ว่าด้วยละครไทยเล่นเรื่องอิเหนา
มูลเหตุที่ละครไทยเราเล่นเรื่องอิเหนานั้น มีคำเล่าแถลงสืบมาว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระราชธิดาด้วยเจ้าฟ้าสังวาลย์ ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ากุณฑลพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ามงกุฎพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์นี้ มีข้าหลวงเป็นหญิงแขกมลายู เชื้อสายพวกเชลยที่ได้มาแต่เมืองปัตตานี พวกข้าหลวงแขกเล่านิทานเรื่องอิเหนาถวายให้ทรงฟัง เจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ชอบพระหฤทัย จึงทรงแต่เรื่องอิเหนาเป็นบทละครขึ้นพระองค์ละเรื่อง (เพราะเหตุที่เรื่องอิเหนาเล่ากันเป็นหลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว) เรียกว่า ดาหลังเรื่อง ๑ อิเหนาเรื่อง ๑ แต่เป็นเรื่องอิเหนาด้วยกัน คนจึงมักเรียกว่าอิเหนาใหญ่เรื่อง ๑ อิเหนาเล็กเรื่อง ๑ (เห็นจะหมายความกันในครั้งกรุงเก่า ว่าอิเหนาของพระองค์ใหญ่เรื่อง ๑ อิเหนาของพระองค์เล็กเรื่อง ๑ จะหาได้หมายความอย่างอื่นไม่)
เหตุใดเจ้าฟ้าราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์จึงทรงแต่งเรื่องอิเหนาเป็นบทละคร ไม่แต่งเป็นหนังสือกลอนอ่าน ซึ่งมีในครั้งกรุงเก่าเป็นอันมาก ข้อนี้เห็นเป็นเค้าเงื่อนในทางสันนิษฐานอีกอย่าง ๑ เข้าใจว่า คงเป็นเพราะในสมัยนั้นเป็นเวลาสมเด็จพระเจ้าบรมโกศชอบทอดพระเนตรละคร อาจจะเป็นสมัยซึ่งพึ่งแรกมีละครในมาไม่ช้านานนักก็จะเป็นได้ ความข้อนี้มีเนื้อความในจดหมายเหตุทางเมืองพม่าประกอบว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพม่ากับไทยเป็นไมตรีกัน พระเจ้าอังวะให้ราชทูตเข้ามาทูลขอครูช่างหล่อไปจากกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็ให้ราชทูตไปทูลขอครูละครมาแต่เมืองพม่าดังนี้ แต่จะเป็นในรัชกาลไหนหรือเมื่อศักราชเท่าใดหาได้กล่าวไม่ ถึงกระนั้นก็ยุติกับเรื่องที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศนั้น ไทยกับพม่าเป็นไมตรีกัน พระเจ้าอังวะได้ให้ราชทูตเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๒๘๗ และสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ก็ได้โปรดให้พระยายมราชเป็นราชทูตไปตอบแทนถึงเมืองอังวะ คงเป็นในตอนนี้เองที่พม่าว่าได้ครูช่างหล่อไปจากไทย และไทยได้ครูละครมาจากพม่า แต่ครูละครที่ไทยขอมาจากเมืองพม่าครั้งนั้น เห็นจะเอามาสอบสวนหรือให้ฝึกหัดแต่การเล่นบางอย่าง มิใช่เอามาเป็นครูฝึกหัดละครหลวงให้เล่นอย่างละครพม่า เพราะความปรากฏในจดหมายเหตุชั้นหลังต่อมาว่า พระเจ้าอังวะยอมว่าแบบแผนละครไทยดีกว่าละครของพม่า เรื่องราวทั้งปวงชวนให้สันนิษฐานว่า การเล่นละครในเห็นจะฝึกหัดทำนุบำรุงเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศยิ่งกว่าในรัชกาลก่อนๆ บางทีเจ้าฟ้าราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์นั้นจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องในการควบคุมฝึกซ้อมละครหลวงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย คงได้ทรงทราบจากพวกข้าหลวงว่า ละครมายงของแขกที่เมืองมลายู เขามักเล่นเรื่องอิเหนา เพราะเป็นเรื่องที่พวกชวามลายูนับถือกันมาก มีรับสั่งให้ข้าหลวงเล่าเรื่องถวาย เห็นเป็นเรื่องน่าเล่นละคร จึงลองทรงนิพนธ์เป็นบทละครไทยขึ้น ครั้นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ทอดพระเนตรเห็นบทละครนั้น ชอบพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ละครในเล่นเรื่องอิเหนาเรื่อง ๑ ทั้งเรื่องดาหลังอิเหนาใหญ่และเรื่องอิเหนาเล็ก
แต่เรื่องอิเหนา ๒ เรื่องนี้เข้าใจว่า คนพากันชอบเรื่องอิเหนาเล็กมากกว่าเรื่องดาหลังอิเหนาใหญ่ มาแต่ครั้งกรุงเก่า ที่เห็นความข้อนี้ เพราะหนังสือต่างๆ แม้แต่งในครั้งกรุงเก่าชอบอ้างแต่เรื่องอิเหนาเล็ก เช่นในหนังสือบุรโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาควัดท่าทราย แต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ กล่าวถึงละครหลวงเล่นมหรสพสมโภชพระพุทธบาทว่า
ฟายฟ้อนละครใน | บริรักษ์จักรี |
โรงริมคิรีมี | กลลับบ่แลชาย |
ล้วนสรรสกรรจ์นาง | อรอ่อนลอออาย |
ใครยลบ่อยากวาย | จิตเพ้อมะเมอฝัน |
ร้องเรื่องระเด่นได้ | บุษบาตุนาหงัน |
พาพักคุหาบรร | พตร่วมฤดีโฉม |
ดังนี้ ก็เป็นเรื่องอิเหนาเล็ก คำฉันท์เรื่องอิเหนา เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งแต่ยังเป็นหลวงสรวิชิตครั้งกรุงธนบุรี เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๒๒ ซึ่งขึ้นว่า
ปางนั้นบรมวงศ์ | องค์อสัญแดหวา |
อุ้มองค์วนิดา | กรตระกองตระการชม |
เป็นต้นนั้น ก็ว่าถึงเรื่องอิเหนาเล็ก ตอนอิเหนาลักนางบุษบาเหมือนกัน แม้เพลงยาวและจิตรกรรมรูปวาดเขียนเมื่อชั้นแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ชอบอ้างและเขียนเรื่องอิเหนาเล็ก เป็นต้นว่า พระตำหนักเขียว ที่ประทับของเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี สมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ ๑ ฝาประจันห้องก็เขียนเรื่องอิเหนาเล็ก[๑] เพราะเหตุดังนี้จึงเห็นว่า เรื่องอิเหนาเล็ก เป็นเรื่องที่ยกย่องกันว่าดีกว่าเรื่องดาหลังอิเหนาใหญ่ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าตลอดมา
ผู้อ่านหนังสือนี้ ที่ยังไม่เคยเห็นบทละครอิเหนาครั้งกรุงเก่าก็เห็นจะมีมากด้วยกัน เพราะฉะนั้น จะคัดบทตอนต้นเรื่องอิเหนา เป็นสำนวนครั้งกรุงเก่า มาพิมพ์ไว้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง[๒]
บทละครอิเหนาครั้งกรุงเก่า
ช้า
๏ มาจะกล่าวบทไป | ถึงสุริย์วงศ์เทพไทเรืองศรี |
สี่องค์ล้วนทรงธรณี | ทุกบุรีตรีชวาไม่เทียมทัน |
ท้าวร่วมบิตุเรศมารดา | วิทยายิ่งยวดกวดขัน |
อันพระเชษฐาผู้ทรงธรรม์ | งามล้ำเทวัญนิรมิต |
ผิวผ่องอรสุนทราโฉม | ประโลมโลกเลิศล้ำละลานจิต |
ดังพระนราวงศ์ทรงฤทธิ์ | ทุกทิศเกรงเดชกระจายจร |
เป็นฉัตรกั้นธรณินปิ่นชวา | นามกรพาราบดีศร |
ชื่อหยังหยังเอกระทุกนคร | อุดารัดฤทธิรอนกุเรปัน[๓] |
อันพระอนุชาชัยชาญ | วโรฤทธิ์เปรียบปานพระสุริย์ฉัน |
ขาวเหลืองเรืองรองละอองจันทร์ | วิลาศล้ำเทวัญในโสฬส |
พระครองกรุงดาหาธานี | เอกระนัคหรีอันปรากฏ |
ประกาหวันเลื่องชื่อระบือยศ | ทั่วทศทิศไม่เทียมทัน |
อันพระราชอนุชาที่สาม | เรืองรามพริ้งเพริศเฉิดฉัน |
ขาวเขียวแข่งแขพริ้งพรรณ | คมสันเลิศโลกลักขณา |
พระเป็นจอมจุลจักรในกาหลัง | เองหยังหนึ่งหรัดกาหรา |
ฤทธิรงค์ทรงเดชฦๅชา | ดังพระยาสิงหราชอาจอง |
อันพระหริวงศ์องค์สุดนั้น | เป็นจอมจันทร์จักรภพสูงส่ง |
ผิวพักตร์ผ่องเพริศเลิศทรง | อรองค์แน่งน้อยละกลกัน |
พระครองกรุงสิงหัดส่าหรี | เมาตรีอากง ณ รังสรรค์ |
ทั้งสี่องค์ทรงทศทางธรรม์ | เป็นหลักในเขตขัณฑ์ปัถพี |
พระเดชานั้นขจรสยอนเดช | พระองค์วงศ์เทเวศร์เรืองศรี |
จรัสรุ่งฟุ้งเฟื่องทั้งธาตรี | เป็นที่เฉลิมโลกโลกา |
อันระตูทุกเมืองซึ่งเรืองฤทธิ์ | ก็ให้คิดครั่นคร้ามอยู่หนักหนา |
สยบสยองพองเศียรโลมา | ด้วยเกรงอานุภาพเป็นพ้นคิด |
ระบือถึงไหนก็ย่อท้อ | ไม่หาญต้านต่อรอติด |
ฤทธิรงค์ดังองค์พระอาทิตย์ | เมื่อสถิตในกลางอัมพร |
บ้างน้อมเกศถวายบรรณาการ | ช่อสุวรรณปทุมมาลย์สลับสลอน |
พระเกียรติฟุ้งเฟื่องเรืองขจร | ทั้งสี่พระนครเสมอกัน |
ฯ ๒๘ คำ ฯ
ยานี
๏ อันแว่นแคว้นแดนขัณฑเสมา | สนุกดังเมืองฟ้าสรวงสวรรค์ |
อันปรางค์ปราสาททั้งสี่นั้น | ล้วนสุวรรณมณีจินดา |
ทั้งหางหงส์ช่อฟ้าปราลี | เลิศล้วนมณีมีค่า |
มรฑปเก้ายอดโอฬาร์ | มีเทวาถือฉัตรประนมเรียง |
อันเทพอัปสรกินริน | ดีดพิณมณีประโคมเสียง |
ไพเราะครื้นครั่นสนั่นเวียง | เพียงนางบำเรอสหัสนัยน์ |
มีปรางค์ปราสาทน้อยรายรอบ | ประกอบกาบสุรกาญจน์ไม่นับได้ |
กระหนกกระหนาบคาบคั่นเป็นชั้นไป | อำไพเลิศโลกละลานตา |
เพดานในไว้เดือนระยับย้อย | ระย้าห้อยเพชรดีมีค่า |
ตรีมุขสิงหาสน์ดาษดา | ด้วยมหาเนาวรัตน์อันยิ่งยง |
หน้าบันบรรเจิดเลิศนัก | เฉลฉลักวิจิตรพิศวง |
สุบรรณยุดนาคินทร์บรรจง | หางหงส์ระยับเพียงพรรณราย |
แสงแก้วประกอบกาญจน์กุดั่นดวง | วิเชียรช่วงประดับเลิศเฉิดฉาย |
มีพรหมสี่หน้าเรียงราย | ถือปทุมถวายบังคมคัล |
อันแท่นรองปราสาทกระหนกห้อย | ระยับพลอยมรกตสดสีสัน |
มีสิงห์อัดหยัดหย่องเรียงรัน | ทั้งเก้าชั้นวิไลยรรยง |
แวววับจับดวงพระสุริย์ศรี | เป็นที่อาลัยใหลหลง |
มุขเด็จเจ็ดชั้นบรรจง | เหมหงส์ทรงมันเป็นหลั่นมา |
พรหมพักตร์สิงหาสน์อาสน์โถง | ท้องพระโรงแปดด้านทิศา |
พระฉายใหญ่ตั้งมั่นเป็นชั้นมา | อัจกลับโมรารายเวียน |
ม่านทองกรองดวงแมงทับพราย | เป็นนารายณ์ทรงสุบรรณนาคสามเศียร |
จงกลพู่กลิ่นดูแนบเนียน | สุจหนี่ปูเลี่ยนละลานตา |
อันวิสูตรรูดวงบนแท่นแก้ว | ยี่ภู่แผ้วหอมตลบด้วยบุหงา |
พฤกษาดัดล้วนสุวรรณอลงการ์ | ฤดูดอกจินดาวิลาวัณย์ |
ครั้นวายุพัดระบัดต้อง | เสนาะก้องบรรเลงเพลงสวรรค์ |
พระลานรื่นวิเชียรเรียบสลับกัน | เกยแก้วเกยสุวรรณเรืองราม |
พระคลังทองสิบสองหลั่นตั้งซ้ายขวา | ทิมดาบมุกดาแปดด้าน |
ที่นั่งเย็นล้วนแก้วเก้าประการ | เรือนสนมพนักงานดาษดา |
อันวิมานปรเมศร์สุราฤทธิ์ | ก็สถิตทั้งแปดทิศา |
ทั้งโรงม้าโรงรถคชา | อลงกตรจนาเป็นพ้นคิด |
หางหงส์ช่อฟ้าปราลี | ช้างแก้วมณีไพจิตร |
สินธพชาติอาจองทรงฤทธิ์ | สำหรับองค์จักรกฤษณ์อันเชี่ยวชาญ |
รถแก้วบัลลังก์เป็นชั้นเชิด | ประกอบเกิดนิรมิตทุกทิศาน |
ทั้งโรงนาเวศอันโอฬาร | รโหฐานระยับจับตา |
โรงเครื่องโรงแสงไพจิตร | เพ่งพิศเรียงรันทั้งซ้ายขวา |
ที่นั่งโถงโรงสุวรรณอลังการ์ | ศาลาใหญ่ดาษพู่ดูงาม |
อันที่นั่งทรงปืนทั้งซ้ายขวา | เป็นสง่าเอกเอี่ยมเหี้ยมหาญ |
เกยสรงมุรธาภิเษกชาญ | โรงอาลักษณ์เรียงขนานเป็นหลั่นมา |
อันที่พราหมณ์ชีอันวิเศษ | ได้สวดพุทธเวทคาถา |
เขนยทองเรียงรันเป็นชั้นมา | สำหรับองค์พระมหามุนี |
อันตึกโหราพฤฒามาตย์ | ราชครูเรียงรันกันตามที่ |
ที่นั่งลอยพรอยเพริศรูจี | สำหรับที่โปรยสุวรรณทำทาน |
หอกลองแก้วเจ็ดสีมณีวรรณ | เป็นหลั่นเรียงอยู่กลางราชฐาน |
เรือรบรายรอบประจำงาน | จะคอยราญไพรีให้วายชนม์ |
ทุกด้านเตรียมการรายเรียง | ให้พร้อมเพรียงตรวจจัดไว้สับสน |
บัวสุวรรณบัวแก้วเป็นวังวน | เครื่องต้นเกิดกับสำหรับเมือง |
อันต้นกัลปพฤกษ์ทั้งแปดทิศ | ก็เป็นสิทธิ์ระบือฦๅเลื่อง |
อร่ามรายพรายพุ่งรุ่งเรือง | ทั้งสี่เมืองวิไลละลานตา |
อันโรงเล่นการมหรสพ | ก็ถ้วนครบทุกสิ่งล้วนเลขา |
สุราฤทธิ์บรรจงอลงการ์ | รจนาเลิศโลกวิไลวรรณ |
อันกรุงกุเรปันนคเรศ | ภายนอกพระนิเวศน์เขตขัณฑ์ |
มีภูผาชื่อว่าหะรีกัน | ที่นั้นเรืองรามอร่ามตา |
อันพรรณพฤกษาผลาผล | เหลือล้นบรรจงไว้หนักหนา |
ทรายเขียวมรกตรจนา | พร้อมพรรณปักษาเคล้าเคียง |
เป็นที่สถานเทเวศร์ | โนเรศร่อนร้องถวายเสียง |
ทั้งสระแก้วปทุเมศรายเรียง | เพียงโบกขรณีในเมืองอินทร์ |
มีทั้งอาศรมพระนักพรต | ก็ปรากฏอยู่ในไพรสิน |
น้ำพุดุดั้นสนั่นดิน | กระแสสินธุ์ดังจะวิ่งเข้าชิงดวง |
ล้วนแล้วด้วยแก้วเก้าประการ | โอฬารประเสริฐเชิดช่วง |
แสนสำราญระรื่นชื่นทรวง | หอมพวงบุหงาทั้งไพรวัน |
ฯ ๖๐ คำฯ
นกร่อน
๏ อันกุหนุงพระนครดาหา | ชื่อวิลิศมาหราเฉิดฉัน |
ระยับสีมณีแนมแกมสุวรรณ | อยู่นอกเขตขัณฑ์ธานี |
อันกรุงกาหลังภพไกร | มีกุหนุงอำไพใสศรี |
ชมพูนุทสุดประเสริฐเลิศโลกีย์ | ชื่อจะมาเลงคิรีเลิศลบ |
อันกรุงสิงหัดส่าหรีนั้น | ชื่อกุหนุงตุหวันขจรจบ |
ดังเงินยวงขาวผ่องเป็นหลักภพ | ปรากฏครบทั้งสี่ธานี |
ฯ ๖ คำ ฯ
ร่าย
๏ สนามชัยทรายทองในพารา | แลลิ่วสุดตาไม่สุดที่ |
ราบรื่นดังหน้าเภรี | เป็นที่ประลองศิลปสาตรา |
ประลองรถคชสารชาญชัย | ประลองอาชาไนยแกล้วกล้า |
ประลองทวยหาญโยธา | ซ้อมหัดอัตราให้ชำนาญ |
อันฝูงทหารชาญชัย | ไม่มีผู้ใดจะต่อต้าน |
เข้าไหนไม่มีใครต้านทาน | ลือสะเทื้อนสะท้านทุกพารา |
ฯ ๖ คำ ฯ
ชมตลาด
๏ อันถนนหนทางตะพานพาด | ล้วนดาดด้วยเงินยวงเลขา |
ตึกร้านรวดริมรัถยา | ศิลาทองเล็งแลงประดับปน |
จักรวรรดิลิ่วลอยพระเวหา | รจนาด้วยสุวรรณไม่หมองหม่น |
ป้อมปืนยืนเยี่ยมอยู่กลางชล | ล้วนถกลโคมเพชรอลงการ์ |
อันตึกดินรางแลงศิลาสลับ | ระยาบยับสอดสีล้วนมีค่า |
พรายเพริศเลิศทรงอลงการ์ | ด้วยมหาเนาวรัตน์อัมพน |
อันลูกค้าวาณิชทุกภาษา | มาพึ่งขัณฑเสมาทุกแห่งหน |
คับคั่งทั้งภูมิมณฑล | ประชาชนชื่นบานสำราญใจ |
บ้างเล่นฆ้องกลองลองเพลงรบ | เจนจบครบการทหารใหญ่ |
ล้วนชำนิชำนาญการชิงชัย | ตกแต่งเอาใจไม่เว้นคน |
บ้างเล่นยอเง็ดและฟ้อนขับ | แซ่ศัพท์พาทย์พิณทุกแห่งหน |
บ้างเล่นสับประและไก่ชน | ครั้นเวลาเข้าสนธยา |
ดาหลังวายังแล้วชูเชิด | ฉลุฉลักลายเลิศเลขา |
บ้างจับโต้ตอบกันไปมา | บ้างเล่นเสภามโหรี |
ฝูงหญิงบรรจงเกศเกล้า | ผัดผ่องพักตร์เผ้าสดศรี |
นุ่งจวนชวาตานี | ใส่เสื้อสอดสีจับตา |
ห่มสไบบางสีต่างกัน | น้ำหอมปลอมคันธบุหงา |
อวลอบตลบอยู่อัตรา | ทั้งรูปโฉมโสภาไม่เว้นคน |
ออกเที่ยวดูงานสำราญใจ | เนืองแน่นกันในแถวถนน |
เป็นเหล่าเหล่าล้วนสุมทุมคน | เบียดเสียดสับสนกันไปมา |
ฯ ๒๐ คำ ฯ
ร่าย
๏ ฝูงชายชายตาเมียงม่าย | เดินชายแวดเวียนเคียงหา |
บ้างล้อเลี้ยวเกี้ยวกล่าวเจรจา | บ้างเลียมลอดสอดคว้าวุ่นวาย |
บ้ายดีดนิ้วผิวปากไปตามเพลง | ล้วนทรงนักเลงฉุยฉาย |
บ้างกุมกริชพาดนาดกราย | จับชายบรรจงจรลี |
ทัดอุบะทุกพรรณบุหงา | ถือเช็ดหน้าบางต่างสี |
อุหรับจับกลิ่นน้ำมันดี | บุหรี่กลิ่นฟุ้งจรุงใจ |
กลิ่นร่ำกลิ่นอบตลบกัน | กลิ่นคันธรสมาเติมใส่ |
ทั้งกลิ่นบุหงารำไป | อบอวลยวนใจนิจกาล |
ทุกข์โศกโรคภัยไม่ใกล้กราย | หญิงชายมีแต่เกษมศานต์ |
ทั้งรูปทรงส่งศรีสคราญ | สมบัติพัสถานก็ครามครัน |
อันทั้งสี่เมืองเรืองเดช | ด้วยอสัญเทเวศร์มาสร้างสรรค์ |
แล้วพระองค์ก็ทรงทศธรรม์ | จึงปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ทั้งกรุงไกร |
อันองค์อสัญแดหวา | ตามจารีตก่อนมาไม่เสียได้ |
มเหสีห้าองค์เป็นหลั่นไป | ตั้งได้แต่สี่พารา |
ฯ ๑๔ คำ ฯ
ถ้าผู้อ่านสังเกตบทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ข้างตอนต้นจะเห็นได้ว่า ทรงพระราชนิพนธ์เทียบความตามบทครั้งกรุงเก่าซึ่งเอามาพิมพ์ไว้นี้
เรื่องอิเหนา เดิมคงเล่นแต่ละครหลวง เห็นจะพระราชทานอนุญาตให้ละครผู้อื่นเล่นได้ต่อในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตามการที่ปรากฏมา ถ้าเป็นงานใหญ่ข้างฝ่ายการมงคลแล้ว ละครหลวงมักเล่นเรื่องอิเหนา ดังพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นอุทาหรณ์ในบทละครเรื่องสังข์ทอง ตรงท้าวสามนต์กลับเข้าเมือง เมื่อพระสังข์ตีคลีชนะพระอินทร์ ว่า:
ขึ้นบทพระโรงคัลไม่ทันนั่ง | ตรัสสั่งเสนาผู้ใหญ่ |
ลูกเขยกูตีคลีมีชัย | จะเสกให้ครองกรุงในพรุ่งนี้ |
จงช่วยกันเร่งรัดจัดแจง | ตกแต่งตั้งการภิเษกศรี |
แห่แหนให้สนุกกว่าทุกที | แล้วจะมีอิเหนาสักเก้าวัน |
ไปปรึกษาครูละครมันก่อนเหวย | ใครเคยรำดีทีขยัน |
อิเหนาเรื่องมิสาอุณากรรณ | จะประชันดาหลังเมื่อครั้งครวญ |
ดังนี้ ในพระราชนิพนธ์ทรงอ้างถึงแบบเก่า ครั้งละครหลวงยังเล่นทั้งเรื่องอิเหนาและเรื่องดาหลัง แต่ละครหลวงในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ หาปรากฏว่าเล่นเรื่องดาหลังไม่ ถ้าเล่นก็เห็นจะเป็นแต่ในรัชกาลที่ ๑ พ้นนั้นมา ปรากฏว่า เล่นแต่อิเหนาเล็กเรื่องเดียว เรื่องดาหลังจึงกลายไปเป็นแต่เรื่องสำหรับละครข้างนอกเล่น หานับเป็นเรื่องของละครในเหมือนอย่างเรื่องอิเหนาเล็กไม่
[๑] พระตำหนักเขียวที่ว่านี้ ย้ายไปปลูกไว้ในวัดอมรินทราราม เดี๋ยวนี้ยังใช้เป็นโรงเรียน ฝาที่เขียนเรื่องอิเหนายังอยู่มาจนรัชกาลที่ ๕
[๒] บทละครเรื่องอิเหนาความนี้ หอพระสมุดฯ ได้ต้นฉบับมาแต่เมืองนครศรีธรรมราช เดิมสำคัญว่าเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ครั้นพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ทรงพระราชดำริว่าทั้งทางสำนวนและความทีพรรณนา ว่าด้วยแผนที่รั้ววังบ้านเมือง เป็นโวหารครั้งกรุงเก่า ได้ทรงชี้แจงไว้ในหนังสือพระราชวิจารณ์
[๓] ควรสังเกตว่า บทละครอิเหนาใช้ศัพท์ชวาปันกับภาษาไทยมาแต่ครั้งกรุงเก่า