๑๕

ความผันแปรขึ้น ๆ ลง ๆ ของชีวิต ที่ผู้คนมักเรียกกันว่าโชคดีและโชคร้ายนั้น จันทาได้มาพบอย่างจังหน้า ในเรื่องราวของหม่อมหลวงอิทธิพรและเซ้ง เรื่องจำพวกนี้ แต่ก่อนมามันผ่านเขาไปเหมือนน้ำขึ้นน้ำลง เหมือนเรื่องเดือนขึ้นและตะวันตก เป็นเรื่องธรรมดาจำเจที่ไม่เคยสะดุดใจเขาเลย แต่ในบัดนี้มันไม่ได้ผ่านเขาไปอย่างปราศจากการนำพาของเขาเหมือนแต่ก่อน อย่างน้อยมันก็ไม่ได้ผ่านไปเช่นนั้นทั้งหมด มีบางเรื่องที่มันได้ทิ้งร่องรอยไว้ให้เขาเกิดความฉงนสนเท่ห์และมีบางเรื่องที่เขาสังเกตพิจารณามัน และได้นำมาเปรียบเทียบกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ แม้ว่าเขาจะยังไม่มีคำตอบที่แจ่มแจ้ง แต่เขาก็ได้พิจารณามันและสงสัยในท่าทีของมัน

การที่หม่อมหลวงอิทธิพรได้ถูกส่งไปเรียนในต่างประเทศนั้น เป็นที่ทราบกันในกลุ่มนักเรียนผู้ใกล้ชิดกับเขาว่า มิใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปตามแผนการที่บิดาของเขาได้วางไว้ และก็มิใช่เป็นเรื่องที่ท่านบิดาประสงค์บำเหน็จรางวัลคุณความดีอะไรของเขา หากเป็นเรื่องของการบังเอิญที่เขาสอบไล่ตก อิทธิพรได้แสดงให้ท่านบิดามารดาของเขาทราบว่า เขาเบื่อหน่ายที่จะเรียนต่อในชั้นเดิม ท่านบิดาผู้มั่งคั่ง และท่านมารดาผู้พะเน้าพะนอตามใจบุตร ซึ่งมีความคิดที่จะส่งบุตรไปเรียนในต่างประเทศอยู่แล้ว จึงได้ตกลงใจส่งเขาไปเรียนในประเทศเยอรมันเสียในต้นปีนั้น ตามคำขอร้องของบุตร เพื่อบำบัดความเบื่อหน่ายออก และความอายของเขาที่จะต้องเรียนซ้ำชั้นเดิม ในขณะที่พวกเพื่อน ๆ ได้ขึ้นไปเรียนชั้นมัธยมหกกันหมด แม้แต่นายจันทาเจ้าเด็กบ้านนอก ตามที่อิทธิพรบอกแก่มารดาของเขา ในที่สุดเมื่ออิทธิพรได้ออกไปเรียนในต่างประเทศสมประสงค์ของเขาแล้ว แทบทุกคนก็พากันลืมเรื่องการสอบตกของเขาเสียสิ้น และใคร ๆ ก็พูดถึงเขาด้วยความตื่นเต้นในโอกาสที่เขาได้รับ และพูดถึงความรุ่งโรจน์อันรอคอยเขาอยู่ในอนาคต ราวกับว่าเขาเป็นวีรบุรุษในหมู่นักเรียนรุ่นเดียวกับเขา เว้นแต่นิทัศน์ซึ่งได้พูดกับจันทาสองต่อสองว่าการไปนอกของอิทธิพรทำให้เขานึกถึงเซ้ง

คำปรารภของนิทัศน์กระทบใจจันทา เขาบอกแก่นิทัศน์ว่า เขาก็นึกถึงเซ้งเหมือนกัน เขาพูดว่า “ฉันเสียดายว่าเซ้งเป็นคนดีและเรียนหนังสือเก่ง แต่ไม่มีโอกาสจะได้เรียนจบ ส่วนหม่อมหลวงอิทธิพรเป็นคนเกียจคร้านสอบไล่ตก แต่กลับได้ไปเรียนต่อในต่างประเทศ”

“นี่แหละ ทำให้ฉันนึกถึงเซ้ง และฉันเห็นว่ามันไม่ยุติธรรมเลย” เด็กชายผู้ช่างคิดพูดอย่างจริงจัง ริมฝีปากของเขาเม้มแน่น “เซ้งควรจะได้ไปเรียนในต่างประเทศ และอิทธิพรควรจะกลับไปช่วยพ่อแม่ของเขาทำงานที่บ้าน ในเมื่อเขาไม่รักการเรียนหนังสือ และดูซิเธอเรื่องมันกลับตรงกันข้าม เด็กดีๆ อย่างเซ้งต้องออกจากโรงเรียนไปช่วยแม่ทำงาน แต่เด็กโง่ๆ อย่างอิทธิพรกลับได้ไปเรียนถึงเมืองนอก”

“เซ้งเป็นคนโชคร้าย” ในน้ำเสียงของจันทามีความรู้สึกหม่นหมองและมืดมน “เตี่ยของเขาตายและแม่ของเขาก็ไม่มีเงินให้เซ้งเรียนต่อ ส่วนหม่อมหลวงอิทธิพรเป็นคนโชคดี เขามีคุณพ่อคุณแม่เป็นคนใหญ่โตมั่งมีเงินทอง”

“โชคร้ายตกแก่คนดี และโชคดีถูกแก่คนโง่อวดหยิ่ง มันจะถูกต้องที่ตรงไหน ?” นิทัศน์สั่นหน้าไปมา

“ฉันก็คิดว่ามันออกจะไม่ถูกเหมือนกัน”

“มันจะต้องมีอะไรผิดอยู่สักอย่างหนึ่ง ที่เรายังไม่รู้ และครูยังไม่ได้สอนเรา” ในน้ำเสียงของนิทัศน์มีความรู้สึกดิ้นรน

จันทาไม่เคยคิดไปถึงเพียงนั้น เขาออกจะสวยงง

“มันจะต้องมีอะไรผิดอยู่ในเรื่องเช่นนี้เป็นแน่ เป็นต้นว่า เรายังไม่ได้เรียนเท่านั้น” นิทัศน์ทวนคำ เขายกสายตามองไปนอกหน้าต่างห้องเรียนสู่ความเวิ้งว้างของนภากาศอันแจ่มกระจ่าง เขาทั้งสองยืนอยู่ริมหน้าต่างห้องเรียน

“ถ้าครูไม่สอนเรา หรือครูก็ไม่รู้เหมือน....” จันทาพึมพำคล้ายพูดกับตัวเอง

“เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เราจะต้องค้นให้พบ” นิทัศน์พูดโดยไม่เคลื่อนไหวศีรษะ สายตาของเขายังแลทอดลึกเข้าไปในวิถีอันไกลโพ้น

บัดนี้ นิทัศน์ไม่อยู่ในจำพวกเด็กเหมือนเมื่อแรกพบกับจันทาแล้ว เขาสูงขึ้นมากแม้ว่าร่างกายจะยังคงบอบบางอยู่เช่นเดิม ท่าทีในการพูดจาของเขาหนักแน่น ถึงแม้เขาจะยังคงร่าเริงแจ่มใจในเวลาพักผ่อนเล่นหัว เขาไม่เงียบหงิมเหมือนเซ้ง สำหรับจันทานั้น แม้จะเติบโตเป็นเด็กหนุ่มเกือบเต็มที่ ทั้งไหล่กว้าง กับแผ่นอกที่แน่นหนาของเขาจะทำให้เขาดูราวกับชายหนุ่มผู้ใหญ่ใจดี แต่เขาก็ยังเกรงขามสติปัญญาและท่าทีจริงจังของนิทัศน์อยู่นั่นเอง การสนทนากับนิทัศน์ในเรื่องนี้ได้กระตุ้นให้จันทาเกิดสงสัยขึ้นว่า ความเป็นจริงของชีวิตที่มิตรของเขาได้ชี้ว่าปราศจากยุติธรรมเช่นนี้ละหรือ ที่เรียกกันว่าโชคดีและโชคร้ายซึ่งอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ?

แต่เดิม จันทามีความเชื่อตามที่ได้ยินมาจากพวกผู้หลักผู้ใหญ่ของเขาว่าคนดีมีปัญญานี้ จะต้องมาจากพวกเจ้านายพวกขุนนาง และพวกผู้ดีมีตระกูลทั้งนั้น คนชั้นต่ำ คนยากคนจน หรือคนบ้านนอกคอกนา อย่างพวกพ้องของเขานั้นมีแต่ความโง่เง่าเต่าตุ่นเป็นสันดาน ไม่มีวันจะเป็นคนที่มีปัญญาทำอะไรกับเขาได้ นอกจากจะกระเสือกกระสนหาเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่งๆ แต่การใช้ชีวิตสามปีในโรงเรียนเทเวศร์รังสฤษดิ์ ได้นำเขาไปพบความจริงบางอย่างที่ไม่ตรงกับความเชื่อดั้งเดิมของเขา เพราะเขาได้พบว่า ในหมู่เด็กที่มาจากทุ่งนาและห้องแถวน้ำครำ เด็ก ๆ จากครอบครัวสามัญชน ซึ่งได้มีโอกาสมานั่งเรียนร่วมกับเด็กลูกผู้ดีมีตระกูลนั้น ได้มีความเด่นและความแหลมคมทางปัญญาปรากฏออกมา เช่นเดียวกับที่ได้ปรากฏออกมาจากเด็กลูกผู้ดีเหมือนกัน ดังที่เขาได้พบสิ่งเหล่านี้จากเซ้ง นิทัศน์และเด็กอื่นๆ อีก เขาได้พบความจริงข้อนี้แม้กระทั่งในตัวเขาเอง ซึ่งได้ยังความประหลาดใจให้เขาไม่น้อย คุณวัชรินทร์ ‘เจ้านาย’ ของเขามีฐานะแตกต่างกับเขาราวฟ้ากับดิน แต่เมื่อพิจารณาถึงเรื่องระดับการเรียนแล้ว ระหว่างคุณวัชรินทร์กับตัวเขา หาได้มีความแตกต่างกันถึงปานนั้นไม่ ในสองปีแรกระดับการเรียนของเขาอยู่ข้างหลัง ‘เจ้านาย’ ของเขา แต่เขาก็ได้ติดตามมาทันกันในชั้นมัธยมหก เขาไม่ได้ตั้งใจเลยที่จะแข่งขันกับ ‘เจ้านาย’ ของเขา เขาเพียงแต่ตั้งใจจะแข่งและเอาชนะความรักของครูเท่านั้น จันทายังได้พบว่าไม่แต่การเรียน แม้แต่ในทางความรักความสรรเสริญที่ได้รับจากครูบาอาจารย์และเพื่อนนักเรียน เด็ก ๆ จากครอบครัวสามัญชน ก็สามารถจะเอาชนะได้ไม่หย่อนไปกว่าเด็ก ๆ ที่มาจากครอบครัวผู้ดี

ความเป็นจริงของชีวิตเหล่านี้ ได้ชี้แนะแก่จันทาว่า เมื่อเด็ก ๆ ได้ถูกปล่อยให้ลงมาสู่สนามแห่งการแข่งขันที่เขาได้รับโอกาสอันทัดเทียมกันแล้ว ปัญญาและความดีงามนานาประการก็อาจคลี่คลายออกมาได้จากเขาทุกคน โดยไม่จำกัดว่าเขาจะต้องมาจากที่ใด ข้อที่ว่าเด็ก ๆ ได้รับโอกาสอันทัดเทียมกันนั้น เมื่อจันทาได้สนทนากับนิทัศน์ถึงเรื่องนี้ภายหลังที่เรียนจบมัธยมหกแล้ว นิทัศน์ยังได้แสดงความเห็นกับเขาว่า เด็ก ๆ ที่มาจากครอบครัวสามัญชนนั้น ตามความเป็นจริงแล้วหาได้รับโอกาสอันทัดเทียมกันกับเด็ก ๆ ที่มาจากครอบครัวผู้ดีทุกด้านไม่ เพราะเด็กสามัญชนเมื่อกลับไปบ้านไม่ได้รับความสะดวกสบายในชีวิตเหมือนกับเด็กลูกผู้ดี เด็กสามัญชนเหล่านั้นแม้ว่าเขาจะปรารถนาเขาก็ไม่อาจจะใช้เวลาทางบ้านทั้งหมดเพื่อการเล่าเรียนได้ เขาต้องช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านไม่มากก็น้อย บางคนต้องช่วยพ่อแม่ทำงานเลี้ยงชีพ ซึ่งทำให้เขามีภาระหนักมาก และเพราะเหตุนั้นเด็กพวกนี้หลายคนจึงเรียนไม่ได้ดี ในส่วนเครื่องใช้ในการศึกษาและในการเล่นพักผ่อนบันเทิงใจเล่า ระหว่างเด็กทั้งสองนี้ก็มีความแตกต่างกันมาก พวกหนึ่งมีอุดมคติเหลือเฟือ อีกพวกหนึ่งมีอย่างจำกัด และในบางรายถึงแก่ขาดแคลน นิทัศน์บอกแก่จันทาว่า ปิ่นแก้วเคยไปเที่ยวที่วังท่านบิดาหม่อมเจ้าศุภมงคล วังท่านบิดาหม่อมราชวงศ์รุจิเรข และได้มาเล่าให้เขาฟังว่าที่วังทั้งสองแห่งนี้มีหนังสือดี ๆ เต็มตู้หลายตู้ อ่านจนตายก็ไม่หมด คุณพ่อปิ่นแก้วเองก็สะสมหนังสือไว้ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ก็ยังน้อยกว่าที่ปิ่นแก้วได้เห็นในวังทั้งสองนั้นมาก หม่อมเจ้าศุภมงคลได้อ่านหนังสือเหล่านั้น แต่หม่อมราชวงศ์รุจิเรขไม่แตะต้องเลย นิทัศน์ถอนใจเมื่อพูดกับจันทาว่า “ท่านพ่อของรุจิเรขสะสมหนังสือไว้มากมายก่ายกอง แต่บุตรชายของท่านไม่ต้องการอ่านมันเลย เซ้งกับฉันต้องการอ่านหนังสือเหลือเกิน แต่เราไม่มีหนังสือของเราที่จะอ่าน เราต้องไปเช่าเขาอ่านและเราจะเช่าบ่อยนักก็ไม่ได้ เพราะเราต้องเจียดจากค่าขนมไปเช่าหนังสือเขา และบางทีเราก็อยากกินขนม พ่อฉันมีหนังสืออยู่นิดหน่อยแต่ก็มีอยู่เพียงสองสามเล่มที่ฉันจะพออ่านได้”

จันทาไม่เคยคิดอย่างถี่ถ้วนถึงเรื่องเหล่านี้ แต่เมื่อนิทัศน์ได้เอ่ยขึ้น เขาก็เห็นว่ามันเป็นความจริงและความจริงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ความจริงจากชีวิตของเขาเอง และจากชีวิตของสหายร่วมห้องเรียนผู้เป็น “เจ้านาย” ของเขาเมื่ออยู่ที่บ้านเขามองเห็นได้ชัดทีเดียวว่า “เจ้านาย” ของเขากับตัวเขามีโอกาสและความสะดวกในการเรียนห่างไกลกันเพียงใด และเขาทราบดีว่ากว่าเขาจะผ่านการสอบไล่มาได้แต่ละปี ๆ นั้น เขาต้องรวบรวมเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ว่างจากการงานทางบ้านได้ยากเย็นเพียงไร

สำหรับการเรียนในชั้นมัธยมปีที่หกนั้น ทั้งวัชรินทร์และเขาสอบไล่ได้ด้วยกัน การเรียนอยู่ในเกณฑ์ปานกลางทัดเทียมกัน หม่อมราชวงศ์รุจิเรขสอบตก พอขึ้นปีใหม่บิดาก็ส่งเขาไปเรียนเมืองนอก อู๊ดสอบตกเหมือนกัน แต่เขาก็คงยังยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเช่นเดิม เขาพูดอยู่เสมอว่า เขาเป็นคนปัญญาทึบและไม่ถนัดในทางเล่าเรียน เขาชอบทำการค้าขาย ชอบไปโน่นมานี่และติดต่อกับผู้คน เขาเชื่อว่าเขาจะเลี้ยงชีวิตของเขาได้ดีในการค้าขาย แต่ไม่ใช่ด้วยการคิดคำตอบโจทก์เลขยาก ๆ หรือไวยากรณ์อังกฤษ ดังนั้นเขาจึงลาออกจากโรงเรียนในปีนั้นช่วยเตี่ยเขาทำการค้าขาย ศิริลักษณ์กับนิทัศน์มีสถิติการเรียนดีเด่นที่สุดในปีนั้น การเรียนของเขาคู่คี่กันมาและเขาทั้งสองก็รักษาระดับอันเลิศของเขาไว้ได้อย่างมั่นคง ไม่มีใครบอกได้ว่าในระหว่างเด็กทั้งสองนี้ใครเหนือกว่าใคร จากผลการสอบไล่ปรากฏว่าศิริลักษณ์ได้ที่หนึ่ง และนิทัศน์ได้ที่สอง จันทาและมิตรสนิทของนิทัศน์อีกสองสามคน ปรารถนาจะได้เห็นมิตรของเขาได้ที่หนึ่ง แต่เจ้าตัวเองไม่ได้แสดงความทะเยอทะยาน และตื่นเต้นในเรื่องตำแหน่งของการสอบเลย ปิ่นแก้วนำหน้าในลำดับถัดไป หม่อมเจ้าศุภมงคลอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เด็กจากครอบครัวสามัญสองคนซึ่งเคยตามหลังเขาได้กวดทันเขาขึ้นมาและข้ามหน้าเขาไปเล็กน้อย เทียนหมินตามหลังหม่อมเจ้าศุภมงคล ส่วนบุญครองสอบได้อย่างคาบเส้นหวุดหวิดจะหล่นตามรุจิเรขไปเหมือนกัน การเรียนของเขาถอยหลังลงทีละเล็กละน้อย เพราะเขาชอบสมาคมคบหากับเด็กที่มีนิสัยอ่อนแอ และตัวเขาเองก็แสดงความฝักใฝ่และพยายามลอกแบบชีวิตสำรวยของเด็กชั้นสูงขึ้น

และในที่สุด เวลาที่จันทากับนิทัศน์จะต้องจากกันก็ได้มาถึง เจ้าคุณอภิบาลราชธานีได้มีแผนการว่าจะส่งบุตรชายที่รักของท่านไปเรียนต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมหกแล้ว ท่านประสงค์จะให้บุตรชายได้ไปเรียนในโรงเรียนที่เรียกว่าปับลิคสกูลของเด็กชั้นสูงในอังกฤษสองสามปี เพื่อให้มีความชำนาญทางภาษา และขนบชีวิตของคนอังกฤษชั้นผู้ดี หลังจากนั้นจึงจะให้เข้าศึกษาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้กลับมารับราชการในกระทรวงมหาดไทยต่อไป เมื่อ “เจ้านาย” ของเขาได้ออกจากโรงเรียนในปีนั้นจันทาก็ได้ออกตามไปด้วย ความจริงท่านเจ้าคุณก็มีความเมตตาเขา เมื่อได้ทราบผลการเรียนของเขาจากบุตรชายของท่าน แต่ท่านคิดว่าการที่เขาได้เรียนจบชั้นมัธยมหกนั้น ก็นับว่ามากพอแล้วสำหรับฐานะของเขา ทั้งตัวพระอาจารย์ของจันทาเองก็ดูอยากจะให้ท่านเจ้าคุณสนับสนุนให้ลูกศิษย์ของท่านได้รับราชการเสียในขณะนี้ ท่านอาจารย์ได้พูดกับจันทาเมื่อเขาไปหาท่านว่า “กูปลื้มใจมากที่มึงเรียนได้ดีจนสอบไล่ได้ ไม่เสียทีที่กูได้เลี้ยงและสั่งสอนมึงมา เพื่อจะให้เป็นผู้เป็นคนกับเขาสักคนหนึ่ง ท่านเจ้าคุณจะให้มึงออกจากโรงเรียน และจัดการให้มึงเข้ารับราชการในกระทรวงของท่านนั้น กูก็เห็นว่าดีนักหนาแล้ว กูอยากจะเห็นถึงได้เข้ารับราชการเสียแต่เนิ่น ๆ เมื่อท่านเจ้าคุณยังมีบุญวาสนาอยู่ อ้ายโลกนี้มันไม่มีอะไรเที่ยงนะอ้ายจัน”

ส่วนตัวจันทาเองนั้นเขาไม่มีความคิดเห็นอะไรในเรื่องนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรออกมา เขาได้แต่ประนมมือรับคำแนะนำของท่านผู้มีอุปการะคุณแก่เขาเท่านั้น เขาสำนึกอยู่เสมอว่าการที่เขาได้มีโอกาสมาอยู่ในกรุงเทพและได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนชั้นผู้ดีจนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมหกนี้ ก็ด้วยความอุปถัมภ์ของท่านอาจารย์และท่านเจ้าคุณอภิบาลราชธานี หากว่าปราศจากการอุ้มชูของท่านอาจารย์แล้ว ป่านฉะนี้เขาก็จะต้องใช้ชีวิตอยู่กับโคลนตมและวัวควาย ปราศจากวิชาความรู้ใดๆ นอกจากความรู้ในการทำมาหากินไปวันหนึ่ง ๆ ตามที่ได้เรียนรู้มาจากการปฏิบัติของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และโลกที่เขารู้จักก็จะเป็นแต่โลกภายในกะลาครอบภายในเขตหมู่บ้าน และตำบลที่เขาอยู่เท่านั้น ท่านทั้งสองได้ชักนำให้เขาได้มาพบชีวิตใหม่อันมีความกว้างใหญ่ไพศาลอย่างปราศจากขอบเขต เหมือนหนึ่งตัวเขาได้ป่ายปีนขึ้นไปบนยอดเขาสูง แล้วก็ได้ทอดสายตาไปรอบ ๆ ตัวได้แลเห็นผืนแผ่นดินอันไพศาลสุดสายตา อาศัยวิชาความรู้และความจัดเจนของชีวิตที่เขาได้รับมา เขาก็พอจะเดินทางต่อไปได้และต่อไปภายหน้าเขาก็คงจะได้ทราบว่ามีอะไรอยู่บ้าง บนผืนแผ่นดินที่แลเห็นอยู่ลิบ ๆ โน้น โชคชะตาแห่งชีวิตของเขาได้ถูกปั้นขึ้นมาด้วยมือของท่านทั้งสอง เขาจึงมีความสำนึกในพระคุณของท่านอย่างล้นพ้น และเขาก็เต็มใจจะมอบโชคชะตาของเขา ให้ท่านทั้งสองเป็นผู้ลิขิตให้เขาเดินต่อไป เพราะว่าโดยที่แท้แล้วเขาก็ไม่อาจจะเลือกเอาเองได้

เมื่อท่านอาจารย์ และท่านเจ้าคุณได้เลือกหนทางให้เขาอย่างไร เขาก็รับเอาหนทางนั้นไว้ด้วยความเคารพสำนึกในพระคุณของท่านอย่างมิรู้ลืม ในวันที่ท่านเจ้าคุณเรียกเขาไปพบและบอกแก่เขาว่าท่านจะจัดแจงให้เขาได้รับราชการเป็นเสมียนในกระทรวงของท่านในต้นปีหน้านั้น เขารู้สึกขนลุกซ่าไปทั้งตัว เมื่อเขาเขียนจดหมายส่งข่าวไปยังบิดาของเขา เขาได้กล่าวความรู้สึกตอนนี้ลงไปว่า “ในขณะที่ผมขนลุกไปทั้งตัวนั้น ผมรู้สึกเหมือนกับตัวมันลอยลิ่วขึ้นไปบนสวรรค์” เมื่อเขาก้มลงกราบแทบเท้าท่านเจ้าคุณแล้วก็เงยหน้าขึ้นมานั้น เขารู้สึกนัยน์ตาของเขาพร่าพราวไปด้วยหยาดน้ำตา ท่านเจ้าคุณได้เอื้อมมือมาแตะศีรษะเขาและตบเบาๆ สองสามที ทันใดนั้นเขารู้สึกว่าความเมตตากรุณาของท่านได้แล่นซาบซ่านไปทั่วทุกขุมขน

ในตอนค่ำวันนั้นจันทาได้ย่องเข้าไปหาแม่สายที่ในห้อง ออกปากขอธูปเทียนจากแม่สายมาคู่หนึ่ง แม่สายได้มอบธูปเทียนให้เขาไป แต่ก็อดจะพิศวงเพราะไม่เคยเห็นเขาใช้ธูปเทียน จันทามีเครื่องพระและตะกรุดร้อยด้ายแขวนอยู่ที่คอเป็นประจำ และในห้องของเขามีพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ตั้งอยู่บนหิ้งซึ่งเขากราบไหว้อยู่เป็นนิจ นาน ๆ ครั้งหนึ่งเขาจึงเก็บดอกไม้บูชาและไม่ใช้ธูปเทียนเพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องซื้อหา

เมื่อตอนเย็น จันทาได้ดอกบัวหลวงมาจากสระสองดอก เขาไม่ได้เก็บมาเองและเขาก็ไม่กล้าไปออกปากขอจากคุณลมัยเพราะเกรงจะได้รับคำปฏิเสธ ปรางเป็นคนจัดแจงนำมาให้เขา ในคืนวันนั้นจันทาได้นำดอกบัวและธูปเทียนไปตั้งที่หิ้งพระ แต่คำสวดของเขาเป็นคำส่งความระลึกถึงไปยังแม่ของเขา ซึ่งเขาคิดว่าถ้าสวรรค์มีจริง แม่ของเขาน่าจะได้ไปเกิดเป็นชาวนาอยู่บนสวรรค์ และคงจะไม่ได้รับความระกำลำบากเหมือนชาวนาที่หมู่บ้านของเขาเป็นแน่ เขาได้สวดขอความกรุณาปรานีจากพระพุทธองค์ ได้ส่งข่าวที่เขาจะได้เป็น “ข้าราชการ” ไปยังแม่ของเขา เขาปรารถนาจะให้แม่ได้ทราบข่าวอันน่าอัศจรรย์นี้ ซึ่งคงทำให้แม่ปลาบปลื้มจนน้ำตาไหล เขาล้มลงนอนด้วยความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจอาบรดอยู่ทั่วตัวในคืนวันนั้น เขานอนลืมตาโพลงอยู่จนดึก ความคิดคำนึงถึงเรื่องที่เขาจะได้รับราชการในกระทรวงของท่านเจ้าคุณได้มาถ่างตาเขาไว้ มันเป็นความอัศจรรย์ที่ไม่เคยอุบัติขึ้นในชีวิตเด็กบ้านนอก ในหมู่บ้านที่แร้นแค้นกันดารของพ่อแม่มาแต่ก่อน

จันทาไม่ได้เปิดเผยข่าวเรื่องนี้แก่ผู้ใดเลย แม้แต่ครอบครัวนายแจ้ง ซึ่งสนิทชิดชอบกับเขาอย่างยิ่ง เขากระดากอายที่จะให้ข่าวเรื่องนี้ออกจากปากของเขาเอง เขายังรู้สึกเหมือนกับว่ามันเป็นเรื่องความฝันมากกว่าความจริง แต่อีกสองสามวันต่อมา ข่าวเรื่องนี้ก็แพร่ออกมาจากบนตึก โดยวัชรินทร์เป็นผู้นำออกเผยแพร่ด้วยความยินดีต่อสหายร่วมชั้นของเขา เมื่อวัชรินทร์พูดถึงจันทาอย่างฉันเพื่อนนักเรียน คุณลมัยได้เตือนเขาว่า “เจ้าจันมันเป็นบ่าวของคุณ” วัชรินทร์ไม่ได้โต้เถียงคุณลมัยเพียงแต่พูดว่า “จันทาเขาก็เรียนหนังสือได้เท่าฉันเหมือนกันนะ” คุณลมัยทำท่าค้อนควัก แล้ว บ่นออกมาด้วยเสียงกระแทกกระทั้นว่า “นี่แหละโทษที่ส่งมันไปเข้าโรงเรียนดี ๆ มันจึงทะลึ่งมาเทียบไหล่เจ้านายเขา”

บ่าวจำพวกหนึ่งรู้สึกโล่งใจเมื่อทราบในชั้นต้นว่า ท่านเจ้าคุณจะเอาจันทาออกจากโรงเรียน พร้อมกับคุณวัชรินทร์ แต่บ่าวนั้นก็กลับหงุดหงิดใจขึ้นมาอีก เมื่อทราบข่าวว่าท่านเจ้าคุณจะสนับสนุนให้ “อ้ายเด็กบ้านนอก” เข้ารับราชการในกระทรวงของท่าน วันหนึ่งขณะที่แม่ครัวกำลังควงตะหลิวอยู่หน้าเตาไฟ เหงื่อเป็นเม็ดๆผุดขึ้นมาตามหน้าผากและบนริมฝีปาก แกได้ระเบิดออกมาว่า “ถ้าขืนมาทำโตกับแม่ละ เป็นโดนตะหลิวสับหน้าเทียวมึง” ลูกชายของแม่ครัวซึ่งกำลังเข้ามาป่วนเปี้ยนหาอะไรกินอยู่ในครัวถึงแก่สะดุ้ง ร้องถามว่า “แม่ว่าฉันหรือใคร ?” แม่ครัวตอบว่า “จะว่ามึงเอาแก้ว อะไร มึงมาทำโตได้ยังไง มึงเป็นข้าราชการกับเขารึ ?” พูดแล้วแม่ครัวก็เอามือเท้าสะเอว เงยหน้ามองออกไป ทางหน้าต่างห้องครัว ลูกชายแลตามไป ก็เห็นนายเบี้ยวคนทำสวนยืนคุยอยู่กับจันทาใต้ต้นมะม่วง ซึ่งอยู่ในระยะที่พอจะได้ยินเสียงคำรามของแม่ของเขา เจ้าลูกชายก็ยิ้มพรายแล้วลงมือค้นหาของกินต่อไป ลูกชายของแม่ครัวเป็นเด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับจันทา แต่ได้เลิกเรียนหนังสือมาสี่ปีแล้ว เขาพอใจที่จะได้เป็นบ่าวอยู่ในบ้านของท่านขุนนางซึ่งทำให้เขาไม่ต้องห่วงใยในเรื่องการอยู่การกิน เขาใช้ปัญญาที่มีอยู่ในทางหลบหลีกการงานในบ้านแล้วออกไปเที่ยวเล่นการพนันหยอดหลุมบ้อหุ้น และเที่ยวหาความสุขไปในที่ต่าง ๆ โดยขอหรือไม่ก็ขโมยสตางค์จากแม่ เขาพอใจชีวิตที่มีแต่ความสนุกสนานไปวันหนึ่ง ๆ และไม่เคยคำนึงถึงอนาคต แม่ครัวไม่สู้จะพอใจการดำเนินชีวิตของลูกชายนัก เพราะแกหวังเอาเป็นที่พึ่งในยามแก่เฒ่าได้ยาก แต่แกก็ไม่มีปัญญาจะแก้ไข หรือสั่งสอนเจ้าลูกชายให้เป็นคนดีได้อย่างไร เพราะตัวแกเองก็ต้องการแก้ไขสั่งสอนอยู่เป็นอันมาก แม่ครัวเป็นบุคคลจำพวกแม่ปู การที่แม่ปูจะสั่งสอนลูกปูให้เดินตรง ๆ นั้นยากที่จะสำเร็จ เพราะแบบอย่างการเดินของแม่ปูนั้นมันก็คดไปคดมาอยู่แล้ว

นายแจ้งกับแม่สาย รวมทั้งนายเบี้ยวคนสวน ต้อนรับข่าวที่จันทาจะเข้ารับราชการด้วยความปรีดาปราโมทย์ คนเหล่านี้เห็นว่าการได้รับราชการนั้นนับว่าเป็นมหาสิริมงคล การเรียนต่อไปจนจบชั้นสูงสุดไม่มีความหมายเลย เมื่อเทียบกับการเข้ารับราชการ โดยมีเจ้าคุณเป็นเจ้านายเป็นผู้สนับสนุน แม่สายรับขวัญจันทาว่า “พ่อหลานชาย ได้เป็นเจ้าคนนายคนก็อย่าลืมป้าเสียนะ” ครั้นนายแจ้งบ่นถึงเรื่องที่มีคนอิจฉาตาร้อนจันทา แม่สายก็ส่งเสียงแปร๋นออกมาว่า “มันหนักกระบาลหัวใครกันล่ะ ที่เจ้าจันจะได้เป็นข้าราชการนี่น่ะ?” จันทาเองก็ตอบปัญหาข้อนี้ไม่ได้เหมือนกัน

ปรางก็ตื่นเต้นกับข่าวเรื่องนี้ไม่น้อย แต่ไม่กล้าที่จะแสดงออกมาโดยเปิดเผย เพราะเจ้าตัวสังเกตว่าจะเป็นที่ขวางนัยน์ตาของคุณลมัย เมื่อปรางกับจันทาได้พบกันในวันหนึ่ง จันทาได้บอกแก่ปรางว่า เขาไม่เคยนุ่งผ้าโจงกระเบนเลยตั้งแต่เกิดมา และเขาจะนุ่งมันอย่างไร

“อีกสองสามวันฉันจะต้องนุ่งผ้าแต่งตัวแบบข้าราชการไปให้ท่านอาจารย์รดน้ำมนต์”

ปรางอวดว่าหล่อนชำนาญในการนุ่งผ้า เพราะได้เคยช่วยคุณลมัยอยู่เสมอ

“ฉันอยากจะแอบไปนุ่งผ้าให้พี่จัน” ปรางหลุดปากออกมา แล้วทำท่าสะเทิ้นอายอย่างหญิงสาว “แต่มันจะไม่ดีนะพี่จัน เพราะเดี๋ยวนี้ฉันก็โตเป็นสาวแล้ว”

เวลานั้น “ปราง” ช้างพังเผือกจากชนบทกำลังอยู่ในวัยสิบกว่าปี จันทาไม่เคยนึกถึงความเป็นสาวของปรางมาก่อนเลย เมื่อเขาได้ยินคำนี้เข้าก็พิศดูรูปโฉมของสหายหญิงจากบ้านนอกแวบหนึ่ง เขาเห็นร่างนั้นอยู่ในวัยกำดัดเปล่งปลั่ง และมีความสวยงามทัดเทียม สาวชาวกรุงทีเดียว แต่เขาสงสัยว่าปรางจะวางตนเป็นหญิงสาวเร็วไปหน่อย ก่อนจะแยกจากกันปรางสัญญาว่าจะให้ผ้าเช็ดหน้าปักชื่อจันทาแก่เขาผืนหนึ่ง

ในวันไปหาพระอาจารย์ของเขานั้น แม่สายเป็นคนนุ่งผ้าให้ นายแจ้งช่วยจัดกลีบ ท่านเจ้าคุณให้ผ้าผืนสีน้ำเงินสองผืน และตัดเสื้อนอกผ้าลายสองให้สองตัว วัชรินทร์อยากจะให้เสื้อนอกแพรของเขาที่ยังค่อนข้างใหม่ แต่จันทาใส่เสื้อนอกของวัชรินทร์ไม่ได้ เขาจึงได้รับเข็มขัดหนังจระเข้จาก “เจ้านาย” ของเขา ลุงส่งผ้าไหมที่เพิ่งจะออกจากเครื่องทอ มาให้เขาตัดเสื้อนอกตัวหนึ่ง ในวันแรกที่เขานุ่งผ้าโจงกระเบนสวมเสื้อนอกผ้าลายสองตัวใหม่เอี่ยมนั้น เขารู้สึกตื่นเต้นงวยงงอย่างบอกไม่ถูก และรู้สึกหัวใจเบ่งบานจนแทบจะปริออกมา เมื่อพระอาจารย์ทำพิธีรดน้ำมนต์ให้เขาเสร็จแล้ว ท่านได้พูดกับเขาว่า “มึงจงอุตสาหะรับราชการให้จงดี ต่อไปภายหน้าอ้ายลูกบ้านโนนดินแดงจะได้เป็นขุนนางกับเขาสักคน พวกพี่น้องของพ่อแม่มึงเขาคงจะปลื้มใจกันนักหนา ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายของมึงจนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มีใครเคยพบเคยเห็น และยังไม่มีใครเคยนึกฝัน”

จันทาได้ให้คำปฏิญาณแก่ท่านอาจารย์ จะตั้งหน้ารับราชการด้วยความอุตสาหะ ออกจากวัดเขาได้กราบขอพรครู “ท่านขุน” สั่งว่าให้เขาไปมาหาสู่ท่านเหมือนเช่นเคย ถ้าทำราชการติดขัดอะไรก็ให้มาปรึกษาหารือท่าน เขาไม่ได้ไปเยี่ยมครอบครัวนิทัศน์ในวันนั้น เพราะเขากระดากที่จะไปพบสหายของเขาด้วยเครื่องแต่งกายที่ภูมิฐานเป็นผู้ใหญ่

จันทาได้พบกับนิทัศน์ในวันหลัง และเมื่อได้เล่าเรื่องให้มิตรฟังแล้ว นิทัศน์ได้แสดงความยินดีกับเขา แต่มิใช่เป็นความยินดีอันสมบูรณ์ เพราะนิทัศน์ได้แสดงความเสียดาย ที่จันทาจะไม่ได้เรียนกับเขาไปจนจบชั้นสูงสุด

“ถ้าเราเลือกได้ ฉันอยากได้เห็นเธอเรียนต่อไปจนจบชั้นมัธยมแปด” เขาพูดอย่างเคร่งขรึม เขาเป็นคนเดียวที่พูดกับจันทาเช่นนี้ “ฉันอยากเห็นเธอมีวิชามากกว่านี้ แต่ก็จนใจนะเธอเพราะเราเลือกไม่ได้”

จันทาไม่ได้ตอบคำของสหาย เพราะนิทัศน์ได้ตอบมันเสียเองแล้ว เขาได้เอ่ยขึ้นด้วยเสียงค่อนข้างเบา แต่มีความตื่นเต้นระคนอยู่ “ฉันจะได้รับเงินเดือนด้วยเธอ นับแต่นี้ไปฉันจะมีเงินที่ฉันหาได้เอง”

“โอเธอจะได้เป็นคนที่มีประโยชน์” นัยน์ตาของนิทัศน์ลุกโพลง ในขณะที่ดวงตาของจันทาวาววาม “ฉันเคยนึกอยากจะมีเงินเดือนกับเขาเหมือนกัน เมื่อเห็นแม่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมาก ฉันอยากทำงานเพื่อเอาเงินมาให้แม่ แล้วแม่จะได้มีเวลาพักผ่อนบ้าง เธอจะทำอย่างไรกับเงินเดือนของเธอ”

“ฉันยังไม่ได้คิด” นัยน์ตาของจันทายังคงวาววามอยู่ และเขาได้พูดต่อไปด้วยกิริยากระดากกระเดื่องว่า “ฉันคงจะใช้เงินซื้อของที่เธอชอบมาให้เธอบ้าง แล้วฉันก็จะรับเธอไปดูหนังและกินขนมด้วยกัน”

เด็กทั้งสองมองดูหน้ากัน แล้วก็เข้าโอบไหล่กันด้วยความรักใคร่ แม้ว่าเด็กทั้งสองจะได้เคยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นเรื่องจริงจังต่อกัน แต่เมื่อพูดถึงเรื่องขนมแล้ว เขาก็ผ่านเรื่องจริงจังไปได้ชั่วคราว เขาสนทนากันถึงเรื่องการไปกินขนมที่หน้าโรงหนังสิงคโปร์ ซึ่งนิทัศน์เคยพาจันทาไปเที่ยวครั้งหนึ่ง

กลับจากเยี่ยมนิทัศน์ในวันนั้น จันทาคิดคำนึงถึงขาเป็ดที่เขาเคยกินกับแตน เขาคิดจะชวนเจ้าแตนไปนั่งกินขาเป็ดกับเขาข้างหาบเจี๊ยะโป ในวันงานภูเขาทองให้เต็มภาคภูมิสักครั้งหนึ่ง แต่เจ้าแตนเพื่อนของเขาก็เตลิดหายหัวไปจากวัดเสียแล้ว และเขาเสียดายนักที่ไม่รู้ว่าจะไปติดตามเพื่อนเก่าได้ที่ไหน เขารู้สึกเป็นสุขอย่างที่สุด เมื่อเขาคิดคำนึงว่าจะได้มีโอกาสกินขาเป็ดด้วยเงินที่เขาหามาได้เองโดยสุจริต ไม่ใช่กินขาเป็ดที่เจ้าเพื่อนยากได้ขโมยเขามาในสมัยเป็นเด็กวัดด้วยกัน

จบภาคปฐมวัย

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ