- คำนำ
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๓
พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๘
คืนที่ ๑๗๑
เมืองฮอมเบิค
วันศุกรที่ ๑๓ กันยายน ร. ศก ๑๒๖
หญิงน้อย
เมื่อคืนนี้นอนไม่หลับ จะว่าเปนด้วยอะไรมีหลายทาง อยู่ในแพนกข้างฝ่ายท้องไม่ปรกติ บางทีก็จะเปนด้วยอาหาร เผลอลงไปตื่นเผลอลงไปตื่น ได้ความเดือดร้อน ข้อต้นเพราะไม่มีอาหารที่จะกินให้อร่อยได้ ข้อสองถึงจะมีอาหารที่อร่อยก็ไม่กินเข้าไปได้เท่าไร เพราะเต็มแน่นล้นอยู่ในคอ ข้อสามการที่เต็มแน่นล้นอยู่เช่นนั้น ไม่มียาฝรั่งที่จะแก้ให้หาย นอกจากต้องให้กินอาหารเข้าไปให้ได้ อะไรอะไรมันจึงจะเดินไปเรียบร้อยแล้วก็หายไปเอง เบื่อที่อยู่ เบื่อไม่มีอะไรทำ อยู่เปล่าๆ เหนื่อยหน่ายแก่ชีวิตรขึ้นมา คิดการที่จะหนีจากที่นี้ไปอยู่เสียที่อื่น เช่นสวิตเซอแลนด์ฤๅอิตาลี ก็จะต้องรอเวลาไปจัดการทางโน้นก่อนที่จะไปได้กว่าจะสำเร็จจะไปได้ ก็เรวเข้ามาอีกสักสี่วันฤๅห้าวันจากกำหนดเดิม ความทุกขเวทนาในระหว่างนี้ก็ไม่แปลกอะไรขึ้น ลางทีจะโทรมไปเสียก่อน จึงได้คิดการที่จะไปเที่ยวย้ายสถาน เปลี่ยนที่ทุกวัน กว่าจะถึงเฉลิมพระชนม์พรรษาจึงจะกลับมา มีวัน ๖ วัน แต่ก็ไม่แน่ ถ้าหากว่ามันไม่สบายอ่อนเปลี้ยอยู่ แลบางทีจะหาอาหารยาก ด้วยกินอาหารธรรมดาไม่ได้ก็จะกลับทำให้ไม่สบาย บางทีนอนเฟอะทนอยู่เช่นนี้จะดีกว่า ความรำคาญที่จะต้องนอนอยู่เช่นนี้ ที่มีเรื่องไม่มีอะไรจะทำ เกิดมาเปนแต่ตัวแมงกวนพวกบ้านไม่ให้เขามีความศุข นอนจมอยู่ในที่นอนคนเดียวใจมันก็ดิ่งลงไป ดิ่งลงไป ถ้าจับฟู้ขึ้นมาแลจะเลยเปนบ้า เหี่ยวลงไปก็จะเลยเจ็บมาก จึงไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
การกินเข้าไม่ได้นั้น มันชวนจะเปนตั้งแต่แรกมาถึงที่นี่แล้ว เพราะเหตุที่เมืองนี้ ซึ่งเปนลัทธิวัดน้ำมนต์อย่างหนึ่งแต่ไม่ใช่นุ่ง[๒๒๔] เปนวัดเคร่ง ผู้ซึ่งอุปสมบทอยู่ในวัดนี้จำจะต้องถือธุดงควัตรแลสิกขาบทอย่างกวดขัน มีวินัยธรวินัยธรรมออกข้อบังคับ ทุกโฮเตลแลเรสเตอรองต์ทั่วไป ว่าอาหารสิ่งนั้นควร สิ่งนั้นไม่ควร ตีพิมพ์ป้ายแผ่นโตๆ ปิดไว้ พวกผู้ซึ่งเปนเจ้าของโฮเตล เจ้าของเรสเตอรองต์ จำจะต้องปฏิบัติตาม แต่ถึงว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามไม่มีโทษอย่างไร ร้านเหล่านั้นก็บังคับกันเองได้ ด้วยถ้าหากว่าใครไปทำกับเข้าให้คนกินอร่อยขึ้นแห่งหนึ่ง คนจะไปติดเสียที่นั่นหมด จึงต้องคอยพร้อมกันบัพพาชนิยกรรมผู้ซึ่งไม่ประพฤติตามข้อบังคับวินัยธร วินัยธรรม ข้อบังคับนั้นมีเปน ๕ อย่าง ได้คัดแต่อย่างเดียวมาให้ดูเปนตัวอย่าง คือ
ห้ามอาหารที่ถึงเครื่องเทศ ถึงเกลือถึงพริกไทย ห้ามน้ำส้มมัสตาด ฮอสเรดิชเครื่องปรุงซุปแลซอศต่างๆ ยอมให้ใช้น้ำมนาว วนิลา อบเชย เช่นสลัดอย่างนี้ปรุงด้วยน้ำมนาวทั้งนั้น ห้ามมัน มักกะริน ไขวัว มันหมู ยอมให้ใช้ผักผลไม้ต้มมันต้มเคี่ยวเปื่อยให้เหลว เนื้อสัตว์เลอียดใช้ได้
อาหารเช้าแลว่าง ยอมให้ใช้น้ำชา คอโค ครีม ห้ามกาแฟ ซุป ห้ามซุปผักแลซุปผลไม้ ปลาให้กินปลาอย่างเบา ปลาต้ม ห้ามปลาไหล ปลาซาลมัน ปลาเตราต ซอศ ให้ใช้แต่เนยสดฤๅซอศเนยเนื้อ บรรดาเนื้อสัตว์เลี้ยงกินได้ เนื้ออย่างอ่อนกินได้ ถ้ากินเนื้อขาวได้นั้นดี ห้ามเนื้อหมู สัตว์ป่า กวางกินได้ กระต่ายห้าม สัตว์ปีก นกพิราบ ลูกไก่ ไก่เฟเซนต์ ปาตริดช์ นกครัมเมต ไก่งวง ซอศต่างๆ อย่างอ่อนๆ กินได้ ห่านเปดห้าม ผักต้องสับให้เลอียดต้ม อย่างที่ไม่เลอียดกินได้แต่แครอต อาร์ติโจ๊ก ปลายหน่อไม้ สลัดให้กินผักกาดอ่อนๆ กับน้ำมนาว อาหารแป้งแลของหวาน แป้งปั้นแลมักกะโรนี ห้ามเนย ปาเมซัน ให้ใช้เนยเหลือง เข้าร้อนแลเย็น ปุดดิงแลชูเฟลทุกอย่างใช้ได้ เว้นไว้แต่ต้องไม่มีผลไม้ฤๅแยมเท่านั้น น้ำแขงได้แต่ไอสคริมอย่างอ่อน เนยแขงอนุญาตแต่แคร์เวต แลดาร์มองแบรต์ ผลไม้ห้าม ไข่ต่างๆ ห้ามไข่เจียว ไข่ต้มแขง เนื้อเย็น หมูแฮม ปลาซาลมันย่าง ลิ้นวัวแลเนื้ออื่นได้ แต่ห้ามไส้กรอก ขนมปัง ให้ใช้ขนมปังขาวขนมปังปิ้ง ฮอมเบิค บิสกิต แลบิสกิตอื่นๆ ที่ว่ามานี้เปนฉบับหนึ่ง ยังมีฉบับอื่นอิก ๔ ฉบับ ที่ห้ามต่างๆ กันไป กลับตรงกันข้าม เช่นกับในใบนี้ห้ามไม่ให้กินเนื้อกระต่าย อิกใบหนึ่งบอกว่าให้กินเนื้อกระต่ายให้มาก การที่จะควรกินอย่างใบไหน บอกกับคนครัวว่าจะกินอย่างใบไหนเปนได้ ยังมีสิกขาที่ทำเปนคัมภีร์อิกต่างหาก ส่วนที่เรามาอยู่ แกไม่สั่งว่าให้เรากินตามใบใหน แล้วแต่คนครัวเขาจะจัดมา เขาจัดมาขนานใดขนานหนึ่ง อ้ายเราก็กินไม่ลงทั้งนั้น อย่างไรอย่างไรก็คงมันๆ จืดๆ เรื่องเกลือเปนห้ามทั่ว เรากลับได้ความเดือดร้อนเพราะไม่ถูกห้าม เช่นกับอ้ายเนื้อดุ้นโตโต เรากินเข้าไปไม่ได้เองก็มี จึงต้องมาเลี่ยงหันหาของอ่อนๆ นึกจะหันเข้าไปกินตามตำรา เขาบอกว่าเต็มทน คงกินไม่ได้ มันก็เรื่องจืดๆ มันๆ จึงเปนการขัดข้องลำบากประดักประเดิดเต็มที กินก็ไม่สบายไม่กินก็หิว ตกลงเปนรู้สึกตัวเหมือนบวชมากกว่าอย่างอื่นหมด แต่ไม่ใช่บวชพระ ซึ่งไม่ทันลำบากเช่นนี้ เหมือนบวชเณรเมื่อออกพรรษาแล้ว แต่ใจคอเมื่อเปนเณรกว้างขวางกว่าเดี๋ยวนี้ มีสู้เดี๋ยวนี้ไม่ได้อย่างเดียวแต่เพียงหิวเฉียบแหลมกว่ากันหน่อยเท่านั้น
คืนที่ ๑๗๒
วันเสาร์ที่ ๑๔ กันยายน
เมื่อคืนนี้ท้องไม่เฟ้อแต่หลับช้าอยู่นั้นเอง ตื่นร่ำไป มันไม่ลงร่องรอยเปนปรกติได้ อาหารต้องทำต่างหากวันละสิ่ง ตอนเช้าสวีตเบรดตองกลางวันเข้าต้มๆ เองกับเต้าหู้ยี้ ดุ๊กไปบิณฑบาตเจ๊กมาได้ ตอนค่ำนกพิราบทอดด้วยน้ำมันของมันเองตัวหนึ่ง ตอนดึกซุปคอนซุเม ไก่ดัมเบล อาหารที่กินนี้ไม่ได้ครึ่งที่เคยกินอยู่ แต่อดเสียเช่นนี้ดีกว่ากิน มิสเตอเกฮีเนียสมาหานั่งพูดกัน ไม่ได้ไปข้างไหน นอนกลิ้งอยู่บนเรือน รู้สึกตัวว่าไม่มีอะไรจะทำ ได้ความทุกขเวทนาเปนอย่างยิ่ง ตอนดึกเล่นต่อแต้ม ซึ่งไม่เปนด้วยกันทั้งนั้น ต่อแต้มนี้ได้ซื้อมาแต่เมืองเบอลิน เพื่อจะมาเล่นเวลาเปนเช่นนี้ แต่ลืมเสียนึกไม่ได้ นึกขึ้นมาได้ยังต้องค้นอิกเปนนาน ด้วยคนเก็บลืมยิ่งกว่าเรา ตกลงเปนอยู่อย่างที่ไม่เคยประพฤติเช่นนี้เลยตั้งแต่เกิดมา
คืนที่ ๑๗๓
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน
เรื่องที่เหน็ดเหนื่อยในการอยู่เปล่า นอนไม่หลับ กินเข้าไม่ได้ไม่แต่เฉภาะเวลาที่ท้องเฟ้อ ท้องปรกติลงแล้ว แต่ดูกระเพาะแลลำไส้มันแขงไปเสียหมด อาหารลงไปได้น้อยกว่าปรกติกว่าครึ่ง แต่อย่างนั้นยังรู้สึกว่าเต็มอัดร่ำไป จึงต้องกินแต่ของที่อ่อนแลน้อยที่สุดที่จะพอทนได้ เรื่องนอนหมายว่าเปนเพราะท้องไม่สบาย แต่มาปรากฎได้ความว่าเพราะตึงเหลือเกินนั้นอย่างหนึ่ง เพราะเบื่อที่นอนที่นอนไม่หลับมาเสียช้านานอิกอย่างหนึ่ง ถ้านิ่งอยู่ก็คงจะค่อยฟื้นขึ้นทุกวัน แต่จะช้า ยังมีข้ออื่นที่สำคัญนั้น ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นก็ให้รู้สึกเบื่อๆ ไม่ว่าอะไร จนกระทั่งถึงเวลานอนก็ยิ่งเบื่อมากขึ้น เพราะรู้เสียก่อนที่จะนอนแล้วว่าคงไม่หลับ ในการที่จะแก้ให้หายได้อย่างเดียวแต่ไปจากที่เรือนหลังนี้ แลที่ซึ่งเคยเห็นอยู่ในเวลาไม่สบายโดยรอบคอบ ตั้งต้นไปใหม่ ในการที่จะตั้งต้นเช่นนี้ เปนเวลาที่ไม่สบายกำลังถอย อาหารก็ยังไม่ตั้ง ในวันแรกๆ คงจะยังไม่ปรกติ จึงเปนการสำคัญที่จะเลือกที่ให้มีอาหารบริบูรณ์แลให้มีใจคอเบิกบาน เดิมได้คิดไว้ว่าจะไปเที่ยวในประเทศนี้ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ที่ยังไม่เคยเห็น คงจะได้ถิ่นที่แปลกๆ สำเร็จอย่างหนึ่ง แต่ครั่นคร้ามด้วยเรื่องอาหาร ถ้าอาหารไม่ถูกปากก็จะไม่ได้ผลดีดังที่ต้องการ จึงได้ตามจรูญมาช่วยกันคิดอ่าน ตกลงเปนไปปารีสอย่างปิดว่าเปนคนธรรมดา จะได้เห็นการตามเคยที่เขาเดินทางสามัญกันอย่างไร มีข้อที่น่าวิตกในเรื่องที่จะไปทางไกลในรถไฟเช่นนี้อย่างเดียว แต่เรื่องจะนอนไม่หลับ แต่ปลงใจเสียนึกว่าถ่ายยาเสียวันหนึ่ง โดยจะไม่หลับยังรุ่ง รุ่งขึ้นคงต้องหลับ แต่เรื่องอาหารเชื่อว่าจะหาดีได้ แต่จะต้องไปอย่างเงียบ จึงให้จรูญล่วงน่าไปจัดการหาโฮเตลอยู่ กำหนดตัวผู้ไป คือบริพัตร ดุ๊ก พระยาบุรุษ หลวงฤทธิ นายศรี หมอ กลางวันโรเรตามเคย แต่ตาหมอเข้าเปนพนักงานเครื่องหาอะไรอ่อนๆ ให้กินค่อยกินได้ขึ้น เวลาย่ำค่ำกินเข้าเย็น ทุ่มหนึ่งออกจากฮอมเบิคด้วยรถโมเตอร์คาร์ มาขึ้นรถไฟที่แฟรงก์ฟอร์ต อาลเบอสเปนผู้มาจัดการ แกอดคำนับอย่างเจ้านายไม่ได้ เปิดหมวกร่ำไปจนต้องต่อว่า ที่แท้คนที่สเตชั่นรถไฟมันจำได้เสียแล้ว พอเดินผ่านมาก็คำนับ เลยต้องทนๆ เอาอย่างนั้น ชื่อที่พ่อใช้สำหรับจำเปนที่ต้องจดในเวลาไปเที่ยวนี้นั้น C. Yai ดุ๊กนั้น T. Tham บริพัตรนั้น P. Sawan รถที่มาคราวนี้เปนรถนอนสามัญ ไม่ได้เสริมเตียงแก้ไขอะไรเลย ครั้นมาถึงรถ อ้ายคนบนรถไฟเองมันก็รู้จัก ด้วยมันเคยเห็นแห่มาเสียแล้ว รถออกเวลา ๑ ทุ่ม ๕๕
รถนอนเดี๋ยวนี้ผิดกับแต่ก่อน ที่นอนกว้างขึ้นเปนกอง ห้องหนึ่งมีที่นอน เวลาพับเปนเก้าอี้ยาว ครั้นเวลาจะนอนเปิดพนักขึ้นเปนที่นอนชั้นบนชั้นหนึ่ง พลิกที่นั่งขึ้นเปนที่นอนชั้นล่างอิกชั้นหนึ่งเหมือนชั้ว ๒ ชั้น มีที่นอนแลผ้าห่มนอนอยู่ในนั้นเสร็จ การที่จะขึ้นไปนอนชั้นบน มีเชือกหุ้มกำมะหยี่สำหรับโหนตัวขึ้นไป ถ้าหากว่าจะนอนแต่ชั้นล่างชั้นเดียว เผยอที่นอนชั้นบนให้ตะแคง ลุกนั่งได้สบาย ในนั้นมีหิ้งนั่งหิ้งหนึ่ง หิ้งต่างโต๊ะหิ้งหนึ่ง ห้องเช่นนี้สองห้อง มีที่ล้างหน้าอยู่หว่างกลางห้องหนึ่ง มีประตูเข้าออกได้ทั้งสองห้อง แต่เมื่อข้างห้องไหนเข้าไปแล้ว ลั่นกลอนไม่ให้อิกข้างหนึ่งออกมาในเวลาล้างหน้าได้ เมื่อแรกนี้นึกว่าจะนอนไม่สบาย แต่ครั้นเวลานอนเข้าก็สบายดี กว้างเท่าที่นอนในเรืออัลเบียน ผิดกันแต่ไม่มีพนัก ได้ลงมือนอนแต่ห้าทุ่ม แต่ไม่หลับเปนด้วยตาหมอเลี้ยงสัปเปอ ท้องไปมัวทำการตึงๆ ตังๆ รถไฟสั่นชวนจะให้หลับ แต่หลับไม่ได้ กระเทือนข้างในยิ่งกว่าข้างนอก พอเจ็ดทุ่มแล้วก็เผลอไป พอถึงแดนฝรั่งเศส เจ้าพนักงานภาษีขึ้นมาตรวจรู้สึกตัวขึ้นมา เห็นมายืนอยู่ที่ประตูข้างหัวเสร็จแล้ว ยังตื้นอยู่ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงเปิดเข้ามาได้ เพราะได้ลั่นกลอนข้างในไว้ ภายหลังจึงรู้ว่าเขามีกุญแจสำหรับมาเปิด เห็นอ้ายฟ้อนที่นั่งอยู่ห้องหนึ่งต่างหาก ตื่นตาขาวทีเดียว ว่าฝรั่งเขาเปิดเข้ามาในห้องวิ่งทลักทลายอยู่ตามนั้น ที่แท้ในการที่จะกันตรวจนี้ง่าย ถ้าได้ตั๋วสำคัญแล้วก็เปนอันไม่ต้องตรวจ แต่พ่อไม่ให้ขอ เพราะอยากจะถูกตรวจ แต่ได้จัดไว้ไม่ให้มีอะไรอยู่ในห้องนอนที่จะต้องตรวจนั้นเลย มาถึงก็มาถามว่ามีอะไรซึ่งจะต้องบอกภาษีบ้าง เราตอบว่าไม่มี ก็เปนแล้วกันเท่านั้น คราวนี้มีอิกคนหนึ่งเข้ามาเรียกตั๋วโดยสาน เสียทีไม่ได้เตรียมตัวไว้ เพราะไปไหนๆ ไม่ได้เคยถือตั๋วเอง คนอื่นเขาถือ ตกลงเปนต้องพิรุธ จำหน่ายให้ไปเอาที่บริพัตร คนตรวจนั้นเปนกอง ยายแหม่มก็มี สำหรับตรวจผู้หญิง เขาว่าที่อื่นไม่มากอย่างนี้ ฝรั่งเศสใช้คนมากกว่าที่อื่นหมด เห็นจะเกือบสามยามจึงได้หลับอิก ลืมบอกนาฬิกาเลื่อนเวลาไปชั่วโมงหนึ่งให้อ้ายฟ้อนรู้ ตื่นขึ้นเวลาย่ำรุ่ง เห็นเอะอะทำท่าว่าจะให้ตื่น ต้องให้ดูนาฬิกา มัวถามโจทย์กันจนเลยตาเริด กำหนดว่าจะถึงโมงเช้า แต่ที่แท้นาฬิกาเราเปนเวลาเยอรมัน โมงเช้าฝรั่งเศสมัน ๒ โมงเยอรมัน พยายามจะหลับอิกก็ไม่สำเร็จ เลยต้องตื่นนอนอยู่บนที่นอน
วิหารมะเดลินที่เมืองปารีส
คืนที่ ๑๗๔
วันจันทร์ที่ ๑๖ กันยายน
โมงเช้าเข้าแดนฝรั่งเศสตื่นขึ้น นั่งดูอะไรๆ มาตามทาง บ้านเรือนผู้คนมันช่างแปลกกันกับเยอรมันเสียจริงๆ บ้านในเมืองฝรั่งเศสดูมันแบบบาง เรือนเล็กเรือนน้อยคงจะวางท่วงทีให้น่าดู ข้างเยอรมันนั้นหนักๆ ถ้าจะเปรียบกับเรือนข้างไทยเยอรมันเปนอย่างที่เรียกว่า “ตึก” อย่างเก่า เช่นเรือนในวังน่า ข้างฝรั่งเศสเปน “ตึก” อย่างใหม่ฤๅจะเรียกว่า “เก๋ง” คือหลังคาแบนๆ เยอรมันหลังคาสูงๆ บ้านเรือนในประเทศเหล่านี้ ถ้าจะผูกตาไปปล่อย จะบอกได้ว่านี่เยอรมัน นี่ฝรั่งเศส นี่อังกฤษ เพราะแปลกห่างกันมาก รถมาถึงที่สเตชั่นเวลา ๒ โมง เห็นรพีกับจรูญมาอยู่ที่นั่น รพีนั้นพ่อเข้าใจว่ากลับเข้าไปน่าจะถึงแล้ว เพราะลาตั้งแต่เมืองเบอลิน จนได้มีโทรเลขเข้าไปให้ลูกโต ท่านเล็กแลกรมดำรง คอยไปรับโมเตอร์คาร์ของฝาก[๒๒๕] ได้ความว่าที่ยังไมได้กลับเพราะยังหาเรือไม่ได้ ขึ้นรถแคบโมเตอร์คาร์ มาด้วยกัน ๔ คนทั้งจรูญ ตรงมาที่โฮเตลลิเวอปูล ถนนรือ เดอ คาสติย์ลิออน โฮเตลในปารีสเดี๋ยวนี้เต็มมากเพราะกำลังคนต่างประเทศกลับจากไปเที่ยว ผู้คนในถนนก็แน่นหนาคึกคักกว่าเมื่อมาคราวที่ ๒ มาก แต่ต้นไม้แห้งมาก ที่ใบแดงก็มี ไม่มีใบเลยก็มี เขาว่าใบไม้ตามถนนนี้ร่วงเร็ว เพราะจะแตกใหม่ก่อนฤดูหนาว ก็แตกบ้างจริง แต่ใบไม่เขียว แตกใบเหลืองๆ เปนใบอ่อนแล้วมีดอก แต่ก็น้อยต้นที่แตก ที่โฮเตลนี้เปนแฟลตอันหนึ่ง อยู่แต่พวกเราไม่มีคนอื่นปน แต่งงดงามดีแลสบาย กินเช้าอิกเวลาหนึ่ง แล้วจึงลงเดินไปเที่ยว จับตั้งแต่น่าโฮเตลนี้ไป โฮเตลนี้เปนหัวโต่งเสาชิงช้า ที่เรียกว่าเสาชิงช้านั้น คือมีทางเดินตามเฉลียงน่าร้านตลอด ร้านเขาพึ่งจะลงมือจัด แต่ที่จริงเราก็ไม่สู้ต้องการเฉภาะร้าน อยากจะเดินเล่นมากกว่า ได้เดินตามถนน รือ เดอคาสตีย์ลิออน ไปออกถนนรือ เดอ ริ โวลี ซึ่งไปข้างวังลูวร์ (อ่านเปนลูฟ) แวะดูร้านตามทางบ้างบางแห่ง แล้วขึ้นรถไปห้าง แมปปินแอนด์เวบย์ ที่ ‘อาเว นือ เดอ ล’ โอเปรา แล้วต่อนั้นไปเดินตามถนน บุลวาร์ด์ เดส คาปุซีนส์ แลบุลวาร์ด์มัดเลน ร้านเหล่านี้มันไม่ผิดกันเท่าไร มีขายโปสต์ก๊าด ขายรูปต่างๆ ขายเครื่องเพ็ชรพลอยเก๊ มีเครื่องเพ็ชรพลอยจริงๆ คั่นบ้าง แต่ไม่ใช่ร้านเครื่องเพ็ชรที่สลักสำคัญอะไร ไปจนวัดมัดเลนได้แวะขึ้นดู วัดนี้ที่พ่อเคยว่าไม่งาม เวลามากำลังมีที่อื่นดู ไม่ได้ตั้งใจจะไปดูทั้งสองคราว คราวนี้ว่างจึงได้แวะขึ้นไปดู ประตูที่แลเห็นเปนประตูทองแดงหล่อ ไม่ได้หล่อทั้งแผ่น เปนประตูกรอบไม้กรุรูปทองแดงหล่อ ข้างในผนังข้างละ ๔ คูหา มีรูปศิลาที่บูชา ๘ แห่ง กลางเปนรูปศิลาอยู่หลังไม้กางเขน ดูไม่อัศจรรย์อะไร กลับจากวัดนั้นกินเข้าที่เรสเตอรองต์ ลารือ ซึ่งอยู่ตรงน่าวัด ยังกินเข้าไม่ใคร่จะได้ ถูกอาหารมันๆ ยังเลี่ยน ออกจากนั้นขึ้นรถไปดู นก, ไก่, ปลา, ที่ถนน เคดุลูฟร์ ซึ่งดุ๊กซื้อส่งเข้าไปบางกอก แต่ไม่สู้มีอะไรมากนัก แปลกอยู่แต่ที่ปลา ร้านปลานี้เปนร้านที่ผสมปลาขาย ตั้งถังเปนแอแควเรียมกลายๆ แต่ผสมปลาที่สำหรับคนเอาไปเลี้ยง มีปลาเงินปลาทองเปนต้น แต่ก็ไม่มีปลาดีอย่างหางพวง เปนปลาหางซิวแทบทั้งนั้น ดีที่มันช่างจัด มีอ่างแก้วใบใหญ่ตั้งบนโต๊ะ กลางเปนเขามีน้ำไหลหยาดลงไปในนั้นสำหรับเปลี่ยนน้ำ ในนั้นมีปลาทองตัวเล็กๆ ๓๐๐๐ เศษ ว่ายเต็มไปทั้งอ่างตั้งแต่ก้นจนถึงปาก เปนของน่าดูจริงๆ อิกอย่างหนึ่งมีปลาเรียกว่า อักซอลอท เดอ เมกซิก ยาวประมาณสัก ๖ นิ้ว ๗ นิ้ว มีตีน ๔ ตีนเหมือนหนูมีครีบ แต่กระโดงติดกันตลอดไปจนหางๆ ไม่จักเปนใบพาย มีหูตั้งเหมือนหูหนู มีขนรอบใบหูยาวเวลาหุบหูอยู่ดูเหมือนมีขนรอบฅอ ต่อชันหูจึงเห็นว่ามี ๒ ข้างไม่ใช่รอบฅอ ปลาเช่นนี้มี ๒ สี ดำสีหนึ่ง ขาวสีหนึ่ง ออกจากนั้นกลับมาโฮเตล หยุดพักเวลานี้ได้รับหนังสือเมล์
ครั้นจวนค่ำ ขึ้นรถโมเตอคาร์แคบ ไปเที่ยวบัวส์ เดอ บูลอย์น หนาวกว่าเมื่อคราวที่ ๒ มาก พอเวลาค่ำกลับมาแวะดูร้านขายของ ซึ่งเขาเรียกว่าเอกส์เปรสบาร์ ซึ่งอยากดูอยู่แต่ก่อนแล้ว ดูไม่ได้กีดยศที่จริงสนุกดี ขายทั้งเครื่องดื่มแลเครื่องกิน เครื่องดื่มนั้นตั้งเปนตู้ กรุข้างน่าด้วยศิลาแล้วมีก๊อกยื่นมา มีแป้นที่สำหรับวางถ้วย มีช่องสำหรับกรอกอัฐ บอกชื่อสิ่งของที่หลังก๊อก บอกราคา ถ้าจะต้องการสิ่งไร เอาถ้วยไปตั้งรอง แล้วเอาอัฐกรอก อัฐนั้นเข้าไปถ่วงคันชั่งข้างใน เปิดน้ำที่ต้องการนั้นมาลงในถ้วย เฉภาะพอดีกับถ้วย ครั้นเวลากินแล้วเอาถ้วยนั้นคว่ำลง กดเดือยที่ถานตู้ น้ำกีฉีดขึ้นมาล้างถ้วยอย่างแรง ถ้วยนั้นสอาดเอง ส่วนที่บรรจุของกินนั้น เปนจังหันตั้งตามแบน มีแก้วครอบ เมื่อหย่อนอัฐลงในช่อง จังหันนั้นก็หมุนมา พอของกินตรงช่อง กระดกให้ของตกลงมาในราง ของนั้นมีมาก อาจจะกินอิ่มได้ด้วยราคาถูกๆ ออกจากนั้นเดินไปตามริมถนนอิก ได้แวะไปที่ร้านซอมเมอซื้อกล้องแมร์ช่อม คราวนี้ค่อยได้กล้องแปลก ในการเดินกลางคืนนี้ ไม่มีผิดกันกับงานวัดเลย เปนร้านจุดฟืนไฟสว่างตลอด ของที่ขายก็เปนของต่างๆ อย่างงานวัด มีร้านกินเข้าคั่นเปนระยะเปนตอน คนที่เดินไปมา มันก็ออกจะเปนเดินดูๆ ไม่ใช่ซื้อขายวายล่องอะไรกันจริงๆ เปนแต่ส่วนเอาร้านเมืองเปนร้านวัด ก็ใหญ่โตครึกครื้นมากขึ้น ครั้นจะกินเข้าที่ร้านดีวิเศษอะไรก็กลัวเลี่ยน จึงไปกินที่เรสเตอรองต์เวียนนัวส์ ซึ่งมีกับเข้าฮังแกเรียน กินแต่ซุปกับแกงไก่ฮังแกเรียนคล้ายๆ แกงต้มส้มต้มกะปิ ขาดเปรี้ยวใช้ผักดองแทน ที่รู้ว่าจะกินได้ เพราะเคยกินที่บุดาเปส์ตเมื่อมาคราวก่อน พอกินแล้วก็กลับมาโฮเตล เข้านอนแต่เวลายามหนึ่ง เพราะง่วง แลวันนี้เดินมาก
คืนที่ ๑๗๕
วันอังคารที่ ๑๗ กันยายน
เมื่อคืนนี้ หลับได้สนิทดี กินเช้าที่โฮเตลแล้วอยู่จนเที่ยง จึงได้ไปเดิน แลแวะซื้อของบ้าง วันนี้เดินไม่สู้ไกล แล้วขึ้นรถไปดูห้างเมเปอล ที่ขายของเครื่องเฟอนิเชออังกฤษ ที่นี่ผิดกับที่ลอนดอน เพราะเปนแต่สาขา ขายแต่เฉภาะเครื่องเฟอนิเชอ แลเครื่องแต่งประกอบเล็กน้อย เฟอนิเชอก็ไม่ผิดอะไรกับที่ได้เห็นที่ลอนดอน แปลกแต่มีเตียงทองเหลือง มีเสาติดราวมุ้ง ดีกว่าที่เคยมีแต่ก่อน ออกจากนั้นไปกินเข้าที่เรสเตอรองด์ชื่ออองรี เปนที่ซึ่งเขากินกลางวันมีกับเข้าดี การตกแต่งไม่สู้จะหรูหรานัก มีกับเข้าดีสิ่งหนึ่ง เรียกว่า มุสสากา โอสโอแบร์จีน ว่าเปนกับเข้ากรีก เปนเนื้อแกะกับมะเขือขาวแลมะเขือเทศ เนื้อแกะนั้นสับเลอียด เคล้าเนยแลมะเขือแล้วเข้าตู้ กินไม่เลี่ยน อร่อยดีมาก แต่เมื่อจะว่าตามจริงแล้ว อาไศรยเรื่องปรุงรศ ถ้าเปนชาติอื่นทำกับเข้าอย่างเดียวกันนี้ รศคงแปลกไปอย่างอื่น เช่นอังกฤษชอบทำอะไรจืดๆ แต่ชอบกินเค็มอย่างเอก เอาเกลือปรุงรศเอาข้างนอกมากๆ ถ้าเยอรมันทำก็คงจืดๆ มันๆ ฝรั่งเศสรู้จักรศคล้ายกับเรา ปรุงเสร็จในตัวอร่อยกว่าปรุงทีหลังเปนธรรมดา ไม่ว่ากับเข้าอะไรๆ กระทั่งคนใช้ในเรสเตอรองต์มันก็รู้จักรศ เช่นปรุงน้ำสลัดเช่นนี้ คนใช้ทำทั้งนั้น คงได้รศที่แหลมแลผักไม่ชํ้า ทราบว่าเขาใช้ชิมกันด้วย ผู้ที่เปนนายดูการทำครัวนี้ได้เงินมากๆ ในเรสเตอรองต์ใหญ่ๆ ได้ถึงปีละ ๒๐๐๐ ปอนด์ ครัวเรสเตอรองต์เช่นนี้ไม่ใช่ครัวใหญ่โตอะไร ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เท่านั้นพอ เพราะกับเข้าฝรั่งมันทำง่ายกว่ากับเข้าเรา ไปถึงเอาบาญชีกับเข้ามาให้เลือก เราคงจะเลือกไม่เกิน ๓ สิ่ง เมื่อเลือกแล้วก็ไปลงมือทำ เวลาที่นั่งคอยอยู่นั้น กินของแกล้ม ออร์ ด’ เอิวร์ (ซึ่งอ่านว่าออเดิฟ) ไปพลางกว่ากับเข้าจะมา กับเข้าที่เอามานั้นมาในหม้อฤๅในภาชนะที่ทำนั้นเอง เพราะฉนั้นของกินจึงได้ร้อนเสมอ พิธีที่จะเลี้ยงก็ง่ายกว่าโฮเตลมาก เพราะกินน้อยคน ถ้ากินที่โฮเตลฤๅกินโต๊ะธรรมดา ต้องคอยให้กินแล้วกันหมดจึงจะมาเก็บจาน แล้วจึงจะตั้งจาน ตั้งจานแล้ว เอาของมายังต้องมาตั้งนิ่งเสียที ให้สัญญาอาณัติกันที่จะออกแจกให้พร้อมกัน อะไรๆ ไม่ยากเท่าที่จะเร่งให้เลี้ยงให้ได้แล้วเรว ถ้าปล่อยไปตามเรื่องเขา เกือบ ๒ ชั่วโมงจึงจะแล้ว นั่งเสียเจ็บหลัง กับเข้าก็ไม่ใคร่จะได้ร้อน วันนี้รู้สึกว่ากินได้เกือบจะเปนปรกติ แต่ยังไม่เต็มอัตราที่เคยกิน
กินเข้าแล้วไปตัดผม ที่ร้านช่างตัดผม ตัดช้าสักหน่อย แต่ทำดีมาก เวลาตัดแล้วเสร็จเอาเทียนชุบขี้ผี้งอย่างเล่มเล็กๆ ลนปลายผมที่ตัดทั่ว เพื่อจะปิดช่องโลหิตที่แล่นมาในเส้นผมนั้น แล้วสระผมสบายดี ตัดผมแล้วกลับมาพักอยู่ที่โฮเตล อ่านเขียนต่างๆ
เดิมกะว่าจะไป ซังต์ คลูด์ วังนอกเมืองปารีส แต่เห็นอากาศคลุ้ม กลัวจะหนาวแลหนังสือยังค้างอยู่มาก จึงได้ทำอยู่เสียจนคํ่า ต่อค่ำแล้วจึงได้ออกเดินจากโฮเตลโปจนถึงถนนบุลวาร์ด์ แล้วเดินไปตามข้างถนนบุลวาร์ด์ ดูอะไรๆ เล่นจนถึงเวลากินเข้า จึงได้ขึ้นรถไปกินที่เรสเตอรองต์วัวแซง เปนที่ผู้หลักผู้ใหญ่เขาไปกินกัน เพราะเปนเรสเตอรองต์เก่า แต่กับเข้าไม่สู้อร่อย แลบางทีจะอิ่มมาแต่กลางวันยังไม่หาย
คืนที่ ๑๗๖
วันพุฒที่ ๑๘ กันยายน
เมื่อคืนนี้นอนหลับง่าย แต่วันนี้ได้รับเมล์ประดังมาอิก ซึ่งจะตอบไม่ทัน เวลาบ่ายไปเดินที่ถนนอะเวนือ เดอ ล’ โอเปรา จนถึงที่ซึ่งเขาขายซิเนมาโตกราฟ ที่ดุ๊กซื้อเข้าไปเล่น แวะขึ้นไปดูที่ซึ่งเล่นนั้น เล่นบนตึกห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งสำหรับเล่นซิเนมาโตกราฟที่เข้ากับอ้อแอ้ ตั้งเครื่องฉายไฟในห้องหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่ห้องเดียวตรงกัน แล้วเอากระจกเงาฉายให้ไปที่จอ การที่จะปิดให้พร้อมกันทั้งสองอย่าง อยู่ข้างจะเปนการใหญ่ บางทีเพลงมันคลาศ เวลาหยุดร้อง หนังทำปากบับๆ ต้องบอกกล่าวกริ่งกร่างกันให้พร้อม ร้องดังเสียจริงๆ ห้องเล็กๆ ถึงเจ็บหู แต่ถ้าจะเอาเข้าไปเมืองไทยไม่สนุกแน่ เพราะมันแบแล้วก็กำ กำแล้วก็แบ อย่างเช่นแม่เที่ยง[๒๒๖] อธิบายท่าบังสาวันนั้นเอง อิกห้องหนึ่งสำหรับดูพวกหนังตลกแลหนังจริง ห้องนี้เล่นตรงจอ เหมือนอย่างที่บ้านดุ๊ก แต่กว่าจะเปิดได้แต่ละขด ดูประดักประเดิดช้ากว่า เพราะเหตุที่ไม่ใช่เปนโรงเขาสำหรับเล่น เปนที่สำหรับขาย มีตั้งร้อยขดพันขด เล่นสำหรับให้คนที่จะซื้อเลือก ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไร เมื่อดูชอบใจขดไหนก็บอกซื้อขดนั้น เขาเก็บไว้ชั้นบนตึก มีลิฟต์เล็กๆ เดินได้ริมผนัง เมื่อจะต้องการอะไรเขียนลงในกระดาษวางที่ลิฟต์ขึ้นไป คนอยู่ข้างบนก็จัดวางลงในลิฟต์หย่อนลงมา ที่ได้ดูวันนี้ เรื่องตาคนหนึ่งมาอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ในกลางสวน มีเด็กสองคนมาหลอก คนหนึ่งชวนพูด คนหนึ่งเอายาคันหยอดลงไปทางฅอเสื้อ ตานั่นคัน หกล้มหกลุก แล้วเที่ยวถูไถอะไรต่ออะไรไป จนลงปลายที่สุดถูกโปลิศจับ จะดูต่อไปอิกก็หิวเข้า จึงได้ซื้อขดนั้น สำหรับจะให้ดุ๊กไปเล่นให้ดู แล้วลงจากที่นั้น เดินไปกินเข้าที่กาเฟ เดอ ปารีส ซึ่งเคยไปกินแล้ว
ออกจากนั้นขึ้นรถโมเตอคาร์ ไปดูแซงต์คลูด์ซึ่งเปนวังอิกแห่งหนึ่งนอกเมืองปารีส ที่เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์[๒๒๗]เฝ้าเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๓ เมื่อปีเถาะนพศกจุลศักราช ๑๒๒๙ มีป๊ากอยู่บนเขาผเอินไปเจอเขากำลังตั้งร้านแฟร์ประจำปี แวะไปดูลักษณเหมือนภูเขาทองฤๅวัดสามปลื้ม เลวกว่าวัดเบญจมบพิตร ร้านนั้นขายขนมเปนพื้น มียิงเป้าโยนห่วง หมุนๆ ปาลูกกลมให้โดนตุ๊กตา แลอะไรต่างๆ เหล่านี้อย่างละหลายๆ โรง คั่นกันไปกับร้านขนม มีสวีตชแบ๊กถ่ายรูป เปนสองแถวไปจนตลอดถึงที่วงกลมของสระน่าคาสเคดที่น้ำตก ที่นั่นตั้งเครื่องหมุนๆ ต่างๆ จำพวก แมริโกเรานด์ แต่เปนรถโมเตอคาร์ก็มี ม้าก็มี วัวควายอะไรต่างๆ ตามแต่จะแผลงไปได้ มีเรือ แอร์ชีป มีชิงช้าทำนองชิงช้าญวน แลมีเรือถูกคลื่น ที่น่าเอนดูกว่าทั้งปวงหมดนั้นคือรถไฟเล็กๆ มีรถพ่วงหลายคัน พอเด็กๆ นั่งได้ ๔ คน วิ่งวงไปรอบๆ ลักษณรถไฟตกั่ว แปลกที่โตพอคนนั่งได้เท่านั้น ถ้าหากว่ามีในงานวัด คนคงจะชอบ แต่ทีจะต้องลงทุนมาก เครื่องหมุนๆ หันๆ เหล่านี้ดูจะลงทุนมากทั้งนั้น แต่ของเขาไม่เปนไร เพราะเปนเครื่องมือหากิน ลงทุนเสียคราวหนึ่ง คงได้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านั้นเสมอ เพราะเขากะกำหนดเล่นงานอย่างนี้ตลอดปี คือเมื่อนั่นไปเล่นที่ตำบลนั้น แล้วย้ายไปตำบลอื่นๆ ทั่วทั้งเมืองฝรั่งเศส คนที่มาดูก็มากอยู่ แต่มักเปนชั้นไพร่เร่อร่าต่างๆ ขนมนมเนยก็เปนของสำหรับคนเลวทั้งนั้น เดินกัดกินกันไปตามถนน เราไม่รู้สึกสนุกอะไรในแฟร์นั้นเลย สนุกที่ได้เห็นคนไพร่ๆ ฝรั่งมาก เครื่องหมุนๆ เหล่านี้ เห็นจะเกือบถึง ๓๐ อัน ที่นี้เคยมีแฟร์แต่ครั้งเอมเปอเรอนะโปเลียน แต่เดี๋ยวนี้น่าสงสารป๊ากแลวังโทรมร้างไปทั้งนั้น น้ำในสระก็เขียว น้ำพุก็ไม่ได้เดิน หญ้าก็แห้งเปนอย่างที่ทิ้งร้าง เพราะเหตุที่วังมันมากมายหลายแห่งเหลือที่จะรักษาเปลืองเงิน ออกจากที่แฟร์นี้แล้วขับรถไปในป๊าก ไปบรรจบทางเวอไซล์แล้วกลับมา ทางอยู่ข้างจะไกล ผ่านทางเมืองเซวร์ (อ่านเซฟ) กลับมาโฮเตล ถึงเกือบทุ่มหนึ่ง
กำหนดเมล์วันศุกร ครั้นจะไปจบหนังสือนี้ต่อพรุ่งนี้ ก็เปนวันเดินทาง จะไปถึงฮอมเบิคต่อวันศุกร ส่งเมล์ไม่ทัน จึงขอจบเสียวันนี้ มีสิ่งของซึ่งควรจะส่งได้อยู่บ้าง จะฝากรพีเข้าไปก็เห็นไม่ต้องการอันใด เพราะจะได้ออกก่อนต่อวันที่ ๒๐ จะไปถึงก่อนพ่อ ๒๐ วันเศษเท่านั้น เพราะฉนั้นจะได้งดการส่งของทั้งปวง เอาไปกับตัวทีเดียว เว้นไว้แต่ของเล็กๆ น้อยๆ ที่จะส่งทางไปรสนีย์
จุฬาลงกรณ์ ป.ร.