พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๕

คัวรเฮาส์ที่ประชุมชนณเมืองฮอมเบิค

คัวรเฮาส์ที่ประชุมชนณเมืองฮอมเบิค

คืนที่ ๑๔๙

วิลลาเฟอร์สเตนรูห์ เมืองฮอมเบิค

วันพฤหัศบดีที่ ๒๒ สิงหาคม ร. ศก ๑๒๖

หญิงน้อย

วันนี้ไม่เปนอันที่จะทำอะไรได้ เร่งการอะไรที่คั่งค้างเล็กๆ น้อยๆ แต่มันหลายอย่างเข้ามันก็เลยมาก แล้วต้องมานั่งให้ช่างปั้นรูป จนกระทั่งเวลาบ่าย ๕ โมงจึงได้ออกจากเรือน ไปดูรูปม้าที่ช่างปั้นจะทำรูป ทางอยู่ข้างจะไกล ไปด้วยรถโมเตอร์คาร์ ทางแขวง มองต์ปาร์นัสส์ ซึ่งเปนที่ตอนคนจนอยู่ ที่ซึ่งช่างปั้นอยู่นั้นเขาเรียกว่าถนนช่าง มีช่างเขียนช่างปั้นอยู่แถบนั้นโดยมากเปนที่เงียบ โรงที่ปั้นนั้นลึกเข้าไปจากถนนใหญ่อิกชั้นหนึ่ง เขาปั้นม้างาม แต่รูปข้างบนนั้นใช้ไม่ได้ ผอมด้วยเอารูปกิงออฟสเปนมาเปนตัวอย่าง ในเรื่องปั้นรูปยังไม่เปนการเลย ทั้งรูปที่สำหรับจะขี่ม้า แลรูปที่สำหรับจะหล่อเล็กๆ เรื่องปั้นรูปนี้จะทำตามรูปถ่ายไม่ได้เปนอันขาด เพราะเงารูปมันนูนขึ้นมาไม่พอ รูปเล็กที่ทำไว้แบนไปหมด รูปใหญ่แก้มตอบแลเหี่ยวเปนกลีบๆ ปากตุ่ยๆ แต่ช่างปั้นมันดีเสียจริงๆ พอพ่อลงไปนั่ง ฉวยดินปับก็แตะหัวก่อน แก้หัวเสร็จแล้วจึงมาแก้หน้า ถมแก้มที่ลึกให้ตื้น ปะขมับที่ทำรัดไว้ให้นูนขึ้น ลดกลีบหน้าแก้คิ้ว ที่ประดักประเดิดมากอยู่ที่ปาก เมื่อแรกพ่อออกจะฉุนๆ ว่าต้องไปนั่ง แต่พอเห็นมันแตะเข้าสองสามแตะ รู้ทีเดียวว่ามันดี เลยหายฉุนนั่งดูเสียเพลิน เขาขอชั่วโมงเดียว พ่อนั่งให้กว่า ๒ ชั่วโมง แต่ถึงกระนั้นก็ยังเอาดีไม่ได้เวลาไม่พอต้องมาทำที่ฮอมเบิคต่อไปอิก แต่รูปม้านั้นทีเดียวได้ เพราะมีตัวอย่างรูปปั้น พ่อออกจะยอมเสียแล้ว ว่าฝรั่งเศสไวกว่าอิตาเลียนมาก ฝีมือที่ทำมันเล่นข้างเหมือนมากกว่าอิตาเลียน อิตาเลียนเล่นข้างขาดัดจริต ชั่วแต่ตรงไปที่ช่างปั้นแล้วก็กลับเท่านั้น จะบอกว่ามาทางไหนให้ชัดเจนยากเต็มที เพราะถนนในเมืองปารีสนั้นเหลือคเนเหลือคแนนที่จะนับได้ เขาปันเปนถนนหนึ่งอยู่เปนพวกๆ เช่นถนนออบเซอเวตอรี คือที่สำหรับดูเดือนดูดาวก็ถนนหนึ่ง เปนอาเวนิวใหญ่ ถนนสตูเดนต์ พวกนักเรียนก็ถนนหนึ่ง มีที่ฝึกหัดเต้นรำแลอะไรต่างๆ เปนต้น กลับมาลิเคชั่น รออยู่จนเวลา ๒ ทุ่มจึงได้ไปที่สเตชั่น มองสิเออโมลาต์แลนายทหารที่มาอยู่ด้วย กับมองสิเออเดอฟรางศ์ไปส่ง รถที่มาวันนี้เปนรถนอน แต่ที่นอนมันแคบ อาลเบอสเขาจัดใหม่ สบายพอใช้ คราวนี้นับว่าเปนมามากกว่าทุกคราว คือลูกเอียดเล็ก, แดง, ติ๋ว, กรมประจักษ์กับลูกชายทองรอด[๒๐๗]มาสมทบด้วย

สวนหน้าคัวรเฮาส์เมืองฮอมเบิค

สวนหน้าคัวรเฮาส์เมืองฮอมเบิค

คืนที่ ๑๕๐

วิลลาเฟอร์สเตนรูห์ เมืองฮอมเบิค

วันศุกรที่ ๒๓ สิงหาคม

นอนหลับได้ แต่จวนสว่างแสงสว่างส่องตื่นแต่เช้า กินเข้าในรถไฟ เวลามันเปลี่ยนกันทุกคราว ที่เข้าแดนฝรั่งเศสฤๅแดนเยอรมัน พอเข้าแดนไหนแล้วหมุนนาฬิกาเสียชั่วโมงหนึ่ง ที่ผิดกันถึงชั่วโมงเช่นนี้ไม่ใช่ความจริง เปนเวลาที่ต่างคนต่างกำหนดจะใช้คนละลัทธิเท่านั้น เมื่อมาอยู่ที่นี้ก็ต้องใช้ลัทธิเยอรมัน จึงมาถึงเวลาสามโมงเศษ มีแบรอนมัลต์ซานคนหนึ่ง ซึ่งเปนผู้รักษาที่อาบน้ำ เขาว่าเปนคนโปรดของเอมเปอเรอกับเบอร์โกมาสเตอร์ รับที่สเตชั่น มีคนที่หลังสเตชั่นมาก เสียงเกรียวกราว ตามทางที่ขึ้นมาเห็นมีคนอังกฤษมาก ที่ซึ่งพ่อมาอยู่นั้นเปนวิลลาหลังหนึ่งในหมู่แครนด์โฮเตล เรียกว่าวิลลาเฟอร์สเตนรูห์ Fürstenruhe ภาษาไทยเขียนไม่ถูกเพราะสระไม่หอ แปลว่าเปนที่พักของเจ้า อยู่ถนนข้างหนึ่งต่างหากหลังแครนด์โฮเตล แครนด์โฮเตลอยู่ถนนหนึ่งต่างหาก ถนนน่าเรือนนี้เงียบไม่ใคร่จะมีรถเดิน ทางน่าโฮเตลเปนถนนค้าขายมีร้าน รถเดินมาก หลังโฮเตลแลวิลลาเปนสวนเดินตลอดถึงกัน วิลลานี้ว่าเปนที่เอมเปอเรอเฟรเดอริกเคยประทับ ห้องนั่งแลห้องนอนบานประตูมีรูปมงกุฎติด แล้วมีหนังสือฉลากบอกว่าห้อง ไกซา เฟรเดอริช ชั้นล่างตรงกัน ว่าห้องไกซริน เฟรเดอริช ที่วิลลานี้ตกแต่งอย่างใหม่ เครื่องเฟอนิเชอก็หมดจด ห้องน้ำออกจะมีแปลกๆ เปนห้องเล็กๆ แต่สบายดีกว่าที่บาเดนบาเดนจะมีขัดข้องก็แต่เรื่องเฉลิมพระชนม์พรรษาซึ่งคิดจะทำที่นี่ ห้องพิธีคงต้องอยู่ที่ห้องนั่งจะต้องจุดเทียนมากออกร้อนๆ เพราะมันแคบ กว่าจะถึงเวลานั้นจะหนาวขึ้นอิก เห็นจะไม่เปนไร การเลี้ยงคิดจะไปเลี้ยงที่โฮเตล ซึ่งเดินไปมาได้ง่าย

พอมาถึงได้ครู่หนึ่ง คิดจะไปดูท่วงทีว่าจะมีที่เที่ยวอย่างไรบ้าง จึงขึ้นรถให้คนขับรถพาไป ตามแต่เขาจะไป พาเข้าป๊ากก่อน เห็นที่อาบน้ำ ไม่โตเหมือนอย่างที่บาเดนบาเดน แต่ป๊ากงามดี ต่อไปออกทุ่งนาแล้วไปตามทางผ่านทุ่ง ซึ่งมีต้นไม้สองข้างงาม ที่สุดนั้นเข้าป่าสนเปนถนนตรงลิ่วไปดูงามดี อิกหน่อยหนึ่งถึงคอกที่เลี้ยงกวาง ได้เข้าไปดูกวางที่นี่เชื่องอย่างยิ่ง คนที่เลี้ยงมีลูกผู้หญิงคนหนึ่ง ดูกวางมันรู้จักดี เสียงตาคนเลี้ยงก็จำได้ เรียกกันได้กระดิกหางรับเหมือนหมา เราเปนคนจรเข้าไปก็ไม่ได้ตื่นได้แปลกอะไรเลย เข้ามาตอมตามมือหมายว่าจะให้ของกิน เรื่องกวางนี้ได้นึกจะพูดหลายหนแล้ว ว่าข้อที่หารเรื่องสุวรรณสาม ว่าเอาหม้อน้ำตั้งบนหลังกวาง พูดมากเกินไปนั้น พ่อจะรับยืนยันว่าได้จริงๆ ยิ่งมาเห็นวันนี้ยิ่งเห็นหนักขึ้นจนนึกขึ้นมาได้ นางผู้หญิงนั้นเดินกวางตามเปนพรวน เกาะหลังเกาะไหล่กันมาได้สบาย ก็ด้วยเมื่อว่าผู้หญิงนั้นไม่ทำอันตรายอย่างหนึ่ง ให้ของกินเสมออย่างหนึ่ง ของกินนั้นก็หญ้ากับมัน ขนมปังเปนอติเรกลาภเมื่อคนไปดู พระสุวรรณสามอยู่ป่ามีหญ้ามีมันให้กินถมไป เพราะอาหารพระสุวรรณสามเองก็เช่นนั้นอยู่แล้ว เปนคนใจดีปรากฎชัดเจนตามเรื่องเหตุไฉนเนื้อจะไม่ติด ลองให้กรมสมมตออกไปอยู่ป่าเนื้อก็คงติด แต่ดูพรรณมันปะปนกันอย่างไร ลางตัวก็เกลี้ยงๆ สีแดงๆ ลางตัวก็มีดาว ลางตัวก็สีขาว ตาคนเลี้ยงแกว่าเมื่อก่อนมันเหมือนกันทั้งนั้น มันมากลายลงเมื่อเราเลี้ยงไว้ในป๊าก ด้วยพื้นที่ผิดกันกับป่า พ่อไม่เชื่อด้วยแดงล้วนก็เคยเห็น จุดล้วนขาวล้วนก็เคยเห็น ขาวล้วนที่เวลเบกแอบเบมีมาก ขาวทั้งนั้นไม่มีอื่นปน เขากั้นลวดเปนคอกไว้พวกละคอกรักษาพรรณไว้ได้ นี่กลัวจะคละกันมาเสียแต่แรก ตาคนเลี้ยงแกจะไม่รู้ กวางเหล่านื้เปนกวางของหลวง มีประมาณสัก ๖๐ เศษเท่านั้น ตานี่แกเลี้ยงงูไว้ในตู้กระจกด้วย กลับมาทางซอกแซกในป่า แต่ไม่ใช่ป่าสน รถที่นี่ใช้เบร๊กจัดเต็มที ลงเขาจนเราเกือบจะไม่รู้ว่าลงเขาก็ใช้เบร๊ก รู้ว่าเปนเขาเพราะลงเบร๊ก ที่จริงในที่ใกล้ๆ ไม่มีเขา เห็นแต่เปนเขาเทือกยาวลึกเข้าไปทางในป่า เรียกว่าเขาเทานุส มีเวลาที่จะได้ไปเที่ยวต่อไปข้างน่า พักไว้ที คราวนี้มาในทุ่งผ่านน่าวิลลาที่เราอยู่ห่างๆ มีลำน้ำอยู่ในระหว่างนั้นเห็นจะเล็กเต็มทีจนแลไม่เห็น ด้วยสายน้ำกัดลึกลงไปมาเลี้ยวข้ามตพาน มาถึงเมือง เมืองใหม่มีถนนรีถนนขวางสักสี่ห้าสาย มีร้านขายของบ้าง แต่โฮเตลแลเปนพื้นทั่วทุกถนน เมืองเก่าอยู่ข้างในเข้าไป ทางต่อป่าสนเปนบ้านซับซ้อนกันสองหมู่ หมู่นอกมีวัดสองวัด แลวัง วังนี้เปนวังของเอมเปอเรอเฟรเดอริกสร้าง ภายหลังเอมเปรสเฟรเดอริกอยู่ จนสิ้นพระชนม์ในที่นี้ การที่พ่อดูวันนี้เปนประเมินทั้งนั้นยังจะผิดได้มาก เพราะฉนั้นงดไว้เสียอย่าเพ่อเล่าเลยเห็นจะดี รวมใจความว่าเล็กกว่าเมืองบาเดนบาเดนมาก เมืองบาเดนบาเดนเปนชิ้นเก่า รู้จักกันมาแต่ครั้งโรมันตั้งพันปี เมืองนี้พึ่งจะมารู้จักกันขึ้นเรื่องน้ำเรื่องท่าเหล่านี้เมื่อ ๕๐ ปีเท่านั้น เวลานั้นเปนเมืองเจ้า เจ้าครองเมืองไปได้เจ้าอังกฤษมาเปนเมีย เจ้าอังกฤษผู้หญิงคนนั้นเปนคนคิดเริ่มสร้างอะไรๆ ให้เปนที่อาบน้ำขึ้น คนที่คิดสร้างที่อาบน้ำในเมืองฝรั่งนี้ มีอภินิหารคล้ายกันกับพระครูส่าน, ท่านเจ้ามา[๒๐๘], สร้างพระบาทวัดบางว้า วัดสามปลื้ม ถ้าใครสร้างให้คนไปติดได้ก็เก่ง บารมีถึงได้มอนิวเมนต์ เจ้าหญิงคนนี้ยังไม่เคยรับมอนิวเมนต์ เห็นจะเปนด้วยเวลายังมีพระชนม์อยู่นัดคนขึ้นพระบาทยังไม่ติดดี เอมเปอเรอแลเอมเปรสเฟรเดอริกก็เกี่ยวด้วยอังกฤษ จึงมาโปรดปรานที่นี้ ทรงปฏิสังขรณ์มาชั้นหนึ่ง ยกขึ้นเปนพระอารามหลวง แต่มาเฟื่องฟูหนักก็เพราะเอมเปอเรอวิลเลียมที่ ๒ แลกิงเอดเวอดเอมเปอเรอเปนเจ้าของพระอาราม กิงเอดเวอดเปนหัวน่ามรรคนายก เสด็จไปมาตั้งต้นขึ้น ก็ชักโยงสัปรุษอังกฤษมาติดที่นี้มากขึ้น เพราะฉนั้นในที่นี้จึงมีคนอังกฤษแลเยอรมันมาเที่ยวมากกว่าชาติอื่น องค์ของที่อาบน้ำ ก็ต้องมีป๊ากอันหนึ่ง มีที่อาบน้ำอยู่ในนั้น สำหรับใครจะไปอาบแลเดินได้ มีคัวรเฮาส์สำหรับที่ประชุม นั่งเล่นแลกินเข้า มีร้านขายของสิ่งละอันพรรณละน้อย แต่ที่เปนสำคัญต้องมีบรรเทิงทัศนาการ สำหรับไปหาของเก่าๆ เล่น ต้องมีโฮเตลดีๆ มีวิลลาเล็กๆ งามๆ ให้สบาย ถนนต้องเรียบร้อยสอาด แต่งเมืองทั่วไปให้เหมือนอย่างกับเปนสวน เพราะเหตุว่าเมืองเช่นนี้ย่อมจะไม่ใหญ่โตเหลือเกิน รถม้าก็ใช้น้อยคนที่มาอยู่จะไปเที่ยวเตร่ก็เดินโดยมาก เพราะหนทางสอาดสบายต้นไม้ร่มรื่นเหมือนเดินในสวน ที่คัวรเฮาส์ ๗ วันต้องจุดไฟวันหนึ่ง ไฟนั้นก็จุดลักษณเดียวกัน คือตอกห่วงขึ้นไปตามต้นไม้ใหญ่ จุดตเกียงสีเขียวสีแดงเปนเกลียว ตั้งถ้วยมีเทียนแฟรีในนั้น รายไปตามพื้นเปนลวดลายฤๅเปนรูปอะไรๆ ตามแต่เหตุผลจะให้ทำ เช่นกับมีผู้มีบันดาศักดิ์มาอยู่ในที่นั้น ก็ทำเปนตัวหนังสือชื่อฤๅตราอาร์มตามแต่จะทำได้ ต้องมีดอกไม้เพลิง ดอกไม้นั้นก็จุดกร่อยๆ ทีละต้น มีแตรทุกวัน มีอาหารดีๆ ที่คนไปกินได้ ต่อนั้นไปต้องเลือกภูมิประเทศซึ่งมีที่เที่ยว ขับรถไปเข้าป่า ฤๅไปดูอะไรประหลาดๆ ในเมืองนั้นเองได้ พวกอย่างเช่นถ้ำประทุน ถํ้าชาละวัน ถํ้ามหาสนุก ไม่ต้องถึงไปค้างค่ำค้างคืนไปเช้าฤๅเย็นได้ สำหรับเบื่อในเมืองจะได้ออกห่างออกไป ยังมีที่ต้องไปรอบนอกได้อิกชั้นหนึ่ง ด้วยรถโมเตอร์คาร์ฤๅรถไฟ จะไปค้างคืนก็ได้ ไม่ค้างคืนไปวันยังค่ำกลับมาก็ได้ ลักษณสระบุรีกับพระฉาย ถ้าตำบลใดประกอบด้วยองคคุณดังกล่าวมานี้แล้วก็อาจจะเปนที่อาบน้ำได้ แต่ใช่ว่าจำเปนจะต้องอาบ มาเที่ยวเล่นเฉยๆ ไม่ต้องอาบนั้นโดยมากกว่าอาบ เปนที่หนุ่มสาวประชุมกันจอแจนั้น ก็เหมือนกันกับพระบาททั้งปวง จึงกล่าวว่าที่อาบน้ำเหมือนพระบาทด้วยประการฉนี้

นั่งจัดรูปจนบ่ายหาวนอน เพราะเมื่อคืนนอนน้อยจึงไปนอนพัก เวลาค่ำกินเข้าแล้ว บารอนฟอนมัลต์ซาน ซึ่งเปนผู้จัดการมาบอกว่าจะมีดอกไม้เพลิงให้ จะไปก็ได้ไม่ไปก็ได้ ตกลงเปนไป ขึ้นที่คัวรเฮาส์ด้านข้างถนน ในนั้นไม่มีคน คนไปนั่งกินเข้าอยู่ที่เฉลียง มีปรินซไอเตล เฟรเดอริช ลูกที่ ๒ ซองเอมเปอเรอ แลแกรนด์ดุ๊กอาเลกซิส มานั่งกินเข้าอยู่ในหมู่คนนั้นด้วย แต่ไม่เห็นกัน เจ้าที่มาอยู่นี่อิกสองคน ปรินซซาลสออฟเฮสแลเมียอยู่ที่โครนเบิคไกลออกไป เห็นจะเปนที่ของเขาเอง ปรินซออฟโอลเดนเบิคอยู่ที่นี่คนหนึ่ง การแต่งไฟในสวนก็เปนอย่างเช่นที่ว่าแล้ว แต่มีรูปช้างจุดด้วยตเกียงอยู่ในกลางสนาม แล้วจุดดอกไม้เพลิงก็จุดทีละต้นอย่างเดียวกันตามเคย แต่มีอาร์มเมืองไทยอย่างที่มีในสมุดสแตมป์โบราณ เป่าแตรสรรเสริญบารมี ต่อไปก็มีดอกมะตาดเปลี่ยนสี ฉายไฟฟ้าน้ำพุดูงามดี เสร็จเท่านั้น สิ้นเรื่องแล้วก็กลับ

เมื่อเวลาเที่ยงวันนี้ หมอชื่อฟอนนอรเดน เปนน้องโปรเฟสเซอฟอนนอรเดนที่ออสเตรีย ซึ่งท่านโปรเฟสเซอทั้งหลายจะมอบให้เปนผู้ดูแลรักษาพ่อนั้นมาเยี่ยม แต่ยังไม่ได้ตรวจอาการ จะคอยโปรเฟสเซอเกรล ซึ่งจะมาตรวจพรุ่งนี้เสียก่อน วันนี้เปนปล่อยให้หยุดหายเหนื่อย เพราะแกกริ้วเดินทางรถไฟเหน็ดเหนื่อยเต็มที ข้อที่จะหยุดนั้น ได้บอกล่วงน่าไม่ใช่โทษถึงต้องอุดห้อง จะไปเที่ยวเดินแลขี่รถก็ได้ เว้นแต่อย่าให้ไปไกล อย่าให้เหนื่อย อย่าให้รับแขกมาก เช่นกับมีการเลี้ยงดูเปนต้น การหยุดนั้นเพียงเท่านั้นเอง ไม่หนักหนาอันใด พ่อได้ตั้งต้นลองเก็บโปสต์ก๊าดที่ฮอมเบิคนี้แต่เมืองเดียว ว่าจะได้มากน้อยเท่าใด ซึ่งกล้าเก็บนี้เพราะเห็นว่าเล็ก ที่เมืองอื่นๆ ซึ่งเก็บส่งมานั้น เลือกเก็บเอาตามแต่จะได้ ไม่ได้ตั้งใจหา ถ้าหากว่าจะเก็บให้หมด เมืองโตๆ จะหลายเล่มทีเดียว รับไม่อยู่ ซึ่งมาลงมีอเก็บที่นี้ เพราะเห็นว่าของฝากประจำเมืองนี้น่าจะค่น ถ้าจะมีสิ่งใดก็เปนของทำมาแต่แฟรงก์เฟอตทั้งนั้น แต่สมุดโปสต์ก๊าดนี้ก็ต้องให้ไปซื้อที่แฟรงก์เฟอต ของแฟรงก์เฟอตจะซ้ำ จึงหมายจะเอาสมุดโปสต์ก๊าดนี้ใช้แทน ได้ส่งเมนูที่โต๊ะกินเข้ามาให้ดูแผ่นเดียวเปนตัวอย่าง ดีพิมพ์เช่นนี้ทุกเวลา แต่บางทีจะไม่ได้สังเกต ขอให้สังเกตที่แผนที่โลกย์ แต้มสีแดงไว้ที่เมืองไทยแลเยอรมนีด้วย ขอจบเสียเท่านั้นที น่ากลัวต่อไปจะค่นเพราะจะอยู่ที่นี่ถึงสี่วิกกว่า

คืนที่ ๑๕๑

วันเสาร์ที่ ๒๔ สิงหาคม

เมื่อคืนนี้เปนหวัด เพราะเหตุด้วยผ้าห่มไม่พอ เมื่อเวลามาในรถไฟกลางคืนคัดจมูกตื่นบ่อยๆ แต่นอนนานก็ใช้เนื้อกันไปได้ กินเช้าแล้วโปรเฟสเซอเกรล กับหมอฟอนนอรเดนมาตรวจอาการ ตรวจแต่หัวใจพยายามจะตรวจเรื่องว่าเมื่อยอย่างไร เห็นไม่เปนแก่นสาร เหลือที่จะเล่าให้เข้าใจ จึงของด ให้กินยา แล้วให้นอนเหยียดๆ สามชั่วโมง แต่ยังไม่ได้นอน ถึงเวลากินเข้ากลางวัน จะกินเสียก่อน

เวลาบ่ายโมงหนึ่ง ปรินซ ไอเตล ฟริดริช ลูกที่ ๒ ซองเอมเปอเรอ มาเยี่ยม แล้วกินเข้ากลางวัน เวลาบ่าย ๓ โมงไปเยี่ยมตอบที่วัง ตาหมอเกณฑ์ให้ไปรถปิด เหตุด้วยเปนหวัด ที่แท้แกอยากจะห้ามไม่ให้ออกจากเรือน เว้นแต่เพราะเหตุที่เปนการจำเปนจะต้องไปเยี่ยมตอบจึงได้อนุ ไปพบเจ้าหญิงเมีย เปนพวกตระกูลโอลเดนเบิค เจ้าทั้งสองคนดูมีอัธยาไศรยดี มาอยู่ที่นี่ครบสี่วิกแล้ว จะกลับในมะรืนนี้ ได้ความว่าที่วังนี้เปนคาเซอลเก่า เอมเปอเรอเฟรเดอริกมาซ่อมแซมแลแก้ไข ดูท่าทางทำเปนอย่างเก่า แต่เกลี้ยงๆ ไม่สู้จะตกแต่งอะไร กลับมานอนบนที่นอน แต่ทำงานไปพลาง ฟังหนังสือที่ค้างๆ แลบอกให้เขียนหนังสือ จนย่ำค่ำครึ่งจึงเต็มเวลา พอได้อาบน้ำแลกินเข้า เวลากินเข้าแล้วหมอมาตรวจอิก เกณฑ์ให้กินยาครั้งที่สองในวันนี้ แลให้นอนเหยียดเช่นนั้นอิก ก็ตกลงเปนนอนเหยียดเช่นนั้นอิกอยู่จนเดี๋ยวนี้ ข้อห้ามปรามดูออกจะสั้นๆ เข้ามา พรุ่งนี้ตกลงเปนให้ออกนอกบ้านได้ในเวลาบ่าย แต่เรื่องอาบน้ำเปนอันรอไป หยุดกินยานี้แล้วจึงจะได้อาบ ผลแห่งการที่กินยาไม่สู้รู้สึกว่ากระไร เพราะเปนครั้งแรก รู้สึกได้นิดๆ ว่าทีเลือดจะแล่นแรงขึ้น เต้นดุบดิบตามขา แต่นอกนั้นไม่รู้สึกอะไรแปลกประหลาด ในระหว่างต้องถูกเกณฑ์ให้นอนเช่นนี้ เห็นจะทำงานไม่ใคร่เปลือง แต่ที่จริงไม่ใช่เดือดร้อนอะไรเลย ที่ทำไม่เปลืองเพราะเหตุที่ต้องห่มผ้านอน ทั้งแต่งตัวก็ไม่สบาย เมื่อเปลื้องเครื่องแต่งตัวก็ต้องห่มผ้า มันทูมทามพะรุงพะรัง อากาศเปลี่ยนมาแต่วานนี้ ในปารีสร้อน มาถึงนี่ปรอดเปลี่ยนเปน ๑๔ ดีกรีเซนดิเกรต อยู่ใน ๕๘ ฟาเรนไฮต์ ในเรือนนี้ออกเล็กเตาไฟไม่มี ต้องจุดตะเกียงไฟฟ้าซึ่งใช้แทนเตาผิงไฟ รูปเปนปิ่นโตในนั้นเปนดวงไฟฟ้ามีสาย ติดปลั๊กตามฝาผนัง เหมือนตะเกียงตั้งธรรมดาเปนอย่างใหม่ เหมือนอย่างที่ใช้ในเรืออัลเบียน เมื่อต้องอุดอยู่เช่นนี้ รายวันในตอนนี้คงสั้นๆ

คืนที่ ๑๕๒

วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม

รายวันระยะนี้ลูกคงเบื่อ เพราะมันไม่สนุก แต่ที่แท้เรื่องที่จะกล่าวถึงมีอยู่ แต่พ่อติดหนังสือค้างอยู่ถึง ๘ เมล์ รู้สึกน่าเกลียดในใจเต็มที เพราะไม่เคยทำอะไรค้าง แลเห็นหนังสือค้างเข้าให้หนักไม่สบาย รู้สึกเหมือนกับเปนโรคอะไรอย่างหนึ่ง คิดจะเปลื้องเสียให้หมด แล้วจึงเล่าอะไรให้ฟัง เวลายังมีถมไป

วันนี้เช้ากินเข้าแล้ว ท่านโปรเฟสเซอแลหมอมาประชุมกันอิก ตรวจว่าชีพจรดีขึ้นมาก ตัดสินว่าให้กินยาในเวลานั้นครั้งหนึ่งแล้วให้นอน ไม่ถึงสามชั่วโมงก็ได้ เวลาบ่ายให้ออกเที่ยวได้ใกล้ๆ เวลากินลูกไม้แทนน้ำชาเย็นแล้ว ให้กินอิกครั้งหนึ่งแล้วให้นอนเหมือนกัน ค่ำจึงจะตัดสินต่อไปอิก ครั้นเวลาค่ำพร้อมกันมาตรวจอิก เห็นว่าควรจะกินได้อิกครั้งหนึ่ง เพราะดีขึ้น จึงให้กินเวลากินเข้าแล้ว แต่พ่อขอผัดเขียนหนังสือ แกตกลงยอมให้เขียนหนังสือจน ๕ ทุ่มแล้วจึงให้เอนเลยนอน การวางยานี้ เมื่อแรกไม่คิดเห็นเลยว่าจะเปนการใหญ่ถึงเพียงนี้ มิน่าแกเอะอะกันมากเหลือเกิน ข้อต้นยานี้ใช่วิไสยที่จะผสมทิ้งไว้หลายวัน ที่จะเอาเข้าไปใช้ในเมืองไทยไม่ได้กลายเสียแล้ว แต่ที่ผสมมาให้ไว้ใช้ได้สองวัน พรุ่งนี้ต้องผสมใหม่ หมอซึ่งเปนแต่สถานประมาณไม่กล้าใช้ ต้องให้ท่านผู้รู้ หมอผู้ใหญ่เปนโปรเฟสเซอ เปนผู้จัดการวางยาขนานนี้ การที่จะวางยานั้น ต้องตรวจหัวใจทุกครั้ง ควรวางจึงวาง ยานั้นอาจจะผ่อนอ่อนผ่อนแรงได้ ที่วางพ่อนี้เปนอย่างอ่อนแลยังกำหนดไม่ได้ว่าจะวางสักกี่ครั้ง ต้องรีดเลือดแลตรวจหัวใจดูทุกเวลาเช้า แต่วันนี้ดูแกมีอกมีใจว่าเห็นจะถูกต้องแล้ว เปนการกี่กันในพวกหมอผู้ใหญ่ ถ้าใครวางยานี้ถูกต้องออกจะเก๋ๆ ท่านโปรเฟสเซอทั้ง ๔ คนสวดญัติมอบหมายให้โปรเฟสเซอเกรลเปนผู้วาง นอกจากนี้ หมอฟอนนอรเดนแก้ทางผูกกลัดด้วยไฟฟ้า มีหีบเครื่องมือ มีโมเตอร์สำหรับมือมาใช้รีดที่ท้อง ในเวลาหว่างกินเข้าเช้าแลกินเข้ากลางวัน พึ่งลงมือวันนี้ ในการอาบน้ำต้องงดไว้ กว่าจะหยุดกินยานี้จึงจะได้ลงมืออาบ

ในการที่พ่อจะมารักษาตัวเมืองฮอมเบิคนี้ เอมเปอเรอทรงเปนพระธุระ แขงแรงมาก เสด็จมาเองในเวลาพ่ออยู่ปารีส สั่งเสียการงานไว้ให้เมืองนี้รับรองแลเปิดให้ไปไหนไปได้ เหมือนอย่างรับเสด็จเอมเปอเรอ เพราะฉนั้นบารอนที่เปนผู้จัดการอาบน้ำจึงได้เอื้อเฟื้อมาก บรรดาตึกรัฐบาล ดั้งแต่ราทเฮาส์เปนต้น จนกระทั่งถึงร้านราษฎร ห้อยธงช้างทุกหนทุกแห่ง มีคนคอยดูแลโห่ร้องเสมอทุกเวลาที่ออกจากเรือน แต่พ่อก็ไม่ค่อยจะได้ไปข้างไหนในเวลานี้ เพราะเปนเวลากำลังกินยา เวลาบ่ายได้ออกไปถ่ายรูปที่ร้าน แต่ช่างถ่ายรูปเปนคนแฟรงก์เฟอต ถ่ายรูปเจ้านายในราชตระกูล ตั้งแต่เอมเปอเรอเปนต้นงามๆ มาก พ่อจึงได้ถ่ายบ้าง คนมาคอยดูเสียตั้งแต่สองโมงเข้าจนกระทั่งบ่าย แต่คนดูที่นี่เรียบร้อยดีมาก ดูอยู่ห่างๆ กลับมาแล้วมาเดินเล่นในสวน กินน้ำชา วันนี้อากาศดีมาก ที่จริงทั้งที่อยู่แลเรือกสวนที่นี่สบายมาก แต่ถ้าเปนคนชอบเที่ยวร้านก็เห็นจะเห็นจู๊ แต่อย่างเช่นพ่อ พ่อถือว่ามีความสบายมาก โปรเฟสเซอเกรลตรวจอาการบอกว่าดีขึ้นกว่าเมื่อตรวจที่เบอลิน เพราะฉนั้นการที่อยู่ที่นี่ เห็นจะไม่มีทางที่จะขาดทุน ไปได้ มีแต่จะได้กำไร มีเรื่องที่น่าบ่นอยู่อย่างเดียว แต่ว่าลูกไม้สู้ปารีสไม่ได้ แต่ก็ได้เห็นลูกไม้อย่างใหม่ ลูกปลัมสีแดงเหมือนลมุด ข้างในใสๆ เปนแก้ว เขาว่าเปนลูกปลัมเตอร์กีอิกอย่างหนึ่งคล้ายลูกครีนเคชแต่สีเหลือง เรียกว่ามิระเบล ข้างในก็ใสๆ เหมือนกันรศดีกว่าปลัมแลครีนเคชที่ไม่งอม แต่แพ้ลูกที่งอม องุ่นดำดีมาก ลูกโตเท่าลำไยขนาดใหญ่ ว่าที่จริงพ่อไม่สู้มีความเสียใจในการอดลูกไม้ เมืองไทยไปเสียปีหนึ่ง แต่ขอบใจที่หมอเขาสั่งให้กินลูกไม้มากๆ นั้น เกือบจะกล่าวได้ว่าลูกไม้ฝรั่งอย่างใดที่ยังไม่ได้กินไม่มี อยากจะอวดตัวว่าเปนผู้รู้รศลูกไม้เมืองฝรั่งแล้วดี ข้อซึ่งจะกล่าวต่อไปว่า ลูกไม้ฝรั่งสู้ลูกไม้ไทยไม่ได้นั้น อย่ากล่าวเลยดีกว่า จริงอยู่รศชาตมันไม่สู้เฉียบแหลมอย่างของเราบางอย่างแต่ของเขากินได้นานกว่าเรามาก ลูกไม้ของเรามันออกจะฮือเดียวหมด นื่มันทอยกันอยู่เสมอ เหตุด้วยอากาศประเทศต่างๆ มันต่างกัน ผลัดกันสุก รถไฟขนถ่ายถอนกันไปมาได้ ยังซ้ำจะมีลูกไม้ในเรือนกระจก แต่ลูกไม้ในเรือนกระจกนั้นสู้ลูกไม้นอกกลางแจ้งไม่ได้ รศแลกลิ่นคลายกว่ากัน เปนแต่ใหญ่น่ากิน ดอกไม้ที่นี่มาก เปนสวนไปทุกหนทุกแห่งรอบข้าง แต่ไม่ใช่ไร่ดอกไม้อย่างเช่นซันเรโม โต๊ะกินเข้าเขาแต่งทุกวัน วันนี้สวีตปี มีสีต่างๆ ระบายกัน ม่วง, แดง, ชมภู, ขาว, หลายสิบสี งามจริงๆ ดุ๊กทำทีเหมือนจะเขียน แต่จะสำเร็จฤๅไม่ ไม่ทราบ

คืนที่ ๑๕๓

วันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม

เมื่อคืนนี้นอนไม่ใคร่จะหลับเปนนาน เพราะเขาให้กินยาดึกเกินไป แต่ครั้นเมื่อหลับแล้วก็หลับสนิทถึงว่านอนน้อยไปหน่อยก็ไม่เปนไร หมอมาตรวจว่าดีขึ้น กำหนดพรุ่งนี้จะให้ลงมืออาบน้ำ เวลาบ่ายให้ไปเที่ยวได้ด้วยรถเปิด แลทางไกลออกไป แต่ยังต้องนอนแลทำหนังสือไปตามเคย เมื่อเวลากินกลางวันแล้ว เวลาก่อนจะไปเที่ยว คอลฟคลับได้มาเชิญให้เข้าเปนเมมเบอคลับ รับแล้วไปเที่ยว ไปก็ทางเดียวกันกับวันก่อนถนนที่เรียกว่าถนนปืนใหญ่ คือทางตรงเหมือนทางปืนใหญ่ ไปจนถึงป่าสนหยุดถ่ายรูป แล้วขึ้นรถต่อไปอิกเปนทางวนเข้าไปในป่าแล้วผ่านทุ่ง กลับมาลงทางเดิมแลมาผ่านถนนในเมือง เวียนไปรอบจนกลับถึงโฮเตล อากาศสบายดี เขาว่าที่นี่เวลากลางคืนเย็นมาก เหตุด้วยเขาเทานุสเฉภาะมาว่างลงตรงเมืองฮอมเบิค ลมเหนือพัดตรงลงมาที่นี่มีต้นผลไม้มากปลูกริมท้องนามีลูกเต็มๆ ต้น ใบน้อยกว่ากะท้อนของเราแลต้นจนแก่ๆ ก็ไม่เห็นใหญ่เท่าไร กลับมาเดินในสวนหลังเรือน แล้วออกไปดูร้านที่น่าโฮเตลไม่ได้ซื้ออะไร ซื้อแต่โปสต์ก๊าดเพราะเปนไปเดินเล่นแท้ๆ แต่ไปพบเรื่องประหลาดอย่างหนึ่ง เขาทำเข็มที่ว่าเปนยี่ห้อของพวกโรมันแต่โบราณ ขายในที่นี้ เปนรูปสวัสติกะ ที่ถือกันว่าเปนเครื่องหมายของพระพุทธสาสนา ที่นี่เขาเคลมว่าพวกโรมันได้มาอาบน้ำแล้วเหมือนกัน แต่ไม่ใคร่จะได้ก่อสร้างอะไรไว้มาก กลับเข้ามากินน้ำชาในโฮเตล แล้วเขียนหนังสือออกจะไม่สู้มีเรื่องอะไรเล่า เหตุด้วยไม่ได้เที่ยวมาอยู่อย่างบ้านเงียบๆ อย่างฝรั่ง ดูก็สบายดีกินเข้าเย็นวันนี้กินไม่ได้ ออกจะไม่สู้สบาย จะหิวก็ไม่ใช่ไม่หิวก็ไม่ใช่ อ้ายโฮเตลนี้ชอบทำเข้าเปียกอย่างฝรั่งเปนที่สุด เหม็นเบื่อ เขาว่าอาหารเยอรมันมันเปนเช่นนั้นเอง มีไม่สบายอยู่อย่างเดียวแต่กินเข้าไม่ได้ ไม่มีที่แก้ ถ้าเปนในเมืองก็จะเที่ยวหาอื่นได้ นี่บ้านนอกมันก็ไม่มีอะไร กับเข้าไทยของที่เหลือๆ เขายิ่งทิ้งเสียซ้ำไปอิก เกือบจะคุมไม่ติด ครั้นจะขอเข้าไปก็ไม่ทันเวลาแลได้บอกเลิกไปเสียแล้ว ตกลงเปนเลยร่ม อดไปหน่อยก็ดี กลับไปบ้านจะได้กินอร่อย

โรงอาบน้ำแร่ที่เมืองฮอมเบิค

โรงอาบน้ำแร่ที่เมืองฮอมเบิค

คืนที่ ๑๕๔

วันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม

วันนี้หมอให้นวดด้วยเครื่องไฟฟ้า เพิ่มเติมใช้ลมร้อนในเครื่องรอตามที่ปวดกลํ้าเนื้อ ดูท่าทางเหมือนจะดี วันนี้งดไม่ได้กินยาเวลาเช้าแลกลางวัน เวลาเที่ยงไปอาบน้ำที่ไกซาวิลเลียมบาด ที่นี่ทำไม่สู้ใหญ่ แต่หมดจดเรียบร้อย ซีกข้างหนึ่งซึ่งเปนที่สรงของเจ้านาย ห้ามไม่ให้คนเข้า ห้องที่พ่อไปอาบเปนห้องที่เอมเปอเรอสรง ตรงกันข้ามกับห้องเอมเปรส แต่ห้องเอมเปรสนั้นปิด เปิดแต่ห้องเจ้านายให้บริพัตรอาบ ในห้องนี้กั้นเปนสองตอน ตอนนอกที่สำหรับนั่งแลนอนพัก ตอนในเปนที่อาบน้ำมีเก้าอี้นอน ที่ล้างหน้า ที่กินน้ำ แลโต๊ะตั้งขวดปักดอกกุหลาบ อ่างที่อาบใช้ทองเหลืองอย่างอ่างอาบน้ำธรรมดา แต่เจาะให้จมลงไปไว้ในพื้น มีที่สำหรับก้าวขึ้นก้าวลงแลที่พาดตีนไว้ข้างปลายอ่าง ข้างที่นั่งนั้นมีตั่งสี่เหลี่ยมวางลงไปในอ่าง ตั่งนั้นหุ้มผ้าขาว เพราะเหตุว่าถ้าไม่หุ้มนั่งบนตั่งร้อน ด้วยใช้น้ำต้ม พื้นอ่างเปนทองเหลือง น้ำนั้นสีขุ่นๆ ร้อน ๓๓ ดีกรี ลงอาบแช่เพียงฅอ ห้ามไม่ให้ล้างหน้า กำหนดให้แช่อยู่ครั้งแรกนี้ ๑๒ มินิต น้ำนั้นเดือดเปนฟองเหมือนอย่างกับน้ำคาบอนิกแอซิดที่เราทำ แต่ไม่รู้สึกว่าถูกตัวเฉียบๆ เหมือนที่ทำ เฉยๆ เปนแต่ฟองเกาะตัวเต็ม สายน้ำที่มาในแผ่นดินนั้นเปนน้ำเย็นเหมือนธรรมดา ต่อถูกไอร้อนต้มเข้าจึงได้ปล่อยคาบอนิกแอซิดออก ถ้าทิ้งไว้ช้าคาบอนิกแอซิดก็ไปหมด เปนน้ำเปล่าได้ เวลาอาบแล้วขึ้นมาไม่ให้เช็ดตัว เอาแต่ผ้าห่อคลุม ให้นอนอยู่บนเก้าอี้ยาวสองสามมินิตแต่พอแห้ง รออยู่ช้าจนเหื่อออกก็ไม่ดี เกลือจะไปเสียจากตัวหมด พอตัวแห้งก็แต่งตัว แล้วให้ออกไปเดินตากแดดสัก ๕ มินิตเปนสำเร็จการ น้ำที่มาใช้อาบนี้มีบ่ออยู่ตรงน่าที่อาบน้ำ บ่อนั้นลึกต่ำลงไปกว่าพื้นแผ่นดินทำเปนเขื่อนรอบชั้นหนึ่ง แล้วจึงลงไปถึงบ่อเล็กอยู่ในกลาง น้ำนี้ใช้กินเปนยาถ่าย แต่พ่อไม่ต้องกัน ด้วยกินยาอื่นอยู่แล้ว ที่อาบน้ำนี้ตั้งอยู่ในป๊ากที่งามใหญ่โต น่าเดินเล่น มีที่ยิงเป้า มีร้านเล็กๆ น้อยๆ พ่ออยากจะเดิน แต่ตาหมอแกห้ามไม่ให้เดิน กลัวจะเสียเรี่ยวเสียแรง โอ๊ะๆ ต่างๆ กลับมาบังคับให้นอนชั่วโมงหนึ่ง ตรวจชีพจรนั้นเรื่อยไป ตั้งแต่แรกก่อนอาบแลเวลากำลังอาบก็ไปกำชีพจรเวลาอาบ ๘๐ ขึ้นมาแล้ว ๖๐ เศษ จนกระทั่งเวลาจะนวดเครื่องไฟฟ้าก็ต้องมีคนกำชีพจรอยู่คนหนึ่ง เวลาเป่าลมร้อนก็ต้องกำชีพจรอยู่เหมือนกัน ดูช่างเปนการใหญ่เสียจริงๆ แต่รู้สึกชัดเจนว่ามีคุณจริง สบายเบาตัว ทั้งเรวไม่ต้องไปแช่เปนอยู่นมนานเหมือนอย่างเช่นที่บาเดนบาเดน ที่นั่นเวลาอาบแล้วหมอถามว่าเปนอย่างไร พ่อบอกว่าเฉยๆ ตาหมอออกฉุนๆ ทุกที ที่นี่บอกได้ว่าสบายไม่เปนมุสาวาท

เรื่องที่อาบน้ำนี้ เปนเรื่องที่จะต่อกับที่ได้กล่าวไว้ ถึงเทียบว่าเปนพระบาท ตรงกับที่รดน้ำมนต์มีหลายแห่งด้วยกัน เช่นวิสบาเดน ชื่อบาเดนต้องกันมีเปนสามแห่ง กาลศบัด มเรียนบาด แลอะไรๆ ต่างๆ หลายอย่าง น้ำนั้นก็มีคุณวิเศษต่างกัน แต่ชั่วที่นี่เองยังมีต่างกันถึง ๘ อย่าง ๙ อย่าง ที่อาบน้ำเหล่านี้คือท่านอาจารย์รดน้ำมนต์ทั้งนั้น รดน้ำมนต์ของเรา พ่อนับถือว่าเปนการมีคุณได้จริงบางอย่าง เว้นแต่ผู้ที่ไปรดแลผู้ที่ทำน้ำมนต์รด ไม่รู้คุณที่จริงของการอาบ ถ้าหากว่ารู้คุณที่จริงคงจะรักษาได้แม่นยำดีกว่าที่เสกอยู่เดี๋ยวนี้มาก ผู้ที่ไปเที่ยวอาบน้ำเหล่านี้เขาก็ย้ายที่อาบโน่นบ้างนี่บ้างตามโรค น้ำเหล่านี้ถ้ากินมักจะเปนยาปัดเปนพื้น พ่อไม่เห็นว่าจะมีคุณอะไรในการที่อาบน้ำอย่างอื่น แต่คาบอนิกเอซิดนี้ดีแน่ ในเมืองไทยควรจะมี ตาหมออ้วนฦๅว่ามีทางแถบสงขลา เคยได้ยิน แต่จะเท็จจริงอย่างไรไม่รู้ รู้แน่แต่ที่บางพระมีน้ำกำมถันไม่สู้มีคุณอะไรนัก ที่นี่เจ้านายตั้งแต่เอมเปอเรอเปนต้น สรงปีละครั้ง ฝรั่งไม่สู้จะผิดกันกับไทยนัก เจ้าแผ่นดินอาจจะตั้งต้นแฟชั่นอะไรๆ ได้เหมือนกัน นี่อาไศรยเอมเปอเรอวิลเลียมองค์นี้กับกิงเอดเวอดสองคน ชักโยงคนมาได้เปนอันมาก นานไปคงจะเปนที่สำคัญแลใหญ่โตขึ้นได้อิกมาก ว่าตามภาษาไทยที่เคยใช้เรียกว่าติดแล้ว กัปตันแคมป์เบล ซึ่งมาอยู่ประจำเมื่อคราวพ่อไปอิงค์แลนด์ ก็มาอยู่ที่นี่ มีการแข่งขันลอนเตนนิส ผู้ใดที่ฝีมือดีมาเล่น เขาชวนให้ไปแล้ว แต่หมอยังกักขังต่างๆ อยู่จึงยังไม่ได้ไป

พอสิ้นเขตรนอนแล้ว กินเข้ากลางวันแลทำงานต่างๆ วันนี้พาลไม่นอนต่อไปอิก เวลาบ่ายขึ้นรถโมเตอร์คาร์ไปซาลเบิค ซึ่งเปนค่ายพวกโรมันแต่โบราณ ๑๘๐๐ ปีมาแล้ว ฤๅจะว่า ๑๙๐๐ ปีก็ได้ ถ้าพูดถึงแรกตั้ง เรื่องซาลเบิคนี้ เปนที่เอมเปอเรอโปรดปรานมาก ด้วยทิ้งรกร้างมาจนไม่มีใครรู้ว่ากระไร พึ่งจะมารู้กันขึ้นเมื่อแผ่นดินวิลเลียมที่ ๑ ขุดคุ้ยกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำอะไร จนถึงแผ่นดินเอมเปอเรอวิลเลียมองค์นี้ จึงได้มาก่อสร้างขึ้นให้เห็นเปนรูปอย่างเดิมจึงได้โปรดปรานนัก รู้ว่าพ่อจะมาที่นี่ก็สั่งแล้วสั่งเล่า ว่ามีของโบราณควรดู คือซาลเบิคนี้ ใช่จะเปนแต่บอกให้ดูเปล่าๆ เมื่อไปถึงวันนี้ ไดเรกเตอที่เปนผู้จัดการ บอกวาเอมเปอเรอสั่งให้ดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพื่อจะให้เปนพยานว่าเอมเปอเรอได้เสด็จมาตรวจ แกได้เดินเคียงข้าง ให้โปสต์ก๊าดแผ่นหนึ่ง ซึ่งกำลังทอดพระเนตรอยู่

เรื่องซาลเบิคนี้ ถ้าจะเล่าออกจะเกี่ยวกับเรื่องพงศาวดารยาว ถ้าจะตัดให้สั้นจะได้แต่เพียงว่าบรรดานักเรียนที่ได้เรียนภาษาฝรั่งไม่ว่าภาษาใด คงจะรู้เรื่องโรมันเอมไปร์ด้วยกันทุกคน เพราะเปนต้นของภาษาซึ่งจำจะต้องเรียน เปนเมืองที่มีอำนาจใหญ่ในประเทศยุโรปในกาลปางก่อนคราวหนึ่ง ซึ่งพงศาวดารเมืองใดจะไม่เกี่ยวกับโรมันเอมไปร์ด้วยไม่มี โรมันเอมไปร์นี้ ได้ตั้งอยู่ในแหลมอิตาลี มีเมืองโรมเดี๋ยวนี้เปนเมืองหลวง ชาวโรมันเปนคนที่มีสติปัญญาแลกำลังกาย แลรู้จักงามดีอย่างยิ่ง ไม่ใช่แต่เวลานั้นจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนแบบอย่างของชาวโรมันนั้น ทั้งการก่อสร้างแลภาษา ชาวโรมันนั้นไม่ใช่ถือสาสนาพระเยซูแต่เริ่มแรก ตั้งมาก่อนเสียช้านาน พระเยซูพึ่งจะเกิดภายหลัง เมื่ออำนาจโรมันออกจะโทรมๆ ลงแล้ว พวกนั้นนับถือพระอาทิตย์ พระพฤหัศบดี แลเทวดา ๓ องค์ คือจันทร์ อังคาร พุฒ พฤหัศบดี ศุกร เสาร์ เปนต้น มีวิชารุ่งเรืองด้วยการกำหนดปีกำหนดนักขัตฤกษ์ฟ้าดิน กล้าหาญชำนิชำนาญในการศึก ไม่ใช่เปนใหญ่ปกครองแต่ในประเทศข้างฝ่ายใต้ของยุโรป มีอำนาจปกครองตลอดขึ้นมาจนถึงประเทศเยอรมนีข้างตอนกลาง ตอนข้างฝ่ายเหนือก็เปนเมืองส่งบรรณาการ ตอนข้างตวันตกก็ถึงได้เกาะอังกฤษอยู่ในปกครอง มีคนที่มักจะฉงนว่าเมืองโรมแล้วเปนเมืองพระที่โป๊ปอยู่ ความข้อนั้นก็จริง แต่ภายหลังกันมากนัก เมืองโรมเปนของพระเมื่อโรมันเอมไปร์ได้โทรมไปเสียแล้ว เมื่อได้เล่าถึงเมืองโรมโบราณเช่นนี้แล้ว จึงจะได้เล่าถึงเมืองซาลเบิค ซึ่งเราจะพูดถึง เพราะเหตุที่ไปดูวันนี้ต่อไป

ในกลางประเทศเยอรมนี เปนประเทศเฮสนาเซา มีการที่พวกโรมันทำไว้ก่อนพวกเยอรมันได้ทำเปนอันมาก พวกเยอรมันที่ค้นคว้าหาของโบราณใน ๒๕ ปีมานี้ ได้ค้นพบสิ่งสำคัญหลายอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องคนในประเทศเยอรมนี ค้นถอยหลังขึ้นไปตั้งแต่เมื่อครั้งมีบารอนต่างๆ สร้างป้อมเปนที่อยู่ จนถึงในปลายร้อยปีแรกตั้งแต่พระเยซูเกิด ได้ความว่าพวกโรมันมาตีได้เขตรแดนเฮสนาเซา ซึ่งเวลานั้นพวกเยอรมันอยู่ได้มาตั้งรักษาเขตรแดนอยู่แถบข้างใต้เขาเทานุส เพื่อจะป้องกันรักษาเขตรแดน จึงได้ก่อสร้างป้อมแลกำแพง ยืดยาวใหญ่ ตั้งแต่แม่น้ำไรน์จนถึงแม่น้ำแดนยูบ กำแพงนี้ชาวบ้านเรียกกันว่า ทอยเฟรสเมาเวอร์ แปลว่ากำแพงผี แต่มีนักเรียนผู้รู้อธิบายว่า เรียก ฟาลคราเบน แปลว่าเขื่อนคูฤๅหลักเขตร อิกไนยหนึ่งว่ามาแต่ภาษาละตินว่าวาลุม ฟาลคราเบนนี้เปนเชิงเทินดิน บางแห่งก็มีทั้งเชิงเทินทั้งคู ยังแลเห็นปรากฎได้โดยง่ายเกือบจะตลอดแนวกำแพงนั้น ที่เห็นปรากฎชัดนั้นในป่าแลเขา ซึ่งชาวบ้านไม่ได้เกลี่ยลงทำไร่เข้า ฟาลคราเบนนี้โดยยาว ๕๕๒ กิโลเมเตอ ตั้งต้นแต่เฮอนนิงเคน ริมแม่น้ำไรน์ ไต่ไปตามสันเขาเทานุส แล้วโอบขึ้นไปข้างเหนือ จดแม่น้ำเมนซ์ตวันออกแฟรงก์เฟอตหน่อยหนึ่ง แล้วต่อนั้นไปทางทิศใต้ โอนตามแม่น้ำเมนซ์เกือบจะตรงใต้ ต่อไปจึงตัดไปตวันออกยาวจนถึงแม่น้ำแดนยูบ ไปจดฮินไฮม ใกล้เรเคนสเบิค ถึงว่าไม่ปรากฎว่าได้สร้างเมื่อใด แลได้ละทิ้งเสียเมื่อใดก็ดี ยังปรากฎว่าเปนฝีมือชาวโรมัน ภายในคฤศตศักราช ๓๐๐ ปี ทหารโรมันยังได้รักษาอยู่ กำแพงนี้เปนลักษณกำแพงเมืองจีน ปรากฎว่าจะกั้นเขตรพวกเยอรมันฝ่ายเหนือ ซึ่งปราบไม่ลง เช่นชัดเตน อัลมันเนน ซึ่งเปนศัตรูอยู่ข้างฝ่ายเหนือ แลเปนด่านที่สำหรับจะเก็บภาษีแก่คนซึ่งผ่านลงมาข้างใต้ ซึ่งไม่กั้นเขตรเพียงแม่น้ำเมนส์ โอบเหนือขึ้นไปอิกนั้น เขาเดาว่าเพื่อจะกันเอาพุน้ำ ที่วิสบาเดน ฮอมเบิค เนาไฮมเข้าไว้ในอาณาเขตร เพราะพวกโรมันเหล่านั้นรู้จักผลในการอาบน้ำนี้มาแต่ก่อนแล้ว

หลังฟาลคราเบน ได้ตั้งค่ายไว้เปนระยะใกล้ๆ กัน ค่ายใหญ่ๆ ประมาณสักแปดสิบ มีหอคอยถึงแปดร้อย ซึ่งเปนที่ทหารอยู่รักษา ที่สำคัญที่เขาเทานุสนี้ปรากฎว่า กาเปอสเบิค ซุกมันเตล แล ซาลเบิค ซาลเบิคนั้นตั้งอยู่ที่เขาเทานุสขาด ซึ่งแลลงมาเห็นที่อาบน้ำฮอมเบิค ทางไปมาได้ในครึ่งชั่วโมง ที่นี้ซึ่งได้ซ่อมขึ้นแลที่ไปดูนี้ เมื่อคฤศตศักราช ๑๘๗๒ ยังเปนสิ่งที่ร้างอยู่ในป่า มีแต่รากป้อมแลผนังเรือน แลเห็นหลุมในดินบ้าง

ไม่มีจดหมายเหตุโรมันได้กล่าวถึงฟาลคราเบนฤๅซาลเบิค จนชั้นนิทานก็ไม่มี จึงไม่มีอะไรชึ่งจะเปนหลักในเรื่องราวนี้ ตามที่รู้ได้แต่ด้วยพบการก่อสร้างที่ยังเหลืออยู่ แลสิ่งของที่ได้พบในที่นั้น ถึงว่าไม่ได้มีพงศาวดารในที่นั้น ก็ปรากฎว่าพวกละตินคือเมืองโรม แลพวกติวตอน คือเยอรมัน ได้รบสู้ชิงเขตรแดน ชิงกันเปนใหญ่อยู่ในที่นี้ พวกโรมันได้ไชยชนะ รักษาอยู่คราวหนึ่งแล้วถอยไป ถึงว่าพวกโรมันเปนผู้มีอำนาจใหญ่ รุ่งเรืองมากมีคนมาก แต่ไม่เข้ากัน ต่างคนต่างเห็นแก่ตัว ก็ยังสู้พวกที่หยาบกว่าเข้ามือกันไม่ได้

ประตูป้อมโรมันที่เมืองซาลสเบิค

ประตูป้อมโรมันที่เมืองซาลสเบิค

ข้อที่เรียกชื่อว่า ซาลเบิคนี้ เดาตามคำซาลว่าหอฤๅศาลา อิกไนยหนึ่ง เขาเดาว่า ซาลคือตัว Sal หมายว่าเกลือ แต่จะแน่อย่างไรยังเดาไม่ได้กันจนเดี๋ยวนี้ ชื่อซาลเบิคนี้ ผู้เรียกเปนชาวฮอมเบิคชื่อ อิลเลียช์นอยโฮฟ ได้เรียกชื่อว่าซาลเบิคในหนังสือฉบับแรก เมื่อปีคฤศตศักราช ๑๗๔๗ ได้เขียนเรื่องราวของที่นี้เมื่อปี ๑๗๗๗ ศิลาที่ก่อสร้างทั้งปวงนั้น ชาวบ้านเห็นกันว่าเปนบ่อศิลาที่ตัดแล้วสำเร็จ ได้ขนเอาไปสร้างตึกแลสร้างวัดที่ฮอมเบิคเสียมาก เมื่อคฤศตศักราช ๑๗๐๐ ๑๘๐๐ ปี ต่อเมื่อคฤศตศักราช ๑๘๑๘ จึงได้ห้ามไม่ให้ขนศิลา ได้มาลงมือขุดต่อเมื่อคฤศตศักราช ๑๘๕๓๓ เอฟยี ฮาเบล เปนพวกขุดค้นของเก่า ได้ลงมือขุด ครั้นเมื่อคฤศตศักราช ๑๘๗๐ นายพันเอกเอฟอน โคเฮาเซน ได้รับน่าที่เปนผู้ขุดค้นแลซ่อม ภายหลังพวกนักปราชญ์ค้นของบุราณได้เรี่ยรายกันออกเงิน เอมเปอเรอวิลเลียมที่ ๑ แลเฟรเดอริกที่ ๓ ได้ช่วยออกเงินด้วย เอมเปอเรอประจุบันนี้ได้สั่งให้ปฏิสังขรณ์หลังกลางขึ้น เมื่อปี ๑๘๙๗ งานนั้นทำช้าๆ แต่ทำเสมอ ปีหนึ่งคงมีอะไรแปลกขึ้นทุกๆ ปีไป การที่ก่อสร้างนั้น ได้ระวังที่จะให้ต้องแบบอย่าง ได้ไปตรวจเทียบกับค่ายโรมันอื่นๆ ซึ่งขนาดเดียวกัน แลค้นเรื่องราวหนังสือโรมันเก่าๆ สอบสวน เพราะฉนั้นการที่ซ่อมซาลเบิคนี้คงจะคล้ายของเดิมมาก

ซาลเบิคนี้เปนป้อม แต่การก่อสร้างทั้งปวงสร้างอย่างค่ายโรมัน ถ้าจะเรียกว่าเปนค่ายตั้งประจำก็ควร การที่ทำนั้นเปลี่ยนตามเวลากาลเปนสามคราว คราวแรกเห็นจะเปนแต่พูนดินเปนเชิงเทิน คราวที่สองเชื่อกันว่าทำด้วยไม้ แล้วคงจะไฟไหม้เมื่อเวลารบกัน เพราะได้พบอะไรๆ หลายอย่างเปนพยาน ค่ายที่ ๓ ทำเกือบจะเท่ากันกับค่ายแรก เว้นแต่กำแพงเปนศิลายาว ๒๒๑ เมเตอ ๔๕ เซนต์ กว้าง ๑๔๗ เมเตอ ๑๘ เซนต์ กำแพงสูง ๒ เมเตอ ๕๐ เซนต์ มีใบเสมาเว้นช่อง สำหรับผู้ที่รักษาจะได้ยื่นหอกออกไปต่อสู้ มีคูสองชั้นแต่เห็นจะเปนคูแห้ง ข้างในพูนดินเปนเชิงเทิน มีประตูทั้งสี่ด้าน ประตูด้านใต้เรียกว่าปอตา เดกูมานา ด้านเหนือเรียกปอตาเปรเตอเรีย ด้านตวันออกเรียกปอตา เดกสตรา ด้านตวันตก เรียกว่า สินิสตรา ปอตาเดกูมานามีประตูสองช่อง อิกสามประตูนั้นมีช่องเดียว ข้างประตูทั้งสี่นี้มีหอรบเล็กๆ ทั้งสองข้าง ประตูเหนือใต้นั้นอยู่ตรงกลาง แต่ประตูตวันตกตวันออกอยู่ค่อนมาข้างใต้ ตรงโรงฝึกหัดซึ่งตั้งอยู่กลาง

ภายในซาลเบิค เปนพื้นเกือบจะราบ สูงขึ้นไปข้างเหนือสักหน่อยหนึ่ง ในกลางกำแพงนั้นเรียกว่าปริโตเรียม ในที่สุดข้างใต้ เรียกว่า เรเตนตุรา ส่วนข้างเหนือที่สุดเรียกว่าเปรเตนตุรา ข้างตวันออกแลตวันตก เรียกว่าละเตราเปรตอไร

เปรเตนตุรา ซึ่งอยู่ห่างข้าศึกที่สุด เปนที่กองลำเลียง แลกองยกรบัตร ครึ่งทางข้างฝ่ายตวันออก เปนฮอเรียมที่ไว้เสบียง มีกำแพงเปนไม้กางเขนปรากฎ ยังได้พบขอสำหรับเกี่ยวเนื้อในที่นั้นด้วย ในกึ่งทางข้างตวันตกของเรเตนตุรา มีรากที่เรียกว่าเควสตอเรียม ซึ่งบางทีจะเปนที่อยู่ของนายทหาร

เปรเตนตุราข้างฝ่ายเหนือที่ใกล้ข้าศึก เปนที่อยู่ของทหาร จะอยู่ในเตนต์ฤๅอยู่ในทับซึ่งทำด้วยไม้ ในที่แถบนี้มีวงกลมซึ่งลึกลงไปในดิน แต่แรกเข้าใจกันว่าจะเปนที่เล่นลครกลางแจ้ง แต่เพราะพบเกือกม้าในที่นั้นมาก จึงเดากันว่าบางทีจะเปนที่สำหรับขี่ม้าฤๅเปนสระ ข้างตวันออกเฉียงเหนือของเปรเตนตุราเปนที่อาบน้ำ เดากันว่าเห็นจะมีมาแต่แรกเมื่อยังเปนเชิงเทินดิน แต่ดูเหมือนไม่ได้ใช้ต่อมาอิก ที่โรงนั้นแบ่งเปนสองตอน ตอนหนึ่งมีแท่นนั่ง อิกตอนหนึ่งมีที่สุมไฟในใต้พื้น ในตอนหลังนี้แบ่งออกเปนสองตอน ตอนหนึ่งเปนที่อาบน้ำร้อน ตอนหนึ่งเห็นจะเปนที่เข้ากระโจม

เปรตอเรียมคือหลังกลางนั้น ยาว ๖๐ เมเตอกว้าง ๔๐ เมเตอ เปนที่ซึ่งธรรมเนียมค่ายโรมันสำหรับแม่ทัพอยู่ ซ่อมขึ้นไว้เปนมิวเซียมเก็บของซึ่งได้หาพบ ในที่สุดข้างใต้มีตึกผนังหินหลังคาไม้น่าต่างสองชั้น คเนกันว่าเห็นจะเปนที่ฝึกทหาร ในเวลาอากาศไม่ดี ที่ติดต่อกันไปข้างเหนือเรียกว่าอัตเตรียมเปนชาลามีหลังคาเปนระเบียงรอบ มีบ่อน้ำอยู่สองบ่อ บ่อหนึ่งหลังคาไม้ บ่อหนึ่งหลังคาหญ้า ข้างตวันออกแลตวันตกอัตเตรียมนอกระเบียง มีห้องแคบๆ ยาว ข้างตวันออกไว้เกราะ ข้างตวันตกแบ่งเปนสี่ห้อง สำหรับไว้อาวุธ ข้างเหนือมีชาลาแคบอิกชาลาหนึ่ง เปนที่ตั้งรูปเอมเปอเรอ ฮาเดรียนอาเล็กซานเดอเซเวรุส แลต่อไปมีห้องอิกหลายห้อง ในห้องกลางของห้องเหล่านี้เปนที่ไว้ธงไว้เทวรูปแลรูปเอมเปอเรอทั้งปวง ใช้เปนคลังด้วย

ที่กล่าวมานี้เปนเรื่องราวของภายในค่ายโรมันฤๅป้อมนี้ พอให้เข้าใจเปนเค้าไว้ จะว่าด้วยส่วนที่พ่อไปเห็นในที่ซึ่งกล่าวมาแล้วนี้ ไปเข้าประตูด้านใต้ ซึ่งมีทางแยกเข้าไปจากทางใหญ่หน่อยหนึ่ง กำแพงนั้นถ้าดูข้างนอกสูงอยู่ ไม่เห็นว่าห้าศอก เห็นจะเปนเพราะดูตลอดใบเสมา ใบเสมานั้นเปนเสมาป้อม แต่ไม่ถากมุม กลับมียื่นออกมาข้างหนึ่งทุกๆ ใบเสมา ให้คนเข้าบังตัวซีกข้างซ้ายได้ เปนแต่มือข้างขวายื่นหอกออกไปทางช่องที่แหวะ ท่าทางประตูมั่นคง คูนั้นขุดข้างนอกข้างในพูนกลางเปนสันเหมือนอกไก่ พอเข้าประตูไปก็ถึงบ่อน้ำ เปนบ่อเก่ากรุไม้ ไม้ที่กรุบนปากบ่อนั้นดำแห้งแกร่ง ข้างขวาเปนที่ไว้เสบียงตามที่กล่าวแล้วนั้น ได้ก่อสร้างขึ้นเปนเรือนสองหลังแฝด ในนั้นเก็บสิ่งของซึ่งค้นหาแลขุดได้ในที่นี้ เปนต้นว่าตะปูต่างๆ สิ่วขวาน เครื่องมือที่ทำด้วยเหล็กภาชนะเครื่องดินเปนสีดินแดงแลปั้นแกร่งเหมือนคนโทลาว อยู่ในเปนรูปชาม, อ่าง, หม้อ, ฝาละมี, คล้ายฝาละมีของเรา ลูกประแจนั้นดีมาก มีตั้งแต่ดาลอย่างเช่นลั่นประตูโบสถ์เมืองเรา แต่ลูกดาลของเขาต่างๆ ไม่ใช่เหล็กงอๆ อาจจะทำไม่ให้ปลอมไขดาลกันได้ลักษณรูปร่างอย่างประแจทุกวันนี้ เปนแต่งอลงไปให้สอดทางช่องบานประตู ยังมีประแจกลต่างๆ ที่ทำด้วยไม้ล้วนทั้งแม่ประแจแลลูกประแจ อาจจะยักย้ายรูปประแจ ไม่ให้ขโมยกันได้ ได้ซื้อตัวอย่างประแจอันหนึ่ง ส่งมาเปนเค้าเพื่อจะได้เข้าใจ แต่เขามีต่างๆ ตั้งแต่ประแจห้องประแจตู้ หีบเล็กน้อย ใช้ลูกไม้ก็มี ลูกเหล็กก็มี แต่ตัวแม่ประแจยังเปนแม่ไม้ทั้งสิ้น มีเครื่องแก้วที่เปนแก้วอย่างสีเขียวๆ ทำบุบบิบเหมือนถ้วยบุบบิบของเราก็มี รูปต่างๆ อย่างอื่นก็หลายอย่าง แต่ไม่สู้มาก ภาชนะดินมีมาก เครื่องประดับต่างๆ มีหลายอย่าง มีสวัสติกะเปนต้น สิ่งอื่นๆ มีอิก แต่ยังไม่ได้ส่ง วานเขาซื้อ เขาเสียดายเงิน ที่จริงไม่กี่อัฐ ด้วยเปนของก้าไหลทั้งนั้น เปนเครื่องแต่งตัวทหารโดยมาก เสื้อหนังค้นได้แต่ครึ่งตัว แต่รองเท้าได้มาก ในฐานข้างรองเท้าแล้วทำดีจริงๆ แต่ในครั้งนั้นแล้ว ที่หลังเท้าเปิดรองแต่พื้นโยงด้วยเชือกก็มี หุ้มขึ้นไปถึงข้างบนก็มี มีทั้งรองเท้าผู้ชายแลผู้หญิง ทหารแลพลเรือน ประหลาดที่อยู่ได้ถึงสองพันปี ด้วยเหตุใด เปนของที่เขาอธิบายได้ สิ่งของทั้งปวงที่ได้มาตั้งในมิวเซียมนี้ ได้จากในบ่อโดยมาก เห็นจะเปนเวลาที่เกิดรบพุ่งกันจะเสียท่วงทีอย่างไร จึงเอาของทิ้งลงไว้ในบ่อ แลเปนข้อปรากฎชัดเจนว่า ในค่ายนี้ได้มีไฟไหม้ เห็นจะเปนพวกเยอรมันข้างเหนือมาเผา เครื่องหนังที่ตกลงไปอยู่ในโคลน โคลนหุ้มไว้กลับรักษาไม่ให้ผุ แต่แห้งเกราะทีเดียว ร่อยหรอบ้าง เขาได้ทำใหม่เทียบตามรูปตั้งเคียงๆ กันไว้ ยังใช้ได้ดีทีเดียวในเวลานี้ ตะเกียงดินตะเกียงทองเหลืองจนชวาลา ได้หลายอย่าง หมวกแลเสื้อเกราะของพวกโรมันแลพวกแฟรงก์ได้ทั้งสองอย่าง ซึ่งทำให้เห็นว่าทหารที่มารักษาในที่นี้มีทั้งโรมันแลแฟรงก์ แฟรงก์นั้นเปนชื่อแห่งชาติของมนุษย์จำพวกหนึ่ง ไม่ใช่ฝรั่งเศสไม่ใช่เยอรมัน อยู่ในดินแดนเหล่านั้น เปนชาติใหญ่ซึ่งเขามีเอมเปอเรอ เอมเปอเรอเยอรมันชั้นแรกเปนแฟรงก์ คำที่เรียกว่าฝรั่งของเรา ออกจากเรียกชาตินี้ อินเดียเปนผู้รู้จักก่อน เรียกฝริงคี พวกฝรั่งเหล่านี้ ไปเมืองเราภายหลังอินเดียทั้งนั้น เราคบค้ากันอยู่กับอินเดียก่อน ใช้อินเดียเปนล่ามถามชาติฝรั่งคงจะบอกว่าฝริงคี คีคาเราขี้เกียจพูด ก็คงเหลืออยู่แต่ฝรั่ง เพราะอยากพูดสั้นอยู่เปนนิจ ที่มีผู้กุว่าคำว่าฝรั่งออกจากฟรางเซส์นั้นผิดแท้ ฟรางเซส์เราเรียกเปนฝรั่งเศสตรงดีอยู่แล้ว หนังสือเก่าๆ ก็แยกฝรั่ง แล ฝรั่งเศสเปนคนละชาติคนละประเทศ ฝรั่งเปนชาติเยอรมันตอนข้างใต้ แลฝรั่งเศสตอนข้างเหนือ มีเมืองแฟรงก์เฟอตเปนราชธานีอันหนึ่ง แลในแว่นแคว้นแถบนั้น เอมเปอเรอชาเลเมนเปนตัวสำคัญที่ปรากฎชื่อเสียงมาก ใครเคยเรียนพงศาวดารต่างประเทศเปนต้องรู้ทั้งนั้น แฟรงก์พวกนี้เปนผู้มีอำนาจชั้นหลังแทนโรมันเอมไปร์ แต่ในเวลาเมื่อโรมันมาตั้งที่นี้คงอยู่ในอำนาจพวกโรมัน แลโรมันเกณฑ์ใช้ได้ในการทหาร จึงมีเครื่องแต่งตัวปรากฎทั้งสองพวก คือโรมันแลแฟรงก์อยู่ด้วยกัน ผิดกันที่หมวกแลเกราะ อาวุธนั้นถึงว่าจะเปนหอกใบเข้าอย่างเดียวทั่วกันทั้งโลกย์ ตลอดจนอัสเซไคของพวกอาฟริกัน ก็เปนแต่ต่างรูปคงมีสัณฐานอย่างเดียวกัน วิธีใช้อย่างเดียวกัน เปนอาวุธเก่าแก่ของมนุษย์ ที่ผิดกันในระหว่างสองพวกนี้ ข้างโรมันใบงดงามกว่าพวกแฟรงก์ แลมีภู่ผูกฅออย่างทวน ส่วนโล่ห์นั้นเล่าก็มีอย่างเดียวทั่วไปเหมือนกันกับหอก ต่างกันแต่รูปแลลวดลายเหมือนกันทั่วโลกย์อิก เขาทำรูปแลเครื่องแต่งตัวสอดสวมไว้ให้เห็นสองรูป เปนของทำใหม่เลียนจากของเก่า มีเทวรูปประจำบ้านหรือประจำหมู่กัมปนี ดูรูปร่างไม่ใกล้กับพวกอินเดียเลย เปนฝรั่ง มีคำจาฤกศิลามากซึ่งเดาว่าเจ้าแผ่นดินโรมันเสด็จมาถึงที่นี้หลายองค์

เมื่อดูที่นอกนี่แล้ว ได้ไปที่เปรโตเรียม เข้าทางประตูกลางด้านใต้ของโรงที่สำหรับฝึกทหาร แล้วไปดูห้องที่ไว้เกราะ เดี๋ยวนี้เขาจัดเปนมิวเซียม ไว้สิ่งของที่หาได้ในที่นี้ มีของหลายสิ่งที่เจ้านายขุดได้ เอมเปอเรอเฟรเดอริกที่ ๓ ขุดได้ลูกล้ออันหนึ่ง เอมเปอเรอเดี๋ยวนี้ขุดได้ขวดใบหนึ่ง เจ้านายผู้หญิงขุดได้อะไรต่ออะไรหลายองค์จนกระทั่งหม้อกระดูก ช่างคิดถึงเราไปขุดกรุที่เมืองราชบุรีเสียจริงๆ ใจความนั้นคงพบกรุเข้าแล้วรอไว้ถวายเสด็จมาขุด อย่างเช่นเรานะเอง[๒๐๙] ไม่ใช่เสด็จไปเที่ยวสุ่มขุด น่ารักในวิธีที่เขาเก็บของสารพัดอะไรที่ขุดได้กันไว้เปนพวกๆ มีจนกระทั่งกระบุงขาด รอยไฟไหม้ อย่างเช่นพระยาโบราณ[๒๑๐]มีอยู่ที่กรุงเก่า นับว่าพระยาโบราณได้เดินทางถูกต้องแท้ แต่ยังแคบอยู่ ที่นี่เขาขยายออกไปจนถึงของอะไรที่เปนฝีมือคนชั้นนั้น เอามาเก็บรวมเข้าไว้ด้วยได้ แต่ต้องเอาเฉภาะที่เปนสิ่งที่รู้แน่ว่าทำในศักราชเมื่อเวลาโรมันปกครองซาลเบิคอยู่ การขุดค้นที่กรุงเก่าเพียงร้อยปีเศษ น่าจะได้มากกว่านี้มาก แต่บางทีจะเปนอันตรายเสียด้วยเรื่องปฤษณา ซึ่งที่แท้แปลว่าขุดของที่ฝังแลทิ้งในสระในบ่อไว้ เมื่อบ้านเมืองเปนจลาจล จะว่าไฟไหม้ ที่นี่ก็ได้ไฟไหม้เหมือนกัน ของเราน่าจะหาได้กว่านี้มาก ถ้าเมืองเก่าขึ้นไปอิกเช่นกำแพงเพ็ชร น่าจะยังมีการตรวจตราได้อิกมาก เปนเรื่องสนุกอันหนึ่งซึ่งพ่อชอบใจอย่างยิ่ง เงินตราเขาขุดได้มาก เปนเงินแปมีรูปเอมเปอเรอ ในระหว่างสองร้อยปีมีเอมเปอเรอถึงสี่สิบองค์ เห็นจะเปนด้วยฆ่ากันตายเรวมาก พ่อจะหยุดความพยายาม ที่จะกล่าวถึงสิ่งของที่มีอยู่ในมิวเซียมนี้ เพราะเหตุที่เวลาน้อยนักไม่พอที่จะดู แลยังมีเวลาที่จะดูได้อิกนึกจะไปใหม่ เมื่อดูในเปรโตเรียมแล้ว ได้ดูภายนอกกำลังขุดคุ้ยกันอยู่ก็มี แล้วเขาพาออกจากประตูด้านเหนือ ไปดูบ้านโรมันซึ่งอยู่รอบซาลเบิคนั้น

รอบซาลเบิคมีตึกที่ร้างอยู่เปนอันมาก ฝ่ายข้างตวันออกแลตวันตก มีรากตึกซึ่งทำให้เห็นว่าเปนที่คนอยู่เปนหมู่บ้าน ข้างทิศใต้มีคันนะเบ คือเปนที่อยู่ของพวกกองลำเลียงแลคนใช้ในค่าย แลมีร้านเหล้าที่กำแพงด้านใต้น่าตวันตก มีรากที่ซึ่งเรียกกันว่าวิลลา ซึ่งบางทีจะเปนบ้านของผู้บังคับการ เมื่อเวลาสงบศึก ฤๅบางทีจะเปนคลับของพวกนายทหาร ที่นั้นเมื่อถึงฤดูมีสตรอเบอรีป่าขึ้นมาก แลดูเหมือนมีที่อาบน้ำฤๅอย่างน้อยก็เปนที่สำหรับอบไอร้อนใต้ห้องได้ จากปอตาเดกูมานา มีถนนไปข้างใต้ ถึงเฮดเดรนไฮมใกล้แฟรงค์เฟอตไนท้องทุ่งนิดดา แลสองฟากถนนนั้น ตั้งแต่ห่างประตูไปสักสามร้อยเมเตอเปนที่ฝังศพ ได้พบหลุมแล้วสามร้อยห้าสิบ แต่ศพเหล่านั้นเผาทั้งสิ้น ฝังแต่กระดูกแลเท่า ประจุในโกษฐฤๅโถ มีถ้วยน้ำใบหนึ่ง เงินเหรียญหนึ่งแต่มักจะเปนเงินปลอม กับสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ มีวัดซึ่งเปนที่ไหว้ มิทราส์ แปลว่าพระอาทิตย์ แลซีเบเลซึ่งเขาว่าเปนเทวดาของประเทศฝ่ายตวันออก ซึ่งกองพันโรมันเปนที่นับถือ มีเทรำคือวัดนี้ได้ซ่อมแล้ว

น้ำที่ใช้กินกันในที่นี้ใช้น้ำบ่อ เวลานี้ได้ขุดพบแล้ว ๖๖ บ่อ อยู่ในค่าย ๙ บ่อ ไม่ว่าเรือนเล็กเรือนน้อยอย่างไร คงมีบ่อของตัวเอง ถ้าเปนบ่ออย่างเก่ากรุด้วยไม้ อย่างใหม่กรุด้วยศิลา แต่ไม่ใช้ปูน น้ำที่โสโครก ใช้ขุดรางฤๅคลองให้เดิน จนเดี๋ยวนี้ก็ยังใช้ได้อยู่บ้าง

วิธีอบอุ่นเรือนให้ร้อนนั้นฉลาดมาก ขุดพื้นลงไปตื้นๆ ใต้เรือนแล้วก่อเสาอิฐเตี้ยๆ มากๆ หลังเสาอิฐนั้นปูกระเบื้อง แล้วเทปูนผสมกรวดที่เรียกคอนครีต ให้หนา นอกเรือนมีเตา ซึ่งมีช่องให้ไอเข้าไปในห้องใต้ถุนตึกนั้น แลในห้องนั้นมีท่อขึ้นไปตามผนังภายในจนถึงหลังคาฤๅภายในห้อง เวลาจะทำให้ร้อน เอาฟืนฤๅถ่านเผาที่เตา ไอร้อนก็เข้าไปในห้องใต้พื้น เมื่ออุ่นพอในใต้พื้นนั้นแล้วก็ขึ้น ตามท่อดินตารากอตา ค่อยค่อยอุ่นขึ้นไป พื้นแลผนังก็อุ่น เห็นจะอยู่ได้นาน เตาอุ่นเรือนเช่นนี้เรียกว่าฮิโปเกาเตส ได้ซ่อมเสร็จแล้ว

ของที่ขุดได้ที่ซาลเบิค ได้มากอยู่ในรากตึกฤๅในบ่อ สิ่งซึ่งเปนสำคัญเกี่ยวแก่พงศาวดาร คือแผ่นดินเผาตารากอตาซึ่งมีคำจาฤกเปนพยานว่าทหารที่รักษาฟาลคราเบนเปนคนเยอรมันต้องเกณฑ์ แลได้ความเดือดร้อนด้วยการกดขี่ของพวกโรมัน ได้เปนขบถช่วยกันฆ่าแลเผาพวกโรมัน

เงินที่ขุดได้ในที่นี้มาก เปนเครื่องช่วยให้ประมาณเวลาที่โรมันได้มีอำนาจอยู่ในที่นี้ มีเงิน ๒๒ เหรียญ ศักราชตั้งแต่ ๒๖๘ ถึง ๓๐ ปี ก่อนพระเยซูเกิด ชั้นเอมเปอเรอแรกๆ มีน้อย มามีมากในแผ่นดินเอมเปอเรอเวสปาเซียน (คฤศตศักราช ๖๙ ถึง ๗๙) ซึ่งคเนว่าคงจะเปนเวลานั้นเองซึ่งได้ตั้งต้นสร้างซาลเบิค มีตราในเงินอยู่อิกนั้นคือ โดมิเตียน (๘๑ ถึง ๙๖) ตรายัน (๙๘ ถึง ๑๑๗) ฮาเดรียน (๑๑๗ ถึง ๑๓๘) แอนตอนิอุส ไปอุส (๑๓๘ ถึง ๑๖๑) เฟาสตินาที่ ๑ มารคุส ออรีลัส (๑๖๑ ถึง ๑๘๐) เฟาสตินาที่ ๒ เซปติมิอุส เซเวรุส (๑๙๔ ถึง ๒๑๑) เฮลิโอกาบาอุส (๒๑๘ ถึง ๒๒๒) เซเวรุส อาเลกซานเดอร์ (๒๒๒ ถึง ๒๓๕) แลเกอดิอานุสที่ ๓ (๒๓๘ ถึง ๒๔๔) ในที่สุดนั้น วาเลเรียน (๒๕๓ ถึง ๒๕๙) แลคลานดิอุส โกทิคุส (๒๖๘ ถึง ๒๗๐) ซึ่งคเนว่าโรมันได้เปนใหญ่ปกครองเทานุส คงจะได้สิ้นในเวลานั้น ประมาณสัก ๒๐๐ ปีเศษ บรรดาเงินที่ได้พบทั้งหมด ประมาณสักสองพันห้าร้อยเหรียญ

ของที่พบนั้นปรากฎว่า พวกโรมันข้างฝ่ายเหนือนี้ได้ใช้กระจกน่าต่างสีเขียวอ่อนจนกระทั่งถึงสีน้ำเงินแก่ กว้างยาวประมาณ ๔๐ เซนติเมตร

เครื่องเหล็กนั้น ที่เปนสำคัญคือเกือกม้า ได้ใช้มาแล้ว เกือกสำหรับล่อแลวัวก็มีบ้าง สเปอที่ติดส้นเกือกนั้นเขาช่างทำ ไม่ตรงออกมาจากสันเกือกโอนออกไปข้างนอก คนขี่ม้าจะได้ไม่เผลอเอาสเปอไปเขี่ยข้างม้า ถ้าเวลาจะใช้สเปอก็เบนปลายตีนออกไปข้างนอก โรมันเปนเจ้าของสเปอก่อน แต่อาวุธหาได้น้อย เพราะเปนที่หวงแลมีราคามากทั้งมิตรแลศัตรู เมื่ออยู่ในที่เปลี่ยวเช่นนี้ แต่เครื่องมือมีมาก ทั้งค้อน เลื่อย ขวาน ตะปู ซึ่งไม่ผิดกันกับที่ใช้อยู่ทุกวันนี้นัก เว้นแต่สครูไม่มี แต่ของที่เปนวิชาช่างมีน้อย มีแต่ตุ๊กตาแลเครื่องประดับ

กระดูกสัตว์ที่พบในที่นี้ เปนสัตว์ที่มีอยู่ในเดี๋ยวนี้ เว้นไว้แต่ ออรอช Aurochs (Bos urus) แลแสวมปบอร์ Swamp boar (Sum pfschwein, Sus serofa palus ได้พบเปลือกหอยนางรมด้วย ร่างกวางแลร่างเนื้อมีมาก ประตูป้อมนี้เวลากลางคืนต้องปิด เพื่อจะกันไม่ให้เนื้อแลกวางเข้ามา ในรอบบริเวณที่ตั้งซาลเบิคนี้เปนป่าไม้ทั้งนั้น แต่ดูเปนป่าไม้ใหม่ๆ มากกว่าเก่า ป่าเก่าเห็นจะได้ตัดลง นี่เปนป่าปลูกขึ้นใหม่ ได้ส่งสิ่งของบางอย่างที่ได้ซื้อ มาให้ดูด้วย

ดูที่เหล่านี้แล้ว เวลาไม่พอที่จะดูเลอียดได้ คิดจะไปใหม่ เวลาเย็นเสียมาก จึงกลับขึ้นรถโมเตอร์คาร์ให้โปลิศนำไปในป่า เพราะได้เตรียมไว้ว่าจะไปต้มเข้าต้มบะช่อกิน เขียนสั่งสิ่งของไว้แต่กลางคืนด้วยรู้แน่ว่ามาโฮเตลคงจะกินเข้าไม่ได้ เพราะกับเข้ามันๆ หวานๆ ทุกอย่าง คิดจะกินเข้าต้มต่างตีเสียให้อิ่มแล้วมาดินเนอแต่น้อย เลือกที่ได้เหมาะดีเต็มทีสมที่ควรจะทำกับเข้าต้น เข้าไปปูผ้าปูผ่อนลงเรียบร้อย ลงมือเปิดของเตรียมพร้อมแล้วยังแต่น้ำ พระยาศรีธรรมสาส์นส่งขวดขนาดครึ่งไปนต์มาให้ มันมากกว่าโซดาขวดหนึ่งนิดเดียว ร้องไม่พอ ก็บอกว่ามี ค้นก็ไม่ได้ ได้แต่น้ำแร่แลเหล้ายาอะไรยุ่งไปทั้งนั้น เพียงจะซาวเข้าก็ไม่พอ ต้องให้รถไปขอน้ำชาวบ้าน ได้น้ำมาเอาหม้อออกมาดูเล็กนิดเดียว กินสามคนก็จะไม่พอ ต้องให้ไปยืมหม้อชาวบ้าน ได้หม้อดินหนาตึ้กโตกบเตา พอน้ำมาถึงได้ซาวเข้าตั้ง ต้มไปหน่อยหนึ่งนึกว่าน้ำจะน้อยจะเติมน้ำ ชายอุรุพงษ์เหยียบโครมลงไปในถังหกหมด นึกขึ้นได้ถึงอ้ายขวดเล็กที่มีอยู่เห็นจะพอเติม หม่อมนเรนทร์หยิบมาเปิด ร้องเอะอะว่ากลิ่นมันผิดปรกติ พระยาศรีธรรมสาส์นก็ยังยืนว่าน้ำ เถียงกันถึงชิมกลายเปนน้ำส้ม หากว่าไม่รินลงไป หม่อมนเรนทร์กับตาอ้นหั่นไก่จะมาผัดน้ำปลากับพริกไทย พ่อเปนผู้ผัด ผัดไปผัดมาดำเปนหมึก ไม่รู้ว่าเรื่องราวอะไร หน้าตากินตายตกลงเปนต้องเททิ้ง คราวนี้ใช้เบคอนทอด ทำสำเร็จแล้ว คอยเข้าจนทุ่มครึ่งก็ไม่เดือด พระอาทิตย์ก็หมดลงไปจะค่ำ อ้ายท้องก็ร้องอึดๆ อยากกินเข้า เพราะขาดทุนน้ำชาเข้าไปไม่ได้กินด้วย ตกลงเปนจะรอคอยกว่าจะเสร็จ เห็นจะสักสองทุ่มเศษ กลับไปกินโฮเตลดีกว่า ขับรถอย่างเร็วที่สุด จนหมวกใส่ไม่อยู่ พอกลับมาถึงหมายว่าจะได้กินดีอะไร กลายเปนต้องเปนแม่ยายจุ๊บแจง กินเข้าเปียกกับน้ำเกรวี ถัดไปอิกก็กับเข้าหวานแลมัน คลื่นไส้ตกลงเปนกินพอหนักๆ ท้อง แล้วต้องมาต้มเข้าต้มไก่กิน อะไรๆ ก็ดีหมด เสียแต่อด เพราะกับเข้ากินไม่ได้จริงๆ มีแต่หวานกับมัน ถึงอาการอื่นจะดี แต่ถูกอดเข้าอย่างนี้ก็เห็นจะโซท้องแห้งเต็มที

คืนที่ ๑๕๕

วันพุฒที่ ๒๘ สิงหาคม

เวลาเช้าหมอมา แลไปอาบน้ำตามเคย เหมือนเมื่อวานนี้ วันนี้ขยับขึ้นไปเปน ๑๔ มินิต กลับมาพักชั่วโมงหนึ่ง แล้วจึงกินเข้ากลางวันแล้วต้องพักอิกสองชั่วโมง ทำหนังสือเรื่อย เวลาเย็นไปที่สนามลอนเตนนิส เพราะวันนี้เปนวันพนันใหญ่ แต่หมดเขตรช้าไปเลยไปไม่ทัน ต้องไปนั่งดูเขาเล่นอิกสำรับหนึ่ง แต่กระนั้นยังเปนผู้ไปก่อนแครนด์ดัชเชสออฟลุกเซมเบิค แลแอริดิดารีแครนด์ดุ๊กแลแครนด์ดัชเชสออฟบาเดน ซึ่งมาอยู่บ้านแม่ยายแลพ่อที่คาเซอลแห่งหนึ่งใกล้ที่นี้ ทางชั่วโมงหนึ่ง ได้สนทนากันเปนคราวแรกที่พ่อได้รู้จักแครนด์ดัชเชสองค์นี้ แต่เธอรู้จักเราดี ด้วยได้ฟังเรื่องราวจากพระญาติวงษ์มาเสียหนักกว่าหนัก เพราะเขาเปนญาติกันหมดทั้งสิ้นในพวกเจ้านาย แครนด์ดัชเชสนี้งามมาก อายุประมาณสัก ๖๐ เศษ แต่ยังสรวยดี กิริยาอัชฌาไศรยก็น่ารัก เลยนั่งพูดกันอยู่คนละข้าง อ้ายลูกลอนเตนนิสมันผเอินกระเด็นหวอหวอ แครนด์ดัชเชสทั้งสององค์วิตกวิจารณ์กันมาก กลัวมันจะกระเด็นมาเข้าตามีคนเคยตาบอดมาแล้ว แครนด์ดัชเชสบ่นใหญ่ ว่าตาบอดไม่ได้เรื่องได้ราว เพราะเห็นแก่สนุก ปฤกษาพ่อเปนหลายหน คิดอ่านจะกางร่ม พ่อบอกว่าจะเปนไรไป แล้ววิตกวิจารณ์กลัวเขาจะหัวเราะเยาะว่าขี้ขลาดฤๅดัดจริต เพราะมันช่างไม่มีแดดเสียเลยในเวลานั้น ถ้ามีแดดก็จะพาลกางได้ ตกลงเลยไม่ได้กางจนฝนก็ซ้ำตกลงมา ต่างคนต่างพากันหนีฝน มีเยเนอราลแก่คนหนึ่ง เปนผู้ที่ได้เคยบังคับกองทหาร ซึ่งบริพัตรอยู่ในนั้น รับราชการมาถึง ๖๐ ปีแล้ว เดี๋ยวนี้ออกจากตำแหน่ง แต่ดูยังแขงแรง ได้มานั่งสนทนากันอยู่ จำบริพัตรได้ดีแม่นยำไม่ต้องมีใครบอก กลับมาเขียนหนังสือตะพัดไป แล้วทำกับเข้ากินในห้อง ไม่ได้ลงไปกินข้างล่าง

คืนที่ ๑๕๖

วันพฤหัศบดีที่ ๒๙ สิงหาคม

วันนี้ตาหมอให้ตื่นแต่เช้าหน่อย เวลา ๔ โมง ให้กินน้ำถ้วยหนึ่งน้ำที่นี่ออกขุ่นๆ แลกินทั้งเย็นๆ ไม่ต้องอุ่นให้ร้อน ถ้าหากว่าน้ำที่บาเดนบาเดนเหมือนซุปไก่อย่างเช่นชายอุรุพงษ์ว่า น้ำที่นี่เค็มจัดขึ้นแลมีคาวๆ สนิมเหล็ก รศชาตเหมือนทอดมันอะไรอย่างหนึ่งเทือกทอดมันปลารีด ดูมันก็ไม่ผิดอะไรกับน้ำแอปปอลินารีนัก เพราะแอปปอลินารีกินไม่ลงท้อง จึงได้กินกันเบิกบาน รู้สึกว่าน้ำท่าจืดไป ฤๅฝรั่งแล้วเห็นน้ำท่าแสลงแลไม่อร่อย ซึ่งไทยเราออกจะตามๆ เพราะเหตุที่น้ำนี้กินเข้าไปลงท้อง จะดื่มต้องถึงทำหน้าเหยได้ ด้วยตกใจว่าเปนยา ถ้าไม่มีลงท้องแล้ว แอปปอลินารีก็เห็นจะแสลง น้ำนี้เห็นจะกำลังดื่มดี เพราะค่อยเค็มมากขึ้น แลดื่มคล่องคอรู้สึกเย็นสบาย พ่อไม่ได้มีความเดือดร้อนอะไรสักนิดหนึ่งที่ต้องกิน กลัวแต่จะไม่มีผล ฤๅมีผลต่อสามวันเช่นเขาว่า ครั้นถึง ๑๕ วันก็เฉยๆ เช่นน้ำที่บาเดนบาเดน จะรับกินต่างน้ำได้ เว้นแต่ไม่อร่อยเท่านั้น ที่จะเปนเหตุให้เปลี่ยนธาตุได้นั้นไม่มี

เมื่อได้นวดไฟฟ้าแลอาบไอร้อนตามเคยเสร็จแล้วไปที่อาบน้ำ วันนี้กวดขันที่ต้องให้ไปเหมาะเวลา เพราะเขาเอาดินมาต้มไว้ ถ้าไปช้าดินนั้นจะเย็นเสีย ดินที่เอามาใช้ เปนดินสีเหลืองเอามาจากตำบลอื่น ไม่ใช่ที่นี่ซึ่งเขาประมาณว่าอิก ๑๐๐ ปีจะหมด แต่ถึงตั้งเครื่องจักรบดให้เลอียด แล้วผสมน้ำต้มเหมือนเนยเอาผ้าปูลงบนเก้าอี้ยาว แล้วเอาโคลนนั้นปะตามรูปตัวให้นอนทับลงบนโคลน แล้ว เอาโคลนปะซีกข้างซ้ายซึ่งขี้เมื่อยอยู่นั้น ทั่วดีแล้วเอาผ้าคลุม กำหนดแรก ๑๐ มินิต กำหนดความร้อนความเย็นให้พอดี คืออย่าให้ร้อนจนเหื่อออก อย่าให้เย็นจนรู้สึกว่าเย็น แต่ที่แท้ในเวลา ๑๐ มินิตนั้น ตอนข้างปลายออกเย็นๆ ลงแล้ว ครั้นเมื่อถ้วน ๑๐ มินิต เอามีดตัดกระดาษงาช่วยกันขูดดินนั้นออกโดยเร็ว แล้วลงอาบน้ำ เปนน้ำอุ่นตามธรรมดา แล้วกลับขึ้นมาคลุมผ้าอิก ๒ มินิตจนตัวแห้ง มีหมอคอยปกครองคอนโตรลชีพจรเรื่อยไป การคลุมผ้านี้ก็เปนจำกัด พอตัวแห้งแล้วต้องรีบแต่งตัวทันที อย่าให้ทันเหื่อออกได้ ถ้าเหื่อออกเมื่อไรเปนหวัดแลทำให้หัวใจอ่อนไปด้วย เรื่องเปลี่ยนร้อนเปลี่ยนหนาวเช่นนี้เขาชำนาญจริงๆ เพราะเมืองเขาหนาวอยู่เสมอ ข้างเราแลช่างเซอะจริงๆ เพราะมันร้อนอยู่เสียเสมอ เสร็จการอาบน้ำแล้วให้เดินสองมินิต ได้เดินไปที่ร้านในป่า ดูสนุกดี เดินไม่ทันตลอดร้านถูกเร่งให้กลับมาหยุดพัก เลยต้องกลับกันเท่านั้น เมื่อวานนี่ฝนตกเวลาเย็นเลยเรื่อยมาจนกลางคืน วันนี้กลายเปนหมอกเปนลมเย็นชืดไป ถนนก็ออกแฉะๆ เรื่องที่จะร้อนจะเย็นในฤดูซัมเมอนี้อาไศรยฝน ถ้ามีฝนลงมา เปนเย็นไปได้สักสองวันสามวัน แล้วก็ร้อนขึ้นทุกที จนกว่าฝนจะตกใหม่ ฝนตกอยู่ในราวประมาณสักวิกละครั้ง วิกหนึ่งก็คงเย็นครึ่งหนึ่งร้อนครึ่งหนึ่ง ตามฤดูปรกติ เวลานี้นับว่าเปนเวลาซัมเมอแท้ ไม่รบัดรเบิดมาสักเดือนหนึ่งแล้ว

นอนให้ทำหนังสือมาจนเวลาเย็น กลายเปนฝนตกร่ำเรื่องไม่รู้หยุด จนบ่าย ๕ โมงก็ยังเปนลอองอยู่ จะนิ่งอยู่อัดใจ ตกลงเปนต้องหนีไปเที่ยวทั้งฝนตรงไปที่ร้านอาบน้ำ ซึ่งดูค้างไว้ แล้วไปดูรูปที่ช่างเขียนมาตั้งเขียนอยู่ที่นี่ เขียนตามรูปถ่าย ดีพอใช้ แกตั้งต้นเขียนรูปพ่อ แต่แกได้รูปจากชูแมน ซึ่งไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ซํ้าไปเดาสีเอาเอง เชื่อว่าไทยเราเหลือง เขียนไว้เสียเหลืองจ้อย พอแลเห็นตัวเข้าร้องเอ็ดใหญ่ว่าไหนว่าเหลือง ก็ขาวเกือบจะเหมือนฝรั่งนี้เอง เอามือแกมาเทียบ จึงได้เห็นว่าอ้อเหลืองจริง แต่ไม่ใช่เหลืองส้ม เลยอ้อนวอนขอถ่ายรูป พ่อเลยตกลงยอมให้แกถ่ายรูป แต่ถ่ายอย่างต้นเห็นจะพอแต่เปนเค้า แกก็พยายามนักหนา อุส่าห์เอาตำราตราออกมากางอ่าน ทิ้งกระจายอยู่ตามแถบนั้น วิงวอนนักหนาให้ไปดูอิกในมรืนนี้ ที่แท้แปลว่าแกจะดูเรา กลับมาจากนั้น แวะที่ห้างอีกแห่งหนึ่งไม่ได้ซื้ออะไร ดูเล่นเท่านั้น แล้วกลับมาโฮเตลไปดูห้องที่เขาขายปอสเลน เปนปอสเลนเขียนที่เดรสเดน ซื้อแต่ถ้วยชา ไม่ได้ซื้ออะไร แล้วกลับมาที่วิลลา ช่างถ่ายรูปที่นี่เอารูปมาให้ดู ปรู๊ฟว่าเปนฝีมือดีจริง แลรับจะพิมพ์ให้เรวด้วย แต่ดูอ้วนเต็มที จนสงไสยว่าจะเกินไป แต่ใครๆ ดูทั้งไทยทั้งฝรั่ง ตามดตาหมอ เขาว่าเหมือนจึงเอาส่งเข้าไปให้ดู จะเชื่อฤๅไม่เชื่อก็ตาม เอาไว้คอยสอบเมื่อเวลาไปถึง

วันนี้หมอมาอิก โปรเฟสเซอเกรลแลโปรเฟรสเซอไมเยอจะลากลับไปในวันเสาร์ บอกแล้วบอกเล่าว่าไม่ได้เบื่อหน่ายที่จะอยู่ แต่เห็นไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพราะอาการสบายมากแล้ว จึงขอมอบน่าที่ไว้ให้หมอฟอนนอรเดน เปนผู้บัญชาการสิทธิขาด ถ้าหากว่ามีอาการแปลกประหลาดอะไรให้เรียก โปรเฟสเซอเกรลอยู่ห่างที่นี่สองชั่วโมงเท่านั้น โปรเฟสเซอไมเยออยู่เบอลินก็ไม่ไกลเท่าไร แต่วันที่ ๒๐ จะกลับมาในการเฉลิมพระชนมพรรษาทั้งสองคน การอาบน้ำจะต้องอาบไปอิกจนวันที่ ๒๒ กันยายน อาบสองวัน เว้นพอกโคลนวันหนึ่ง ต่อนั้นไปจะไปเที่ยวข้างไหนก็ได้ นับว่าเปนสิ้นเขตรที่ต้องรักษาแล้ว โปรเฟสเซอสองคนนี้มีอัธยาไศรยดีอย่างยิ่ง รักษาด้วยความระวังอย่างอุกฤษฐ แลไม่ได้เอาโลภเปนที่ตั้งน่า ตั้งใจจะหาชื่อเสียง โปรเฟสเซอเกรลเปนคนชั้นสูงมาก เปนผู้ที่ได้ถูกเลือกจะให้ไปเปนโปรเฟสเซอในเมืองเบอลินแต่แกไม่ยอมรับ เพราะงานที่แกทำอยู่ได้เงินมากกว่า แต่ถึงดังนั้นก็เปนยศชั้นที่ ๒ รองเอกเซนเลนซี การเลือกหมอรัฐบาลเรียกหมอทั้งปวงให้ประชุมกันเลือก เมื่อใครถูกเลือกจึงเปนผู้มีชื่อเสียงแลเกียรติยศมาก เมื่อโปรเฟสเซอเกรลไม่รับจึงได้เลือกโปรเฟสเซอเคราซ์ โปรเฟสเซอเคราซ์ไม่ถูกเลือกแต่ก่อนเพราะเปนคนออสเตรียน เมื่อได้เปนโปรเฟสเซอในเบอลิน ต้องเปลี่ยนชาติเปนเยอรมัน ฝ่ายโปรเฟสเซอฟอนนอรเดนตัวเปนเยอรมัน แต่ไปได้รับตำแหน่งเปนโปรเฟสเซอสำหรับเวียนนา กลับต้องเปลี่ยนชาติไปเปนออสเตรียน จึงยังมีน้องชาย คือหมอนอรเดนอยู่ในเยอรมนีที่เปนผู้จะมารักษาพ่อต่อไปนี้ ขอจบรายวันฉบับนี้ เพราะเวลาเมล์ที่จะออกพรุ่งนี้

จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



[๒๐๗] หม่อมเจ้าชายทองทีฆายุ หม่อมเจ้าชายใหญ่ในกรมหลวงประจักษศิลปาคม

[๒๐๘] คือหม่อมราชวงศ์ พระครูวิเศษศีลคุณส่าน วัดอมรินทร กับพระพุฒาจารย มา วัดจักรวรรดิ

[๒๐๙] เคยพบตรุที่บ้านปรกแขวงเมืองราชบุรี ประจวบเวลาเสด็จ ได้รอไว้ถวายทรงขุดครั้ง ๑

[๒๑๐] พระยาโบราณราชธานินทร พร เดชะคุปต์ อุปราชมณฑลอยุธยาบัดนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ