- คำนำ
- คำอธิบาย โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- คำอธิบาย บุณโณวาทคำฉันท์
- บุณโณวาทคำฉันท์
- บันทึกสอบเทียบ บุณโณวาทคำฉันท์ฉบับพิเศษ กับ ฉบับสมุดไทย ๑๐ ฉบับและฉบับพิเศษ
- คำอธิบาย โคลงนิราศพระพุทธบาท
- โคลงนิราศพระพุทธบาท
- คำอธิบาย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- คำอธิบายกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- คำอธิบาย นิราศพระบาทของสุนทรภู่
- นิราศพระบาท
- คำอธิบาย โคลงนิราศวัดรวก
- โคลงนิราศวัดรวก
- คำอธิบาย นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- คำอธิบาย โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- บรรณานุกรม
คำอธิบาย โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย เป็นงานพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งกรุงศรีอยุธยา ตับฉบับโคลงเรื่องนี้รวมอยู่ในหนังสือสมุดไทยเลขที่ ๙ มัดที่ ๑๓ ตู้ ๑๑๔ ชั้น ๒/๕ เรื่องโคลงกวีโบราณ ลักษณะตัวอักษรที่ใช้บันทึกเป็นตัวอักษรเส้นรง ในตอนต้นสมุดไทยมีข้อความว่า
“๏ ข้าพระพุทธเจ้า พญาตรัง จ่าโคลงบุราณไว้ได้ถวาย”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า พระยาตรัง กวีผู้มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นผู้รวบรวมกวีนิพนธ์โบราณที่ปรากฏในหนังสือสมุดไทยเล่มนี้ เพื่อถวายสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ซึ่งต่อมาทรงดำรงตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนที่มาของต้นฉบับโคลงกวีโบราณนี้ ทรงอธบายไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๖๑ ว่า “...ซึ่งได้ฉบับมาแต่พระราชวังบวรฯ เปนของพระเจ้าราชวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ ประทานแก่หอพระสมุดฯ” ปัจจุบันต้นฉบับสมุดไทยเรื่อง โคลงกวีโบราณ เก็บรักษาอยู่ที่งานบริการเอกสารโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัยแต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ จำนวน ๒๕ บท เนื้อหากล่าวถึงการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปทางลพบุรี ซึ่งในโคลงนี้ เรียกว่า “นพบุรี” และน่าจะเดินทางต่อไปยังพระพุทธบาทสระบุรี แต่เรื่องราวที่ปรากฏในโคลงมีเพียงเดินทางไปเซ่นสรวงบูชาที่ศาลเจ้า สันนิษฐานว่าเรื่องราวอาจจะยังไม่จบหรือตอนท้ายอาจสูญหายไป กวีเดินทางผ่านเกาะพระ บางโขมด บางไทร โพธิ์สามต้น โพแตง เกาะเรียน เข้าเขตลพบุรีที่ทุ่งสมอคอน และหยุดบูชาเซ่นสรวงเทพารักษ์ที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง
ในโคลงบทแรกกวีระบุวันเวลาออกเดินทางว่า “เก้าคํ่าย่ำรุ่ง” แต่ไม่ได้ระบุเดือนปีที่แน่ชัด จากนั้นบรรยายภาพขบวนเดินทางซึ่งคึกคักด้วยเสียงฆ้องและปี่ เมื่อกวีเดินทางผ่านสถานที่แห่งใด ก็หวนคิดถึงนางผู้เป็นที่รักเสมอ กวีได้พรรณนาอารมณ์รัก เศร้า และระลึกถึงนาง โดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ สิ่งของ และสถานที่ต่าง ๆ ตลอดการเดินทาง ดังความว่า
๏ นพบุรีบุเรศเจ้า | กรุงอยุทธ- ยาแฮ |
นารายน์พิษณุภุช | สืบสร้าง |
เรียมร่ำก็ร่ำสุด | แรงพี่ แล้วแฮ |
เมืองก็ร้างเจ้าร้าง | พี่ร้างมานอน ฯ |
ในตอนท้าย กวีได้กระทำพิธีเซ่นสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ เจ้าป่าเจ้าเขา ปู่เจ้า เทพารักษ์ต่างๆ อธิษฐานให้ได้กลับไปหานางที่กรุงศรีอยุธยา และกล่าวถึงเหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้น
แม้ว่าโคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัยจะเหลือตกทอดมาเพียง ๒๕ บท แต่ก็ยังคงความงามทางวรรณศิลป์ตามขนบของนิราศ สะท้อนความเชื่อ เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ชื่อสถานที่บางแห่งยังคงปรากฏอยู่ นับว่าโคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัยเป็นวรรณคดีที่มีคุณค่า ทางวรรณศิลป์และคุณค่าทางสังคม