- คำนำ
- พระประวัติสมเด็จพระมณีวงศ
- พระราชพิธีราชาภิเษก
- คำรบ ๑ ไถงศุกร ๓ เกิดแขทุติยาษาฒ คือไถง ๒๐ แขสูเยต
- คำรบ ๒ ไถงเสาร์ ๔ เกิดแขทุติยาษาฒ คือไถง ๒๑ แขสูเยต
- คำรบ ๓ ไถงอาทิตย์ ๕ เกิดแขทุติยาษาฒ คือไถง ๒๒ แขสูเยต
- คำรบ ๔ ไถงจันทร์ ๖ เกิดแขทุติยาษาฒ คือไถง ๒๓ แขสูเยต
- คำรบ ๕ ไถงอังคาร ๗ เกิดแขทุติยาษาฒ คือไถง ๒๕ แขสูเยต
- คำรบ ๖ ไถงพุธ ๘ เกิดแขทุติยาษาฒ คือไถง ๒๕ แขสูเยต
- กบวนพิธีขึ้นพระที่นั่งมหามนทีรในพระบรมราชวัง
- กบวนรำลึกพระมหากษัตรซึ่งทรงพระราชาภิเษก
- เครื่องไทยทาน
- กบวนแห่พระกรุณาเปนเจ้าชีวิตเลอหัว
- ลงคำสั่ง
คำรบ ๑ ไถงศุกร ๓ เกิดแขทุติยาษาฒ คือไถง ๒๐ แขสูเยต
เวลาโมง ๑๖ คือโมง ๔ บ่าย-เรียบพิธีขึ้นพระที่นั่งพระมหามนทีร เปนที่ประทับกับห้องพระบันทมพระกรุณา๑ เปนเจ้าชีวิตเลอหัว ติดกับพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย มีพระบัลลังก์เศวตฉัตรข้างใน สำหรับรับกรมสตรีตรงพระมหามนทีร มีพระที่นั่งจักรพรรดิเปนที่ห้องพระบันทมพระกรุณาเนาข้างด้านใต้ กับพระที่นั่งนารีรัตนโศภา เปนที่ห้องบันทมสำหรับพระมเหษีหรือพระสนม กับหอเครื่องเปนที่เสวยหรือไว้เครื่องทรงอยู่ข้างตวันตก ฯ
พระกรุณาทรงพระพัสถ์๒ พรรณเขียว๓ ตามพรรณไถงศุกรเสด็จย่างพระบาทเลอมรรคาลาดผ้าขาวเหนือเสื่อตามกบวนแห่ แต่พระดำหนักจันทน์เข้าไปขึ้นพระที่นั่งพระมหามนทีรตามธรรมเนียม ฯ ออกญาวังวรเวียงชัยต้องจำ๔รับพระกรุณา ในพระที่นั่งพระมหามนทีร ฯ
ที่เสด็จกษัตรีกับพระสนมกรมการ กับชุมท้าวขุนนาง กราบบังคมคัลในพระที่นั่งพระมหามนทีร กับในพระที่นั่งจักรพรรดิ พระที่นั่งนารีรัตนโศภา ฯ
ที่เสด็จกษัตรากับอัครมหาเสนา เสนาบดีนาหมื่น สรรพมุขมนตรีกราบบังคมคัลในพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย หน้าพระมหาบัลลังก์เศวตฉัตร ฯ๕
โมง ๑๗ กับ ๓๐ มีนุต คือโมง ๕ กึ่งเย็น-พระกรุณาถวายบังคมถวายพระบิดร ในหอพระอัฎฐิ ฯ
โมง ๑๘ คือโมง ๖ เย็น-ออกญาโหราธิบดี จางวาง สวดประกาศเทวดาเข้าบุณย์ราชาภิเษก ที่ร้านเทวดาใหญ่ข้างหน้าพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย ฯ
โมง ๑๘ กับ ๓๐ มีนุต คือโมง ๖ กึ่งเย็น-จุดพันลือประทีปเครื่องสักการบูชาในพระบรมราชวัง กับพันลือข้างในข้างหน้าพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย กับเครื่องตั้งโต๊ะ ฯ
พระกรุณาทรงพระพัสถ์พรรณเขียว กับพระภูษาพรรณเขียว พร้อมทั้งเครื่องพระราชอิสสริยยศ๖ เสด็จย่างพระบาทตามกบวนแห่ มีสตรีถือผกามาศ ๔ ผกาปรัก ๔ ประนมแห่หน้า กับสตรีอัญเชิญเครื่อง ๑๖ นักแห่หลัง แห่แต่ในพระที่นั่งพระมหามนทีร ออกทวารพระท้ายเกริน๗ มาคงเนาพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย มีสมเด็จพระอิสีภัทราธิบดีอัญเชิญพระนารายณ์แห่หน้า ฯ
ทรงประทับเลอพระที่นั่งเก้าอี้ จุดเครื่องพุทธบูชาถวายบังคมพระรัตนตรัย แล้วเสด็จย่างไปจุดเทียนชัย เป็นเดียวกับพระสังฆนายก๘ ในพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย แล้วทรงถวายไตรพระสงฆ์ ๑๖ องค์ครอง แล้วกรมสังฆการีตีระฆังอาราธนาศีล๙ นิมนตร์พระสงฆ์จำเริญพระพุทธมนตร์พิธีขึ้นพระที่นั่งมหามนทีร กับทำพระสิทธรสพระพุทธมนตร์ไว้ถวายสรงในบุณย์ราชาภิเษก ฯ
พระราชวงศานุวงศ์ครบองค์ กับอัครมหาเสนา เสนาบดีนาหมื่น สรรพมุขมนตรีเจ้ากรม ในกรุงและในเขตต์ นุ่งผ้าและสวมเสื้อส้ารบับพรรณยก หรือผ้าม่วง๑๐ กับเครื่องอิสสริยยศ จวบชุมกราบถวายบังคมคัลตามตำแหน่งในพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย พระสงฆ์จำเริญพระพุทธมนตร์แล้ว พระกรุณาเสด็จย่างเข้าตามกบวนแห่ ไปประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิ ทรงเครื่องพรรณขาว รับสมาทานศีลในพระที่นั่งทรงธรรมเปนบริสุทธในพระองค์
โมง ๒๐ คือโมง ๘ ค่ำ-เลี้ยงโภชนอาหารพระราชวงศานุวงศ อัครมหาเสนา เสนาบดีนาหมื่น สรรพมุขมนตรีเจ้ากรม ฯ
แต่โมง ๒๑ ดลโมง ๒๔ คือแต่โมง ๙ ค่ำไปดลเที่ยงคืน-รำละคอนในโรงพระที่นั่งพิธีบุณย์ กับลเบงมโหรศพข้างหน้าพระลาน จุดพร้อมจรวจระทาดอกไม้เทียน ฯ
-
๑. การที่ใช้คำ “พระกรุณา” เปนสรรพนามสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน แบบโบราณใช้เช่นเดียวกันทั้งไทยและเขมร ทุกวันนี้แม้ไทยได้แก้ไขไปเปนอย่างอื่น ก็ยังคงใช้อยู่ในที่บางแห่ง มีตัวอย่างเช่นขึ้นต้นคำกราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท” คำพระกรุณาในที่นี้ก็เปนสรรพนาม หมายว่าพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน อันมูลเหตุที่จะใช้คำพระกรุณาสำหรับพระเจ้าแผ่นดินนั้น สันนิษฐานว่าจะเกิดแต่เมื่อถือลัทธิพุทธสาสนาอย่างมหายาน ซึ่งสมมตว่าพระเจ้าแผ่นดินเปนพระโพธิสัตว์ บางทีจะตามอย่างพราหมณ์พวกถือลัทธิศิเวศ เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระเดช” พวกพราหมณ์ถือลัทธิวิษณุเวศเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระคุณ” เพราะสมมตว่าเปนพระอิศวร และพระนารายณ์แบ่งภาคลงมาปกครองโลก คำว่า “พระเดช พระคุณ พระกรุณา” ทั้ง ๓ นี้ชะรอยจะเคยใช้เปนสรรพนามพระเจ้าแผ่นดินมาแต่ดึกดำบรรพ์. ด.ร. ↩
-
๒. พระพัสถ์ เห็นจะหมายถึงเสื้อผ้า คาบอยู่ในระหว่างคำวัตถ กับ พัสตร ↩
-
๓. พรรณเขียว หมายถึงสีคราม เราก็เคยเรียกเช่นนั้น ดุจว่า “สุดหล้าฟ้าเขียว” ↩
-
๔. จำตรงนี้หมายความว่าประจำ. ด.ร. ↩
-
๕. ตามแบบไทยทำพิธีราชาภิเษกก่อน แล้วจึงทำพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร แต่ตามแบบเขมรทำพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรก่อน แล้วจึงทำพิธีราชาภิเษก ด.ร. ↩
-
๖. เครื่องพระราชอิสสริยยศ คือเครื่องราชอิสสริยาภรณ์, ↩
-
๗. ท้ายเกริน เปนชื่อบุษบกที่เสด็จออก ซึ่งมีเกรินดุจท้ายรถ, อย่างในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในกรุงเทพ ฯ ↩
-
๘. หมายความว่าทรงจุดเทียนชัยด้วยกันกับพระสังฆนายก แบบไทยแต่โบราณก็อย่างเดียวกัน คือพระเจ้าแผ่นดินทรงจุดเทียนไชย พระสังฆนายกเข้าไปบริกรรมอยู่เคียงพระองค์เมื่อเวลาจุด แต่ในรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ไขระเบียบพิธีจุดเทียนชัย พระเจ้าแผ่นดินทรงจุดเทียนชะนวนและอธิษฐานแล้ว พระราชทานเทียนชะนวนแก่พระสังฆนายกเปนผู้จุดเทียนชัย ด.ร. ↩
-
๙. การที่ตีระฆัง (หรือกังสดาล) เปนสัญญาเมื่ออาราธนาศีลนี้ เห็นจะเปนประเพณีเดิมมีเหมือนกัน ทั้งในเมืองไทยและเมืองเขมร บางทีเขมรจะเอาอย่างไปจากไทยก็เปนได้ แต่ที่ในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ในงานหลวงเห็นยังคงใช้ตีกังสดาลเปนสัญญาแต่บอกให้ยิงปืนเมื่อพิธีอาฏานาฯ และบอกปี่พาทย์ให้หยุดและให้ประโคมเวลาเสด็จพระราชทานพระกฐินหรือมีเทศน์มหาชาติ ถ้าตามวัดและตามบ้านยังใช้ตีบอกสัญญาว่าพระเทศน์มาถึง การที่ตีสัญญาเมื่ออาราธนาศีลดูเปนการถูกต้อง เพราะให้คนทั้งหลายซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นรู้ตัวและตั้งใจรับศีล ด.ร. ↩
-
๑๐. ตรงนี้ความไม่ชัด จะหมายความว่าตามแต่จะนุ่งผ้าเยียรบับหรือนุ่งยกนุ่งม่วงฉะนั้นก็เปนได้ มิฉะนั้นจะหมายความว่าชั้นสูงนุ่งเยียรบับ นุ่งยก ชั้นต่ำนุ่งผ้าม่วงก็เปนได้, ↩