ว่าด้วยละครใน

ทีนี้จะว่าด้วยละครในต่อไป หลักในทางสันนิษฐานด้วยเรื่องต้นเดิมของละครใน มีอยู่ในข้อที่ละครในเล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์กับเรื่องอุณรุทและเรื่องอิเหนา ข้อนี้เป็นสำคัญ อันเหตุที่ละครในจะเล่นเรื่องอิเหนานั้นรู้ได้เป็นหลักฐาน ดังจะอธิบายในตอนว่าด้วยเรื่องอิเหนาต่อไปข้างหน้า ปรากฏว่าพึ่งเล่นเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งเสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยาในระหว่างพ.ศ. ๒๒๗๕ จน พ.ศ. ๒๓๐๑ ก่อนนั้นละครในเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์กับเรื่องอุณรุท ๒ เรื่องเท่านั้น

ก็เรื่องรามเกียรติ์กับเรื่องอุณรุทนี้ เป็นพงศาวดารอินเดียในตอนที่นับถือกันในลัทธิไสยศาสตร์ว่าพระนารายณ์อวตารลงมาบำรุงมนุษย์โลกทั้ง ๒ เรื่อง พวกชาวอินเดียโดยมากถือเป็นคติแต่โบราณ และยังมีถือกันแม้ในปัจจุบันนี้ว่าการเล่นแสดงตำนาน เช่นเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องมหาภารตะ เป็นการเฉลิมเกียรติยศพระเป็นเจ้า เกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้เล่นและผู้ดู ในรัชกาลปัจจุบันนี้ พวกแขกอินเดียซึ่งเข้ามาค้าขายอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ได้เคยชวนกันเล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์ถวายทอดพระเนตรที่พระตำหนักจิตรลดาครั้งหนึ่ง โดยถือว่าเป็นการมงคลดังกล่าวมา เพราะฉะนั้นเชื่อได้ว่า แต่เดิมคงเป็นด้วยพวกพราหมณ์ชาวอินเดียที่เป็นครูบาอาจารย์การพิธีแต่ปางก่อน สอนให้ไทยเล่นแสดงตำนานเช่นเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล และบางทีจะเล่นเรื่องปางอื่น ดังกฤษณาอวตาร คือเรื่องอุณรุทด้วย จึงได้มีประเพณีการเล่นโขนเกิดขึ้นในประเทศนี้ ในประเทศชวาก็มีโขนเล่นเช่นเดียวกับไทย ผิดกันแต่ที่โขนชวาใช้หน้ากากแทนหัวโขนกับที่ตัวโขนเจรจาเอง และผิดกันชอบกลอีกอย่าง ๑ ที่โขนชวาชอบเล่นแต่เรื่องมหาภารตะ หาชอบเล่นเรื่องรามเกียรติ์เหมือนไทยไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองยกยา จะใคร่ทอดพระเนตรโขนชวาเล่นเรื่องรามเกียรติ์ สุลต่านต้องทูลขอผัดให้ซักซ้อมเสียก่อน แล้วจึงจะมาเล่นถวายได้

เรื่องตำนานของการเล่นโขนในประเทศนี้ มีเค้ามูลอยู่ในกฎมนเทียรบาลตอนตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก จะยกมากล่าวแต่เฉพาะที่เนื่องด้วยเรื่องเล่นโขน มีเนื้อความว่า ในการพระราชพิธีอินทราภิเษกนั้น ปลูกเขาพระสุเมรุสูงเส้น ๑ กับ ๕ วาที่ท้องสนามหลวง และที่เชิงเขาทำเป็นรูปนาก ๗ เศียรเกี้ยวพระสุเมรุ แล้ว “เลก[๑]ตำรวจ (แต่ง) เป็นรูปอสูร ๑๐๐ มหาดเล็กเป็นเทพยดา ๑๐๐ (และ) เป็นพาลี สุครีพ มหาชมพู และบริวารพานร (อีก) ๑๐๓ ชักนาคดึกดำบรรพ์ อสูรชักหัว เทพยดาชักหาง พานรอยู่ปลายหาง” ถึงวันที่ ๕ ของการพระราชพิธี เป็นวันกำหนดชักนาคดึกดำบรรพ์ และวันที่ ๖ เป็นวันชุบน้ำสุรามฤต “เทพยดาผู้(เล่น)ดึกดำบรรพ์พร้อม(ด้วย)รูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระอินทร์ พระวิศณุกรรม ถือเครื่องสำหรับธรรมเนียมเข้ามาถวายพระพร” ดังนี้ ลักษณะการที่ทำในพระราชพิธีอินทราภิเษกดังกล่าวมานี้ ก็คือการเล่นแสดงตำนานในไสยศาสตร์เพื่อแสวงสวัสดิมงคล มาแต่มูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์ และยังมีความกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ว่า “ศักราช ๘๓๘ ปีวอก อัฐศก (พ.ศ. ๒๐๑๗) ท่านประพฤติการเบญจาเพส พระองค์ได้ทรงเล่นดึกดำบรรพ์ดังนี้” ก็ทำนองเมื่อพระชันษาได้ ๒๕ ปี จะทำพระราชพิธีอินทราภิเษก มีการเล่นฉุดนาคดึกดำบรรพ์นั้นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงลบศักราช (เมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๑) จึงเอาแบบอย่างมาทำอีกครั้ง ๑ บางทีที่เกิดมีกรมโขนขึ้นก็จะมาแต่การเล่นดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้เอง โดยทำนองจะมีพระราชพิธีอื่น อันมีการเล่นแสดงตำนานเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี เกิดเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับมา จนการเล่นแสดงตำนานกลายเป็นการที่มีเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผนซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก เพราะเป็นลูกผู้ดีฉลาดเฉลียว ฝึกหัดโดยง่าย ใครได้เลือกก็ยินดีเสมอได้รับความยกย่องอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ที่พวกโขนหลวงนับอยู่ในผู้ดีที่เป็นมหาดเล็ก จนถึงมีบุตรหลานข้าราชการไปฝึกหัด ดังเช่นเล่ากันมาว่า พระเจ้าเชียงใหม่กาวิโลรส
สุริยวงศ์ได้เคยเป็นตัวอินทรชิต เมื่อเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่ในรัชกาลที่ ๑ นั้น เป็นต้น

ตามความที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า มูลเหตุที่เล่นโขนกับเล่นละครในประเทศนี้ผิดกันห่างไกล โขนเป็นการเล่นของผู้ดีมีบรรดาศักดิ์เล่นในพระราชพิธี ละครเป็นการเล่นของราษฎรที่รับจ้างหาเลี้ยงชีพ ผิดกันเป็นข้อสำคัญดังนี้

โขนก็ดี ละครก็ดี ชั้นเดิมเป็นของผู้ชายเล่น การฟ้อนรำที่ผู้หญิงเล่นนั้นชั้นเดิมปรากฏแต่ว่าเป็นนางรำ คงได้ตำรามาจากอินเดียเหมือนกัน จึงมีทั้งในเมืองไทยเมืองพม่า และเมืองชวา ไทยเรียกว่าระบำ พม่าเรียกว่าเยนปวย ชวาเรียกสะเรมปี[๒] ลักษณะที่เล่นก็เป็นทำนองเดียวกันทั้ง ๓ ประเทศ คือรำเป็นคู่ๆ เข้ากับขับร้องปี่พาทย์ เป็นของสำหรับให้ดูกระบวนที่รำงาม กับฟังลำนำขับร้องและดนตรีที่ไพเราะ หาได้เล่นเป็นเรื่องเหมือนอย่างโขนและละครไม่ เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มองสิเออ เดอ ลา ลุแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาเมืองไทย ก็ว่าได้ดูทั้งโขน ทั้งละครและระบำ[๓] กล่าวว่า โขนและละครนั้นผู้ชายเล่น ความอันนี้เป็นเค้าเงื่อนว่า ในสมัยนั้นละครผู้หญิงยังไม่มี ถ้ามีก็เห็นจะเล่นให้แขกเมืองดู จึงสันนิษฐานว่าละครในเป็นของเกิดมีขึ้นเมื่อภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

อันมูลเหตุที่จะมีละครผู้หญิงขึ้นในสยามประเทศนี้ ยังไม่พบเรื่องราวกล่าวไว้ ณ ที่ใด จึงได้แต่พิเคราะห์ดูโดยเค้าเงื่อนอันมีในเรื่องตำนานของโขนละคร สันนิษฐานว่าชั้นเดิมเห็นจะเป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา (บางทีจะเป็นในชั้นก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์) ทรงพระราชดำริให้นางรำเล่นระบำเข้ากับเรื่องไสยศาสตร์ เช่นให้แต่งเป็นเทพบุตรเทพธิดาจับระบำเข้ากับรามสูรเป็นต้น เห็นจะเล่นระบำเช่นกล่าวนี้ในพระราชพิธีอันใดอันหนึ่งในพระราชนิเวศน์ เป็นทำนองเช่นเล่นดึกดำบรรพ์ที่กล่าวมาเป็นเดิมก่อน บางทีจะเป็นระบำเรื่องนี้เองที่เป็นต้นตำรับละครใน จึงได้เล่นระบำเรื่องรามสูรเบิกโรงละครในมาจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทำนองเมื่อเล่นระบำเป็นเรื่องขึ้นแล้ว จะเลยเป็นแบบแผนสำหรับเล่นในการพระราชพิธีภายในพระราชนิเวศน์ เหมือนอย่างที่โขนหลวงเคยเล่นการพระราชพิธีข้างภายนอก ครั้นต่อมาจะเล่นระบำให้เรื่องแปลกออกไป จึงเลือกเอาเรื่องโขนบางตอนที่เหมาะแก่กระบวนฟ้อนรำ เช่นตอนอุณรุทในเรื่องกฤษณาวตารเป็นต้น มาคิดปรุงกับกระบวนละคร ฝึกซ้อมให้พวกนางรำของหลวงเล่น ครั้นเล่นก็เห็นว่าดี จึงให้มีละครผู้หญิงของหลวงขึ้นแต่นั้นมา ต้นเดิมของละครผู้หญิงน่าจะเป็นเช่นว่ามานี้ ชั้นแรกเห็นจะเล่นแต่เรื่องอุณรุท แล้วจึงได้หัดเล่นเรื่องรามเกียรติ์อีกเรื่อง ๑ บางทีจะเป็นเพราะเหตุที่เอาเรื่องอุณรุทไปให้นางรำของหลวงเล่นนั้นเอง โขนจึงมิได้เล่นเรื่องกฤษณาวตารต่อมา คำที่เรียกว่า “ละครใน” เข้าใจว่าจะมาแต่เรียกกันในชั้นแรกว่า “ละครนางใน” หรือ “ละครข้างใน” แล้วจึงเลยเรียกแต่โดยย่อว่า “ละครใน” เมื่อมีละครในขึ้นอีกอย่างหนึ่งฉะนี้ คนทั้งหลายก็เรียกละครเดิมว่า “ละครนอก” จึงมีชื่อเป็นละคร ๒ อย่างต่างกัน

ที่เมืองชวาก็มีละครหลวงที่เมืองยกยาเรียกว่า วายังวอง เป็นละครผู้ดี และเอาเรื่องมหาภารตะของโขนมาเล่นเป็นละครทำนองเดียวกับละครในของไทยเรา แต่ผิดกันในข้อสำคัญที่ละครชวาผู้ชายเล่นผสมโรงกับผู้หญิง แม้ลูกชายของสุลต่านก็ว่าหัดเป็นละครหลายองค์ ได้ให้เป็นตัวพระเอกเล่นถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรก็องค์หนึ่ง ละครในของชวาจะมีขึ้นด้วยเหตุใดข้อนี้หาทราบไม่ แต่นึกว่าคงพ้องกับเหตุที่มีละครในในเมืองเราโดยนัยอันหนึ่ง คือซึ่งเห็นว่ากระบวนเล่นอย่างโขนดีแต่จะเล่นเรื่องตอนรบพุ่ง ถ้าจะเล่นเรื่องตอนประโลมโลก สู้เล่นอย่างละครไม่ได้ จึงเอาเรื่องโขนกับวิธีละครมาปรุงประสมกันเล่นเป็นละครในขึ้นอีกอย่าง ๑

เรื่องมูลเหตุที่จะเกิดมีละครในซึ่งกล่าวมา เป็นความสันนิษฐานก็จริงอยู่ แต่มีหลักฐานที่เห็นได้ว่า ละครในเกิดแต่เอาแบบโขนกับแบบละครนอกมาปรุงประสมกับแบบระบำเป็นแน่ มีที่สังเกตเป็นหลายอย่าง ว่าโดยย่อคือเรื่องที่เล่นเอามาแต่โขน กระบวนเล่นและชื่อที่เรียกว่า “ละคร” เอามาแต่ละครนอก วีธีร้องและวิธีรำเอามาแต่ระบำ เห็นได้เช่นมีคนต้นเสียงร้องต่างหาก ตัวละครไม่ร้องบทเองเหมือนละครนอก และกระบวนฟ้อนรำก็ช้ากว่าละครนอก เพราะเหตุที่กล่าวมานี้ละครในกับละครนอกจึงเล่นผิดกัน ละครในเล่นเอาการที่รำงามกับร้องเพราะเป็นหลัก ไม่นิยมต่อการที่จะเล่นเป็นกระบวนตลกคะนองให้เห็นขบขัน ฝ่ายละครนอกถือเอาการที่จะเล่นให้สนุกสนานชอบใจมหาชนเป็นหลัก ไม่ประจงในการฟ้อนรำขับร้องเหมือนเช่นละครใน เพราะละครในกับละครนอกกระบวนเล่นผิดกันดังกล่าวมานี้ ในชั้นหลังมาผู้ที่เป็นเจ้าของละครในจึงมักให้หัดเล่นละครนอกด้วย เวลาจะดูเล่นให้เป็นสง่าผ่าเผยก็ให้เล่นอย่างละครใน ถ้าจะดูเล่นสนุกสนานก็ให้เล่นอย่างละครนอก ที่ละครผู้หญิงของหลวงเล่นละครนอก และที่ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกดังปรากฏเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ก็เป็นด้วยเหตุนี้เอง

ที่แต่ก่อนมามีพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้อื่นหัดละครผู้หญิง ข้อนี้พิเคราะห์ตามเรื่องตำนานก็พอจะแลเห็นเหตุได้ ด้วยละครผู้หญิงเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริให้หัดนางในขึ้นสำหรับเล่นในการพระราชพิธีในพระราชนิเวศน์เสมออย่างเป็นเครื่องราชูปโภคอันหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นมิควรจะทำเทียม แต่เข้าใจว่าการที่ห้ามมิให้ผู้อื่นเอาอย่าง จะมีมาแต่ชั้นแรกหัดโขนแล้ว เพราะโขนก็เป็นการเล่นสำหรับพระราชพิธีที่สำคัญ จนถึงพิธีราชาภิเษกดังกล่าวมา คงเป็นของต้องห้ามมิให้ผู้อื่นเล่นอยู่เอง แต่ปรากฏในชั้นหลังมาว่ามีความนิยมเกิดขึ้นอีกอย่าง ๑ ว่า การฝึกหัดโขนนั้นทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดแคล่วคล่องว่องไวในกระบวนรบพุ่ง เป็นประโยชน์ไปจนถึงการต่อสู้ข้าศึก จึงพระราชทานอนุญาตให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้ว่าราชการเมืองหัดโขนได้ ไม่ห้ามปรามดังแต่แรก ด้วยเห็นเป็นประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน เพราะฉะนั้นเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่แต่ก่อน ใครมีสมพลบ่าวไพร่มากจึงมักหัดโขนขึ้นสำหรับประดับเกียรติยศ เมื่อโขนมีขึ้นแพร่หลาย การที่เล่นโขนก็เล่นไปจนในการมหรสพซึ่งเป็นการใหญ่ เช่นในการฉลองพระอารามเป็นต้น ตลอดจนในการศพผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ตั้งแต่กรุงเก่ามา ส่วนการเล่นละครในนั้น (จะเป็นแต่ครั้งกรุงเก่าหรือต่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ ข้อนี้ไม่ทราบแน่) ก็พระราชทานอนุญาตให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่เล่นได้[๔] แต่ต้องหัดเป็นละครผู้ชาย คงห้ามแต่ละครผู้หญิงอย่างเดียวที่มิให้ผู้อื่นมีนอกจากของหลวง จนถึงรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้เลิกข้อห้าม

[๑] คำว่า เลก ได้พบในหนังสือจดหมายเหตุราชทูตลังกาเข้ามาขอพระสงฆ์สยามไปให้อุปสมบทชาวสิงหล ใช้ว่า เลกะมะ ความหมายว่า กรม

[๒] นางรำชวามีอีกอย่าง ๑ เรียกว่าบะดูโย รำ ๙ คน เซอร์สะแตมฟอด แรฟฟัล อธิบายว่า เป็นชั้นต่ำลงมา ที่เป็นชั้นสูงสำหรับเจ้าเมือง รำ ๕ คน เรียกว่าสะเรมปี

[๓] อธิบายไว้ในหนังสือซึ่งเขาแต่งเรื่องเมืองไทย อยู่ในตอนซึ่งว่าด้วยการเล่นของไทย

[๔] ปรากฏว่าเมื่อรัชกาลที่ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงหัดละครอิเหนา

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ