- คำนำ
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๓
พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๖
พระบรมรูปถ่ายในเรือที่เมืองเวนิศ
คืนที่ ๕๒
เมืองเวนิศ
วันศุกรที่ ๑๗ พฤษภาคม ร.ศก ๑๒๖
หญิงน้อย
เมื่อคืนนี้ได้รับหนังสือด้วย เขียนหนังสือด้วย ได้นอนจนดึก แต่เช้า ๒ โมงต้องตื่นตามเคย กินเช้าแล้วเดินออกจากหลังโฮเต็ลไปตามทางบกจนถึงหลังวัดเซนต์มารโก เที่ยวซื้อของตามร้าน แล้วกลับลงเรือที่ท่าน่าวังโดเย กลับมาโฮเต็ลกินเข้ากลางวัน นั่งโต๊ะกินในห้องต่อห้องนอนแต่กับชายบริพัตร ดุ๊ก อุรุพงษ์ เวลาบ่าย ๒ โมงครึ่ง แต่งฟรอกโก๊ตหมวกสูงไปเยี่ยมปรินเซสลิติเชีย ซึ่งมาอยู่ในเมืองนี้หลายวันมาแล้ว เพราะได้รู้จักกันแต่เมื่อมาคราวก่อน แล้วไปดูอาตเอกสหิบิเชน ที่อาตเอกสหิบิเชนนี้เปนตึกอยู่ในกลางสวน ไม่สู้จะใหญ่นักแต่มีมุขลดหลั่น ปันเปนห้องๆ ตามประเภท เมืองที่ส่งรูปมาตั้งมีเมืองเบลเยียมมาสร้างขึ้นเองหลังหนึ่งย่อมหน่อย ว่าประเทศอื่นยังจะมาสร้างอิก กำหนดเอกสหิบิเชนนี้มีสองปีครั้งหนึ่ง เมื่อพ่อมาคราวก่อนก็ถูกคราวเอกสหิบิเชนได้ไปดูจำได้ ไม่มีเปลี่ยนแปลงอะไร คราวนี้ถ้านับคราวก่อนเปนที่หนึ่งก็เปนครั้งที่ ๕ เจ้าแผ่นดินเสด็จมาเปิดเมื่อก่อนนี้สักหกเจ็ดวัน สิ่งซึ่งเอกสหิบิเชนในโรงนั้นมีรูปหล่อ รูปศิลา รูปปั้นด้วยปลัสเตอ มีรูปเขียนสีน้ำมัน สีน้ำ เปนอันมาก แต่รูปเขียนที่มาติดนั้นเปนรูปอย่างไหม่โดยมาก คือ สีเขียวแดงสดๆ แลป้ายรัวๆ รูปที่ชอบใจพ่อมีอยู่สักสิบห้าสิบหกรูป รูปหล่อบ้าง ได้สั่งให้ซื้อแล้วสักสามรูป นอกนั้นยังสืบสวนราคา ถ้าเราชอบใจแผ่นไหนมักจะเปนของที่เจ้าแผ่นดินได้ซื้อแล้วเกือบทั้งนั้น อยู่ข้างจะเปนเดนเลือกอยู่สักหน่อย แต่ที่ยังไม่มีใครซื้อดีๆ มีบ้าง
กลับมาหยุดกินน้ำชาประมาณสักชั่วโมงเศษ แล้วกลับไปที่ร้านอิกตามเดิม เพราะที่ไปเมื่อเช้านี้ไม่ทันตลอดขาหนึ่งของตึกซึ่งเปนสามขา ไปได้สักครึ่งหนึ่งเท่านั้นก็หมดเวลา ตอนเย็นได้ย้ายเดินไปข้างซ้าย ไปได้อิกครึ่งหนึ่งก็หมดเวลา ถึงเวลากินเข้าอิก ต้องกลับ ถ้าจะเที่ยวร้านเหล่านี้ ไม่ถึงสองวันสี่เวลาแล้วเปนไม่ตลอดเลยเปนอันขาด เพราะของมันชวนดูชวนซื้อเสียจริงๆ ถึงตั้งใจไปว่าจะเดินดูแต่น่าร้านให้ทั่วก็ไปไม่รอด อดหลุดเข้าไปในร้านไม่ได้ ถ้าหลุดเข้าไปแล้วก็จมอยู่นั่นเองจนกระทั่งกลับ เปนออกไม่ได้อิกเลย กลับมาทุ่มครึ่ง อาบน้ำกินเข้าแล้วเลยว่ากันด้วยรูปเขียนต่อไปจนถึงเวลาเขียนหนังสือนี้ ถ้าว่ากันด้วยรายการที่ทำ เปนอันสิ้นเรื่องสั้นได้ถึงเพียงนี้ แต่ถ้าใครจดให้พ่อเช่นนี้จะรู้สึกไม่พออย่างยิ่ง เพราะมันเหมือนกับบอกว่าตื่นขึ้นก็กินเข้าอาบน้ำอะไรๆ แล้วก็นอน ไม่ประหลาดอะไร เพราะฉนั้นจึงเห็นควรจะเล่าด้วยเรื่องเมืองนี้โดยย่อให้เปนที่เข้าใจ ไม่ใช่จะพยายามแต่งพงษาวดารของเมืองนี้ ฤๅจะแต่งเรื่องของเมืองนี้ให้ถ้วนถี่ตามที่เปนอยู่บัดนี้ จะว่าแต่พอให้ได้ความเห็นพอเดาว่าหน้าตาจะเปนอย่างไร
เมืองนี้ตั้งอยู่ในที่สุดของทเลอาดริเอติก ซึ่งอยู่ในระหว่างแหลมอิตาลีฝ่ายหนึ่ง ออสเตรียแลเตอร์กีฝ่ายหนึ่ง เปนเมืองซึ่งเคยเปนท่าค้าขายมาแต่โบราณ เมื่อโปรตุเกสกับวิลันดายังไม่พบทางที่จะไปค้าขายข้างตวันออกทางอื่น เมืองนี้จึงเปนท่าค้าขายกับประเทศฝ่ายตวันออกข้างเอเซียไมนอร์ตลอดจนอิยิปต์ เปนเมืองที่มีการค้าขายติดต่อกับประเทศอื่น จึงเปนที่อุดมด้วยการค้าขายแลการช่าง ซึ่งถึงว่าได้ลดลงด้วยการค้าขายเปลี่ยนโฉมหน้าไปทางอื่น ก็ยังเปนที่สำคัญในการช่างแลในการค้าขายคงอยู่จนทุกวันนี้ แลเปนเมืองที่ไม่มีเมืองไหนเหมือนทั่วทั้งประเทศยุโรป ซึ่งใครๆ ก็จำจะต้องดู เพราะเหตุที่แปลกแลงดงามประเภทหนึ่งแต่ลำภังตัว ไม่มีเมืองใดคล้ายคลึงเลย เมืองที่เขาเทียบกับเวนิศก็แต่เมืองไทย ซึ่งใช้แม่น้ำลำคลองต่างถนน ใช้เรือแทนรถ
เมืองตั้งอยู่ในที่ดอนชายทเล ห่างจากฝั่งถึงสองไมล์ครึ่ง แต่ไม่ใช่เปนเกาะเปนเขา เปนพื้นราบพอปริ่มๆ น้ำ แบ่งเปนแผ่นใหญ่แผ่นเล็กด้วยลำคลองใหญ่สายหนึ่ง รูปร่างเหมือนตัวเอส S แลมีคลองเล็กๆ ซอยไปเหมือนถนนไม่ใช่ตรงๆ คดอ้อมวงเปนถนนอย่างเก่า ไม่ใช่ถนนอย่างใหม่ คลองเหล่านี้เปนคลองน้ำเค็มทั้งนั้น ขึ้นก็ไม่มาก ลงก็ไม่มาก เดี๋ยวนี้ประหลาดที่ตึกริมคลองที่เขาก่อขึ้นนั้น ไม่ได้ไว้คันคลองเลย ก่อผนังตึกขึ้นมาเหมือนเขื่อนที่ลงริมน้ำ พอเปิดประตูเรือนก็ถึงน้ำทีเดียว เวลาน้ำมากจริงๆ อาจจะท่วมถึงชั้นต่ำของตึกก็ได้ ถ้านึกว่าถนนเจริญกรุงฤๅบำรุงเมืองเปนลำคลองน้ำไหลไม่มีท่อน้ำ ขึ้นจากเรือก็ก้าวขึ้นในร้านเช่นนั้นก็เหมือนกัน เรือที่ใช้อยู่ในลำคลองเหล่านี้เปนเรืองคอนโดเลอซึ่งเรารู้จักชื่อดีอยู่ แต่ถ้าจะว่าโดยรูปเรือคอนโดเลอ เมืองเราเหมือนเรือคอนโดเลอจริงๆ อยู่แต่ ๒ ลำ ที่ดุ๊กออฟเยนัวให้พ่อซึ่งผุเสียแล้วลำหนึ่ง ที่ท่านเล็ก[๑๔๐]ใช้อยู่ภายหลังอิกลำหนึ่งเท่านั้น นอกนั้นเรือที่เรียกว่าคอนโดเลอนั้นไม่ใช่คอนโดเลอจริงๆ ทั้งสิ้น เพราะมันเปนรูปเรือโบตเชิดแต่หัวขึ้นไป เรือคอนโดเลอจริงๆ เขาเชิดหัวเชิดท้ายตลอดจนท้องเรือทาสีดำทั้งสิ้น หลักแจวไม่ใช้หู บากไม้วางกระเชียงลงแจวอย่างไทยๆ แต่ไม่มีหูแจว ตรงที่นั่งมีประทุนหุ้มสักหลาดดำบ้าง ประรำบ้าง ประรำนั้นเปนอย่างใหม่ ประทุนเปนของเก่า เรืออิกอย่างหนึ่งรูปข้างท้ายเปนเรือชล่า หัวเปนเรือแขก อยู่ข้างเปลี้ยน้ำ มีใช้บ้างไม่สู้มาก แต่เดี๋ยวนี้มีเรือไฟรับจ้างคนโดยสานเกิดขึ้นใหม่ลำก็โตอยู่ แต่น่าเสียดาย สิ้นสวยไปมาก สู้เรืออย่างเก่าไม่ได้ ตามน่าบ้านเรือนปักหลักปลายหยักเปนเม็ด แลทาสีแดงเขียวดำเปนเกลียวๆ ตลอดทุกบ้าน สำหรับจะได้ผูกเรือ คลองที่เรียกว่าครองค์คะนัล คือคลองใหญ่ที่มีสายเดียวนั้นสักขนาดคลองบางหลวงถ้าไม่มีแพจอด คลองเล็กๆ ลงไปขนาดคลองบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คลองหลอด คลองเปรม ตลอดจนกระทั่งถึงคลองสามวาข้างถนนดวงตวันก็มี แต่ต้องนึกว่าเอาตึกลงไปปลูกให้ชิดน้ำไม่แลเห็นดิน จะแลดูแคบเพียงใด คลองเหล่านี้ก็เปนเช่นนั้น
ในที่แผ่นดินหว่างคลองเหล่านั้น มีถนนสายใหญ่สายเดียวเหมือนกัน ถนนใหญ่นี้กว้างสักเท่าถนนแถวท่อในวัง นอกนั้นก็เปนถนนเล็กขนาดน่าเรือนแถวห้าห้องทั่วไปทั้งเมือง แต่ปูศิลาเหมือนในวังหมด มีถนนที่ใหญ่อยู่น่าโฮเต็ลริมทเลอิกสายหนึ่ง แต่ไม่ตลอดไปเท่าใด มีสนามใหญ่อยู่ในกลางเมือง ก่อตึกเปนสามขาล้อมสนามนั้น ชั้นล่างมีทางคนเดินได้น่าร้านรอบ ในสนามนั้นมีวัดเซนต์มารโก ข้างริมน้ำมีวังโดเยเจ้าเมืองทำด้วยศิลาทั้งนั้น แต่ก่อนมีหอสูงเปนรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่ากัมปันนิล ทางขึ้นหอนั้นไม่เปนคั่นบันได ถมศิลาลาดขึ้นไป เมื่อเอมเปอเรอนะโปเลียนที่ ๑ ได้เมืองเวนิศ สำแดงอิทธิฤทธิขี่ม้าขึ้นไปบนหอนั้น แต่ได้พังเสียหลายปีแล้ว เดี๋ยวนี้กำลังลงมือทำอยู่ แต่เห็นจะยังอิกนานกว่าจะแล้ว ในสนามนี้ปูศิลาแผ่นใหญ่ๆ เลี่ยนไปตลอด ตั้งเก้าอี้เปนที่สำหรับคนมานั่งเล่นนั่งกินเข้า เลี้ยงนกพิราบสามัญไว้ตั้งพัน นกนั้นเชื่องอย่างยิ่ง มีสพานข้ามทุกลำคลองถี่ๆ เปนสพานศิลาทำโค้งทั้งสิ้น ตึกที่สร้างในที่เหล่านี้เปนตึกเมืองฝรั่ง สูงสามชั้นสี่ชั้น ได้นึกวิตกเสียจริงๆ ว่านี่ก่อกันอย่างไร ด้วยรากตึกมันแช่อยู่ในน้ำทั้งสิ้น ครั้นเมื่อเห็นหลังตึกจึงรู้ว่าใช้กันครากเหล็กยึดผนังทั้งนั้น จะว่าที่ไหนเหมือนเมืองเวนิศไม่ดีกว่าในวัง ถ้านึกให้ถนนเปนคลอง เอาเรือเข้าไปจอดที่ประตูเรือนแล้ว ไม่ผิดกันเลยทั้งรูปพรรณสัณฐานเย่าเรือน
จะว่าด้วยการช่างที่จะพึงหาของเล่นของใช้จะหาเมืองไหนเปรียบยาก เพราะของที่เปนฝีมือช่างสำหรับเมืองนี้มีหลายอย่างซึ่งถูกตาถูกใจเรา คือ เครื่องแก้วซึ่งเป่าด้วยทราย เปนแก้วขุ่นๆ สีต่างๆ แก้วทำด้วยสาหร่ายอย่างแก้วใส แลเครื่องแก้วที่ขุดลงไปในเนื้อแก้วแล้วตะทองเปนลวดลายงามประเสริฐเลิศล้น ที่เปนแก้วสีในลายด้วยก็มี ที่เปนขาวแลทองล้วนก็มี ที่เปนลายขุดแก้วขาวแต้มยาสีก็มี ยังพวกประสมสีเลียนของโบราณ ลายต่างๆ ไม่เหมือนกัน พ้นที่จะพรรณา นอกจากเครื่องแก้ว ยังเครื่องถ้วยชาม เครื่องไม้สลัก ที่ทำด้วยไม้วอลนัตเปนต้น แลเครื่องประดับด้วยแก้วสีที่เรียกว่าโมเสก ตั้งแต่รูปภาพแผ่นใหญ่ราคาสี่หมื่นแฟรงก์ ลงไปจนถึงปิ่นปักฅออันนิดๆ สารพัดจะมี เครื่องทองเปนเครื่องประดับอย่างเวนิเซียน ล้วนแต่เปนเครื่องที่อ่อนดุกดิกแบบบาง ซึ่งจะหาที่ไหนไม่ได้ในโลก เพราะไม่วิเศษถึงที่เมืองอื่นจะต้องเอาอย่าง แต่ไม่ใช่เลวซึ่งผู้ดีที่สุดก็จะแต่งไม่ได้
เมืองนี้ยังเปนอู่เปนเปลที่เกิดของลูกไม้ถักที่เรียกว่าเล้ศ ซึ่งมีน้อยแห่งในประเทศยุโรปจะทำได้ดีถึงเท่านี้ จึงเปนที่ขึ้นชื่ออยู่แต่เวนิศ ปรัสเซลส์ แลในเมืองฝรั่งเศส แลเปนที่ทอแพรแลกำมหยี่ดอก ซึ่งใช้หุ้มเก้าอี้แลทำย่ามถวายพระ ที่งามๆ เท่าไรไปจากที่นี่ ไม่ใช่ทำด้วยเครื่องจักร์เครื่องกล เปนของทำด้วยมือจริงๆ พ่อได้ไปเห็นแก่ตา ราคาส่งจากร้านถูกกว่าซื้อในบางกอกเกือบครึ่งตัว
ยังของที่เหมือนๆ กับเมืองอื่น แต่ทำในเมืองนี้ ฤๅของเมืองอื่นส่งมาขายเมืองนี้ มีครบทุกอย่าง หาที่สุดไม่ได้ นับว่าเปนเมืองที่เปนตลาดใหญ่ จะหาอะไรได้หมดทุกอย่าง เว้นแต่รถแลเครื่องม้า เพราะรถก็ไม่มีสักหลังเดียว ม้าก็ไม่มีสักตัวเดียว สัตว์อะไรก็ไม่เห็นมีนอกจากนกพิราบ
การที่เมืองนี้เปนตลาดใหญ่ เพราะเปนเมืองท่าค้าขายกับเอเซียมาแต่โบราณกาล ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว แต่ถึงจะมีอาณาเขตร์กว้างขวางแลสมบูรณ์อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ประมาณ ๘๐๐ ปีมา ไม่เคยเปนเมืองมีเจ้าแผ่นดิน มีแต่ผู้มีตระกูลเปนใหญ่เรียกว่าโดเย ตรงกับคำว่าดุ๊ก ปกครองเมืองพร้อมด้วยที่ปฤกษา ๑๒ คน ภายหลังนะโปเลียนมาตีได้ ยกให้ไปแก่ออสเตรีย จึงได้ขาดตำแหน่งโดเย ภายหลังตกมาเปนของอิตาลีอยู่จนกาลบัดนี้ การปกครองก็มีแมร์ที่ราษฎรเลือก แลมีปรีเฟข้าหลวงซึ่งรัฐบาลให้มากำกับเหมือนเมืองในอิตาลีทั้งปวง แต่ราษฎรแปลกกับเมืองอื่น คือกล้าตอมดูเบียดเสียดแวดล้อมโดยความสนุก ถึงเจ้าของเขาเองก็ไม่พ้น กลับต้องเอาอกเอาใจเปิดหมวกไม่หยุด ถ้าจะได้ดูแล้วดูจนใกล้เกือบหัวไหล่สีกัน แลเดินตามเปนพรวนไม่รู้แล้วรู้รอด แต่ดีที่ไม่มีหยาบคายหมิ่นประมาทเลยทีเดียว ไปข้างไหนก็รับแต่เปิดหมวกไม่ได้หยุด ถ้าชอบขึ้นมาก็ตบมือกราวๆ ดูช่างสนุกอยู่เสมอเปนนิจเสียจริงๆ ไม่รู้จักเบื่อ คนขายของอยู่ข้างจะเข้มงวดมาก เดินไปน่าร้านแล้วออกมาชวนโดยความเคารพทุกหนทุกแห่ง ให้เข้าร้านของตัว โดยไม่เข้าจริงแล้วก็ขอให้รับชื่อร้านก็พอ ใช่ว่าจะชวนแต่พวกเรา ใครไปมาชวนทั้งนั้น เพราะเปนเมืองที่คนต่างประเทศชอบมาเที่ยวเสมอไม่ขาด เหตุด้วยแปลกกับเมืองอื่นๆ ดังเช่นว่ามาแล้ว เพราะฉนั้นจึงพาให้ชาวเมืองตะกลามรุนแรงคอยเรียคอยต้อนคนเสมอ ถ้าหากว่าร้านอยู่ลึกเข้าไป ถึงจ้างคนมาคอยเรียกสำหรับไปร้าน ไม่เฉยชาเหมือนอย่างยากขายฆ้องบ้านเรา[๑๔๑] ถ้าจะว่าออกจะเกินไป จนถึงเดินไปข้างไหนก็มีแต่คนเรียกเพรียกตลอดทางจนเรารำคาญ
• • • • • • • • •
คืนที่ ๕๓
วันเสาร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม
ยังไม่ได้ว่าด้วยโฮเต็ลซึ่งมาอยู่นี้ แถวโฮเต็ลที่อยู่นี้ จับตั้งแต่เหนือวังมา เลียบมาตามปากคลองครองค์คะนัล เปนโฮเตลมีชื่อต่างๆ ตลอดไม่มีอื่นคละเลย โฮเต็ลเหล่านี้ไม่ได้ทำเปนตึกแถวติดกันตลอด มีน่าลงคลองหลังละน้อยๆ ทำยาวลึกเข้าไปบนฝั่ง ในระหว่างหลังหนึ่งๆ มีถนนแคบๆ เปนตรอกเล็กๆ กว่าสำเพ็งออกไปหาถนนใหญ่ ซึ่งมีสายเดียวอันกล่าวมาแล้ว ข้างฝ่ายริมถนนหันน่าออกถนน หันหลังมาชนกัน ทางซอกแซกลดเลี้ยว เดินพอหลีกกันได้สองคนเท่านั้น แต่การรักษาสอาดเสียจริงๆ ไม่เหมือนเมืองเนเปอลแลที่อื่นๆ ที่ครองค์โฮเต็ลนี้เห็นจะเปนวังเก่าฤๅบ้านผู้ดีเก่า เพราะอาการกิริยาที่ทำนั้นเปนวังมากกว่าเปนโฮเต็ล ผนังบุแพรกรอบแว่นแลลายเพดานปั้นปิดทอง ฅอสองแลเพดานเขียนสีน้ำมันเปนรูปคนเหาะ เขียนหัวตั้งดีอย่างยิ่ง เปนรูปที่เขียนมาเก่าปรากฎชัด เขียนสีน้ำมันทั้งสิ้น เครื่องเฟอนิเชอช่างไม่ผิดห้องหญิงกลาง[๑๔๒]จริงๆ เว้นไว้แต่ทาสีขาวเหมือนห้องขาวที่พระที่นั่งอัมพร แต่เขาหรูกว่า ที่เขียนลายดอกไม้ทับ ทำให้เหมือนปอสเลน มีลิฟต์สำหรับขึ้นลง เปนลิฟต์ไฟฟ้า แต่ใช้กดที่ตุ่มหมายเลขเหมือนกดระฆัง ถ้ากดหนึ่งก็ขึ้นมาถึงพื้นชั้นที่ ๑ หยุดเอง แต่ชายอุรุพงษ์ยังเห็นว่าสู้พระที่นั่งอัมพรไม่ได้ ที่สู้ไม่ได้นั้นด้วยเหตุไร เหตุด้วยสั่งทีเดียวมันก็หยุดเสียเอง ไม่ได้เปิดๆ ปิดๆ เล่นสนุกใจเท่านั้น อาหารดีมาก แต่คนใช้อยู่ข้างจะเงื่องสักหน่อย แต่เขาก็จัดสรรนักหนา หาคนที่พูดอังกฤษได้มาไว้ แต่ลูกไม้เปนของจรูญหามาต่างหาก เพราะพ่ออดไม่ได้ ไม่มีลูกไม้ก็เดือดร้อน
วันนี้ลงเรือไปร้านเวลาเที่ยง ซื้อเล้ศแลดูทำเล้ศดูทอแพร ทอกำมหยี่ดอก เรือเข้าไปจอดได้ถึงร้าน
บ่ายโมงครึ่งกลับมากินเข้า สองโมงครึ่งปรีเฟแลแมร์กับผู้ช่วยแลกงสุลอเมริกันมาหา กงสุลคนนี้เคยไปเปนไวซกงสุลที่กรุงเทพฯ ยังพูดอยากจะกลับไปอิก กงสุลผู้นี้เองที่ได้เปนผู้ช่วยประคับประคองมิสเตอสโตรเบล[๑๔๓] เมื่อมาถึงเวนิศพูดยกย่องมิสเตอสโตรเบลมาก วันนี้ฝนตกเสมอ นานๆ หยุดที จึงได้เขียนหนังสืออยู่ที่โฮเต็ลไม่ได้ไปไหน จนกระทั่งบ่าย ๕ โมง อัดใจขึ้นมาลงเรือไปทั้งฝน ไปขึ้นที่ท้ายแถวตลาด เดินจับระไปจนถึงร้านช่างทอง ได้แวะเข้าซื้อของเครื่องทองเมืองเวนิศ อยู่ในร้านนั้นช้าหน่อยหนึ่ง ฝนก็ยิ่งตกหนัก คนที่เคยนั่งกลางชลาหลบเข้ามาเดินอยู่ในร่มหมด ออกจากร้านนั้นแน่นใหญ่ หมายว่าจะไปดูร้านเครื่องแก้วที่กรมหลวงประจักษ์บอก เข้าใจว่าจะอยู่ในแถวพระระเบียงสามด้านนั้น เพราะคำบอกของกรมหลวงประจักษ์ไม่มีแผนที่ ชี้โว้ชี้เว้ ความจริงนั้นไม่เชื่อแกด้วย เพราะเห็นแกชอบของขยี้ สิ่งไรที่แกว่าดีนั้นเน่าทั้งนั้น ในเวลาที่บอกเรื่องร้านวิเศษนั้นเฉภาะกำลังเลือกเครื่องแก้ว ได้หยิบชิ้นซึ่งมีทองเหลืองรองข้างล่างมาดู บ่นกันว่าเปนของถวายพระ กรมหลวงประจักษ์เข้าไปช่วยเลือก เฉภาะหยิบอ้ายชิ้นนั้นมาให้ถึงฮากัน กำลังเต็มอยู่ด้วยความหมิ่นประมาท แต่เห็นสัญญาแขงแรงนัก ว่าถ้าไม่ดีให้ถอง เดินไปที่ไหนก็ไม่เห็น มีอ้ายเด็กคนหนึ่งหน้าตาเรี่ยม บอกว่าร้านเครื่องแก้วอยู่ที่ตรงนี้ ขอเชิญให้ไปดู ถามว่าไกลฤๅใกล้ มันว่าใกล้นิดเดียว เดินตามเข้าไปในตรอก ฝนก็กำลังตกผ่าฝนไป ถามว่าเมื่อไรจะถึงก็ประเดี๋ยวร่ำไป อยู่ตรงนี้ร่ำไป จนออกฉุนเกิดเคลือบแคลงว่าอ้ายนี่มันเสียคน เพราะคนต่างประเทศมามาก มักจะล่อให้ไปร้านของมันเท่านั้น คงไม่มีอะไร จะกลับเสียหลายหน แต่ไหนๆ ก็เปียกเข้าไปแล้ว ลองเดินตามมันไปดูจนถึงเชิงสพาน เห็นคลองขวางหน้าอยู่ นึกว่ามันจะล่อให้ขึ้นสพานต่อไปอิก เลยฉุนบอกว่ากูไม่ไป มันก็ชวนอยู่นั่น คนก็ค่อยมากขึ้นมากขึ้น ตามกราวมาข้างหลังแน่น หลบฝนเข้าไปที่ใดคนก็มาตอมอยู่น่าถนนทั้งฝนตกอยู่เช่นนั้น ต้องวานให้โปลิศลับไปเรียกเรืออ้อมไปรับที่ท่าริมวัง เดินผ่าฝนกลับมาเรือก็ยังไม่มา ต้องจ้างเรือแจวเดียวกลับมาทั้งกำลังฝน เดชะบุญพอออกเรือฝนก็หาย หาไม่ก็เปียกกันอิกพักใหญ่ มาถึงโฮเต็ลแล้วของซึ่งต้องการยังขาดอยู่ พรุ่งนี้จะไปเปนวันอาทิตย์กลัวจะซื้อไม่ได้ จึงให้บริพัตรกับดุ๊กกลับไป พ่อนั่งเขียนหนังสือสักทุ่มหนึ่ง บริพัตรกลับมาบอกว่าไปพบร้านที่กรมหลวงประจักษ์บอกนั้นแล้ว ของแกดีจริง ที่เราไปซื้อผิดร้านเสียแล้ว ของแพงหมด ของก็สู้กันไม่ได้ด้วย คือร้านที่อ้ายเด็กคนนั้นมานำไป พอขึ้นสพานนั้นก็เข้าร้านทีเดียว ที่แท้เราไปห่างร้านอยู่ชั่วตีนสพานเท่านั้น เลยหัวเราะกันใหญ่ ว่าเปนโทษที่เราหมิ่นประมาทกรมหลวงประจักษ์ แต่เขาได้นัดไว้ว่าพรุ่งนี้เช้าจะให้ไป พ่อก็เลยทอดธุระเขียนหนังสือต่อไปอิก คราวนี้พอสองทุ่ม ตาเจ้าของร้านนั้นมาด้วยธุระของเขาเองที่โฮเต็ลนี้ บริพัตรไปถาม ว่าจะเปิดกลางคืนได้ฤๅไม่ แกรับตกลงว่าจะเปิดให้ยามหนึ่ง
ครั้นเวลากินเข้าแล้วยามหนึ่งลงเรือไปเข้าคลอง ขึ้นที่ประตูร้านทีเดียว แม้ ของมันช่างมากมายกะไร แต่ในที่หย่อมเดียวกันนั้นมีของถึง ๕๖ ห้อง ยังมีที่อื่นอิกหย่อมหนึ่ง รวมด้วยกันร้อยห้องเศษ ห้องเครื่องแก้ว ฝาแลเพดานล้วนแล้วด้วยกระจกเงาแลพรืดไปทั้งห้องสารพัดจะมี ราคาก็ถูกกว่าอ้ายที่ซื้อแล้วสักครึ่งหนึ่ง เสียใจจริงๆ ใช่แต่เท่านั้น ร้านอื่นจะขอแยกของสิ่งใดจากสำรับไม่ได้ ร้านนี้จะแยกอย่างไรได้หมด เพราะมันเปนที่ทำเองในที่นั้น ร้านอื่นมารับช่วงต่อไปอิก เสียทีมากไม่ใช่น้อยเลย ต้องขอโทษกรมหลวงประจักษ์ที่หมิ่นประมาทแก มันช่างเพลิดเพลินใจเสียนี่กะไร คนขายก็สนุก เราก็สนุก เจ้าของร้านเปนอิตาเลียน พูดภาษาอังกฤษดี เข้าใจกันซึมทราบ อยู่สองชั่งโมงไม่ช้าเท่าใดเลย กลับมาเปน ๕ ทุ่มครึ่ง
• • • • • • • • •
พระบรมรูปเสด็จประพาศเมืองเวนิศ
คืนที่ ๕๔
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ พฤษภาคม
วันนี้เวลาเช้า ๕ โมง ไปดูเขาไหว้พระที่วัดเซนต์มารโก ไปทางเรือเข้าคลองที่ข้างวัดไปขึ้นประตูลับหลังโบสถ์ ซึ่งมีทางเดินขึ้นไปถึงห้องสำหรับแต่งตัวของพวกบาดหลวง แล้วขึ้นอัฒจันท์เล็กๆ ไปบนยกพื้นที่เปนเล่าเต๊งสองข้าง ที่เล่าเต๊งนี้ใครจะไปฟังเทศน์ฟังสวดต้องเสียเงินแฟรงก์หนึ่ง แต่พ่อไม่ต้องเสียอะไร แลเห็นลงไปในโบสถ์มุขหลังซึ่งเปนน่าพระใหญ่กำลังคาร์ดิแนลทำพิธีอยู่ แต่งตัวสวมเสื้อแดงปักทอง มีชั้นถานานุกรมแต่งตัวเสื้อแดงปักทองสั้นหน่อย ประมาณสักสิบคนได้ ซึ่งไปช่วยอยู่ในการพิธีประมาณสัก ๗ คน มีสามเณรไม่ต่ำกว่า ๑๖ คน พ่อไม่สามารถที่จะพยายามเล่าเรื่องพิธีไหว้พระของคาทอลิก เหมือนกันคนที่ไม่รู้จักลครเลย จะไปพยายามบอกว่าเขารำเพลงอะไรๆ บ้าง ก็เปนพ้นวิไสย แต่การที่ทำพิธีนั้น จะเปรียบให้อินคู่กันก็เหมือนพระญวน แต่พระญวนออกจะยืนนิ่งๆ นั่งนิ่งๆ มากกว่า นี่แกหยุกหยิกไม่หยุดไม่หย่อน เพลงที่ร้องก็แปลกๆ มีลูกคู่ที่ซ่อนไว้บนเล่าเต๊งอิกพวกหนึ่ง สำหรับร้องช่วยเสียงให้ก้อง ทำพิธีที่นี่แล้วตั้งกระบวนแห่ไปขึ้นธรรมาศน์ที่อยู่มุมโบสถ์ เปนเสาสูง เทศนาอยู่อิกเปนนาน วันนี้เปนวันเขาเรียกว่า วิตชันไต พิธีพิเศษ คนมากแต่ยังเหลือที่เปนกอง ผู้ที่ฟังสวดฟังเทศน์จริงจะมีไม่เกินสามสิบ นอกนั้นพอเราขึ้นไปก็ไม่มีสมาธิ พากันมาดูเราเสียไม่หยุดไม่หย่อน พระเทศน์นั้นออกคล้ายๆ เจ้าเซน ว่ากะไรก็ไม่รู้ เห็นยายแก่ร้องไห้สามคน เทศน์จบแล้วแห่กลับเข้าไปนั่งที่โทรน เปลื้องเครื่อง การแต่งตัวแลเปลื้องเครื่องทำให้คนเห็น เพื่อจะให้เปนที่เลื่อมใส เครื่องที่ผลัดออกมานั้นต้องจุบทุกสิ่งในเวลาที่ถอดออกแล้วๆ จึงใส่เสื้อแดงมาไหว้พระลากลับ ในโบสถ์กลางนั้นเลิกแล้ว คนยังประชุมกันอยู่ที่น่าพระอิกแห่งหนึ่ง พ่อจึงขอลงไปดู คนที่อยู่ข้างนอกคอกที่กั้นนั้นมาก เข้าไปคุกเข่าอยู่ในคอกรอบที่ไหว้พระก็มี ได้ความว่าเหตุผลนั้น คือ รูปมาเรียที่ตั้งอยู่ในที่บูชานั้นเรียกว่า มาโดนา ดิมิโคปิยา เปนของเซนต์ลุกเขียน จึงได้ศักดิ์สิทธิ ถ้าใครเจ็บไข้ฤๅมีธุระอะไรมาบนได้สำเร็จความประสงค์ แล้วทำรูปหัวใจด้วยเงินมาแก้สินบล แต่หัวใจที่มาแก้สินบลมากกว่ามาก เอาประดับตู้ยาวๆ ไว้เปนหลายตู้ ดูวิงวอนอ้อยอิ่งกันอยู่ที่นั่นมาก อยู่เปนนานยังไม่เลิก เดินดูในโบสถ์นั้นทั่วไป เพดานเปนโมเสกพื้นทอง มีรูปภาพเปนรูปนักบุญทุกๆ โดม เรื่องวัดนี้เปนอย่างไร พระยาศรี[๑๔๔]ได้เขียนไว้เลอียดลออดีมาก ไม่ควรจะกล่าวซ้ำ แต่พื้นโบสถ์นั้นเปนลูกคลื่นไปหมด เหตุด้วยบางเวลามีน้ำท่วมได้ คาร์ดิแนลมาต้อนรับแลให้พร ได้กลับลงมาทางเดิมแล้วมาแวะขึ้นดูวัดมาเรียดิซาลูเตที่อยู่ปากคลองใหญ่ตรงโฮเต็ลข้าม วัดนี้มีโดมเปนสองโดม โดมใหญ่อยู่ข้างน่านั้น มีประตูอยู่ตรงกลางเปนประตูใหญ่ แต่ไม่เดิน ไปเดินประตูเล็กข้างๆ เข้าไปในนั้นเห็นเปนแปดเหลี่ยม ประตูเปนเหลี่ยมด้านน่าตัดเข้าไปเปนที่บูชาข้างละสามเหลี่ยมเปน ๖ แห่งด้วยกัน ที่เหลี่ยมหลังเปิดเข้าไปเปนโดม หลังมีที่บูชาใหญ่แลมีวิหารสองข้างชักออกมาจากโดมใน มีรูปเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่ในนั้นหลายแผ่น ไม่พยายามที่จะเล่าอิก ขอตัดเปนกลับมาโฮเต็ลกินเข้ากลางวัน แล้วลงเรือโมเตอลอนช์ไปตามคลองใหญ่ เพื่อจะได้ดูบ้านเรือนตามระยะทาง โฮเต็ลในเมืองเวนิศนี้ บรรดาผู้ที่มาต้องการจะอยู่อย่างเก่า เล่นเปนชาวเวนิศโบราณทั้งนั้น เพราะฉนั้นถ้าโฮเต็ลจะสร้างขึ้นใหม่ เปนอย่างห้องแถวเหมือนๆ กันหมดเช่นที่อื่นๆ แล้วไม่ใคร่มีคนเช่า คงจะไปเที่ยวหาเช่ากันที่เก่าๆ หน้าตาเปนวังๆ หัวกระไดลงน้ำ เรือนหัวกระไดลงน้ำอย่างเก่า ถ้าใช้เรือคอนโดเลอมันพอดีกัน รศชาติเหมือนอยู่แพในบางกอกไม่มีผิดกันเลย ครั้นมีเรือไฟเดินคลื่นก็กระฉอกกระแฉกเข้าไปในประตู อยู่ข้างจะเปรอะเปื้อน ตึกที่เกิดขึ้นใหม่ๆ จึงได้แก้ไว้ถนนน่าบ้าน มีเขื่อนต่างหากจากกำแพงเรือนเหมือนกันกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งคนมาเที่ยวเล่นไม่ชอบ อาจจะกล่าวว่าเหมือนไม่ได้มาเมืองเวนิศได้ แต่ที่แท้เรือนหัวกระไดลงน้ำอย่างเก่า ซึ่งเปนหลังโตๆ ที่ควรจะเปนโฮเต็ลได้นั้นมีน้อย เหมือนครองด์โฮเต็ลนี้ ต้องซื้อราคาแพงมาก ยังต้องตกแต่งดัดแปลงทำเพิ่มเติมขึ้น มีครัวเปนต้น เพราะเดิมเปนแต่บ้านคนอยู่ครัวเล็ก จนเดี๋ยวนี้ยังไม่มีกำไรอะไร แต่ตาเจ้าของนี้แกเปนคนมั่งมี เปนตระกูลโรมันเก่าตั้งแต่ครั้งซีซา พูดภาษาแปลกกันกับชาวอิตาเลียนทุกวันนี้ ออกจะเปนละตินละติน แต่พูดภาษาอื่นได้หลายภาษาตั้งหกเจ็ด เอาใจใส่แขงแรงมาก ทำครัวหากับเข้าให้กินดีนัก แต่ดุ๊กบอกว่าเห็นจะไม่ทั่วกัน ดีแต่ในห้องพ่อ กับเข้าพ่อนั้น แกสู้ทนทำทิ้งราไว้เสมอ ถ้าจนพ้นเวลาที่จะกินอร่อยก็ทำใหม่ เคยกินด้วยกันสี่ห้าคนในห้องต่อห้องนอน ของดีของตาคนนี้ที่แปลกกว่าที่อื่นนั้น คือ ปูนิ่มชุบแป้งทอดมันนิ่มไปทั้งตัว ว่าเปนปูติดอวน กับเข้าล้วนแต่ประดับประดา ที่ต้องยกมาอวดให้ดูเสียก่อนทุกอย่างไป ของหวานก็ประณีตมาก แต่ลูกไม้จรูญซื้อมาแต่ปารีสคราวนี้ได้ดี คือเชอรีเขามีหีบบรรจุ ข้างในกรุสำลี แล้วจึงวางเรียงทีละลูกละลูกประมาณสัก ๒๔ ลูก ขนาดเท่าตขบเล็กๆ สีสรรวรรณะก็เหมือนตขบ กับลูกแปร์กำลังดีจริงๆ อ้ายลูกไม้เหล่านี้ทำให้พ่อกลืนไม่ใคร่จะลงร่ำไป ทำให้คิดแล้วคิดเล่า ว่าทำอย่างไรถึงจะส่งไปบางกอกได้ เชอรีเห็นจะไม่สำเร็จ แต่ลูกแปร์นั้นมีท่าทางอยู่นักหนา แต่คงไม่ได้ที่สุกงอมนั้นเปนธรรมดา
ที่ปลายคลองนี้เองเปนสเตชั่นรถไฟ มีแมร์ ปรีเฟ แลนายตำรวจภูธร กงสุลอเมริกันมาส่ง โอ้เอ้อยู่หน่อยหนึ่ง ตามธรรมเนียมอิตาเลียนจึงได้ออกเดินรถ พ่อลืมเล่าถึงภูมิที่ระยะทางเมื่อมาจากตุรินถึงเวนิศเสียตอนหนึ่ง ไม่ได้เล่าด้วยความง่วงเหงาหาวนอน จึงขอเอามารวมกันกับทางที่มาวันนี้
ทางตั้งแต่ตุรินออกมา เปนที่นาเข้าสาลีต้นไม้ฟืนแลต้นหม่อนหนาขึ้นทุกทีทุกที เพราะในแถบนี้การเลี้ยงไหมเปนประโยชน์ใหญ่ของชาวเมือง เมืองมิลันเปนเมืองที่ทำแพรแลทำไหมในที่นั้น ยิ่งใกล้เมืองมิลันเข้าไปยิ่งมีต้นหม่อนมากขึ้น ในระหว่างทางนั้นมีนาปลูกต้นเข้าเปนที่ลุ่มน้ำท่วมเหมือนอย่างบ้านเรา นาเปนนาหว่าน
ตอนตั้งแต่เมืองเวนิศมา ก็มีนาเข้าสาลีมีต้นหม่อน แต่แถบนี้งาม คือต้นหม่อนปลูกเปนแถวๆ ไว้กิ่งใหญ่เปนสองง่าม จึงให้แตกพรูติดกันเปนกำแพง ตามหว่างต้นหม่อนปลูกต้นองุ่นชักเถาโยงกับต้นหม่อนเปนเฟื่องหลายๆ เส้นเสมอกันไปหมด งามเหมือนแกล้งแต่งเล่น ถึงนาเข้าก็ปลูกต้นหม่อน แลต้นองุ่น ในที่นาดอนยกคันนาสูง ไขน้ำด้วยอิริเคชั่นให้เข้าขังเหมือนนาเรา เสียแต่ฝนตกไม่ได้หยุดเลยตลอดหนทาง ซ้ำรถก็รั่วหนาว หยุดกินเข้าเย็นที่โบลอคนาชั่วโมงหนึ่ง กินเข้าในสเตชั่น ตั้งแต่ออกจากนั้นมาก็เข้าในหมู่เขาซับซ้อน ซึ่งมีลำธารตั้งแต่เปนแม่น้ำร่วมสายเดียวกันมาจนแยกเปนลำธารเล็กๆ ตลอดหนทาง แม่น้ำใหญ่นี้เรียกว่าเลโน ต่อมาอิกก็มืดเสียตามทางไม่เห็นอะไรได้ นั่งวันนี้ออกเบื่อเต็มที เพราะหนาวเย็น แลนอนไม่อิ่มมา ฝนก็ตกเสมอไม่หยุด ถึงเมืองฟลอเรนศ์เวลา ๕ ทุ่ม ๑๕ มินิต เคานต์ออฟตุริน[๑๔๕]มารับ มีแมร์ ปรีเฟ ผู้บังคับการทหารหลายคน ออกจะเปนฟอมัล มาส่งที่รถแล้วกลับไป พ่อมาอยู่โฮเต็ลซาวอยนี้ไม่ใช่ที่อยู่เก่าแต่เปนที่สบายดี รีบเขียนหนังสือตอบแลแต่งรายวันก็ไม่สำเร็จ ด้วยง่วงเหลือประมาณ จึงได้หยุดนอนเสียที รุ่งเช้าต่อใหม่ พึ่งสำเร็จลงในเวลาเที่ยง วันที่ ๒๐ นี้ได้ส่งรูปซึ่งอีตาที่เหมือนเกาวแมนถ่ายที่เนเปอล อุส่าห์จะได้ สงสาร กับรูปที่มีผู้ถ่ายในเรือที่เวนิศ รูปพวกนี้ไม่ได้เรื่อง สำหรับดูเล่นตามบุญตามกรรม ด้วยช่างถ่ายรูปมันพานจะลุกลี้ลุกลนไปเสียทั้งนั้น จึงไม่ใคร่จะได้ดี ขอจบไว้วันนี้เพื่อจะส่งให้ทันเมล์.
จุฬาลงกรณ์ ป. ร.
[๑๔๐] คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช
[๑๔๑] ยายขายฆ้องคนนี้ อยู่ที่บ้านบุจังหวัดธนบุรี ออกร้านขายของแต่นั่งเฉยไม่รู้จักเอาใจคนซื้อ
[๑๔๒] สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา
[๑๔๓] มิศเตอสโตรเบล อะเมริกัน เคยเปนที่ปฤกษาราชการอยู่ในกรุงเทพ ฯ
[๑๔๔] พระยาศรีสหเทพ เสง วิริยสิริ (เดี๋ยวนี้เปนพระมหาอำมาตย์) เมื่อเสด็จยุโรปคราวแรกเปนพระยาสฤษดิพจนกร เปนพนักงานจดหมายเหตุเสด็จคราวนั้น
[๑๔๕] เคานต์ออฟตูริน ในราชวงศ์อิตาลี เคยมากรุงเทพ ฯ