๑๔

การโจษจันถึงเรื่องเด็กบ้านนอก ซึ่งมาจากภาคที่ล้าหลังกันดารที่สุดของสยาม ได้ชกหม่อมราชวงศ์รุจิเรข นักกีฬาผู้มีชื่อเสียงของโรงเรียนล้มลงแน่นิ่งไปได้ดำเนินมาอีกสามสี่วันก็สงบลง แม้ว่าเหตุการณ์เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นกันมากในหมู่นักเรียนก็จริง แต่ก็มีเวลาจะต้องจบลง ไม่มีเรื่องที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นชนิดใดที่เด็ก หรือผู้ใหญ่จะพูดกันโดยไม่รู้จบสิ้น สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไปตามธรรมชาติของมัน ความใหม่กลายเป็นความเก่า แล้วก็ย่างเข้าสู่ความเสื่อมโทรมสลายไป สิ่งทั้งหลายย่อมเปลี่ยนไปทุกวัน มีเหตุการณ์ใหม่และเรื่องที่ชักจูงความสนใจของเด็กเกิดติดตามทยอยกันมาไม่ขาดสาย เรื่องเก่าจึงจำเป็นต้องจบลง เพื่อให้ที่ทางแก่เรื่องใหม่

แม้ว่าการกล่าวขวัญถึงเรื่องของจันทา จะได้สงบลงในสามสี่วันต่อมา และใคร ๆ ก็อาจจะคิดว่าเขามิได้สนใจกับมันอีกต่อไปแล้วนั้น แต่ความจริงจันทายังเก็บความระทมและความว้าเหว่ไว้ภายในใจอย่างเงียบ ๆ ต่อมาอีก เขารู้สึกหวาดหวั่นเมื่อเดินไปส่งสมุดที่โต๊ะครู และเมื่อครูเงยหน้าจากโต๊ะขึ้นสบตาเขาโดยมิได้พูดจาแก่เขาเลย เขาก็คิดว่าในเวลานั้นครูคงจะนึกถึงเขาว่าเป็นเด็กที่ต่ำช้าน่าชังที่สุดของโรงเรียน และไม่มีวันที่ครูจะให้ความรักและความไว้วางใจแก่เขาได้อีกต่อไป เมื่อคิดไปเช่นนั้นมันก็ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดอย่างเหลือที่จะทานทน เขาครุ่นคิดอยู่เสมอที่จะหาทางให้ครูเข้าใจถึงความรู้สึกอันอ่อนไหว และความเจ็บปวดของเขาที่ไม่สามารถจะเป็นเด็กดีในสายตาของครูผู้เป็นที่รักและเคารพ จะรู้สึกอึดอัดใจขึ้นทุกวันเมื่อเขายังหาทางออกไม่ได้ เขาเริ่มสงสัยว่าความอึดอัดใจและความจนปัญญาหาทางออกจากความอึดอัดใจไม่ได้เช่นนี้กระมัง ที่ได้ผลักไสให้คนเราหันเข้าหาการทำลายชีวิตตนเอง แต่ในส่วนตัวเขาจะไม่มีวันกระทำเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด ความยากลำบากอย่างแสบเผ็ดสาหัสที่เขาได้ผจญมาในหมู่บ้านชนบทของเขา รวมทั้งการผจญชีวิตอดอยากปากแห้งของเด็กวัดมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้เขามีความมั่นใจว่า ไม่มีความยากลำบากใด ๆ อีกแล้วในชีวิตที่เขาจะทนมันไม่ได้

เมื่อเหตุการณ์ที่ก่อความกระเทือนใจอย่างแรงได้ผ่านไปแล้วราวสองสัปดาห์ และในขณะที่เขายังคิดหาทางบำบัดความระทมใจของเขาอยู่นั้น ในตอนเลิกเรียนวันเสาร์ท่านขุนวิบูลวรรณวิทย์ได้เรียกจันทากับนิทัศน์ไปหา และบอกกับเด็กทั้งสองว่าท่านขุนเชิญไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านในวันอาทิตย์ ครูพูดสั้น ๆ แต่ด้วยดวงหน้าและน้ำเสียงอันแสดงความกรุณาปรานี เมื่อเด็กทั้งสองรับเชิญแล้วครูก็บอกให้กลับได้ การเชิญเด็กนักเรียนไปสนทนาวิสาสะที่บ้านนั้น ไม่ใช่พฤติการณ์ใหม่ของท่านขุน ครูเคยปฏิบัติมาแล้วแก่นักเรียนรุ่นก่อน ๆ ก่อนโรงเรียนปิดเทอมปลาย ครูเชิญนักเรียนทั้งหมดไปพักผ่อนเลี้ยงดูที่บ้านในวันขึ้นปีใหม่ และในระหว่างปีครูมักจะเชิญนักเรียนที่หมั่นเรียน และมีความประพฤติดีเด่นไปรับประทานอาหารที่บ้าน และให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นการให้เกียรติและสนับสนุนให้เด็กเหล่านั้นมั่นคงในการทำดียิ่งขึ้น ในปีนี้นิทัศน์ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนที่เรียนดีเด่น ก็ได้รับเชิญไปบ้านครูมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปิดการศึกษาในเทอมต้น ส่วนที่จันทาได้รับเชิญจากครูครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ตัวเขาเองไม่ได้คาดหมาย และนิทัศน์หาคำตอบที่น่าพอใจเพื่ออธิบายเงื่อนงำของการเชิญไม่ได้ จันทารู้สึกอยู่เสมอว่า เขาไม่ได้มีความดีเด่นอะไรในตัวสักอย่างเดียวอันสมควรที่ครูจะให้เกียรติแก่เขา เช่นนิทัศน์และเด็กบางคนเคยได้รับจากครูมาแล้ว แน่ละจันทาทั้งตื่นเต้นและยินดีอย่างล้นพ้น แต่ก็เป็นความตื่นเต้นยินดีที่ลุกโพลงขึ้นมาจากความงวยงงและความไม่มั่นใจว่ามันจะหมายถึงอะไรกันแน่

บ้านครูตั้งอยู่ในสวนอันมีอาณาเขตไพศาล มีเจ้าของครอบครองหลายสกุล ในชั้นเดิมที่ดินในท้องที่นั้นเป็นแต่ที่นาและสวนทั้งสิ้น และผู้คนที่อาศัยอยู่ในท้องที่นั้นก็ล้วนแต่ชาวนาและชาวสวน แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการสร้างทางหลวงตัดผ่านไปในที่นาเหล่านั้น ทำให้ที่นาสองฟากถนนมีราคาสูงขึ้น และได้มีผู้มีทุนรอนมาขอซื้อที่นาริมถนนใหญ่เพื่อปลูกห้องแถวให้เช่าทำการค้าขาย พวกชาวนาเห็นว่าได้ราคาดีอย่างไม่คาดหมายก็ตัดแบ่งที่ดินขายให้ไปถัดจากห้องแถวร้านค้า ต่อมาก็มีชาวนาครผู้มั่งคั่งมาซื้อที่ดินแถบนั้น ปลูกคฤหาสน์เป็นที่อยู่อันผาสุกบ้าง และซื้อที่ดินทิ้งไว้เฉย ๆ บ้าง ชุมนุมชนชาวนาชาวสวนแถบนั้น ก็ได้ประสบความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ชีวิตของเขาดูคึกคักขึ้น ในเวลาที่นิทัศน์และจันทาเดินไปเยี่ยมบ้านครูนั้น ได้มีถนนซอยเป็นถนนอิฐสั้น ๆ ตัดผ่านที่นาเข้าไปและไปจบลงที่เขตชายสวน แต่ก่อนจะไปถึงบ้านและเขตสวนที่เป็นของสกุลของครู เด็กทั้งสองจะต้องเดินผ่านสวนของผู้อื่นกินเวลาราวสิบนาที เมื่อคืนวันเสาร์ฝนตกหนักเพราะฉะนั้นพอย่างเข้าเขตสวน เขาก็ต้องถอดรองเท้าเดินไปตามทางเดินเล็ก ๆ ที่เปียกแฉะและลื่น ในบางตอนต้องข้ามคูซึ่งใช้ต้นหมากเป็นสะพานและมีราวไม้เล็ก ๆ ที่ทานน้ำหนักไม่ได้ ในหน้าแล้งการข้ามด้วยสะพานท่อนไม้กลมเป็นเรื่องพอทำเนา แต่ในฤดูฝนท่อนไม้ลื่นไปด้วยโคลน การข้ามสะพานจึงต้องการศิลปในการทรงตัวอยู่มาก เขาทั้งสองผ่านสวนมะพร้าวและสวนฝรั่งที่มีลูก จันทาชี้ชวนให้สหายของเขาชมด้วยความบันเทิงใจ แต่นิทัศน์มีโอกาสน้อยที่จะบันเทิงใจด้วยการชมสวน เขาต้องใช้ความสนใจแทบทั้งหมดไปในการทรงตัวให้กลมกลืนกันกับความลื่นของทางเดินและสะพานต้นหมาก เขามีความหวังอย่างเลือนลางว่าจะไปถึงบ้านครูโดยไม่ต้องลื่นล้มลงไปคลุกโคลน หรือลงไปแช่น้ำอยู่ในคู่ได้หรือไม่ ถึงกระนั้นก็มีความหวังอย่างเลือนลางของเขาก็หวุดหวิดจะสูญสิ้นไป หากจันทาไม่ฉวยแขนเขาไว้ได้ทัน เมื่อเขาเสียหลักตอนก้าวลงจากสะพานไม้กลมสะพานที่สอง จนกระทั่งรองเท้ากระเด็นหลุดจากมือลงไปคลุกโคลนอยู่ข้างหนึ่ง

เมื่อนิทัศน์ตั้งหลักได้แล้ว จันทาได้เอ่ยขึ้นว่า “ฉันสังเกตว่าเธอยังไม่คุ้นกับการเดินบนทางที่เปียกแฉะ การมาบ้านครูในฤดูฝนคงจะทำให้เธอท้อใจและเบื่อการเดินทางชนิดนี้ไปนาน”

“ฉันเคยชินกับการเป็นอยู่ตามริมถนนใหญ่” นิทัศน์ตอบ “แต่ฉันไม่ท้อไม่เบื่อ พวกชาวสวนเขาเดินกันอยู่เป็นประจำเขายังไม่รู้จักท้อ ฉันจะท้อไปทำไม แต่เธอเดินได้คล่องแคล่วมาก”

“ฉันมีชีวิตอยู่กับดินโคลนมาตั้งแต่เกิด” จันทายิ้มปากกว้าง “ถ้าเธอได้เดินอยู่บ่อย ๆ ก็คงจะเดินได้คล่องเหมือนกัน”

“ฉันก็คิดอย่างนั้นแหละ ฉันจึงไม่ท้อใจ” เด็กชาวกรุงรับรอง

ข้ามสะพานคู่ที่สองมาได้สักครู่ ก็เข้าเขตสวนของครู นิทัศน์ให้จันทาดูแบบบ้านชาวสวนของครูซึ่งเป็นบ้านยกพื้นสูงชั้นเดียว หลังคารูปหน้าจั่วแบบหลังคาวัด เรียงด้วยกระเบื้องสีปูนแผ่นเล็ก ใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เก็บสัมภาระเก่า ๆ และใช้เป็นที่นั่งเล่นได้ในฤดูร้อน ตั้งลึกเข้าไปจากทางเดินราวห้าหกวา ข้างหลังบ้านและขอบ ๆ บ้านเป็นสวนละมุดและชมพู่ ซึ่งกำลังออกลูกดก เมื่อเด็กทั้งสองข้ามประตูสวนเข้าไปยืนอยู่บนเนินดินที่ทำเป็นทางเดินเล็ก ๆ ไปสู่บันไดบ้านก็มีเสียงสุนัขเห่าต้อนรับ สักครู่หนึ่งครูก็โผล่ออกมาที่ประตูหัวบันไดบ้าน สวมกางเกงแพรจีนสีดำ เสื้อกุยเฮงผ้าป่านขาวตะโกนห้ามสุนัขให้หยุดเห่า พลางก็ร้องเรียกศิษย์ทั้งสองขึ้นไปบนบ้าน

ครูเลื่อนเสื่อจันทบูรณ์ผืนใหญ่ไว้ต้อนรับศิษย์บนระเบียงหน้าห้องทำงานติดกับนอกชาน คำปราศรัยข้อแรกของครูก็คือ เขาทั้งสองรู้สึกอย่างไรบ้างในการเดินทางเฉอะแฉะมาบ้านครู

จันทาชายตามาทางนิทัศน์ เป็นเชิงเสนอให้เขาเป็นคนตอบ ครูจึงถามนิทัศน์ว่า “เป็นอย่างไร เธอ ลื่นหกล้มหรือเปล่า ?”

“เกือบหกล้มครั้งหนึ่งครับ แต่จันทาเขาช่วยไว้ได้”

ครูหันมายิ้มกับจันทา และถามเขาว่า “เธอเป็นชาวสวนกระมัง ?”

“ผมเป็นชาวนาครับ” จันทาตอบ “แต่เมื่อเสร็จหน้านา เราก็ทำสวนปลูกผักไว้รับประทาน”

“และเขายังทำสวนหม่อนไว้เลี้ยงตัวไหม และทำผ้าไหมใช้เองได้ด้วยครับ” นิทัศน์เสริม

“เธอมาจากภาคเหนือหรือภาคอีสาน ?”

“ผมมาจากภาคอีสาน เมืองขุขันธ์ครับ”

ขณะนั้นภรรยาของครูพร้อมด้วยบุตรีอายุราวสิบขวบ ได้นำมะพร้าวอ่อนสามผลที่เก็บมาจากต้นสด ๆ มาเลี้ยงครูและศิษย์ ขณะรับประทานมะพร้าวอ่อนครูบอกแก่ศิษย์ทั้งสองว่า นาน ๆ ครูจะได้ศิษย์ที่เป็นชาวอีสานสักคนหนึ่ง และครูมีความยินดีที่ได้จันทาเป็นศิษย์ในปีนี้ แล้วครูได้ไต่ถามจันทาถึงความเป็นอยู่ของชาวนาในจังหวัดของเขา รวมทั้งความเป็นอยู่ของบิดามารดาของเขาด้วย จันทาปรารถนาอยู่แล้วที่จะเล่าเรื่องครอบครัวของเขาให้ครูฟัง เพื่อที่เขาจะได้รับความเห็นอกเห็นใจและได้รับอภัยจากครู หากว่าเขาทำอะไรผิดพลาดไปอันเนื่องมาจากความโง่เขลาของเด็กบ้านนอก เขาจึงเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และเรื่องของบิดามารดาของเขาให้ครูฟังด้วยความเต็มอกเต็มใจ และนิทัศน์ได้ช่วยเสริมในตอนที่ขาดตกบกพร่องไป ดังนั้นก่อนที่ครูและศิษย์จะลงมือรับประทานอาหารกลางวัน ครูจึงทราบประวัติอันน่าเห็นใจของจันทาอย่างดีเท่ากับที่ได้รับทราบประวัติและความเป็นอยู่ของครอบครัวนิทัศน์มาแล้ว และดังนั้น ในระหว่างที่รับประทานอาหาร จันทาจึงรู้สึกว่าเขาได้รับการปฏิบัติจากครูด้วยความสนิทสนมที่เขาไม่เคยได้รับหรือหวังว่าจะได้รับมาก่อน ในขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกว่า วันที่เขาได้รับประทานอาหารร่วมกับครูเป็นครั้งแรกนี้ เป็นวันที่เขามีความสุขมากที่สุดวันหนึ่งในชีวิต

เสร็จจากการรับประทานอาหารแล้ว ครูได้บอกแก่เขาว่า เดิมทีครูกำหนดว่าจะพาเขาไปเที่ยวในสวน และจะให้เขาเก็บละมุดและชมพู่ไปรับประทานที่บ้าน แต่เมื่อฝนได้ตกลงมาเสียแล้ว การลงไปเที่ยวสวนจึงต้องเป็นอันงด เด็กทั้งสองยังไม่ทราบถึงความประสงค์พิเศษที่ครูได้เชิญเขามาที่บ้าน จนกระทั่งครูได้สนทนากับเขาถึงเหตุการณ์ชกต่อยระหว่างจันทากับรุจิเรข ถึงตอนนี้ครูได้พูดกับเขาด้วยอาการอันสุขุมจริงจัง และเด็กชายทั้งสองก็ได้สดับรับฟังด้วยอาการอันสำรวม และสนใจยิ่งดุจที่เขาได้กระทำมาในห้องเรียน เมื่อถึงชั่วโมงวิชาการเรียนที่สำคัญ จันทามีความตื่นเต้นเป็นพิเศษ

ครู ได้กล่าวแก่เขาทั้งสองว่า ภายหลังที่ครูได้ลงโทษจันทาไปแล้ว ครูรู้สึกว่านักเรียนบางส่วนแสดงความไม่พอใจในการวินิจฉัยของครู ถึงแม้เด็กเหล่านั้นจะไม่พูดออกมา ครูสังเกตได้จากสีหน้าและท่าทีของเขา ครูจึงสงสัยว่าคำวินิจฉัยของครูอาจจะไม่ถูกต้อง ครูมีความไว้ใจความซื่อตรงของศิริลักษณ์ ต่อมาครูจึงเรียกศิริลักษณ์ไปสอบสวนถามว่า เขาได้รู้เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุบ้างหรือเปล่า บุตรชายท่านเสนาบดีตอบว่า ตัวเขาไม่ได้ร่วมอยู่ในวงสนทนา แต่ในวันนั้นเขาได้นั่งอยู่ในห้องเรียนมุมหนึ่ง เขาได้ยินถ้อยคำที่รุจิเรขและนิทัศน์โต้เถียงกัน และเขาได้เห็นเหตุการณ์ต่อมาโดยตลอด เมื่อครูขอให้เขาเล่าเหตุการณ์ให้ฟังโดยละเอียด บุตรชายท่านเสนาบดีก็ได้เล่าให้ครูฟังตามความเป็นจริง คำบอกเล่าของศิริลักษณ์ตรงกับคำให้การของนิทัศน์ทุกประการ ครูจึงวินิจฉัยไปตามน้ำหนักถ้อยคำของเด็กทั้งสอง แม้ในส่วนตัวนิทัศน์ครูก็มีความไว้วางใจในความซื่อตรงของเขา แต่โดยที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีวิวาท และคำของเด็กอื่น ๆ หลายคนขัดกับคำให้การของเขา ครูจึงต้องวินิจฉัยไปตามน้ำหนักถ้อยคำของพยานส่วนมาก ครั้นครูได้ทราบข้อเท็จจริงที่ครูแน่ใจว่าถูกต้องแล้ว ครูจึงเห็นว่าความผิดชอบในเรื่องนี้ควรตกอยู่แก่หม่อมราชวงศ์รุจิเรข ส่วนจันทานั้นควรจะพ้นจากการถูกตำหนิโทษอย่างแรง ดังที่เขาได้ถูกตำหนิไว้และคาดโทษอย่างหนักไว้ เพราะเขากระทำไปด้วยมูลเหตุจูงใจอันน่าสรรเสริญ เขาอาจจะถูกตำหนิในฐานะทำการป้องกันมิตรด้วยการกระทำที่อาจเป็นการเกินสมควรแก่เหตุผล และเพราะว่าการชกต่อยนั้นได้เกิดขึ้นภายในห้องเรียน เขาก็จะต้องได้รับการตำหนิโทษหรือถูกลงโทษตามควร และโทษที่จะลงแก่เขาก็ไม่ควรจะมากไปกว่าที่จะลงแก่รุจิเรข ซึ่งเป็นผู้ลงมือทำร้ายนิทัศน์ก่อน และไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ การกระทำของจันทา ไม่ควรจะถูกประณามว่าเป็นการกระทำที่ต่ำช้าเลวทราม หรือเป็นการกระทำอย่างไพร่ ในอีกแง่หนึ่ง ครูได้ชมเชยน้ำใจอันกว้างขวางและกล้าหาญของจันทา แต่ครูก็ได้กล่าวให้ทราบด้วยว่า ครูไม่สนับสนุนการกระทำที่รุนแรง ถึงตอนนี้ครูยกมือลูบไหล่จันทา เขารู้สึกวูบขึ้นในดวงใจ มือของครูที่ลูบลงบนไหล่ของเขานั้น เหมือนกับมืออันศักดิ์สิทธิ์ที่มาปลดเปลื้องบาปและความระทม ออกไปจากดวงหน้าอันชอกช้ำของเขา เขารู้สึกความสุขอย่างซาบซึ้งได้แผ่ซ่านอยู่ภายในดวงใจของเขา

ครูได้กล่าวถึงนิทัศน์ด้วยความชื่นชม ในการที่เขามองเห็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในประวัติศาสตร์ ครูกล่าวว่าเขามีความกล้าหาญในการประกาศความจริงออกมา แต่การประกาศความจริงอย่างตรงไปตรงมามากเกินไปนั้น ดูเหมือน “ท่านขุน” จะไม่สู้สนับสนุน ในเวลานั้นนิทัศน์นึกถึงครูอุทัย เพราะว่าครูอุทัยเป็นผู้สนับสนุนการประกาศความจริงทุกวิถีทาง และจะต้องประกาศอย่างหนักแน่นตรงไปตรงมา เพื่อว่าคนทั้งหลายจะได้ทราบความจริงอย่างแจ่มแจ้ง และปราศจากความสงสัย

ครูได้สรุปเรื่องนี้ว่า ครูเสียใจที่ฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดไป และทำให้การวินิจฉัยของครูคลาดเคลื่อนจากความยุติธรรม และครูก็จะยินดีประกาศแก้ความวินิจฉัยของครูใหม่ แต่จันทาได้ขอร้องต่อครูว่า อย่าให้ครูต้องมีกังวลมากไปกว่านี้เลย เขาพูดว่า “เท่าที่คุณครูได้ชี้แจงแสดงความรู้สึกอันดีต่อผม และไม่เห็นว่าผมเป็นคนชั่วร้าย ก็นับว่าเป็นพระคุณและความกรุณาอันใหญ่หลวงต่อผม และทำให้ผมได้รับความอิ่มใจสบายใจมากมายแล้ว สิ่งที่ผมปรารถนาจะได้จากคุณครูก็คือ ความรักและความไว้วางใจของคุณครูต่อผมเท่านั้น ผมไม่อยากจะเห็นคุณครูมากังวลกับเรื่องของผมมากไปกว่านี้”

ครูได้กล่าวให้จันทาแน่ใจว่า ครูได้มอบความรักและความไว้วางใจแก่เขาแล้ว เช่นเดียวกับที่ครูได้มอบให้แก่นิทัศน์ เกี่ยวกับการวินิจฉัยของครูในเรื่องนี้ อย่างน้อยครูก็จะดำเนินการสองอย่าง คือรายงานข้อเท็จจริงอันถูกต้องให้ท่านอาจารย์ “เจ้าคุณ” ทราบ และครูจะต้องเรียกหม่อมราชวงศ์รุจิเรขมาตำหนิโทษและคาดโทษเขาไว้ สำหรับการพยายามใช้กำลังเข้าตัดสินข้อโต้เถียงกัน คำบอกกล่าวของครูข้อนี้เป็นที่พอใจของนิทัศน์ เพราะเขาชิงชังการข่มขู่โดยใช้กำลัง และเขามักแสดงการขัดแข็งต่อการข่มขู่ ไม่ว่าในรูปใดๆ

ครูได้มอบห่อชมพู่ที่เก็บมาสด ๆ จากต้นในสวนแก่ศิษย์ทั้งสอง และได้มอบหนังสือให้เขายืมไปอ่านคนละสองสามเล่ม เขาทั้งสองได้จากครูมาด้วยหัวใจอันเต็มเปี่ยมด้วยความเบิกบาน นิทัศน์รู้สึกว่าทางเดินที่เป็นดินเฉอะแฉะนั้นไม่ใช่ทางที่น่ารังเกียจเลย เขาลืมความถลาลื่นเมื่อขาไปเกือบหมด สำหรับจันทานั้นเขารู้สึกว่าเขาอาจจะวิ่งกลับไปกลับมาบนทางเดินนั้น โดยที่ความลื่นเฉอะแฉะของมัน จะไม่มารบกวนความรำพึงอันแสนสุขของเขาเลย นับแต่วันที่เด็กทั้งสองได้ไปรับประทานอาหารที่บ้านครู และได้ฟังคำพิพากษาใหม่ของครูแล้ว เขาก็รู้สึกว่าครูกับเขาได้มาอยู่ใกล้ชิดกันมากมายทางจิตใจ และแต่นั้นมาครูก็แสดงความสนิทสนมแก่เด็กทั้งสองยิ่งกว่าเคย ครูนิยมปัญญาอันเฉียบแหลม พร้อมทั้งลักษณะนิสัยสุจริตมั่นคงของนิทัศน์ สำหรับจันทาฐานะอันแร้นแค้นต่ำต้อย และความกระตือรือร้นที่จะเป็นคนดีของเขา เรียกร้องความปรานีและความเห็นใจจากครู ครูยกย่องความอุตสาหะและซื่ออย่างไร้เดียงสาของเขา ก่อนที่ครูและศิษย์ทั้งสองจะจากกันในตอนปลายปี ทั้งนิทัศน์และจันทาได้กลายเป็นศิษย์ที่โปรดปรานที่สุดของครูประจำปีนั้น รวมทั้งศิริลักษณ์เด็กชายในตระกูลผู้ดีชั้นสูง ผู้มีปัญญา มีความยิ้มแย้มและไม่เป็นภัยแก่ใคร

ตลอดเวลาสามปี ที่จันทาได้มาใช้ชีวิตศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนอันมีศักดิ์นี้ จันทามิได้รับไปแต่วิชาความรู้ ตามหลักสูตรของโรงเรียน และตามที่ครูอาจารย์ได้สั่งสอนแต่อย่างเดียว หากยังได้รับการศึกษาอบรมจากสภาพแวดล้อมอย่างปราศจากสำนึกอีกด้วย ทั้งวิชาความรู้ที่เขาได้รับจากครูและอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ได้คลี่คลายปัญหาและความรู้สึกนึกคิดของเขาออกไปหลายทาง และก็มิได้หมายความว่ามันได้คลี่คลายออกไปในทางถูกต้องแจ่มแจ้งเสมอไป มันได้คลี่คลายไปสู่ความลับสับสนก็มี และความลับสับสนเช่นนั้นอาจชักนำความคิดและการดำเนินชีวิตของเขาไปสู่การลงเอยที่ผิดก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี เวลาสามปีภายในรั้วเหล็กสีชมพูของโรงเรียนเทเวศร์รังสฤษดิ์ ได้ให้บทเรียนที่มีคุณค่าแก่ชีวิตของเขาเป็นอันมาก เขาได้ก้าวมาไกลโขจากความเป็นเจ้าเด็กบ้านนอกและเด็กวัด ซึ่งโลกทั้งโลกของเขาก็คือหมู่บ้านของพ่อแม่ และวัดที่เขาได้อาศัยกินข้าวสุกมาเท่านั้น

ในตอนแรก ๆ ที่มาเข้าโรงเรียนนั้น จันทาทั้งตื่นเต้นและทั้งมั่นหมายว่า เขาคงจะได้รับความรู้และบทเรียนของชีวิตที่มีคุณค่ามากมาย จากนักเรียนลูกผู้ดีชั้นสูง ซึ่งแต่ก่อนมาเขาไม่เคยรู้จัก หรือได้เข้าใกล้ชิดกับเด็กผู้มีบุญวาสนาเหล่านี้เลย ครั้นเมื่อได้อยู่นานไป และได้รู้จักกับเด็กทุกชั้นทุกประเภท จนกระทั่งได้เรียนจบชั้นมัธยมหก และตัวเขาเองได้กลายเป็นเด็กหนุ่มขึ้นมา เขาก็ได้ประจักษ์ว่า ความมั่นหมายในขั้นต้นของเขาได้คลอนแคลนเป็นลำดับ และเมื่อได้สรุปผลในปลายปีที่สามแล้ว เขาก็แปลกใจว่าสิ่งที่เขาได้รับอย่างมีน้ำหนัก และมีคุณค่าแก่ชีวิตนั้น มาจากอีกทางหนึ่งตรงกันข้ามกับความมั่นหมายของเขาในชั้นต้น

เมื่อครั้งอยู่ในวัด และใช้ชีวิตคลุกคลีกับเพื่อนเด็กวัดเช่นเจ้าแตนเป็นต้นนั้น แม้ว่าจันทาจะมีความรู้สึกใฝ่ดีเป็นทุนอยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็นความรู้สึกที่ยังโคลงเคลงอยู่ ในเวลานั้นเขายังเห็นว่า การทำความชั่วหรือความผิดเล็กน้อย เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ หรือแม้ผู้ใหญ่ก็ควรจะทำได้บ้าง และการรักษาความดีนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องกระทำโดยสม่ำเสมอหรือโดยเคร่งครัดนัก เขาไม่ทราบว่าการปล่อยตัวให้ค่อย ๆ คุ้นกับการทำชั่วทีละเล็กละน้อย และการค่อย ๆ ละเลยต่อการรักษาความดีนั้น จะนำเขาไปสู่อันตรายอย่างใหญ่หลวงในภายหน้า แต่เมื่อเขาได้พบเซ้ง และได้เรียนรู้ถึงความมั่นคงของเซ้งที่จะกระทำแต่ความดี และจะไม่ยอมกระทำชั่วแม้เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นอันขาด แบบอย่างของเซ้งก็ได้ช่วยฉุดเขาขึ้นมาสู่ระดับที่ดีกว่าเดิม และในเรื่องเดียวกันนี้ความมั่นคงของนิทัศน์ ก็เป็นสิ่งจูงใจเขามาก ในเรื่องความสงบเสงี่ยมและความอดทนของเซ้งก็เป็นที่ประทับใจเขา ความรักในการเรียนและความเพียรของเซ้งเป็นสิ่งบันดาลใจเขา ความคิดของนิทัศน์มีอิทธิพลต่อเขามากมาย เขาเลื่อมใสปัญญาและความคิดอย่างมีเหตุผลของเด็กชายจากครอบครัวสามัญชนผู้นี้ยิ่งกว่าเด็กทุกคนที่เขารู้จักมา ความรู้สึกสำนึกคิดของจันทาได้คลี่คลายออกไป เพราะความจูงใจของนิทัศน์เป็นส่วนใหญ่ เขาได้เรียนรู้ที่รักการเชิดชูความจริงและความยุติธรรมจากความประพฤติของนิทัศน์ ทั้งนิทัศน์และเซ้งได้สอนให้เขารักการอ่านหนังสือ และเด็กทั้งสองได้แบ่งปันหนังสือที่มิใช่หนังสือเรียนให้เขาได้อ่านอยู่เสมอ อู๊ดลูกจีนในตลาด ถึงแม้เป็นเด็กที่ไม่มีความเด่นอะไรในตัว แต่ก็เป็นเด็กที่มีอารมณ์เย็น ชอบแสดงความเอื้อเฟื้อ และมีมุทิตาจิตต่อมิตรสหาย ศิริลักษณ์ บุตรท่านเสนาบดี เป็นเด็กฉลาด มีความประพฤติเรียบร้อย เป็นแบบฉบับของลูกผู้ดี น่าเอ็นดูและไม่เป็นภัยต่อใคร แต่เพราะว่าเขาอยู่ห่างเหินเกินไปจากเด็กคนอื่น ๆ จึงไม่มีใครได้รับประโยชน์จากความฉลาดของเขา จันทารู้สึกว่าความน่ารักของศิริลักษณ์ เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาจากฐานะอันสูงส่งของเขา เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวซึ่งไม่มีใครคัดลอกเอาไปได้ จันทาชื่นชมความน่ารักของศิริลักษณ์ แต่เขาก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า มันเป็นความน่ารักที่ลอยอยู่โดดเดี่ยวไม่สัมพันธ์กับชีวิตธรรมดาทั่วไป เขาคิดว่ามันเป็นความน่ารักสำหรับชม ไม่ใช่สำหรับใช้ และไม่ใช่เป็นสิ่งที่บรรจุลงไปได้ หรือควรพยายามจะบรรจุลงไปในชีวิตของเขา หม่อมเจ้าศุภมงคลก็ทำนองเดียวกัน เขาไม่ทำความร้อนใจแก่ใคร แต่เขาก็ไม่มีความร่มเย็นให้แก่ใคร หม่อมราชวงศ์รุจิเรขมีความเด่นในทางเล่นกีฬา เป็นที่นิยมของเด็กส่วนหนึ่งที่ชอบความเก่งกล้า แต่ไม่สนใจกับความเป็นธรรม และเด็กจำพวกที่ขี้ขลาดอ่อนแอชอบแสวงหาความคุ้มครองพึ่งพิงของผู้ที่แข็งแรงโดยยอมตนเป็นบริวาร จันทานิยมฝีมือการเล่นของรุจิเรขแต่ไม่ชอบกลวิธีในเชิงเล่นอันไม่สะอาดของเขา จันทามีความศรัทธาอย่างแน่วแน่ในหลักการที่ท่านอาจารย์ ‘เจ้าคุณ’ ได้สั่งสอนอบรมนักกีฬา ซึ่งตรงกับทัศนะของนิทัศน์ หม่อมหลวงอิทธิพรไม่มีอะไรในตัวเลย นอกจากความถือตัวว่ามีเลือดของผู้ดีนักรบ เด็กลูกผู้ดีอีกหลายคนก็มีท่าทีทำนองเดียวกับอิทธิพร ในขณะที่เขาเหล่านั้นไม่มีอะไรในตัวเขาเอง และไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร แม้แต่เพียงหนึ่งในสิบของอู๊ด ปิ่นแก้วบุตรท่านสมุหเทศาภิบาล มีปัญญาและใจคอกว้างขวางกว่าทุกคน ซึ่งเรียกร้องความนับถือจากจันทาได้ไม่น้อย แต่ปัญญาของเขายังแคบกว่าของนิทัศน์ และความมีใจกว้างของเขายังไม่ทัดเทียมกับต่วนบุตรนายตำรวจรถราง ผู้มีฝีมือในการชกต่อย ซึ่งมักจะใช้ฝีมือของเขาแต่เฉพาะในการป้องกันเด็กเล็กที่ถูกข่มเหงจากเด็กโต

กล่าวโดยสรุปแล้ว จันทารู้สึกอย่างแน่ใจว่าความคลี่คลายทางปัญญา และนิสัยอันดีงามหลายประการที่ได้ถ่ายทอดมาสู่เขา ตลอดเวลาสามปีที่เขาได้ใช้ชีวิตมาในโรงเรียนเทเวศร์รังสฤษดิ์ นอกจากที่เป็นคำอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์แล้วเป็นส่วนใหญ่ เขาได้รับจากเพื่อนนักเรียนผู้มาจากครอบครัวสามัญชน เฉพาะอย่างยิ่งจากเซ้งและนิทัศน์ จากเด็กลูกผู้ดีเขาได้ทราบถึงการใช้ชีวิตอันแสนสะดวกสบาย และมีของเล่นของใช้ในการเรียนอย่างสมบูรณ์เหลือเฟือ ในบางครั้งคราวมันทำให้เขาเกิดความอยากที่จะมีเช่นนั้นบ้าง และเขาก็ได้รับคำอธิบายจากเพื่อนนักเรียนบางคนว่า เขาไม่มีวันที่จะได้พบในชาตินี้แล้ว ความอยากของเขาก็ดับไปชั่วคราว เขาไม่ได้เรียนรู้อะไรที่เป็นแก่นสารจากชีวิตของเด็กที่มาจากตระกูลชั้นสูง ความมั่งมีศรีสุขของเด็กเหล่านั้นได้ก่อความตื่นเต้นขนานใหญ่แก่เขาในตอนต้น ๆ แต่เมื่อเขาได้รู้เห็นเคยชินกับการใช้ชีวิตของเด็กเหล่านั้นนานเข้า ความตื่นเต้นของเขาต่อการใช้ชีวิตเช่นนั้นก็ค่อยๆมอดลง เด็กที่มาจากตระกูลชั้นสูงเหล่านั้นมักจะปลีกตัวออกไปอยู่โดดเดี่ยวแต่ลำพัง ไม่คลุกคลีเข้ากับหมู่เด็กอื่น ๆ ไม่เข้ามาเผชิญชีวิตและไม่พยายามเรียนรู้ชีวิตที่โผล่มาจากที่ต่าง ๆ เขาเหล่านั้นจึงรู้จักแต่ชีวิตในด้านของเขา แลในวงแคบ ๆ ของเขา การใช้ชีวิตเช่นนั้นเป็นผลให้เขาไม่เข้าใจชีวิต และความคิดเห็นของเด็กอื่น ๆ จำนวนมากมาย ซึ่งไม่ได้มาจากแหล่งเดียวกับเขา ทั้งยังทำให้ความรู้สึกนึกคิดของเขาอยู่ในวงจำกัดคับแคบ จันทารู้สึกว่า การอยู่อย่างไม่มีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ เช่นนั้น ดูเป็นชีวิตที่เย็นชืด ดูเป็นชีวิตที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ของคนที่อยู่บนเกาะเล็ก ๆ ดูประหนึ่งเป็นน้ำในบ่อในบึงที่ไม่มีทางระบายถ่ายเท เขาคิดว่าชีวิตที่เป็นดั่งสายธารไหลโกรก เซาะซัดไปตามที่ต่างๆ เช่นชีวิตธรรมดาสามัญของเด็กทั่ว ๆ ไปนั้น เป็นชีวิตที่เคลื่อนไปกับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งใหม่ ๆ และดังนั้นจึงเป็นชีวิตที่ดูแจ่มใส และมีพลังยิ่งกว่า

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ