- คำนำ
- คำอธิบาย โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- คำอธิบาย บุณโณวาทคำฉันท์
- บุณโณวาทคำฉันท์
- บันทึกสอบเทียบ บุณโณวาทคำฉันท์ฉบับพิเศษ กับ ฉบับสมุดไทย ๑๐ ฉบับและฉบับพิเศษ
- คำอธิบาย โคลงนิราศพระพุทธบาท
- โคลงนิราศพระพุทธบาท
- คำอธิบาย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- คำอธิบายกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- คำอธิบาย นิราศพระบาทของสุนทรภู่
- นิราศพระบาท
- คำอธิบาย โคลงนิราศวัดรวก
- โคลงนิราศวัดรวก
- คำอธิบาย นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- คำอธิบาย โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- บรรณานุกรม
โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
๏ เก้าคํ่ายํ่ารุ่งร้น | เรืองแสง |
พลแห่พัตราแลง | เถือกถ้า |
ฆ้องคึกบันดาลแสยง | เสียงปี่ |
หน้าพี่ตรวจถ้วนหน้า | ขาดหน้านางเดียว ฯ |
๏ มาเห็นเกาะพระแล้ว | ลาลด |
เสี่ยงซึ่งความรันทด | ทอดไม้ |
เห็นไม้ไม่ปรากฏ | คืนแม่ มานา |
โรคบ่เบียนน้องไข้ | พี่ไข้ใจถึง ฯ |
๏ มาถึงเจ้าปลุกปลํ้า | ใจนัก |
ด้วยบวรองค์อัค | เรศสร้าง |
เจ้าปลุกยิ่งปลุกรัก | เรียมจาก |
จากแม่เปล่าอ้างว้าง | วุ่นว้างอารมณ์ ฯ |
๏ สุริยนลี้เลื่อนใกล้ | อัษฎางค์ |
พอพี่ถับถึงบาง | โขมดเข้า |
แซ่เสียงนิกรนาง | นาริศ |
เรียมคำนึงถึงเจ้า | จากเจ้าจำไกล ฯ |
๏ มาถึงประเทศไท้ | บางไทร |
ทางทุรัศสถานใจ | สุดซั้น |
สมรเดียวยิ่งมาไคล | คลาจาก กงนา |
กงดั่งกงจักรกั้น | กีดกั้นกันสมร ฯ |
๏ นพบุรีบุเรศเจ้า | กรุงอยุทธ- ยาแฮ |
นารายน์พิษณุภุช | สืบสร้าง |
เรียมรํ่าก็รํ่าสุด | แรงพี่ แล้วแฮ |
เมืองก็ร้างเจ้าร้าง | พี่ร้างมานอน ฯ |
๏ แปดคํ่ายํ่ารุ่งแล้ว | คลามา |
นพบุรีรมยา | ท่านยั้ง |
แสนสนุกนิ์[๑]จะหา | หายาก |
น้องก็ย่อมแจ้งครั้ง | ก่อนโพ้นมีมา ฯ |
๏ พิศโพธิ์[๒]สามต้นเติบ | ตายสอง |
ยังแต่เดียวดูหมอง | หม่นเศร้า |
อกเรียมก็ปูนปอง | ปานเปรียบ โพธิ์แม่ |
กลพี่จากเจ้าเคล้า | คู่คล้ายโพธิคะนึง ฯ |
๏ มาดลดำบลบ้านท้าย | โพแตง |
แตงบ่แดงเลยแดง | อกชํ้า |
ชํ้าใจทุราแลง | ลิ่วจาก |
จากแม่ไปหนำซ้ำ | เร่งซ้ำทรวงถวิล ฯ |
๏ กาหลหรทึกแส้ | เสียงสังข์ |
เรียมบ่ฟังเลยฟัง | ข่าวน้อง |
ฆ้องคึกบันดาลหวัง | เสียงเสน่ห์ |
เสน่ห์มารุมรึงข้อง | ขุ่นข้องอารมณ์ ฯ |
๏ มาถึงประเทศท้าย | เกาะเรียน |
ใจตระขวิดตระเขวียนเวียน | วุ่นเข้า |
เวรานุเวรเวียน | บำราศ แล้วแฮ |
จักนิราทุกข์เท้า | ตราบสิ้นกรรมเรียม ฯ |
๏ เดินดัดลัดทุ่งบ้าน | สมอคอน |
เรียมก็คอนทุกข์สมร | ใช่น้อย |
วังราชบ่นอนนอน | เนินป่า |
บ้านป่าฝาแฝกห้อย | ร่างไร้รุงรัง ฯ |
๏ เห็นวังวาริศร้าง | ริมแคว น้ำนา |
พระนครหลวงแล | เปล่าเศร้า |
วังราชฤมาแปร | เป็นป่า |
เกรงจะแปรใจเจ้า | ห่างแล้วลืมเรียม ฯ |
๏ แคฝอยข่อยข่าคล้า | ยางคาง |
วัล[๓]ว่าขานางซาง | หน่อป้อ |
ปริงปรูหูกวางปราง | ปรงเปราะ |
ลางลิงจิงจ้อค้อ | ข่าคล้าตระคองคลอง ฯ |
๏ ระกำแกมจากต้น | เตยหนา |
ต้นตระบูนเเกมตา | ตุ่มไห้ |
จากศรีอยุธยามา | ลิ่วโลด ใจแฮ |
วังบ่เห็นเห็นไม้ | ม่วงพร้าวแกมสลา ฯ |
๏ มะลิวัลย์[๔]วรแนบไว้ | วางเขนย |
ซับซาบวรเรียมเชย | ไป่ม้วย |
ขจรกลิ่นรสรำเพย | ผายสวาดิ |
เอฤนุชมาด้วย | แซ่งเว้เวียนหนี ฯ |
๏ ขอจงเสร็จแก้วพี่ | กายกลม |
ทันกลับคืนพลันสม | เสน่ห์ด้วย |
ความสนุกนิจเล่นรมย์ | หลายท่า |
ขอจงปู่เจ้าฉ้วย | เสร็จแล้วเรียมถวาย ฯ |
๏ เจว็ด[๕]ประดิษฐ์แกล้ง | เกลาเพรา |
ฉัตรและธงเฉลาเปลา | ปลอดเสี้ยน |
มาลาเลวงเสา- | วคนธ์กลิ่น ขจรแฮ |
หอมตระการรสเพี้ยน | ผิดไม้ไพรสณฑ์ ฯ |
๏ ปู่เจ้าเขาท่าท้อง | ไพรสณฑ์ |
ปู่เจ้าถ้ำธารพน- | เวศนี้ |
ปู่เจ้าฮ่วยหนองหน | ใดแห่ง นี้นา |
มารับสังเวยชี้ | ซึ่งชี้เชิญถวาย ฯ |
๏ เทพาพฤกษชาติเรื้อง | รำบาญ |
อารักษ์รักษาสถาน | ที่นี้ |
อากาศเทวาวาน | เมตรภาพ เรียมนา |
ภูมิเทวาชี้ | ช่วยให้นางเห็น ฯ |
๏ ขอจงเสร็จกลับได้ | ดวงสาย สวาทนา |
เรียมจะพลันจงถวาย | เกือบกั้ง |
พวงเงินพวงทองบาย- | ศรีมาศ |
ใส่ศาลเพียงตาตั้ง | แต่งให้สมบูรณ์ ฯ |
๏ ข้าโรงข้าศาลนั้น | อย่าถวิล |
กลแต่เอียงไหริน | เล่าล้อม |
ฉีกกัดมัจฉมางษ์กิน | แกมจอก |
จอบจิบหยิบแกล้มพร้อม | เพริศคิ้วพลางเผยอ ฯ |
๏ เหล้าเข้มไหใหญ่ตั้ง | เติมกลาง |
หมูเป็ดปากทองวาง | เตียบตั้ง |
แกะแพะชุมพามางษ์ | แกมไก่ |
เต่างูหนูปลากั้ง | กบกุ้งปูหอย ฯ |
๏ เก้าบทเพื่อนยากนี้ | ตกไฉน |
ย่อมตกตามกันไป | ทั่วเท้า |
ดงรังทะเล[๖]ไกล | กลางป่า ก็ดี |
เห็นก็สุดแต่เก้า | บทนี้แนมนอน ฯ |
๏ อัศจรรย์บารนี่หน้า | โหรา |
กาฤทำรังกา | ที่แจ้ง |
ฉัตรไชยใช่พฤกษา | กาไข่ |
เป็นนิมิตเทพแสร้ง | ส่งให้ศุภผล ฯ |
[๑] หนังสือสมุดไทย เป็น “แสนสนุกนิจะหา” (คำว่า “สนุก” ในหนังสือสมุดไทยบางแห่งเป็น “สนุกนิ” บางแห่งเป็น “สนุกนิ์”) ใน โคลงกวีโบราณ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๖ ใช้ว่า “สนุกจะหา”
[๒] หนังสือสมุดไทย เป็น “โพ”
[๓] หนังสือสมุดไทยใช้ “วัน” หมายถึง ป่าไม้, ดง
[๔] ต้นฉบับเดิมใช้ว่า “มลิวัล”
[๕] หนังสือสมุดไทยใช้ว่า “ตระเว็ด”
[๖] ต้นฉบับสมุดไทย ใช้ว่า “ชะเล”