๓
จันทาพยายามรวบรวมความกล้าหาญทั้งหมดเท่าที่รวบรวมได้ในตัวเขา เพื่อจะตั้งคำถามที่เขาคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง ถึงกระนั้นก็ดี เขาก็ได้พูดออกไปอย่างตะกุกตะกัก
“เธอเป็นหงส์หรือเป็นกา”
เป็นคำถามที่โผล่ขึ้นมาอย่างปุบปับฉับพลัน จนนิทัศน์งวยงงไป เขาเลิกคิ้วและดวงตาของเขาก็เบิกโตขึ้นตามเคย เป็นนิสัยของเขาที่มักจะเลิกคิ้วทำตาโตเมื่อเขาเกิดความฉงนสนเท่ห์ขึ้นมา
“ฉันไม่เข้าใจคำถามของเธอ”
จันทาแสดงกิริยากระดากกระเดื่อง แล้วก็พูดอ้อมแอ้มว่า
“ฉันคิดว่าเธอรู้เรื่องนี้ดีแล้ว ท่านอาจารย์ที่วัดบอกฉันว่า ฉันเป็นพวกกา เมื่อฉันจะมาเข้าเรียนที่โรงเรียนนี้ ซึ่งเป็นโรงเรียนของลูกผู้ดีมีตระกูล ท่านบอกฉันว่า ฉันได้มาอยู่ในหมู่หงส์”
นิทัศน์ทำหน้านิ่วตอบว่า “ฉันไม่เคยมีอาจารย์ที่สอนฉันเช่นนี้ ฉันไม่เคยมีความคิด เรื่องใครจะเป็นหงส์หรือเป็นกา พ่อแม่ก็ไม่เคยสอนฉัน”
“แล้วพ่อแม่เธอสอนอย่างไรบ้าง” จันทาอยากทราบคำสอนของวีรสตรีคนที่สองที่เขาเพิ่งได้ยินชื่อเสียง
นิทัศน์นั่งนึกอยู่ครู่ใหญ่ เมื่อรวบรวบความคิดที่จะชี้แจงให้ตรงความจริงอย่างดีที่สุดได้แล้ว เขาก็ลงมือชี้แจง
“แม่ของฉันนะเธอ” เขาพูดไปพลางทำท่าคิดนึกไปพลาง ท่าคิดนึกของเขานั้นดูเต็มไปด้วยความพยายามที่จะรักษาความแม่นยำอย่างเต็มที่ ราวกับว่าข้อความที่เขาจะพูดออกไปนั้น เป็นเรื่องสลักสำคัญที่จะบันทึกลงไว้ในประวัติศาสตร์ “แม่สอนฉันว่า ฉันจะต้องเป็นคนซื่อตรง ซื่อตรงเหมือนพ่อ พ่อฉันเป็นคนซื่อตรงมาก แม่พูดกับฉันบ่อย ๆ และพ่อก็เคยสอนฉันว่า ฉันจะต้องพูดความจริงเสมอ พ่อบอกฉันว่า แม้ฉันจะทำผิดแต่ถ้าพูดความจริงกับพ่อแล้ว พ่อจะไม่เอาโทษเลย”
จันทาพูดเสียงอ่อยๆ ว่า “ฉันขอโทษ ฉันไม่ได้สงสัยพ่อเธอหรอก แต่ว่าฉันเคยถูกหลอก”
“ใครหลอกเธอ”
“ท่านอาจารย์ของฉัน แต่ว่าฉันเป็นคนไม่ดีเอง ฉันเคยพูดเท็จกับท่านอาจารย์”
“พูดบ่อย ๆ หรือ” นิทัศน์ไล่เลียงด้วยท่าทางราวกับว่าเขาเป็นพี่ชาย “พูดเท็จไม่ดีนะ เธอควรจะเลิกพูดเท็จอย่างเด็ดขาด”
“ไม่บ่อยนัก ฉันมักจะพูดเมื่อจวนตัว เวลาท่านอาจารย์โมโห ความผิดไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ท่านเอาโทษแรง ฉันกลัวอาญาของท่าน จึงริอ่านพูดเท็จเพื่อเอาตัวรอด บางครั้งท่านก็เฆี่ยนฉันทั้งที่ฉันปฏิเสธ แล้วท่านบอกว่าให้ฉันรับเสียดีๆ จะหยุดเฆี่ยน ครั้นฉันรับตามตรง ท่านก็ว่าจับโกหกได้แล้ว แล้วท่านก็เฆี่ยนฉัน อีก ต่อมาเมื่อฉันพูดเท็จออกไปแล้วฉันก็ไม่ยอมรับ ฉันทนจนถึงที่สุด”
“เธอก็ถูกเฆี่ยนแย่นะซี” นิทัศน์พูดอย่างเห็นใจ
จันทายิ้มปากกว้าง และในยิ้มปากกว้างของเขานั้น มันอธิบายอย่างแจ่มแจ้งถึงความทรหดบึกบึนของเขาในข้อนี้ ถึงแม้จะนึกติเตียนการพูดเท็จของเขา
“ทั้งพ่อทั้งแม่สอนฉันให้เป็นคนสุจริต ไม่ว่าจะมีจะจนอย่างไร ต้องไม่ละทิ้งความสัตย์สุจริต” มิตรน้อยบรรยายต่อไป “แม่สอนฉันว่าเกิดมาเป็นคนต้องคิดพึ่งตัวเอง พึ่งน้ำพักน้ำแรงของเราเอง แม่บอกว่าถึงเราจะจน ไม่มั่งมีศรีสุขเหมือนคนอื่นเขา ก็ไม่ต้องอับอายใคร เราไม่ได้ลักขโมยใครเขากิน ไม่ได้ฉ้อโกงใครเขากิน เราไม่ได้หากินด้วยการตลบแตลงขี้ฉ้อตอแหล และเราก็ไม่ได้ไปเที่ยวขอท่านใครเขามากิน เราทำมาหากินด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา และด้วยความสุจริต” เขาหยุดนึกอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดต่อไป “ในบางคราวนะเธอ เมื่อฉันเข้าไปขอสตางค์แม่ในวันที่โรงเรียนมีงานเป็นพิเศษ แม่นับสตางค์ส่งให้แล้วเอามือลูบหัวฉัน แล้วแม่ก็พูดว่า ‘ลูกเอ๋ยเรามีน้อยก็ใช้น้อยนะลูก ถึงแม่จะมีให้ลูกเพียงเล็กน้อย แต่ทุกสตางค์ที่แม่ให้ก็ได้มาด้วยเหงื่อไคลของแม่เอง ลูกไม่ต้องอายใครเพราะลูกมีสตางค์ติดตัวไปแต่น้อย คนที่ทุจริตฉ้อโกงเขากินหรอกนะลูกที่ควรจะอับอาย’ แม่สอนฉันอย่างนี้ และฉันก็เชื่อฟังแม่ ฉันเห็นว่าแม่พูดถูก แม่ไม่เคยพูดกับฉันถึงเรื่องหงส์เรื่องกา โรงเรียนเขาเก็บค่าเล่าเรียนเท่าไร แม่ก็หามาเสียให้โรงเรียน เท่ากับเด็กคนอื่น ๆ ทุกคน ฉันจึงรู้สึกตัวว่าฉันก็เหมือนกับเด็กอื่น ๆ”
“ฉันไม่มีแม่ที่สอนฉันอย่างนี้” เป็นคำรำพึงของจันทา “ฉันไม่มีแม่ที่คอยเสียค่าเล่าเรียนให้เหมือนอย่างเธอ”
คำรำพึงที่หลุดออกมาจากปากกว้างของจันทาอย่างซื่อๆ นี้ ได้ก่อความสะเทือนใจแก่สหายน้อยของเขา ทำให้ความคิดที่จะบรรยายเรื่องในครอบครัวของเขาต่อไปหยุดชะงัก และการสนทนาของเขาทั้งสองในวันนั้นก็จบลงเพียงเท่านั้น เพราะถึงเวลาที่จะต้องเข้าห้องเรียน
เวลาได้ผ่านไปหลายวัน แต่นิทัศน์มิได้ลืมคำรำพึงของจันทาอันเต็มไปด้วยความวังเวงใจนั้นเลย บ่ายวันหนึ่งไม่มีการเรียน เนื่องด้วยครูประจำชั้นมีราชการพิเศษ ครูอนุญาตให้นักเรียนใช้เวลาตามแต่จะพอใจแต่ให้เป็นไปโดยสงบเงียบ อย่าให้มีการเอะอะพลุกพล่าน ในระหว่างเวลาที่ว่างนั้น นิทัศน์ได้ขออนุญาตหัวหน้าชั้นออกไปนอกห้องเรียนพร้อมด้วยจันทา เด็กทั้งสองพากันไปทางด้านหลังของตึกอันเป็นมุมที่สงบและราบรื่น ชายตึกตรงนั้นเป็นลานดินหญ้าขึ้นหรอมแหรมติดกับพื้นดิน และหญ้าไม่สามารถจะงอกงามขึ้นมาได้ เพราะเท้าเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ คอยเหยียบย่ำมันอยู่เสมอ ที่ลานดินนั้นเด็กๆ มักจะนัดกันมาเล่นลูกหินหรือปาลูกข่าง หรือร่อนรูปบุหรี่ซิกาแรต แต่ไม่มีการเล่นพนันเช่นหยอดหลุมหรือบ้อหุ้น เพราะโรงเรียนกวดขันการเล่นพนัน และลงโทษหนักเมื่อจับได้ โดยทั่ว ๆ ไปเด็กเหล่านั้นไม่คุ้นเคยกับการเล่นพนัน ส่วนมากพวกเขาเป็นเด็กที่มีโชคดี เขาไม่มีความจำเป็นจะต้องเสี่ยงโชค ชีวิตเขาอยู่ห่างไกลจากความเย้ายวนที่จะริอ่านเสี่ยงโชคด้วยการพนัน
ที่ลานดินนั้นมีต้นแคใหญ่ แผ่กิ่งก้านและใบให้ร่มเย็นเป็นนิจ ถัดลานดินไปเป็นคลองเล็ก ๆ ซึ่งอยู่นอกเขตรั้วโรงเรียน นิทัศน์เอาผ้าเช็ดหน้าปัดกิ่งและใบแคแห้งและฝุ่นละอองบนพื้นซีเมนต์ที่เป็นบาทวิถีรอบตึก แล้วชวนสหายนั่งลง พลางแก้ห่อของเล็ก ๆ ที่ถือมา
“เมื่อตอนกลางวัน ฉันลืมกินอ้ายนี่” เขาแก้ห่อออก มีข้าวต้มมัดอยู่สามมัด “วันนี้วันนี้แม่ทำข้าวต้มมัดให้พี่เอาไปขายที่ตลาด แม่รู้ว่าฉันกินไม่หมดหรอกตั้งสามมัด แม่คงตั้งใจให้ฉันเอามาแจกพวกเพื่อนด้วย แม่ทำข้าวต้มมัดอร่อยนะเธอ เพราะแม่ไม่เอากำไรมาก กินซิเธอคนละอันก่อนเหลือค่อยคิดกันทีหลัง”
จันทาลุกขึ้นร้องว่า “รอประเดี๋ยว” แล้วเขาออกวิ่งไปทางโรงครัวของโรงเรียน และกลับมาพร้อมกับกระป๋องใส่น้ำอยู่ในมือ
“อา, เธอเป็นคนรอบคอบ” นิทัศน์ชมเชยเขา แก้ข้าวต้มมัดออกสองห่อและลงมือกินกัน จันทากินหมดในเวลาอันเร็ว เขาไม่ตกลงกันว่าใครจะกินห่อที่สาม
“เธอกินห่อที่สามเถอะ” นิทัศน์ยื่นข้าวต้มมัดให้จันทา “เธอเป็นเด็กโตต้องการอาหารมากกว่าฉัน”
“ฉันกินไม่ได้หรอก” จันทาหดมือ “ฉันกินของเธออันหนึ่งก็มากอยู่แล้ว เธอเป็นคนรูปร่างบอบบาง ควรจะกินมาก ๆ หน่อย จะได้อ้วนและแข็งแรง”
“ฉันไม่ชอบเป็นคนอ้วนอย่างอู๊ด อู๊ดถูกล้อเลียนวันยังค่ำจนฉันสงสาร เขาว่าอู๊ดกินหมูมากเพราะเตี่ยเขาขายหมู เธอกินเถอะฉันชอบเป็นคนผอมเกร็ง”
“ท่านอาจารย์กำชับฉันนักหนาไม่ให้ตะกละ ท่านว่าไอ้พวกเด็กวัดมักตะกละตะกลาม ไปอยู่โรงเรียนผู้ดีกินอยู่อย่างตะกละมุมมามไม่ได้”
“ฉันไม่เคยเห็นเธอกินตะกละมูมมาม เธออาจจะกินเร็วกว่าฉัน เวลาหิวบางทีเราก็กินกันมูมมามหน่อย เด็กอื่น ๆ ก็เหมือนกัน”
“เมื่ออยู่ที่วัด ฉันเคยกินตะกละมุมมามเพราะอาหารมีน้อย ไม่ค่อยพอกินกัน ถ้ากินชักช้าก็ไม่ทันคนอื่นเขา พวกเด็กวัดมีเล่ห์เหลี่ยมมากในการกิน”
“นั่นไม่ใช่ความผิดของเธอนี่” นิทัศน์คัดค้าน “ถ้าหม่อมราชวงศ์รุจิเรข หรือวัชรินทร์ไปเป็นเด็กวัดอย่างเธอ เขาก็ต้องกินแบบเธอเหมือนกัน”
เด็กชายผู้เยาว์วัยแก้ข้าวต้มมัดห่อที่สามออก เขาบิกินหน่อยหนึ่งเพื่อเป็นการชักชวนสหาย และเขาส่งส่วนที่เหลือทั้งหมดให้จันทาพร้อมกับพูดว่า “ฉันอิ่มแล้วละ เราไม่ต้องแย่งกันกินเหมือนเด็กวัด เพราะว่าเรามีกินเพียงพอ”
“ถึงเรามีไม่พอกินเหมือนอย่างอยู่ที่วัด ฉันก็จะไม่แย่งเธอ” จันทาพูดภายหลังที่เขากลืนเข้าไปคำโต “เธอ....ใจดี”
เมื่อกินเสร็จและล้างมือเรียบร้อยแล้ว นิทัศน์เอ่ยขึ้นว่า “ที่นี่ลมพัดเย็น เรานั่งพักอยู่นาน ๆ ก็ได้ วันนี้ครูให้การบ้านนิดเดียว ฉันชอบนั่งที่นี่ดูแม่ค้าพายเรือผ่านไปมาในลำคลอง เขาทำมาหากินโดยสุจริต ไม่ได้ไปเที่ยวลักขโมยฉ้อโกงใครกิน คนเหล่านี้หาเลี้ยงชีวิตเหมือนกับครอบครัวของฉัน”
เขาชวนจันทาถอดเสื้อนอกออก นั่งเล่นให้สบาย วันนั้น จันทาสวมเสื้อชั้นในผ้าไหมสีนวลดูเฉิดฉายจนสะดุดตา นิทัศน์เอามือลูบคลำเสื้อไหมของสหาย
“นุ่มมือเหลือเกิน คงจะเป็นไหมอย่างที่หนึ่ง” นิทัศน์พูดด้วยความตื่นเต้น “จันทา, เธอเอามาจากต่างจังหวัดใช่ไหม”
จันทาพยักหน้า
“พ่อแม่เธอคงจะเป็นเศรษฐีอยู่ที่นั่น”
“ไม่ใช่หรอก” จันทารีบปฏิเสธอย่างงวยงง “นี่ของลุงฉันส่งมาให้ ฝากมากับพระครูใหญ่รูปหนึ่งที่ท่านเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ”
“ลุงของเธอคงจะเป็นคนร่ำรวย” นิทัศน์เดาต่อไป “ผ้าไหมอย่างนี้ราคาแพงมาก แม่รับผ้าไหมจากร้านใหญ่มาขาย แต่แม่ไม่เคยให้ฉันใส่เสื้อไหมเลย แม่เคยเอาไปเที่ยวออกขายตามบ้านพวกมีเงิน”
“ลุงของฉันไม่ใช่คนร่ำรวยหรอก ที่หมู่บ้านฉันทั้งหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งมีนับร้อยครัวเรือน ไม่มีคนร่ำรวยสักคนเดียว” จันทาชี้แจง “พี่น้องของฉันและพวกพ้องชาวบ้านของฉัน เป็นคนยากจนทั้งนั้น แต่ว่าเราก็มีเสื้อผ้าไหมสวมใส่กันแทบทุกคน”
นิทัศน์ทำตาโต แล้วก็ร้อง “อูว์” พร้อมกับโคลงหัว
“ฉันไม่เข้าใจเรื่องที่เธอพูดเลยจันทา, เธอว่าพวกพ้องของเธอเป็นคนยากจน แต่ทำไมถึงมีเสื้อผ้าผ้าไหมราคาแพงๆ ใส่กันแทบทุกคนเล่า”
“มันมีราคาแพงเมื่อมาถึงที่นี่ ฉันก็ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงแพง” จันทาอธิบาย “แต่ว่าที่บ้านฉันมันไม่มีราคาอะไรหรอกเธอ เพราะว่าเราต่างคนต่างก็ทำมันเอง แล้วเราก็สวมใส่มันเหมือนกับที่เราปลูกหอมกระเทียม แล้วเราก็กินหอมกระเทียมที่เราปลูก เราไม่ต้องไปซื้อหามาจากไหนหรอก”
“ประหลาดแท้” นิทัศน์เอื้อมมือไปลูบคลำเสื้อไหมของจันทาอีกครั้งหนึ่งด้วยความทึ่งและสนเท่ห์ระคนกัน “ผ้าไหมราคาแพงๆ นี่น่ะหรือ พวกพ้องของเธอได้ทำมันขึ้นเองด้วยมือของเขา”
จันทายิ้ม มีอาการงวยงงอยู่เหมือนกัน
“ฉันคิดว่าเธอรู้เรื่องความเป็นอยู่ของพวกชาวบ้านนอกดีแล้ว เพราะเธอเป็นเด็กในกรุงเทพฯ และมีโอกาสได้เล่าเรียนมาก”
นิทัศน์โคลงหัว
“ฉันไม่เคยรู้เรื่องเลย และพวกเพื่อน ๆ นักเรียนของเราก็คงไม่รู้เหมือนกัน แต่ทำไมเล่าเมื่อพวกเธอทำผ้าไหมราคาแพงๆ ได้เองเช่นนี้ จึงไม่ทำขายให้มากๆ จะได้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีกับเขาบ้าง”
“เราทำมาก ๆ ไม่ได้หรอก เพราะว่าเราจะต้องเอาเวลาไปปลูกข้าวสำหรับเก็บไว้กินในฤดูแล้ง แล้วก็ยังจะต้องทำไร่ ปลูกผัก เพื่อเอามากินกับข้าว แล้วก็ยังจะต้องไปเที่ยวช้อนกุ้งช้อนปลามากิน ไปเที่ยวหาฟืนในป่าติดไฟหุงต้มและกันหนาว แล้วยังจะต้องไปตักน้ำตามห้วยตามหนองมาไว้ใช้ในบ้าน เรามีงานหลายอย่างที่จะต้องทำเพื่อเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่งๆ”
นิทัศน์ไม่เข้าใจการดำเนินชีวิตเช่นที่จันทาเล่าให้เขาฟังเลย จินตนาการของเขาทอดไปไม่ถึง
“ทำไมพวกเธอไม่ทำไหมมาก ๆ แล้วก็เอาเงินที่ขายผ้าไหมได้ไปซื้อของกินและของใช้อื่น ๆ เหมือนอย่างที่คนในกรุงเทพฯ เขาทำกัน แล้วเธอก็เอาเงินที่เหลือจากการขายผ้าไหมราคาแพงเก็บสะสมไว้แล้ว พวกเธอก็อาจมั่งมีได้ในไม่ช้า” นิทัศน์พยายามวาดภาพที่เขาคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างง่ายๆ “หรือว่าการทำผ้าไหมเป็นงานยาก”
“มันไม่ยากหรอก มันก็เป็นงานธรรมดาเหมือนกับการปลูกข้าวทำไร่ ปลูกพืชผักฟักแฟงแตงกวานั่นแหละเธอ” จันทาพยายามที่จะอธิบายให้สหายของเขาเข้าใจ “แต่ว่ามันเป็นงานที่กินเวลากว่าจะได้ผ้าสักชิ้นหนึ่ง ผืนหนึ่ง เหมือนกับการปลูกข้าวเหมือนกัน และเราจะทำไหมมากๆ เพื่อนำไปขายให้ได้เงินมามากๆ อย่างที่เธอว่าก็ไม่ได้”
“ทำไมล่ะเธอ มีใครเขาห้ามไม่ให้ทำหรือ หรือว่าพวกเธอขี้เกียจจะทำมัน”
“พวกฉันไม่ได้ขี้เกียจหรอก มีทางจะทำอะไรกินได้พวกฉันก็จะทำทุกอย่าง และก็ไม่มีใครมาห้ามไม่ให้เราทำมาก ๆ เราทำมันมากๆ ไม่ได้เอง เธอรู้หรือยังว่าเราได้เส้นไหมมาจากไหน”
นิทัศน์ส่ายหน้าแทนคำตอบ
“เราได้เส้นไหมมาจากไหม” จันทาชี้แจง
“ตัวไหมจากไหน”
“เราจับผีเสื้อมาผสมพันธุ์กัน แล้วมันก็ออกไข่ แล้วเราก็จะได้ตัวไหม”
“ผีเสื้ออย่างเราเห็นนี่นะหรือ” เขาเงยหน้าขึ้นกวาดตาไปทางแปลงต้นไม้ด้านริมคลอง ซึ่งเหลืองอร่ามไปด้วยดอกน้อย ๆ ของทานตะวันหนู อันกำลังบานสะพรั่งและผีเสื้อสองสามตัวกำลังบินไหว ๆ อยู่ ในท่ามกลางสีเหลืองนั้น
“ผีเสื้ออย่างนั้นใช่ไหม”
เมื่อจันทารับคำ เขาก็ร้องขึ้นว่า “มันน่าเพลิดเพลินดีเหลือเกิน ที่เราจะเที่ยวไปตามสวนแล้วก็จับเอาตัวผีเสื้อมาเลี้ยงไว้ในบ้าน และในไม่ช้าไม่นานเราก็จะได้เสื้อผ้าไหม น้องฉันคงจะยินดีร่วมมือกับฉัน ออกไปเที่ยวจับผีเสื้อในวันอาทิตย์เป็นแน่”
จันทายิ้มอย่างเห็นใจ เขาแน่ใจแล้วว่าสหายของเขาไม่มีความรู้ในเรื่องการหาเลี้ยงชีวิต เช่นที่เขาได้ผจญมา ถึงแม้นิทัศน์จะเป็นเด็กที่ฉลาดกว่าเขาแทบทุกทาง
“มันมีเรื่องที่จะต้องทำมากกว่านั้น ก่อนที่เราจะได้เส้นไหมมา” จันทาอธิบายอย่างจริงจัง “เราจะต้องหาใบหม่อนมาให้ตัวไหมกิน เพราะฉะนั้นในการเลี้ยงตัวไหม เราจะต้องปลูกต้นหม่อน และก่อนจะปลูกต้นหม่อน เราก็จะต้องมีที่ดิน”
นิทัศน์ถอนหายใจ
“ฉันก็เลี้ยงตัวไหมไม่ได้ เพราะที่บ้านฉันไม่มีที่ดินเลย”
“เราทำผ้าไหมมาก ๆ ไม่ได้ ก็เพราะเรื่องที่ดินนี่แหละเธอ” จันทาอธิบายต่อไป “พวกพ้องในหมู่บ้านฉัน ต่างก็มีที่ดินกันคนละเล็กละน้อย ใช้ทำนาปลูกข้าวบ้าง ใช้ทำสวนหม่อนบ้าง ใช้ทำไร่ปลูกพืชผักบ้างก็พอจะเลี้ยงชีวิตไปปีหนึ่งๆ ตามประสายาก นอกจากที่ดิน ยังมีเรื่องน้ำอีก เราปลูกพืชมากๆ ไม่ได้เพราะขาดแคลนน้ำ”
“ทำไมเธอไม่ขุดท้องร่อง แล้วก็ใช้น้ำในท้องร่องรดต้นไม้ อย่างที่ชาวสวนที่นี่เขาทำกันดอกหรือ”
“ที่บ้านเมืองฉันน้ำท่าหาไม่ได้ง่าย ๆ เหมือนที่นี่ ที่โน่นเป็นที่ดอนต้องขุดลงไปลึกมากกว่าจะเจอน้ำ ถึงจะขุดลงไปลึก ๆ แล้วบางแห่งก็ได้น้ำไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้เราจะทำสวนทำไร่ใหญ่ ๆ ก็ติดขัด เราต้องใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ใช่แต่ในการเลี้ยงปลูกพืช แม้กระทั่งน้ำที่เราจะใช้อาบใช้กินบางทีก็ขาดแคลน”
นิทัศน์ฟังด้วยความพิศวงงงงวย เขารู้สึกว่าจันทามาจากบ้านเมืองที่ประหลาดมาก
“ก๊อกประปาอย่างแถวหน้าโรงเรียนของเรานี่นะ ไม่มีหรือเธอ”
“ที่ในเมืองก็ยังไม่มีเลย อย่าว่าแต่ที่หมู่บ้านฉัน”
“อืม์, ประหลาด!...” เด็กชายชาวกรุงถอนใจ “แล้วพวกเธอไม่รองน้ำฝนเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งกันบ้างหรือ”
“เราไม่มีโอ่งสำหรับเก็บน้ำฝน เราไม่มีเงินจะซื้อโอ่งไว้ใช้มากๆ”
“บ้านเมืองของเธอ เป็นบ้านเมืองที่แปลกประหลาดจริงๆ” นิทัศน์อุทานตาลุกโพลง “พวกที่บ้านเธอมัวไปทำอะไรกันเสียเล่า จึงไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อโอ่งไว้เก็บน้ำฝน”
“เราก็ทำงานหาเลี้ยงชีวิตนี่แหละเธอ เราทำกันสารพัดอย่าง สุดแต่จะช่วยให้ชีวิตอยู่ได้เพราะถ้าเราไม่ทำเราก็อดตาย เราทำงานกันทั้งผู้หญิงผู้ชายทั้งเด็กทั้งคนแก่ ในฤดูทำนาเราต้องออกไปทำนาถึงสิบสองชั่วโมง ต้องทำแต่ดึกจนถึงค่ำ พวกฉันจะกินข้าวก็ต้องปลูกมันขึ้นมา ไม่ใช่ไปซื้อข้าวสารตามร้านเจ๊กอย่างคนในกรุงเทพฯ จะกินกุ้งกินปูกินปลา ก็ต้องไปเที่ยวจับเที่ยวช้อนเอามาตามห้วยตามหนอง จะกินผักก็ต้องปลูกเอาเอง ไม่ใช่ไปซื้อที่ตลาด จะสูบยาก็ต้องปลูกต้นยา แล้วก็เก็บใบยามาบ่มมาซอยตากแดดทำเส้นยาสูบ แล้วเก็บใบตองแห้งมามวนสูบ จะกินเป็ดกินไก่ก็ต้องเลี้ยงเอาเอง จะใส่เสื้อผ้าไหมก็ต้องทำสวนหม่อนเลี้ยงตัวไหม แล้วเอาเส้นไหมมาทอเป็นผ้า จะปลูกบ้านช่องก็เข้าไปในป่า ตัดไม้เก็บหญ้าแฝกหญ้าคามาปลูกมาสร้างกันเอง”
จันทาหยุดเล่าชั่วขณะหนึ่ง เมื่อนึกเรื่องราวและถ้อยคำ ที่จะนำมาชี้แจงทำความกระจ่างให้แก่สหายของเขา ในขณะนั้นเด็กทั้งสองมีสีหน้าเคร่ง ฝ่ายหนึ่งพยายามจะให้ความเข้าใจ อีกฝ่ายหนึ่งพยายามจะรับความเข้าใจ ซึ่งเป็นงานหนักด้วยกันทั้งสองฝ่าย สีหน้าของนิทัศน์แสดงความทึ่งเป็นอันมาก เขาเป็นเด็กกระตือรือร้นในการที่จะเรียนรู้เรื่องราวของชีวิต
“ดูๆ ก็น่าสนุกเหมือนกันนะเธอ ที่เราทำอะไรๆ ของเราเองอย่างนั้น”
“เราทำไปตามความเคยชิน ฉันบอกไม่ถูกว่าสนุกหรือไม่สนุก เรารู้แต่ว่าเราจะต้องอยู่ไปอย่างนั้น จะต้องทำไปอย่างนั้นตลอดชาติ โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงก็มีแต่ว่า เด็กเช่นฉันก็ค่อย ๆ โตขึ้นมา พวกผู้ใหญ่ก็แก่เฒ่าแล้วก็ตายไป บางทีที่ดินของบางคนก็ถูกเจ้าหน้าที่ยึดเอาไป บางคนก็ต้องขายวัวขายควายเพราะไม่มีข้าวจะกิน” จันทาหยุดนึกครู่หนึ่งแล้วกล่าวไปว่า “ถ้าเราทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยเช่นที่เคยทำมา แต่บางปีฟ้าฝนไม่บันดาล หรือแม่พระคงคาโกรธขึ้งขึ้นมา ก็เกิดความอดอยากขึ้นในหมู่บ้านของเรา พวกฉันได้อาศัยแต่ต้นข้าวในท้องนาเท่านั้นเป็นที่พึ่งเลี้ยงชีวิต เมื่อนาล่มชีวิตของพวกฉันก็ล่มตามต้นข้าวในท้องนา.....ชีวิตของพวกฉันมันก็หมุนเวียนไปกับการหากินอยู่กับดินกับทราย กับห้วยกับหนองและป่า ปีใดถ้าฝนไม่บันดาล ผีสางเทวดาไม่ช่วย ก็ต้องอดอยากยากแค้น แล้วก็หาทางดิ้นรนกันต่อไป เป็นเช่นนี้แหละเธอ”
“อย่างนี้ไม่ใช่ของสนุกซิ” แววแห่งความตื่นเต้นบันเทิงใจ จางหายไปจากสีหน้าของนิทัศน์และมีแววแห่งความหวาดกังวลมาแทนที่ “แล้วพวกเธอจะทำอย่างไร เมื่อข้าวในนาตายหมด พวกเธอเอาเงินที่เก็บสะสมไว้ไปซื้อข้าวเจ๊กกินหรืออย่างไร”
“ตามธรรมดาพวกฉันไม่มีเงินจะเก็บสะสมกันหรอกเธอ พวกฉันไม่ค่อยจะมีเงินติดบ้านกันหรอก” จันทาเล่าต่อไป “พวกฉันปลูกข้าว ทำไร่ หรือเลี้ยงสัตว์ก็มีแต่เพียงกินกันไปปีหนึ่ง ๆ เท่านั้น เราจะทำให้มากไปกว่าที่ทำอยู่แล้วก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีที่ดินมากมาย เรามีที่ดินกันคนละเล็กละน้อย ทั้งน้ำก็อัตคัดและแรงจะทำก็ไม่มีมากไปกว่าที่ทำกันอยู่แล้ว การเลี้ยงชีวิตของพวกฉันจึงต้องอยู่ในวงจำกัดจะขยายต่อไปอีกไม่ได้ มีแต่ถูกบีบให้แคบเข้ามา ด้วยหนี้สินรัดรึงเพราะความจำเป็นที่ทำนาไม่ได้ในบางปี ตามธรรมดาในชีวิตของพวกฉันไม่ใคร่จะมีธุระเกี่ยวกับการใช้เงิน ที่หมู่บ้านของเราไม่มีตลาดซื้อของขายของต่าง ๆ อยู่ใกล้บ้านเหมือนที่กรุงเทพฯ นี่หรอก เพราะเราไม่มีอะไรจะซื้อจะขายกัน ที่หมู่บ้านของเรามีแต่เรื่องทำกินไปวัน ๆ ตลอดปีตลอดชาติ คือเราทำอะไรขึ้นมาก็เพื่อกินเพื่อใช้ของเราเอง แบ่งไปทำบุญบ้าง และเจือจานคนที่อดอยากบ้าง พวกฉันไม่มีอะไรจะขายและก็ไม่มีเงินจะซื้อ พวกฉันพยายามเก็บออมข้าวที่ปลูกได้ นำไปขายตามโรงสีบ้างเพื่อจะได้เงินสักเล็กน้อยสำหรับซื้อของจำเป็นที่พวกฉันเองทำไม่ได้ เช่น สมุดดินสอหรือผ้าห่มกันหนาว เมื่อถึงคราวนาล่มเกิดอดอยากกันขึ้น พวกฉันก็ต้องดิ้นรนกันไปตามแต่ใครจะมีหนทาง บางคนก็เข้าป่าเก็บของป่าเช่นหน่อไม้ เห็ด และชันไปแลกข้าว บางคนก็ไปเที่ยวขุดกลอยขุดมันมากินต่างข้าว หรือหุงปนไปกับข้าวที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย บางคนก็เดินทางไปไกล ๆ ไปเที่ยวรับจ้างเขาทำงาน บางคนก็ไปกู้ข้าวเขามากิน ถึงปีหน้าต้องเอาข้าวที่ทำได้ไปส่งดอกเขา ถ้าทำได้ไม่พอส่งดอกหรือเกิดแล้งนาล่มขึ้นอีก ต้องกู้ข้าวเขามากินอีก หนี้ข้าวทั้งต้นทั้งดอกก็เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ แล้วในที่สุดถึงต้องขายวัวขายควายใช้หนี้เขาไป หรือถูกยึดที่นาหรือต้องขายบ้านขายเรือนจนหมดเนื้อหมดตัวไปก็มี แล้วเขาก็กระเสือกกระสนหาทางเลี้ยงชีวิตของเขาต่อไป.....จนกว่าเขาจะตายไป ชีวิตของพวกฉันก็หมุนเวียนไปอย่างนี้แหละเธอ”
“เป็นชีวิตที่ระกำลำบากเหลือเกิน” นิทัศน์รำพันต่อท้ายด้วยสีหน้าและน้ำเสียงที่เห็นอกเห็นใจอย่างเต็มที่
“บางคราวก็ลำบากอยู่”
“แต่เธอพูดเหมือนกับว่าเป็นของธรรมดา”
“สำหรับพวกฉัน มันเป็นของธรรมดาจริงๆ” จันทาพูดเรื่อย ๆ และสีหน้าของเขาก็ไม่ปรากฏความรู้สึกอย่างไร “พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของพวกฉันอยู่กันมาอย่างนี้ พวกเด็กในหมู่บ้านฉันก็อยู่กันอย่างนี้ เป็นของธรรมดาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และพวกฉันก็ไม่คิดว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ชีวิตของพวกชาวนาอย่างพวกพ้องของฉันมันก็เป็นอย่างนี้แหละ จะดิ้นรนไปมันก็ไม่มีอะไรขึ้นมา พวกฉันจะไปตั้งหน้าตั้งตาทำผ้าไหมอยู่อย่างเดียวอย่างที่เธอบอกนะไม่ได้หรอก ถ้าพวกฉันไม่ปลูกข้าว ใครจะปลูกข้าวให้เรากิน พวกฉันจะเอาเงินไปซื้อข้าวจากใคร ถ้าพวกฉันไม่ปลูกมันขึ้นมา”
“ก็จริงนะเธอ” นิทัศน์ขมวดคิ้ว ทำหน้าตรึกตรองเหมือนกับจะพยายามขบปัญหาเรื่องนี้ให้แตกหักออกไป “แต่พวกเธอก็ลำบากเหลือเกินนี่นะ”
สีหน้าของจันทาคงปราศจากความรู้สึกเช่นเดิม ในขณะที่เขาพูดต่อไปว่า “บางปีก็เกิดโรคระบาดพร้อมๆ กันกับที่เกิดความอดอยาก ในปีเช่นนั้นออกจะร้ายหน่อย และแม่ฉันก็ได้ตายไปในปีที่เกิดโรคระบาด”
เขาหยุดชะงักไปหน่อยหนึ่ง และกิริยาของเขาดูอ่อนโยนยิ่งขึ้น เมื่อเอ่ยถึงแม่ว่า “แม่รักฉันมาก”