ว่าด้วยประเพณีเล่นละครรำ

การฟ้อนรำเป็นหลักของวิชาการละคร(รำ) เพราะฉะนั้นผู้เป็นครูบาอาจารย์แต่ก่อน จึงคิดแบบรำเป็นท่าต่างๆ ตั้งชื่อบัญญัติไว้ให้เรียกเป็นตำรา แล้วคิดร้อยกรองท่ารำต่างๆ นั้นเข้ากระบวนสำหรับรำเข้ากับเพลงปี่พาทย์ เรียกว่า “รำเพลง” อย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ สำหรับรำเข้ากับบทร้อง เรียกว่า “รำใช้บท” บรรดาผู้ที่จะฝึกหัดเป็นละคร มักหัดตั้งแต่ยังเด็ก ครูให้หัดรำเพลงก่อน แล้วจึงให้หัดรำใช้บท เมื่อรำได้แล้วครูจึง “ครอบ” ให้ คืออนุญาตให้เล่นละคร แต่นั้นไปจึงนับว่าเป็นละคร การอันนี้เป็นประเพณีดั้งเดิม ยังมีเค้ามูลเหมือนกันทั้งละครโนห์ราชาตรีที่มณฑลนครศรีธรรมราช และละครนอกละครในที่ในกรุงเทพฯ นี้ แต่กระบวนการฝึกหัดและวิธีเล่นของละครโนห์ราชาตรี และละครนอกละครในผิดกันในข้อสำคัญอยู่หลายอย่าง จะต้องอธิบายแยกกันทีละอย่างจึงจะได้ความชัดเจน

ประเพณีละครโนห์ราชาตรี

การฝึกหัดละครโนห์ราชาตรี[๑] หัดรำเพลงแต่ ๑๒ ท่าตามตำราของขุนศรัทธาที่เป็นครูเดิม (ดังกล่าวมาในตอนว่าด้วยละครนอก) ท่ารำ ๑๒ ท่านั้นคือ:-

ที่ ๑ ท่าแม่ลาย (กนก)

ที่ ๒ ท่าราหูจับจันทร์ (ท่าเขาควายก็เรียก)

ที่ ๓ ท่ากินนร (รำ)

ที่ ๔ ท่าจับระบำ

ที่ ๕ ท่าลงฉาก (เข้าใจว่าตรงกับที่เรียกว่า ท่าหงส์ลีลาในคำกลอน)

ที่ ๖ ท่าฉากน้อย (เข้าใจว่าตรงกับที่เรียกว่า ท่าช้างประสานงาในคำกลอน)

ที่ ๗ ท่าผาลา

ที่ ๘ ท่าบัวตูม

ที่ ๙ ท่าบัวบาน

ที่ ๑๐ ท่าบัวคลี่

ที่ ๑๑ ท่าบัวแย้ม

ที่ ๑๒ ท่าแมลงมุมชักใย

ท่ารำ ๑๒ ท่าที่กล่าวมานี้ เรียกรวมกันว่า “เพลงครู” ยังมีกลอนตำรารำของพวกละครโนห์ราชาตรีในมณฑลนครศรีธรรมราชอีกความหนึ่งว่า:-

๏ สอนเอยสอนรำ ครูให้ข้ารำแต่บ่า
ปลดปลงลงมา แล้วให้ข้ารำเพียงพก
วาดไว้ปลายอก เรียกแม่ลายกนกผาลา
ซัดสูงขึ้นเพียงหน้า เรียกช่อระย้าดอกไม้
ปลดปลงลงมาใต้ ครูให้ข้ารำโคมเวียน
นี่เรียกรูปวาด ไว้วงให้เหมือนรูปเขียน
ท่านี้คงเรียน ท่าชาวตะเคียนพาดตาล
ท่านี้แลนุช พระพุทธเจ้าท่านห้ามมาร
ท่านี้นงคราญ พระรามเธอข้ามสมุทร
ยกขึ้นสูงสุด เป็นท่าพระยาครุฑร่อนมา
ครุฑเฉี่ยวนาคได้ ร่อนกลับไปในเวหา
ทำท่าหนุมาน เหาะทะยานไปเผาลงกา
รำท่าเทวา สารถีขี่ม้าชักรถ
ท่านางมัทรี จรลีหว่างเขาวงกต
ท่าพระดาบส ลีลาจะเข้าอาศรม
สี่มุมปราสาท วาดไว้เป็นรูปพรหม
ท่านี้เอวกลม เรียกพระนารายณ์น้าวศร

(ผู้บอกให้ จำได้แต่เท่านี้)

พิเคราะห์ดูชื่อท่ารำต่างๆ ที่เรียกในกลอนนี้ เข้าใจว่าจะมีผู้คิดตำรานี้ขึ้นสำหรับหัดละครโนห์ราชาตรีในชั้นหลังมิใช่ตัวต้นตำรา จึงไม่ใช้กันทั่วไปเหมือนอย่าง ๑๒ ท่าที่กล่าวมาก่อน

การฝึกหัดละครโนห์ราชาตรี เมื่อหัดรำเพลงครูได้แล้ว ครูจึงสอนให้ท่องบท เพราะละครโนห์ราชาตรียังใช้ร้องกลอนสด (เหมือนอย่างเล่นเพลงหรือลิเก) ไม่มีหนังสือบทอย่างละครในกรุงเทพฯ แล้วสอนให้ร้องและรำทำบทไปจนพอทำได้ ผู้ที่เป็นครูหัดจึงพาไปให้ครูใหญ่ครอบ เรียกว่า “เข้าครู” อันลักษณะครอบละครโนห์ราชาตรีนั้น จะนิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์ฉันเช้าด้วยหรือไม่ แล้วแต่ใจ ไม่จำเป็น การที่ทำพิธีครูใหญ่เอาเทริดแขวนไว้ที่กลางโรงพิธี ตรงใต้เทริดนั้นตั้งขันสาครลายสิบสองนักษัตร คว่ำและปูหนังเสือไว้บนก้นขัน ลักษณะที่จะครอบ ครูใหญ่ให้เด็กขึ้นนั่งบนก้นขัน แล้วปลดเอาเทริดลงมาครอบศีรษะให้ แล้วให้เด็กลุกขึ้นรำเพลงครูเข้ากับปี่พาทย์จนจบเพลง แล้วเอาเทริดกลับไปแขวนไว้อย่างเดิม ทำอย่างนั้นทีละคนไปจนหมดตัวผู้ที่จะเป็นละคร ก็เป็นเสร็จพิธีครอบ ส่วนตัวจำอวดนั้นเป็นแต่ครูเอาหน้ากากใส่ให้แทนครอบด้วยเทริดไม่ต้องรำ เพราะตัวจำอวดมักเกิดแต่พวกปี่พาทย์หรือลูกคู่ที่ชอบเล่นเป็นจำอวด เคยเห็นเล่นละครชินเข้าก็เลยเป็นตัวละครไป ไม่ได้หัดรำมาแต่เดิม

ลักษณะการเล่นละครโนห์ราชาตรีนั้น ละครโรงหนึ่งต้องมีคน ๑๔ คนเป็นอย่างน้อย คือตัวครู (เป็นผู้คุมละครไม่ต้องเล่นเอง) คน ๑ ตัวนายโรง (คือยืนเครื่อง บางทีก็เป็นครูด้วย) คน ๑ ตัวนาง (คือเด็กผู้ชายหัวจุกทำบทนาง) คน ๑ จำอวด (เรียกว่า พราน ตามเรื่องมโนห์รา) คน ๑ รวมตัวละคร ๓ คน คนตีแกระ (คือลูกคู่ตีกรับ) ๕ คน ปี่พาทย์ คนเป่าปี่ (เป็นนายวง) คน ๑ คนตีทับ ๒ คน คนตีกลอง ๑ คนตีฆ้องคู่คน ๑ รวมพวกปี่พาทย์ ๕ คน รวมเบ็ดเสร็จเป็น ๑๔ คนด้วยกัน ใครจะหาละครไปเล่นกลางวันก็ได้ หรือเล่นกลางคืนก็ได้ ถ้าเล่นกลางวัน ลงโรงราวเวลา ๑๐ นาฬิกา ก่อนเที่ยงไปเลิกราวเวลาบ่าย ๔ นาฬิกา ถ้าเล่นกลางคืน ลงโรงราวเวลา ๗ นาฬิกา เลิกเวลาเที่ยงคืน เรียกค่าธรรมเนียมเล่นกลางคืนเท่ากับเล่นกลางวันอีกวันหนึ่ง

อัตราค่าธรรมเนียมที่ละครโนห์ราชาตรีเรียกจากผู้หานั้น แต่เดิมเล่นวันหนึ่งเรียกเงินโรง ๒ บาท กับเงินค่ากำนลเบิกโรง ๕๐ สตางค์ และนอกจากเรียกเงิน เจ้าของงานยังต้องเลี้ยงอาหารด้วย ๒ เวลา และยังต้องให้ยืมผ้าใหม่สำหรับตัวนายโรงกับตัวนางนุ่งคนละผืน แต่เมื่อเสร็จงาน ส่งผ้าคืนให้เจ้าของ

ข้อที่ว่าต้องให้ยืมผ้านุ่งนี้ข้าพเจ้าได้เคยพบเอง ครั้งหนึ่งข้าหลวงหาละครโนห์ราชาตรีมาเล่นให้ข้าพเจ้าดูที่เมืองสงขลา ได้ยินละครโหมโรงอยู่ช้านาน ผิดสังเกต จึงให้ไปถามว่า เมื่อไรจะลงโรง ได้ความว่ายังไม่ได้ผ้านุ่ง จึงยังเล่นไม่ได้ แต่เรื่องยืมผ้านุ่งนี้เห็นจะเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในมณฑลนครศรีธรรมราชเอง มิใช่ประเพณีที่ขุนศรัทธาพาลงไปจากกรุงศรีอยุธยา น่าจะเป็นเพราะเหตุที่พวกละครโนห์ราชาตรีในมณฑลนครศรีธรรมราชต้องเที่ยวหางานเล่นละคร บางทีต้องเตร็ดเตร่ไปต่างบ้านต่างเมืองไกลๆ ผ้าที่นุ่งติดตัวไปไม่สมประกอบ เวลาจะเล่นละคร เจ้างานเห็นโสโครกรำคาญตา ให้ยืมผ้าใหม่นุ่ง จึงเลยเป็นธรรมเนียมมา

ลักษณะที่พวกละครโนห์ราชาตรีเที่ยวหางานนั้น ถ้าอยู่บ้านไม่ใคร่มีใครหาไปเล่น ก็พากันขนเครื่องละครและเครื่องปี่พาทย์เดินทางไปเที่ยวหางาน ไปถึงหมู่บ้านแห่งใดในระยะทางคาดว่าจะหางานได้ ก็ตีกลองขึ้นเป็นสำคัญ ให้พวกชาวบ้านรู้ว่าพวกละครมาถึง ถ้าใครได้บนบานไว้ จะแก้สินบนก็ดี หรือจะมีการงานก็ดี ก็มาว่าหาละครไปเล่น ถ้าหากไม่มีใครหาเล่นงาน พวกละครก็คิดอ่านว่ากล่าวกับชาวบ้านเพียงให้ได้ข้าวปลาอาหารกินอิ่มหนำ แล้วเล่นละครให้ดูวัน ๑ แล้วก็เดินทางต่อไป วิธีเดินทางอย่างว่ามานี้เห็นจะเป็นวิธีของพวกละครแต่โบราณ เหมือนกับวิธีที่แบ่งผลประโยชน์กันในพวกละครโนห์ราชาตรี คือได้เงินโรงมาเท่าใด ได้แก่ตัวนายโรง ๓ ส่วน ได้แก่ตัวนางและตัวจำอวดคนละ ๒ ส่วน นอกจากนั้นได้คนละส่วน ๑ ตัวครูได้ค่ากำนล เป็นประเพณีเหมือนกันดังนี้ทั่วไป

ยังมีประเพณีของละครโนห์ราชาตรี ที่เป็นการแปลกอีกอย่าง ๑ เกิดแต่กลัวถูกกระทำร้ายด้วยวิทยาคม มักใช้เสกเป่า และมีเครื่องป้องกันต่างๆ เป็นต้นว่า มีด้ายมงคลสวมเทริดที่ใส่ศีรษะ และบางทีก็ใช้ผ้าประเจียดห้อยบ่าเวลาที่ออกโรงเล่นละครเป็นอย่างนี้ จนกระทั่งถึงพวกแขกมลายูที่เอาอย่างละครโนห์ราชาตรีไปเล่นเป็นละครเขา ก็เอาเลขยันต์ของไทยไปใช้ด้วย คงเป็นประเพณีมาเก่าแก่แต่ครั้งกรุงเก่า เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้เอง พวกละครนอกที่เล่นในครั้งกรุงเทพฯ จึงมักเข้าใจกันว่า พวกละครโนห์ราชาตรีถนัดใช้วิทยาคม ทำได้ทั้งให้คนดูหลงรักและให้ละครที่เล่นประชันมีอันเป็นไปต่างๆ ไม่มีใครจะใคร่กล้าเล่นประชันกับละครชาตรีด้วยเกรงวิทยาคม แล้วจึงเลยเกิดเข้าใจกันกลายไปว่า ถ้าจะเล่นละครแก้สินบนให้ศักดิ์สิทธิ์แล้วต้องเล่นละครชาตรี ละครชาตรีจึงเป็นการเล่นสำหรับแก้สินบนอยู่ในกรุงเทพฯ จนทุกวันนี้

ละครโนห์ราชาตรีที่เล่นในกรุงเทพฯ นี้ เห็นจะแรกมีเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ด้วยพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้เมืองนครศรีธรรมราช กวาดครัวชาวนครเข้ามาเป็นอันมาก ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏว่า มีละครชาตรีเล่นในงานมหรสพที่ในกรุงเทพฯ ดังกล่าวไว้ในโคลงกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ทรงแต่งเรื่อง พระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ว่า:-

๏ ชาตรีตลุบตุบทิ้ง กลองโทน
รำสบัดซัดสะเอวโอน อ่อนแปล้
คนกรับรับขยับโยน เสียงเยิ่น
ร้องเรื่องรถเสนแก้ ห่อขยุ้มยาโรย ฯ

แต่ละครชาตรีที่เล่นอยู่ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ เป็นเชื้อสายพวกชาวเมืองพัทลุง ซึ่งอพยพเข้ามาเมื่อในรัชกาลที่ ๓ อีกคราว ๑

ประเพณีเล่นละครชาตรีที่กล่าวมา ว่าตามประเพณีเดิม แต่เดี๋ยวนี้หาเหมือนแต่ก่อนไม่ ด้วยบ้านเมืองบริบูรณ์ขึ้น การเล่นก็เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของบ้านเมือง เป็นต้นว่า ละครโนห์ราชาตรีที่เล่นในมณฑลนครศรีธรรมราชทุกวันนี้ มีตัวละครมากขึ้น ไม่เล่นแต่ ๓ คนเหมือนแต่ก่อน เงินโรงซึ่งเคยเรียกวันละ ๒ บาท เดี๋ยวนี้ก็เรียกเป็นวันละ ๘ บาท ๑๐ บาท ส่วนละครชาตรีที่เล่นในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ ก็ทิ้งแบบอย่างละครโนห์รามาเล่นเป็นอย่างละครนอกเสียเป็นพื้น ยังรู้ว่าเป็นละครชาตรีแต่ด้วยเครื่องปี่พาทย์กับทำนองเวลาแรกลงโรงเท่านั้น

ประเพณีละครนอก

ละครนอกที่เล่นกันในกรุงฯ เห็นจะแก้ไขแบบแผนหันมาเอาอย่างละครใน ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าเป็นลำดับมาจนทุกวันนี้ ละครนอกกับละครในเกือบจะเป็นอย่างเดียวกัน ยังผิดกันแต่ชั่วทำนองร้องกับกระบวนเล่นบางอย่าง เพราะฉะนั้นข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้ ประเพณีอย่างใดที่ละครนอกกับละครในเหมือนกัน จะอธิบายรวมกันไว้ในตอนว่าด้วยประเพณีละครนอก จะคัดแต่ข้อที่ละครในผิดกับละครนอกไปอธิบาย เมื่อว่าด้วยประเพณีละครใน

กระบวนรำละครที่ฝึกหัดกันในกรุงฯ พิสดารกว่าที่หัดละครโนห์ราชาตรีในมณฑลนครศรีธรรมราชมาก มีคำกลอนของเก่าบอกตำราท่ารำต่างๆ ไว้ดังนี้:-

กลอนตำรารำ

เทพนม, ปฐม, พรหมสี่หน้า
สอดสร้อยมาลา, ช้านางนอน
ผาลาเพียงไหล่, พิสมัยเรียงหมอน
กังหันร่อน, แขกเต้าเข้ารัง
กระต่ายชมจันทร์, จันทร์ทรงกลด
พระรถโยนสาร, มารกลับหลัง
เยื้องกราย, ฉุยฉายเข้าวัง
มังกรเรียกแก้วมุจลินท์
กินนรรำ, ซ้ำช้างประสานงา
ท่าพระรามมาก่งศิลป์
ภมรเคล้า, มัจฉาชมวาริน
หลงใหลได้สิ้น, หงส์ลินลา
ท่าโตเล่นหาง, นางกล่อมตัว
รำยั่ว, ชักแป้งผัดหน้า
ลมผัดยอดตอง, บังพระสุริยา
เหราเล่นน้ำ, บัวชูฝัก
นาคาม้วนหาง, กวางเดินดง
พระนารายณ์ฤทธิรงค์ขว้างจักร
ช้างหว่านหญ้า, หนุมานผลาญยักษ์
พระลักษมณ์แผลงอิทธิฤทธี
กินนรฟ้อนฝูง, ยูงฟ้อนหาง
ขัดจางนาง, ท่านายสารถี
ตระเวนเวหา, ขี่ม้าตีคลี
ตีโทนโยนทับ, งูขว้างค้อน
รำกระบี่สี่ท่า, จีนสาวไส้
ท่าชะนีร่ายไม้, ทิ้งขอน
เมขลาล่อแก้วกลางอัมพร
กินนรเลียบถ้ำ, หนังหน้าไฟ
ท่าเสือทำลายห้าง, ช้างทำลายโรง
โจงกระเบนตีเหล็ก, แทงวิสัย
กรดสุเมรุ, เครือวัลย์พันไม้
ประลัยวาต, คิดประดิษฐ์ทำ
กระหวัดเกล้า, ขี่ม้าเลียบค่าย
กระต่ายต้องแร้วแคล้วถ้ำ
ชักซอสามสายย้ายลำนำ
เป็นแบบรำแต่ก่อนที่มีมา[๒]

ฯ ๑๘ คำ ฯ

ในหนังสือบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ตอนพระนารายณ์ปราบนนทุก ก็คัดท่ารำต่างๆ ไปแต่งเป็นบทนางนารายณ์รำว่า:-

เทพประนม, ปฐม, พรหมสี่หน้า สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน
ทั้งกวางเดินดง, หงส์บิน กินรินเลียบถ้ำอำไพ
อีก ช้านางนอน, ภมรเคล้า แขกเต้า, ผาลาเพียงไหล่
เมขลาโยนแก้วแววไว มยุเรศฟ้อนในอัมพร
ลมพัดยอดตอง, พรหมนิมิต ทั้งพิสมัยเรียงหมอน
ย้ายท่ามัจฉาชมสาคร พระสี่กรขว้างจักรฤทธิรงค์
ฝ่ายว่านนทุกก็รำตาม ด้วยความพิสมัยใหลหลง
ถึงท่านาคาม้วนหางวง ก็ชี้ลงถูกเพลาเข้าทันใด

ดังนี้ ก็เห็นได้ว่ามาแต่ตำราอันเดียวกัน เป็นแต่เลือกคัดมาบางท่าแต่พอเหมาะแก่การเล่นละคร

ละครที่ฝึกหัดในกรุงเทพฯ[๓] ก็มักหัดแต่เด็กเหมือนละครโนห์ราชาตรีในมณฑลนครศรีธรรมราช วิธีหัดละครนั้นชั้นต้นครูหัดให้รำเพลงต่างๆ คือที่ ๑ เพลงช้า ที่ ๒ เพลงเร็ว ที่ ๓ เชิดกลอง ที่ ๔ เสมอ รำได้แล้วจึงหัดให้รำใช้บท อย่างนี้เป็นสามัญเหมือนกันหมดทุกคน แล้วแต่ใครจะหัดเป็นตัวยืนเครื่องหรือเป็นตัวนาง ครูก็หัดให้ตามกระบวนนั้น ถ้าครูเห็นว่าศิษย์คนไหนฉลาดท่วงทีจะรำเป็นละครตัวดีได้ ก็หัดเพลงรำสำหรับละครตัวดีเพิ่มเติมต่อไปอีกชุด ๑ เช่น รำเชิดฉิ่ง รำลงสรง และออกกลม เป็นต้น รำใช้บทก็หัดเพิ่มเติมให้ถึงบทละครตัวเอก เช่นรำโอ้โลม เป็นต้น และยังมีกระบวนที่หัดอนุโลมตามแบบโขน เช่นรำท่ายักษ์และท่าลิง และออกกราวออกคุกพาทย์เป็นต้น เหล่านี้ก็อยู่ในจำพวกวิชาที่หัดเพิ่มเติมให้แต่บางคนเหมือนกัน

เมื่อฝึกหัดกระบวนรำชั้นต้นได้ตลอดแล้ว ครูจึงครอบให้เป็นละคร การที่จะครอบละครนั้น ครอบได้แต่ครูผู้ชาย ครูผู้หญิงถึงจะดีวิเศษอย่างไรก็ครอบไม่ได้ ครูผู้ที่จะครอบละครต้องเป็นผู้ที่มีอายุและมีชื่อเสียงในการเล่นโขนละคร จนคนทั้งหลายยกย่องเป็นครูบาอาจารย์โดยมากแล้ว จึงจะเชิญให้เป็นครูครอบละคร ในสมัยหนึ่งไม่มีกี่คน มีตัวอย่างดังเช่น ครูเกษ เดิมเป็นตัวพระรามโขนข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นครูครอบละครเมื่อในรัชกาลที่ ๔ บรรดาละครครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งยังมีตัวเหลืออยู่ในเวลานี้ ได้ลองถามทั้งผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นละครหลวง และพวกละครเชลยศักดิ์ข้างนอกบอกว่าครูเกษครอบให้แทบทั้งนั้น ในเวลาที่แต่งหนังสือนี้ ครูครอบละครก็ปรากฏชื่อเสียงแต่พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี) กับพระสุนทรเทพระบำ (เปลี่ยน) ๒ คนนี้ ดูเหมือนจะเป็นครูครอบละครทั้งบ้านทั้งเมืองก็ว่าได้

การครอบละครในกรุงฯ ทำพิธีพิสดารมาก เบื้องต้นต้องหาฤกษ์และหาโรงพิธีให้กว้างขวางพอแก่การ มักทำที่โรงละครแห่งใดแห่งหนึ่ง และมีเจ้าของละครเป็นผู้จัดการอุปการะด้วย จึงจะทำการได้สะดวก

ลักษณะจัดโรงพิธีครอบละครนั้น ทางด้านหุ้มกลองฝ่าย ๑ จัดเป็นหน้าพระ มีเตียงตั้งพระพุทธรูปไว้ชั้นสูง ชั้นรองลงมาตั้งเทวรูป ถัดลงมาตั้งหัวโขนของเก่าที่นับถือเป็นครูปัทยาย คือหัวฤๅษี ๑ พระอิศวร ๑ พระวิศนุกรรม ๑ พระพิราพ ๑ พระราม ๑ พระลักษมณ์ ๑ กับชฎา ๑ รัดเกล้า ๑ หนังค่างสำหรับครอบหัวจำอวด ๑ ทางด้านหุ้มกลองอีกฝ่าย ๑ จัดตั้งวงปี่พาทย์ มีเครื่องบูชาตั้งทั้ง ๒ ฝ่าย และปี่พาทย์นั้นต้องหาตัวครูที่สำคัญมาตีตะโพน เพราะสมมติที่ตะโพนเป็นพระประคนธรรพ[๔] ในการไหว้ครู ครูผู้ครอบละครอยู่ในมณฑลที่กลางโรงพิธีกับพวกศิษย์ทั้งปวง

การพิธีที่ทำนั้นเป็น ๓ ภาค คือพิธีสงฆ์ภาค ๑ พิธีไหว้ครูภาค ๑ พิธีครอบภาค ๑ และพิธีสงฆ์นั้น นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในตอนบ่าย ให้พวกศิษย์ฟังสวดมนต์เหมือนทำนองพิธีโกนจุก รุ่งขึ้นเช้าเลี้ยงพระ ครั้นพระสงฆ์กลับแล้ว จึงเริ่มทำพิธีไหว้ครูอันเป็นภาคที่ ๒ คือครูที่จะครอบนุ่งขาวห่มขาว เริ่มการพิธีนำศิษย์จุดธูปเทียน บูชาพระและบูชาครูปัธยายทางหน้าพระ เรียกหน้าพาทย์ให้ทำเพลงสาธุการ แล้วหันหน้ากลับไปบูชาพระประคนธรรพทางปี่พาทย์ เมื่อบูชาพระประคนธรรพแล้ว หันหน้ากลับมาทางหน้าพระอีก คราวนี้ครูเรียกหน้าพาทย์ให้ทำเพลงต่างๆ บูชาครูปัทยายเรียงเป็นลำดับกัน คือ:-

  1.  ทำเพลงเหาะบูชาพระอิศวร
  2.  ทำเพลงกลมบูชาพระวิศณุกรรม
  3.  ทำเพลงรอนบูชาพระพิราพ
  4.  ทำเพลงเชิดฉิ่งบูชาครูนาง
  5.  ทำเพลงแผละบูชาพระยาครุฑ[๕]

ครั้นทำเพลงบูชาครูปัธยายเสร็จแล้ว ครูจึงเรียกหน้าพาทย์ให้ทำเพลงลงสรง แล้วประโปรยน้ำหอมสรงเทวรูป ครั้นเสร็จแล้วครูจึงเรียกหน้าพาทย์ให้ทำเพลงโปรยข้าวตอก ครูลุกขึ้นนำศิษย์รำถวายเครื่องพลีกรรมครูปัธยาย และพระประคนธรรพ ครั้นรำถวายเครื่องพลีกรรมแล้วจึงเซ่นสุรา เรียกหน้าพาทย์ให้ทำเพลงนั่งกินและเพลงเซ่นเหล้า ครั้นเซ่นเสร็จแล้วจึงพร้อมกันสมโภชครูปัธยาย ปี่พาทย์ก็ทำเพลงทำขวัญ ครูกับศิษย์พร้อมกันเวียนเทียนเตียงมณฑล และวงปี่พาทย์ครบ ๓ รอบ แล้วครูเจิมจุณเทวรูปและหน้าโขนเป็นเสร็จวิธีไหว้ครู แต่นี้เริ่มทำพิธีครอบละครอันเป็นภาคที่ ๓ ต่อไป

ลักษณะวิธีครอบละครนั้น เอาขันสาครลายสิบสองนักษัตรคว่ำไว้กลางโรงตรงหน้าพระลงมา (เหมือนแบบครอบละครโนห์ราชาตรี ผิดกันแต่ไม่ใช้คลุมด้วยหนังเสือ) มีผ้าขาวปูบนก้นขัน ตัวครูผู้ครอบเอาหนังค่างใส่ในหัวฤๅษี แล้วเอาขึ้นสวมศีรษะสมมติตนเป็นพระฤๅษี[๖] เรียกหน้าพาทย์ให้ทำเพลงพราหมณ์เข้า แล้วถือไม้เท้ารำเข้ามานั่งบนก้นขัน เรียกหน้าพาทย์ให้ทำเพลงมหาฤกษ์ แล้วเรียกศิษย์ที่จะครอบเข้าไปครอบทีละคน ครูเจิมให้แล้วถอดหัวฤๅษี (กับหนังค่าง) ออกจากศีรษะตนครอบศีรษะให้ศิษย์ก่อน แล้วเอากลับมาใส่อย่างเดิม จึงเอาหัวโขนพระอิศวรกับหัวโขนพระพิราพครอบให้เป็นลำดับกัน แล้วรดน้ำสังข์ใส่ด้ายมงคลที่ศีรษะศิษย์และให้ใบไม้มงคลทัดหู คือใบเงิน ใบทอง หญ้าแพรก คอกมะเขือมัดเป็นช่อ ผู้ที่จะเป็นยืนเครื่องให้ทัดหูขวา ผู้ที่จะเป็นนางให้ทัดหูซ้าย ครูทำให้ดังกล่าวมานี้ทีละคนจนครบตัวผู้ที่จะครอบเป็นละคร

ครั้นครอบแล้ว ครูจึงเรียกหน้าพาทย์เพลงช้ากับเพลงเร็วให้ศิษย์รำ “ถวายมือ” พร้อมกัน ครั้นรำถวายมือจบแล้ว ครูเรียกหน้าพาทย์พราหมณ์ออก ครูรำออกไปพอพ้นมณฑลพิธี แล้วถอดหัวฤๅษีออกจากศีรษะ เป็นเสร็จการพิธีครอบเพียงเท่านั้น

พิธีครอบละครที่กล่าวมานี้กินเวลาช้ามาก ถ้าจำนวนศิษย์มากตั้งแต่ลงมือเลี้ยงพระสงฆ์ไป บางทีไปเสร็จการพิธีเอาราวบ่าย ๒ นาฬิกา ถ้าจำนวนศิษย์ที่จะครอบน้อยก็ค่อยเร็วเข้าสักหน่อย ลักษณะครอบละครนอกสืบได้ความดังแสดงมานี้

ละครนอกที่เล่นกันในกรุงเทพฯ แต่ก่อนมา[๗] ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือเป็นละครมีเจ้าของอย่าง ๑ เป็นละครประสมโรงอย่าง ๑ ผู้เป็นเจ้าของละครมักเป็นโขนหรือเป็นละครของผู้อื่นอยู่ก่อน ครั้นเล่นดีมีชื่อเสียงแล้ว จึงแยกมารวบรวมพวกพ้องฝึกหัดเล่นเป็นละครขึ้นโรงหนึ่งต่างหาก ดังเช่นนายบุญยังเมื่อรัชกาลที่ ๑ และเจ้ากรับเมื่อรัชกาลที่ ๓ เป็นตัวอย่าง ตัวเจ้าของละครเป็นครูด้วย และเป็นตัวละครสำคัญในโรงนั้นด้วย คงมาแต่เหตุนี้จึงเรียกกันว่า “นายโรง” อันความบ่งว่าเป็นหัวหน้าของละครโรงนั้น ไม่เกี่ยวแก่ข้อที่จะเป็นตัวยืนเครื่องหรือเป็นตัวนาง แต่นายโรงโดยมากมักเป็นตัวยืนเครื่อง (เช่นเจ้ากรับเป็นต้น) คนจึงเลยเรียกบรรดาตัวยืนเครื่องว่านายโรงไปเสียทั้งนั้น ที่จริงแต่เดิมที่เรียกว่านายโรงกับตัวยืนเครื่องหาได้หมายความเป็นอย่างเดียวกันไม่ ละครนอกที่เจ้าของมิได้เป็นละครเองก็มี เพราะบางทีมีผู้ที่ได้รับมรดกเครื่องละครของผู้อื่น หรือคฤหบดีที่มีสมัครพรรคพวกเป็นครูละคร ก็คิดหัดละครขึ้นสำหรับให้เล่นหาผลประโยชน์ ถ้าเช่นนี้ก็ต้องหาตัวนายโรงละครต่างหาก

ละครประสมโรงนั้น คือผู้ที่เล่นละครได้ แต่ไม่ปรารถนา หรือไม่สามารถจะรวบรวมผู้คนตั้งเป็นละครของตนขึ้นโรงหนึ่งต่างหาก จึงเป็นแต่รับจ้างเขาเล่นประสมโรงกับผู้อื่น บางทีเขาไปหา บางทีตัวรับงานมาหาตัวละครประสมโรงไปเล่น ตัวละครที่เล่นประสมโรงเช่นนี้มีมาก[๘] บางคนก็มีชื่อเสียงโด่งดัง ดังเช่นนายต่ายขุนช้างเมื่อรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นแต่เล่นประสมโรงกับผู้อื่น หามีละครโรงของตนไม่ พวกละครที่เล่นประสมโรงต้องมีชฎารัดเกล้าและเครื่องแต่งตัวของตนเองพร้อมเสร็จ ใครหาไปเล่นได้ไม่ต้องกวนผู้หา ค่าจ้างก็มีอัตรากัน เป็นยุติดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า ไม่ต้องไต่ถามตามต่อกันในเวลาหาไปเล่นละคร เพราะฉะนั้นถึงเป็นแต่ละครประสมโรง ถ้ามีผู้หาเล่นอยู่เนืองๆ ก็หาผลประโยชน์ได้พอเลี้ยงชีพ

ละครนอกแต่ก่อนที่เล่นได้ผลประโยชน์ร่ำรวย จนถึงสามารถสร้างวัดได้ ดังเช่นนายบุญยังสร้างวัดละครทำที่หลังบ้านขมิ้น และเจ้ากรับสร้างวัดนายโรงที่บางตำหรุ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่าวัดสัมมัชผลนั้น อาศัยเหตุ ๒ อย่างประกอบกัน คือเบื้องต้นตัวนายโรงเป็นผู้มีชื่อเสียง คนหาเล่นงานไม่ใคร่ขาดอย่าง ๑ และเมื่อได้ผลประโยชน์มาเข้าใจใช้เป็นทุนต่อไปด้วยอีกอย่าง ๑ เจ้าของละครที่เป็นผู้มีชื่อเสียงทุนรอนมาก เช่นเจ้ากรับสามารถจะชักชวน หรือช่วยคนมาฝึกหัดเป็นละครอยู่ประจำโรง และอาจจะสร้างสมเครื่องละครตลอดจนเครื่องปี่พาทย์เป็นของตนเองได้ครบครันจนอาจจะรับงานเล่นได้ถึง ๓ โรงพร้อมกัน ละครที่เจ้าของลงทุนทั้งหมดเช่นนี้ เงินโรงได้มามากน้อยเท่าใด ก็เป็นของเจ้าของละครแล้วแต่จะแจกจ่ายให้ปันแก่ผู้ใดเท่าใดก็ได้ตามชอบใจ จึงได้กำไรมาก แต่เจ้าของละครที่มีทุนน้อย หรือเป็นแต่เล่นประสมโรง เวลารับงานเขาแล้วก็ต้องเที่ยวหาตัวละครแห่งอื่น และหาปี่พาทย์ของผู้อื่นมาทำ ต้องเสียค่าจ้างเขาตามอัตรา ต่อเงินโรงเหลืออยู่จากค่าจ้างเท่าใดจึงจะได้แก่เจ้าของละคร ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะเล่นละครได้ผลประโยชน์ร่ำรวย อย่างนายบุญยังและเจ้ากรับจึงมีน้อย

ลักษณะที่ละครเล่นงานต่างๆ ในกรุงเทพฯ ไม่เที่ยวหางานเหมือนละครโนห์ราชาตรีทางมณฑลนครศรีธรรมราชซึ่งกล่าวมาแล้ว บ้านเจ้าของละครอยู่ที่ไหน ก็เป็นแต่เอาเครื่องละคร คือเครื่องทำเทียมศัสตราวุธสำหรับเขน มีธงแดงเป็นต้น ใสกระบอกซองคลีตั้งไว้ข้างหน้าบ้านให้คนเห็น ใครเห็นก็รู้ว่าจะหาละครได้ ณ ที่นั้น เมื่อมีผู้ใดไปหาละคร พวกละครกำหนดประเภทงานต่างกันเป็น ๓ อย่าง เรียกว่า “งานฉาก” อย่าง ๑ “งานปลีก” อย่าง ๑ “งานเหมา” อย่าง ๑ ที่เรียกว่างานฉากนั้น คืองานชนิดที่แต่งโรงถึงกั้นฉากให้ละครเล่น เช่นมีในงานโกนจุกบุตรธิดาของผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นต้น นับเป็นงานใหญ่ซึ่งต้องเล่นเต็มกำลังและฝีมือ เรียกเงินโรงแรงกว่างานอย่างอื่นๆ ที่เรียกว่างานปลีกนั้น คืองานชนิดที่หาละครไปเล่นเป็นสามัญ ดังเช่นเล่นแก้สินบนหรือเล่นงานโกนจุกลูกชาวบ้าน แต่ก่อนมักเล่นในโรงโถง (เหมือนอย่างเช่นละครชาตรีเล่นอยู่ทุกวันนี้) ไม่มีฉากกั้นเป็นนอกโรงในโรง ตัวละครถึงบทก็ลุกขึ้นเล่น ถ้าสิ้นบทก็ลงนั่งอยู่กับพวกลูกคู่ มีเรื่องเล่ากันมาว่า นายบุญยังตัวนายโรงละครนอกที่มีชื่อเสียงครั้งรัชกาลที่ ๒ นั้น เป็นคนมีโรคประจำตัว เวลาถึงบทลุกขึ้นจะรำมักต้องยืนยึดเสาโรงพักเสียหน่อยหนึ่งก่อนแล้วจึงรำ พวกละครที่นับถือฝีมือนายบุญยังเลยจำเอามาเป็นท่าละคร พากันยึดเสาโรงอย่างนายบุญยังอยู่ตลอดสมัยหนึ่ง ที่เรียกว่างานเหมานั้น เกิดแต่นายบ่อนเบี้ยหาละครไปเล่นที่บ่อน โดยประสงค์จะล่อให้คนมาดูละครแล้วจะได้เลยเข้าไปแทงถั่วโป ละครจะเล่นอย่างไรๆ ไม่ว่า ต้องการแต่จะเสียเงินโรงให้ย่อมเยาเป็นประมาณ จึงตกลงเป็นวิธีหาละครไปเล่นคราวละ ๑๐ วันเป็นกำหนด เรียกว่างานเหมาด้วยเหตุนี้

ลักษณะงาน ๓ อย่างที่กล่าวมา พวกละครนอกใช้เป็นหลักของวิธีจัดการทั้งปวง ตั้งแต่กะจำนวนตัวละครเป็นต้น ตลอดไปจนอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกจากเจ้าของงาน จะอธิบายให้เห็นลักษณะการที่จัดต่อไป

  1. จำนวนคนเล่นละคร ถ้าเล่นงานฉาก ตัวละครต้องมี ๑๔ คน คือนายโรง ๑ ยืนเครื่องตัวรอง ๒ เสนา ๔ นางเอก ๑ นางรอง ๒ นางกำนัล ๔ จำอวด ๒ เขน (ฝ่ายละ ๖ คนเป็น) ๑๒ คน รวมคนเล่นละคร ๒๘ คน ตัวเจ้าของโรงเช่นเจ้ากรับต้องไปเล่นเอง และบางทีต้องหาละครตัวดีที่อื่นมาประสมโรงเล่นให้ชอบใจเจ้าของงาน นอกจากตัวละครยังมีคนบอกบทคน ๑ (ไม่ต้องมีต้นเสียงเพราะละครนอกตัวละครเป็นต้นบทเอง) ลูกคู่ ๑๒ คน ปี่พาทย์เครื่องคู่ ๘ คน คือเป่าปี่ใน ๑ ปี่นอก ๑ ตีระนาดเอก ๑ ระนาดทุ้ม ๑ ฆ้องวงใหญ่ ๑ ฆ้องวงเล็ก ๑ ตีตะโพน ๑ ตีกลอง ๑ บางทีมีคนตีกลองแขกอีก ๒ คน รวมทั้งโรงถึง ๕๑ คน ถ้าเล่นงานปลีกมีตัวละคร ๑๓ คน (คือลดตัวยืนเครื่องรองเสียคน ๑) มีจำอวด ๒ คน รวมคนเล่น ๑๕ คน ไม่มีเขน และตัวเจ้าของโรงไม่ใคร่ไปเล่นเอง มีคนบอกบทคน ๑ ลูกคู่ ๘ คน ปี่พาทย์เครื่องสามัญ ๕ คน (คือ ลดปี่นอก ๑ ระนาดทุ้ม ๑ ฆ้องเล็ก ๑ กลองแขก ๒) รวมทั้งโรงเป็น ๒๙ คน ถ้าเล่นงานเหมามีตัวละคร ๘ คน จำอวด ๒ คน รวมคนเล่น ๑๐ คน คนบอกบทคน ๑ ลูกคู่ ๕ คน ปี่พาทย์ ๕ คน รวมทั้งโรงเป็น ๒๑ คน
  2. เวลาเล่นละคร ถ้าเล่นงานฉากลงโรงเวลาเช้า ๗ นาฬิกาเศษ เพราะมักเป็นงานมีฤกษ์ เล่นไปจนบ่าย ๕ นาฬิกาจึงลาโรง กลางวันละครผลัดกันกินอาหารไม่หยุดเล่น ถ้าหาเล่นกลางคืนด้วย พอค่ำสัก ๗ นาฬิกาก็ลงโรงอีก เล่นไปจนเที่ยงคืนจึงลาโรง ถ้าเล่นงานปลีก ลงโรงเวลาเช้าราว ๘ นาฬิกา เล่นไปจนเที่ยงหยุดกินอาหาร แล้วจับเล่นตอนบ่ายแต่เวลาราว ๒ นาฬิกา ไปจนบ่าย ๕ นาฬิกาลงโรง ถ้าหาเล่นกลางคืนด้วยก็เล่นแต่ ๗ นาฬิกาไปจนเที่ยงคืนอีกพัก ๑ ละครเล่นงานเหมาที่บ่อนเบี้ยไม่เล่นตอนเช้า เพราะเป็นเวลาคนไปทำมาหากิน ยังมิใคร่มีใครมาเล่นเบี้ย ลงโรงเล่นต่อราวบ่าย
    ๒ นาฬิกาไปจน ๕ นาฬิกาหยุดกินข้าว แล้วจับเล่นตอนค่ำแต่ ๗ นาฬิกา ไปจนเที่ยงคืนอีกพัก ๑ จึงลาโรง
  3. เรื่องที่ละครเล่นนั้น ต้องเล่นตามใจเจ้าของงาน เพราะฉะนั้นเงินโรงงานอย่างเดียวกัน จึงเรียกมากบ้างน้อยบ้าง เป็นด้วยเรื่องละครที่ให้เล่นบางเรื่องต้องมีตัวละครมาก บางเรื่องตัวละครน้อย จึงเรียกเงินโรงผิดกัน แต่มีคติอย่างหนึ่งซึ่งถือกันทั่วไปว่า ถ้าเล่นเป็นการทำมิ่งสิ่งขวัญ เช่นงานโกนจุก มักเล่นเรื่องซึ่งมีชื่อเป็นโชคชัย ดังเล่นเรื่องไชยเชฐ และเรื่องสังข์ศิลป์ชัย หรือมิฉะนั้นก็ที่ตัวเรื่องเป็นโชคชัย เช่นเรื่องสังข์ทอง (เพราะชนะพระอินทร์) เป็นต้น ในสมัยหนึ่งแต่ก่อนมา เจ้าของงานชอบให้ละครเล่นเรื่องไชยเชฐชุกชุม จนคนดูเบื่อ ถึงเกิดภาษิตเป็นคำอุปมาว่า “จืดเหมือนเรื่องไชยเชฐ” ดังนี้ เรื่องที่ไม่เป็นโชคชัย เช่นเรื่องรบพุ่งฆ่าฟันกัน มักเล่นในงานพระหรืองานแก้สินบนและงานศพ แต่การเลือกเรื่องละครเล่นงานเหมานั้นแปลกอยู่ ด้วยขุนพัฒน์นายบ่อนมักเป็นจีน ไม่รู้จักเรื่องละครจึงตกลงกันเป็นวิธีอย่าง ๑ คือเอาสมุดบทละครไปวางที่โต๊ะเครื่องบูชาในบ่อน แล้วทอดไม้เสี่ยงทายถามเจ้า ถ้าไม้คว่ำทั้ง ๒ อัน เข้าใจว่าเจ้าไม่ชอบ ต้องหาเรื่องอื่น ถามใหม่ถ้าไม้คว่ำอันหนึ่ง หงายอันหนึ่ง อธิบายว่า เจ้าเป็นแต่ยิ้มอยู่ คือเป็นอุเบกขา จะเล่นเรื่องนั้นก็ได้ไม่ว่า ถ้าไม้หงายทั้ง ๒ อัน แปลว่า เจ้าชอบใจอยากจะดูเรื่องนั้น
  4. ค่าธรรมเนียมที่ละครเรียกจากเจ้าของงานนั้นเรียกเป็นค่าธรรมเนียม ๓ อย่าง คือค่ากำนลอย่าง ๑ ค่าเบี้ยเลี้ยงอย่าง ๑ เงินโรงอย่าง ๑ ค่ากำนลเรียกวันละ ๒ สลึงเฟื้อง (๖๒ สตางค์ครึ่ง) แบ่งให้ตัวนายโรงเป็นค่าอุบะห้อยหูเฟื้องหนึ่ง ใหจำอวดเป็นค่า (เครื่อง) เขียนหน้าสลึงหนึ่ง ให้คนปี่ (นายวงปี่พาทย์) สลึงหนึ่ง ค่ากำนลส่วนของนายวงปี่พาทย์นั้น ทำนองจะเรียกค่าเครื่องบูชาครู แต่อธิบายกันว่าสำหรับเร่งให้โหมโรง เพราะถ้าปี่ไม่เป่าชักปี่พาทย์ให้โหมโรงก่อน ละครก็เล่นไม่ได้ ค่ากำนลที่กล่าวมานี้ ละครเรียกก่อนลงโรงทุกวัน ค่าเบี้ยเลี้ยงนั้นเรียกวันละ ๒ บาท ๕๐ สตางค์ เจ้าของละครเป็นผู้จัดการซื้อหาอาหารที่เลี้ยงละคร เงินโรงนั้นเรียกเป็นอัตราต่างกันตามประเภทงาน ประกอบกับเรื่องที่ละครเล่นคนมากและคนน้อย เงินโรงงานฉากเรียกวันละ ๔๘ บาทเป็นอย่างสูง วันละ ๔๐ บาทอย่างต่ำ เงินโรงงานปลีกเรียกวันละ ๒๔ บาทเป็นอย่างสูง วันละ ๑๖ บาทเป็นอย่างต่ำ ถ้าหากเล่นกลางคืนด้วย คิดเพิ่มเงินโรงอีกกึ่งหนึ่งเหมือนกัน ทั้งงานฉากและงานปลีก แต่งานเหมานั้นเหมากัน ๑๐ วัน เป็นเงิน ๑๐๐ บาท รวมค่าเบี้ยเลี้ยงอยู่ในนั้นเสร็จ
  5. อัตราค่าจ้างที่ตัวละครได้นั้นต่างกันตามที่เป็นตัวดีและเลว และประกอบกับลักษณะงานที่เล่นด้วย

ตัวละครที่มีชื่อเสียงเช่นเจ้ากรับ เล่นงานฉากได้วันละ ๓ บาท ถ้าเล่นงานปลีกได้วันละ ๒ บาท งานเหมาไม่เล่น

ตัวนายโรงสามัญ เล่นงานฉากได้วันละ ๒ บาท เล่นงานปลีกได้วันละ ๖ สลึง เล่นงานเหมาได้วันละบาท ๑

ตัวยืนเครื่องสามัญ เล่นงานฉากได้วันละบาท ๑ เล่นงานปลีกได้วันละ ๓ สลึง เล่นงานเหมาได้วันละสลึงเฟื้อง

ตัวจำอวด เล่นงานฉากได้วันละ ๖ สลึง เล่นงานปลีกได้วันละบาท ๑ เล่นงานเหมาได้วันละ ๒ สลึง

เขนเล่นแต่งานฉาก ได้วันละสลึง ๑ (เขนมักเป็นเด็กๆ หัดรำได้ ๓ ท่าก็เล่นได้ จึงเรียกกันว่า สามท่าสลึง”)

ตัวนางเอก เล่นงานฉากได้วันละ ๖ สลึง เล่นงานปลีกได้วันละบาท ๑ เล่นงานเหมาได้วันละ ๓ สลึง

ตัวนางรอง เล่นงานฉากได้วันละบาท ๑ เล่นงานปลีกได้วันละ ๓ สลึง เล่นงานเหมาได้วันละ ๒ สลึง

ตัวนางกำนัล เล่นงานฉากได้วันละ ๒ สลึง เล่นงานปลีกได้วันละสลึงเฟื้อง เล่นงานเหมาได้วันละสลึง ๑

คนนอกบท เล่นงานฉากได้วันละ ๖ สลึง เล่นงานปลีกได้วันละบาท ๑ เล่นงานเหมาได้วันละ ๒ สลึง

ลูกคู่ เล่นงานฉากได้วันละ ๒ สลึง เล่นงานปลีกได้วันละสลึงเฟื้อง เล่นงานเหมาได้วันละเฟื้อง

ค่าปี่พาทย์ งานฉากปี่พาทย์เครื่องคู่ คนปี่ในซึ่งเป็นนายวงได้วันละ ๒ บาท (กับค่ากำนล) นอกนั้นคนหนึ่งวันละบาท ๑ งานปลีกคนปี่ได้บาท ๑ นอกนั้นคนละ ๒ สลึง แต่งานเหมาค่าปี่พาทย์ทำ ๑๐ วัน เหมากันเป็นเงิน ๑๘ บาท

อัตราค่าจ้างที่กล่าวมา เจ้าของละครให้แต่เฉพาะผู้ที่ต้องจ้าง ถ้าเป็นลูกหลานหรือบ่าวไพร่ ก็แจกจ่ายให้แต่ตามเห็นสมควร

ประเพณีละครนอกที่กล่าวมานี้ เป็นอย่างที่เล่นกันเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ แต่มาในชั้นหลังถึงในรัชกาลที่ ๕ ละครนอกเล่นงานฉากรับแต่งโรงเอง เรียกเงินโรงถึงวันละ ๒๔๐ บาท เล่นงานปลีกก็เรียกถึงวันละ ๑๒๐ บาท และอัตราเงินโรงงานเหมาก็ทวีขึ้นไปถึงวันละ ๒๐ บาท

ประเพณีละครใน

ได้กล่าวมาแล้วว่า ละครนอกเอาแบบอย่างละครในไปใช้โดยมาก ส่วนละครในนั้น ก็ละครหลวงที่เป็นต้นแบบแผนของละครในโรงอื่นๆ ทั่วไป ละครหลวงตั้งแบบแผนอย่างใดขึ้น ละครในโรงอื่นก็คอยทำตาม แล้วละครนอกก็เอาอย่างต่อไปอีก เห็นจะเป็นเช่นนี้มาแต่ครั้งกรุงเก่า มีอุทาหรณ์ซึ่งจะยกมาเป็นตัวอย่าง ดังเช่นเครื่องแต่งตัวละคร เดิมทีเดียวตัวยืนเครื่องละครก็ไม่ใส่เสื้อ ครั้นยืนเครื่องละครผู้หญิงของหลวงใส่เสื้อ ละครผู้ชายที่หัดเล่นละครในก็ใส่เสื้อด้วย ถือว่าเป็นแบบละครใน ประเพณีที่ตัวยืนเครื่องใส่เสื้อก็เลยแพร่หลายตลอดไปจนถึงละครนอก ยังคนไม่ใส่เสื้ออยู่แต่พวกละครโนห์ราชาตรี เพราะเหตุที่อยู่ห่างไกลราชธานีดังได้อธิบายมาแล้ว แต่มีแบบแผนบางอย่างที่ละครโรงยืนไม่สามารถจะทำตามละครหลวงได้ ดังเช่นพิธีการไหว้ครูและครอบละคร ละครหลวงจึงยังทำผิดกับละครอื่น มีสำเนาหมายรับสั่งครั้งครอบละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ ปรากฏอยู่จะเอามาพิมพ์ไว้ให้เห็น และรักษาไว้มิให้สูญเสียด้วย

สำเนาหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔

เรื่องไหว้ครูละครหลวง เมื่อปีขาล ฉศก พ.ศ. ๒๓๙๗

ด้วยพระยาบำเรอภักดิ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า กำหนดหม่อมละครในพระบรมมหาราชวัง จะได้ออกมาครอบไหว้ครูละคร ณ ชาลาพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระสงฆ์ ๗ รูปจะได้สวดพระพุทธมนต์ ณ ทิมดาบคด ณ วัน (พุธ) แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาบ่าย ครั้นรุ่งขึ้น ณ วัน (พฤหัสบดี) ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๖ เพลาเช้า พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ครูจะได้ครอบหม่อมละครนั้น[๙]

ให้สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์ ๗ รูปมาสวดพระพุทธมนต์แล้วรับพระราชทานฉัน รับเภสัชอังคาสต่อวิเสทหมากพลูถวายพระสงฆ์เช้า ๘ พาน บ่าย ๗ พาน เมื่อจะนิมนต์พระสงฆ์นั้น ให้ทูลถามพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ก่อน (แล้วแต่จะทรงกะให้นิมนต์พระสงฆ์องค์ใดบ้าง)

อนึ่ง ให้ชาวพระคลังในซ้าย จัดขันสิบสองนักษัตรไปตั้งที่เตียง (มณฑล) ขันหนึ่ง แล้วให้จัดดินสอพองไปตั้งที่เตียงมณฑลให้พร้อมกับขันสิบสองนักษัตร

อนึ่ง ให้พระแก้วพระคลังสวนนายระวาง จัดยอดชัยพฤกษ์ ยอดสวาด ใบรัก ใบเงิน ใบทอง ใบมะตูม ผลมะกรูด ผลมะนาว หญ้าแพรก สิ่งละมัดใหญ่ เอามาส่งต่อนายเวรชาววังแต่ ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเช้า ๓ โมง

อนึ่ง ให้กรมนาจัดมูลโคกระทงหนึ่ง เข้ามาส่งต่อนายเวรชาววัง แต่ ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเช้า ๓ โมง แล้วจ่ายข้าวสารซ้อมต้นนาสวนส่งให้วิเสทหุงถวายพระสงฆ์ ๑๖ ทะนาน

อนึ่ง ให้สนมพลเรือนจัดม่านไปผูก จัดเสื่อลวดเสื่ออ่อนไปปู ณ ทิมดาบคดให้พอทั้ง ๒ ทิมดาบ แล้วให้รับกาบกล้วย ก้านกล้วยต่อกรมพระนครบาล ทำบัตรพระเกตุมาตั้ง ณ ชาลาพระมหาปราสาท ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาบ่ายบัตรหนึ่ง แล้วให้รับเครื่องนมัสการตะบะมุกเชิงต่อท่านพนักงานข้างในไปตั้ง ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ บ่ายสำรับ ๑ ณ วันขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๖ เช้าสำรับ ๑ รวม ๒ สำรับ แล้วรับน้ำชุบาลต่อวิเสทถวายพระสงฆ์ ๗ โถ

อนึ่ง ให้พระครูพิธีพราหมณ์เชิญ (เทวรูป) พระนเรศร์ พระนารายณ์ เข้ามาตั้งที่เตียงมณฑลชาลาพระมหาปราสาทแล้วให้รับเครื่องบัตรต่อวิเสทมาบูชาพระนเรศร์ พระนารายณ์ด้วย แต่ ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาบ่ายโมงครึ่ง

อนึ่ง ให้ชาวพระอภิรมย์ ชาวพระราชยาน จัดเสลี่ยง ๒ สัปทน ๒ ไปรับพระพุทธรูปต่อราชบัณฑิต ไปรับพระนเรศร์ พระนารายณ์ ณ เทวสถาน เชิญเข้ามาตั้ง ณ เตียงพระมณฑลแต่ ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาบ่ายโมงหนึ่ง

อนึ่ง ให้กรมช้างจัดเชือกบาศเข้ามาตั้งที่เตียงมณฑลบาศหนึ่ง

อนึ่ง ให้เจ้าพนักงานชาวพระคลังแสงสรรพยุทธ์ จัดขอมาตั้งที่เตียงพระมณฑลขอหนึ่ง

อนึ่ง ให้ชาวพระคลังวิเสท จัดผ้าขาวกว้างคงบัตรยาว ๔ แขน ๒ ผืน สำหรับจะได้ปูเตียงมณฑลทั้ง ๒ เตียง

อนึ่ง ให้ขุนสุรินทร์ จัดสุราที่เข้มดีมาส่งต่อนายเวรชาววัง ตั้งแต่ ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาบ่ายโมงหนึ่ง

อนึ่ง ให้ชาวพระภูษามาลา จัดครอบ ๑ สังข์ ๑ ไปตั้งที่เตียงมณฑล ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาบ่ายโมงหนึ่ง

อนึ่ง ให้ชาวพระคลังศุภรัต เอาอาสนะไปแต่งถวายพระสงฆ์ให้พอพระสวดพระฉันทั้ง ๒ เพลา

อนึ่ง ให้ชาวพระคลังมหาสมบัติ เอากระโถนขันน้ำไปตั้งถวายพระสงฆ์ให้พอพระสวดพระฉันทั้ง ๒ เพลา

อนึ่ง ให้ทนายเลือกหอก ตำรวจวัง ไปยกสำรับคาวหวานถวายเหมือนอย่างทุกครั้ง

อนึ่ง ให้หมื่นไฉน (ไพเราะห์) จัดปี่พาทย์สำรับ ๑ ให้มีเครื่องพร้อมให้ครบวง อย่าให้เอาปี่พาทย์ตามธรรมเนียมเข้ามาทำ ให้จัดครูที่มีฝีมือเข้ามาทำให้ครบวงทั้ง ๒ เพลา

อนึ่ง ให้ท่านพระยามนตรีสุริยวงศ์ จัดปี่พาทย์สำรับใหญ่สำรับ ๑ ให้จัดคนทำที่ดีมีฝีมือมาคอยทำที่ชาลาพระมหาปราสาททั้ง ๒ เพลา แล้วให้คอยทำละครด้วยเหมือนทุกครั้ง

อนึ่ง ให้ชาวพระคลังราชการ เอาเสื่อลวดไปปูที่ชาลาหน้าพระมหาปราสาทให้พอ

อนึ่ง ให้กรมพระนครบาล ตัดก้านกาบกล้วยมาส่งให้สนมพลเรือนทำบัตรพระเกตุให้พอบัตรหนึ่ง

อนึ่ง ให้ราชบัณฑิตเชิญพระพุทธรูปไปตั้งองค์หนึ่ง เมื่อจะเชิญพระพุทธรูปไปนั้น ให้ทูลถามพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์เสียก่อน (แล้วแต่จะโปรดให้เชิญองค์ใดไป)

อนึ่ง ให้เจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บาญชี ในกรมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ จัดพระประคนธรรพกับหน้าฤๅษี ๘ หน้า หน้าพระราม ๑ หน้า หน้าพระลักษมณ์ ๑ หน้า หน้าหนุมาน ๑ หน้า หน้าทศกรรฐ์ ๑ หน้า หน้าอินทรชิต ๑ หน้า หน้าพิราพ ๑ หน้า หน้ารามสูร ๑ หน้า หน้าช้าง ๑ หน้า หน้าม้า ๑ หน้า ไม้คลีสำรับ ๑ พัดใบตาลเล่ม ๑ (ศรเล่ม ๑) พระขรรค์เล่ม ๑ ขนนกยูงคู่ ๑ ตะบองอัน ๑ เร่งเอาไปเตรียมให้พร้อมที่ชาลาหน้าพระมหาปราสาท ณ วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ เพลาบ่ายโมงหนึ่ง ให้ทันเข้าพระมณฑล[๑๐]

อนึ่ง ให้พนักงานโรงทานแต่งของเผดียง ขึ้นมาถวายพระสงฆ์ ๗ สำรับตามรับสั่ง

___________

หมายรับสั่งมีสำเนาอยู่เท่านี้ หาปรากฏวิธีครอบไม่ ทราบว่าครั้นนั้นนายเกษพระราม ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๓ เป็นครูครอบ วิธีครอบของนายเกษมีปรากฏอยู่[๑๑] ดูพิสดารกว่าวิธีครอบละครนอกที่กล่าวมาแล้ว จึงนำมาแสดงไว้ด้วยสมมติว่าเป็นวิธีครอบละครใน

วิธีครอบละครใน ต้องหาฤกษ์และจัดโรงพิธีอย่างเดียวกับครอบละครนอก เครื่องตั้งเตียงมณฑล นอกจากที่ปรากฏในหมายรับสั่ง ยังมีเทริดกับสมุดบทละครอีก ๒ อย่าง

เริ่มการพิธี พระสงฆ์สวดมนต์เวลาบ่าย ศิษย์ละครใส่มงคลนั่งฟังสวด แล้วพระประน้ำมนต์ให้ ครั้นรุ่งเช้าเลี้ยงพระๆ กลับแล้ว ครูนุ่งขาวห่มขาวนำศิษย์จุดธูปเทียนและถวายดอกไม้บูชาพระก่อน และตอนนี้ยังไม่ทำเพลงปี่พาทย์ เมื่อบูชาพระแล้ว จึงลงมือทำพิธีไหว้ครู

พิธีไหว้ครูนั้น เริ่มแรกครูเรียกหน้าพาทย์ทำเพลงสาธุการ ครูจุดเทียนทองเทียนเงินและธูปบูชาครูปัธยายทางหน้าพระ แล้วเรียกหน้าพาทย์เพลงตระพระประโคนธรรพ ครูหันไปจุดเทียนทองเทียนเงิน และธูป บูชาพระประคนธรรพทางวงปี่พาทย์ ครั้นบูชาเสร็จแล้ว ครูหันกลับมาทางหน้าพระ เรียกหน้าพาทย์เชิญเทวดา คือ:-

ทำเพลงเหาะ เชิญพระอิศวร
ทำเพลงแผละ เชิญพระนารายณ์
ทำเพลงกลม (เชิญเทพยดาอื่นๆ)
ทำเพลงโหมโรง (เชิญครูละคร)
ทำเพลงช้าเพลงเร็ว สำหรับ (ครู) มนุษย์
ทำเพลงกราวนอกกราวใน สำหรับ (ครู) พานร
ทำเพลงเชิดฉิ่ง สำหรับ (ครู) นาง
ทำเพลงคุกพาทย์ สำหรับ (ครู) ยักษ์
ทำเพลงรอนพระพิราพทั้งตัว สำหรับพระพิราพ

เสร็จทำหน้าพาทย์เพลงเชิญครูปัธยายแล้ว ครูเรียกหน้าพาทย์ลงสรง เชิญเทวรูป ออกมาสรงและเจิมจุณ แล้วเชิญกลับขึ้นตั้งไว้อย่างเดิม คราวนี้ถึงถวายเครื่องพลีกรรม ครูเรียกหน้าพาทย์เชิด ครูกับศิษย์ทั้งปวงยกเครื่องพลีกรรมรำถวายครูปัธยาย แล้วหันมาถวายพระประคนธรรพ รำเสร็จแล้ว เรียกหน้าพาทย์ทำเพลงเสมอผี เสมอมารนั่งกินแล้วครูเซ่นสุรา ปี่พาทย์ทำเพลงเซ่นเหล้า เสร็จพิธีไหว้ครูขั้นต้นเพียงนี้ แล้วทำพิธีครอบต่อไป

พิธีครอบนั้นเริ่มด้วยปี่พาทย์ทำเพลงพราหมณ์เข้า ครูนำศิษย์รำเพลงโปรยข้าวตอกบูชาครูปัธยาย และบูชาพระประคนธรรพ แล้วครูเอาหนังค่างใส่ในหัวฤๅษีเอาขึ้นสวมศีรษะตน มือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายถือสังข์ รำเพลงเสมอสามลา เข้ามานั่งบนก้นขันสิบสองนักษัตร ซึ่งมีผ้าขาวคลุมคว่ำไว้ตรงหน้าเตียงตั้งเครื่องครูปัธยาย เรียกศิษย์เข้ามาครอบให้ทีละคน คือถอดหัวฤๅษีกับหนังค่างจากศีรษะครูครอบศีรษะให้ศิษย์ก่อน แล้วเอากลับไปใส่ศีรษะครูตามเดิม ต่อนั้นเอาหัวโขนพระราม พระลักษมณ์ พระพิราพ ทศกรรฐ์ และเทริด ครอบศีรษะให้ศิษย์เป็นอันดับกันไป แล้วรดน้ำสังข์ และให้ใบไม้มงคล คือ ใบมะตูม หญ้าแพรก ใบเงิน ใบทอง ซึ่งมัดเป็นช่อให้ศิษย์ทัดหู และสวมมงคลที่ศีรษะศิษย์ ครอบให้อย่างนี้ทีละคน จนหมดจำนวนศิษย์ซึ่งจะครอบ และปี่พาทย์ทำเพลงมหาชัยไปตลอดเวลาที่ครอบนั้น เมื่อครอบให้หมดแล้ว ครูจึงอำนวยพรให้ศิษย์พร้อมกัน แล้วปี่พาทย์ทำเพลงเสมอเถร ครูรำเป็นทำนองฤๅษีกลับ จบแล้วจึงถอดหัวโขนฤๅษีออกจากศีรษะ เป็นเสร็จพิธีครอบ ทำพิธีบูชาตอนท้ายต่อไป

พิธีที่ทำตอนท้าย เป็นพิธีสมโภชและส่งครูปัธยายกลับ เริ่มด้วยเบิกแว่นเทียนเตียงมณฑล และวงปี่พาทย์ ๓ รอบ แล้วครูทำพิธีเฉลิมเนตรเจิมหน้าโขน เสร็จแล้วครูขึ้นนั่งบนก้นขันสิบสองนักษัตรอีกครั้ง ๑ คราวนี้ให้ร้องบท ครูถือพัดใบตาลรำร่ายใช้บท ครั้นครูรำจบแล้ว ให้ศิษย์พร้อมกันรำเพลงช้าเพลงเร็ว เรียกว่า “รำถวายมือ” ศิษย์รำถวายมือจบแล้ว ทั้งครูและศิษย์รำเพลงกราวรำส่งครูปัธยาย แล้วปี่พาทย์ทำเพลงเชิด เพลงเสมอเข้าม่าน (สมมติว่าครูปัธยายกลับไป) เสร็จการส่งครูปัธยาย ปี่พาทย์ทำเพลงกราวรำอีกครั้ง ๑ เป็นเสร็จการพิธีเท่านี้

เมื่อพิเคราะห์ดูลักษณะพิธีครอบละครโนห์ราชาตรีและครอบละครนอกละครในดังได้กล่าวมา เข้าใจว่าลักษณะที่ครอบละครโนห์ราชาตรี เห็นจะเป็นวิธีครอบละครอย่างเดิม เห็นได้ที่ใช้ครอบด้วยเทริด ลักษณะครอบละครในดังปรากฏในหมายรับสั่ง เห็นจะเอาแบบอย่างวิธีครอบโขนมาใช้ เพราะละครในเนื่องมาแต่โขนดังได้อธิบายมาแล้ว จึงเอาหัวโขนมาครอบ ละครนอกคงเอาอย่างพิธีไปจากละครใน จึงใช้ครอบด้วยหัวโขนเหมือนกัน ข้อที่ปรากฏว่า ตั้งขอช้างและเชือกบาศในการพิธีครอบละครหลวงนั้น เห็นจะเนื่องมาแต่พิธีทอดเชือกดามเชือกของพราหมณ์พฤฒิบาศ เพราะในวิธีนั้นกรมช้างรำพัดชา จึงนับว่าเป็นมงคลเกี่ยวแก่การฟ้อนรำ หรือจะมีเหตุอันใดเกี่ยวเนื่องกับโขนละครยิ่งไปกว่านั้น ข้าพเจ้าหาทราบไม่

ในการเล่นละครใน ไม่เล่นรับงานหาเหมือนอย่างละครนอก เพราะละครในมักเป็นละครของผู้มีบรรดาศักดิ์ฝึกหัดไว้สำหรับประดับเกียรติยศ เป็นแต่เล่นดูเองหรือเล่นในการบำเพ็ญกุศล เช่นฉลองพระ และฉลองวัดเป็นต้น ถ้ามีดูเล่นเอง ตัวละครมักแต่งตัวอย่างปรกติ เป็นแต่ให้รัดกุม ทำบทและรำเต้นให้คล่อง เรียกว่าแต่งอย่างน้อย ต่อเล่นออกงานจึงให้แต่งเครื่องละคร ถ้าหากจะไปเล่นงานตามบ้านเรือนผู้อื่นก็เป็นการที่เจ้าของละครไปเล่นช่วย เช่นเล่นในงานโกนจุกเป็นต้น โดยเป็นมิตรสหายกับเจ้าของงาน เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็มักโปรดให้ละครหลวงไปเล่นช่วยงานที่วังเจ้านาย และบ้านขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งทรงพระกรุณานับเป็นมิตรที่สนิทเนืองๆ ละครที่ไปเล่นช่วยงานเช่นกล่าวมา เจ้าของงานไม่ต้องให้เงินโรง เป็นแต่เลี้ยงดู และแจกบำเหน็จแก่ตัวละคร ตลอดจนพวกปี่พาทย์และคนร้องตามแต่จะเห็นสมควร แต่เจ้าของงานย่อมเป็นผู้มีเกียรติยศสูง จึงจะได้ละครหลวงหรือของผู้มีบรรดาศักดิ์ไปเล่นช่วย บำเหน็จที่แจก ก็ต้องให้ๆสมกับเกียรติยศ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเงินมากกว่าที่จะหาละครนอก เล่ากันว่าค่าบำเหน็จตกประมาณวันละ ๑,๐๐๐ บาทลงมาหา ๕๐๐ บาทเป็นอย่างต่ำ ประเพณีละครในสืบทราบความดังแสดงมา

[๑] ประเพณีละครโนราห์ชาตรีที่อธิบายต่อไปนี้ กล่าวตามคำชี้แจงของนายจงภักดี (ขาว) เป็นพื้น นายจงภักดีเคยเล่นละครโนห์ราชาตรีอยู่ที่เมืองตรัง เมื่อก่อนเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ

[๒] กลอนตำราท่ารำนี้ ได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช แต่เห็นว่าเป็นตำราละครในกรุงฯ มิใช่ตำราโนห์ราชาตรี เพราะแต่งเป็นกลอนแปด ทั้งท่ารำต่างๆ ในกลอนนี้ ก็ตรงกับตำรารำของเก่าที่มีในหอพระสมุดฯ แต่ฉบับที่ได้มา จดตามที่ครูโนห์ราชาตรีเมืองนครศรีธรรมราชจำไว้ได้ กลอนความวิปลาสขาดหายอยู่หลายแห่ง ที่พิมพ์นี้ต้องเอาตำราเก่าสอบซ่อม บางทีอาจจะคลาดกับของเดิมบ้าง

[๓] วิธีหัดและครอบละครนอกที่อธิบายในหนังสือนี้ กล่าวตามคำชี้แจงของพระสุนทรเทพระบำ (เปลี่ยน) เป็นพื้น

[๔] พวกละครเรียกกันว่า พระประคนทับ ทรงพระราชวิจารณ์ในรัชกาลปัจจุบันนี้ว่า ที่ถูกนั้นคือ พระประคนธรรพ หมายความว่าพระฤๅษีนารท ผู้เป็นครูดนตรี

[๕] ที่ว่าเพลงบูชาตรงนี้ ที่แท้เป็นเพลงเชิญประชุมครูปัธยาย เพลงเชิดฉิ่งที่ ๔ เข้าใจว่าเชิญครูละคร เพลงแผละที่ ๕ เข้าใจว่าเชิญพระนารายณ์ซึ่งทรงครุฑ ควรอยู่เป็นที่ ๒ ในลำดับ

[๖] พระฤๅษีที่ครอบละครนี้ ทรงพระราชวิจารณ์ในรัชกาลที่ ๖ ว่า คือพระภรตฤๅษี ซึ่งเป็นผู้คิดการเล่นละคร

[๗] วิธีเล่นละครนอกที่อธิบายต่อไปนี้ กล่าวตามคำชี้แจงของพระภิกษุหมาด วัดตำหรุ จังหวัดธนบุรี เคยเป็นคนบอกบทละครเจ้ากรับมาแต่รัชกาลที่ ๓ บวชเมื่อแก่ (ขณะเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้) อายุได้ ๘๐ ปี แต่ยังพอไต่ถามเอาเรื่องราวได้

[๘] ในแถวถนนหลานหลวงทุกวันนี้ (ขณะเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ พ.ศ. ๒๔๖๔) มีละครชาตรีกว่า ๑๐ โรง โรง ๑ มีตัวละครเพียง ๒ คน ๓ คน เวลาใครหางาน ก็เรียกพวกโรงอื่นมาประสมโรง รับงานเล่นได้ด้วยกันทุกโรง

[๙] พิธีไหว้ครูและครอบละครถือกันว่า ต้องทำวันพฤหัสบดี

[๑๐] หน้าโขนต่างๆ ที่ปรากฏในหมายรับสั่งนี้ ผิดกับครอบละครนอก เห็นจะถือเอาเทวรูปแทนหน้าโขนพระอิศวร พระนารายณ์

[๑๑] ตำราครอบของนายเกษ พระยานัฎกานุรักษ์ (ทองดี) ได้ไว้ พรรณนาในหนังสือนี้ตามคำช้แจงของพระยานัฎกานุรักษ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ