- คำนำ
- คำอธิบาย โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- คำอธิบาย บุณโณวาทคำฉันท์
- บุณโณวาทคำฉันท์
- บันทึกสอบเทียบ บุณโณวาทคำฉันท์ฉบับพิเศษ กับ ฉบับสมุดไทย ๑๐ ฉบับและฉบับพิเศษ
- คำอธิบาย โคลงนิราศพระพุทธบาท
- โคลงนิราศพระพุทธบาท
- คำอธิบาย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- คำอธิบายกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- คำอธิบาย นิราศพระบาทของสุนทรภู่
- นิราศพระบาท
- คำอธิบาย โคลงนิราศวัดรวก
- โคลงนิราศวัดรวก
- คำอธิบาย นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- คำอธิบาย โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- บรรณานุกรม
คำอธิบาย บุณโณวาทคำฉันท์
บุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย เป็นวรรณคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานพระพุทธบาทตามคัมภีร์ในพุทธศาสนา และ งานสมโภชรอยพระพุทธบาท สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ ดังนี้
“หนังสือบุณโณวาทคำฉันท์ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ พระมหานาค บวชอยู่วัดท่าทราย ในพระนครศรีอยุธยา แต่งเมื่อในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ หนังสือเรื่องนี้นับถือกันมาว่าแต่งดีโดยกระบวนฉันท์อย่าง ๑ พรรณนาว่าด้วยลักษณะการสมโภชพระพุทธบาท ตามราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีถ้วนถี่ดีด้วยอย่าง ๑ จัดว่าเป็น ฉันท์ตำราเรื่อง ๑”
บุณโณวาทคำฉันท์แต่งขึ้นเมื่อพ.ศ.ใดไม่มีระบุไว้แน่ชัด แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีบันทึกเหตุการณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศว่า มีการสมโภชพระพุทธบาทขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๒๙๓ เพราะฉะนั้น บุณโณวาทคำฉันท์จึงน่าจะแต่งขึ้นราวพ.ศ. ๒๒๙๓ - ๒๓๐๑ รูปแบบคำประพันธ์ประกอบด้วยฉันท์และกาพย์ประเภทต่าง ๆ ได้แก่ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ โตฎกฉันท์ ๑๒ วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ มาลินีฉันท์ ๑๕ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙ และสัทธราฉันท์ ๒๑ ส่วนคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ได้แก่ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
บุณโณวาทคำฉันท์มีเนื้อหาเริ่มด้วยคำนมัสการไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเทพเจ้าสำคัญ ได้แก่ พระอิศวร (พระสวยมภู) พระนารายณ์ (พระกฤษณะ) พระพรหม พระอินทร์ พระอาทิตย์ เทพประจำทิศต่าง ๆ รวมทั้งพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา และกล่าวว่าจะขอดำเนินเรื่องตาม “บุณโณวาทสูตร” ดังความปรากฏ
๏ จักกล่าวนิพนธ์ประพฤฒิฉัน- | ทแต่ตามอนุมาน |
แสดงโดยอดีตนุดำนาน | บุณโณวาทสูตรา ฯ |
ที่มาของเรื่องบุณโณวาทคำฉันท์นั้น อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ เคยสันนิษฐานไว้ในฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบชำระเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๓ ว่า
“...ความจริงไม่มีพระสูตรในพระไตรปิฎกที่ได้นามว่าบุณโณวาทสูตร และมีใจความเหมือนดังนี้ เข้าใจว่าที่ท่านผู้แต่งให้นามว่าบุณโณวาทคำฉันท์นั้นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๒ ประการนี้ คืออย่างหนึ่งคงเป็นเพราะในตำนานพระพุทธบาท ปรากฏว่าผู้พบรอยพระพุทธบาท เป็นพรานชื่อบุณ หรือที่เรียกกันว่าพรานบุณ อีกอย่างหนึ่ง อาจเป็นเพราะท่านผู้แต่งมีชื่อเป็นสองพยางค์ว่า บุน-นาค จึงตัดเอาพยางค์หน้าของชื่อมาประกอบศัพท์เป็น “บุณณ” แล้วเอาคำว่า “โอวาท” มาต่อเข้าเป็น “บุณโณวาทคำฉันท์” คือคำฉันท์อันเป็นของพระ (มหา) บุน (นาค)...”
ต่อมาเมื่อมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มขึ้น จึงมีผู้พบว่า แท้จริงแล้ว คัมภีร์บุณโณวาทสูตรนั้นมีอยู่จริง ปุณโณวาทสูตรเป็นพระสูตรหนึ่งในพระสุตตันตปิฎก แสดงเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมและสนทนากับพระปุณณเถระซึ่งจะจาริกไปจำพรรษาในหมู่บ้านสุนาปรันตชนบท เนื้อความใบปุณโณวาทสูตรนั้นกล่าวถึงแต่เพียงหัวข้อธรรม ที่มีความหมายลึกซึ้ง ต่อมาพระพุทธโฆสเถระจึงได้แต่งอรรถกถาปุณโณวาทสูตรเพื่ออธิบายข้อธรรมในคัมภีร์ปุณโณวาทสูตร รวมทั้งกล่าวถึงประวัติของพระปุณณเถระไว้ด้วย ซึ่งคัมภีร์ปุณโณวาทสูตรและอรรถกถาปุณโณวาทสูตรนี้น่าจะเป็นที่มาของบุณโณวาทคำฉันท์
เนื้อหาในบุณโณวาทคำฉันท์เริ่มจากตำนานพระพุทธบาทตามที่ปรากฏในคัมภีร์ปุณโณวาทสูตร กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระสัจพันธดาบศซึ่งอาศัยอยู่เชิงเขาสัจพันธบรรพต ใกล้เมืองสุนาปรันตะ พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่เชิงเขาสัจพันธบรรพต รอยพระพุทธบาทนี้คนไทยเชื่อว่าเป็นรอยเดียวกับรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี
เนื้อหาต่อจากนี้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงสร้างพระมณฑปสวมครอบรอยพระพุทธบาท มีบทพรรณนาความงามของพระมณฑปและรมณียสถานบริเวณพระพุทธบาท พระมหากษัตริย์ เสด็จประพาสพระพุทธบาทโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค เมื่อเสด็จถึงพระพุทธบาทแล้วทรงนมัสการรอยพระพุทธบาท มีบทพรรณนางานมหรสพสมโภชพระพุทธบาททั้งกลางวันและกลางคืนนาน ๗ วัน มีทั้งละคร หุ่น โมงครุ่ม หนังใหญ่ และการละเล่นต่าง ๆ จากนั้นจึงทรงจุดดอกไม้เพลิงบูชารอยพระพุทธบาท เมื่อเสร็จงานสมโภชแล้ว จึงเสด็จประพาสชมไพรและลงสรงสนานในแม่น้ำลำธาร ทรงนมัสการลาพระพุทธบาทและเสด็จพระราชดำเนินกลับ
ตอนท้ายเรื่อง มีบทปณิธานของกวีว่า ขอให้วรรณคดีเรื่องนี้จงปรากฏในแผ่นดิน ขอให้ปราศจากความทุกข์ ปราศจากโรคและภัย และกวีอธิษฐานว่าเมื่อสิ้นชีวิตแล้วขอให้ได้เข้าถึงพระนิพพาน ต่อจากนั้นเป็นโคลงท้ายเรื่อง ซึ่งระบุชื่อผู้แต่งไว้ชัดเจน ดังนี้
๏ จบกลอนพระนาคแกล้ง | เกลาบท |
ฉันทพากย์นิพนธ์พจน์ | เรียบร้อย |
เพียงทิพยสุรารส | สรงโสรจ ใจนา |
ฟังเร่งเสนาะเพราะถ้อย | ถี่ถ้วนกลอนแสลง ฯ |
บุณโณวาทคำฉันท์เป็นวรรณคดีสำคัญที่บันทึกข้อมูลด้านสังคมวัฒนธรรมสมัยอยุธยาไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะข้อมูลด้านมหรสพและการละเล่นในงานสมโภช วรรณคดีเรื่องนี้ปรากฏประเภทของการแสดงและการละเล่นในสมัยอยุธยาไว้หลากหลาย ดังนี้
๏ บัดการมโหรสพ | -พก็โห่ขึ้นประนัง |
กลองโขนตระโพนดัง | ก็ตั้งตระดำเนินครู |
๏ ฤๅษีเสมอลา | กรบิลพาลสองสู |
เสวตรานิลาดู | สัประยุทธพันธนา |
๏ ตระบัดก็เบิกไพ- | จิตรสูรอสูรา |
ถวายดวงธิดาพงา | อมเรศเฉลิมงาน |
๏ ละครก็ฟ้อนร้อง | สุรศัพทกลับขาน |
ฉับฉ่ำที่ดำนาน | อนิรุทธกินรี |
๏ ฝ่ายฟ้อนละครใน | บริรักษจักรี |
โรงริมคิรีมี | กลลับบแลชาย |
๏ ล้วนสรรสกรรจ์นาง | อรอ่อนลอออาย |
ใครยลบอยากวาย | จิตรจงมเมอฝัน |
๏ ร้องเรื่องระเด่นโดย | บุษบาตุนาหงัน |
พักพาคุหาบรร- | พตร่วมฤดีโลม |
การแสดงในงานสมโภชพระพุทธบาทครั้งนั้น มีทั้งละครในเรื่องอิเหนา การแสดงหุ่น โมงครุ่ม ระบำ โขน ไต่ลวด ฯลฯ การแสดงดังกล่าว เป็นมหรสพโบราณที่ยังปรากฏในปัจจุบัน ข้อมูลที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องนี้จึงใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติการแสดงและการละเล่นของไทยได้
บุณโณวาทคำฉันท์ เป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าด้านวรรณศิลป์เป็นอย่างสูง มีการใช้กวีโวหารซี่งทำให้เกิดจินตภาพอย่างเด่นชัด เช่น บทพรรณนาความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตรา บทพรรณนาความงามของพระมณฑปและรมณียสถานรอบพระพุทธบาท ทัศนียภาพอันงดงามของธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีบทบรรยายมหรสพต่าง ๆ ในสังคมอยุธยา ซึ่งเป็นภาพสะท้อนด้านสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี