- คำนำ
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๒๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๓
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๔
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๕
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๖
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๗
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๘
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๓๙
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๐
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๑
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๒
- พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๔๓
พระราชหัดถเลขาฉบับที่ ๑๕
คืนที่ ๔๙
เมืองตุริน
วันอังคารที่ ๑๔ พฤษภาคม ร. ศก ๑๒๖
หญิงน้อย
วันนี้ตื่นเตรียมตัวแต่ ๒ โมงเช้า พร้อมเสร็จจนต้องนั่งคอยตาช่างถ่ายรูปสกอตโตที่นี่เก่ง รูปพิมพ์มาให้ดูได้แล้วไม่ผิดถนัด
แจกของมาตั้งแต่วานนี้ ทั้งปะโรดีแลมากอตตี ให้ตราปรีเฟแลนายโปลิศ แจกเงินพวกโปลิศ ให้เงินสำหรับคนจน วันนี้ลูกเอียดติ๋ว เอียดน้อย ลากลับไปอิงค์แลนด์ เบตแมน[๑๓๖]เปนผู้พาไป ไปสเตชั่น กำหนดให้ถึงเช้า ๔ โมง มีคนส่งเปนอันมาก คือ ปรีเฟ เคอเนลนายทหาร มองสิเออดุรัง มากอตตี ปะโรดีทั้งครัวเรือน ลอตซ[๑๓๗] เยรินี แลคนอื่นๆ ทั้งราษฎรเปนอันมาก แต่รถยังไม่ได้ออก ล่วงเวลาไปเปนนาน รวยดอกไม้มีคนให้วางจนเต็มโต๊ะ ทางที่รถเดินก็เปนทางที่มานั้นเอง แปลกแต่เห็นต้นองุ่นใบแตกขึ้นเขียวทั่ว ข้อซึ่งไปเห็นองุ่นในเมืองฝรั่งเศสมีใบมากนั้น เพราะเหตุว่าไปอยู่ซันเรโมนาน เมื่อทวนทางกลับมาข้างนี้ก็แตกมากเหมือนกัน ต่อไปถึงซาโวนาจึงได้เปลี่ยนทางขึ้นไปตุริน ทางขึ้นไปตุรินนี้เปนสองทาง ทางที่ไปผ่านเยนัวขึ้นไปทางเก่า ทางที่ขึ้นซาโวนาเปนทางใหม่ ดุ๊กออฟเยนัวบอกว่าทางเยนัวนั้นสบาย ทางซาโวนาใกล้ลงหน่อยแต่ไม่สบาย พ่อเลือกเอาทางซาโวนา ด้วยเหตุว่าอยากจะเห็นทางใหม่ หาไม่ซ้ำนัก เขายังคิดจะตัดอิกทางหนึ่ง จากปอโตมอริเซียว แต่ไม่ตกลงเหมือนกับเรื่องท่าที่จะรวมกันเข้าไม่ได้นั้น
ที่ซาโวนาเขาหยุดครึ่งชั่วโมง ได้โทรเลขล่วงน่าไป ให้จัดรถเตรียมไว้ เพราะได้เปลี่ยนเอามิสเตออาลเบอส[๑๓๘]ขึ้นมานั่งน่ารถแทนเจ้าพระยาสุรวงษ์ ด้วยรู้ภาษา แลรู้จักระยะทางเปนประโยชน์กว่า ทั้งเจ้าพระยาสุรวงษ์ทิ้งฟิล์มเสียหมดไม่เอามา ไม่มีอะไรจะถ่ายรูป ต้องเกณฑ์ให้ไปคอยค้น ซาโวนานี้ภาษาอิตาเลียนว่า ซ่าบู่ ที่ได้ชื่อเช่นนี้ เพราะว่าเปนที่คิดทำซ่าบู่ขึ้นก่อน มีตึกโตๆ มีท่า แต่ของขายไม่มีอะไรประหลาด ออกจะเลวๆ ทั้งนั้น หาของที่ทำเมืองนั้นก็ไม่มี ได้แต่พัดไม้เขียนรูปเมืองกับโปสต์ก๊าด หยุดถ่ายรูป จนถึงเวลากลับมาขึ้นรถ ออกจากซาโวนา กินกลางวัน แต่เกิดจัดผิดกันขึ้น สั่งให้ส่งของสำหรับพอกินสามสิบคน แต่เขาไปจัดส่งขึ้นรถหลังกินกันเสียหมด เหลือแต่หีบปิกนิกของพ่อใบเดียว ใส่ของมาแต่เฉภาะเปนเครื่อง เฉลี่ยกันกินในเจ้านายออกไม่ใคร่จะพอ แต่มีลูกไม้อุดมเหลือกิน ทางที่ขึ้นจากซาโวนาเริ่มขึ้นเขาเปนเขาสันปันน้ำ ตามข้างทางนี้ได้เห็นต้นไม้ป่า เพราะเปนที่เพาะปลูกอะไรไม่ได้เลย เปนหินเต็มไปทั้งนั้น น้ำก็ไม่ใคร่บริบูรณ์แห้งแล้ง ไม่มีบ้านตลอดขึ้นไปจนกระทั่งถึงลอดปล่องใหญ่ เรียกว่าต้นเนลออฟเฟอราเนีย ไม่ทันที่จะปิดน่าต่าง ควันเข้ามากลุ้มจนหายใจไม่ออก เหม็นเปนกำมถัน รถก็เดินย่องช้าๆ กว่าจะหมดปากปล่องเปนนาน ร้อนเต็มที หายใจขัด ถ้าช้าอิกหน่อยน่าจะถึงเปนลมได้ พอหลุดปากปล่อง ที่กระจกเงาแลกระจกฝาเปนเหื่อมัวไปหมด เหมือนอย่างเอาอังที่ปากหม้อ พอหลุดขึ้นไปได้ก็ถึงที่ราบมีบ้านเรือนคนปลูกเข้าสาลีแลไม้ฟืนรายๆ ขึ้นไป มีบ้านเรือนแลลำธารงามๆ ลอดถ้ำบ่อยๆ จนถึงที่แผ่นดินราบบนเขา คราวนี้มีทุ่งกว้างเปนนาเข้าสาลี บ้านเรือนคนถี่ๆ ขึ้น พื้นแผ่นดินเปนที่เพาะปลูกเต็มไปทั้งนั้น มีหมู่บ้านหย่อมโตๆ หลายตำบล ที่ใหญ่กว่าเพื่อนนั้นยินเซปเป คราวนี้ไปลอดปล่องอิกปล่องหนึ่งเรียกว่า เบลโบ แต่เรารู้ตัวเสียก่อน ด้วยเขาบอกว่าเปนปล่องยาวมาก ถึงสองกิโลเมเตอ ๑/๕ คือ ๕๐ เส้นเศษ ได้ปิดน่าต่างเสียก่อน ควันไม่เข้าแต่ร้อนเหมือนกัน ตอนแรกเข้ารถเดินช้า แต่เมื่อจวนจะออกเดินเร็วขึ้น ๘ มินิตจึงได้ตลอด พอออกปากปล่องแล้ว ก็เจอะแม่น้ำ ซึ่งเปนน้ำไหลลงฝ่ายข้างตุริน เรียกชื่อว่าลำน้ำตานาโร เปนลำธารใหญ่ไหลคดทบไปทบมา มีสพานข้ามหลายแห่ง แลเห็นแม่น้ำเวียนไปเวียนมาได้ตลอดเพราะเปนที่ราบ คล้ายแม่น้ำลำปำเมืองพัทลุงแต่ใหญ่กว่า น้ำลำน้ำนี้ไหลไปลงแม่น้ำโพ ซึ่งเปนลำน้ำเมืองตุริน ตามฝั่งลำน้ำที่เวียนไปเวียนมาดูงาม พื้นแผ่นดินเปนที่ไร่เข้าสาลีตลอดไปจนสุดสายตา มีแต่ไม้ตอซึ่งสำหรับตัดเปนฟืนรายอยู่ เปนพุ่มก็มี เปนตอก็มี เปนหย่อมหย่อมไป ต่อลงมาอิก พื้นต่ำลงมาทุกทีจนถึงที่ราบ คราวนี้เปนท้องนาเต็มไปทั้งนั้น มีเขาอยู่ห่างๆ กรมสมมตนั่งเข้าฌาน ถามว่าทำไมถึงได้ซึมไป บอกว่าแลๆ เห็นเข้าเพลินไปเหมือนกับบ้านเรา ที่จริงก็คล้ายมาก เพราะน้ำท่วมด้วย เปนเช่นนี้ไปจนตลอดถึงเมืองตุริน เมืองตุรินเปนเมืองตั้งอยู่ในกลางนา ดูเปนที่สมบูรณ์มาก
วันนี้ได้เห็นโคมลานใช้จุดรายทาง เปนครั้งแรกในประเทศยุโรป ตามที่กล่าวกันว่าโคมลานหาในยุโรปไม่ได้ เขาทำไปแต่สำหรับขายเมืองไทยนั้นไม่จริง เมื่อได้เห็นเช่นนี้อดไม่ได้ ดุ๊กเอาโปสต์ก๊าดอย่างที่ถูกแดดจึงขึ้นรูปมาให้แต่แรกออกเดินรถ จะหาอะไรเขียนไม่ได้ จึงเอาโปสต์ก๊าดนั้นเขียนบอกข่าวถึงกรมดำรง แต่การที่เขียนนั้นประดักประเดิดมิใช่ของเล่น ข้อ ๑ กลัวแสงสว่างจะถูกรูปขึ้นเสีย ต้องคอยให้ถึงปล่องที่มืด จึงชักรูปออกจากซองทาบลงไว้กับกระดาษเหลืองให้แน่น ข้อ ๒ การที่จะเขียนสั่นกระเทือนยากที่จะให้เปนตัว เขียนด้วยความอดไม่ได้แท้ๆ
รถได้มาถึงตุรินเวลาย่ำค่ำ ๑๕ นาที ยังมีแดดบริบูรณ์อยู่ คนแน่นเต็มไปทั้งชานสเตชั่น ดุ๊กออฟเยนัวแลปรินซออฟอุดินต้องแหวกคนไปรับที่รถไฟ พากันมาขึ้นรถม้า พ่อขึ้นกับดุ๊กออฟเยนัว บริพัตรขึ้นกับปรินซออฟอุดิน พระยาบุรุษกับหม่อมนเรนทร์ แลเอดดิกงของดุ๊กขึ้นรถไปน่า ตามทางคนเต็มแน่นตลอด ต้องเปิดหมวกตลอดทาง จนเมื่อยแขนตามเคย เข้าในพระราชวัง ดัชเชสออฟเยนัวมารดาแลดัชเชสออฟเยนัวเมีย กับลูกทั้งชายทั้งหญิง ๕ คน เถ้าแก่ ๒ กรมวังชาวที่เก่าแก่หลายคนพร้อมกันคอยรับ ดุ๊กพามาส่งที่ห้องเก่าซึ่งเคยอยู่แต่ก่อน พระยาบุรุษอยู่ห้องเดิมตรงหัวนอนพ่อ แต่เจ้าพระยาสุรวงษ์นั้น พูดภาษาอะไรไม่ได้นอกจากอังกฤษ จึงได้เปลี่ยนเอาหม่อมนเรนทร์มาแทน เวลาทุ่มครึ่งเลี้ยง มีผู้หญิงเติมมาอิก ๒ คน เด็กที่โตๆ นั่งโต๊ะด้วย คราวนี้เลี้ยงน้อย เพราะเหตุที่เจ้านายไม่อยู่ จึงเลี้ยงที่ห้องหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่ที่เลี้ยงคราวก่อน แปลกที่จุดไฟฟ้าดูรุ่งเรืองงามดีขึ้นมาก เว้นไว้แต่แถบข้างพ่ออยู่ยังจุดเทียนไขอยู่ตามเดิม ไม่มีอะไรแปลกแต่สักอย่างเดียว
เวลาดินเนอแล้วไปดูออปราที่โรงเรียกตามชื่อเจ้าแผ่นดินว่า วิกตอโรอิแมนวลที่ ๒ คือ องค์ที่เปนไอยกาของเจ้าแผ่นดินองค์นี้ เล่นออปราฝรั่งเศส ซึ่งเปนเรื่องเก่า ๗๐ ปีมาแล้ว การเล่นนี้ไม่ใช่ออปราใหญ่ ซึ่งเขามีแต่ฤดูหนาวนั้นก็จริง แต่ตามความเห็นของดุ๊กออฟเยนัวแลผู้อื่นเห็นว่าดีอย่างยิ่ง เพราะพวกช่างร้องที่ร้องดีๆ ไม่มีงานที่จะทำในเมืองหลวง จึงออกมาเที่ยวร้องตามหัวเมือง ว่าโดยความเห็นของเราแล้ว เหมาะที่เราจะดูออปรามากกว่าเทียเตอ เพราะเขาฤๅเราก็ฟังร้องไม่เข้าใจความเหมือนกัน แต่เสียงที่ร้องมันกลมกล่อมเพราะ แลยากที่จะมีในภาษาไทยแลเพลงไทยได้ เพราะมันร้องจากในอก ไม่ได้ร้องจากริมฝีปาก เสียงใหญ่ฤๅเสียงเล็กได้กันกับดนตรี กลืนกันหายทีเดียว ถ้าจะว่าด้วยดังแล้วดังมาก ทั้งซอทั้งปี่ตั้ง ๓๐ เสียง ๆ คนก็รับอยู่ ส่วนทำนองเพลงนั้นเล่า มันยักเยื้องได้หลายอย่าง ร้องเปนอย่างร้องไห้ ร้องเปนอย่างที่ใจกำลังฟุ้งซ่าน ฤๅจนกระทั่งโกรธแหวก็ได้ ของเราร้องได้แต่เพียงร้องไห้ โกรธแหวไม่มีเลย ยังส่วนที่ทำท่านั้นเล่า จริงอยู่ทำท่าเกินคนปรกติที่จะพึงเปน แต่ทำเพื่อจะให้เห็นจริง คือโกรธก็ผูกคิ้วนิ่วหน้า เสียใจก็เศร้าสลด ยินดีก็ยิ้มแย้มเปล่งปลั่ง การแต่งตัวก็แต่งแปลงหน้าได้จริงๆ เช่นกับคนหนุ่มๆ จะแต่งเปนคนแก่ป้ายดำๆ เปนริ้วที่แก้ม ที่หางตา ที่หน้าผาก ก็แลเห็นเปนหน้าย่น ผู้หญิงที่จะให้ตาลึกคิ้วดำ ก็ทาดำที่คิ้วระบายสีที่หลังตา ดูตาลึกแลเข้ม คนนั้นเองตามเรื่องว่าได้ความทุกข์ร้อน จนถึงเปนฝีในท้อง ก็ทาขอบตาให้เขียวขึ้นอิก เติมดำที่แก้ม ก็แลเห็นหน้าผอมโกรกลงไปได้ทันที เปนอันว่าออปรานี้ ที่จะไม่เขียนหน้านั้นไม่มี แต่ไม่ใช่เขียนมูมมามอย่างเช่นเจ๊ก ให้หน้าผิดมนุษย์ เขียนด้วยความสังเกต แปลงรูปให้เหมือนคนที่มีโฉมหน้าต่างๆ กัน เรื่องที่เล่นวันนี้นั้น ผู้ชายซึ่งเปนผู้รักใคร่กันกับผู้หญิงผู้หนึ่ง ด้วยความกินใจอย่างหนึ่งอย่างใด โกรธผู้หญิงไปในที่ประชุมคนรวมสัก ๕๐ เศษ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งออกอย่างบาเลต์ แต่ไม่ใช่เต้นอย่างบาเลต์ มาร้องทีละพวก แลรวมกัน ผู้หญิงแต่งอย่างพวกตีรำมนา ผู้ชายอย่างพวกแทงวัว เปนสเปนิชทั้งสองพวก ผู้ชายกับผู้หญิงคู่รักกันนั้น มาเกิดถุ้มเถียงกันขึ้น จนเอาอะไรปากันก็ไม่รู้ ผู้หญิงนั้นเสียใจจนเปนฝีในท้องนอนเจ็บอยู่ ผู้ชายนั้นหวนกลับมาหาดีกัน แต่ผู้หญิงนั้นเจ็บมากเสียแล้ว เลยคร่ำครวญไปจนถึงตาย เวลาตายล้มลงเหมือนตายจริงๆ ฟังเสียงร้องแลท่าที่ทำกับทั้งพิณพาทย์ มันกลมกลืนกันจับใจ แต่คนดูไม่สู้มากนัก มีที่ว่าง เขาว่าวันอาทิตย์คนจึงจะเต็ม เลิกเวลา ๕ ทุ่มครึ่ง ขอจบกันเท่านี้ที พรุ่งนี้จะตื่นเช้า
• • • • • • • • •
คืนที่ ๕๐
วันพุฒที่ ๑๕ พฤษภาคม
วันนี้เห็นจะเหนื่อยง่วงนอน น่าที่จะเขียนไม่สำเร็จ แต่ลองพยายามดู ตื่นพอ ๒ โมงถ้วนรับหมอแลกินเข้า ให้หม่อมนเรนทร์เขียนหนังสือ พอ ๔ โมงเผงดุ๊กออฟเยนัวมารับ ไปรถโมเตอคาร์ของเราเองกับดุ๊กออฟเยนัว บริพัตรกับผู้อื่นไปรถดุ๊กออฟเยนัว ปรินซออฟอุดินขับรถเราอิกรถหนึ่งรวมเปนสามรถด้วยกัน ไปเลี้ยวที่ตลาดนัดกลางเมือง ตรงไปทางเมืองมิลาน แล้วเลี้ยวซ้ายมือ เปนทางตรงลิ่ว สองข้างทางเปนนาเข้าสาลีแลต้นฟืนตลอดไปทั้งนั้น เมื่อขึ้นทางย่านนี้แล้วผ่านรถห่างลง มีพวกเกวียนนอนหลับต่างๆ แต่ที่นี่นอนเก่งขึ้นกว่าซันเรโม เพราะเหตุที่ทางตรงๆ ไม่เอื้อทีเดียว รถจะผ่านจะหลีกต้องรอทุกคราว วันนี้ฝนตกตั้งแต่เช้าไม่มีเวลาหยุดเลย แต่ตกอย่างฝรั่งพรำๆ เรื่อยอยู่เสมอ มากบ้าง น้อยบ้าง ยิ่งฝนตกพวกขับเกวียนยิ่งนอนหนักเข้าถึงเอาผ้าขึงผูกบนพนักเกวียน แล้วห้อยลงมาผูกเสียสี่ด้านเหมือนมุ้ง นอนหลับมาในนั้นปลุกไม่ตื่นทีเดียว ต้องไปจับหลีกเอาเอง เกวียนที่บรรทุกของวันนี้ มีบรรทุกอิฐ บรรทุกต้นไม้ที่ตัดลงทั้งต้น หญ้าแห้งเต็มเกวียนโตเกือบหมดถนน หีบใหญ่ๆ ถุงแป้ง ของหนักๆ เช่นนี้หลบลีกยาก รถต้องรอเนืองๆ ไปขึ้นเนินทรายแห่งหนึ่ง ซึ่งเปนที่สนามหัดปืนใหญ่ มีโรงทหารในที่นั้น ผ่านบ้านสามสี่ตำบล ถนนที่ตัดไปดูเปนตั้งใจตัดให้ตรง ไปถึงหมู่บ้านแล้ววนเข้าในถนนเดิม ซึ่งเปนถนนอยู่กลางหมู่บ้านมีอยู่แล้วนั้น กว้างก็มีแคบก็มี แคบโดยมาก มักจะเปนถนนที่เลี้ยวหักตัว ทบหนึ่งบ้างสองทบบ้างติดๆ กัน เลี้ยวพันมุมตึกอย่างลำบาก ๆ หลายแห่ง เมื่อออกจากถนนหมู่บ้านแล้ว ทางก็ตรงลิ่วไปอิก จนถึงบ้านหมู่อื่นต่อไปอิกเช่นนั้น ถนนเมืองคือที่ตรงๆ นั้นเปนถนนถมด้วยศิลาบดเรียบ แต่ถ้าถนนในหมู่บ้าน ใช้ลำดับด้วยก้อนกรวดกับปูน ปูศิลาที่ตรงรอยล้อรถแลเกวียนจะเดินกันสึก ไว้รางที่ตรงกลาง บ้านเรือนเหล่านี้ ที่เปนหมู่บ้านติดๆ กันก็เปนตึกแถวปลูกต่อกันตามบุญตามกรรม ถ้าเปนที่ชาวนาอยู่ก็มักจะเปนโรงนา มีฝาด้านเดียว ด้านหน้ากั้นปุๆ ปะๆ ใช้เสาก่ออิฐรับยุ้งเข้าก็ลักษณโรงจาก เปนแต่ก่ออิฐมุงกระเบื้อง ผิดกันอยู่เท่านั้น อย่าเข้าใจเลยไปว่าถือปูน ไม่ได้ถือทั้งนั้น ถ้าหากว่าจะถือก็ถือปูนทรายหยาบๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ต้องผ่านทางรถไฟสองสามแห่ง แต่ที่เปนสเตชั่นใหญ่เรียกว่า ริวาโรโล ผ่านแม่น้ำสามแม่น้ำด้วยกัน ต่างชื่อทั้งนั้น น้ำในเมืองตุรินนี้อุดมเหลือเกิน ไม่ว่าแห่งหนตำบลใด ไหลรินไปทั่วทั้งนั้น เพราะเหตุที่น้ำมาแต่เขาอาล์ปทั้งสิ้น เขาอาล์ปนี้เปนเขาปันแดนในระหว่างอิตาลีกับสวิตเซอแลนด์ เทือกยาวสูงเงื้อมง้ำ แลเห็นอยู่เสมอไม่ว่าแห่งใด เมื่อจวนจะถึงย้ายเข้าทางเล็กไปอิกทางหนึ่งจึงถึงตำบลอายี ซึ่งตั้งอยู่ในชานเขายาวเขาหนึ่ง มีตึกหลังใหญ่ปลูกเปนแถวสี่เหลี่ยมรอบเช่นบาแร๊กที่บางกอก[๑๓๙] ตั้งอยู่บนเนินสูง ชานตึกบนเนินเปนสวน แล้วต่อลงไปเปนป๊าก จนถึงพื้นดินมีกำแพงกั้นรอบเปนขอบเขตร์ใหญ่โตมาก ตึกนี้เปนวังซึ่งพระราชบิดาดุ๊กออฟเยนัวซื้อประทานลูกชาย ซึ่งเปนบิดาดุ๊กออฟเยนัวเดี๋ยวนี้ เปนวังเดิมหลายร้อยปีมาแล้ว ได้แก้ไขทำเพิ่มเติมใหม่ซีกหนึ่ง ตกเปนมรฎกแก่ดุ๊กออฟเยนัวเดี๋ยวนี้สำหรับไปอยู่ในฤดูร้อน ที่นั่นอยู่ข้างจะหนาว ดุ๊กได้ให้ติดไฟไว้ แลเตรียมเลี้ยงกันที่นั่น ห้องที่ให้พ่อพักเปนห้องอยู่ชั้นกลาง อยู่ที่ตรงมุม แลเห็นสวนไม้สีแลน้ำพุทั้งสองข้าง มีเตียงนอนปิดทองแลปักขนนกออสตริชรอบ เฟอนิเชอแดงปิดทอง ผนังดาดแพรแดง เพดานแลหลังประตูเขียนรูปภาพอย่างงาม เห็นจะเปนห้องสำหรับกวีนมาคริตาไปประทับ เพราะมีห้องนอกๆ ออกมาอิกหลายชั้นตามแบบวัง อิกข้างหนึ่งจึงเปนห้องสำหรับลูก แลห้องดุ๊กแลดัชเชส ชั้นนี้เปนห้องอย่างสำหรับยศ ที่ตกแต่งอย่างวัง รถปรินซออฟอุดินไปถึงช้า ได้ความว่ายางแตกต้องหยุดเปลี่ยนครึ่งชั่วโมง ระยะทางตั้งแต่พระราชวังเมืองตุรินไปจนถึงอายี ขาไปนี้ ๓๗ กิโลเมเตอ (เปน ๙๒๕ เส้น) โมเตอคาร์เดินอยู่ในชั่วโมงเศษ รถไฟเดินสองชั่วโมง รถม้า ๓ ชั่วโมง เลี้ยงกลางวันใช้เครื่องโต๊ะลายคราม เครื่องแก้วใช้แก้วสี ซึ่งแลดูเปนรุ้งอย่างแก้วโรมันโบราณทั้งสิ้น เลี้ยงกันแล้วออกเดินดูในเรือนนั้น ตอนแถบข้างน่าเปนที่ห้องอยู่ดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่แถบหลังซึ่งเปนตอนตึกเก่านั้นเก็บของต่างๆ เก่าบ้างใหม่บ้าง เรียบเรียงไว้เปนหมวดๆ มีรูปภาพเปนแกละรีหลายแกละรี ทั้งรูปศิลาก็มีมาก ของที่มาจากเมืองไทยก็เก็บไว้ที่นั่นหมด ทั้งรูปที่ได้มาแต่บางกอกก็ติดอยู่ตามแถบนั้น ที่แกละรีเหล่านี้กว้างยาวมากถึงสามชั้น ถ้าจะเอากิมตึ๋งที่พระที่นั่งวิมานรัตยามาตั้งทั้งหมด ชั้นเดียวทีจะหลวม แต่นี่เขาตั้งห่างๆ รายไปพอทั่ว ส่วนซึ่งเปนที่อยู่จริงๆ ของมารดาแลตัวกับเมียอยู่นั้น อยู่ซีกหนึ่งต่างหาก ห้องเล็กๆ เตี้ยๆ ทั้งนั้น แต่ลูกขึ้นไปอยู่ชั้นบน ทั้งลูกเด็กๆ แลปรินซออฟอุดิน มีห้องบิลเลียดถึงสามห้องทั้งชั้นพื้นดิน ฮอลแห่งหนึ่งเขียนผนังดีจริงๆ แลดูเหมือนอย่างกับเปนซุ้มลึกเข้าไป มีเสาลอยตั้งออกมา จนรู้ว่าเขียนแล้วยังออกไม่ใคร่จะเชื่อ แต่วังนี้ถ้าว่าตามใจพ่อแล้ว เห็นอยู่ไม่สบาย มันใหญ่โตเกินประมาณนัก ถูกแต่ขึ้นกระไดก็เหื่อแตก นี่หากว่าไม่ร้อน มีวัดก็ถึงสองวัดในนั้น วัดเล็กเปนหอพระที่นมัสการ คล้ายที่วังควารินัล ยังมีวัดใหญ่โตกว่าโบสถ์วัดนิเวศสักสามเท่า สำหรับใครๆ ในตำบลนั้นจะไปไหว้พระได้ แต่ถ้าเปนเจ้านายแล้ว เสด็จทางในพระที่นั่งออกไปนั่งบนแกละรีที่เปนยกพื้นอยู่ด้านน่าโบสถ์ ไม่ต้องลงไปข้างล่าง วัดเช่นนี้มีในวังใหญ่ๆ ทั่วทุกแห่ง รวบยอดว่าที่วังนี้เปนซัมเมอแปเลศ คือวังฤดูร้อน แต่ไม่แปลกอะไรกันกับวังธรรมดา ไม่ใช่เปนที่อยู่สำหรับสบาย เช่นกับที่อาเลกซานเดรียเมืองรุสเซีย ฤๅวังเมืองเดรสเดนซึ่งเปนเรือนอยู่อย่างคนๆ ที่รู้สึกสบายได้ แต่ทางที่แลดูไปจากน่าต่างงามดีมาก เห็นเปนสวนต้นไม้ครึ้มมีที่แจ้งที่ร่ม มีสวนไม้สีน้ำพุ เมื่อแลไปทางไกลก็แกลเห็นทุ่งนาภูเขา ถ้าฝนไม่ตกมืดมัวเสียจะแลเห็นได้ไกลจะงามอย่างยิ่ง รอจะให้ฝนหายเท่าไรก็ไม่หาย จนไม่ได้ไปเดินในสวน ต้องเรียกรถโมเตอคาร์มารับที่เตอเรส ซึ่งเปนชานตึกนั้น เวียนลงไป เดินตามในป๊ากซึ่งมีต้นไม้บริบูรณ์เปนป่าวงเวียนไป มีสระใหญ่อยู่ที่ตรงช่องแลเห็นตึก ได้ถ่ายรูป จะได้ฤๅไม่ได้ไม่ทราบ เพราะกำลังฝน บริเวณป๊ากเห็นจะโตสักเท่าท้องนาตอนนอกคลองเปรมที่สวนดุสิต กลับมาเดินอิกทางหนึ่งต่างหาก มีภูเขาขวางน่าขึ้นมาหลายทบจึงถึงยอดแล้วกลับลง ทางขากลับนี้ ๔๕ กิโลเมเตอ เปนทาง ๑๑๒๕ เส้น จึงรวมระยะทางทั้งไปทั้งมาเปน ๒๑๔๐ เส้น อยู่ข้างจะไกล นั่งเสียเหนื่อยทีเดียว ฝนก็ไม่หยุด มาถึงบ่าย ๔ โมงครึ่ง ดุ๊กออฟเยนัวไปนัดเขาไว้ว่าจะไปที่แข่งม้า ต้องกลับมาเปลื้องเครื่อง แต่งฟรอกโก๊ตหมวกสูงขึ้นรถม้าไปใหม่เวลาบ่าย ๕ โมง ฝนก็ยิ่งตกหนักลงมา ยังซ้ำต้องไปรอรถไฟ จึงจะผ่านออกไปได้ ที่จริงถนนตรงยาวลิ่วๆ ปลูกต้นไม้ต้นโตๆ เปนแถวกันงามมาก แต่ดูไม่สดวกด้วยเรื่องฝน สแตนด์ก็ใหญ่ สนามก็ยาว ทางที่จะแลไปจากสแตนด์ก็ทีจะงามมาก แต่แลไปไม่ได้ถึงไหน พอแลข้ามสนามไปก็เปนหมอกคลุ้ม เขาตั้งที่สำหรับดูซึ่งเปนที่กลางแจ้ง แต่เพราะฝนตกจึงต้องถอยเข้ามา พอฝนกระเซนเข้าหน้า อยู่ข้างจะเย็นชื้นมาก ทั้งที่คนดูมีน้อยเพราะติดฝน ยังถูกถ่ายรูปเสียเท่าไรเท่าไรไม่ได้หยุดเลย ตั้งแต่ไปถึงจนกลับ ม้าแข่งยังเหลืออยู่อิกสองคราว คราวแรกแต่เฉภาะเยนตละแมนขี่มี ๕ ม้า กระโดดข้ามรั้วข้ามน้ำหลายแห่ง วิ่งสามพันเมเตอ คราวที่สองมีแต่ ๓ ม้า วิ่งสามพันเมเตอเหมือนกัน กลับมาถึงวังกว่าย่ำค่ำครึ่ง ต้องรีบตลีตลานอาบน้ำแต่งตัวอิวนิงเดรส ออกไปดินเนอทุ่มครึ่ง ผู้ที่มาดินเนอเกือบจะเหมือนวันก่อน เปลี่ยนจรูญไปเวนิศเปนเซดโยกงสุลของเราแทน กับเปลี่ยนคุณท้าวคนใหม่มาคนหนึ่ง เครื่องโต๊ะที่เลี้ยงเปลี่ยนทั้งสองวัน วันนี้เปนเครื่องปอสเลนเดรสเดน ทั้งกลางโต๊ะแลจานถ้วยเจียรไน เปนตราแต่ครั้งพระเจ้าปู่พระเจ้าย่าแต่งงาน ใช้จานทองสองเที่ยว
เด็กหญิงอาเดลดาอายุสามขวบ ลูกดุ๊กออฟเยนัว ซึ่งกล้ามากแลชอบพ่อ มานั่งตักเสมอนั้น น่าเอ็นดูจริงๆ ตั้งแต่วันแรกมาถึงวันนี้ได้ให้เข็มเปนเกี้ยวยอดแลพระขรรค์ ที่นี่แกไม่ถือในเรื่องที่ให้เด็กออกรับแขก ว่าจะได้กล้า ที่จริงลูกแกดีไม่ซุกซนยุ่มย่ามเลย น่าเอ็นดูทุกคน กินเข้าแล้วนั่งพูดกันจนยามครึ่ง กลับห้องกันเสียที อิก ๑๐ มินิตจึงได้ไปดูออปรา
ออปราวันนี้โรงเก่านั้นเอง แต่วันก่อนดูกันไม่ทั่ว เพราะนั่งบ๊อกซ์ข้างสเตช วันนี้ย้ายมานั่งบ๊อกหลวง ดูมันกลายไปเปนคนละอย่าง ดูซีนารีห้องดี แต่ตัวลครดูเล็กๆ แลบางไปหมด เหมือนกับตัดกระดาษเสียบไว้ในเมื่อเวลายืนนิ่งๆ ข้อที่สู้บ๊อกซ์ใกล้ไม่ได้นั้น เพราะไม่เห็นหน้าถนัด ธรรมดาที่เขาทำท่าแอกต์เช่นนี้ ใช้ตาใช้ปากดีที่สุด ที่ว่างิ้วทำดีนั้นเลวกว่าเปนอันมาก มันไม่เห็นจริง นี่ทำแรงกว่าคนปรกติจริง แต่เห็นจริงว่าอาจจะเปนได้ เรื่องออปราวันนี้แต่งใหม่เกี่ยวแก่สาสนา ว่าผู้ใดเอาหินไปปา ถูกเขาจับจะเอาไปลงโทษ แล้วพระเยซูช่วย ตัวพระเยซูไม่ได้ออก เปนแต่ทำท่าเหมือนจะออกมา ลงคุกเข่ากันแล้วก็ปิดม่าน มีร้องคร่ำครวญมาก แต่มันไม่ใคร่จับใจเหมือนเมื่อวานนี้ ดุ๊กออฟเยนัวนั่งเบื่อจนเลยหลับ กลับมาบ่นใหญ่ว่ามันแต่งใหม่ไม่ได้เรื่องได้ราวไม่จับใจ ง่วงนอนเต็มทีจึงได้หลับ กลับมาถึง ๕ ทุ่มครึ่งเหมือนเมื่อวานนี้ อาจจะแต่งให้สนุกดีกว่านี้ได้ แต่นี่มันเหนื่อยแลง่วงนัก จึงได้รีบๆ ผ่านๆ เช่นนี้
• • • • • • • • •
คืนที่ ๕๑
แครนด์โฮเต็ล เมืองเวนิศ
วันพฤหัศบดีที่ ๑๖ พฤษภาคม
เมื่อคืนนี้ง่วงนอนเต็มทีเหนื่อยอ่อน เวลานอนถึงตัวเบาโหยงๆ หล่นผอยหลับไป ตื่นครู่หนึ่งครู่หนึ่งสักสามครั้ง หลับแปดชั่วโมงบริบูรณ์ เพราะไม่มีที่ไปแห่งใด มานั่งกินเข้าให้สิทธิเขียนเรื่องเกร็ดเติมรายวัน แล้วเขียนหนังสือต่อไปยังไม่ทันแล้วเสร็จ ดุ๊กออฟเยนัวมารับไปกินกลางวัน จำนวนคนก็เหมือนอย่างเลี้ยงค่ำ ดัชเชสแก่รินน้ำชาแถบข้างเรา คุณท้าวรินข้างหนึ่ง มีกล้วยไม้ช่อใหญ่ยาวไม่เคยเห็น เกือบสองศอก ดอกสีสรรวรรณะเหมือนจุหลันแต่ใหญ่เท่าจำปา ประดับกับกล้วยไม้อื่นๆ โค้งเปนสพานอยู่กลางโต๊ะ วันนี้ดัชเชสแก่ทรงเครื่องอามาทิศคือดอกตะแบกทั้งสำรับ รับสั่งให้ดูบอกว่าเปนของกวีนมาคริตาพระธิดาถวาย แต่แต่งกลางคืนไม่งาม มืดไป งามแต่กลางวัน เสร็จการเลี้ยงแล้วไปนั่งที่ห้องนั่ง อาเดลดาออกมาเล่นได้ฮากันบ่อยๆ กล้าจริงๆ พ่อมีสมุดวันเกิดหาใหม่เล่มหนึ่ง ได้ให้ดุ๊กแลดัชเชสกับลูกทั้งหมดเซ็น อาเดลดาจะเซ็นบ้างโกรธถึงลงนอนหงายดิ้นเร่าๆ กับพื้น ตกลงต้องเอากระดาษดินสอมาให้เขียน แรกยังโกรธตะปัดตะป่อง พอทีหลังอยากเต็มทีขึ้นมา เมียงขึ้นเก้าอี้เอง ตั้งท่าเหมือนใครๆ เขียน ประเดี๋ยวสนุกหนักขึ้นมา วนเสียใหญ่เต็มทั้งแผ่นกระดาษ แล้วข้างในกลับ พ่อก็กลับไปห้องนั่งเขียนหนังสือต่อไปใหม่อิก จนบ่าย ๒ โมงครึ่ง ดุ๊กออฟเยนัวจึงมารับ ไปลาเจ้านายผู้หญิงแลเด็กแล้วขึ้นรถกับดุ๊ก มาแวะดูมอนิเมนต์รูปดุ๊กออฟเยนัวบิดาดุ๊กคนนี้ ซึ่งอยู่ในสนามสวนดอกไม้ กลางสี่กั๊กถนน เปนรูปขี่ม้าในสนามรบ กำลังม้าถูกปืนจะล้มซวนลง ดุ๊กกำลังชี้ดาบเร่งทหาร งามแปลกเต็มที ในการที่จะทำรูปนี้ว่าต้องฆ่าม้าถึงสามตัว เพื่อจะให้ช่างเห็นว่าม้าจะตายนั้นเปนอย่างไร
เมืองตุรินนี้เปนเมืองใหญ่โตมาก จำนวนพลถึงสี่แสน ตึกรามเปนตึกอย่างใหญ่ ชั้นต่ำเดินได้ตลอด ผ่านถนนก็มีสพานข้ามจากตึก ฟากถนนข้างหนึ่งไปถึงฟากถนนข้างหนึ่ง ถ้าจะเดินไม่ให้ถูกฝนถูกแดดเลยก็อาจจะเดินได้หลายกิโลเมเตอ ตึกเหล่านั้นมักจะเปนตึกเก่าๆ ที่สร้างตั้งร้อยปีมาแล้ว วังที่ไปอยู่นั้น ถึงสามร้อยปีเศษมาแล้ว ตึกที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ออกไปอิกชั้นหนึ่ง แต่ไม่มีการช่างอันใดอื่นซึ่งเปนการประจำที่ นอกจากรถโมเตอคาร์ ร้านดีๆ อยู่ที่นี่ทั้งนั้น มีเฟียตเปนต้น ถ้าจะลอง เขาไปลองขึ้นเขาสุปาร์คาร์ ซึ่งเปนเขาที่เจ้าแผ่นดินบนสร้างวัดไว้บนนั้น แลเปนที่ฝังศพพวกเจ้านายในวงศ์ซาวอย ซึ่งพ่อเคยไปเมื่อมาคราวก่อนนั้นแล้ว ถ้าขึ้นเขาสุปาร์คาร์ได้คล่องแคล่วเอาเปนใช้ได้ สเตชั่นรถไฟก็ใหญ่เพราะเปนทางร่วมที่จะไปมาจากเมืองฝรั่งเศสในว่าว่ายังจะต้องขยายอิก ไปคอยรถไฟอยู่สักครู่หนึ่ง จึงได้เดินอ้อมไปขึ้นรถไฟ ล่ำลากันแล้ว รถออกเดินเวลาบ่าย ๓ โมง ช้าไปกว่ากำหนดสัก ๑๐ มินิต รถมาตามทางวันนี้ ผ่านเมืองหลายเมือง ผ่านแม่น้ำสองแม่น้ำ คือเซเซียแลติกิโน เปนน้ำที่ลงมาแต่เขาอาล์ปไหลเชี่ยวแรงมาก เวลาบ่ายฝนตกตลอดจนค่ำจึงหาย ได้ลงจากรถที่นั่งไปขึ้นรถกินเข้าที่สเตชั่นเบรสเซียว รถกินเข้านั้นมีครัวอยู่ข้างท้ายรถนิดเดียว ถ้าทำกับเข้าไทยแล้วเปนไม่สำเร็จแท้ๆ ถึงกับเข้าฝรั่งก็น่ากลัวคนครัวจะอัดใจ เพราะมันเล็กจริงๆ มีโต๊ะตั้งติดฝารถสองข้างขวางขวางออกมา โต๊ะหนึ่งนั่งได้ ๔ คน แต่วันนี้เขาตั้งให้กินแต่โต๊ะละสองคน เพราะตื่นสายกินเข้าเช้ากับเข้ากลางวันกระชั้นกัน ทำให้เหลวไหลกินไม่ใคร่จะได้ ตอนค่ำนี้ช่างหิวเสียเต็มทนทีเดียว กินใหญ่ เรื่องกินนี้ไม่ได้พรรณามาหลายหนแล้ว จนจะออกลืมๆ รวบรวมใจความว่า กับเข้าในวังเขาเก่งมากดีกว่าแต่ก่อน ออกจะเปนกับเข้าบ้านมากขึ้น พวกอยู่โฮเต็ลบ่นกับอุบ ว่ากับเข้าไม่ดี กับเข้าในรถวันนี้ก็ดี ฤๅเปนด้วยหิวไม่รู้ กลับมารถที่วโรนา เดินต่อมาอิกจนถึงเมนตัว ซึ่งเปนเมืองมียูนิเวอซิตีโบราณ เมืองเหล่านี้พ่อเข้าใจว่าลูกรู้จักทั้งนั้น เพราะมีในหนังสือเชกสเปียที่เคยอ่าน ความรู้สึกมันขัน รู้สึกอี๋ๆ ปลื้มๆ คุ้นเคยเหมือนอย่างไปเมืองดาหา เมืองสิงหัดส้าหรี เมืองกาหลังที่ชวา เกี่ยวด้วยเรื่องอ่านหนังสือเท่านั้น พูดกับคนที่ไม่เคยอ่านหนังสือไม่รู้สึก สพานข้ามจากฝั่งมาถึงที่นี่ยาวถึง ๒ ไมล์ครึ่ง กว่า ๑๐๐ เส้น มาถึงก่อน ๒ ยามหน่อยหนึ่งเกินกำหนด ควรจะถึง ๕ ทุ่มครึ่ง ปรีเฟ คือข้าหลวงกำกับเมือง นายตำรวจภูธร แลใครๆ มารับหลายคน จรูญถามว่าจะลงเรือโมเตอลอนช์ ฤๅจะลงเรือคอนโดเลอ พ่อว่าถ้าลงเรือโมเตอลอนช์ก็เปนการหมิ่นประมาทเมืองเวนิศ จึงได้ลอเรือคอนโดเลอมา สเตชั่นนั้นลงที่ครองด์คะนัล คือคลองใหญ่ที่รูปเปนตัวเอส แต่มีคลองลัดที่จะตัดมา อย่างเดียวกับขีดกลางตัวเอสนำเงินเหรียญ มาถึงโฮเต็ลนี้ ซึ่งอยู่ปากคลองริมทเลด้านน่า ประตูถึงน้ำทีเดียว ดีกว่าโฮเต็ลดานีเอล ซึ่งดุ๊กออฟเยนัวแลลูกโตลงมาอยู่ครั้งก่อนเมื่อพ่อมานั้น
เรื่องเมืองเวนิศนี้ ขอรงับไว้ยังไม่กล่าวทีหนึ่ง เพราะง่วงเหลือประมาณ บอกให้เขียนหนังสือ บรี๊ดเสียหลายครั้งแล้ว ขอบอกแต่ว่าวันนี้ได้รับหนังสือของลูกซึ่งพ่อคอยหนักคอยหนา ชั่วแต่อ่านหนังสือก็กินเวลาเข้าไปเสียมากแล้ว จึงต้องขอจบเท่านั้นที กรมสมมตต้องการจะให้หนังสือแล้ววันนี้ ส่งเพื่อจะไม่ให้พลาด หนังสือที่ให้สิทธิเขียนขาดเปนสองตอน ต่อกันยังไม่ติด ถ้าส่งทันเมล์นี้จึงจะส่ง ขอลานอนที.
จุฬาลงกรณ์ ป. ร.
[๑๓๖] มิศเตอเบตแมน อังกฤษ รับราชการอยู่ในสถานทูตที่ลอนดอน
[๑๓๗] แฮร์ ลอตซ์ เคยเปนนายห้ายบีกริม ในกรุงเทพฯ
[๑๓๘] มิศเตออาลเบอส รับราชการอยู่ที่สถานทูตเบอรลิน
[๑๓๙] คือ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมบัดนี้ เดิมสร้างเปนโรงทหารน่า คนจึงมักเรียกกันว่าบาแร๊ก