คำอธิบาย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ทรงพระนิพนธ์คราวเดียวกับ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เมื่อครั้งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปทรงนมัสการและสมโภชรอยพระทุทธบาท สระบุรี เดิมเรียกกาพย์ห่อโคลงนี้ว่า นิราศพระบาท ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก เพื่อให้คล้องกับกาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง ดังที่ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบายดังนี้

“กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกนั้น แต่ก่อนเคยเรียกมาว่า นิราศพระบาท แต่ในบทพระนิพนธ์เรื่องนี้เอง ได้ทรงอ้างถึงการเสด็จประพาสธารโศก ดังปรากฏในบทกาพย์และโคลงที่ ๘๕... จึงเรียกไว้ในฉบับนี้ว่า กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก เพื่อให้เป็นคู่กับ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง ตามที่เคยเรียกกันมาแต่ก่อน...”

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือวิทยาจารย์ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ใช้ชื่อว่า กาพย์ห่อโคลงนิราศเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ต่อมากรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่ในพ.ศ. ๒๕๐๕ ได้ทำเชิงอรรถเพิ่มเติม พร้อมรูปภาพและแผนที่ประกอบ

รูปแบบคำประพันธ์เป็นกาพย์ห่อโคลงจำนวน ๑๕๒ บท ขึ้นต้นด้วยโคลง ๔ สุภาพ ๒ บท กล่าวถึงนามกวีผู้ทรงพระนิพนธ์ และเนื้อหาของเรื่อง เนื้อหาเริ่มต้นด้วยการพรรณนาความงามแต่ละส่วนของนาง ได้แก่ ผม ไรผม ผิว หน้าผาก คิ้ว ดวงตา จมูก ริมฝีปาก ฟัน หู คอ บ่า ทรวงอก แขน นิ้ว เอว ท้อง ขา ปลีน่อง เท้า จากนั้นกวีพรรณนาถึงความรักที่มีต่อนาง ความคิดถึงที่ต้องพลัดพรากจากกัน โดยพรรณนาไปตามลำดับเวลาตั้งแต่เช้าไปจนคํ่า ครํ่าครวญตามลำดับวัน เดือน ฤดูกาล และ ปี รำพันตั้งแต่เวลาเช้าย่ำฆ้องจบถึงตีสิบเอ็ด จากวันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ เดือนห้าถึงเดือนสี่ ฤดูคิมหันต์ถึงเหมันต์ และปีชวดถึงปีกุน ลักษณะการครํ่าครวญผ่านเวลาเช่นนี้คล้ายคลึงกับการคร่ำครวญในโคลงทวาทศมาส

ต่อจากนั้น กวีกล่าวถึงขบวนเสด็จพยุหยาตราทางสถลมารคไปนมัสการรอยพระพุทธบาท บรรยายรายละเอียดในขบวน ประกอบด้วยเครื่องสูง เหล่าสาวสนม บรรยายความงดงามของธรรมชาติระหว่างทาง พืชพรรณไม้ สัตว์ชนิดต่าง ๆ กวีระบุไว้ว่าการแต่งครั้งนี้มิได้พลัดพรากจากนางจริง แต่เป็นการแต่งตามขนบวรรณคดีเท่านั้น กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกจบด้วยโคลงกระทู้ ๓ บท ระบุชื่อกวีผู้ทรงนิพนธ์และระบุว่าวรรณคดีเรื่องจบบริบูรณ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ