- คำนำ
- คำอธิบาย โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- คำอธิบาย บุณโณวาทคำฉันท์
- บุณโณวาทคำฉันท์
- บันทึกสอบเทียบ บุณโณวาทคำฉันท์ฉบับพิเศษ กับ ฉบับสมุดไทย ๑๐ ฉบับและฉบับพิเศษ
- คำอธิบาย โคลงนิราศพระพุทธบาท
- โคลงนิราศพระพุทธบาท
- คำอธิบาย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- คำอธิบายกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- คำอธิบาย นิราศพระบาทของสุนทรภู่
- นิราศพระบาท
- คำอธิบาย โคลงนิราศวัดรวก
- โคลงนิราศวัดรวก
- คำอธิบาย นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- คำอธิบาย โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- บรรณานุกรม
นิราศพระบาท
[๑]๏ โอ้อาลัยใจหายไม่วายห่วง[๒] | |
ดังศรสักปักซ้ำระกำทรวง | เสียดายดวงจันทราพะงางาม[๓] |
เจ้าคุมแค้นแสนโกรธพิโรธพี่ | แต่เดือนยี่จนย่างเข้าเดือนสาม[๔] |
จนพระหน่อสุริย์วงศ์ทรงพระนาม[๕] | จากอารามแรมร้างทางกันดาร |
ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท | จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร |
ตามเสด็จเสร็จโดยแดนแสนกันดาร[๖] | นมัสการรอยบาทพระศาสดา ฯ |
๏ วันจะจรจากน้องสิบสองค่ำ[๗] | พอจวนย่ำรุ่งเร่งออกจากท่า |
รำลึกถึงดวงจันทร์ครรไลลา | พี่ตั้งตาแลแลตามแพราย |
ที่ประเทศเขตเคยได้เห็นเจ้า | ก็แลเปล่าเปลี่ยวไปน่าใจหาย |
แสนสลดให้ระทดระทวยกาย | ไม่เหือดหายห่วงหวงเป็นห่วงครัน ฯ |
๏ ถึงคลองขวางบางจากยิ่งตรมจิต | ใครช่างคิดชื่อบางไว้กางกั้น |
ว่าชื่อจากแล้วไม่รักรู้จักกัน | พิเคราะห์ครันหรือมาพ้องกับคลองบาง |
ทั้งจากที่จากคลองเป็นสองข้อ | ยังจากกอนั้นก็ขึ้นในคลองขวาง |
โอ้ว่าจากช่างมารวบประจวบทาง | ทั้งจากบางจากไปใจระบม |
แสนวิบากหลากใจอาลัยเหลียว | เห็นเวียงวังก็ยิ่งเสียวถึงเคยสม |
ประสานสองหัตถ์ประนังตั้งประนม | น้อมบังคมเทวารักษาวัง |
ขอฝากน้องสองชนกช่วยปกเกศ | อย่ามีเหตุอันตรายเมื่อภายหลัง |
ใครปองชิงขอให้ตายด้วยรายชัง | เทพทั้งชั้นฟ้าได้ปรานี ฯ |
๏ ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเนียก[๘] | เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี |
ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี | ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน |
จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง[๙] | เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น |
นี่หรือรักจะมิน่าเป็นราคิน | แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ |
ขอใจนุชที่ฉันสุจริตรัก[๑๐] | ให้แน่นหนักเหมือนพุทธรูปเลขาขำ[๑๑] |
ถึงแสนคนจะมาวอนชะอ้อนนำ[๑๒] | สักแสนคำอย่าให้เคลื่อนจงเหมือนใจ ฯ |
๏ ถึงบางพลัดยิ่งอนัตอนาถจิต | นิ่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล |
พี่พลัดนางร้างรักมาแรมไกล | ประเดี๋ยวใจพบบางริมทางจร |
ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต | เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร |
มิตรจิตขอให้มิตรใจจร | ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อบาง |
ถึงบางซ่อนเหมือนเขาซ่อนสมรพี่ | ซ่อนไว้นี่ดอกกระมังเห็นกว้างขวาง |
เจ้าเยี่ยมหน้าออกมาหาพี่หน่อยนาง | จะลาร้างแรมไกลเจ้าไปแล้ว ฯ |
๏ ถึงน้ำวนชลสายที่ท้ายย่าน | เขาเรียกบ้านวัดโบสถ์ตลาดแก้ว |
จะเหลียวกลับลับวังมาลิบแล้ว | พี่ลับแก้วลับบ้านมาย่านบาง |
พฤกษาสวนล้วนได้ฤดูดอก | ตระหง่านงอกริมกระแสแลสล้าง |
กล้วยระกำอัมพาพฤกษาปราง | ต้องน้ำค้างช่อชุ่มเป็นพุ่มพวง |
เห็นจันทน์[๑๓]สุกลูกเหลืองตระหลบกลิ่น | แมลงภู่บินร่อนร้องประคองหวง |
พฤกษาพ้องต้องนามกานดาดวง | พี่ยลพวงผลจันทน์ให้หวั่นใจ |
แมงภู่[๑๔]เชยเหมือนพี่เคยประคองชิด | นิ่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล |
เห็นรักร่วงผลิผลัดสลัดใบ | เหมือนรักใจขวัญเมืองที่เคืองเรา |
พี่เวียนเตือนเหมือนอย่างน้ำค้างย้อย | ให้แช่มช้อยชื่อช่อเช่นกอเก่า |
โอ้รักต้นฤๅมาต้องกับสองเรา | จึงใจเจ้าโกรธไปไม่ได้นาน ฯ |
๏ ถึงแขวงแควแพตลอดตลาดขวัญ | เป็นเมืองจันตะประเทศรโหฐาน |
ตลิ่งเบื้องบูรพาศาลาลาน | เรือขนานจอดโจษกันจอแจ |
พินิจนางแม่ค้าก็น่าชม | ท้าคารมเร็วเร่งอยู่เซ็งแซ่ |
ใส่เสื้อตึงรึงรัดดูอัดแอ | พี่แลแลเครื่องเล่นเป็นเสียดาย |
ชมคณาฝูงนางมากลางชล | สุริยนเยี่ยมฟ้าเวลาสาย |
ถึงปากเกร็ดเสร็จพักผ่อนฝีพาย | หยุดสบายบริโภคอาหารพลัน |
แรงกำเริบเอิบอิ่มขยายออก | เขาก็บอกโยนยาวฉาวสนั่น |
ถึงหาดขวางบางพูดเขาพูดกัน | พี่คิดฝันใจฉงนอยู่คนเดียว[๑๕] |
เป็นพูดชื่อฤๅผีภูตปีศาจหลอก | ใครช่วยบอกภูตผีมานี่ประเดี๋ยว |
จะสั่งฝากขนิษฐาสุดาเดียว | ใครเกินเกี้ยวแล้วอย่าไว้กำไรเลย ฯ |
๏ ถึงบางพังน้ำพังลงตลิ่ง | โอ้ช่างจริงเหมือนเขาว่านิจจาเอ๋ย |
พี่จรจากดวงใจมาไกลเชย | โอ้อกเอ๋ยแทบพังเหมือนฝั่งชล |
ถึงวังวัดเทียนถวายบ้านใหม่ข้าม | ก็รีบตามเรือที่นั่งมากลางหน |
ทุ่งละลิ่วทิวเมฆเป็นหมอกมน | สะพรั่งต้นตาลโตนดอนาถครัน |
เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น | ระวังตนตีนมือระมัดมั่น |
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน | ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล |
เห็นเทพีมีหนามลงราน้ำ | เปรียบเหมือนคำคนพูดไม่อ่อนหวาน |
เห็นกิ่งกีดมีดพร้าเข้าราราน[๑๖] | ถึงหนามกรานก็ไม่เหน็บเหมือนเจ็บทรวง ฯ |
๏ ถึงบางหลวงทรวงร้อนดังศรปัก | พี่ร้างรักมาด้วยราชการหลวง |
เมื่อคิดไปใจหายเสียดายดวง | จนเรือล่วงมาถึงย่านบ้านกระแชง |
พี่เร่งเตือนเพื่อนชายพายกระโชก | ถึงสามโคกต้องแดดยิ่งแผดแสง |
ให้รุ่มร้อนอ่อนจิตระอิดแรง | เห็นมอญแต่งตัวเดินมาตามทาง |
ตาโถงถุงนุ่งอ้อมลงกรอมส้น | เป็นแยบยลเมื่อยกขยับอย่าง |
เห็นขาขาววาวแวบอยู่หว่างกลาง | ใครยลนางก็เป็นน่าจะปรานี |
ดูเหย้าเรือนหาเหมือนอย่างไทยไม่ | หลังคาใหญ่พื้นเล็กเป็นโลงผี |
ระยะบ้านย่านนั้นก็ยาวรี | จำเพาะมีฝั่งซ้ายเมื่อพายไป ฯ |
๏ ถึงวังตำหนักพักพลพอเสวย[๑๗] | แล้วก็เลยตามแควกระแสไหล |
ทั้งน้ำลงน่าสลดระทดใจ | โอ้น้ำไหลเจียวยังมีเวลาลง |
แต่โศกพี่หรือไม่มีเวลาว่าง | ระยะทางก็ยังไกลถึงไพรระหง |
ขึ้นจากน้ำแล้วจะซ้ำเข้าเดินดง | เมื่อไรลงนั่นแลกายจะวายตรอม |
เห็นลมอื้อจะใคร่สื่อสาราสั่ง | ถึงร้อยชั่งคู่เชยเคยถนอม |
ให้นิ่มน้องครองศักดิ์อย่าปลักปลอม | เรียมนี้ตรอมใจถึงคะนึงนาง ฯ |
๏ ถึงทุ่งขวางกลางย่านบ้านกระบือ | ที่ลมอื้อนั้นค่อยเหือดด้วยคุ้งขวาง |
ถึงย่านหนึ่งน้ำเซาะเป็นเกาะกลาง | ต้องแยกทางสองแควกระแสชล |
ปางบุรำคำบุราณขนานนาม | ราชครามเกาะใหญ่เป็นไพรสณฑ์ |
ในแถวทางกลางย่านกันดารคน | นาวาดลเดินเบื้องบูรพา |
โอ้กระแสแควเดียวทีเดียวหนอ | มาเกิดก่อเกาะถนัดสกัดหน้า |
ต้องแยกคลองออกเป็นสองทางคงคา | นี่หรือคนจะมิน่าเป็นสองใจ |
ครั้นพอสิ้นถิ่นเกาะค่อยเลาะเลียบ | นาวาเพียบน้ำลงกำลังไหล |
โอ้อนาถเหนื่อยน่าระอาใจ | ถึงบางไทรด่านดักนาวาเดิน |
เขาบอกชื่อสีกุกตรงด่านข้าม | เป็นสามง่ามน้ำนองในคลองเขิน |
ปักษาโบกปีกบินลงดินเดิน | มัจฉาเพลินผุดพล่านในคงคา |
นกยางเลียบเหยียบปลานขาหยิก | เอาปากจิกบินฮือขึ้นเวหา |
กระทุงน้อยลอยทวนนาวามา | โอ้ปักษาเอ๋ยจะลอยถึงไหนไป |
หน้าวังหรือจะสั่งด้วยนะนก | ให้แนบอกของพี่รู้ว่าโหยไห้ |
มิทันสั่งสกุณินก็บินไป | ลงจับใกล้นกตะกรุมริมวุ้มวน |
ศีรษะเตียนเลี่ยนโล่งหัวล้านเลื่อม | เหนียงกระเพื่อมร้องแรงแสยงขน |
โอ้หัวนกนี่ก็ล้านประจานคน | เมื่อยามยลพี่ยิ่งแสนระกำทรวง ฯ |
๏ ถึงเกาะเกิดเกิดเกาะขึ้นกลางน้ำ | เหมือนเกิดกรรมเกิดราชการหลวง |
จึงเกิดโศกขัดขวางขึ้นกลางทรวง | จะตักตวงไว้ก็เติบกว่าเกาะดิน |
รำพึงพายตามสายกระแสเชี่ยว | ยิ่งแสนเปลี่ยวเปล่าในฤทัยถวิล |
สักครู่หนึ่งก็มาถึงบางเกาะอิน[๑๘] | กระแสสินธุ์สายชลเป็นวนวัง |
อันเท็จจริงสิ่งนี้ไม่รู้แน่ | ได้ยินแต่ยุบลแต่หนหลัง |
ว่าที่เกาะบางอออินเป็นถิ่นวัง | กษัตริย์ครั้งครองศรีอยุธยา |
พาสนมออกมาชมคณานก | ก็เรื้อรกรั้งร้างเป็นทางป่า |
อันคำแจ้งกับเราแกล้งสังเกตตา | ก็เห็นน่าที่จะแน่กระแสความ |
แต่เดี๋ยวนี้มีไม้ก็ตายโกร๋น | ทั้งเกิดโจรจระเข้ให้คนขาม |
โอ้ฉะนี้แก้วพี่เจ้ามาตาม | จะวอนถามย่านน้ำพี่ร่ำไป ฯ |
๏ ถึงเกาะพระที่ระยะสำเภาล่ม | เภตราจมอยู่ในแควกระแสไหล |
ถึงเกาะเรียนโอ้เรียมยิ่งเกรียมใจ | ที่เพื่อนไปเขาก็โจษกันกลางเรือ |
ว่าคุ้งหน้าท่าเสือข้ามกระแส | พี่แลแลหาเสือไม่เห็นเสือ |
ถ้ามีจริงก็จะวิ่งลงจากเรือ | อุทิศเนื้อให้เป็นภักษ์พยัคฆา |
ไม่เคยตายเขาบ่ายนาวาล่อง | เข้าในคลองตะเคียนให้โหยหา |
ระยะย่านบ้านช่องในคลองมา | ล้วนภาษาพวกแขกตะนีอึง |
ดูหน้าตาก็ไม่น่าจะชมชื่น | พี่แข็งขืนอารมณ์ทำก้มขึง |
ที่เพื่อนเราร้องหยอกมันออกอึง | จนเรือถึงปากช่องคลองตะเคียน ฯ |
๏ เห็นวัดวาอารามตามตลิ่ง | ออกแจ้งจริงเหลือจะจำในคำเขียน |
พระเจดีย์ดูกลาดดาษเดียร | การเปรียญโบสถ์กุฏิ์ชำรุดพัง |
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ | ของพระหน่อสุริยวงศ์พระวังหลัง |
อุตส่าห์ทรงศรัทธามาประทัง | อารามรั้งหรือมางามอร่ามทอง |
สังเวชวัดธารมาที่อาศัย | ถึงสร้างใหม่ชื่อยังธาระมาหมอง |
เหมือนทุกข์พี่ถึงจะมีจินดาครอง | มงกุฎทองสร้อยสะอิ้งมาใส่กาย |
อันตัวงามยามนี้ก็ตรอมอก | แสนวิตกมาตามแควกระแสสาย |
ถึงคลองสระประทุมานาวาราย | น่าใจหายเห็นศรีอยุธยา |
ทั้งวังหลวงวังหลังก็รั้งรก | เห็นนกหกซ้อแซ้บนพฤกษา |
ดูปราสาทราชวังเป็นรังกา | ดังป่าช้าพงชัฏสงัดคน ฯ |
๏ อนิจจาธานินสิ้นกษัตริย์ | เหงาสงัดเงียบไปดังไพรสณฑ์ |
แม้กรุงยังพรั่งพร้อมประชาชน | จะสับสนแซ่เสียงทั้งเวียงวัง |
มโหรีปี่กลองจะก้องกึก | จะโครมครึกเซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์ |
ดูพาราน่าคิดอนิจจัง | ยังได้ฟังแต่เสียงสกุณา |
ทั้งสองฝั่งแฝกแขมแอร่มรก | ชะตาตกสูญสิ้นพระชันษา |
แต่ปู่ย่ายายเราท่านเล่ามา | เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ |
กษัตริย์สืบสุริยวงศ์ดำรงโลก | ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ |
เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน | เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ |
กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก | ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้ |
ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย | โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย |
หรือธานินสิ้นเกณฑ์จึงเกิดยุค | ไพรีรุกรบได้ดังใจหมาย |
เหมือนทุกวันแล้วไม่คัณนาตาย | ให้ใจหายหวั่นหวั่นถึงจันทร์ดวง ฯ |
๏ พี่ดูใจค่ายนอกออกหนักแน่น | ดังเขตแคว้นคูขอบนครหลวง |
ไม่เห็นจริงใจนางในกลางทรวง | ชายทะลวงเข้ามาบ้างจะอย่างไร |
ขอเทเวศร์เขตสวรรค์ชั้นดุสิต | ดลใจมิตรอย่าให้เหมือนกับกรุงใหญ่ |
ให้เหมือนกรุงเราทุกวันไม่พรั่นใคร | นั่นแลใจเห็นจะครองกับน้องนาน ฯ |
๏ สุริยนเย็นสนธยาย่ำ | ประทับลำเรือเรียงเคียงขนาน |
เขาเรียกวัดแม่นางปลื้มลืมรำคาญ | ใครขนานชื่อหนอได้ต่อมา |
ช่างแปลงโศกให้เราปลื้มพอลืมรัก | จะรู้จักคุณจริงไม่แกล้งว่า |
พลพายนายไพร่บรรดามา | หุงข้าวหาฟืนใส่ก่อไฟฮือ |
พี่ตันอกตกยากจากสถาน | เห็นอาหารหวนทอดใจใหญ่หือ |
ค่อยขืนเคี้ยวข้าวคำสักกำมือ | พอกลืนครือคอแค้นดังขวากคม |
จะเจือน้ำซ้ำแสบในทรวงเสียว | มีเค็มเปรี้ยวกล้ำกลืนก็ขื่นขม |
กินประทับแต่พอรับกับโรคลม | ครั้นค่ำพรมน้ำค้างอยู่พร่างพราย |
ก็แรมรอนนอนวัดแม่นางปลื้ม | พี่ไม่ลืมอาลัยให้ใจหาย |
ทั้งไพร่นายนอนกลาดบนหาดทราย | พงศ์นารายณ์นรินทร์วงศ์ที่ทรงญาณ |
บรรทมเรือพระที่นั่งบังวิสูตร | เขารวบรูดรอบดีทั้งสี่ด้าน |
ครั้นรุ่งเช้าราวโมงหนึ่งนานนาน | จัดแจงม่านให้เคลื่อนนาวาคลา ฯ |
๏ เข้าลำคลองหัวรอตอระดะ | ดูเกะกะรอร้างทางพม่า |
เห็นรอหักเหมือนหนึ่งรักพี่รอรา | แต่รอท่ารั้งทุกข์มาตามทาง |
พอเลี้ยวแหลมถึงท่าศาลาเกวียน | ตลิ่งเตียนแลโล่งดังคนถาง |
พี่ตั้งตาหาเกวียนสองข้างทาง | หมายจะจ้างบรรทุกไปท่าเรือ |
แต่ทุกข์รักก็เห็นหนักถนัดอก | ถึงสักหกเจ็ดเกวียนก็เจียนเหลือ |
แต่โศกรักมาจนหนักในลำเรือ | เฝ้าเติมเจือไปทุกคุ้งรำคาญครัน ฯ |
๏ ถึงบ่อโพงถ้ามีโพงจะผาสุก | จะโพงทุกข์เสียให้สิ้นที่โศกศัลย์ |
นี่แลแลก็เห็นแต่ตลิ่งชัน[๑๙] | ถึงปากจั่นตะละเตือนให้ตรอมใจ |
โอ้นามน้องหรือมาพ้องกับชื่อบ้าน | ลืมรำคาญแล้วมานึกรำลึกได้ |
ถึงบางระกำโอ้กรรมระยำใจ | เคราะห์กระไรจึงมาร้ายไม่วายเลย |
ระกำกายมาถึงท้ายระกำบ้าน | ระกำย่านนี่ก็ยาวนะอกเอ๋ย |
โอ้คนผู้เขาช่างอยู่อย่างไรเลย | หรืออยู่เคยความระกำทุกค่ำคืน ฯ |
๏ ถึงคุ้งแคว้นแดนพระนครหลวง | ยิ่งโศกทรวงเสียใจให้สะอื้น |
โอ้อกเอ๋ยยังจะไปอีกหลายคืน | กว่าจะชื่นแทบช้ำระกำกาย |
ถึงแม่ลาเมื่อเรามาก็ลาแม่ | แม่จะแลแลหาไม่เห็นหาย |
จะถามข่าวเช้าเย็นไม่เว้นวาย | แต่เจ้าสายสุดใจมิได้มา |
ถึงอรัญญิกยามแดดแผดพยับ | เสโทซับซาบโทมนัสา[๒๐] |
ถึงตะเคียนด้วนด่วนรีบนาวามา | ถึงศาลาลอยแลลิงโลดใจ |
เงื้อมตลิ่งงิ้วงามตระหง่านยอด | ระกะกอดเกะกะกิ่งไสว |
พยุยวบกิ่งเยือกเขยื้อนใบ | ถึงวังตะไลเห็นบ้านละลานแล |
ถึงบ้านขวางที่ทางนาวาจอด | เรือตลอดแลหลามตามกระแส |
ถึงท่าเรือเรือยัดกันอัดแอ | ดูจอแจจอดริมตลิ่งชุม |
ที่หน้าท่ารารับประทับหยุด | อุตลุดขนของขึ้นกองสุม |
เสบียงใครใครนั่งระวังคุม | พร้อมชุมนุมแน่นหน้าศาลารี ฯ |
๏ ฝ่ายพระหน่อสุริยวงศ์ทรงสิกขา | ขึ้นศาลาโสรจสรงวารีศรี |
ข้างพวกเราเฮฮาลงวารี | แต่โดยดีใจตนด้วยพ้นพาย |
อุระเรียมเกรียมตรมอารมณ์ร้อน | ระอาอ่อนอกใจมิใคร่หาย |
แลตลิ่งวิงหน้านัยน์ตาพราย | หัวไหล่ตายตึงยอกตลอดตัว |
ได้พึ่งเพื่อนเหมือนญาติเมื่อยามเข็ญ | เขานวดเคล้นให้บ้างก็ยังชั่ว |
พระอาทิตย์มืดมิดเข้าเมฆมัว | ฟ้าสลัวแดดดับพยับไพร |
กองคเชนทร์เกณฑ์ช้างยี่สิบเชือก | มาจัดเลือกกองหมอขึ้นคอไส |
ที่เดินดีขี่กูบไม่แกว่งไกว | วิสูตรใส่สองข้างเป็นช้างทรง |
แล้วผ่อนเกณฑ์กองช้างไว้กลางทุ่ง | เวลารุ่งจะเสด็จขึ้นไพรระหง |
ที่สี่เวรเกณฑ์กันไว้ล้อมวง | พระจอมพงศ์อิศยมบรรทมพลัน ฯ |
๏ อันพวกเราเหล่าเสวกามาตย์ | เหนื่อยอนาถนิทราดังอาสัญ |
แสนวิตกอกพี่นี้ผูกพัน | ให้หวั่นหวั่นเวทนาด้วยอาวรณ์ |
สดับเสียงสัปปุรุษที่หยุดพัก | เขาร้องสักวาอึงทั้งครึ่งท่อน |
บ้างชมป่าช้าปี่ทีละคร | ถึงสบกลอนที่จะรู้ก็สู้เมิน |
เฝ้าแหงนดูดวงแขชะแง้พักตร์ | เห็นจันทร์ชักรถร่อนเวหาเหิน |
ดูดวงเดือนเหมือนชื่อรื้อเผอิญ | ระกำเกินที่จะเก็บประกอบกลอน |
จนไก่เถื่อนเตือนขันสนั่นแจ้ว | ดุเหว่าแว่วหวาดหมายว่าสายสมร |
เดือนแอร่มแจ่มล้ำในอัมพร[๒๑] | กองกุญชรผูกช้างมายืนเรียง ฯ |
๏ บรรดาเพื่อนเตือนตื่นขึ้นเซ็งแซ่ | บ้างจอแจจัดการประสานเสียง |
บ้างม้วนเสื่อมัดกระสอบหอบเสบียง | บ้างถุ้งเถียงชิงสัปคับกัน |
บ้างขึ้นบนขนส่งคนข้างล่าง | เสียงโฉ่งฉ่างชามแตกกระแทกขัน |
จนคนบนสัปคับรับไม่ทัน | หม้อข้าวขันตกแตกกระจายราย |
ย่ามกระสอบกรอบแกรบกระไกรกริก | กลักพริกพลิกแพลงตะแคงหงาย |
กะโปเลเชือกร้อยขึ้นห้อยท้าย | เมื่อยามร้ายดูงามกว่าชามดิน ฯ |
๏ สงสารนางชาวในที่ไปด้วย | ทั้งโถถ้วยเครื่องแต่งแป้งขมิ้น |
หวีกระจกตกแตกกระจายดิน | เจ้าของผินหน้าหาน้ำตาคลอ |
จะปีนขึ้นกูบช้างไม่กางขา | แต่โดยผ้ากรีดกรอมทำซอมซ่อ |
มือตะกายสายรัดสกนธ์คอ | เห็นช้างงองวงหนีก็หวีดอึง |
แต่ปืนไพล่เหนี่ยวพลัดสุหรัดขาด | สองมือพลาดพลัดคว่ำลงต้ำผึง |
กรมการบ้านป่าเขาฮาตึง | ทำโกรธขึ้งเรียกพวกผู้ชายเร็ว |
บ้างขึ้นช้างพลางฉวยข้อมือฉุด | ดังอุณรุทจับกินนรที่ในเหว |
ไม่นึกอายอัประมาณเป็นการเร็ว | บ้างโอบเอวอุ้มนางขึ้นช้างพัง ฯ |
๏ สุรแสงแจ่มแจ้งอร่ามโลก | บริโภคอิ่มเอิบอารมณ์หวัง |
ขัตติยวงศ์ทรงช้างกูบบัลลังก์ | รับสั่งสั่งสารถีให้ไสเดิน |
จากศาลาท่าเรือเข้าทิวทุ่ง | เป็นฝุ่นฟุ้งนภางค์ในทางเขิน |
กูบกระโดกโยกอย่างทุกย่างเดิน | เขยื้อนเยินยอบเยือกยะยวบกาย |
ทั้งสองข้างท่านวางเป็นช้างดั้ง | ระยะหลังมหาดเล็กนั้นเหลือหลาย |
แต่ตัวพี่นี้จำเพาะเป็นเคราะห์ร้าย | ต้องขึ้นพลายนำทางช้างน้ำมัน |
เพื่อนเขาแกล้งตบมือกระพือผัด | ช้างสะบัดบุกไปในไพรสัณฑ์ |
ผงะหงายคนท้ายเขาคว้าทัน | โอ้แม่จันทร์เจียนจะไม่เห็นใจจริง |
นึกจะโจนจากช้างลงกลางเถื่อน | แล้วอายเพื่อนเขาจะเย้ยว่าใจหญิง |
แต่ตึงเศียรเวียนหน้านัยน์ตาวิง | เอาขอพิงพาดตักมาตามทาง ฯ |
๏ ถึงชายป่าน่าประโคนรำคาญคิด | ถึงมิ่งมิตรแล้วให้หมองอารมณ์หมาง |
จนพ้นทุ่งมุ่งตรงเข้าดงยาง | ไม้สล้างลู่ล้มระทมทับ |
รุกขชาติดาษดูระดะป่า | สกุณาจอแจประจำจับ |
ดุเหว่าแว่วหวาดไหวฤทัยวับ | จะแลกลับหลังเหลียวยิ่งเปลี่ยวใจ |
ทั้งสองข้างทางเดินก็รกระ | ระเกะกะพาดพันเถาวัลย์ไสว |
จักจั่นแซ่เสียงเรไรไพร | ในจิตใจทดท้อระย่อเย็น ฯ |
๏ ถึงบางโขมดมีธารตะพานช้าง[๒๒] | บรรลุทางครบร้อยห้าสิบเส้น |
มีโพธิ์พุ่มชุ่มชื่นระรื่นเย็น | ไม่ว่างเว้นสัปปุรุษเขาหยุดเรียง |
บ้างขายของสองข้างตามทางป่า | จำนรรจาจอแจออกแซ่เสียง |
พี่แกล้งไสให้คชสารเคียง | เห็นของเรียงอยู่บนร้านทั้งหวานคาว |
แต่น้ำยานั้นเขาว่ากิ้งกือกุ้ง | เห็นชาวกรุงกินกลุ้มทั้งหนุ่มสาว |
พี่คลื่นไส้ไสช้างให้ย่างยาว | มาตามราวมรคาพนาวัน |
ลมกระพือฮือหอบผงคลีหวน | ปักษาครวญเพรียกพฤกษ์ในไพรสัณฑ์ |
ดุเหว่าแว่วแจ้วจับน้ำใจครัน | ไก่เถื่อนขันขานเขาชวาคู ฯ |
๏ ประจวบจนถึงตำบลบ่อโศก | ยามวิโยคออกชื่อก็ครือหู |
ถึงจะไม่รู้จักไม่รักรู้ | แต่เหลือบดูไปที่บ่อยังท้อใจ |
ระยะเดินเถินทางมากลางป่า | สองร้อยห้าสิบเส้นถึงสระใหญ่ |
พอได้กึ่งมรคาพนาลัย | พี่รีบไสช้างเดินโดยลำพอง ฯ |
๏ มาลับท่อบ่อโศกจนสุดเหลียว | ยังเสียวเสียวโศกกายไม่วายหมอง |
ถึงหนองคนทีมีสระละหานนอง | เป็นเปือกกรองแต่ล้วนหญ้าคงคาดำ |
อันริมรอบขอบหนองทั้งสองข้าง | รอยตีนช้างลึกลุ่มหลุ่มถลำ |
โอ้น้ำใจในอุราทาระกรรม | เหมือนน้ำดำอยู่ในหนองเป็นฟองคราม |
พี่ยลน้ำช้ำใจแล้วไสช้าง | มาตามทางทิวป่าพนาหนาม |
กำหนดนับมรคาพยายาม | ก็ได้สามร้อยเส้นห้าสิบปลาย |
โอ้ทางไกลไปเปลืองเหมือนเรื่องว่า | แต่โศกข้านี่กระไรมิใคร่หาย |
จะแลขวาป่าเขียวยังเปลี่ยวกาย | จะแลซ้ายเห็นแต่โขดภูเขาเคียง |
กับหมู่ไม้ไกรกรวยกันเกรากร่าง | พะยอมยางตาพยัคฆ์พยุงเหียง |
ข่อยมะขามตามทางสล้างเรียง | นกเขาเคียงคู่คูประสานคำ |
โอ้นกคู่ดูน่าจะผาสุก | พี่นี้ทุกข์เพราะจากเจ้างามขำ |
เห็นนกหนึ่งจับนิ่งกิ่งระกำ | โอ้นกน้อยเห็นจะจำจากตัวเมีย |
ถ้านกผู้ดูเหมือนหัวอกพี่[๒๓] | แสนทวีเวทนาประดาเสีย |
นิจจาเอ๋ยถ้าเป็นอกนกตัวเมีย | จะละเหี่ยหาผัวอยู่ตัวเดียว |
พี่เห็นนกแล้ววิตกถึงน้องน้อย | จะครวญคอยนับวันกระสันเสียว |
ไม่เห็นพี่ก็จะโหยอยู่โดยเดียว | พี่ก็เปลี่ยวเปล่ากายซังตายมา ฯ |
๏ ถึงศาลาอาศัยเจ้าสามเณร[๒๔] | ในบริเวณอึกทึกด้วยพฤกษา |
ที่ป่านั้นขยาดพยัคฆา | จะไปมาใครไม่อาจประมาทเมิน |
ยามระงิดพี่ไม่คิดว่าเสือร้าย | เขม้นหมายมุ่งลำเนาภูเขาเขิน |
ได้สี่ร้อยทางจรไม่หย่อนเกิน | เขารีบเดินการด่วนจะจวนเพล |
ช้างที่นั่งก็รับสั่งให้รีบไส | จนเหงื่อไหลหน้าแดงดังแสงเสน |
ถึงสระยอรอช้างเสวยเพล | จนกองเกณฑ์เดินทางมาตามทัน ฯ |
๏ พี่แวะเข้าเขาตกคอยนำเสด็จ | ดูเทเวศร์อารักษ์นรังสรรค์ |
เอาเทียนจุดบูชาแก่เทวัญ | ให้ป้องกันอันตรายในราวไพร |
เห็นเขาตกเขาแตกมาตกลึก | อนาถนึกแล้วน่าน้ำตาไหล |
ที่ตกยากจากนางมากลางไพร | วิตกใจตกมาถึงคีรี |
รำจวนจิตคิดไปน่าใจหาย | ไม่เว้นวายความเทวษสวาทศรี |
จึงเลยลาอารักษ์ริมคีรี | จงสุขีเถิดนะข้าขอลาจร ฯ |
๏ ถึงสระยอพอได้เวลาเสด็จ | ก็ตามเสร็จแวดล้อมพร้อมสลอน |
กำดัดแดดแผดเที่ยงทินกร | รีบกุญชรช้างที่นั่งขนัดตาม |
บ่ายประมาณโมงหนึ่งพอถึงวัด | ออกแออัดผู้คนอยู่ล้นหลาม |
ลงหยุดปลงไอยราริมอาราม | สมภารตามเชิญเสด็จให้คลาไคล |
ขึ้นกุฎีฝากระดานสำราญรื่น | ก็ครึกครื้นครอบครัวเข้าอาศัย |
ทั้งไพร่นายรายเรียงกันเรียดไป | ตัดใบไม้มุงเหมือนหลังคาบัง ฯ |
๏ ประจวบจนสุริยนเย็นพยับ | ไม่ได้ศัพท์เซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์ |
ปี่ระนาดฆ้องกลองประโคมดัง | ระฆังหงั่งหงั่งหง่างลงครางครึม |
มโหรีปี่ไฉนจับใจแจ้ว | วิเวกแว่วกลองโยนตะโพนกระหึ่ม |
ทุกที่ทับสัปปุรุษก็พูดพึม | รุกขาครึ้มครอบแสงพระจันทร |
เสนาะเสียงเทศนาปุจฉาถาม | ในสนามเสียงสนั่นเนินสิงขร |
เป็นวันบัณรสี[๒๕]รวีวร | พระจันทรทรงกลดรจนา |
ไฟตะเกียงเรียงรอบพระมณฑป | กระจ่างจบจันทร์แจ่มแอร่มผา |
ดอกไม้พุ่มจุดงามอร่ามตา | จับศิลาแลเลื่อมเป็นลายลาย |
พระจันทร์ส่องต้องยอดมณฑปสุก | ในหน้ามุขเงางามอร่ามฉาย |
นกบินกรวดพรวดพราดประกายพราย | พลุกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน |
ดอกไม้ร้องป้องปีบสนั่นป่า | ในแหล่งหล้าใครไม่มีเสมอเหมือน |
แต่คนเดินพัลวันออกฟั่นเฟือน | จนจันทร์เคลื่อนรถคล้อยลับเมฆา |
สงัดเสียงคนดังระฆังเงียบ | เย็นยะเยียบยามนอนริมเนินผา |
เมื่อยามแกนแสนทุเรศเวทนา | ต้องไสยาอยู่กลางน้ำค้างพราว |
ดังต้องน้ำอำมฤกเมื่อดึกเงียบ | แสนยะเยียบเนื้อเย็นเป็นเหน็บหนาว |
ทั้งหนาวลมหนาวพรมน้ำค้างพราว | ไหนจะหนาวซากผาศิลาเย็น |
โอ้หนาวอื่นพอขืนอารมณ์ได้ | แต่หนาวใจยากแค้นนี้แสนเข็ญ |
ทั้งหนาวนอนไกลนุชสุดจะเย็น | ใครปะเป็นเหมือนหนึ่งข้าจะว่าจริง |
ถึงผ้าผ่อนซ้อนห่มเป็นไหนไหน | ไม่อุ่นใจเหมือนกอดแม่ยอดหญิง |
แต่ตรอมใจไสยาสน์หวาดประวิง | จนไก่ชิงกันขันกระชั้นยาม |
ได้เพลินอุ่นฉุนเคลิ้มสติหลับ | ก็ฝันยับไปด้วยรักไม่พักถาม |
ในนิมิตว่าได้ชิดพะงางาม | เหมือนเมื่อยามยังสำราญอยู่บ้านน้อง |
สบายนิดหนึ่งที่ฝันก็พลันรุ่ง | ตื่นสะดุ้งเขาประดังระฆังก้อง |
พอลืมตาก็ผวาคว้าประคอง | ไม่พบน้องสุดแค้นแสนรำคาญ ฯ |
๏ จนแจ่มแจ้งแสงสายไม่วายโศก | บริโภคโภชนากระยาหาร |
แล้วเลือกธูปเทียนจัดไปนมัสการ | เข้าในลานแลเลื่อมละอองทราย |
มีร่มโพธิ์รุกขังเป็นรังรื่น | พิกุลชื่นช่อบังพระสุริย์ฉาย |
แสนรโหโอฬาร์น่าสบาย | ทั้งหญิงชายกลาดกลุ้มประชุมกัน ฯ |
๏ ทวาราที่ตรงหน้าบันไดนาค | มีรูปรากษสสองอสูรขยัน[๒๖] |
แสยะแยกโอษฐ์อ้าสองตามัน | ยืนยิงฟันแยกเขี้ยวอยู่อย่างเป็น |
บันไดนาคนาคในบันไดนั้น[๒๗] | ดูผกผันเพียงจะเลื้อยออกโลดเล่น |
ขย้ำเขี้ยวขบปากเหมือนนาคเป็น | ตาเขม้นมองมุ่งสะดุ้งกาย |
มีต้นกำมพฤกษ์ทานในลานวัด | ลูกหมากยัดเงินทิ้งอุทิศถวาย |
คนประชุมกลุ้มชิงทั้งหญิงชาย | บ้างกอบปรายเบี้ยโปรยอยู่โกรยกราว ฯ |
๏ ทิศประจิมริมฐานมณฑปนั้น | มีดาบสรูปปั้นยิงฟันขาว[๒๘] |
นุ่งหนังพยัคฆาชฎายาว | ครังเคราคราวหนวดแซมสองแก้มคาง |
ขั้นบันไดจะขึ้นไปมณฑปนั้น | สิงโตตันสองตัวกระหนาบข้าง[๒๙] |
ดูผาดเผ่นเหมือนจะเต้นไปตามทาง | พี่ชมพลางขึ้นบนบันไดพลัน |
ทั้งสาวหนุ่มเข้าประชุมกันแออัด | ประนมหัตถ์ทักษิณเกษมสันต์ |
แต่เวียนเดินเพลินชมมาตามกัน | ตามช่องชั้นกำแพงแก้วอันแพรวพราย |
ทั้งซุ้มเสามณฑปกระจกแจ่ม | กระจังแซมปลายเสาเป็นบัวหงาย |
มีดอกจันทน์ก้านแย่งสลับลาย | กลางกระจายดอกจอกประจำทำ ฯ |
๏ พื้นผนังหลังบัวที่ฐานบัทม์[๓๐] | เป็นครุฑอัดยืนเหยียบภุชงค์ขยำ |
หยิกขยุ้มกุมวาสุกรีกำ | กินนรรำรายเทพประนมกร |
ใบระกาหน้าบันบนชั้นมุข | สุวรรณสุกเลื่อมแก้วประภัสสร |
ดูยอดเยี่ยมเทียมยอดยุคุนธร | กระจังซ้อนแซมใบระกาบัง |
นาคสะดุ้งรุงรังกระดึงห้อย | ใบโพธิ์ร้อยระเรงอยู่เหง่งหงั่ง[๓๑] |
เสียงประสานกังสดาลกระดึงดัง | วิเวกวังเวงในหัวใจครัน ฯ |
๏ บานทวารลานแลล้วนลายมุก[๓๒] | น่าสนุกในกระหนกดูผกผัน |
เป็นนาคครุฑยุดเหนี่ยวในเครือวัลย์ | รูปยักษ์ยันยืนกอดกระบองกุม |
สิงโตอัดกัดก้านกระหนกเกี่ยว | เทพเหนี่ยวเครือกระหวัดหัตถ์ขยุ้ม |
ชมพูพานกอดก้านกระหนกรุม | สุครีพกุมขรรค์เงื้อในเครือวง |
รูปนารายณ์ทรงขี่ครุฑาเหิน | พรหมเจริญเสด็จยังบัลลังก์หงส์ |
รูปอมรกรกำพระธำมรงค์ | เสด็จทรงคชสารในบานบัง |
ผนังในกุฎีทั้งสี่ด้าน | โอฬาร์ฬารทองทาฝาผนัง[๓๓] |
จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง | ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม[๓๔] |
มณฑปน้อยสวมรอยพระบาทนั้น | ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสงอร่าม |
เพดานดาดลาดล้วนกระจกงาม | พระเพลิงพลามพร่างพร่างสว่างพราย |
ตาข่ายแก้วปักกรองเป็นกรวยห้อย | ระย้าย้อยแวววามอร่ามฉาย |
หอมควันธูปเทียนตระหลบอยู่อบอาย | ฟุ้งกระจายรื่นรื่นทั้งห้องทอง ฯ |
๏ พี่เข้าเคียงเบื้องขวาฝ่าพระบาท | อภิวาทหัตถ์ประนังขึ้นทั้งสอง |
กราบกราบแล้วก็ตรึกรำลึกปอง | เดชะกองกุศลที่ตนทำ |
มาคำรพพบพุทธบาทแล้ว | ขอคุณแก้วสามประการช่วยอุปถัมภ์ |
ฉันเกิดมาชาตินี้ก็มีกรรม | แสนระยำยุบยับด้วยอับจน |
ได้เคืองแค้นแสนยากลำบากบอบ | ไม่สมประกอบทรัพย์สินก็ขัดสน |
แม้นกลับชาติเกิดใหม่เป็นกายคน | ชื่อว่าจนแล้วจงจากกำจัดไกล |
สตรีหึง[๓๕]หนึ่งแพศยาหญิง | ทั้งสองสิ่งอย่าได้ชิดพิสมัย |
สัญชาติชายทรชนที่คนใด | ให้หลีกไกลร้อยโยชน์อย่าร่วมทาง |
ถ้ารักใครขอให้ได้คนนั้นด้วย | บุญจงช่วยปฏิบัติอย่าขัดขวาง |
อย่ารู้มีโรคาในสารพางค์ | ทั้งรูปร่างขอให้ราวกับองค์อินทร์ |
หนึ่งบิดรมารดาคณาญาติ | ให้ผุดผาดผาสุกเป็นนิจสิน |
ความระยำคำใดอย่าได้ยิน | ให้สุดสิ้นสูญหายละลายเอง |
ทั้งหวายตรวนล้วนเครื่องที่ลำบาก | ให้ปราศจากทั้งคนเขาข่มเหง |
ใครปองร้ายขอให้กายมันเป็นเอง | ให้ครื้นเครงเกียรติยศปรากฏครัน ฯ |
๏ อธิษฐานแล้วก็ลาฝ่าพระบาท | เที่ยวประพาสในพนมพนาสัณฑ์ |
ขึ้นเขาโพธิ์ลังกาศิลาชัน | มีสำคัญรุกขโพธิ์ลังกาเรียง |
ศาลารีมีทั้งระฆังห้อย | เขาตีบ่อยไปยังค่ำไม่ขาดเสียง |
ดงลั่นทมร่มรอบคีรีเรียง | มีกุฏิ์เคียงอยู่บนเขาเป็นหลั่นกัน |
มีชะวากคูหาศิลาหุบ | ในถ้ำมีพุทธรูปนรังสรรค์ |
แต่คนนมัสการนานอนันต์ | บนเขานั้นแจ้งจริงทั้งหญิงชาย ฯ |
๏ เจ้าเณรน้อยเสด็จมาดูน่ารัก[๓๖] | พระกลดหักทองขวางกางถวาย |
พี่เหลียวพบหลบตกลงเจียนตาย | กรตะกายกลิ้งก้อนศิลาตาม |
เป็นบุญจริงจับกิ่งสะแกได้ | ในจิตใจยอกเจ็บดังเหน็บหนาม |
กำลังอายก็ซังตายพยายาม | ลงเลียบตามตีนเขาลำเนาไพร |
พบพวกนางเข้าที่หว่างชะวากผา | เขาแกล้งว่าเยาะเย้ยเฉลยไข |
พี่แกล้งเฉยเลยแลดูอื่นไป | ให้เจ็บใจจำนิ่งดำเนินมา ฯ |
๏ ถึงเขาขาดพี่ถามถึงนามเขา | ผู้ใหญ่เล่ามาให้ฟังที่กังขา |
ว่าเดิมรถทศกัณฐ์เจ้าลงกา | ลักสีดาโฉมฉายมาท้ายรถ |
หนีพระรามกลัวจะตามมารุกรบ | กงกระทบเขากระจายทลายหมด |
ศิลาแตกแหลกลงด้วยกงรถ | จึงปรากฏตั้งนามมาตามกัน ฯ |
๏ พี่พูดพูดเขาขาดแล้วหวาดจิต[๓๗] | พี่ขาดมิตรมาไกลถึงไพรสัณฑ์ |
นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์ | จะขาดกันเสียเหมือนเขาพี่เศร้าใจ |
แล้วย่องเหยียบเลียบเนินลงเดินล่าง | ตามแถวทางหิมวาพฤกษาไสว |
เห็นพุ่มพวงบุปผายิ่งอาลัย | สลดใจขุกคิดถึงคู่เคียง |
ไม้แก้วกางกิ่งพิงกับกิ่งเกด | ฝูงโนเรศขันขานประสานเสียง |
น้ำตาคลอท้ออกเห็นนกเรียง | เหมือนเรียมเคียงร่วมคู่เมื่ออยู่เรือน |
ระกำป่ากาหลงกะลิงจับ | ระกำกับเราระกำก็จำเหมือน |
เห็นไม้จันทน์พี่ยิ่งฟั่นอารมณ์เฟือน | เหมือนจันทร์เตือนใจตัวให้ตรอมใจ |
โอ้นามไม้หรือมาต้องกับน้องพี่ | ขณะนี้นึกน่าน้ำตาไหล |
เจ้าอยู่เรือนชื่อเชือนมาอยู่ไพร | เหมือนเตือนใจให้พี่ทุกข์ทุกย่างเดิน ฯ |
๏ มาถึงเชิงคีรีที่มีถ้ำ | ศิลาง้ำเงื้อมแหงนเป็นแผ่นเผิน |
ไม้รวกรอบขอบเขาลำเนาเนิน | พิศเพลินพฤกษาบรรดามี |
อันชื่อถ้ำแต่บุรำบุราณเรียก | ชื่อสำเหนียกถ้ำประทุนคีรีศรี |
สำคัญปากคูหาศาลามี | ชวนสตรีเข้าถ้ำทั้งหกคน |
เที่ยวชมห้องปล่องหินเป็นพู่ห้อย | มีน้ำย้อยหยาดหยัดอย่างเม็ดฝน |
พอเทียนดับลับแลไม่เห็นคน | ผู้หญิงปนเดินปะปะทะชาย |
เสียงร้องกรีดหวีดก้องในห้องถ้ำ | ชายขยำหยอกแย่งผู้หญิงหวาย |
ใครกอดแม่แปรกอกแตกตาย | ใครปาดป้ายด้วยมินหม้อเหมือนแมวคราว |
ครั้นออกจากคูหาเห็นหน้าเพื่อน | มันมอมเปื้อนแปลกหน้าก็ฮาฉาว |
บ้างถูกเล็บเจ็บแขนเป็นริ้วยาว | ก็โห่กราวกรูเกรียวไปเที่ยวดง ฯ |
๏ ถึงถ้ำหนึ่งชื่อถ้ำกินนรนั้น | สะพรั่งพรรณพฤกษาป่าระหง |
ดูคูหาก็เห็นน่ากินนรลง | เป็นเวิ้งวงลึกแลตลอดริม |
พาดพะองจึงจะลงไปเล่นได้ | เป็นเหวใหญ่ลงโยนด้วยก้อนหิน |
เสียงโก้งก้างก้องกึงไม่ถึงดิน | กว่าจะสิ้นเสียงผาเป็นช้านาน |
พี่กลัวตายชายชวนไปชมอื่น | ร่มระรื่นรุกขาขึ้นขนาน |
ถึงบ่อหนึ่งมีน้ำคำบุราณ | ว่าบ่อพรานล้างเนื้อที่ในไพร |
พิเคราะห์น้ำสมคำบุราณกล่าว | ยังมีคาวเหม็นหืนจนคลื่นไส้ |
ถนอมหอมกลิ่นนุชเป็นสุดใจ | โอ้เป็นไรจึงไม่ติดอุรามา |
น่าฉงนจนใจสงสัยจ้าน | ด้วยรอยพรานจารึกอยู่กับผา |
แต่กล่าวไว้ว่าพรานไล่มฤคา | รอยตีนหมาก็ยังมีสำคัญครัน ฯ |
๏ บนยอดเขามีสองสุนัขา | สังเกตตาก็พิกลเหมือนคนขัน |
ทั้งคอคางหางหูขึ้นชูชัน | สี่เท้ายันเหยียบยอดคีรีเรียง |
เช่นนี้เจ้าเสาวภาคย์มาตามพี่ | จะถามจี้ไปทุกสิ่งไม่ขาดเสียง |
พี่จะทำเฉยเมินเข้าเดินเรียง | ประคองเคียงให้เจ้าค้อนชะอ้อนชม |
นี่นึกนึกแล้วก็น่าน้ำตาตก | เพราะแนบอกมิได้มาเป็นสองสม |
ขืนสนุกไปทั้งทุกข์ระทมตรม | ซังตายชมไปทั้งช้ำระกำทรวง ฯ |
๏ ถึงคูหาชื่อชาละวันถ้ำ | วิไลล้ำไปทุกเหลี่ยมภูเขาหลวง |
ศิลาแลแวววาวดังดาวดวง | เป็นเมฆม่วงมรกตทับทิมแดง |
สมมุติแลแง่หินชะง่อนหุบ | เป็นที่รูปสิงสัตว์เข้าเฟี้ยมแฝง |
กระต่ายเหมือนกระต่ายป่าสองตาแดง | ที่ลางแห่งพิศแลเห็นแต่ตัว |
ที่ลางแห่งแกล้งพิศประดิษฐ์ต่อ | เห็นแต่คอบ้างก็เห็นแต่เพียงหัว |
ที่แผ่นเผินเนินผานั้นน่ากลัว | ดูเงื้อมตัวเหมือนจะพังลงทับตาย |
เทียนสว่างกลางห้องคูหาแจ่ม | ศิลาแวมวาววามอร่ามฉาย |
พี่ชมแล้วให้ตรมระบมกาย | ด้วยเจ้าสายสุดใจมิได้มา |
แล้วชักเชือนชวนเพื่อนให้กลับหลัง | ที่อื่นยังมีอยู่หลายคูหา |
จะแต่งเล่นก็ที่เห็นกับนัยนา | ด้วยเวลาสุริยนก็พ้นเย็น ฯ |
๏ จะกลับหลังยังพระพุทธบาท | เหนื่อยอนาถอกใจมิใช่เล่น |
ครั้นค่ำนอนตละตายทั้งกายเย็น | ครั้นเช้าเป็นก็เที่ยวไปตามทาง |
เขม้นเมินว่าจะเดินไปหินดาษ | ลัดตลาดแลตลอดคนสล้าง |
เห็นขนเม่นพี่ยังหมายเสียดายนาง | เจ้าเคยสางสอยเส้นกระเด็นราย |
สารพันกันภัยลูกนาคพด | เครื่องโอสถชาวป่าเขามาขาย |
ลักจั่นวัลย์เปรียงแก่นปรูลาย | เป็นยาหายโรคภัยที่ในตัว |
หัวล้านลูกละเบี้ยดูเสียหน้า | ลูกขี้ข้าอะไรล้านประจานหัว |
ใครล้านจ้อนควรเจียมเสงี่ยมตัว | มันสิบหัวสิบเบี้ยออกเรี่ยทาง ฯ |
๏ พี่แกล้งเมินเดินมาข้างบ่อโพง | เห็นท่าเลี่ยนเตียนโล่งเป็นทางถาง |
พิศพนมชมเพลินแล้วเดินพลาง | ถึงระหว่างแนวน้ำที่ลำธาร |
กระแสสินธุ์หินดาษสะอาดเอี่ยม | วารีเปี่ยมปริ่มไหลในละหาน |
เห็นหญิงชายว่ายคล่ำในลำธาร | เสียงประสานสรวลสันต์สนั่นอึง |
เห็นชีต้นปนประสกสีกากลุ้ม | โถมกระทุ่มฟองฟุ้งอยู่ผลุงผึง |
พี่หลีกเลียบไปให้พ้นที่คนอึง | กระทั่งถึงธารเกษมค่อยสร่างใจ ฯ |
๏ ต้นโศกทอดยอดขวางออกกลางห้วย | พี่ก็ช่วยผูกชิงช้าให้อาศัย |
พวกผู้หญิงชิงขึ้นให้ช้าไกว | สนุกใจร้องเตือนให้เพื่อนโยน |
ดูทำนองนางในไกวชิงช้า | ดังสีดาผูกคอที่โรงโขน |
เถาวัลย์เปราะเคราะห์ร้ายพอสายโยน | ก็ขาดโหนลงในน้ำเสียงต้ำโครม |
ผ้าห่มเปลื้องเครื่องเล่นอล่างฉ่าง | ทั้งสองข้างผู้คนเขาฮาโหม |
พี่แลลานธารหลวงเพียงทรวงโทรม | ให้แสนโทมนัสทัศนา ฯ |
๏ คำขนานธารเกษมก็สมชื่อ | สนุกคือเรื่องอิเหนาเสน่หา |
เมื่อใช้บนเล่นชลธารา | อันเรื่องว่ากับเราเห็นก็เช่นกัน |
ประดับด้วยก้อนแก้วปัทมราช[๓๘] | สดสะอาดทาเขียวก็เขียวขัน[๓๙] |
มัจฉาว่ายรายเรียงมาเคียงกัน | แล้วมีพรรณบุปผาก็น่าชม |
หล่นลงกลาดดาษเกลื่อนที่กลางน้ำ | ถึงใจช้ำก็ค่อยชื่นอารมณ์สม |
ทั้งหญิงชายชิงชวนกันเก็บชม | แสนภิรมย์เบิกบานสำราญเรียง |
แต่หนุ่มสาวคราวเรานี้นับร้อย | ลงเล่นลอยกลางธารประสานเสียง |
ล้วนจับคู่ชู้ชายชม้ายเมียง | ที่คู่ใครใครเคียงประคองกัน |
แสนสนุกจะมาทุกข์อยู่เพียงพี่ | ยิ่งทวีความวิโยคให้โศกศัลย์ |
เห็นคู่รักเขาสมัครสมานกัน | คิดถึงวันเมื่อมาดสวาทนาง |
แต่วอนเวียนเจียนวายชีวิตพี่ | จึงได้ศรีเสาวภาคย์มาแนบข้าง |
เจ้าเคืองขัดตัดสวาทขาดระวาง | จนแรมร้างออกมาราวอรัญวา |
ครั้งอิเหนาสุริยวงศ์อันทรงกริช | พระทรงฤทธิ์แรมร้างจินตะหรา |
พระสุธนร้างห่างมโนห์รา | พระรามร้างแรมสีดาพระทัยตรอม |
องค์พระเพชรปาณีท้าวตรีเนตร | เสียพระเวทผูกทวารกรุงพาลถนอม |
สุจิตราลาตายไม่วายตรอม | ล้วนเจิมจอมธรณีทั้งสี่องค์ |
แสนสุขุมรุ่มร้อนด้วยร้างรัก | ยังไม่หนักเหมือนพี่โศกสุดประสงค์ |
ไม่ถึงเดือนเพื่อนรักเขาทักทรง | ว่าซูบลงกว่าก่อนเป็นค่อนกาย |
พี่แกล้งเฉยเลยชมชลาสินธุ์ | ในที่ถิ่นธารเกษมกระแสสาย |
แต่เพลินชมอยู่นั้นตะวันชาย | ก็กลับหมายมุ่งมายังอาราม ฯ |
๏ ถึงพบเพื่อนที่รู้จักเคยรักใคร่ | ก็เฉยไปเสียมิได้จะทักถาม |
แต่คอยฟังเทวราชประภาษความ | เมื่อไรจะคืนอารามวัดระฆัง |
พี่จะได้ทูลลาไปหาเจ้า | เป็นทุกข์เท่านี้แลน้องไม่วายหลัง |
พอแรมค่ำหนึ่งวันนั้นท่านพระคลัง[๔๐] | หาบุญยังไปฉลองศาลาลัย |
มีละครผู้คนอลหม่าน | กรับประสานสวบสวบส่งเสียงใส |
สุวรรณหงส์ทรงว่าวแต่เช้าไป | พี่เลี้ยงใส่หอกยนต์ไว้บนแกล |
ตะวันบ่ายเข้าห้องก็ต้องหอก | ชาวบ้านนอกตกใจร้องไห้แซ่ |
บ้างฮาครืนยืนยัดอยู่อัดแอ | บ้างจอแจสุรเสียงที่เถียงกัน ฯ |
๏ ละครหยุดอุตลุดด้วยมวยปล้ำ | ยืนประจำหมายสู้เป็นคู่ขัน |
มงคลใส่สวมหัวไม่กลัวกัน | ตั้งประจันจดจับกระหยับมือ |
ตีเข่าปับรับโปกสองมือปิด | ประจบติดเตะผางหมัดขว้างหวือ |
กระหวัดหวิดหวิวผวาเสียงฮาฮือ | คนดูอื้อเออเอาสนั่นอึง |
ใครมีชัยได้เงินบำเหน็จมาก | จมูกปากบอบบวมอลึ่งฉึ่ง |
แสนสนุกสุขล้ำสำมดึงษ์ | พระผู้ถึงนฤพานด้วยการเพียร |
แต่รอยบาทอนุญาตไว้ยอดเขา | บุญของเราได้มาเห็นก็เย็นเศียร |
บังคมคัลวันละสองเวลาเวียน | แต่จำเนียรนับไว้ได้สี่วัน ฯ |
๏ จอมนรินทร์เทวราชประภาษสั่ง | จะกลับยังอาวาสเกษมสันต์ |
วันรุ่งแรมสามค่ำเป็นสำคัญ[๔๑] | อภิวันท์ลาบาทพระชินวร |
ถึงท่าเรือลงเรือไม่แรมหยุด | ก็เร็วรุดตั้งหน้ามาหาสมร |
แต่ตัวพี่ยังมาในสาคร | น้ำใจจรมาถึงเสียก่อนกาย |
ได้วันครึ่งถึงเวียงประทับวัด | โทมนัสอาดูรค่อยสูญหาย |
นิราศนี้ปีเถาะ[๔๒]เป็นเคราะห์ร้าย | เราจดหมายตามมีมาชี้แจง |
ที่เปล่าเปล่ามิได้เอามาเสกใส่ | ใครไม่ไปก็จงจำคำแถลง |
ทั้งคนฟังคนอ่านสารแสดง | ฉันขอแบ่งส่วนกุศลทุกคนเอย ฯ |
[๑] แต่งเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๓๕๐ เมื่อครั้งสุนทรภู่เป็นมหาดเล็กในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ โอรสกรมพระราชวังหลัง
[๒] บางฉบับว่า “โอ้อาลัยใจหายเป็นห่วงหวง”
[๓] หญิงชื่อจันทร์ เป็นนางข้าหลวงในพระราชวังหลัง และเป็นภรรยาของท่านสุนทรภู่ แต่ระหว่างนี้คงจะมีเรื่องหึงหวงโกรธเคืองกัน และแยกกันอยู่มาประมาณ ๑ เดือนแล้ว
[๔] เดือน ๓ ปีเถาะ นพศฏ พ.ศ. ๒๓๕๐
[๕] พระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง ทรงผนวชอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม
[๖] ฉบับเขียนสมุดไทย บางฉบับเป็น “ตามเสด็จโดยแดนแสนกันดาร”
[๗] ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๕๐
[๘] มีผู้รู้บางท่านว่าน่าจะเป็น “ถึงสามเสนแจ้งนามตามสำเหนียก”
[๙] มีผู้รู้บางท่านว่าน่าจะเป็น “จึงแจ้งนามสามเสนเป็นชื่อคุ้ง” หรือ “จึงขนานนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง” (ดูภาคผนวก)
[๑๐] มีผู้รู้บางท่านว่าน่าจะเป็น “ขอใจนุชที่พี่สุจริตรัก”
[๑๑] มีผู้รู้บางท่านว่าน่าจะเป็น “จงหน่วงหนักเหมือนพุทธรูปเลขาขำ”
[๑๒] ฉบับเขียนสมุดไทยบางฉบับเป็น “ถึงแสนคนจะมาวอนฉะอ้อนคำ”
[๑๓] เห็นต้นจันทน์ชื่อเหมือนภรรยา ดูต่อไปข้างหน้า
[๑๔] ฉบับเขียนสมุดไทยเป็น “แมลงภู่”
[๑๕] ฉบับเขียนสมุดไทยเป็น “พี่คิดพรั่นใจฉงนอยู่คนเดียว”
[๑๖] ฉบับเขียน (ทั้ง ๓ ฉบับ) เป็น “เห็นกิ่งกีดมีดพร้าเขาราราน”
[๑๗] ฉบับเขียนเป็น “ถึงวัดตำหนักพักเพลพอเสวย” และอีกฉบับหนึ่งเป็น “ถึงวัดตำหนักพักพลพอเสวย”
[๑๘] ฉบับเขียนสมุดฝรั่งเป็น “สักครู่หนึ่งก็มาถึงบางอออิน” (ดูภาคผนวก)
[๑๙] ฉบับเขียนสมุดฝรั่งเป็น “พี่แลแลเห็นแต่ตลิ่งชัน”
[๒๐] ฉบับเขียน ๔ ฉบับเป็น “เสโทซับซาบโทรมทั้งนาสา”
[๒๑] ฉบับเขียนเป็น “แสงเดือนแอร่มแจ่มอัมพร” และบางฉบับเป็น “แสงทองส่องแอร่มแจ่มอัมพร”
[๒๒] ตำบลบางโขมด อยู่ในท้องที่อำเภอบ้านหมอ เป็นทางผ่านคลองเริงราง มีสะพานเรียกว่าสะพานช้าง แต่ก่อนทำด้วยท่องซุง ต่อมาชำรุดจึงรื้อออก เดี๋ยวนี้สร้างเป็นสะพานไม้ธรรมดา อยู่ข้างวัดสุนทรเทพมุนี (วัดสะพานช้าง)
[๒๓] ฉบับเขียนเลขที่ ๑๕๒ ข. เป็น “ที่นกผู้ดูนกเหมือนอกพี่” แต่อีก ๒ ฉบับเป็น “ถ้านกผู้ดูนกเหมือนอกพี่”
[๒๔] ลำดับทางจากท่าเรือมาพระพุทธบาทตามเส้นทางเสด็จประพาส แต่ก่อนจะผ่านระยะดังนี้ ๑. บ่อโศก ๒. ศาลาเจ้าสามเณร ๓. หนอนคนที ๔. ศาลเจ้าพ่อเขาตก ๕. พระตำหนักและสระยอ
แต่ในกลอนนิราศนี้ ท่านสุนทรภู่พรรณนาถึง ๑. บ่อโศก ๒. หนองคนที ๓. ศาลาเจ้าสามเณร ๔. เขาตก และ ๕. สระยอ
[๒๕] วันเพ็ญ กลางเดือน ๓
[๒๖] รูปยักษ์ปั้น ๒ คน ยืนถือกระบองสองข้างประตูกำแพงด้านเหนือเข้าลานพระพุทธบาท เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ แต่เป็นของซ่อมปั้นใหม่
[๒๗] นาคราวบันได ทางบันไดด้านเหนือตรงประตูยักษ์ เป็นนาค ๗ เศียรหล่อโลหะ เป็นของมีมาแต่เดิม เข้าใจว่าหล่อขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ครั้งกรุงศรีอยุธยา ส่วนทางบันไดด้านตะวันตก มี ๓ ช่องทางบันได เป็นนาค ๕ เศียรหล่อโลหะ หล่อขึ้นในรัชกาลที่ ๑ และในรัชกาลที่ ๕
[๒๘] รูปพระสัจพันธดาบส อยู่ในช่องกุฎิด้านเหนือ เดี๋ยวนี้ปิดทองทั้งตัว ฟันก็เป็นทองไม่ขาว
[๒๙] สิงโตหิน ๒ ตัว เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่
[๓๐] ฐานบัทม์พระมณฑป ปัจจุบันเป็นของสร้างขึ้นใหม่ ไม่มีครุฑจับนาค
[๓๑] ฉบับเขียนเลขที่ ๑๕๒ เป็น “ใบโพธิ์ร้อยดังระเหน่งอยู่เหง่งหงั่ง”
[๓๒] พรรณนาถึงลายมุกที่บานประตูพระมณฑป โปรดเทียบกับบุณโณวาทคำฉันท์
[๓๓] ฉบับเขียน ๓ ฉบับเป็น “ผนังในดูดีทั้งสี่ด้าน โอฬาฬารทองทาฝาผนัง”
[๓๔] แผ่นเงินที่ปูอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นของทำเมื่อ พ.ศ. ๒๕๙๔ มีจารึกบอกไว้ที่ผนังว่า “พื้นเสื่อเงินทำเสร็จวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๔ ค่าใช้จ่าย ๑๓๗,๑๓๕.๗๑ บาท น้ำหนัก ๔๒๑.๖๕๒ ก.ก.”
[๓๕] คำอธิษฐานข้อนี้ บางทีจะเนื่องมาจากนางจันทร์ ภรรยาของท่านเป็นคนขี้หึง จนเกิดเรื่องโกรธเคืองกันก่อนเดินทางตามเสด็จมาพระพุทธบาทคราวนี้ เช่นกล่าวมาข้างต้นในนิราศนี้
[๓๖] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เจ้าสามเณรน้อยองค์นี้ คงจะเป็นสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ขณะนั้นทรงผนวชสามเณร และคงจะเสด็จมานมัสการพระพุทธบาทในเทศกาลนี้ด้วย
[๓๗] ฉบับเขียนเป็น “พี่ดูดูเขาขาดแล้วหวาดจิต”
[๓๘] บางฉบับว่า “ประกอบด้วยกรวดแก้วปัทมราช สุกสะอาดสีเขียวก็เขียวขัน”
[๓๙] ฉบับเขียนบางฉบับว่า “สุกสะอาดขาวแดงดั่งแกล้งสรรค์”
[๔๐] พระยาพระคลัง (กุน) ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ที่สมุหนายก ท่านหาละครของครูบุญยัง นางโรงละครนอกมีชื่อเสียง ไปเล่นละครฉลองศาลาที่ท่านสร้างไว้ในลานพระพุทธบาท เรื่องละครที่กำลังเล่นและท่านสุนทรภู่กล่าวถึงนี้เป็นละครนอก เรื่องสุวรรณหงส์
[๔๑] แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๕๐
[๔๒] ปีเถาะ นพศก พ.ศ. ๒๓๕๐