ตำนานละครครั้งรัชกาลที่ ๒

เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒ ละครหลวงรัชกาลที่ ๑ ร่อยหรอหมดตัวลง พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดให้หัดละครในเป็นชั้นเด็กขึ้นอีกสำรับ ๑ เข้าใจว่าได้ออกโรงเล่นครั้งแรก เมื่อสมโภชพระยาเศวตกุญชรช้างเผือกเอกเมืองโพธิสัตว์ ซึ่งเข้ามาสู่พระบารมีเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๕๕ อันเป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๒ ด้วยมีเนื้อความปรากฏอยู่ในเพลงยาวเก่า[๑] กล่าวถึงละครหลวงที่หัดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๒ ว่า :

“ตั้งโรงต้นสนคนแออัด ซ้อมหัดแก้ไขในราชฐาน
เมื่อช้างเผือกมาใหม่ได้ออกงาน ทั้งเครื่องอานโอ่อ่าน่ารัก
ตัวละครเล็กเล็กเด็กหมด สมเกียรติยศสมศักดิ์
มีแต่คนมาสามิภักดิ์ จงรักรองบาทบทมาลย์” ดังนี้

ละครหลวงรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่าเล่นละครในแต่เรื่องอิเหนากับเรื่องรามเกียรติ์ บางทีจะเล่นเรื่องอุณรุทบ้าง แต่เรื่องดาหลังนั้น หาได้เล่นไม่ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนากับเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นใหม่สำหรับเล่นละครหลวง ไม่ใช้บทครั้งรัชกาลที่ ๑ ทั้ง ๒ เรื่อง เมื่อพิจารณาพระราชนิพนธ์ที่ทรงใหม่ทั้ง ๒ เรื่องนั้น เข้าใจว่า เหตุที่ทรงพระราชนิพนธ์เห็นจะต่างกับที่ทรงเรื่องอิเหนาขึ้นใหม่ ทำนองจะเป็นเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า บทอิเหนารัชกาลที่ ๑ เป็นแต่แต่งซ่อมแซมบทครั้งกรุงเก่าเข้ากันไม่สนิท เล่นละครก็ไม่เหมาะ จึงตั้งพระราชหฤทัยจะทรงพระราชนิพนธ์เสียใหม่หมดทั้งเรื่อง เหมือนอย่างในเช่นรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์และเรื่องอุณรุท โดยพระราชประสงค์จะให้ใช้เป็นต้นฉบับสำหรับพระนครสืบไป คงเป็นด้วยเหตุนี้ เมื่อพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ มีขึ้นแล้ว บทอิเหนาครั้งรัชกาลที่ ๑ จึงกระจัดกระจายหายสูญไปเสียมาก เพราะคนเข้าใจกันว่า ไม่มีกิจที่จะต้องเอาเป็นธุระรักษาต่อไป ส่วนเรื่องรามเกียรติ์นั้น เหตุที่ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ในรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้มีพระราชประสงค์จะให้เป็นต้นฉบับสำหรับพระนครแทนของเดิมเหมือนอย่างเรื่องอิเหนา เป็นแต่ทรงเลือกคัดเอาเรื่องบางตอน คือตั้งแต่หนุมานถวายแหวน ไปจนทศกัณฐ์ล้มตอน ๑ ตอนบุตรลพตอน ๑ มาทรงแต่งใหม่สำหรับเล่นละครหลวง เป็นหนังสือ ๓๖ เล่มสมุดไทย[๒] เพราะฉะนั้น บทรามเกียรติ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่จึงทรงตัดทิ้งเรื่องเดิมเสียบ้าง เปลี่ยนแปลงไปบ้าง ประสงค์แต่ให้เหมาะแก่กระบวนเล่นละครเป็นประมาณ คงรักษาบทรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ ไว้เป็นต้นฉบับสำหรับพระนครอย่างเดิม จึงยังอยู่บริบูรณ์จนบัดนี้

อนึ่ง เมื่อครั้งกรุงเก่าและครั้งกรุงธนบุรี หรือแม้เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ก็ดี ไม่ปรากฏว่า ละครผู้หญิงของหลวงเล่นเรื่องอื่น นอกจากเรื่อง รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา อันเป็นเรื่องสำหรับละครใน พึ่งมาปรากฏว่า ละครผู้หญิงของหลวงเล่นละครนอกเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ทรงเลือกเรื่องละครนอกเฉพาะตอนที่น่าเล่นละคร มาทรงพระราชนิพนธ์บทใหม่ ให้ละครหลวงเล่น ๕ เรื่อง คือเรื่องสังข์ทองเป็นหนังสือ ๑๗ เล่มสมุดไทย เรื่องไชยเชษฐ์ ๔ เล่มสมุดไทย เรื่องมณีพิไชยเล่มสมุดไทย ๑ เรื่องไกรทอง ๒ เล่มสมุดไทย เรื่องคาวี ๓ เล่มสมุดไทย และพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่งเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ถวายอีก ๑ เรื่อง เป็นหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย นับรวมเป็น ๖ เรื่อง เรียกกันว่า พระราชนิพนธ์ละครนอก แต่กระบวนที่ละครเล่น ทรงแก้ไขทั้งทำนองร้องและวิธีรำ เล่นไม่เหมือนกับละครนอกที่เล่นกันในพื้นเมือง จึงมีละครนอกแบบหลวงขึ้นอีกอย่าง ๑ ซึ่งละครของผู้มีบรรดาศักดิ์ ถือเอาเป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

ในการที่ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเมื่อรัชกาลที่ ๒ นั้น เล่ากันมาว่า ทรงเลือกสรรเจ้านาย และข้าราชการที่เป็นกวีชำนาญกลอน ไว้สำหรับทรงปรึกษา กล่าวว่ามีจำนวนรวมเป็น ๗ ด้วยกัน ที่ทราบแน่แต่ ๓ คือ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีพระองค์ ๑ นายภู่ ทรงตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร (คือสุนทรภู่) คน ๑ บางทีจะเป็นกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ และพระยาไชยวิชิต (เผือก) เวลานั้นเป็นจมื่นไวยวรนาถอีก ๑ นอกจากนี้หาทราบว่าใครไม่ วิธีที่ทรงพระราชนิพนธ์นั้น เล่ากันว่า เรื่องตรงไหนที่จะไม่ทรงพระราชนิพนธ์เอง ก็พระราชทานให้กวีที่ปรึกษาเหล่านั้น รับตัดตอนไปแต่ง ตอนไหนทรงพระราชนิพนธ์แล้วก็ดี หรือกวีที่ได้รับไปแต่งแล้วนำมาถวายก็ดี เอามาอ่านหน้าพระที่นั่งในที่ประชุมกวีเหล่านั้น ช่วยกันแก้ไขอีกชั้น ๑

มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาฉบับที่พิมพ์นี้ พระราชทานตอนนางบุษบาชมศาลเล่นธาร ให้พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทรงแต่ง ครั้นทรงแต่งแล้ว ถึงวันจะอ่านถวายเมื่อเวลายังไม่เสด็จออก ได้รับสั่งวานสุนทรภู่ให้ช่วยอ่านตรวจแก้ไขเสียก่อน สุนทรภู่อ่านแล้ว กราบทูลว่า เห็นดีอยู่แล้ว ครั้นถึงเวลาอ่านถวาย มีในบทที่ทรงแต่งมาแห่งหนึ่ง ว่า :

“น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว[๓]

สุนทรภู่ติว่าความยังไม่สนิท ขอแก้เป็น :

“น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว”

พอเสด็จขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกริ้วสุนทรภู่ว่า เมื่อทรงขอให้ตรวจทำไมไม่แก้ไข แกล้งนิ่ง ไว้ติหักหน้าเล่นหน้าพระที่นั่ง ต่อมาอีกครั้ง ๑ เมื่อทรงพระราชนิพนธ์เรื่องสังข์ทอง พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบทตอนต้นไปแต่ง ทรงแต่งบทท้าวสามนต์ปรารภจะให้ลูกสาวเลือกคู่ ว่า :

“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา”

เมื่ออ่านถวาย สุนทรภู่กล่าวเป็นคำถาม ว่า “ลูกปรารถนาอะไร

“จำจะปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา”

แต่ทรงขัดเคืองโดยเข้าพระทัยว่า สุนทรภู่แกล้งว่าให้กระทบถึงพระองค์  ด้วยเหตุ ๒ คราวนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ราชสมบัติ สุนทรภู่จึงหนีออกบวช เพราะหวั่นหวาดเกรงพระราชอาญา

อันพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ไม่ว่าทรงบทเสภาหรือบทละคร มีข้อสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า จะทรงเรื่องใดถ้ามีบทเดิมอยู่ คงเอาบทเดิมมาทรงตรวจตราก่อน ถ้าแลความในบทเดิมแห่งใดดีอยู่แล้ว เป็นไม่ทรงทิ้งเสียเลย ความที่กล่าวข้อนี้ จะยกตัวอย่างมาให้เห็นสัก ๒ แห่ง คือ

(๑) บทเรื่องสังข์ทอง ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ เป็นอย่างที่ทรงแต่งแก้มาก คงไว้แต่เค้าความของเดิม

บทเรื่องสังข์ทองครั้งกรุงเก่า

๏ เมื่อนั้น ท้าวสามนต์ได้ฟังชังน้ำหน้า
มันจะเอาอย่างไรที่ไหนมา ชิอ้ายเงาะป่านี่เหลือใจ
เครื่องทรงของกูมิใช่ชั่ว เกินตัวมันเสียเป็นไหนไหน
จองหองพองขนเป็นพ้นใจ มันเห็นไม่มีที่พึ่งแล้ว
ได้ความเจ็บช้ำระกำใจ เพราะอีจัญไรลูกแก้ว
เสียดายของกูไม่รู้แล้ว เครื่องแก้วแต่ครั้งพระอัยกา
จะให้อ้ายเงาะสวมกาย ความกูเสียดายเป็นหนักหนา
มิให้จำให้อ้ายเงาะป่า สั่งให้เอามาทันใด
กูจะออกไปด้วยอีสาวศรี ทีนี้มันจะว่าเป็นไฉน
ว่าพลางทางสรงสนานใน ทรงเครื่องเรืองอุไรเพริศแพร้ว
ทรงเครื่องสำเร็จเสด็จมา ขึ้นทรงพระยาคชาแก้ว
ครั้นว่าสรรพเสร็จสำเร็จแล้ว คลาดแคล้วออกจากวังใน

ฯ ๑๒ คำ ฯ เชิด

บททรงพระราชนิพนธ์

๏ เมื่อนั้น ท้าวสามนต์ได้ฟังชังน้ำหน้า
อ้ายเงาะถ่อยร้อยอย่างช่างมารยา กูว่าไม่ผิดปากจะยากเย็น
นี่แม่ยายแล้วสิริให้ เมื่อมันไม่เคยพบเคยเห็น
น้ำหน้าจะสอดใส่ที่ไหนเป็น ทำเล่นเครื่องต้นเลือกคนรู้
แล้วให้จัดเครื่องต้นอย่างเอก แต่ครั้งอภิเษกพระเจ้าปู่
คิดเสียดายนักของรักกู จนอยู่จำใจต้องให้มัน
ว่าพลางทางร้องเรียกไป เหวยเสนาในใครอยู่นั่น
จงเตรียมพลผูกช้างฉับพลัน กูจะจรจรัลไปปลายนา
พระมิได้สรงน้ำสว่ำเสวย มาขึ้นเกยหยุดยืนคอยท่า
พร้อมเสร็จเสด็จทรงคชา เสนาแห่แหนแน่นไป

ฯ ๑๐ คำ ฯ เชิด

(๒) บทราชสารท้าวกุเรปันมีถึงอิเหนา ที่ยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นอย่างทรงแต่ง แต่เพียงตัดบทให้สั้นเข้า คงรักษาความของเดิมไว้ทั้งหมด

บทอิเหนาพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑

๏ ในลักษณสารพระบิดา ว่ากรุงดาหาเป็นศึกใหญ่
ให้เร่งยกพลสกลไกร ไปช่วยชิงชัยให้ทันที
ถึงจะไม่เลี้ยงบุษบา ว่าชั่วช้าอัปลักษณ์ทั้งศักดิ์ศรี
แต่เขาแจ้งอยู่สิ้นทั้งธรณี ว่านางนี้เป็นน้องของตัวมา
อนึ่งท้าวดาหาฤทธิไกร มิใช่อาหรือไรให้เร่งว่า
อันสุริย์วงศ์เราเหล่าเทวา ไม่เคยเสียพาราแก่ผู้ใด
ถ้าแม้นเสียกรุงดาหา ตัวจะอายขายหน้าหรือหาไม่
อันเกิดเหตุทั้งนี้ก็เพราะใคร ถ้าไปอยู่เลี้ยงกับบุตรี
ที่ไหนจะเกิดสงคราม ใครจะหยาบหยามได้ก็ใช่ที่
ซึ่งเกิดเหตุเภทภัยครั้งนี้ เพราะตัวทำความดีเป็นพ้นไป
ครั้งหนึ่งก็ให้เสียวาจา อายชาวดาหากรุงใหญ่
ครั้งนี้จะคิดประการใด จะให้เสียศักดิ์ก็ตามที
แม้นว่ามิยกไปช่วย ถึงเรามอดม้วยอย่าดูผี
อย่าดูทั้งเปลวอัคคี ขาดกันแต่วันนี้ไป

ฯ ๑๔ คำ ฯ

บทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒

๏ ในลักษณนั้นว่าปัจจามิตร มาตั้งติดดาหากรุงใหญ่
จงเร่งรีบรี้พลสกลไกร ไปช่วงชิงชัยให้ทันที
ถึงไม่เลี้ยงบุษบาเห็นว่าชั่ว แต่เขารู้อยู่ว่าตัวนั้นเป็นพี่
อันองค์ท้าวดาหาธิบดี นั้นมิใช่อาหรือว่าไร
มาตรแม้นเสียเมืองดาหา จะพลอยอายขายหน้าหรือหาไม่
ซึ่งเกิดศึกสาเหตุเภทภัย ก็เพราะใครทำความไว้งามพักตร์
ครั้งหนึ่งก็ให้เสียวาจา อายชาวดาหาอาณาจักร
ครั้งนี้เร่งคิดดูจงนัก จะซ้ำให้เสียศักดิ์ก็ตามที
แม้นมิยกพลไกรไปช่วย ถึงเราม้วยก็อย่ามาดูผี
อย่าดูทั้งเปลวอัคคี แต่นี้ขาดกันจนบรรลัย

ฯ ๑๐ คำ ฯ

บทละครที่ทรงพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อแต่งแล้ว ยังส่งประทานเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีไปลองซ้อมกระบวนรำอีกชั้น ๑ เล่ากันว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ให้เอาพระฉายบานใหญ่มาตั้ง แล้วทรงรำทำบททอดพระเนตรในพระฉาย ปรึกษากับนายทองอยู่ นายรุ่ง ช่วยกันแก้ไขกระบวนรำไปจนเห็นงาม จึงเอาเป็นยุติ ถ้าขัดข้อง บางทีถึงกราบทูลขอให้แก้บทก็มี เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ทรงคิดกระบวนรำเป็นยุติอย่างใดก็ทรงซ้อมให้นายทองอยู่ นายรุ่ง ไปหัดละครหลวงที่โรงละครริมต้นสน (อยู่หน้าประตูพรหมศรีสวัสดิ์ ตรงที่สร้างหอธรรมสังเวชเมื่อรัชกาลที่ ๔) แล้วละครไปซ้อมถวาย พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทอดพระเนตร ทรงติเตียนแก้ไขกระบวนรำอีกชั้น ๑ จึงจะยุติลงเป็นแบบแผน

ว่าโดยทางตำนานการเล่นละครรัชกาลที่ ๒ นับเป็นหัวต่อของตำนานละครตอน ๑ ด้วย แต่ก่อนนั้นมา กระบวนเล่นละคร จะเป็นวิธีรำก็ดี บทละครก็ดี เล่นตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า บทละครพระราชนิพนธ์ที่แต่งใหม่ในรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อจะให้มีขึ้นเป็นแบบฉบับสำหรับพระนครเป็นข้อสำคัญ บททรงพระราชนิพนธ์อย่างไร ครูละครก็ต้องฝึกซ้อมผสมละครไปตามบทนั้น ด้วยเหตุนี้ ละครเล่นบทพระราชนิพนธ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ เช่นเรื่องอุณรุท จึงดูชักช้าชวนรำคาญ เพราะบทมิได้แต่งปรุงไปกับวิธีเล่นละครด้วยกัน ในรัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์บทสำหรับเล่นละครเป็นข้อสำคัญ เป็นต้นว่า เรื่องละครที่ทรงเลือกมาแต่งบทก็ดี บทที่แต่งขึ้นก็ดี เอาแต่ที่เหมาะแก่กระบวนเล่นละครเป็นประมาณ เมื่อแต่งบทแล้วยังให้สอบซ้อมกระบวนรำให้เข้ากับบท จนเห็นเข้ากันเรียบร้อยงดงามแล้ว จึงเอาเป็นใช้ได้ เพราะฉะนั้น กระบวนละครครั้งรัชกาลที่ ๒ ทั้งบทและวิธีรำจึงวิเศษกว่าครั้งไหนๆ ที่เคยปรากฏมาแต่ก่อน จึงได้นับถือกันเป็นแบบอย่างของละครรำที่เล่นสืบต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ควรนับว่าแบบละครรำของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๒ เป็นเดิมมา

แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๒ แบบและบทละครซึ่งทรงขึ้นใหม่ครั้งนั้น เป็นแต่เล่นละครหลวง ผู้อื่นหามีใครกล้าเอาอย่างของหลวงไปเล่นไม่ เจ้านายต่างกรม เป็นต้นว่า กรมพระราชวังบวรฯ ก็ปรากฏว่าทรงหัดแต่งิ้วผู้หญิง[๔] พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงหัดโขนตามประเพณีเดิม เพราะฉะนั้น ตัวละครครั้งรัชกาลที่ ๒ ที่ได้เป็นครูละครต่อมาจึงมีแต่ผู้หญิงเป็นพื้น มีชื่อปรากฏต่อมาหลายคน คือ:-

ครูยืนเครื่อง

๑. เจ้าจอมมารดาแย้ม เป็นตัวอิเหนา มักเรียกกันว่าคุณโตแย้ม ได้เป็นครูอิเหนาต่อมาแทบทั้งบ้านทั้งเมือง อยู่มาจนรัชกาลที่ ๕

๒. คุณมาลัย เป็นตัวย่าหรัน และเป็นพระสังข์ด้วย ได้เป็นท้าววรจันทร์ในรัชกาลที่ ๔ แล้วเลื่อนเป็นท้าววรคณานันต์ในรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้อำนวยการละครหลวงทั้ง ๒ รัชกาล

๓. คุณน้อย เป็นตัวจรกา ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔

๔. คุณจาด เป็นตัวล่าสำ ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔

๕. คุณทับทิม เป็นตัวพระมงกุฎละครชั้นเล็ก ได้เป็นครูละคร พระองค์เจ้าดวงประภาวังหน้า ในรัชกาลที่ ๔

๖. คุณบัว เป็นตัวท้าวสามนต์ ถึงรัชกาลที่ ๓ ไปเป็นหม่อมห้ามกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ครั้นรัชกาลที่ ๔ กลับมาเป็นครูละครหลวง เป็นผู้อำนวยการละครหลวงเวลาเล่นละครนอก

๗. คุณขำ เป็นตัวเงาะ ได้เป็นครูละครหลวงแต่รัชกาลที่ ๔ มาจนรัชกาลที่ ๕

๘. คุณจัน เป็นตัวพระสังข์ชั้นเล็ก ได้เป็นครูละครพระองค์เจ้าดวงประภาวังหน้า ในรัชกาลที่ ๔

๙. คุณน้อยงอก เป็นตัวไกรทอง ได้เป็นครูละครวังหน้า ในรัชกาลที่ ๓ และเป็นครูละครเจ้าพระยานครฯ น้อย ถึงรัชกาลที่ ๔ กลับมาเป็นครูละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเป็นครูละครเจ้าคุณจอมมารดาเอมวังหน้า ในรัชกาลที่ ๕ ด้วย

๑๐. คุณอิ่ม เป็นตัวย่าหรัน ได้เป็นครูละครเจ้าจอมมารดาเอมวังหน้า ในรัชกาลที่ ๕

ครูยักษ์

 

๑๑. คุณพัน เป็นตัวอินทรชิต ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ และเป็นผู้อำนวยการละครหลวงเวลาเล่นเรื่องรามเกียรติ์

๑๒. คุณน้อย จะเป็นยักษ์ตัวใดหาทราบไม่ ได้เป็นครูละครหลวง ในรัชกาลที่ ๔

ครูลิง

๑๓. คุณภู่ เป็นตัวหนุมาน ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔

ครูนาง

 

๑๔. คุณขำ เป็นตัวนางบาหยัน ได้เป็นครูละครหลวง ในรัชกาลที่ ๔

๑๕. คุณพุ่ม เป็นตัวนางกันจะหนา ได้เป็นครูละครหลวง ในรัชกาลที่ ๔

๑๖. คุณองุ่น เป็นตัวนางสีดา ได้เป็นครูละครหลวงแต่รัชกาลที่ ๔ มาจนถึงรัชกาลที่ ๕

ตัวละครรัชกาลที่ ๒ ยังมีชื่อปรากฏอีกหลายคน เช่น คุณน้อยสุหรานากง ที่สร้างวัดอัปสรสวรรค์เป็นต้น แต่ไม่ปรากฏว่า ได้เป็นครูฝึกหัดละครที่มีต่อมา จึงมิได้นับไว้ในพวกครูละคร[๕]

[๑] เพลงยาวบทนี้ มีผู้แต่งไว้กับบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องไกรทอง

[๒] บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ได้โปรดฯ ให้พิมพ์ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๖ พิจารณาดูโดยทางสำนวนกลอน เข้าใจว่าทรงพระราชนิพนธ์ภายหลังเรื่องอิเหนา เล่ากันมาว่า บทตอนบุตรลพนั้น ทรงต่อตอนปลายรัชกาลเมื่อหัดละครชั้นเล็กขึ้นอีกชุด ๑ ได้ออกโรงเล่นงานฉลองวัดอรุณฯ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ เป็นทีแรก

[๓] เล่ากันมาอย่างที่ว่านี้ แต่ข้าพเจ้านึกว่าคำ “ปลา” คงจะต้องมีอยู่แล้วแห่งใดแห่งหนึ่ง ทำนองว่า “น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว” ดังนี้ ถ้าขาดคำปลาไม่ได้ความ ที่ไหนจะทรงแต่ง

[๔] งิ้วผู้หญิง ของกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๒ อยู่มาจนรัชกาลที่ ๕ คนหนึ่ง ชื่อคล้าย เป็นพนักงานเลี้ยงนกที่ในพระบรมมหาราชวัง โดยร้องงิ้วถวายเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์เนืองๆ

[๕] ตัวละครในรัชกาลหลังต่อไป ที่ไม่ปรากฏว่าได้เป็นครูก็ไม่ได้กล่าวในหนังสือนี้เหมือนกัน

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ