พระราชปุจฉาที่ ๑๑

ว่าของสงฆ์ซึ่งโจรลักฤๅมีผู้ขุดร่อนได้ ผู้ได้ของนั้นมาไม่รังเกียจสงไสยนำมาใช้สรอยเอง ฤๅให้ปันผู้อื่นจะมีโทษฤๅไม่

----------------------------

ศุภมัศดุจุลศักราช ๑๑๔๖ นาคสังวัจฉรนักษัตรฉศก อาสาฬหมาศสุกปักษ์อัฏฐมีดฤถีศุกรวารปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จออกณะพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระราชศรัทธาอุปสมบทนาคหลวง ทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้า ฯ ด้วยพระราชปุจฉา ให้หลวงศรีวรโวหารราชบัณฑิตยาจารย์ ไปผเดียงถามสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงว่า แก้วแหวนเงินทองท่านผู้มีศรัทธาสร้างไว้เปนองค์พระพุทธรูปพระสถูปเจดีย์ก็ดี ท่านบูชาไว้เปนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ดี ของทั้งนี้โจรเอายุบยับให้เสียเพศทำเปนรูปพรรณซื้อขาย ผู้ไม่รู้ซื้อไว้ใช้สอยสืบไป จะมีโทษฤๅหามิได้

อนึ่งบ้านร้างเมืองร้างช้านานแล้ว แก้วแหวนเงินทองของพระศรีรัตนไตรยตกอยู่ในแผ่นดิน ผู้ขุดร่อนได้มาหารังเกียจสงไสยว่าเปนของพระศรีรัตนไตรยมิได้ เอามาใช้สรอยเองก็ดี จะมีโทษฤๅหาโทษมิได้ อนึ่งผู้นั้นให้ปันเพื่อนฝูงแลขายต่อไปก็ดี ผู้ไม่รู้รับเอาของนั้นไว้ใช้สรอยสืบไปเล่า จะมีโทษฤๅหาโทษมิได้ ให้สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง วิสัชนามาให้แจ้ง

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๑

อาตมาภาพ สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวง ถวายพระพรวิสัชนาโดยพระบาฬีว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” เนื้อความว่า “ภิกฺขเว” ดูกรภิกษุทั้งปวง พระตถาคตตรัสพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า ซึ่งจะเปนบุญเปนบาปนั้น อาไศรยแก่เจตนาอันเปนกุศลแลอกุศล ถ้าหาเจตนามิได้แล้ว กรรมนั้นจะให้ผลหามิได้

อนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอนุญาตให้สงฆ์ทั้งปวงบริโภคซึ่งมัชฉมังษะขันบริสุทธิ์สามประการโดยพระบาฬีว่า “ติโกฏิปริสุทฺธํ” เนื้อความว่า ภิกษุรูปใดมิได้เห็นมิได้ฟัง มิได้รังเกียจว่า บุคคลไปฆ่าเนื้อ, ฆ่าปลา, เฉพาะจะให้แก่ตนบริโภคซึ่ง เนื้อ, ปลา, นั้น จะบริโภคก็หาโทษมิได้ ถ้าแลได้เห็นได้ฟัง รังเกียจสงไสยว่า เขาไปฆ่าเนื้อ, ฆ่าปลา, มาเพื่อประโยชน์จะให้แก่อาตมาภาพบริโภค แลภิกษุนั้นบริโภคซึ่ง เนื้อ, ปลา, นั้น ก็เปนโทษ มีอุปมาฉันใด อันว่าแก้วแหวนเงินทองของในองค์พระพุทธรูปพระสถูปพระเจดีย์ก็ดี ของบูชาพระรัตนไตรยก็ดี ตกเปนของบุคคลแล้ว มีผู้ซื้อหาแลกเปลี่ยนได้บริโภคใช้สรอย ตัวมิได้เห็น มิได้ฟัง มิได้รังเกียจสงไสย ว่าเปนของในองค์พระเจ้า แลของเขาบูชาพระรัตนไตรย เข้าใจว่าเปนของบริสุทธิ์อยู่แล้ว ก็หาโทษมิได้ ถ้าไม่บริสุทธิ์ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือได้เห็น ได้ฟัง ได้รังเกียจสงไสยว่า เปนของพระรัตนไตรยแล้วบริโภคใช้สรอย ก็เปนโทษแก่ผู้บริโภคใช้สรอยนั้น ก็มีอุปไมยเหมือนด้วยภิกษุฉันเนื้อ, ฉันปลา, อันบริสุทธิ์แลมิได้บริสุทธิ์อันนั้น อาตมาภาพ พบพระบาฬีได้เนื้อความแต่เท่านี้ ขอถกจายพระพร ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ