- คำนำ
- คำอธิบาย โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- คำอธิบาย บุณโณวาทคำฉันท์
- บุณโณวาทคำฉันท์
- บันทึกสอบเทียบ บุณโณวาทคำฉันท์ฉบับพิเศษ กับ ฉบับสมุดไทย ๑๐ ฉบับและฉบับพิเศษ
- คำอธิบาย โคลงนิราศพระพุทธบาท
- โคลงนิราศพระพุทธบาท
- คำอธิบาย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- คำอธิบายกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- คำอธิบาย นิราศพระบาทของสุนทรภู่
- นิราศพระบาท
- คำอธิบาย โคลงนิราศวัดรวก
- โคลงนิราศวัดรวก
- คำอธิบาย นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- คำอธิบาย โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- บรรณานุกรม
คำอธิบาย นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
นิราศพระบาท สำนวนนายจัด ถ่ายถอดจากหนังสือสมุดไทยดำ ตัวอักษรเส้นดินสอ อักษรไทย ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียน และจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ บัญชีสมุดไทยเขียนไว้ว่า หมวดวรรณคดี หมู่กลอนนิราศ เลขที่ ๗ มัดที่ ๔ ชั้น ๕/๑ ตู้ ๑๑๕ น. ประวัติหอพระสมุดซื้อไว้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๐ (จ.ศ.๑๒๖)
รูปแบบคำประพันธ์นิราศเรื่องนี้เป็นกลอนนิราศ ตอนต้น สมุดไทยเขียนไว้ว่า
หน้า นี้ แล หน้า หน้า ต้น | บอก ไว้ ให้ รู้ ทุก ผู้คน |
อ่าน จบ เจน จน จง จำ | เรียม แรม เรศ ร้าง ร่าย รัก |
อก โอ้ อ่อน อ่วน เอะ อะฯ | คิด ข้า คำ เขียน เคอะ คะ |
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้นฉบับสมุดไทยนิราศสำนวนนี้มีเหลืออยู่เพียงฉบับเดียว จึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบคำหรือข้อความที่ไม่ชัดเจนจากเอกสารต้นฉบับอื่นได้ การถ่ายถอดต้องทำตามอักขรวิธีที่ปรากฏในสมุดไทย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญด้านการตีความและการกำหนดอายุสมัยที่ชัดเจนของนิราศเรื่องนี้
นิราศพระบาทสำนวนนี้ เนื้อหาพรรณนาถึงการเดินทางตามเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เริ่มต้นจากลงเรือจากพระนคร ผ่านโรงสุรา บ้านปูน บางจาก บางพลู บางพลัด สามเสน บางซื่อ บางซ่อน วัดเขียน ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ บ้านบางธรณี ปากเกร็ด บางพูด ปทุมธานี บ้านงิ้ว บ้านกระบือ ราชคราม บางไทร เกาะเกิด บ้านแป้ง เกาะพระ ตลาดเกรียบ สำเภาล่ม วัดโปรดสัตว์ เศียรรอหรือหัวรอในปัจจุบัน เดินทางต่อไปจนขึ้นฝั่งที่บ้านขวาง จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นขี่ช้างและเดินทางต่อ กวีเดินทางผ่านบางโขมด ตะพานช้าง บ่อโศก ศาลาเจ้าเณร หนองคนที เขาตก สระยอ ตำหนักท้ายพิกุล มาตั้งพลับพลาที่เกาะสามเส้น และถึงพระพุทธบาทเมื่อตอนเที่ยงคืน
เมื่อกวีเดินทางถึงพระพุทธบาทแล้ว ยังพรรณนารมณียสถาน โดยรอบบริเวณพระพุทธบาท เช่น เขาโพธิ์ลังกา เขาขาด ถ้ำกินนร ถ้ำจักรี ท่าเกษม ท่าขมิ้น และบรรยายถึงเขาตก โคกมะนาว ขณะเดินทางกลับ ในตอนท้ายกลอน มีระบุชื่อผู้แต่งว่าชื่อ “จัด” เพิ่งหัดเขียนโคลงกลอน ดังนี้
ผู้แต่งนี้ชื่อจัดพึ่งหัดคิด | ผู้อ่านไม่ชอบจิตอย่ายิ้มหัว |
ทั้งถ้อยคำข้องขัดไม่ชัดตัว | ถึงดีชั่วก็อย่าชมอย่าติเอย ฯ |
นิราศพระบาท สำนวนนายจัด เป็นวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นภายหลังจากนิราศพระบาท ของสุนทรภู่ เนื่องจากขณะที่สุนทรภู่เดินทางไปพระพุทธบาทเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๐ ไม่ได้กล่าวถึงโรงสุราขณะที่เดินทางผ่านบ้านบางยี่ขัน ซึ่งโรงสุรานี้สร้างขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ ดังนั้น นิราศพระบาท สำนวนนายจัด จึงน่าจะแต่งขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา
อนึ่ง เท่าที่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดาร พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินนมัสการรอยพระพุทธบาท พระองค์แรกคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาท ทรงประกอบพระราชพิธียกยอดพระมณฑปและบรรจุพระบรมธาตุที่มกุฎพันธนเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๓ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินนมัสการรอยพระพุทธบาทตามเส้นทางเดิมก่อนการสร้างทางรถไฟสายพระพุทธบาท-ท่าเรือ ๒ ครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ และ พ.ศ. ๒๔๒๕ หลังจากนั้น เมื่อมีทางรถไฟสายพระพุทธบาทเกิดขึ้นแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟ