ภาคที่ ๑ ว่าด้วยละครรำ

การเล่นละครรำ[๑] ไทยเราได้ตำรามาแต่อินเดียเป็นแน่ ข้อนี้ไม่มีที่สงสัย ถึงละครพม่าและละครชวาก็ได้ตำราไปแต่อินเดียเช่นเดียวกับเรา เพราะฉะนั้น ละครไทยกับละครพม่าและชาว กระบวนเล่นจึงคล้ายคลึงกัน

ละครรำของไทยเรามี ๓ อย่าง คือ “ละครชาตรี” อย่างเช่นเล่นกันในมณฑลนครศรีธรรมราช เรียกกันในมณฑลนั้นว่า “โนห์รา” อย่าง ๑ ละครที่เล่นในราชธานี เรียกว่า “ละครใน” อย่าง ๑ “ละครนอก” อย่าง ๑ ละครทั้ง ๓ อย่างนี้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อธิบายกันมาแต่ก่อนว่า ละครในนั้นคือละครผู้หญิง มีได้แต่ของหลวง ส่วนละครที่เล่นกันในพื้นเมืองเรียกว่าละครนอก แต่ก่อนเป็นผู้ชายเล่น พึ่งประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้อื่นหัดละครผู้หญิงได้ในรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ แต่นั้นมาจึงได้มีละครผู้หญิงขึ้นข้างนอกพระราชวัง ความที่อธิบายดังกล่าวมานี้ เห็นจะว่าแต่ตามลักษณะการที่เป็นอยู่ หาใช่ตัวมูลเหตุที่ละครเป็นหลายอย่างต่างกันนั้นไม่ เป็นต้นว่า พิเคราะห์ดูละครในกับละครนอกผิดกัน ไม่ใช่แต่ข้อที่เป็นละครผู้หญิงกับละครผู้ชายเท่านั้น ทำนองร้องก็ผิดกัน กระบวนรำก็ผิดกัน เรื่องที่เล่นก็ผิดกัน ละครในเล่นแต่ ๓ เรื่อง คือเรื่องรามเกียรติ์เรื่อง ๑ เรื่องอุณรุทเรื่อง ๑ กับเรื่องอิเหนา[๒]เรื่อง ๑ เรื่องอื่นหาเล่นไม่ แต่ก่อนมาแม้ละครผู้หญิงของหลวงเล่นเรื่องอื่นนอกจาก ๓ เรื่องนั้นไป ก็เรียกว่า เล่นละครนอก บทละครที่ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอื่น เช่นเรื่องสังข์ทองและเรื่องคาวีเป็นต้น ก็เรียกว่าพระราชนิพนธ์ละครนอก สุนทรภู่กล่าวข้อความนี้ไว้ ในเสภาตอนพลายงามถวายตัว อ้างเหตุที่สมเด็จพระพันวษามิได้ตรัสสั่งให้ปล่อยขุนแผนออกจากคุกว่า

“ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงใหล ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้ กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยา” ดังนี้ ฝ่ายละครนอกนั้นเล่าก็เล่นแต่เรื่องอื่นๆ เรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท อิเหนา ๓ เรื่องนี้ละครนอกหาเล่นไม่ แม้ละครผู้ชายของเจ้านายแต่ก่อน เช่นละครของกรมพระพิพิธฯ และของกรมพระพิทักษ์ฯ เป็นต้น เล่นเรื่องอิเหนาก็เรียกว่าเล่นละครใน พิเคราะห์ดูโดยเค้าเงื่อนที่กล่าวมานี้ เห็นว่าละครในกับละครนอกที่จริงจะต่างกันโดยลักษณะของละครทีเดียว ข้อสำคัญหาได้อยู่ที่ต่างกันโดยเป็นละครผู้หญิงกับละครผู้ชายดังอธิบายกันมาไม่ ต้นเดิมที่ละครไทยจะเป็นหลายอย่างต่างกันจะเป็นด้วยเหตุใด เห็นมีเค้าเงื่อนในประเทศอื่น พอจะเอามาเป็นหลักในทางสันนิษฐานประกอบกับลักษณะของละครประเทศนี้ ให้แลเห็นเหตุเดิมได้บ้าง จะลองอธิบายต่อไป

[๑] เดิมเรียกแต่ว่า (ละคร) พึ่งเรียกกันว่าละครรำเมื่อมีละครพูดกับละครร้องขึ้นอีก ๒ อย่าง ครั้งรัชกาลที่ ๕ คำว่า “ละคร” นั้น เดิมมักเข้าใจกันมาแต่คำ “นคร” ดังเช่นคนเรียกเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองนครลำปาง “เมืองละคร” แต่ที่จริงเห็นจะไม่ใช่เช่นนั้น มีละครที่เมืองชวาอย่าง ๑ เรียกว่า “ลางันดะริโย” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า จะมาแต่ศัพท์เดียวกับคำ “ละคร” นี้เอง แต่ต้นศัพท์จะเป็นอย่างไร ยังหาพบไม่

[๒] เรื่องอิเหนาที่จริงเป็น ๒ เรื่อง เรีกยว่าดาหลังอิเหนาใหญ่เรื่อง ๑ เรียกว่าอิเหนาหรือเหนาเล็กเรื่อง ๑ แต่เป็นเรื่องพงศาวดารอิเหนาคนเดียวกัน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ