- คำนำ
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๓
พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๓
คืนที่ ๒๐๙
เรือซักเซนในคลองสุเอส
วันจันทร์ที่ ๒๑ ตุลาคม ร. ศก ๑๒๖
หญิงน้อย
เมื่อคืนนี้คอยจน ๗ ทุ่มเรือก็ไม่มา กะว่าคงสามยามก็ผิด ตกลงเปนตี ๑๑ เรือจึงได้มาถึง ตื่นขึ้นเช้าพอเปิดน้ำล้างหน้าออก ที่ล้างหน้าดำไปหมดเหตุด้วยบรรทุกถ่าน ถ้าเรือผู้มีบรรดาศักดิ์มาแล้วจอดที่น่าที่ว่าการกัมปนีคลอง ถึงว่าการขนถ่านลงจากเรือที่บรรทุกเรือลำเลียงได้ไปทำอยู่ข้างใต้ ข้างเหนือเรือมาจอดบรรทุกถ่านอยู่ในที่นั้นก็ปลิว ที่แท้กลับไปจอดอยู่กลางที่บรรทุกถ่านทั้งข้างเหนือข้างใต้จึงได้เปื้อนดำนัก เรือซักเซนบรรทุกถ่านมากจนจวนเที่ยงจึงได้แล้ว เวลาก่อนเที่ยงสัก ๕ มินิตได้มาลงเรือซักเซน แลดูเรือเพียบท้องเรือจมลงไปมาก เหตุด้วยสินค้าเต็มเรือยังเปื้อนเต็มที ดาดฟ้าพึ่งจะล้างกำลังเปียก ว๊อดซันปาชาลงมาไปในเรือด้วย ได้ออกเรือบ่ายโมง ๑ เวลาบ่ายโมงครึ่งกินกลางวัน กับเข้าดีกว่าฮอมเบิคมาก แต่ตอนกลางคืนดินเนออยู่ข้างคลาย ได้รับหนังสือเมลส่งมาจากไกโรสองคราว นับว่าไม่ค้าง อ่านเขียนแลจัดห้อง แต่อาบน้ำไม่สำเร็จตกลงเปนต้องงดไปวันหนึ่ง อะไรๆ พ่อออกจะช่างเถอะช่างเถอะ ตั้งใจจะอ่านหนังสือเสียให้หมด พอให้รู้เรื่องบางกอกให้ถ้วนถี่ เวลาเข้าไปรับน่าที่จะได้ไม่เงอะงะ ยังจะต้องไปรู้ที่ปินังแลไปรู้ที่บางกอกอิกมาก เวลาจะไม่พอเรียน มกุฎราชกุมารถามมาด้วยเรื่องจำนวนเสมาบอกไม่ได้ เพราะจรูญมาเสียก่อนมาได้จากบาญชี เปนอันแล้วมาได้ ๓๗๐๐๐ จึงแบ่งส่งบางกอก ๓๔๐๐๐ จะเอาไปจันทบุรีแลตราด ๓๐๐๐ เศษ อยู่ข้างจะน้อยอยู่หน่อย แต่เขาไม่มีเวลาจะทำพอ จะให้พระยารัตนโกษาคุมเข้าไปส่งจากสิงคโปร์ทีเดียว เพราะแกอยู่ข้างจะเจ็บออดแอดไม่ปรกติอยู่
คืนที่ ๒๑๐
เรือซักเซนในทเลแดง
วันอังคารที่ ๒๒ ตุลาคม
เรือมาถึงสุเอสเมื่อไรไม่รู้สึก แต่ตื่นขึ้นได้ยินเสียงเรือเดินแรงก็สันนิฐาน ว่าพ้นคลอง ถามเขาจึงได้ความว่า ๑๐ ทุ่ม เมื่อคืนไม่ร้อน หยุดพัดลมได้ ซํ้าตอนจวนรุ่งห่มผ้าบางๆ ด้วย ตอนเช้าไม่ได้ไปกินเข้าทั้งสองเวลา ได้เสบียงที่มีผู้ส่งมาให้เล็กๆ น้อยๆ เลยกินในห้อง อ่านรายงานประชุมตลอดวันยังค่ำ วันนี้ตั้งแต่เช้าจนกลางวันไม่ร้อนมาร้อนตอนบ่ายหน่อยหนึ่ง เข้าใจว่าเห็นจะเคราะห์ดี ในทเลแดงคงจะไม่ร้อนอิก เปนครั้งที่ ๕ ตั้งแต่เคยมา บุหรี่ที่สั่งให้ไปซื้อที่ไกโรได้มา ๒๐๐๐
คืนที่ ๒๑๑
เรือซักเซนในทเลแดง
วันพุฒที่ ๒๓ ตุลาคม
เมื่อคืนนี้นอนหลับสนิทสบายดีมาก เกี่ยวแก่เรื่องอาหาร มันอิ่มเข้าไม่ต้องตื่นขึ้นกินน้ำแทนอาหารดึกๆ ทั้งนี้ก็เกี่ยวด้วยแม่ไพสพสงเคราะห์ กัปตันวอลเตมาส์เอาสมุดรูปเรือลำนี้กับเรื่องราวของกัมปนีนอร์ดดอยเชอลอยด์มาให้ วันนี้ออกร้อนมากขึ้น อ่านหนังสือได้น้อยไปหน่อย
คืนที่ ๒๑๒
วันพฤหัศบดีที่ ๒๔ ตุลาคม
ความร้อนจำเริญขึ้นทุกวัน เมื่อคืนนี้ต้องเปิดพัดลมอย่างปานกลางจนตลอดรุ่ง แต่อ้ายฟ้อนเปนคนที่ไม่เคยรู้จักร้อนหรือรู้จักหนาว เห็นนอนหลับแล้วปิดม่านหยุดพัดเสีย ตื่นขึ้นเหื่อท่วมตัวนอนดิ้นอยู่เปนนาน เวลาบ่ายเปนร้อนยิ่งกว่าเวลาอื่น เพราะแคบินอยู่ข้างตวันตก เวลาเที่ยงคืนปรอดอยู่ใน ๙๐ ฟาเรนไฮต์ ตอนเช้ากลับค่อยหย่อนร้อนลง แต่เขาว่ากันว่ายังไม่ร้อนถึงที่เสียอิก ในทเลแดงควรจะร้อนกว่านี้ จะกล่าวว่าไม่มีอะไรทำก็ไม่ได้ เพราะกำลังทำราชการอยู่ แต่รู้สึกว่ามันทำออดๆ ไม่ถึงอกถึงใจ หาอาหารกินบ้าง ซึ่งเมนูชอบกลอยู่เขียนไว้แล้วจะให้ดู เผื่อบริบูรณ์หนักจะนึกอยากกันดารอย่างนี้บ้าง
คืนที่ ๒๑๓
เรือซักเซนในทเลแดง
วันศุกรที่ ๒๕ ตุลาคม
เมื่อตอนดึกเสียงดังกรอกแกรกริมเรือ ได้นึกแล้วว่าเห็นจะมีลม ครั้นตื่นขึ้นเช้าอ้ายฟ้อนหลับหูหลับตาบอกว่าคลื่นใหญ่ ที่จริงมันก็ไม่ใหญ่เท่าใด ชั่วแต่ผิดกว่าทุกวันหน่อยหนึ่ง ไม่มีใครเมา เปนแต่ดอกเตอติลเก[๒๔๐]ต้องเอาหัวพิงเก้าอี้ เพราะแกเปนขี้เมาซ้ายขวามาแต่กาลปางก่อนกับวุฒิไชย วันนี้เวลาคํ่าได้เลี้ยงดินเนอกับเข้าไทยในห้องแคบินพ่อ นั่งได้ถึง ๗ คน พวกลูกๆ กับดุ๊กอิกคนหนึ่งกับเข้าสิ่งเดียว การที่จะประกอบให้สำเร็จเปนการใหญ่มิใช่เล่น เพราะน้ำปลาช้อนน้ำชาหนึ่งตีราคาถึงปอนด์หนึ่ง น้ำตาลหม้อช้อนน้ำชาหนึ่งสามปอนด์ แต่กระนั้นก็หาที่ซื้อไม่ได้ การที่จะเลี้ยงดินเนอ ๗ คนนี้ ต้องตริตรองผ่อนน่าผ่อนหลัง ที่จะชักทุนให้ยืดไปจนถึงโกลัมโบ เพราะฉนั้นจะเลี้ยงได้ในระหว่างนี้อิกสักครั้งเดียวเท่านั้น เวลาค่ำลมจัดหนักขึ้นในแคบินไม่ต้องเปิดพัดลม ยังซ้ำน้ำสาดเข้าทางน่าต่าง เครื่องเงินแลเครื่องทองเหลืองทองแดงที่ตั้งไว้คงจะเปนถนิมมาก แต่สบายดีไม่มีคลื่น เห็นจะเปนด้วยเรือมันเพียบเหลือประมาณ ถ้าหากว่าเปนเรือเบาๆ เห็นจะแคลงได้ เพราะลมปัดหัวเรือแคมขวา เวลา ๒ ยาม วันนี้จะถึงเกาะปิริม ซึ่งเปนประตูของทเลแดงที่พระยาศรี[๒๔๑] คงจะได้กล่าวไว้แล้ว ทเลแดงมันเปนคอกปิดประตูขังได้ มีประตูอยู่ข้างปลายแหลมทั้ง ๒ ข้าง ถ้าหลุดพ้นออกไปได้แล้วเห็นจะไม่ร้อน
คืนที่ ๒๑๔
วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม
วันนี้เรือมาถึงเอเดนเมื่อไรไม่รู้สึก จนจวนเวลาเรือจะออกจึงได้ยินเสียงขนถ่าน ได้ความว่าจวนจะ ๓ โมงเช้าไม่สู้จะอึงดี บรรทุกถ่านอยู่ ๓ ชั่วโมง เที่ยงเศษจึงได้ออก
ข้อประหลาดของเอเดนนั้น คเนใจว่าเสบียงที่เราจวนหมด น่าจะมีอะไรเติมในที่นี้ สั่งให้คนขึ้น ได้กุ้ง มะขาม แลบวบ สองอย่างข้างหลังนี้เห็นจะไม่ใช่ของที่นี่ คงจะมาจากที่อื่น แต่ก็ขอบใจว่ายังมีอะไรบ้าง ตั้งแต่ออกจากเอเดนนี้หัวเรือหันไปตามตวัน ในแคบินของพ่อค่อยยังชั่วขึ้นมาก แดดไม่เผาข้างอากาศเย็นสบาย เวลาค่ำได้เลี้ยงกันอิกในแคบิน เลี้ยงเสบียงได้จากเมืองเอเดน อยู่ข้างจะแปลกมาก เปนการสำเร็จเรียบร้อยดี
คืนที่ ๒๑๕
วันจันทร์ที่ ๒๗ ตุลาคม
วันนี้ไม่มีเรื่องอะไร นอกจากทเลราบยิ่งขึ้นกว่าวันก่อน แต่ลมพัดอ่อนๆ เสมอ ท้องฟ้าแปลกกันกับในทเลเมดิเตอเรเนียนมาก ไม่เปนสีน้ำเงิน มีเมฆแสงแดดจับแดง ดูงามแลสบาย ได้ขึ้นไปหากัปตันที่หัอง เพราะแกมาหาทุกวัน ต้นไม้อยู่บนดาดฟ้าชั้นบนงามเรียบร้อยดี กุหลาบแตกใบใหม่ทุกๆ ต้น ลูกยอก็ยังติดต้นอยู่ได้ วันนี้ดินเนอขยับขึ้นไปเปน ๘ คน อยู่ข้างจะยัดเยียดสักหน่อย แต่เปนที่พอใจกันมาก
ได้นึกมาหนักต่อหนักแล้ว ว่าการที่มาเที่ยวครั้งนี้มีอะไรไม่สนุก รู้สึกขาดๆ อยู่ พึ่งมาแลเห็นว่าขาดผู้ที่เคยคิดในทางเดียวกัน ซึ่งจะพยักพเยิดกันได้ ฤๅขาดผู้ที่สำหรับขัดฅอ ที่อาจจะขัดเข้ามาตรงเผงให้เราต้องรับว่า ว่าถูก เหตุไฉนจึงมารู้สึกนึกขึ้นได้ว่าขาดเช่นนี้จึงไม่สนุก เพราะเหตุที่ได้พูดกับเวสเตนกาด แต่ที่จริงก็ไม่ถึงเช่นที่ต้องการ แต่มารู้สึกว่าได้พูดกันเข้าเมื่อไรออกสบายๆ แลพึ่งมานึกเอาเข้ารูปได้กับความต้องการในวันนี้เอง จึงรู้ว่าไม่สู้สนุกเพราะเหตุนี้
คืนที่ ๒๑๖
เรือซักเซนในมหาสมุทอินเดีย
วันจันทร์ที่ ๒๘ ตุลาคม
เมื่อคืนนี้นอนไม่หลับ ไม่รู้ว่าเปนด้วยเหตุใด เรื่องนึกถึงบางกอกนั้นอย่างหนึ่งละ คือคิดว่าไปถึงแล้วจะทำอะไรบ้างๆ เลยไปใหญ่ แต่ที่จริงคงมีอะไรไม่สบายเจือด้วย ช่างหาเรื่องอะไรเขียนไม่ได้เสียจริงๆ ตกลงเปนทำใจว่านิ่งเสีย เห็นจะดีกว่าเขียนต่อไปอิก
คืนที่ ๒๑๗
วันอังคารที่ ๒๙ ตุลาคม
วันนี้เรือโงกเงกมากขึ้น เพราะออกมาที่ว่างมาก ในอินเดียนโอชั่นไม่มีเวลาดีมากกว่านี้นัก เคยเหม็นเบื่อแต่ครั้งก่อน ที่จริงใช่ว่าจะถูกมากมาย นับว่าเปนอย่างดี ทั้งไปทั้งมาสองเที่ยวนี่แล้ว แต่ดูไม่ใคร่มีใครเมา เว้นไว้แต่ดิลก วิงเวียนอยู่เปนนิจ กลางวันยังลงมากินเข้าได้แต่ตอนคํ่านี่ไม่รับเข้ารับน้ำ เมื่อขามาเข้าใจว่าเห็นจะกลายเปนขี้เมาไปด้วยกันหมด จึงให้ไปตามพระราชวรินทร์ออกมา แต่ด้วยเดชะบารมีพระราชวรินทร์ ขากลับนี่ไม่มีใครเมา เลยพระราชรรินทร์ไม่ต้องทำอะไร การครัวของพ่ออยู่ข้างครึกครื้นขึ้นมาก ของที่ค้นไม่ได้ตั้งแต่แรกมาก็มาค้นได้บ้าง แต่อย่างร่อแร่เต็มที เห็นจะพอเกลือกกลิ้งไปถึงโกลัมโบได้
คืนที่ ๒๑๘
วันพุฒที่ ๓๐ ตุลาคม
วันนี้ทเลราบราวกับแผ่นกระจก แต่เรือก็ยังโยก ดิลกก็ยังเมา ไม่มีอะไรจะทำเลยนอกจากอ่านหนังสือ ไม่ใช่อ่านหนังสือที่ใครเขียนมาถึง อ่านสมุดเท่านั้น ขึ้นไปหากัปตันบนห้อง แกให้ชาฝรั่งเศสอย่างหนึ่ง ดูหน้าตาจะออกเปนยาต้ม สำหรับกินเวลาก่อนจะนอน แล้วดูต้นไม้กุหลาบแตกใบมาก จนขึ้นไปยันหลังหีบ ต้องเปิดทำเปนโครงหลังคาพอคลุมผ้าเวลาคลื่นจัด
คืนที่ ๒๑๙
วันพฤหัศบดีที่ ๓๑ ตุลาคม
วันนี้ช่างไม่มีอะไรทำแปลกเสียจริงๆ ยิ่งใกล้โกลัมโบเข้ามาเสบียงก็ยิ่งหมด แต่กับเข้ายังดีด้วยเรื่องพลิกแพลง แต่นอนไม่ใคร่หลับ เวลาอื่นอ่านหนังสืออยู่ได้เสมอไม่ได้วาง พอเวลาวางหนังสือก็นอนเฉภาะเวลานั้นเปนกลับไปถึงบางกอก
คืนที่ ๒๒๐
วันศุกร์ที่ ๑ พฤศจิกายน
วันนี้คลื่นยอเรือต้องลักษณะ คือตีท้ายเรือแคมซ้าย ตบหัวเรือแคมขวา เรือกระดิกบิดๆ ไม่ใช่โคลงเคลง ไม่ใช่ฟันคลื่นฉาดๆ คลื่นเช่นนี้ร้ายกาจ ถ้าแรกๆ มาถูกแต่หนืดๆ ก็เมา ลุกขึ้นนั่งล้างหน้าแต่งตัว รู้สึกนึกถึงดิลกทันที วันนี้อาการเพียบกว่าทุกวัน แต่ที่จริงน้ำในทเลเรียบไม่มีคลื่นเลย ลมก็ไม่มี ร้อนด้วย เปนด้วยสายน้ำอย่างเดียวเท่านั้น ชาฝรั่งเศสของกัปตันดีมาก จะต้องไปคิดหาที่โกลำโบ ได้ขึ้นไปหากัปตันแลดูต้นไม้ ค่ำวันนี้อยู่ข้างจะเปนการเลี้ยงใหญ่หน่อย เพราะพรุ่งนี้หวังใจว่าจะไม่ต้องทำอะไร จะได้พบพระยารัษฎา
คืนที่ ๒๒๑
วันเสาร์ที่ ๒ พฤศจิกายน
เมื่อคืนนี้ หลับไปแล้วกลับรู้สึกเวลาเรือมาจอดอยู่นอก แต่เมื่อเวลาเข้ามาในอ่าวเมื่อไรไม่รู้สึก กำหนดเวลาถึงโมงเช้า พระยาคทาธร[๒๔๒] พระยารัษฎา หลวงสุนทร กับแอกติงกงสุล มิสเตอร์กล๊ากลงมาก่อนแล้วชีฟออฟสตาฟ แลเอดิกงเกาวเนอลงมา ได้นัดกับราชองครักษ์ของเราตกลงเปนขึ้นบกเวลา ๔ โมงเช้า โอเบเยเสเกเรลงมาพบกรมหลวงประจักษ์ แล้วหายไปไหนไม่รู้ เหลือแต่ตาซิมอน เฟอนันโด ศรีจันทรเศกระ เปนมุทลิยา ซึ่งกรมหลวงประจักษ์กล่าวว่าเหมือนพระอุดรพิศดาร เคยรู้จักกันแต่ก่อน กับลูกชายลงมาคอยรับอยู่ตามทางที่จะลงเรือเล็ก ให้ดอกไม้แลผลไม้ ลงเรือบาชของเกาวเนอไปขึ้นบก เรือรบในท่าสลูต เซอเฮนรี เอดวาด แมคคัลลัม เกาวเนอลงมาคอยรับอยู่ที่สพาน กับกรมการฝ่ายทหารพลเรือนพร้อมกัน มีกาดออฟออเนอ แล้วขึ้นรถ มีทหารม้า ไปที่กวีนซเฮาส์พบเลดีแมคคัลลัม เซอเฮนรีผู้นี้เคยอยู่สเตรสเสตเตลเมนต์นานถึง ๒๐ ปี เคยไปเที่ยวเมืองตรังกานู เมืองกลันตัน เรื่อยไปจนถึงเมืองสงขลา ได้เคยพบเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) แต่ไม่เคยไปบางกอก เปนคนนักเรียนชั้นเดียวกับเจ้าพระยาสุรวงษ์ อยู่ข้างคุ้นเคยอี๋กันมาก พึ่งมาถึงได้ ๒ เดือน ยังไม่รู้เรื่องอะไรในเมืองนี้เลย เสียใจหน่อยที่ได้ข่าวว่าทางที่จะขึ้นไปอนุราธบุระ หลวงสุนทรขึ้นไป ๖ ชั่วโมงเท่านั้นถึง ถ้าไปรถพิเศษจะกินเวลาเพียง ๔ ชั่วโมง แต่เกาวเนอนี้ยังไม่รู้เรื่องอะไรทางแถบนั้น ชวนแต่จะให้ไปที่อดัมสปิกคือพระบาทเขาสมณกูฎซึ่งแกเคยไป แลอยู่ข้างจะชอบมาก ได้ไล่เลียงหลวงสุนทรเรื่องอนุราธบุระไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเลย เพราะเจ้าหล่อนไม่สันทัดในเรื่องราว ชั่วแต่อ่านไคด์บุกรู้บ้าง แต่ถ้าเราจะไปจริงอย่างน้อยก็ต้อง ๒ วันจึงจะพอ ตกลงเปนวันไม่พออยู่เอง เลี้ยงขนมแลชำเปนที่กวีนซเฮาส์ แล้วเจ้าพระยาสุรวงษ์ไปจัดการ ตกลงกันเปนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สถาน ทางที่ไปไปทางกอลเฟสแดดอยู่ข้างจะร้อนจัด เมืองโกลัมโบที่จริงดูน่าจะอยู่สบายได้ แต่เขากล่าวว่าราคาที่แพงมาก บ้านนอกๆ ที่เปนบังกะโล ดูบ้านหนึ่งที่โตๆ จะโตไปกว่าบ้านพวกวิลันดาตามแถบข้างชวา สระที่มีอยู่เปนอันมากนั้นเปนอันไม่ได้ใช้อะไร ยังคิดจะขุดต่อไปอิกไว้สำหรับปลูกเรือนรอบๆ น้ำใช้น้ำฝังท่อมาแต่เขาอยู่ข้างจะบริบูรณ์ล้นเหลือ ที่มิวเซียมนี้เปนตึกทำงดงามดี เสียใจแต่ข้างในผิดคาด ปันเปน ๓ ห้อง แต่ตั้งของรายลงไปจนเฉลียง เขาได้พาไปโดยความตั้งใจที่จะให้ดูตอนข้างหนึ่งซึ่งไว้ของค้นได้จากเมืองอนุราธบุระ มีแต่เครื่องศิลาทั้งนั้น แต่เครื่องศิลาที่เปนส่วนพุทธสาสนามีนับชิ้นถ้วน ที่เปนสำคัญนั้นคือพระพุทธรูปที่ทำด้วยศิลาแกรไนต์ รูปพรรณ์สัณฐานฤๅขนาดคงจะเท่ากันกับที่เซอเฮนรีเบลกให้ แต่พ่อไม่ได้เห็นองค์ที่เซอเฮนรีเบลกให้ เจ้าของกล่าวว่าแปลกกับพระอื่นๆ หมด ก็น่าที่จะแปลกกับองค์นี้บ้าง แต่พระลังการูปไม่เห็นแปลกกันเท่าใด ดูเหมือนจะมีแต่ ๒ อย่าง คือพระภักตร์เปนรูปไข่ไม่มีรัศมี นั่นเปนอย่างเก่า ที่หน้าตาแตกหักมีรัศมีบานบนเปนอย่างใหม่ มีพระเล็กๆ น้อยๆ อิกสักองค์หนึ่งฤๅสององค์ที่ว่าได้จากอนุราธบุระชำรุดมาก มีโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ยืนเอี้ยวแต่เอี้ยวไม่งามสูงสักคืบเดียวเท่านั้น นอกนั้นเปนเทวรูปอิศวร นารายน์ ทุรคา กาลี ตลอดจนกระทั่งถึงนนทรี แต่จะหาโตสักรูปเดียวก็ไม่ได้ มีรูปใหญ่อยู่รูปหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนเปนพระเจ้าประกะมะพาหุ แต่ก็หล่อด้วยปูนมีเสาศิลาเสาหนึ่ง ฝาปรุกรุระเบียงฝาหนึ่ง ดูหมดเท่านั้นเอง พระพุทธรูปใหญ่ทำด้วยศิลาโกลน น่าตักสักสองศอกคืบฤๅสามศอก องค์หนึ่งเปนศิลาทราย คล้ายๆ ที่เรามีเปนอันมาก มาได้สันนิฐานอย่างหนึ่งว่าพระพุทธรูปที่เรารู้จักอยู่อย่างหนึ่ง คืออย่างเช่นพระพระพิมล (ยิ้ม) ซึ่งตั้งอยู่ที่พระระเบียงวัดเบญจมบพิตร์ ไปรู้กันชัดว่าเปนพระกำแพงเพ็ชรเมื่อขึ้นไปเหนือคราวนี้ พระชนิดนั้นคงจะได้ถ่ายอย่างมาจากลังกาเปนอย่างพระโบราณของลังกา ซึ่งมีอยู่ในห้องอิกห้องหนึ่ง เวลาสร้างวัดที่กำแพงเพ็ชรนั้น พระเถระเมืองลังกาไปเปนแม่การทีเดียว
มีพระพุทธรูปที่งามจับใจอยู่องค์หนึ่ง น่าตักหย่อนศอก เปนพระหล่ออย่างใหญ่ซึ่งพึ่งเคยเห็นในเมืองลังกา เปนรูปชนิดกำแพงเพ็ชร์อยู่ข้างงามมาก แต่พระชงฆ์ทั้ง ๒ ข้างแตกเปิกขึ้นไปจนถึงพระเพลา ซ้ำตั้งบนฐานผิดไม่รู้ว่าไปเอาฐานอะไรมาตั้ง คล้ายฐานศิวลึงค์ จะไล่เลียงว่าได้ที่ไหน ท่านเจ้าพนักงานอยู่ข้างรัวเต็มที พระองค์นี้ถ้าให้ก็เอา ฤๅให้ถ่ายอย่างก็เอา ไม่ห่มผ้าริ้วๆ ด้วย ลักษณมีเค้าพระแก้วมรกฎมาก นอกนั้นไม่มีน่าตักเกินสามนิ้วสี่นิ้วรัศมีโพลงๆ เปนของทำใหม่ทั้งนั้น จึงไปลงสันนิฐานกับท่านเจ้าเมืองแลเจ้าพนักงาน ว่าพระพุทธรูปหล่อในเมืองลังกา ซึ่งเข้าใจว่าไม่มีนั้นน่าจะเข้าใจผิดเห็นจะมีมาก แต่แผ่นดินเมืองลังกาตกอยู่ในผู้ที่ไม่นับถือพุทธสาสนา แลข่มเหงสาสนาอื่น คั่นเปนระยะเปนตอน เช่นพวกทมิฬมาเปนใหญ่ในแผ่นดินเมื่อไรคงจะได้ทำลายเสียคราวหนึ่ง ครั้นพระเจ้าแผ่นดินถือพุทธสาสนาเมื่อไร ก็เกิดมีพระพุทธรูปขึ้นอิกคราวหนึ่ง เพราะผลัดกันทำลายอยู่เช่นนี้ พระพุทธรูปจึงเหลือแต่เก่าที่สุด เพราะเหตุที่ชั้นเก่าทำด้วยศิลา จะทุบจะต่อยให้เลอียดไปก็เปลืองแรงไม่มีประโยชน์ไม่เหมือนพระหล่อ พระหล่อนั้นเห็นจะได้เอาไปทำอื่น เช่นหล่อปืนผาอะไรๆ ต่างๆ เมื่อพูดกันเช่นนี้ มหามุทลิยคนลังกา ซึ่งได้เลี่อนที่เปนแบรอนเน็ตใหม่ เปนเซอร์ซอโลมอนรับยืนยันว่าถูก ตัวได้เห็นเองในการที่หลอมพระลงทำอื่น แต่แกเปนคริสเตียน ออกจะซัดๆ เอาว่าพระรู้เห็นเปนใจด้วย
อิกห้องหนึ่งก็ไว้เครื่องแต่งตัวลังกา แลของใช้ในลังกา ไม่สู้ประหลาดอะไร ปีกหนึ่งของตึกยกไว้เปนที่ทำการ ชั้นบนเปนส่วนที่ไว้รูปสัตว์ต่างๆ
กลับมาที่กวีนซเฮาส์ เวลาเที่ยงลงเรือ กำหนดจะได้ออกเรือบ่ายโมง ๑ แต่โทรเลขไม่แล้ว ต้องรออยู่จนบ่าย ๒ โมงจึงได้ออก
หมู่นี้อยู่ข้างจะรวยของฝากมาก หนังสือเมล์เดิมเข้าใจหมายว่า ๔ กลายเปน ๓ เมล์เท่านั้น ทั้งที่หลวงสุนทรถือมา
ตาจันทรเศกระเอาช้างประดับพลอยมีพระธาตุมาให้ จะไม่รับแต่แกพูดดี แกว่าที่ตั้งทั้งปวงนั้นเปนพุทธบูชาทั้งสิ้น แกไม่ได้ให้ แกให้แต่พระธาตุมาสำหรับบูชาต่างหาก ของที่เปนพุทธบูชาแกจะเอากลับคืนไปก็ไม่ควร เลยต้องให้นาฬิกาทองคำตลับลงยาเรือนหนึ่ง กับท่านศิริสมณะแต่งทูตลงมายื่นหนังสือฉบับ ๑ พระที่เปนทูตนี้เปนพระหนุ่ม แต่ดูฉลาดดี จะว่าอะไรยังไม่ได้อ่าน
วันนี้เลี้ยงกันในห้องอิก ให้พระยาคทาธรมากินด้วย เขาได้ขึ้นไปแกนดี แต่เห็นจะไม่สู้เพลิดเพลินดูยังไม่สบายมาก วันนี้ฝนตกจนได้แต่ตกตอนเช้าก่อนขึ้นบก แลตอนเย็นเมื่อกลับลงมาเรือแล้ว มาตามทางคลื่นกลิ้งเปนอย่างไกวเปล แต่ไม่มากมายอันใด
คืนที่ ๒๒๒
วันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายน
เมื่อคืนนี้เรือโคลงเคลงมาก ทีจะฝนตก เลยโงกเงกมาจนเช้า หมู่นี้อาหารอยู่ข้างบริบูรณ์ แต่ตกลงเปนยังต้องทำเองจึงจะถึงใจ มีหนังสือสำหรับทำมาก ได้เปิดออฟฟิศตลอดทั้งกลางวันกลางคืน เวลาบ่ายมีเลี้ยงน้ำชาของกินเล่น ออกจะค่อยคึกคักขึ้น
คืนที่ ๒๒๓
วันจันทรที่ ๔ พฤศจิกายน
วันนี้ไม่มีอะไรแปลกประหลาดเลย ฝนก็ไม่ตกคลื่นก็ไม่จัดร้อนก็ไม่มาก นับว่าเปนอย่างสบาย ถ้าจะว่าด้วยอาหารก็บริบูรณ์ ห้องหับที่นอนอยู่หลายวันเข้า ก็รู้สึกสบายขึ้นทุกที ที่แคบก็รู้สึกว่ากว้างขึ้น การลดความเคยพอใจลงเช่นนี้ย่อมเปนความลำบากอยู่แต่เวลาแรกแลเห็น อยู่ไปก็เคยรู้สึกสบายไป เมื่อคิดดูห้องเท่านี้จะรู้สึกว่าลำบากอย่างไรได้ พ่อเคยไปเรือแหวดของท่านเล็ก ซึ่งเธอให้ชื่อว่าสุดสงวน ขึ้นลำน้ำสัก อยู่ในเรือเปนหลายวัน รู้สึกกว้างขึ้นทุกวัน กินนอนอยู่ในเรือนั้นเสร็จ ไม่ได้เปลี่ยนขึ้นเรือใหญ่เลย รู้สึกสนุกแลสบายมาก ยังปรากฎแก่ใจอยู่จนเดี๋ยวนี้ มีอย่างเดียวแต่เพียงว่าให้ได้ประดับประดาของเล่นของใช้ ซึ่งเปนที่พอใจที่จะเห็นฤๅที่จะใช้พร้อมอยู่บริบูรณ์แล้วก็พอใจ รู้สึกสบายขึ้นทุกที ทั้งหมู่นี้มีงานทำพอเหมาะแก่เวลา เปนเหตุให้เพลิดเพลินใจได้มาก จึงไม่อยากจะบ่นเดือดร้อนอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปอิก
คืนที่ ๒๒๔
วันอังคารที่ ๕ พฤศจิกายน
วันนี้กัปตันลงมาพูดว่ากลัวเรือจะไม่ถึงได้ในเวลาบ่าย ๔ โมง เพราะน้ำเชี่ยวมาก แต่ในเวลาเที่ยงแลเห็นเกาะสุมาตรา ปูโลไวย เราก็รู้สึกว่าถึงเสียแล้ว การที่เรือจะไปถึงช้าเกินเวลานั้นเปนข้อที่ไม่ควรจะคำนึงมาแต่แรก เพราะเรือออกช้าเกินกำหนด จะลำบากแต่เรื่องขนของในเวลากลางคืน แต่เมื่อขึ้นไปพูดกับกัปตันบนห้องเขารับจะจัดการไม่ให้วุ่นวายในเรื่องนั้น วันนี้ไม่มีคลื่นมีลมเงียบสนิทเปนเรือเดินในแม่น้ำ แต่เย็นไม่ร้อนด้วย แถบสุมาตรานี้น่าจะเปนที่เที่ยวหนีฝนได้สักแห่งหนึ่ง พวกชวาเขาชวนหลายหนแล้ว ยังไม่มีเวลาจะมา ความเข้าใจของยุโรเปียนที่ไม่ได้มาข้างตวันออก นึกว่าเมืองแถบข้างนี้คงจะเหมือนอิตาลีข้างใต้ มักจะถามว่ามีความรำคาญไหมที่มาเห็นท้องฟ้าเปนสีเทา ไม่เปนสีน้ำเงินใสเหมือนข้างแถบบ้าน จะงดงามสบายมาก ที่จริงอากาศแถบข้างเราไม่เหมือนอิตาลีข้างใต้เลย ท้องฟ้าเปนสีน้ำเงินจริงอยู่แล แต่มีเมฆสีขาวสีเทาต่างๆ เปนเครื่องประดับอยู่โดยมาก งามกว่าฟ้าเกลี้ยงๆ ของอิตาลี วันนี้ท้องฟ้างามมีเมฆสีขาวแลสีแดงต้องแสงพระอาทิตย์ มีพยับฝนดำทึบเปนก้อนลอยอยู่ทางอิตาลี ถึงจะมีแสงอาทิตย์จับอากาศ ก็เปนแสงอาทิตย์จับหมอกแบนราบๆ ไป แถบข้างนี้งามกว่า ดูก็ประหลาดอยู่ในเวลาเดินทางเมื่ออยู่ในยุโรปมีแต่ฝนตกร่ำไป เวลาเดินทางมาฝนค่อยหายไปหายไปจนกลายเปนแห้ง รู้สึกว่าไม่มีน้ำสักหยาดเดียวในอากาศ จนกระทั่งมาถึงลังกาเปลี่ยนใหม่ กลายเปนอากาศมีน้ำฝนตกชุ่มชื้นไปใหม่ ดูเหมือนฤดูได้เปลี่ยนเร็วจริงๆ ใน ๑๕ วัน ถ้าจะไม่ให้เห็นอะไรเลยอยู่มาแต่ในห้องเรือ ก็อาจจะสังเกตได้ว่าเดินทางมาถึงท่อนไหนแล้ว
ค่ำวันนี้เปนวันเลี้ยงกันใหญ่กว่าทุกวัน เพราะเปนคืนที่สุดในเรือลำนี้
คืนที่ ๒๒๕
วันพุฒที่ ๖ พฤศจิกายน
เมื่อคืนนี้ถึงเสียยังรุ่ง นอนไม่หลับ มาหลับต่อเช้า สุดแต่พอเผลอๆ ลงไปก็ถึง มีความเสียใจที่จะตื่นขึ้นรู้ว่า กำหนดที่จะถึงนั้นเลื่อนออกไปอิกคั่นหนึ่ง แต่ถึงจะเลื่อนออกไปเท่าใดก็ไม่เปนการปลาดใจ เพราะไม่เคยเชื่อกำหนดที่เคยบอกแต่สักครั้งเดียว ความแน่ใจยืนอยู่เสียว่าจะถึงต่อวันที่ ๗ เขาบอกว่าอะไรก็ฟังไปกระนั้นเอง เพราะไม่เห็นแน่สักทีเดียว มามีตรงอยู่แต่ถึงเอเดน แต่เพราะเอเดนเดิมบอกว่าไม่ต้องแวะ กลายเปนต้องแวะจึงไม่ควรจะนับว่าเปนการแน่อย่างไร แต่การที่เคลื่อนคลาศครั้งนี้ เปนเพราะเขาต้องรอโทรเลขเราด้วยสักชั่วโมงหนึ่งนั้นเปนแน่ แต่เขาไม่ยกขึ้นกล่าว เขากล่าวว่าเพราะน้ำเชี่ยวทวนข้างน่า ทำให้ช้าลงไปวันละชั่วโมง ถ้าหากว่าเปนเรือมหาจักรีฤๅเรือพม่า เขาคงเผื่อเวลาพอแก่เหตุผลซึ่งจะเกิดขึ้นโดยไม่แลเห็น เราต้องรู้แน่นอนไม่มีเคลื่อนคลาศ ว่าเราจะถึงแห่งใดเมื่อใด เดชะบุญที่เราไม่ได้ลงเรือนี้มาแวะแห่งหนึ่งแห่งใด อันมีที่หมายว่าแห่งนั้นจะจัดการรับรอง หาไม่เราจะเปนผู้เคลื่อนคลาศเวลานัดให้เขาคอยค้างอยู่เปนนิจ
หนังสือฉบับนี้เปนฉบับหลังที่สุด ซึ่งจำจะต้องจบด้วยเหตุดังจะกล่าวต่อไป (๑) ตั้งแต่แรกที่จะได้ลงมือเขียน ตั้งใจเสียแล้วว่าจะไม่พูดถึงราชการอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ถ้าจะเขียนต่อไปจากเกาะหมากจะต้องกลายเปนพูดถึงราชการไปเสียแล้ว (๒) หนังสือนี้ให้ชื่อไว้ว่า “ไกลบ้าน” เมื่อถึงเกาะหมากแล้วจะเรียกว่าไกลบ้านไม่ได้ ถ้าขึ้นฝั่งไปหน่อยก็ถึงเมืองเราเสียแล้ว ถ้าเขียนก็เปนไม่คงตามชื่อว่าไกลบ้าน (๓) ลูกผู้ซึ่งเปนตัวผู้ที่จะรับหนังสือก็จะได้พบกันในวันนี้ เมื่ออยู่ด้วยกันทำไมจะเขียนหนังสือถึงกันเล่า เหตุผลทั้งปวงมาประชุมพร้อมกันว่าต้องหยุดเขียนหนังสือในวันนี้
มีผู้เขามักถามว่าไปยุโรปเห็นอย่างไรบ้าง คำถามอันนี้ก็มีทางตอบหลายอย่าง ตามน้ำใจผู้ใดซึ่งชอบทางใด ฤๅได้ใส่ใจในเรื่องอะไร แต่ใจพ่อเองมันแลกว้างๆ มากไป เห็นว่าประเทศยุโรป ว่าโดยภูมิ์พื้นแผ่นดิน มันหมดดีเสียแล้วไม่มีอะไรดีต่อไปอิก จะว่าที่เรือกสวนไร่นาป่าไม้ไร่หญ้าได้ทำแล้วเต็มภาคภูมิ์ จนไม่มีที่อิกสักคืบฤๅเกรียกหนึ่งจะขยายออกไปอิก เว้นไว้แต่ภูมิ์ลำเนาซึ่งเปนที่ดาดลาดล้วนแต่ศิลาฤๅกรวดตะกรัน ซึ่งจะทำอะไรไม่ได้จริงๆ จึงยักย้ายไปใช้อย่างอื่น ในการบำรุงเรื่องเพาะปลูกก็ได้ทำเต็มบริบูรณ์แล้ว แผ่นดินนั้นอาจจะปรุงด้วยสิ่งใดอันจะให้เกิดพืชผลดีได้ปรุงแล้ว แลได้พืชผลดีเต็มที่แล้ว มันไม่มีอะไรจะดีขึ้นไปได้อิก
ส่วนแร่โลหธาตุอันใดซึ่งจะเปนประโยชน์ใช้ได้มีถ่านศิลาเปนต้น ไม่มีเหลือแต่สักแห่งหนึ่งที่ยังไม่มีผู้ใดรู้ ไม่เหลือสักแห่งหนึ่งที่ยังไม่ได้ลงมือทำ ล้วนแต่มีเจ้าของทำอยู่แล้วทั้งนั้น ยังมีอยู่มากจริงแต่มีเวลาหมด จะไปภายน่าอิกกี่พันปีก็ตาม ข้อที่หมดยังไกล ยกเสียไม่เอามาคิด แต่นี่มันมีเจ้าของเสียหมดแล้ว ไม่มีผู้ซึ่งจะได้ขึ้นใหม่ นอกจากต้องเสียเงินซื้อแลกเปลี่ยน
พื้นแผ่นดินไม่ใช่คนจะแน่นยัดไปหมด เช่นคนแต่ก่อนเล่าๆ กันว่าเมืองจีนคนแน่น เดินไปข้างไหนก็เต็มไปด้วยคน คนผู้ใหญ่ชั้นหลังๆ มักจะพูดถึงยุโรป เข้าใจว่าคล้ายกันกับเมืองจีน จนเมื่อเวลาเด็กดูเหมือนทำให้เข้าใจว่าคนมันยุ่บๆ ไปเหมือนมดเมื่อคาบไข่พาเดิน ความจริงคนมาก แต่ที่เหลือถมไปที่จะอยู่ เติมอิกเท่าไรๆ ก็ได้ไม่อัดแอแต่คนมันต้องกิน เมื่อที่ซึ่งจะเกิดพืชพรรณ์สรรพอาหารสำหรับจะกินมันได้ทำเต็มบริบูรณ์แล้ว มันพอดีกันกับคนในเวลานี้แล้ว คนเกิดใหม่ๆ มากขึ้นเสมอ แผ่นดินไม่พอจะเลี้ยงชีวิตรมนุษย์ที่เกิดขึ้นใหม่ เพราะเหตุที่มันหมดดีในพื้นประเทศยุโรปเสียแล้ว จึงต้องคิดขยับขยายค้าขาย ไปหาอาหารประเทศอื่นมากิน ฤๅหาเงินจากประเทศอื่นมาซื้ออาหารกิน
ที่ทำมาหากินของฝรั่ง ได้อเมริการับรองไปเสียเปนนักเปนหนาแต่ก็ไม่พอ อาฟริกาก็แย่งกันเปนเจ้าของจนเกือบจะหมดแล้ว ออสเตรเลียก็ไปทำมาหากินกันจนหมด เอเซียก็จับเข้าไปเสียเปนอันมาก จับทั้งขอบรุ้งทั้งภายใน เหตุที่เปนทั้งนี้ก็เพราะยุโรปมันหมดดี ชาวยุโรปก็ต้องกระจายออกไป ที่ไหนว่างมากที่นั่นก็จะเต็มออกไป เพราะมันเปนธรรมดาของโลกย์ มนุษย์ไม่มีใครที่จะยอมตายง่ายๆ ใช่แต่เพียงจะพอไม่ให้ตาย ย่อมปราถนาที่จะได้ให้มากที่สุด ให้แลเห็นว่าจะได้ยืดยาวแลมั่นคงไม่มีที่สุด นี่เปนความปราถนาของมนุษย์ ถึงใครจะชมฤๅจะติมันก็คงเปนไปเช่นนั้น ไม่มีใครจะย่อหย่อนต่อคำชมฤๅคำติ ผู้ซึ่งมีความปราถนาเช่นนี้ทั่วกันย่อมเดินทางต่างๆ ซึ่งจะให้สำเร็จประโยชน์อย่างดีที่สุดในปลายมือ ก็เปนธรรมดาผู้ที่มีความรู้มาก ที่มีความคิดมาก ที่มีความเพียรมาก แลที่มีทุนมากอาจจะหาได้คล่องกว่าผู้ซึ่งไม่มีเช่นนั้น ถึงว่าได้เปนเจ้าของอยู่แล้วแต่หากความรู้น้อยไปบ้าง ความคิดอ่อนไปบ้าง ความอุสาหะอ่อนไปบ้าง ทุนรอนบกพร่องบ้าง ก็ต้องเสียทีแก่ผู้ซึ่งประกอบพร้อมด้วยกำลัง ๔ อย่าง ความเปลี่ยนแปลงแลคืบออกของมนุษย์ จึงได้เดินป่วนปั่นอยู่เปนนิจไม่มีเวลาสงบเรียบร้อยได้ในโลกย์
แต่มีอิกอย่างหนึ่งซึ่งนอกจากความหมดดีของยุโรป เปนฝักฝ่ายข้างความเจริญของยุโรป คือความรู้แลความคิดทั้งความเพียรซึ่งจะประกอบโลกธาตุให้เปนผลดีขึ้น เปนเครื่องมือที่จะกระทำให้สำเร็จประโยชน์เกื้อกูลแก่การหาผลนั้น เปนข้อที่น่าพิศวงอย่างยิ่ง ความรู้จักใช้พืชพรรณ์แลธาตุของโลกย์ให้เปนผลประโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่มนุษย์โดยลำดับ นับ ๖๐๐๐ ปีมาแล้ว มีเวลาเสื่อมสูญลืมไปเสียบ้างก็มากลับคิดขึ้นได้กาลบัดนี้หมด ไม่แต่เท่านั้นกลับทวีหนักขึ้น เมื่อความรู้สิ่งนี้ตั้งขึ้นเปนหลักถาน ก็เปนทางความคิดที่พิศดารเกิดขึ้น อาจจะออกสาขาไปจนหมดทางซึ่งจะทำได้ เช่นกับรู้จักใช้ไอน้ำ ไอน้ำอาจนำไปใช้สารพัดทุกอย่าง จนกระทั่งถึงเวลานี้กำลังไฟฟ้า ไฟฟ้าอาจจะใช้สารพัดทุกอย่าง แลกำลังเดินขึ้นอยู่เสมอ ใครจะทำนายไม่ได้ว่าไฟฟ้าอาจจะให้ผลอย่างไร ต่อไปภายน่าถึงที่สุดเพียงไหน ฤๅจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไปภายน่าดีขึ้นไปกว่าไฟฟ้า ใครเลยจะแลเห็นได้ ถ้าจะพรรณาด้วยความเห็นในส่วนวิชานี้แล้วจะกินเวลามาก จะพาให้หนังสือนี้จบลงไม่ได้ทันเวลา
เพราะเหตุฉนั้นขอรวมย่อความเพียงว่า พื้นภูมประเทศยุโรปนั้นมันหมดดีเสียแล้ว แต่ความรู้ในประเทศยุโรปไม่ใช่แต่เวลากำลังที่เดินขึ้นสู่ความเจริญ มันกำลังเดินกระโดดโลดโผนซึ่งจะเดินตามยาก นี่เปนส่วนข้างฝ่ายดีของประเทศยุโรป
เวลาเมื่อกำลังเขียนอยู่นี้ ชายอุรุพงษ์มาบอกว่าแลเห็นเรือรบของเราแล้ว ใจเต้นปึ้กๆ เหลือที่จะเขียนต่อไปอิกได้ เมื่อความใกล้บ้านมาปรากฎแก่ไนยตาเสียแล้ว หนังสือนี้ก็หมดอายุ จึงเปนการจำเปนที่จะต้องขอจบในเวลานื้
ใจเต้นที่จะได้พบกันเดี๋ยวนี้
หนังสือนี้จากพ่อผู้มีความรักอย่างยิ่ง
จุฬาลงกรณ์ ป. ร.
[๒๔๐] พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ (กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี)
[๒๔๑] คือในจดหมายเหตุเสด็จยุโรปครั้งก่อน
[๒๔๒] พระยาคทาธรธรณินทร ชุ่ม อภัยวงศ ต่อมาได้เปนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร