ตำนานละครครั้งรัชกาลที่ ๔

ถึงรัชกาลที่ ๔ แต่แรกยังไม่มีละครหลวง เพราะละครหลวงเลิกเสียเมื่อรัชกาลที่ ๓ แต่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงรังเกียจการเล่นละครเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางโสมนัสจึงทรงหัดละครเด็กผู้หญิง ในพระบรมมหาราชวังขึ้นชุด ๑ แต่ยังไม่ทันจะได้ออกโรง สมเด็จพระนางโสมนัสสิ้นพระชนม์เสีย เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ครั้นถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๔ มีช้างเผือกแรกมาสู่พระบารมี (คือพระวิมลรัตนกิริณี)[๑] ทำนองพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงปรารภถึงการที่เคยมีละครหลวงสมโภชช้างเผือก เมื่อในรัชกาลที่ ๒ จึงโปรดให้รวมละครของสมเด็จพระนางโสมนัส ฝึกหัดเป็นละครหลวง ทันออกโรงเล่นสมโภชช้างเผือกตัวที่ ๒ (คือพระวิสุทธรัตนกิริณี) เมื่อปีขาล[๒] พ.ศ. ๒๓๙๗ จึงได้มีละครหลวงขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แต่นั้นมา

เมื่อละครหลวงกลับมีขึ้นครั้งนั้น เจ้านายและขุนนางที่ได้ฝึกหัดละครตามแบบหลง เล่นมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ต่างเกรงว่าจะเป็นการเล่นแข่งของหลวง ถึงพากันหยุดเล่นละคร ความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ประกาศเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ ดังนี้ :-

ประกาศว่าด้วยละครผู้หญิง

ด้วยพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้ประกาศแก่พระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือน ในพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังให้รู้จงทั่วกันว่า แต่ก่อนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีละครผู้หญิงแต่ในวังหลวงแห่งเดียว[๓] ด้วยมีพระราชบัญญัติห้ามมิให้พระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝึกหัดละครผู้หญิง เพราะฉะนั้น ข้างนอกจึงไม่มีใครเล่นละครผู้หญิงได้ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดละคร เป็นแต่ว่าทรงแช่งชักติเตียนจะไม่ให้ผู้อื่นเล่น ถึงกระนั้นก็มีผู้ลักเล่นเงียบๆ อยู่ด้วยกันหลายราย มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ พระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยผู้ใดเล่นละครผู้ชายผู้หญิงก็มิได้ทรงรังเกียจ ทรงเห็นว่ามีละครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้น จะได้เป็นเกียรติแผ่นดิน

เดี๋ยวนี้ท่านทั้งปวงเห็นว่าละครในหลวงมีขึ้น ก็หามีใครเล่นละครเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ คอยจะกลัวผิดและชอบอยู่ การอันนี้มิได้ทรงรังเกียจเลย ท่านทั้งปวงเคยเล่นอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็ให้เล่นไปเถิด ในหลวงมีการงานอะไรบ้าง ก็จะได้โปรดให้หาเข้ามาเล่นถวายทอดพระเนตรบ้าง จะได้พระราชทานเงินโรงรางวัลให้บ้าง ผู้ใดจะเล่นก็เล่นเถิด ขอยกแต่รัดเกล้ายอดอย่าง ๑ เครื่องแต่งตัวลงยาอย่าง ๑ พานทองหีบทองเป็นเครื่องยศอย่าง ๑ เมื่อบททำขวัญยกแต่แตรสังข์อย่าง ๑ แล้วอย่าให้ฉุดบุตรชายหญิงที่เขาไม่สมัครเข้ามาเป็นละคร ให้เขาได้ความเดือดร้อนอย่าง ๑ ขอห้ามไว้แต่การเหล่านี้ ให้ท่านทั้งปวงเล่นไปเหมือนอย่างแต่ก่อนเถิด[๔]

ประกาศมา ณ วันอังคาร เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗

นอกจากประกาศฉบับนี้ มีสำเนาหมายรับสั่งปรากฏอีกฉบับ ๑ ว่า เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือนยี่ แรม ๑๐ ค่ำ ปีขาล ฉศก (พ.ศ. ๒๓๙๗) พระยาบำเรอภักดิ์ รับพระราชโองการให้ประกาศห้ามมิให้ทำหัวช้างเล่นโขนเล่นละคร เป็นช้างเผือกหรือช้างสีประหลาด ให้ใช้แต่เป็นหัวช้างดำ เว้นแต่ทำหัวช้างเอราวัณจึงให้ทำเป็นช้างเผือกได้

การที่ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใครๆ มีละครผู้หญิงได้ ไม่ห้ามปรามดังแต่ก่อน ครั้งนั้นมีผลแก่การเล่นละครต่อมาเป็นอันมาก ที่เป็นข้อสำคัญนั้นคือ เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงการเล่นละคร ซึ่งเป็นของผู้ชายเล่นมาแต่ก่อน กลายเป็นผู้หญิงเล่นแทบทั่วทั้งเมืองอย่าง ๑ เป็นเหตุให้ละครเล่นหาผลประโยชน์ได้มาก จนอาจตั้งภาษีละครขึ้นในรัชกาลที่ ๔ นั้นอย่าง ๑ และเป็นเหตุให้เกิดบทละครขึ้นเป็นอันมากแต่สมัยนี้เป็นต้นมาอย่าง ๑

อันเหตุที่ละครผู้ชายเปลี่ยนเป็นละครผู้หญิงไปโดยมากนั้น เพราะเมื่อหัดละครผู้หญิงกันได้โดยเปิดเผย ความปรากฏว่า หาเด็กผู้หญิงเป็นละครได้ง่ายกว่าหาเด็กผู้ชายประการ ๑ หัดละครผู้หญิงค่าใช้จ่ายน้อยกว่าหัดละครผู้ชาย เพราะละครผู้หญิงเย็บปักเครื่องแต่งตัวได้เองเป็นต้นนั้นประการ ๑ และผู้ที่มีงานต่างๆ พอใจหาละครผู้หญิงไปเล่น เพราะประชาชนชอบดูละครผู้หญิงด้วยอีกประการ ๑ ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงมีผู้นิยมหัดละครผู้หญิงมากขึ้นโดยลำดับ ถึงพวกละครผู้ชายที่เล่นมาแต่ก่อน ก็เปลี่ยนไปเล่นประสมโรงกับละครผู้หญิง หันเข้าหาความนิยมของคนทั้งหลาย ทั้งเป็นประโยชน์แก่ตนที่อาจจะฝึกหัดลูกหลานหญิงในครัวเรือนเดียวกันให้เล่นละคร ช่วยกันประกอบการหาเลี้ยงชีพให้สะดวกขึ้นด้วย ตั้งแต่มีละครผู้หญิงขึ้นแพร่หลาย ผู้ชายที่หัดเป็นละครก็น้อยลงทุกที จนละครที่จะเล่นแต่ลำพังผู้ชายทั้งโรงไม่มีดังแต่ก่อน ความที่ว่ามานี้เป็นสามัญทั่วไปในบรรดาละครนอกซึ่งเล่นกันเป็นพื้นเมือง ส่วนละครของผู้มีบรรดาศักดิ์นั้น พอได้พระราชทานอนุญาตก็เปลี่ยนไปหัดเป็นละครผู้หญิง ทั้งที่เล่นละครสำหรับประดับเกียรติยศ หรือที่หัดละครขึ้นสำหรับเล่นหาผลประโยชน์ เพราะในรั้ววังและบ้านช่องที่ใหญ่โต ย่อมมีสตรีบริวารอยู่โดยปกติ อาจจะหาเด็กผู้หญิงหัดเป็นละครได้ง่าย เมื่อหัดขึ้นแล้วเลี้ยงดูก็ง่าย และได้ใช้ชิดผิดกับละครผู้ชาย ก็เป็นธรรมดาที่จะพากันชอบหัดละครผู้หญิงยิ่งกว่าละครผู้ชาย ละครผู้หญิงที่หัดขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ จึงมีมากมายหลายโรง มีทั้งละครของเจ้านายและละครของขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย ตลอดจนละครของคฤหบดี และละครของพวกตัวละครแต่ก่อนคิดหัดลูกหลานเล่นประสมโรง แต่เป็นละครหัดขึ้นเล่นหาผลประโยชน์เป็นพื้น ที่จะหัดขึ้นแต่สำหรับประดับเกียรติยศอย่างแต่ก่อนมีน้อยแห่ง

อันเหตุที่ละครเล่นหาผลประโยชน์ได้ในรัชกาลที่ ๔ มากกว่าแต่ก่อนนั้น ก็เนื่องด้วยพระราชทานอนุญาตให้หัดละครผู้หญิงกันได้ทั่วไป เพราะแต่ก่อนมา ละครผู้หญิงที่เล่นให้ประชาชนดูมีแต่ละครหลวง (หรือละครวังหน้าเมื่อในรัชกาลที่ ๓) นานๆ จะมีครั้งหนึ่ง ถึงมีราษฎรก็ไม่ใคร่จะได้โอกาสดูทั่วถึงกัน ครั้นละครผู้หญิงมีขึ้นแพร่หลาย ราษฎรดูได้ง่ายก็ชอบใจดู เจ้าของงานที่อยากจะให้งานของตนครึกครื้นตลอดจนนายบ่อนเบี้ยที่อยากจะให้ราษฎรไปบ่อนให้มาก ต่างก็หาละครผู้หญิงไปเล่น ละครได้รับงานบ่อยๆ เจ้าของละครก็ได้ผลประโยชน์มากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงโปรดให้ตั้งภาษีละครขึ้นเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๐๒ อ้างเหตุในท้องตราว่า เพราะเห็นเจ้าของละครทั้งปวงได้ผลประโยชน์มาก ควรจะต้องเสียภาษีช่วยราชการแผ่นดินบ้าง เหมือนอย่างที่มีประเพณีในต่างประเทศ จึงโปรดให้ตั้งภาษีขึ้น เรียกกันว่าภาษีโขนละคร จีนนิ่มได้เป็นขุนสัมมัชชาธิกร เจ้าภาษีคนแรก รับผูกภาษีละครในจังหวัดกรุงเทพฯ หัวเมืองอีก ๒๖ หัวเมือง เป็นเงินหลวงปีละ ๔,๔๐๐ บาท พิกัดที่เก็บภาษีละครนั้นเก็บดังนี้คือ :-

ละครโรงใหญ่เล่นเรื่องละครใน

เล่นเรื่องรามเกียรติ์ เล่นวันกับคืน ๑ หรือวัน ๑ ภาษี ๒๐ บาท
เล่นเรื่องอิเหนา เล่นวันกับคืน ๑ หรือวัน ๑ ภาษี ๑๖ บาท
เล่นเรื่องอุณรุท เล่นวันกับคืน ๑ หรือวัน ๑ ภาษี ๑๒ บาท

ละครเล่นเรื่องละครนอก

ละครกุมปนี คือเลือกคัดแต่ตัวดีเล่นประสมโรงกัน (เล่นวัน ๑) ภาษี ๔ บาท
ละครสามัญเล่นงานปลีก เล่นวันกับคืน ๑ ภาษี ๓ บาท
ละครสามัญเล่นงานปลีก เล่นวัน ๑ ภาษี ๒ บาท
ละครสามัญเล่นงานปลีก เล่นคืน ๑ ภาษี ๑ บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นวันกับคืน ๑ ภาษี ๑ บาท ๕๐ สตางค์
ละครเล่นงานเหมา เล่นวัน ๑ ภาษี ๑ บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นคืน ๑ ภาษี ๕๐ สตางค์

ละครหลวงและละครที่เกณฑ์เล่นงานหลวง ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ยังมีการเล่นอย่างอื่นรวมอยู่ในภาษีละครอีกหลายอย่าง จะกล่าวไว้ด้วยพอให้ทราบความตลอดเรื่องคือ :-

โขน เล่นวัน ๑ ภาษี ๔ บาท
ละครหน้าจอหนัง เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครแต่ ๑๐ คนขึ้นไป เล่นคืน ๑ ภาษี ๒๐ บาท
ละครหน้าจอหนัง ตัวละครน้อยกว่า ๑๐ คน ภาษี ๒ บาท ๕๐ สตางค์
ละครชาตรีและละครแขก เล่นวัน ๑ ภาษี ๕๐ สตางค์
เพลง เล่นวัน ๑ ภาษี ๑ บาท
แคน มอญรำ ทวายรำ เล่นวัน ๑ ภาษี ๕๐ สตางค์
กลองยาว เล่นวัน ๑ ภาษี ๑๒ สตางค์ครึ่ง (คือเฟื้อง ๑)
หุ่นไทย เล่นวัน ๑ ภาษี ๑ บาท
หนังไทย เล่นคืน ๑ ภาษี ๕๐ สตางค์
งิ้ว เล่นวัน ๑ ภาษี ๔ บาท
หุ่นจีน เล่นวัน ๑ ภาษี ๑ บาท
หนังจีน เล่นวัน ๑ ภาษี ๕๐ สตางค์

การตั้งภาษีโขนละครขึ้นครั้งนั้น เห็นจะไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนอันใดนัก ด้วยเจ้าของละครและการเล่นทั้งปวงที่ต้องเสียภาษี ต่างขึ้นอัตราเงินโรง ให้แรงขึ้นกว่าแต่ก่อน เป็นต้นว่า ละครที่เล่นงานปลีกเป็นสามัญ แต่ก่อนเคยเรียกเงินโรงแต่วันละ ๑๖ บาท ไปหา ๒๔ บาท ต่างกันตามเรื่องที่คนเล่นมากและน้อย ก็เพิ่มอัตราเงินโรงขึ้นเป็นวันละ ๒๘ บาท รวมทั้งเบี้ยเลี้ยงเป็นวันละเจ็ดตำลึงสิบสลึง เรียกเป็นประเพณีทั่วไป ละครก็ยังหางานเล่นได้ไม่ฝืดเคืองข้อนี้เห็นได้ด้วยเงินหลวงที่ได้จากภาษีโขนละครเพิ่มขึ้นโดยลำดับมา ปีที่ได้มากที่สุดจะเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ทราบแน่ ทราบแต่ว่าเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ ในรัชกาลที่ ๕ จำนวนเงินหลวงที่ได้จากภาษีละครเป็นเงิน ๓๖,๐๐๐ บาท มากกว่าเมื่อแรกตั้งภาษีแทบถึง ๘ เท่า

ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ประกาศแก้ไขภาษีโขนละคร เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม แต่นั้นมาเรียกว่า “อากรมหรสพ” เก็บภาษีการเล่นต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว และซึ่งเกิดเป็นทางได้ผลประโยชน์ขึ้นในชั้นหลังอีกหลายอย่าง คือ:-

ละครชาตรีที่เล่นเทียมละครนอก เก็บภาษีวันละ ๔ บาท
หนังตะลุง เก็บภาษีคืนละ ๕๐ สตางค์
สักวา เก็บภาษีคืนละ ๑ บาท
เสภา เก็บภาษีคืนละ ๕๐ สตางค์
ลิเก เก็บภาษีคืนละ ๒ บาท
ปี่พาทย์ หรือ มโหรี หรือกลองแขกเครื่องใหญ่ เก็บภาษีวันละ ๑ บาท
ปี่พาทย์ หรือ มโหรี หรือกลองแขกเครื่องเล็ก เก็บภาษีวันละ ๕๐ สตางค์
จำอวดสวดศพ เก็บภาษีคืนละ ๘ บาท

จำนวนเงินหลวงที่ได้จากอากรมหรสพเพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นอันมาก ในจำนวน พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นเงินถึง ๑๖๗,๘๒๘ บาท

แต่ต่อมา เมื่อทรงพระราชดำริจะเลิกการเล่นเบี้ยเสียให้หมด โปรดให้ลดจำนวนบ่อนเบี้ยให้น้อยลง การเล่นละครและเครื่องมหรสพต่างๆ หาผลประโยชน์ได้น้อยลง พวกที่เคยเล่นละครก็พากันเลิกเสียโดยมาก เงินอากรมหรสพจำนวน พ.ศ. ๒๔๔๙ ตกลงคงแต่ ๓๑,๐๐๖ บาท ความประจักษ์แก่พระราชหฤทัย จึงโปรดฯ ให้ประกาศเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ว่า การมหรสพต่างๆ นั้น เป็นเครื่องบำรุงความสุขสำราญของราษฎร แต่ก่อนมาพวกเล่นมหรสพหาผลประโยชน์ได้มากเพราะเหตุที่รับงานเหมาเล่นตามบ่อนเบี้ยเป็นพื้น จึงได้เก็บอากรมหรสพ บัดนี้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ตั้งแต่โปรดให้ลดจำนวนบ่อนเบี้ยลง ช่องทางที่พวกเล่นมหรสพจะหาผลประโยชน์ได้น้อยลงไม่เหมือนแต่ก่อน ที่ต้องเสียค่าอากรเป็นการเดือดร้อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงเก็บอากรมหรสพแต่เฉพาะที่รับเล่นงานบ่อนเบี้ย ถ้าเล่นเพื่อการอย่างอื่นจากบ่อนเบี้ยแล้ว อย่าให้เก็บอากรต่อไป การเล่นละครและเครื่องมหรสพทั้งปวงนับว่าเล่นได้เปล่า แต่มีประกาศนี้เป็นต้นมา เพราะเวลาเมื่อประกาศนั้น บ่อนเบี้ยตามหัวเมืองเลิกหมดทุกมณฑลแล้ว ยังมีเหลืออยู่แต่ในกรุงเทพฯ เพียง ๑๓ ตำบล บ่อนเบี้ยมาเลิกหมดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ อากรมหรสพก็เลิกหมดแต่ศกนั้นมา

ข้อที่ว่า พระบรมราชานุญาตในการเล่นละครเมื่อรัชกาลที่ ๔ มีผลตลอดไปถึงละครนั้น จะต้องอธิบายย้อนความขึ้นไปสักหน่อย คือบรรดาบทละครไทยที่แต่งมาแต่โบราณ จะเป็นบทที่เอาเรื่องมาแต่หนังสือชาดก เช่นเรื่องสังข์ทองก็ดี หรือเอาเรื่องมาแต่นิทานในพื้นเมือง เช่นเรื่องไกรทองก็ดี มักแต่งแต่ต้นไปจนจบเรื่องเหมือนอย่างหนังสือกลอนอ่าน ผิดกันแต่แต่งกระบวนกลอนให้เป็นบทละคร เพราะฉะนั้น หนังสือบทละครของโบราณ ละครจึงเล่นได้สะดวกแต่เป็นตอนๆ บางตอนละครเล่นก็ชวนเบื่อไม่น่าดู แม้บทละครอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ก็เป็นเช่นนั้น เพราะทรงแต่งตามแบบโบราณ ต่อเมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระดำริแก้ไขกระบวนบทละคร แต่นั้นมาทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใด ก็ทรงตัดเอาเรื่องแต่เฉพาะตอนที่เล่นละครมาแต่ง ตอนที่จะไม่เล่นละคร ไม่ทรงพระราชนิพนธ์ทีเดียว จึงเกิดแบบบทละครชั้นหลังขึ้นเป็นปฐม มาถึงรัชกาลที่ ๓ มีแต่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพกับกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ที่ทรงแต่งบทละครอย่างใหม่ (เฉพาะตอนที่จะเล่นละคร) ตามแบบพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ แต่ละครโรงอื่นๆ ที่เป็นละครของผู้มีบรรดาศักดิ์ ก็เล่นบทพระราชนิพนธ์ ที่เป็นละครราษฎรไม่กล้าเอาบทพระราชนิพนธ์ไปเล่น ก็เล่นด้วยบทโบราณอยู่อย่างเดิม จนตลอดรัชกาลที่ ๓

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อความปรากฏว่า ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานอนุญาตเล่นละครกันได้ตามใจ พวกละครราษฎรจึงเอาบทพระราชนิพนธ์ละครนอกไปเล่น คนก็ชอบกันแพร่หลาย แต่นั้นใครจะแต่งบทละครขึ้นใหม่ ก็แต่งแต่เฉพาะตอนที่จะให้ละครเล่น ตามแบบบทละครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ทั่วไป และครั้งนั้นประจวบเวลาหัดละครผู้หญิงกันขึ้นมากมายหลายโรงดังกล่าวมาแล้ว เจ้าของละครต่างเสาะแสวงหาเรื่องเล่นละครของตน จะให้แปลกกว่าโรงอื่นออกไปอีก จึงเกิดบทละครขึ้นใหม่เมื่อรัชกาลที่ ๔ มากมายหลายเรื่องด้วยเหตุดังกล่าวมานี้

บทละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตอนพระรามเดินดงขึ้นใหม่ อย่างพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์รัชกาลที่ ๒ ตอน ๑ เป็นหนังสือ ๔ เล่มสมุดไทย ทรงพระราชนิพนธ์แปลงบทเบิกโรง เรื่องพระนารายณ์ปราบนนทุกเรื่อง ๑ เรื่องพระรามเข้าสวนพิราพเรื่อง ๑ เรื่องระบำเรื่อง ๑ ทรงแต่งบทพระฤษี และบทรำต้นไม้ทองเงินเบิกโรงก็อีกหลายบท ในเรื่องอิเหนาได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลงบทตอนอุณากรรณบางแห่ง[๕] แต่พระราชนิพนธ์ที่ทรงแปลงนั้นแยกไว้เป็นแผนกหนึ่ง มิได้รื้อถอนบทเดิม มาในตอนหลัง โปรดให้ละครหลวงซ้อมเรื่องยุขันลิขิตอีกเรื่อง ๑ แต่หาได้เล่นไม่ เรื่องยุขันลิขิตนี้ กล่าวกันว่ามีบทพระราชนิพนธ์ บางคนว่าเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ บางคนว่าพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ แต่ยังหาพบฉบับไม่[๖]

บทละครซึ่งผู้อื่นแต่งขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ มีมากด้วยกัน จะกล่าวถึงแต่เฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญ โดยมีข้อแปลกเฉพาะเรื่อง หรือที่เป็นเรื่องมีคนนิยมกันแพร่หลาย

ในจำพวกบทละครที่เป็นเรื่องแปลกนั้น คือ เรื่องอภัยณุราช สุนทรภู่แต่งถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง ๑ เป็นหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย แปลกที่บทละครของสุนทรภู่มีปรากฏแต่เรื่องอภัยณุราชนี้เรื่องเดียว บทละครแปลกอีกเรื่อง ๑ คือ เรื่องมณีพิไชยตอนต้น รู้ได้ในท้องสำนวนว่ากรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ทรงแต่งในรัชกาลที่ ๔ แต่มิได้ปรากฏว่า ละครโรงใดเล่นเหมือนอย่างเรื่องอื่นๆ ที่กรมหลวงภูวเนตรฯ ทรงพระนิพนธ์ เช่นเรื่องสุวรรณหงส์ เป็นต้น จะเป็นด้วยเหตุใดหาทราบไม่ มีบทละครอีก ๒ เรื่อง กล่าวกันว่าเกิดขึ้นเพราะภาษีละคร ด้วยตามพิกัดภาษีละครใครเล่นละครเรื่องรามเกียรติ์ต้องเสียภาษีถึงวันละ ๒๐ บาท แต่ถ้าเล่นเรื่องละครนอกเสียภาษีเพียงวันละ ๒ บาท จึงมีผู้คิดบทละครเรื่องทิพสังวาลย์เรื่อง ๑ เรื่องคาวีตอนท้าวโสภิณลักนางเทพลีลาเรื่อง ๑ ให้มียักษ์และลิงเล่นคล้ายๆ กับเรื่องรามเกียรติ์ แต่เป็นเรื่องละครนอกสำหรับเล่นเลี่ยงพิกัดภาษี เป็นเรื่องแปลกด้วยเหตุนี้

แต่บทละครนอกที่ชอบเล่นกันโดยมากนั้น มักตัดเอาเรื่องหนังสืออ่านมาแปลเป็นบทละคร คือ เรื่องพระอภัยมณีเรื่องลักษณวงศ์ เรื่องจันทโครบ ของสุนทรภู่ ๓ เรื่องนี้ เป็นต้น กับเรื่องพระสมุทอีกเรื่อง ๑ เหล่านี้เป็นเรื่องสำหรับเล่นละครผู้หญิง ยังมีเรื่องซึ่งคิดขึ้นสำหรับเล่นละครผู้ชายประสมโรงกับผู้หญิงอีกชนิดหนึ่ง เช่นเอาบทเสภามาแปลงเป็นบทเล่นละคร คือ ตอนขุนช้างไปช่วยแต่งงานพระไวย เป็นต้น

ละครที่หัดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ มีชื่อเสียงปรากฏสืบมาหลายโรงคือ:-

๑. ละครกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ โรง ๑ ได้ละครกรมหลวงรักษณเรศร์มาเป็นครูหลายคน แต่เล่ากันว่าท่ารำก้นงอนผิดกับละครโรงอื่น ถึงพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เยาะไว้ในบทรำแม่ศรีเบิกโรงละครหลวงว่า :-

“สองแม่เอย แม่งามหนักหนา
เหมือนหนึ่งเทพธิดา ลงมากรายถวายกร
รำเต้นเล่นดูดี ยิ่งกว่ามีมาแต่ก่อน
เป็นแต่ท้ายไม่งอน เหมือนละครนอกเลย”

๒. ละครของพระองค์เจ้าดวงประภา (พระองค์ตุ้ย) กับพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ (พระองค์ปุก) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหัดขึ้นด้วยกันที่ในพระบวรราชวังโรง ๑ ได้ครูผู้หญิงละครหลวงครั้งรัชกาลที่ ๒ ฝึกหัด เล่นทั้งละครในและละครนอก และเล่นรับงานหาด้วย เล่นมาถึงรัชกาลที่ ๕ ตลอดจนพระชนมายุของพระองค์เจ้าดวงประภา

๓. ละครของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมหัดขึ้นโรง ๑ เล่ากันว่า เดิมท่านได้พระราชทานบ้านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่สะพานหัน มีตัวละครของเจ้าพระยาบดินทรเดชาเหลืออยู่ในบ้านนั้นบ้าง ท่านจึงรวบรวมตั้นต้นหัดละครขึ้น ครั้นต่อมาจึงหาตัวละครขึ้นใหม่อีกชุด ๑ เลือกหาครูล้วนแต่ที่มีชื่อเสียงวิเศษมาฝึกหัดเล่นตามแบบละครหลวงครั้งรัชกาลที่ ๒ แต่ฝึกหัดไว้เฉพาะละครตัวดี ถ้าจะเล่นออกโรงเมื่อใด ท่านขอแรงละครนอกโรงอื่นๆ มาผสมโรง ได้เคยเล่นถวายตัวในรัชกาลที่ ๔

ละครกรมหมื่นมเหศวรฯ กับละครสมเด็จเจ้าพระยาฯ ๒ โรงนี้ ที่นับว่าเป็นละครโรงใหญ่ครั้งรัชกาลที่ ๔ นอกจากนั้น ในจำพวกละครที่หัดดูเล่นเองยังมีอีกพวก ๑ เรียกว่า “ละครกุมปนี” เจ้าของละครเป็นเจ้าบ้าง เป็นขุนนางบ้าง มีละครผู้หญิงแต่ที่เป็นตัวดีแห่งละตัวสองตัว ผสมโรงเล่นกันตามวังเจ้า บ้านขุนนางที่เป็นสมาชิกกุมปนีนั้น จะเล่นที่ไหนก็กำหนดนัดกัน ครั้นถึงวันนัดผู้ที่เป็นเจ้าสำนักก็จัดโรงและหาปี่พาทย์เตรียมไว้ สมาชิกต่างพาตัวละครกับสาวใช้ซึ่งเป็นต้นบทและลูกคู่ไปประชุมกัน ณ สำนักที่จะเล่นละคร ครั้นเลี้ยงดูกันแล้ว ก็ลงโรงมีละครต่อไป ตัวละครแต่งตัวแต่อย่างน้อยไม่ได้แต่งเครื่องละคร ละครกุมปนีนี้เล่นอยู่ได้ไม่ช้า มีกิตติศัพท์ว่า พวกสมาชิกคิดหาตัวละครเข้าไปในวังถูกกริ้ว ก็ไม่กล้าเล่นกันอย่างเดิมต่อไป แต่เจ้าของละครบางคนยังมีตัวละครซ่อนไว้เล่นอย่างเงียบๆ มาตั้งเป็นละครโรงใหญ่ต่อในรัชกาลที่ ๕ ก็มี

ละครที่มีผู้หัดขึ้นสำหรับเล่นหางานในพื้นเมืองในรัชกาลที่ ๔ มีมากมายหลายโรงยากที่จะนับให้ถ้วนได้ จะกล่าวถึงแต่บางโรงที่มีชื่อเสียงโดยการเล่น หรือที่เล่นมายืดยาว คือ :-

๔. ละครของเจ้าจอมมารดาจันรัชกาลที่ ๔ หัดขึ้นในพระบรมมหาราชวังโรง ๑ ตัวละครโรงนี้ ได้เป็นครูหัดโรงอื่นต่อไปหลายคน คล้ายกับละครเจ้าจอมมารดาอัมพาเมื่อในรัชกาลที่ ๓

๕. ละครพระยาสีหราชฤทธิไกร (เสือ) โรง ๑ แล้วตกมาเป็นของพระยานรานุกิจมนตรี (เปลี่ยน) ผู้เป็นบุตรเล่นต่อมาในรัชกาลที่ ๕

๖. ละครพระยามณเฑียรบาล (บัว) โรง ๑ แล้วตกมาเป็นของธิดา ชื่อเกษ เล่นต่อมาในรัชกาลที่ ๕

๗. ละครขุนยี่สาน เสมียนตราวังหน้า บ้านอยู่ที่คลองสะพานหันโรง ๑ เลื่องลือในการเล่นเรื่องพระอภัยมณีว่าเล่นดีนัก

๘. ละครจางวางเผือก บ้านอยู่ที่ปากคลองตลาดโรง ๑ เป็นคู่แข่งกับละครเสมียนตรา

๙. ละครนายนวล บุตรเจ้ากรับ รับมรดกบิดาเล่นต่อมาจนรัชกาลที่ ๕ โรง ๑

๑๐. ละครนายเนตร นายต่าย โรง ๑ นายเนตรเดิมเป็นละครของคุณหญิงกลีบ ภรรยาพระยาประจักษ์วรวิไสย นายต่ายนั้น เดิมเป็นละครของกรมหมื่นภูมินทรภักดี เมื่อทรงเลิกเล่นละครจึงมาผสมโรงกับนายเนตร แล้วถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ เสด็จประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ[๗] นายต่ายเป็นตัวนายโรงตลก เช่นเป็นขุนช้างไม่มีใครสู้ นายเนตรนั้น ก็เล่นดีทั้งเป็นนางและเป็นยืนเครื่อง กระบวนเล่นละคร โรงนี้มีชื่อเสียงเลื่องลือมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จนรัชกาลที่ ๕ จนกระทั่งสิ้นอายุนายเนตร นายต่ายแล้วทั้ง ๒ คน นางปลื้มอยู่ที่เหนือวัดอรุณฯ เป็นน้องของภรรยานายเนตรยังคุมพวกละครเล่นต่อมา

๑๑. ละครนายทับ เดิมนายทับเป็นตัวล่าสำ ละครกรมหลวงรักษรณเรศร์ ฝึกหัดลูกหลานเล่นเป็นละครนอกขึ้นโรง ๑ ละครโรงนี้ เล่นสืบสกุลมาถึง ๓ ชั่วคน คือนางเอม ธิดานายทับ แล้วพระจัดดุริยางค์ (ป่วน) พระสุนทรเทพระบำ (เปลี่ยน) บุตรของนางเอม ยังเล่นต่อมา ละครโรงนี้ยังเล่นอยู่จนบัดนี้

นอกจากละครในกับละครนอกที่กล่าวมา เมื่อรัชกาลที่ ๔ ยังมีละครชาตรีและละครมายงมลายู ซึ่งเรียกกันว่าละครแขก เล่นแพร่หลายในกรุงเทพฯ อีก ๒ อย่าง ที่จริงทั้งละครชาตรีและละครแขก มีเล่นในกรุงเทพฯ มาแต่ก่อนรัชกาลที่ ๔ แล้ว ละครชาตรีที่เข้ามาเล่นแต่ครั้งกรุงธนบุรีต่อมาถึงรัชกาลที่ ๓ ยังมีพวกชาวเมืองพัทลุงอพยพเข้ามากับกองทัพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เมื่อราวปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๘๗ อีกครั้ง ๑ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสนามควาย คือแถวถนนหลานหลวงและตลาดนางเลิ้งทุกวันนี้ มีพวกละครชาตรีเพิ่มเติมเข้ามาอีก ยังมีเชื้อสายเล่นละครชาตรีอยู่จนทุกวันนี้ ชั้นเดิมยังเล่นเป็นละครผู้ชายเหมือนอย่างโนห์ราชาตรี ในมณฑลนครศรีธรรมราช ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระราชทานอนุญาตให้ผู้หญิงเล่นละครได้ พวกละครชาตรีจึงคิดฝึกหัดผู้หญิงขึ้นเล่นประสมโรง คนก็หาเล่นแพร่หลายกว่าแต่ก่อน ละครชาตรีที่มีชื่อเสียงมากเมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้น ๒ โรง คือ :-

ละครชาตรีของนายหนู บ้านอยู่ตำบลสนามควายโรง ๑ เล่นอย่างโนห์ราชาตรีที่มณฑลนครศรีธรรมราช ผิดกันแต่ตัวนายโรงใส่ชฎาไม่ใช้เทริด และตัวนางเป็นผู้หญิงแต่งตัวอย่างละครในกรุง กับมีตัวละครมากกว่าโนห์ราในมณฑลนครศรีธรรมราช

ละครชาตรีของหลวงอีกโรง ๑ ละครชาตรีโรงนี้เป็นผู้หญิงทั้งโรง เดิมเป็นละครของพระองค์เจ้าปัทมราช พระราชธิดากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทรัชกาลที่ ๑ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสด็จออกไปอยู่รักษาพยาบาลเจ้าจอมมารดาของท่าน (คือเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก เป็นธิดาเจ้าพระยานครฯ พัฒน์) จึงทรงหัดละครขึ้นที่เมืองนครฯ โรง ๑ เดิมหัดเป็นละครในเล่นเรื่องอิเหนา ครั้นเจ้าจอมมารดาถึงอนิจกรรมแล้ว เสด็จกลับเข้ามากรุงเทพฯ พาละครโรงนั้นเข้ามาด้วย แล้วถวายเป็นมรดกแด่พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เล่นเป็นละครชาตรี จึงมีละครชาตรีของหลวงขึ้นอีกโรง ๑

ละครแขกที่เล่นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ นั้น จะเกิดขึ้นแต่พวกแขกครัวที่ได้มาคราวปราบปรามเมืองไทร เมืองปัตตานี ที่กล่าวมาหรืออย่างไรไม่ทราบแน่ ทราบแต่ว่า ที่เล่นมีชื่อเสียงมากนั้น คือ:-

ละครนายเสือโรง ๑ เรียกกันว่า “ละครตาเสือ” ตัวนายเสือเป็นนายโรง เล่นตามแบบละครมายงแต่งตัวอย่างมลายู ร้องก็เป็นภาษามลายู แต่เจรจาเป็นภาษาไทย เล่ากันว่า ชอบเล่นเรื่องอิเหนาใหญ่ ละครตาเสือเล่นมาจนรัชกาลที่ ๕

ตัวละครครั้งรัชกาลที่ ๔ ที่ได้เป็นครูละครต่อมามีมาก ที่ยังมีชีวิตอยู่ในบัดนี้ก็หลายคน จะนับในละครหลวงก่อน

ครูยืนเครื่อง

๑. เจ้าจอมมารดาวาด เป็นตัวอิเหนา ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาเป็นท้าววรจันทร์ เป็นครูตัวอิเหนา ละครหลวงกรมมหรสพในรัชกาลปัจจุบันนี้ด้วย

๒. เจ้าจอมมารดาเขียน เป็นตัวอิเหนา ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕ และหัดละครรำของกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์

๓. เจ้าจอมมารดาสุ่น เป็นตัววิหยาสะกำ ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาเป็นท้าววนิดาวิจาริณี

๔. ท้าวชื่น เป็นตัวประสันตา ได้เป็นครูละครในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาเป็นท้าวอินสุริยา

๕. คุณสัมฤทธิ์ เป็นตัวจรกา ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕

๖. เจ้าจอมมารดาสายรัชกาลที่ ๕ เป็นยืนเครื่องชั้นเด็ก ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕ และครูละครคณะสวนกุหลาบในรัชกาลปัจจุบันนี้

ครูยักษ์

๗. คุณลิ้นจี่ เป็นตัวทศกัณฐ์ มีชื่อเสียงเลื่องลือในกระบวนเป็นทศกัณฐ์ว่า ในสมัยเดียวกันไม่มีตัวสู้ทั้งผู้ชายผู้หญิง แต่ถึงแก่กรรมเสียแต่ในรัชกาลที่ ๔ เล่ากันว่าตั้งแต่คุณลิ้นจี่ถึงแก่กรรมแล้ว ก็มิได้โปรดให้ละครหลวงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนมีบททศกัณฐ์มาจนตลอดรัชกาล คุณลิ้นจี่ได้เป็นครูละครเจ้าจอมมารดาจัน

๘. คุณเล็ก เป็นตัวนนทุก ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้เป็นท้าวโสภานิเวศน์

๙. คุณกุหลาบ ธิดาเจ้าพระยาวิเชียรคิรี (เม่น) เป็นทศกัณฐ์ตัวนั่งเมือง ไปฝึกหัดละครขึ้นที่เมืองสงขลา เมื่อในรัชกาลที่ ๕ โรง ๑

ครูนาง

๑๐. เจ้าจอมมารดาเอม เป็นตัวนางมะเดหวี ได้เป็นครูละครในรัชกาลที่ ๕

๑๑. เจ้าจอมมารดาห่วง เป็นตัวนางจินตะหรา ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕

๑๒. เจ้าจอมมารดาทับทิม รัชกาลที่ ๕ เมื่อยังเป็นเด็กอยู่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นตัวนางแมว ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นตัวนางเกนหลงหนึ่งหรัด ต่อมาได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕ และเป็นครูละครคณะสวนกุหลาบในรัชกาลปัจจุบันนี้

๑๓. ท้าววัน เป็นตัวนางประเสหรัน ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕

๑๔. คุณลำไย (น้องคุณลิ้นจี่ทศกัณฐ์) เป็นตัวนางบาหยัน ได้เป็นครูละครในรัชกาลที่ ๕

๑๕. คุณองุ่น เป็นตัวนางบุษบาชั้นใหญ่ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นภรรยาพระยาอรรคราชวราทร (เนตร) ได้กลับเข้ามาเป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕

๑๖. เจ้าจอมละม้ายรัชกาลที่ ๕ เป็นตัวนางชั้นเด็ก ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๕ และเป็นครูละครคณะสวนกุหลาบในรัชกาลปัจจุบันนี้

ละครสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่เป็นละครชั้นใหญ่ ได้เป็นครูละครชั้นเล็กในโรงเดียวกันมีหลายคน แต่ที่ปรากฏชื่อว่าได้ไปเป็นครูละครโรงอื่นนั้น คือ :-

๑. หม่อมแก้ว เป็นตัวไกรทอง (ศิษย์คุณน้อยงอก) ได้เป็นครูละครท้าวราชกิจวรภัตร และเป็นครูละครในกรมมหรสพ ทรงตั้งเป็นท้าวศรีสุนทรนาฏ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

๒. หม่อมแย้ม เป็นตัวอิเหนา ได้เป็นครูละครท้าวราชกิจวรภัตร และละครผสมสามัคคี

๓. หม่อมศิลา เป็นตัวยักษ์ ได้เป็นครูละครเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธ

๔. หม่อมแสง (ลูกเจ้ากรับ) เป็นตัวนางจินตะหรา ได้เป็นครูละครเจ้าคุณจอมมารดาเอมวังหน้า

๕. หม่อมวัน เป็นตัวนางเอก ได้เป็นครูละครท้าวราชกิจวรภัตร และเป็นครูละครกรมมหรสพอยู่บัดนี้

๖. หม่อมหุ่น เป็นตัวนาง ได้เป็นครูละครท้าวราชกิจวรภัตร

ละครเจ้าจอมมารดาจันทร์ ที่ได้เป็นครูละครโรงอื่นคือ :-

๑. ชื่อกลีบ เป็นตัวนายโรง ไปเป็นภรรยาเจ้าพระยามหินทร์ฯ ต่อมาได้เป็นครูละครผสมสามัคคี

๒. ชื่อทิม เป็นตัวนางเอก ได้เป็นครูละครพระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็ต

ละครนายทับ พระสุนทรเทพระบำ (เปลี่ยน) หลายนายทับ ได้เป็นครูครอบละครนอกอยู่บัดนี้

ตัวละครครั้งรัชกาลที่ ๔ ที่ได้เป็นครูต่อมายังมีอีก สืบชื่อได้ไม่หมด จึงจดไว้แต่เท่านี้

[๑] ในรัชกาลที่ ๓ ไม่มีละครหลวง เผอิญไม่ได้ช้างเผือกตลอดรัชกาล เมื่อสมโภชพระวิมลรัตนกิริณีในรัชกาลที่ ๔ ยังไม่มีละครหลวง เห็นจะโปรดให้ขอแรงละครหลวงรัชกาลที่ ๒ ที่ยังมีตัวเหลืออยู่ เล่นสมโภชจึงได้เอาเป็นแบบอย่างมาในรัชกาลที่ ๕ ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า

[๒] ความข้อนี้ทราบที่พบสำเนาหมายรับสั่ง ปรากฏว่าทำพิธีครอบละครหลวงเมื่อต้นปีขาล พระวิสุทธรัตนกิริณีมาในปลายปีขาลนั้น

[๓] ได้ยินกล่าวกันมาว่า ละครผู้หญิงวังหน้ามีทั้งเมื่อรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ แต่ในประกาศนี้ความชัดเจนว่า ละครผู้หญิงมีแต่ในวังหลวงทั้ง ๒ รัชกาล ข้าพเจ้าจึงอนุมัติตามประกาศ

[๔] ในประกาศฉบับนี้ ข้างท้ายมีเรื่องห้ามมิให้เชื่อถือหมอดูอีกอย่าง ๑ รวมอยู่ในประกาศฉบับเดียวกัน ได้คัดออกเสีย เพราะไม่เกี่ยวแก่เรื่องละคร

[๕] บทละครพระราชนิพนธรัชกาลที่ ๔ ที่กล่าวมาแล้วนี้ หอพระสมุดฯ ได้พิมพ์แล้วทั้งนั้น เว้นแต่ที่ทรงแปลงในเรื่องอิเหนายังหาได้พิมพ์ไม่

[๖] บทละครเรื่องยุขันลิขิตมีอยู่ในหอพระสมุดฯ ดูทำนองเป็นเรื่องนิทานแขกเปอร์เซีย แต่ไทยเราเอามาแต่งจะให้เป็นอย่างเรื่องอิเหนาขึ้นอีกเรื่อง ๑ สำนวนกลอนอยู่ในพวกกวีชั้นที่แต่งบทละครพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑

[๗] เล่ากันมาว่า เมื่อนายต่ายจะอุปสมบทที่วัดพระเชตุพน ทรงจัดการพระราชทานทั้งสิ้น แห่สนุกถึงเลื่องลือ ด้วยขี่ม้าทั้งกระบวน พวกเกณฑ์แห่ขี่ม้าก้านกล้วย คนถือเครื่องบริขารและไทยธรรมขี่ม้าหนัง ผู้ที่ถือไตรครองและอุ้มบาตรขี่ม้าละคร ตัวเจ้านาคขี่ม้าเลื่อยไม้ เล่ากันว่ามีม้าทุกอย่างหมด ขาดอย่างเดียวแต่ม้าจริงๆ เท่านั้น

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ