ว่าด้วยละครนอก

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ข้าพเจ้ากลับจากประเทศอินเดียมาแวะที่แดนพม่า ประจวบเวลาเขามีงานมหรสพที่เมืองร่างกุ้ง ไปดูงานนั้นได้เห็นละครพม่าครั้งแรก เป็นละครที่เล่นกันในพื้นเมืองอย่างละครนอกของเรา สังเกตดูกระบวนเล่นเป็นอย่างเดียวกับละคร (โนห์รา) ชาตรีของไทยเรา คือ ตัวละครมีแต่นายโรงตัว ๑ นางตัว ๑ จำอวดตัว ๑ ตัวละครที่ทำบทร้องเอง มีพวกลูกคู่และปี่พาทย์รับ เรื่องที่เล่นวันนั้น เห็นจะเป็นเพราะเขารู้ว่าข้าพเจ้าไปดู เขาบอกว่า เล่นเรื่องไทย แต่จะเป็นเรื่องอะไร อธิบายมาไม่เข้าใจ ได้ความแต่ว่า เล่นเมื่อพานางไปชมสวน เมื่อแลเห็นก็ได้นึกในขณะนั้นว่า ละครพม่ากับละครชาตรีของไทยเรานี้ เล่นตามแบบแผนอันเดียวกันนั้นเอง ครั้นต่อมาภายหลังข้าพเจ้ามีกิจธุระในหน้าที่ ได้ลงไปมณฑลนครศรีธรรมราชเนืองๆ ลงไปคราวไรก็ได้ดูละครโนห์ราชาตรีที่เล่นในมณฑลนั้นแทบทุกคราว สังเกตเห็นพวกละครร้องคำไหว้ครูอยู่นานๆ จึงจับบทเล่นละคร นึกอยากจะทราบว่าคำไหว้ครูของพวกละครโนห์ราชาตรีเป็นอย่างไร จึงได้ถามแล้วจดมาทุกๆ คราวที่มีโอกาสจะจดได้ เอามาส่งให้รวบรวมรักษาไว้ในหอพระสมุดฯ เมื่อมาพิจารณาดูคำไหว้ครูที่จดมานั้น เห็นมีข้อความเป็นเรื่องตำนานของละครโนห์ราชาตรีอยู่หลายข้อทีเดียว เป็นต้นมีความปรากฏว่า เดิมนั้นพระเทพสิงหร บุตรของนางศรีคงคา[๑] หัดละครที่ในกรุงศรีอยุธยา ขุนศรัทธาเป็นตัวละครของพระเทพสิงหร ได้พาแบบแผนละครลงไปหัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นปฐม จึงได้เล่นละครกันสืบมา พวกละครโนห์ราชาตรียังออกชื่อบูชานางศรีคงคา พระเทพสิงหร และขุนศรัทธาในคำไหว้ครูมาจนทุกวันนี้ ความที่กล่าวว่าละครโนห์ราชาตรีได้แบบแผนลงไปจากกรุงศรีอยุธยา ข้อนี้หลักฐานประกอบในคำไหว้ครูอีกบท ๑ ซึ่งว่าด้วยเพลงรำ มีเป็นกลอน[๒]ว่า

๏ ครูเอยครูสอน สอนไว้ให้รำสิบสองท่า
พ่อขุนศรัทธา สอนให้รำท่าต่างกัน
๏ แม่ลายกนก แล้วยกขึ้นเป็นเครือวัลย์
ราหูจับจันทร์ ให้เวียนแต่ซ้ายไปขวา
๏...(บทขาด)... ...(บทขาด)
ปลดปลงลงมา ให้รำเป็นท่าบัวตูม
๏ บัวบานบัวคลี่ จงกลนีแย้มตระพุ่ม
...(บทขาด) แล้วท่าแมลงมุมชักใย
๏ ท่าพระยาหงส์ทอง ลงลอยล่องลำน้ำไหล
ล่องตรงลงไป ยังปากน้ำพระคงคา
๏ ขอเชิญร้อยชั่ง เจ้ารำช้างประสานงา
รำท่ากินรา ลงมาจะเล่นสาคร
๏ แล้วเก็บดอกไม้ มาร้อยเป็นเครื่องอาภรณ์
นี่แหละครูสอน ทำนองพ่อขุนศรัทธา ฯ

เพลงรำต่างๆ ที่ออกชื่อในกลอนนี้ ถูกต้องตามตำรารำครั้งกรุงเก่าโดยมา เห็นได้ว่า เป็นตำราที่ได้ไปจากในกรุงฯ ข้อนี้เป็นหลักฐานอย่าง ๑ อีกอย่าง ๑ เครื่องแต่งตัวอย่างเช่นนายโรงละครโนห์ราชาตรีแต่ง คือที่นุ่งสนับเพลาเชิงกรอมถึงข้อเท้า นุ่งผ้าหยักรั้งจีบโจงไว้หางหงส์ สวมเครื่องอาภรณ์กับตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ และศีรษะสวมเทริด (ซึ่งยังแต่งอยู่จนทุกวันนี้) เป็นแบบเครื่องต้นแต่งตัวท้าวพระยาแต่ดึกดำบรรพ์ เหมือนรูปภาพครั้งกรุงเก่า มีรูปเทวดาที่จำหลักบานซุ้มพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งอยู่ในอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน และรูปเทวดาที่เขียนไว้หลังบานประตูพระอุโบสถวัดใหญ่เมืองเพชรบุรีเป็นต้น เห็นได้ว่า เครื่องแต่งตัวอย่างเช่นนายโรงละครโนห์ราชาตรีแต่งต้องเป็นของเกิดแบบอย่างขึ้นในราชธานี แล้วจึงแพร่หลายลงไป ใช่วิสัยที่พวกชาวนครฯ จะคิดขึ้นได้แต่โดยลำพัง เพราะเค้าเงื่อนมีหลายอย่างดังกล่าวมา จึงควรเชื่อได้เป็นหลักฐานว่า ละครโนห์ราชาตรีที่เล่นกันที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้น มิได้ไปเอาอย่างมาแต่ละครพม่า ที่จริงได้แบบแผนลงไปจากกรุงศรีอยุธยา คือแบบแผนละครนอกที่เล่นกันอยู่เป็นพื้นเมืองในสมัยนั้นนั่นเอง ที่ไปเหมือนกับละครพม่าก็เพราะเล่นตามตำราอินเดียด้วยกันทั้งไทยและพม่า เพราะฉะนั้น ละครโนห์ราชาตรีนี้แลที่เป็นละครนอกชั้นเดิม จะอธิบายความที่ว่านี้ต่อไป อันลักษณะของละครจำต้องมีตัวละคร ๓ อย่าง คือตัวทำบทเป็นผู้ชาย ที่เราเรียกว่านายโรงหรือยืนเครื่อง[๓]อย่าง ๑ ตัวทำบทเป็นผู้หญิงเรียกว่านางอย่าง ๑ ตัวสำหรับทำบทเบ็ดเตล็ด เช่นเป็นฤาษีเป็นยักษ์ เป็นพราน เป็นยายตา และเป็นสัตว์เดียรัจฉานเช่นม้าและนกที่มีบทในเรื่องละคร ตลอดจนเล่นตลกให้ขบขัน เรียกว่าจำอวดอย่าง ๑ ถ้าตัวละครขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปก็เล่นไม่สนุก เพราะฉะนั้น ละครพม่าก็ดี ละครโนห์ราชาตรีของไทยเราก็ดี ที่มีตัวละครแต่นายโรงตัว ๑ นางตัว ๑ และจำอวดตัว ๑ อย่างนี้เป็นอย่างน้อยที่สุดที่จะเล่นละครได้สะดวก ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏมาแต่ก่อนว่าละครชาตรีชอบเล่นแต่บางเรื่อง ที่ตัวบทสำคัญเล่นพร้อมกันไม่เกินกว่า ๓ ตัว เช่นเรื่อง พระรถเสน ตัวนายโรงเป็นพระรถเสน ตัวนางเป็นนางเมรี ตัวจำอวดเป็นม้าของพระรถเสน หรือมิฉะนั้นก็เล่นเรื่องนางมโนห์รา ตัวนายโรงเป็นพระสุธน ตัวนางเป็นนางมโนห์รา ตัวจำอวดเป็นพรานบุณ[๔] ละครที่ขุนศรัทธาไปหัดขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช คงถนัดเล่นเรื่องนางมโนห์รายิ่งกว่าเรื่องอื่น เล่นให้พวกชาวเมืองดูจนชินจนเลยเรียกละครว่า “มโนห์รา” แต่เรียกตัดตัวหน้าเสียตามวิสัยของชาวนคร จึงคงรูปเรียกว่า “โนห์รา” มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ละครนอกที่เล่นกันในกรุงศรีอยุธยา ชั้นเดิมก็คงจะมีตัวละครแต่โรงละ ๓ คน ๔ คนอย่างละครโนห์ราชาตรีต่อนานมา เมื่อมีคนชอบดูละครมากขึ้น ทางหาเลี้ยงชีพในการเล่นละครสะดวกขึ้น จึงเกิดการแก้ไขกระบวนเล่นละครแข่งขันกันให้วิเศษขึ้นกว่าแต่เดิม คือเพิ่มตัวละครให้มากขึ้น และคิดเครื่องแต่งตัวละครขึ้น[๕] แล้วริเล่นเรื่องให้แปลกกว่าเดิมออกไป บทร้องซึ่งเดิมตัวละครต้องร้องเป็นกลอนด้นโดยประดิษฐ์ของตนเอง (อย่างโนห์รายังร้องอยู่ทุกวันนี้) ก็มีกวีช่วยกันคิดแต่งกลอนให้เรียบร้อยเพราะพริ้งยิ่งขึ้น บทละครครั้งกรุงเก่าซึ่งยังมีอยู่บัดนี้ยังพอสังเกตได้ว่าที่เป็นบทรุ่นเก่ากลอนเป็นอย่างละครชาตรี ต่อบทรุ่นหลังมาจึงเป็นกลอนแปด[๖] ถึงกระนั้นก็ยังไม่เหมือนบทละครชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ละครนอกที่เล่นกันในราชธานี คงเปลี่ยนแปลงกระบวนเล่นมาโดยลำดับ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าจนในกรุงเทพฯ จึงมาเป็นอย่างละครที่เล่นกันในชั้นหลังนี้ แต่การที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงกระบวนเล่นละครในราชธานีอย่างไร ละครในมณฑลนครศรีธรรมราชอยู่ห่างไกลราชธานี ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบละครแต่ครั้งกรุงเก่า ขุนศรัทธาหัดไว้อย่างไร ก็คงเล่นสืบมาตามแบบเดิม จึงกลายเป็นละครโนห์ราชาตรีไปอีกอย่างหนึ่งในทุกวันนี้ ต้นเดิมของละครชาตรีกับละครนอก พิเคราะห์ดูเห็นว่าจะเป็นดังแสดงมา

[๑] นางคนนี้ในคำไหว้ครูต่างโรงเรียกต่างกัน เรียกว่านางศรีมาลาบ้าง นางนวลสำลีบ้าง

[๒] คำไหว้ครูละครโนห์ราชาตรีที่จดไว้เป็นตัวอักษรหาไม่ได้ ได้มาแต่ตามที่พวกละครจำไว้ จึงคลาดเคลื่อน

[๓] เหตุใดจึงเรียกว่ายืนเครื่อง และเหตุใดจึงเรียกว่านายโรง จะอธิบายต่อไปข้างหน้า

[๔] เข้าใจว่าเรื่องพระรถกับเรื่องนางมโนห์รากระบวนเล่นละครผิดกัน เรื่องพระรถ นายโรงเป็นตัวบทสำคัญ เรื่องนางมโนห์รา นางเป็นตัวบทสำคัญ เพราะฉะนั้น ละครโรงไหน ตัวนายโรงถนัดทำบทชาย ก็ชอบเล่นเรื่องพระรถ ถ้าถนัดทำบทหญิง ก็ชอบเล่นนางมโนห์รา

[๕] เรื่องเครื่องแต่งตัวละครจะได้อธิบายต่อไปในตอนหนึ่งต่างหาก

[๖] บทละครครั้งกรุงเก่า เรื่องพระสุธนนางมโนห์รา กับเรื่องสังข์ทอง ได้พิมพ์แล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ