- คำนำ
- คำอธิบาย โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- โคลงนิราศเจ้าฟ้าอภัย
- คำอธิบาย บุณโณวาทคำฉันท์
- บุณโณวาทคำฉันท์
- บันทึกสอบเทียบ บุณโณวาทคำฉันท์ฉบับพิเศษ กับ ฉบับสมุดไทย ๑๐ ฉบับและฉบับพิเศษ
- คำอธิบาย โคลงนิราศพระพุทธบาท
- โคลงนิราศพระพุทธบาท
- คำอธิบาย กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
- คำอธิบายกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
- คำอธิบาย นิราศพระบาทของสุนทรภู่
- นิราศพระบาท
- คำอธิบาย โคลงนิราศวัดรวก
- โคลงนิราศวัดรวก
- คำอธิบาย นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- นิราศพระบาท สำนวนนายจัด
- คำอธิบาย โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาท
- บรรณานุกรม
คำอธิบายกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง หรือ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง งานพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นคราวตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี คราวเดียวกับที่ทรงพระนิพนธ์กาพย์เห่เรือและกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๖ แจกในการกฐินพระราชทานจางวางโท พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงศึกษาธิการ ณ วัดกาญจนสิงหาศน์
เมื่อกรมศิลปากรตรวจสอบชำระและพิมพ์เผยแพร่ในพ.ศ. ๒๕๐๕ ธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวถึงต้นฉบับเอกสารสมุดไทยเรื่องนี้ว่า
“...เสียดายที่กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดงค้นพบฉบับที่เหลือมาได้ไม่ครบถ้วน ปีบอกไว้ชัดเจนในต้นฉบับ สมุดไทยหมายเลข ๕๕ ว่า มีพระกาพย์ ๒๐๕ บท มีพระโคลงประจำกาพย์ ๒๐๕ บท กับพระโคลง (นำเรื่องและท้ายเรื่อง) ๗ บท แต่เท่าที่พบฉบับในบัดนี้ คงมีกาพย์เพียง ๑๐๘ บท และโคลงประจำกาพย์ ๑๐๔ บท กับโคลงท้ายเรื่องอีก ๕ บท ยังคงค้นไม่พบอีกราวครึ่งเรื่อง เข้าใจว่าตอนต้นเรื่องคงหายไปราวหนึ่งเล่มสมุดไทย...”
ต่อมา ล้อม เพ็งแก้ว ได้พบตัวอย่างกาพย์ห่อโคลง ๘ บท ซึ่งแทรกอยู่ในต้นฉบับเอกสารสมุดไทย แบบเรียนโบราณเรื่อง มณีจินดา และได้เสนอความเห็นว่า กาพย์ห่อโคลงทั้ง ๘ บทนี้น่าจะเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ และน่าจะรวมอยู่ในเรื่องกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เพราะสำนวนนั้นคล้ายคลึงกัน ซึ่งในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้นำมาพิมพ์รวมไว้ในตอนท้ายเรื่องแล้ว
กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงประกอบด้วยคำประพันธ์กาพย์ห่อโคลง ๑๐๘ บท และโคลงสี่สุภาพลงท้ายจำนวน ๕ บท ส่วนที่เป็นกาพย์ห่อโคลงแต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ สลับกับโคลงสี่สุภาพบทต่อบท เนื้อความที่ปรากฏในกาพย์และโคลงจะคล้ายคลึงกัน
ด้านเนื้อหา กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงกล่าวถึงขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ตั้งแต่ขึ้นจากท่าเจ้าสนุก เดินทางรอนแรมไปในป่า จนถึงธารทองแดง และตำหนักธารเกษม ซึ่งเป็นตำหนักที่ประทับที่บูรณะในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ระหว่างการเดินทางกวีพรรณนาถึงสัตว์ป่าขนิดต่าง ๆ เช่น ช้าง กระบือ กวาง กระทิง หมี เสือโคร่ง เสือเหลือง เสือดาว ระมาด โคแดง โคเพลาะ ละมั่ง เลียงผา งูเหลือม ฯลฯ พรรณนาพืชพรรณธรรมชาติ เช่น พุทธชาด เพกา สาเก มะยม ไม้ดอก ไม้ผล และไม้ยืนด้น ฯลฯ ในตอนท้ายเรื่อง กล่าวถึงรายละเอียดผู้แต่ง วัตถุประสงค์การแต่ง และแสดงคุณค่าด้านความไพเราะงดงามของวรรณคดีเรื่องนี้