พระราชปุจฉาที่ ๑๕

ว่าด้วยผู้สมาทานศีล ๕ แล้วไปประมาทขาดศีล กับผู้ที่ไม่ได้สมาทานแลไปกระทำปาณาติบาตอทินนาทานเปนต้น ใครจะมีโทษมากกว่ากัน แลผู้ที่ประมาทขาดศีล ฤๅลาศีล ฤๅมีศีลด่างพร้อยเหล่านี้จะมีโทษประการใด

----------------------------

ศุภมัศดุจุลศักราช ๑๑๔๖ นาคสังวัจฉรนักษัตรฉศกสาวนมาศกาลปักษ์จาตุทสีดฤถีอาทิตยวารปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จบรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จณะที่นั่งแพ ทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้าฯ ประภาษพระราชปุจฉา ให้หลวงศรีวรโวหารราชบัณฑิตยาจารย์ ไปเผดียงถามสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงว่า บุคคลผู้หนึ่งสมาทานศีล ๕ แลไปประมาทขาดศีล บุทคลผู้หนึ่งมิได้รับรักษาศีล ๕ กระทำปาณาติบาต, อทินนาทาน, กาเมสุมิจฉา, มุสา, สุรา. อันว่าบุทคลทั้งสองนี้ คือผู้ใดจะได้บาปโทษมากกว่ากัน

ประการหนึ่งผู้สมาทานศีล ๘ แล้ว ผู้นั้นประมาทขาดศีลอพรหมจริยา, นัจจคีตะ, อุจจาสยนะ. จะมีโทษประการใด

อนึ่งรับศีล ๘ แล้ว ๆ ผู้นั้นรักษาไปไม่ได้ว่าลาศีล แล้วกินเข้าค่ำ นอนกับภรรยา ดูฟ้อนรำ ทาของหอม นอนเหนือที่นอนอันตกแต่งมีโทษฤๅหามิได้

ประการหนึ่ง คิด เจรจา กระทำอย่างไร ศีลไม่ขาด แต่ให้ด่างพร้อยร่อยหรอแห่งศีล ๕ ศีล ๘ นั้น ถ้ารักษาไม่บริสุทธิ์แลทำให้ศีลเปนมลทินด่างพร้อยดังนี้ จะมีโทษประการใด

อนึ่งถ้ามีโทษแล้ว จะนิ่งอยู่ไม่รักษาจะมิดีกว่ารับศีล แลรักษาไม่บริสุทธิ์ด่างพร้อยนั้นอิกฤๅประการใด ให้สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงวิสัชนามาจงแจ้ง ๚

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๕

อาตมาภาพ สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง ขอถวายพระพรวิสัชนาว่า มีพระบาฬีในคัมภีร์ต่างๆ แปลได้เนื้อความว่า ผู้ใดรับศีล ๕ ก็ดี มิได้รับศีล ๕ ก็ดี ถ้ากระทำปาณาติบาต อทินนาทาน, กาเมสุมิจฉาจาร, มุสา, สุรา. พร้อมด้วยองค์แล้ว ก็ขาดศีลเหมือนกัน แต่ว่าผู้ได้รักษาศีลนั้น เป็นผู้มีปัญญารู้ โทษน้อย เหตุว่ามีจิตรอันเปนบาปนั้นหย่อนลง ด้วยมีเมตตาสังเวชแลหิริโอตตัปปะกลัวบาปอายบาปอยู่บ้าง โทษจึงน้อย ผู้มิได้รักษาศีลนั้นโทษมาก เหตุว่ามีจิตรอันเปนบาปนั้นกล้าหาเมตตาสังเวชหิริโอตตัปปะมิได้ ไม่รู้จักโทษหนักเบา โทษจึงมาก

ข้อซึ่งว่า ผู้ใดรักษาศีล ๘ แล้วประมาทขาด อพรหมจริยา, วิกาลโภชนา, นัจจคีตะ, อุจจาสยนะนั้น มีพระบาฬีว่า “อกุสลกมฺมปเถ” ผู้ล่วงอพรหมจริยานั้น จะให้เปนโทษเดือดร้อนกินแหนงเศร้าหมองจิตรเปนคลองอกุศลกรรมบถ จะให้ไปสู่อบายภูมิ เหมือนดังบุรุษกระทำกาเมสุมิจฉาจารในภรรยาของตนด้วยเหตุ ๔ ประการนั้น พระบาฬีว่า “อกาโล, อโนกาโส อนงฺคโณ อคมโม” “อกาโล” นั้น คือบุรุษกระทำเมถุนธรรมในภรรยาอันป่วยไข้ทุพลภาพ “อโนกาโส” กระทำในที่ใกล้พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ พระอุโบสถ ใกล้บิดามารดา ใกล้ผู้เฒ่าผู้แก่ และพระมหาโพธิ “อนงฺคโณ” นั้น กระทำอัชฌาจารเว้นจากปัสาวมรรค ทำโดยมรรคอันอื่น “อคมโม” มิควรไปสู่หญิง ๒๐ จำพวก มีหญิงบิดามารดารักษาเปนต้นนั้น อันศีลวิกาลโภชนา, นัจจคีตะ, อุจจาสยนะ, นั้น ไม่เปนคลองแห่งอกุศลกรรมบถ เปนโทษแต่ในบัญญัติในอบายภูมิ เหตุว่าเปนโทษน้อย แต่จะให้เศร้าหมองแห่งศีลทั้งปวง

ข้อซึ่งว่า ได้รับศีล ๘ ในวันอุโบสถแล้ว รักษาไปไม่ได้ ออกวาจาว่า ข้าลาศีลแล้วก็ล่วง อพรหมจริยา, วิกาลโภชนา, นัจจคีตะ, อุจจาสยนะ นั้น ก็เปนโทษตามตำแหน่งแห่งศีล, อพรหมจริยา, วิกาลโภชนา, นัจจคีตะ, อุจจาสยนะ, อยู่ แต่ทว่าเบาลงกว่าที่ว่ามาแต่ก่อนนั้น เหตุว่ามีสติได้อำลา

ข้อซึ่งพระราชปุจฉาว่า คิด, เจรจา, ทำ. อย่างไร เปนเหตุที่จะให้ศีลเศร้าหมองนั้น วิสัชนาตามพระบาฬีว่า

“โส ขนฺธาทิภาโว ลาภยสาทิเหตุเกน เภเทน จ สตฺตวิธเมถุนสํโยเคน จ สงฺคหิโต” แปลเนื้อความว่า ศีลจะเศร้าหมองด่างพร้อยนั้น เปนเหตุโลภปราถนาลาภแลยศเปนอาทิ แลเมถุนสังโยค ๗ ประการ คือยินดีที่จะให้มาตุคามปรนนิบัติมีนวดฟั้นเปนต้น ๑ คือยินดีที่จะยิ้มแย้มสัพยอกกับมาตุคาม ๑ คือยินดีที่จะฟังเสียงมาตุคาม ๑ คือยินดีที่จะรฦกคิดถึงการยิ้มแย้มสัพยอกมาตุคาม ๑ คือยินดีที่จะแลดูคหบดีบุตร อันพร้อมเพรียงด้วยเบญจกามคุณ ๑ คือประพฤติพรหมจรรย์แล้วปราถนาเปนเทวบุตรแลเทวธิดา ๑ แลศีลจะด่างพร้อยเศร้าหมองด้วยโลภปราถนาลาภแลเมถุนสังโยค ๗ ประการดังกล่าวมานี้ ถ้าแลรักษาศีลด้วยจิตมิได้ปราถนาลาภแลยศเมถุนสังวาศ ศีลบุทคลผู้นั้นก็บริสุทธิ์

อนึ่งศีลจะเศร้าหมองแลด่างพร้อยนั้น ด้วยบาปธรรมทั้งหลายคือโทสะ แลพยาบาท ลบหลู่คุณท่าน อิจฉา ม๊จฉริยะ มายา มานะ มทะ เปนอาทิ เปนเหตุจะให้ศีลเศร้าหมอง

อนึ่ง ในปานาติบาตนั้น มีองค์ ๕ ประการ ถ้าไม่พร้อมในองค์ ๕ ประการ มีแต่เจตนาฆ่า ๑ มีความเพียรจะฆ่า ๑ แลยังมิได้ฆ่าสัตวให้ตาย ศีลปาณาติบาตนั้นไม่ขาด แต่เศร้าหมอง

ในอทินนาทานนั้น ถ้าแลมิได้คิด ความเพียรจะลัก ยังมิลักทรัพย์ของท่านไปก่อน ศีลอทินนาทานเศร้าหมอง

ในอพรหมจริยานั้น ถ้าแลยินดีในเมถุนสังโยค ๗ ประการ ดังกล่าวแล้วนั้น ศีลเศร้าหมอง ถ้าแลพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ คือ อัชฌาจารวัตถุนั้นคือมุขมรรค ปัสสาวมรรค เวจมรรค ๑ คือจิตรยินดีที่จะส้องเสพ ๑ คือมรรคต่อมรรคถึงกัน ๑ เปน ๔ ประการดังนี้ ศีลอพรหมจริยาจึงขาด

ในมุสาวาทนั้น คือวัตถุมิได้แท้ ๑ เจตนาจะกล่าวมุสา ๑ ความเพียรจะกล่าวมุสา ๑ ให้ผู้อื่นรู้ซึ่งคำมุสา ๑ ถ้าพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการดังกล่าวแล้วนั้น ศีลมุสาวาทก็ขาด ถ้าแลมิได้พร้อม ศีลนั้นก็เปนแต่เศร้าหมอง

ในสิกขาบทสุรานั้น มีองค์ ๔ ประการ คือน้ำเมา ๑ ปราถนาจะดื่มซึ่งน้ำเมา ๑ มีความเพียรจะดื่มกิน ๑ ดื่มกินเข้าไปแล้ว ๑ ต่อพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการดังนี้ จึงขาดในศีลสุรา ถ้าไม่พร้อมเปนแต่ด่างพร้อย

ในสิกขาบทอันเศษ มีวิกาลโภชนาเปนต้น มีอุจจาสยนะเปนที่สุด ถ้าบุทคลผู้ใดล่วงแล้วก็เปนโทษในบัญญัติ ยังมิได้ถึงคลองอกุศลกรรมบถ พอจะเยียวยาได้ สมาทานเอาใหม่เปนอันบริสุทธิ์

อนึ่งในวิกาลโภชนะ นัจจคีตะ อุจจาสยนะนั้น มีเจตนาจะใคร่บริโภคอาหาร แต่ยังมิได้บริโภค จะใคร่ดูฟ้อนรำขับขานดีดสีตีเป่าทัดทรงดอกไม้ลูบไล้ละลายทาของหอม ยังมิได้กระทำ อนึ่งจะใคร่นอนเหนืออาศนะอันวิจิตรอันงามล่วงประมาณทั้งนี้ ก็เปนเหตุจะให้ศีลเศร้าหมอง

อนึ่งฟ้อนรำมาสู่ที่นั่งที่อยู่แห่งตนๆ ยินดีจะเล็งแลดู ศีลนัจจคีตะนั้นก็เศร้าหมองไม่เปนโทษ แต่ว่าอานิสงส์น้อยลง

อนึ่งในอพรหมจริยานั้น ถ้าผู้รักษาแต่ศีล ๕ ประการเปนนิจมิได้สมาทานอุโบสถศีล เมื่อถึงวันอุโบสถ เสพเมถุนธรรมในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ไม่เปนอันล่วงอพรหมจริยา แต่ทว่าเปนโทษ เหตุว่าอุบาสกภูมินั้นมิได้บริบูรณ์ นักปราชญ์พึงติเตียนเหตุว่ามิได้ปรนนิบัติตามพุทโธวาท เปนลัทธิแห่งคนพาลนักปราชญ์พึงเว้นอย่าทำเมถุนธรรมในกัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำไม่ควร ขอถวายพระพร ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ