ว่าด้วยเครื่องแต่งตัวละคร

ลักษณะเครื่องแต่งตัวละครก็มีเค้าเงื่อนที่สันนิษฐานเรื่องตำนานของละครได้อีกทางหนึ่ง แต่ยังไม่ได้อธิบายในตอนที่ว่าด้วยละครนอกและละครใน เพราะเห็นว่าถ้าเอาไปกล่าวกับประเภทละคร เรื่องเครื่องแต่งตัวละครจะแยกย้ายเป็นหลายตอนไปเสีย จึงได้ยั้งมาอธิบายเฉพาะเรื่องเครื่องแต่งตัวละครในตอนนี้[๑]

ละครนอกที่เล่นกันชั้นแรกในประเทศนี้ เห็นจะแต่งตัวอย่างคนสามัญ เป็นแต่แต่งให้รัดกุมแน่นแฟ้นทำบทบาทได้สะดวก ถ้าหากว่าจะทำบทเป็นตัวต่างเพศ ก็เป็นแต่เอาเครื่องประดับประกอบเข้า พอให้คนดูรู้ว่าทำบทเป็นตัวใด ดังเช่นเอาผ้าขาวม้าห่มสไบเฉียงให้รู้ว่าทำบทเป็นหญิงและใส่หน้ากากหรือเขียนหน้าให้รู้ว่าทำบทเป็นยักษ์มารเป็นต้น (ดูจะแต่งตัวเป็นทำนองเดียวกับที่เล่น “ลูกหมด” กันทุกวันนี้) อันเครื่องแต่งตัวอย่างเช่นละครแต่งเป็นยืนเครื่องก็ดี เป็นนางก็ดี เข้าใจว่าเป็นของคิดประดิษฐ์ขึ้นต่อภายหลัง ในชั้นเมื่อเล่นละครกันแพร่หลายแล้ว

ความที่กล่าวมานี้มีเค้าเงื่อนอยู่ที่ละครโนห์ราชาตรีมีแบบเครื่องแต่งตัวแต่อย่างยืนเครื่อง (คือที่ใส่เทริดและสวมเครื่องอาภรณ์กับตัวเปล่านั้น) อย่างเดียว ไม่มีแบบอย่างเครื่องแต่งตัวนางจนทุกวันนี้ ก็ละครโนห์ราชาตรีนี้เป็นแบบเดิมของละครนอกดังอธิบายมาแล้ว เหตุไฉนจึงมีเครื่องแต่งตัวแต่ยืนเครื่องอย่างเดียว ไม่มีเครื่องแต่งตัวนาง จะว่าเป็นเพราะเมื่อขุนศรัทธาลงไปหัดละครที่เมืองนครศรีธรรมราช (ดังกล่าวในเรื่องตำนาน) ลืมแบบอย่างเครื่องแต่งตัวนางเสีย ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นได้อย่างนั้น จึงสันนิษฐานว่าชั้นเดิมทีเดียวละครคงแต่งตัวอย่างคนสามัญ เป็นแต่แต่งเครื่องประกอบในเวลาเล่น (ข้อนี้ละครโนห์ราชาตรีก็ยังใช้ผ้าขาวม้าห่มให้รู้ว่าทำบทเป็นหญิงจนทุกวันนี้) ต่อเมื่อมีละครเล่นกันแพร่หลายแล้ว จึงมีผู้คิดประดิษฐ์เครื่องแต่งตัว (อย่างเช่นยืนเครื่องละครโนห์ราชาตรีแต่ง) ขึ้นสำหรับแต่งตัวละครที่จะทำบทเป็นท้าวเป็นพระยา ในละครโรงหนึ่งก็เห็นจะแต่งแต่คนเดียว เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า “ตัวยืนเครื่อง” ความบ่งว่าละครตัวอื่นมิได้แต่งเครื่อง ถ้าแต่งเครื่องทั้งหมดด้วยกันก็คงไม่เรียกว่าตัวยืนเครื่อง หรือถ้ามีเครื่องแต่งตัวเป็นหลายอย่าง ก็คงเรียกให้ต่างกัน ว่ายืนเครื่องพระและยืนเครื่องนาง จะหาเรียกแต่ว่า “ยืนเครื่อง” เท่านั้นไม่ ชะรอยเมื่อขุนศรัทธาลงไปหัดละครที่เมืองนครศรีธรรมราช แบบเครื่องแต่งตัวละครที่กรุงเก่าจะยังมีแต่อย่างเครื่องอย่างเดียว ขุนศรัทธาจึงได้ไปแต่แบบแต่งตัวยืนเครื่องกับเครื่องสำหรับแต่งประกอบที่ละครในกรุงฯ ใช้กันในสมัยนั้น ยังมีหน้ากากที่จำอวดละครโนห์ราชาตรีใส่ปรากฏเป็นตัวอย่างอยู่จนทุกวันนี้ เห็นได้ว่าเป็นเครื่องแต่งประกอบสำหรับตัวที่เล่นเป็นตัวกาก เช่นยักษ์มารพรานภูตเป็นต้น ในสมัยเมื่อยังไม่เกิดเครื่องแต่งตัวละครอย่างเช่นหัวโขนที่ใช้กันในชั้นหลัง เพราะฉะนั้นเครื่องแต่งตัวยืนเครื่องอย่างเช่นละครโนห์ราชาตรีแต่ง เห็นจะเป็นเครื่องแต่งตัวละครที่คิดประดิษฐ์ขึ้นก่อนอย่างอื่น

ต่อมาอีกชั้นหนึ่ง จึงคิดประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวละครขึ้นใหม่อีก ๒ อย่าง เป็นเครื่องแต่งยืนเครื่องหนึ่ง เป็นเครื่องแต่งนางอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นต้นแบบอย่างเครื่องแต่งตัวละครที่ใช้กันในกรุงฯ มาจนทุกวันนี้ แบบเครื่องละครที่คิดใหม่แก้ไขให้ผิดกับแบบเก่า (เช่นที่ละครโนห์ราชาตรีแต่ง) หลายอย่าง เป็นต้นว่า ตัวยืนเครื่องให้นุ่งสนับเพลาชักเชิงขึ้นไปถึงเหนือน่อง นุ่งผ้าก็ลดเชิงลงมาถึงเข่าไม่หยักรั้งอย่างแต่ก่อน และให้ใส่เสื้อตลอดจนปลายแขน ไม่แต่งตัวเปล่าเหมือนอย่างละครโนห์ราชาตรี ส่วนเครื่องแต่งตัวนางนั้นนุ่งผ้าจีบกรอมถึงท้องน่องและห่มผ้าแถบ (ลายทอง) สะพักสองบ่าพาดชายไปข้างหลัง ไว้ชายเสมอน่อง

การที่แก้ไขเครื่องแต่งตัวดังกล่าวมา เมื่อคิดดูก็ดูเหมือนจะแลเห็นได้ว่าแก้ไขเพราะเหตุใด เพราะเครื่องแต่งตัวที่คิดแก้ใหม่ใช้เหมือนกันทั้งละครหลวงและละครราษฎร ข้อนี้เป็นเค้าเงื่อนให้เห็นว่า เดิมคงเป็นของคิดแก้ไขสำหรับแต่งละครหลวง แล้วละครราษฎรจึงเอาอย่างไปแต่ง ที่ละครราษฎรจะคิดแบบอย่างขึ้นก่อนแล้วละครหลวงไปเอาอย่างมาแต่งนั้นใช่วิสัยที่จะเป็นได้ ลองคิดดูต่อไปว่าเครื่องแต่งตัวแบบเดิมมีเสียหายขัดข้องอย่างใดหรือจึงต้องแก้ไขไปเป็นอย่างอื่น ยกตัวอย่างดังเช่นที่ให้ตัวยืนเครื่องใส่เสื้อ มิให้แต่งตัวเปล่าดังแต่ก่อน จะเป็นเพราะเหตุใด จะว่าเพราะเห็นแต่งตัวเปล่า (อย่างเครื่องที่โนห์ราชาตรีแต่ง) น่าเกลียด จึงให้ใส่เสื้อก็ไม่เห็นจะเป็นได้ ด้วยในสมัยนั้นการที่ไม่ใส่เสื้อยังนิยมกันอยู่ทั่วไป ถึงในราชสำนักเวลาเฝ้าแหนโดยปรกติก็ไม่ใส่เสื้อ ประเพณีที่ใส่เสื้อเข้าเฝ้าเป็นนิจพึ่งมีเมื่อรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ ถึงกระนั้นในการที่แต่งเครื่องอาภรณ์บางอย่าง ดังเช่นเด็กแต่งตัวใส่เกี้ยวนวมในงานโกนจุก ก็ยังแต่งกับตัวเปล่า เว้นแต่เด็กหญิงที่เจริญกันมณฑลจึงให้ใส่เสื้อปิดบัง เด็กแต่งเครื่องเกี้ยวนวมพึ่งมาใส่เสื้อเป็นประเพณีทั่วไปต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๕ เพราะเหตุดังกล่าวมา จึงเห็นว่าที่ให้ยืนเครื่องละครใส่เสื้อนั้นคงเป็นเพราะจะแต่งตัวละคร ผู้หญิงจะให้แต่งตัวเปล่าอย่างผู้ชายขัดอยู่จึงให้ใส่เสื้อ ถึงที่มิให้ยืนเครื่อง นุ่งผ้าหยักรั้งดังแต่ก่อนก็คงเป็นเพราะเห็นว่าแลเห็นตลอดต้นขาน่าเกลียดด้วยเป็นหญิง อาศัยเค้าเงื่อนที่กล่าวมา สันนิษฐานว่าการที่คิดแก้ไขแบบแผนเครื่องแต่งตัวละครครั้งนั้น เห็นจะแก้เมื่อแต่งนางรำของหลวงเป็นเทพบุตรเทพธิดาเล่นจับระบำดังกล่าวมาแล้ว แล้วจึงเลยเอามาใช้เป็นเครื่องแต่งตัวละครผู้หญิงของหลวง เพราะฉะนั้นเครื่องแต่งตัวละครจึงมีแต่ ๒ อย่าง บรรดาตัวละครที่ทำบทเป็นชาย ถึงจะเป็นตัวดีตัวเลวก็แต่งอย่างยืนเครื่องทั้งนั้น แปลกกันแต่เครื่องสวมศีรษะ ตัวที่เป็นท้าวพระยาใส่ชฎา ตัวที่เป็นเสนาอำมาตย์ใช้แต่ผ้าโพกศีรษะ ฝ่ายพวกที่ทำบทเป็นหญิงก็ใช้เครื่องแต่งตัวนางทั้งนั้น แปลกกันแต่เครื่องสวมศีรษะโดยทำนองเดียวกัน คงเป็นแบบหลวงคิดขึ้นในครั้งกรุงเก่า แล้วละครข้างนอกเอาอย่างไป จึงได้ใช้ตามกันต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์นี้

ยังมีเค้าเงื่อนให้คิดเห็นต่อไปว่า เสื้อที่ยืนเครื่องละครใส่นั้น มิใช่เป็นของคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ที่แท้เอาแบบเสื้อโขนมาให้ละครแต่ง ซึ่งเห็นความข้อนี้เพราะเสื้อที่ยืนเครื่องละครใส่ (แม้จนทุกวันนี้) ตัวเสื้อกับแขนเสื้อสีต่างกัน เช่นตัวเสื้อเป็นสีเขียว แขนเสื้อเป็นสีแดงเป็นต้น ลักษณะเสื้ออย่างนี้มาแต่เสื้อเครื่องรบโบราณ คือใส่เสื้อแขนยาวชั้นในตัว ๑ แล้วสวมเสื้อเกราะแขนสั้นชั้นนอกอีกตัว ๑ สีแขนกับสีตัวจึงต่างกัน เพราะเดิมเป็นเสื้อ ๒ ตัว เครื่องแต่งตัวโขนชั้นเดิมก็เห็นจะไม่ใส่เสื้อเป็นพื้น เสื้ออย่างว่านี้คงสำหรับแต่งแต่โขนตัวดี เช่นพระรามพระลักษมณ์แต่งในเวลาออกรบเป็นต้น ถ้าเป็นเสื้อคิดแบบใหม่สำหรับแต่งละคร ก็เห็นจะทำสีเดียวทั้งตัว (อย่างเช่นที่มักทำกันในชั้นหลังนี้) ไม่เอาแบบเสื้อรบมาใช้ เครื่องโขนที่ละครเอามาใช้ยังมีอีกหลายสิ่ง ไม่แต่เสื้ออย่างเดียวเท่านั้น เหมือนเช่นม้าแผงโขนขี่คร่อม ละครใช้เอาไว้ข้างตัวก็เป็นเค้าเงื่อนให้เห็นได้ว่าเอาของโขนมาใช้เมื่อหัดละครผู้หญิง ยังเครื่องสวมศีรษะที่ละครแต่งยังเรียกว่า “หัวโขน” อยู่ทุกวันนี้ ก็บ่งชัดว่าเอาแบบอย่างของโขนมาใช้ เป็นหลักฐานอีกชั้นหนึ่ง ว่าละครในเกิดแต่ถ่ายแบบโขนมาเล่นดังได้แสดงมา

เครื่องแต่งตัวโขนละครเป็นของถ่ายแบบอย่างมาแต่เครื่องยศศักดิ์ท้าวพระยาแต่ดึกดำบรรพ์เป็นพื้น แต่ก่อนมาจึงมักเป็นของคิดประดิษฐ์ขึ้นสำหรับแต่งโขนละครของหลวงก่อน ต่อพระราชทานอนุญาตหรือไม่ห้ามปรามผู้อื่น จึงจะเอาอย่างไปแต่งโขนละครของตนได้ ถ้าใครไปคิดทำเครื่องแต่งตัวโขนละครเอาแต่โดยพลการก็อาจจะมีความผิด ความข้อนี้มีอุทาหรณ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ความปรากฏว่า เจ้านายและข้าราชการที่รวบรวมผู้คนฝึกหัดโขนละครขึ้นใหม่ คิดแบบอย่างสร้างเครื่องแต่งตัวโขนละครคล้ายคลึงกับเครื่องต้นเครื่องทรง จึงโปรดให้ตั้งพระราชกำหนด[๒] เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช ๑๑๕๖ (พ.ศ. ๒๓๓๗) มีเนื้อความว่า “เจ้าต่างกรมและข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการ (และ) ช่าง (เครื่อง) โขน (เครื่อง) ละคร ทุกวันนี้แต่งยืนเครื่องแต่งนางย่อมทำมงกุฎ ชฎา ชายไหวชายแครง กรรเจียกจร ดอกไม้ทัด นุ่งโจงไว้หางหงส์ ต้องอย่างเครื่องต้นอยู่ ไม่ควรหนักหนา” ต่อไปห้ามมิให้ทำเช่นนั้นเป็นอันขาด “และกำหนดให้แต่งตัวยืนเครื่องนุ่งผ้าตีปีกผ้าจีบโจงอย่างโขนก็ตาม แต่งตัวนางแต่รัดเกล้า อย่าให้มีกรรเจียกจร ดอกไม้ทัด” ถ้าผู้ใดมิฟัง ทำให้ผิดกฎ รับสั่งจะเอาตัวเป็นโทษจงหนัก ดังนี้ พระราชกำหนดนี้ในรัชกาลหลังมาเห็นจะโปรดให้ผ่อนผัน ไม่ห้ามปรามกวดขันดังแต่แรก เครื่องแต่งตัวละครในกรุงเทพฯ ในชั้นหลังต่อมา จึงปรากฏสิ่งที่ห้ามในพระราชกำหนดเป็นหลายอย่าง คือจอนหูและดอกไม้ทัดเป็นต้น

เครื่องแต่งตัวละคร ที่คิดประดิษฐ์ขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทราบว่าเครื่องแต่งศีรษะซึ่งเรียกว่า “ปันจุเหร็จ” เป็นของคิดประดิษฐ์ขึ้นแต่งละครหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๒ เดิมสำหรับแต่งแต่ปันหยีกับอุณากรรณ ในเรื่องละครอิเหนา แทนผ้าตาดโพกศีรษะซึ่งใช้มาแต่ก่อน (จึงเรียกว่า “ปันจุเหร็จ” แปลความว่าโจรป่า ซึ่งอิเหนาและบุษบาแปลงเป็นปันหยี และอุณากรรณนั้น) ครั้นภายหลังมาใช้ปันจุเหร็จแทนผ้าโพกเฝือไปถึงตัวอื่นและเรื่องอื่น จนตัวไกรทองและขุนแผนพระไวยละครก็มักใช้ใส่ปันจุเหร็จมาจนทุกวันนี้ เข้าใจว่ากระบังหน้านางละครก็ทำนองจะประดิษฐ์ขึ้นในคราวเดียวกับที่ประดิษฐ์ปันจุเหร็จสำหรับยืนเครื่องเป็นคู่กัน แต่ข้อนี้ไม่มีหลักฐานที่จะทราบได้เป็นแน่นอน

รัดเกล้ายอดอีกอย่างหนึ่ง เป็นของประดิษฐ์ขึ้นในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ และมีประกาศห้ามมิให้ผู้อื่นใช้นอกจากละครหลวง ได้ยินว่าแต่ก่อนมาเคยห้ามมิให้ผู้อื่นทำชฎารัดเกล้าทองคำใส่ละครให้เหมือนกับละครหลวง แต่ก็มีผู้ลอบทำให้ละครใส่ ทำนองความอันนี้จะทราบประจักษ์พระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประกาศห้ามแต่มิให้ผู้อื่นทำเครื่องละครลงยาราชาวดี ถึงกระนั้นมีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หาละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เข้าไปเล่นถวายทอดพระเนตร ท่านให้เที่ยววิ่งยืมชฎาละครโรงอื่น จนเกิดประหลาดใจกันว่าจะเป็นเพราะเหตุใด เหตุที่แท้นั้นเพราะท่านทำเครื่องทองคำแต่งพระเอกนางเอกของท่านใส่ ไม่กล้าจะแต่งเข้าไปเล่นถวายตัว จึงต้องยืมเครื่องละครโรงอื่น

แต่การที่หวงห้ามแบบอย่างเครื่องแต่งตัวละครหลวงมีมาเพียงรัชกาลที่ ๔ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ก็เลิกการห้ามปราม ละครจึงแต่งตัวกันตามชอบใจทั่วไป มีเจ้าของละครคิดแก้ไขเครื่องแต่งตัวละครเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ ตามอำเภอใจหลายอย่าง ดังเช่นทำเสื้อละครเป็นสีเดียวทั้งตัวเสื้อและแขนเสื้อ บางโรงก็ไม่ใช้อินทรธนู และทำเป็นแถบสายสะพายให้ตัวเสนาใส่แทนเครื่องอาภรณ์ยืนเครื่องอย่างเก่าก็มี และยังมีเครื่องแต่งละครเกิดขึ้นเพราะเล่นเรื่องแปลกประหลาดออกไป ดังเช่นเครื่องแต่งตัวเป็นแขกเป็นฝรั่ง สำหรับเล่รเรื่องพระอภัยมณีเป็นต้น เครื่องแต่งตัวละครก็ห่างเหินจากแบบเดิมมาทุกที เรื่องเครื่องแต่งตัวละครมีตำนานดังแสดงมา

[๑] ลักษณะเครื่องแต่งตัวละครที่อธิบายในตอนนี้ กล่าวตามที่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงชี้แจงให้ทราบเป็นพื้น

[๒] พระราชกำหนดนี้อยู่ในกฎหมายหมวดพระราชกำหนดใหม่เป็นบทที่ ๒๕

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ