดตัวมาได้เพราะบารมีของท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ได้เอาเป็นธุระช่วยพูดจากับเจ้าหน้าที่ให้เขาคลายสงสัยพ่อ แต่พ่อนั้นเมื่อถูกสงสัยและถูกเอาตัวไปสอบสวนเป็นครั้งที่สอง พ่อก็หมดความอดทน และประกาศออกมาว่า ‘มันอยากให้กูเป็นโจร กูก็จะไปเป็นโจรละ มันอยากจับกู ก็ให้มันตามไปในป่า กูจะคอยพบมันในกลางป่า’ พูดแล้วพ่อก็ฉวยดาบฮึดฮัดจะออกไปจากบ้าน แม่ปลอบพ่อว่า แม่เห็นใจพ่อและแม่ว่าถ้าไม่มีฉัน แม่ก็จะเข้าป่าไปกับพ่อไปเป็นเมียโจรก็เป็นกัน แต่แม่จะพาฉันเข้าป่าไปด้วยกันไม่ได้ จะเป็นการเอาลูกไปฆ่าเสียทั้งคน แม่จึงขอให้พ่อสงบอารมณ์ไว้ก่อน พ่อจึงอ่อนลง แต่พ่อได้ปรารภว่าขืนอยู่ไปก็จะต้องโดนจับเข้าคุกสักวันหนึ่ง ถึงจะพ้นภัยในวันนี้ก็จะไม่พ้นภัยในวันหน้า พ่อบอกกับแม่ว่าพ่อจะช้ำใจมาก ถ้าถูกจับในบ้าน และไม่ได้ต่อสู้ให้เต็มรัก เมื่อบ้านเมืองปล่อยให้เจ้าหน้าที่คอยรังควานความสุขของราษฎรที่สุจริตอยู่เช่นนี้ เราก็จะต้องคิดอ่านรักษาตัวเอง พ่อพูดว่า ‘เกิดมาแล้วมันก็ต้องตายแหละเจ้าเอ๋ย แต่ขอให้ได้ตายอย่างคนไม่ใช่ให้เขาทำเอาข้างเดียวอย่างหมูหมา’ พ่อเป็นคนเล่าให้ฉันฟังอย่างนี้ แม่จนใจจึงชวนพ่อไปหาท่านอาจารย์ที่วัด ไปฟังคำแนะนำของท่าน พ่อก็ตกลง เมื่อแม่เล่าเรื่องให้ท่านอาจารย์ฟังแล้ว ท่านก็ว่าที่พ่อปรารภถึงอันตรายในภายหน้านั้นมันก็มีเค้ามูล แต่ที่จะแก้ไขด้วยการเป็นโจรนั้นเป็นการก่อเวร ไม่ใช่ทางธรรม ท่านอาจารย์พูดกับพ่อว่า ‘ถ้ามึงไปเป็นโจร คาถาอาคมที่กูให้มึงก็จะเสื่อม’ พ่อตอบท่านว่า ‘เสื่อมก็เสื่อมเถอะขอรับ เมื่อมันกดขี่ข่มเหงกันอย่างนี้ผมก็จะเต็มใจสู้มัน’ ท่านอาจารย์เห็นว่าพ่อกำลังแค้นก็ไม่โกรธ ได้แต่ว่า ‘มึงนี่ใจแข็งจริงนะมึง’ ท่านอาจารย์นิ่งนึกอยู่ครู่ใหญ่แล้วก็พูดว่า ‘มึงก็ติดคุกมาครั้งหนึ่งแล้ว กูสงสารมึงนัก ไม่อยากให้เขาจับมึงไปใส่คุกอีก เอาอย่างนี้เถอะวะ กูจะเอาผ้าเหลืองคุ้มภัยให้มึง มึงเข้ามาบวชอยู่กับกูเสียที่วัด ก็จะไม่มีใครทำอันตรายได้ มึงจะเอาไหม ?’ พ่อตอบท่านอาจารย์ว่าสุดแล้วแต่แม่ พ่อพูดว่า ‘ผมเป็นคนดีมาได้ก็เพราะเขา ถ้าไม่มีเขาผมคงจะไปเป็นโจรเพราะความแค้นใจเสียนานแล้ว’ เมื่อท่านอาจารย์ถามแม่ว่าจะสละพ่อได้หรือไม่ ? แม่ก็อ้ำอึ้งลังเลใจ การสละพ่อนั้นเป็นการสละอย่างมากมายของแม่ แต่ในที่สุดด้วยความรักฉัน และด้วยความรักพ่อยิ่งกว่าความรักตัวของแม่ แม่จึงตกลงให้พ่อรับคำแนะนำของท่านอาจารย์ ต่อมาอีกไม่นานพ่อก็ไปบวช เวลาที่พ่อบวชนั้นฉันอายุยังไม่ครบสี่ขวบ ฉันอยู่กับแม่ได้ไม่กี่ปี แม่ก็ตายจากไป แม้ฉันยังเล็กอยู่ฉันก็จำได้ว่า แม่เคยร้องไห้คิดถึงพ่อ แม่ต้องทำงานหนักมากและแม่รักฉันมาก”
จันทาหยุดนิ่งครู่หนึ่ง แล้วเล่าต่อไป “เมื่อพ่อบวชแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังตามไปรังควานอีกครั้งหนึ่ง เขาสงสัยว่าพ่อมีส่วนรู้เห็นในการปล้นรายหนึ่ง ซึ่งเจ้าทรัพย์จับพวกปล้นได้ คนหนึ่งในพวกที่ไปปล้นเคยเป็นคนที่รู้จักชอบพอกับพ่อ ครั้งนั้นพ่อโกรธมากถึงกับลั่นวาจาว่า ถ้าพวกบ้านเมืองมากวนถึงกุฏิอีกครั้งเดียว กูจะเป็นองคุลิมาล ก็จะทำให้แผ่นดินในท้องถิ่นนี้ลุกเป็นไฟทั้งผ้าเหลือง ตั้งแต่วันนั้นมาเจ้าหน้าที่ก็ไม่ไปรบกวนพ่ออีก และพวกชาวบ้านก็พากันนับถือพ่อ”
“ฉันก็นับถือท่าน” นิทัศน์สนับสนุน “พ่อเธอเป็นคนใจคอเด็ดเดี่ยว”
“พ่อฉันก็มีดีอยู่ตรงนี้แหละ” จันทายิ้มปากกว้าง “ต่อมาเมื่อฉันอายุย่างเข้าเจ็ดขวบ ในปีนั้นเกิดฝนแล้งครั้งใหญ่ ข้าวในนาตายหมด ชาวบ้านทั้งตำบลไม่มีข้าวจะกิน เกิดอดอยากกันไปทั่ว ต่างคนก็กระเสือกกระสนหาทางแก้ไขไม่ให้อดตาย ต่างก็พากันไปเข้าป่าเข้าดงหาของป่าไปแลกข้าว เก็บพืชผลในป่า และจับสัตว์ต่าง ๆ ที่กินได้เอามากินเป็นอาหาร ในตอนกลางคืนฉันเคยออกไปกับแม่เพราะความหิว ไปช่วยแม่ส่องไต้จับกบ จับเขียด และจิ้งหรีด”
“ทั้ง ๆ ที่ท้องหิว เธอก็อดซุกซนไม่ได้” ความขันแทรกขึ้นมาในความเศร้าของนิทัศน์ “เธอจับจิ้งหรีดมากัดกันหรือ ?”
“ฉันไม่ได้ซุกซนหรอก ฉันไม่ได้ออกไปทุ่งนาตอนกลางคืนเพื่อจับจิ้งหรีดมาเล่น ฉันจับมากิน ทางบ้านฉันเขาเรียกแมลงดำ ยังมีตัวแมลงอีกหลายชนิดที่เราจับมาเป็นอาหาร”
สีหน้าของนิทัศน์เปลี่ยนเป็นเศร้าไปทันที เขาส่ายหน้าด้วยความรู้สึกอัดอั้นตันใจในการหาเลี้ยงชีวิตของสหายซึ่งเขาไม่อาจเข้าใจได้
“ต่อมาเมื่อความอดอยากบีบคั้นหนักเข้า ครอบครัวของเราก็อพยพจากถิ่นเดิมไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ ห่างจากหมู่บ้านของเราราวพันเส้น แม่เห็นว่าฉันยังเล็กอยู่ จะพาไปได้รับความลำบากอย่างไรยังไม่รู้ จึงนำฉันไปฝากพ่อไว้ที่วัด ในวันที่แม่ไปลาพ่อนั้นแม่ร้องไห้ใหญ่เหมือนจะจากกันไป เมื่อฉันโตขึ้นฉันทราบว่าในวันนั้นพ่อสงสารแม่มาก พ่อเกือบจะสึกออกมาช่วยแม่หาเลี้ยงชีวิตอยู่แล้ว แต่แม่ยังไม่ต้องการให้พ่อทำเช่นนั้น แม่ยังห่วงอันตรายแทนพ่ออยู่”
“แม่กับครอบครัวอพยพไปอยู่ในท้องที่ใหม่ได้สักหนึ่งปี ก็เกิดโรคระบาดในหมู่บ้านนั้น ผู้คนป่วยเป็นไข้ทรพิษ ทางบ้านฉันเรียกไข้หมากห่าง ล้มตายกันเป็นจำนวนร้อย ๆ และยังตายกันเรื่อย ๆ จนตาของฉันก็ได้ ๆ ตายไปด้วย ครอบครัวชาวบ้านเดิมของเราก็เริ่มอพยพกลับถิ่นเดิม”
“เหมือนกับหนีเสือปะจระเข้นะเธอ” นิทัศน์ร้องครางเบา ๆ
จันทาพยักหน้า “ชีวิตของพวกฉันก็เป็นเช่นนั้นแหละ ผละจากจระเข้หมดทางไป ก็หวนกลับมาอยู่ในดงเสืออีก เมื่อตาตายลง ลุงก็แนะนำให้ครอบครัวของเราอพยพกลับบ้านเดิมแม่ก็ตกลง ในคืนที่เตรียมตัวจะเดินทางกลับนั่นเอง แม่ได้ล้มเจ็บ ก็อ้ายไข้ทรพิษอีกนั่นแหละ.....”
“ทำไมไม่ใช้วัคซีนป้องกัน ?” นิทัศน์ถาม
“ที่บ้านนอกบ้านป่าอย่างนั้น ไม่มีใครรู้จักใช้วัคซีนป้องกันโรคภัยไข้เจ็บกันหรอก ไม่มีหมอหลวงไปตรวจรักษากันเลย”
“ที่หมู่บ้านเธอไม่มีนายแพทย์หรือ ?”
“นายแพทย์อย่างที่นี่ในกรุงเทพนี้ ที่หมู่บ้านฉันหรือตามบ้านนอกไม่มีเลย”
“แล้วเวลาเจ็บป่วยใครเป็นคนรักษาพยาบาลพวกเธอ ?”
“บางทีเราก็รักษากันเอง ไปเที่ยวเก็บรากไม้ใบไม้มาต้มกินบ้าง ฝนกินบ้าง ทาบ้างตามอย่างที่เราเห็นพวกผู้ใหญ่ทำกันมา บางทีก็ไปหาหมอที่มีอยู่ในหมู่บ้าน หมอก็ให้ใบไม้รากไม้มาต้มมาฝน มาทาเหมือนกัน โรคเบาหน่อยก็หาย โรคหนักหน่อยก็ตาย”
“พวกเธอไม่รักชีวิตเหมือนกับคนในกรุงเทพเขาดอกหรือ ?”
“พวกฉันก็รักชีวิตเหมือนคนอื่น ๆ เหมือนกัน แต่เราไม่รู้จะทำอะไรให้ดีกว่านั้น บางทีคนป่วยหนักเขาไปเชิญหมอผีมารักษา”
“หมอที่เป็นผีน่ะหรือ ?” นิทัศน์ตาลุก
“ไม่ใช่ผี” จันทาโบกมือ “หมอเป็นคน แต่รักษาใช้คาถาอาคมขับผีออกจากคนป่วย พวกหมอนี้เขาว่าคนที่ป่วยถูกผีทำร้ายเอา จึงต้องใช้คาถาขับผีให้ออกไป คนป่วยจึงจะหาย ลุงเล่าว่าเมื่อแม่ป่วยหนักถึงเพ้อนั้น ได้ไปตามหมอผีมาทำพิธีขับไล่ผี”
“แล้วผีมันไม่ยอมออกไปอย่างนั้นหรือ ?” นิทัศน์ซัก
“ไม่ใช่ หมอบอกว่า ผีมันกลัวคาถาของหมอ มันออกไปแล้ว”
“หมอช่างมีคาถาศักดิ์สิทธิ์จริง” นิทัศน์ร้องด้วยความตื่นเต้น “ตอนนั้นแม่เธอก็รอดตาย”
“ไม่ใช่ แม่ตายตอนนั้น”
“อ้าว....” นิทัศน์เลิกคิ้ว “หมอก็ใช้ไม่ได้น่ะซี คาถาของหมอก็เก๋ และพวกเธอก็ไม่ควรเชื่อหมอผีอีกต่อไป”
“คาถาของหมอไม่เก๊ หมออธิบายว่า ผีตัวที่หมอใช้คาถาไล่มันนั้น มันได้หนีไปแล้วจริง ๆ แต่ที่คนป่วยต้องตายนั้น เพราะมีผีตัวใหม่เข้ามาทำเอาอีก หรือมีเหตุอื่นเข้ามาแทรกคนป่วยจึงไม่รอด พวกฉันเชื่อตามที่หมออธิบาย หมอที่รักษาคนป่วยโดยใช้คาถาอาคมนี้มีอยู่หลายพวก เรียกหมอธรรมก็มี หมอผีฟ้า-แถนก็มี หมอผีเฉย ๆ ก็มี เมื่อป่วยหนักพวกฉันก็เข้าหาท่านเหล่านั้นเป็นที่พึ่ง”
“ฉันไม่เชื่อพวกหมอผีของเธอ” นิทัศน์คัดค้าน “เมื่อเขาบอกว่าเขาขับผีออกไปได้แล้วแม่เธอก็ยังตาย เธอจะไปหลงเชื่อเขาทำไม”
จันทาสั่นหน้า “ฉันก็ไม่รู้ พวกบ้านฉันเชื่อถือท่านเหล่านี้กันมาแต่ปู่ย่าตายาย พวกเราลูกหลานก็เชื่อตาม ๆ กันมา ถ้าเราไม่เชื่อท่านเหล่านี้ เราจะหันหน้าไปพึ่งใครเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มีแต่ท่านเหล่านี้ที่ได้ช่วยเรา”
เขานั่งกันไปครู่หนึ่ง แล้วนิทัศน์ก็เอ่ยขึ้นว่า “ถ้าฉันได้เรียนสำเร็จเป็นนายแพทย์ฉันอยากไปอยู่ในหมู่บ้านของเธอ ฉันจะปลูกฝีให้ทุกคน แล้วพวกพ้องของเธอก็จะไม่ตายด้วยไข้ทรพิษอีกต่อไป แม่ก็จะได้อยู่กับเธอจนแก่เฒ่า ถ้าแม่เธอได้ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ” เทศน์พูดต่อไปด้วยเสียงละห้อย “แต่ฉันก็คงจะไม่ได้เรียนเป็นแพทย์ เพราะแม่คงไม่มีกำลังหาส่งให้ฉันเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย ฉันไม่เคยรู้เลยว่าชีวิตของพวกเธอตามบ้านนอกต้องลำบากยากแค้นกันถึงเพียงนี้ เล่าเรื่องของเธอต่อไปเถอะ ฉันอยากฟัง”
“ลุงรีบฝังศพแม่ในวันที่ตายนั่นเอง ลุงเล่าว่าไม้ที่จะต่อโลงศพใส่แม่ก็หายาก เพราะเวลานั้น คนป่วยเจ็บและตายกันเรื่อย ๆ ชาวบ้านต้องใช้ไม้และฟืนกันมาก อีกอย่างหนึ่งในเวลานั้นเป็นฤดูหนาว ชาวบ้านต้องใช้ฟืนก่อไฟกันตลอดคืนเพื่อกันหนาว”
“ทำไมพวกเธอไม่ใช้ผ้าห่ม ?”
“พวกฉันไม่มีผ้าห่ม ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็ก ต้องนอนข้างกองไฟกันทั้งนั้นตลอดฤดูหนาว เมื่อฉันยังเล็กก็ยังเคยไปช่วยแม่เก็บฟืนในป่ามาก่อไฟในฤดูหนาว และแม่นอนกอดฉันอยู่ข้างกองไฟตลอดคืน ตอนกลางวันค่อยยังชั่วหน่อย เพราะได้อาศัยแสงแดดบ้าง”
“ที่บ้านเมืองของเธอหนาวเหมือนในกรุงเทพเหมือนกันหรือ ?”
“ไม่เหมือน เพราะที่บ้านฉันหนาวยิ่งกว่านี้”
“โอ้โฮ, แล้วพวกเธอก็ยังไม่มีผ้าห่มกันหนาว พวกเธอช่างอดทนเหมือนกับอะไรดี”
“อดทนเหมือนควาย” จันทาพูดด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ “เราเคยอยู่กันมาอย่างนั้น ที่บ้านฉันถึงฤดูหนาวก็หนาวจัด ถึงฤดูร้อนก็ร้อนจัด และน้ำที่จะใช้อาบแก้ร้อนก็อัตคัด ในปีที่หนาวจัดนั้นควายแก่ ๆ ที่ลงไปนอนคลุกโคลนอยู่ตามบ่อ ถึงกับนอนตายอยู่ในบ่อ”
“ชีวิตของพวกเธอต้องผจญกับความลำบากยากแค้นอย่างสาหัสทีเดียวนะ” ความรู้สึกเจ็บปวดปรากฏบนสีหน้าของเด็กชายผู้เยาว์วัย
“พวกฉันเคยกันมาอย่างนั้น” จันทามักจะตอบเช่นนี้เสมอ เมื่อเขาได้รับการแสดงความเห็นใจ “ลุงรีบเผาศพแม่ ก็เพราะว่าจะรีบอพยพครอบครัวกลับบ้านเดิมโดยเร็ว เพราะถ้าอยู่ชักช้าก็คงจะตายกันอีก เมื่อมาถึงบ้านแล้ว ลุงก็รีบไปพบพ่อที่วัดเล่าเรื่องให้พ่อฟัง แล้วก็เอาหม้อที่บรรจุกระดูกแม่มอบให้พ่อ ลุงเล่าว่าแม่เป็นผู้หญิงที่อดทนมาก ระหว่างที่อพยพไปอยู่บ้านใหม่นั้น แม่ต้องทำงานสารพัดอย่าง แทบไม่มีเวลาจะพักผ่อน แม่ปรารถนาจะตั้งหลักแหล่งให้เรียบร้อยเสียโดยเร็ว จะได้รีบกลับมารับฉันไปอยู่กับแม่ แม่อุตส่าห์อดออมเก็บข้าวสารไว้ได้ถุงหนึ่ง หมายว่าจะเอามาฝากฉันกับพ่อ ทางบ้านฉันน่ะเมื่อราษฎรเกิดอดอยากกันขึ้น ทั้งพระทั้งลูกศิษย์วัดก็พลอยปากแห้งไปด้วย ในวันที่แม่จะตายนั้นแม่พูดเพ้อถึงฉันและพ่อตลอดเวลา ลุงเล่าพลางน้ำตาไหล พ่อนั่งฟังสงบนิ่งแต่มีน้ำตาคลอ พ่อคงคิดถึงแม่มากเหมือนฉัน ฉันอยู่ที่นั่นด้วย เมื่อรู้ว่าแม่ตาย ฉันร้องไห้เสียใหญ่ ฉันรักแม่ไม่น้อยกว่าที่แม่รักฉัน เพราะแม่ได้เลี้ยงฉันมาด้วยความยากลำบาก”
“แม่เธอเป็นวีรสตรี แม่เธอต้องตายในสนามรบของการต่อสู้ เพื่อการมีชีวิตอยู่ของท่านและของคนอื่นด้วย” นิทัศน์ร้องขึ้นด้วยความมั่นใจ
บนสีหน้าอันหม่นหมองของจันทา มีประกายแจ่มใสในดวงตาของเขา