พงศาวดารอิเหนา

เรื่องอิเหนาเป็นพงศาวดารชวา ในสมัยเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ประมาณ ๑๘๐๐ ปี[๑] ร่วมราวคราวเดียวกับเมื่อสมเด็จพระร่วง แรกตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีในสยามประเทศนี้ อิเหนานั้น ในพงศาวดารชวาเรียกชื่อว่า “อิเหนา ปันหยี กรัตปาตี” แต่พวกชวาเรียกกันเป็นสามัญโดยย่อว่า “ปันหยี” นับถือว่าเป็นมหาราชองค์หนึ่งในราชวงศ์ชวา เจ้านายที่ยังเป็นประเทศราชอยู่ในแดนชวาทุกวันนี้ คือสุสุหุนันเจ้าเมืองสุรเกษตรก็ดี สุลต่านเจ้าเมืองยกยา (อโยธยา) เกษตรก็ดี ยังถือว่าสกุลวงศ์เป็นเชื้อสายสืบมาแต่อิเหนา ครั้งพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแดนชวา เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๕ (พ.ศ. ๒๔๓๙) สุลต่านถวายหนังสือราชพงศาวดารชวาฉบับหลวงที่เขียนไว้สำรับ ๑ ทูลชี้แจงว่า มีปรากฏในพงศาวดารว่า ท้าวกุเรปันได้ราชธิดากรุงสยามไปเป็นมเหสีองค์หนึ่ง แต่ความข้อนี้ เมื่อโปรดฯ ให้สอบดูหนังสือตรงนั้น ได้ความว่าได้ราชธิดาไปจากกรุงจาม (อยู่ข้างใต้กรุงกัมพูชา) หาใช่ไทยไม่ ส่วนสุสุหุนันนั้นถวายกริชโบราณเล่ม ๑ ว่าเดิมเป็นกริชของอิเหนาให้ ทำไว้ด้วยเหล็กขวานฟ้า ซึ่งตกลงมาจากบนสวรรค์เมื่อครั้งอิเหนาครองประเทศชวาอยู่นั้น จะเห็นได้ตามที่กล่าวมาว่า ความเคารพนับถืออิเหนายังมีอยู่ในแดนชวาจนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้จนพวกราษฎรพลเมืองชวาก็ยังชอบดูละครและดูหนังเล่นเรื่องอิเหนาอยู่เป็นนิจ เพราะฉะนั้น ละครชวาที่เล่นกันเป็นพื้นเมืองอย่างละครนอกของเราและหนังชวา จึงชอบเล่นเรื่องอิเหนายิ่งกว่าเรื่องอื่นๆ

ละครชวามีหลายอย่าง อย่างที่เล่นกันในพื้นเมืองชวาเรียกว่า “โตแปง” โรงหนึ่งมีตัวละครราว ๖ คน ปี่พาทย์ ๔ คน ตัวละครใส่หน้ากาก ต้องมีคนพากย์คล้ายโขนของเรา คนพากย์นั้นชวาเรียกว่า “ดาหลัง” เป็นผู้อำนวยการละครโรงนั้นด้วย หนังชวานั้น พวกชวาเรียกว่า “วายังกุลิต” จอขนาดเดียวกับหนังตะลุงของเรา แต่ตั้งจอกับพื้นดินให้คนดูนั่งเรียงรายทางหน้าจอ มี “ดาหลัง” เป็นผู้พากย์หนังนั่งอยู่ข้างหลังจอ เอาตัวหนังออกตั้งเชิด แล้วพากย์เป็นกาพย์กลอน บรรยายเรื่องให้คนฟัง มีส่งปี่พาทย์ทำเป็นระยะพอให้ดาหลังพักได้บ้าง เล่นกันจนดึกๆ ด้วยพวกชวาชอบฟัง กล่าวกันว่า ถ้าดาหลังดีๆ แล้วว่าคำพากย์เพราะนัก[๒] ไปที่ไหนก็มีคนหาไม่ขาด แต่ตัวหนังชวานั้นดูไม่เป็นรูปผู้รูปคน เพราะเหตุที่ศาสนาอิสลามห้ามมิให้เขียนภาพรูปคน พวกชวาเล่นหนังมาแต่ยังถือศาสนาพราหมณ์ ครั้นเมื่อเข้ารีตถือศาสนาอิสลามแล้วยังชอบเล่นหนัง จึงต้องแก้ตัวหนังให้ผิดเพี้ยนผู้คนไป มิให้ขัดแก่ข้อบังคับในโกหร่าน ที่เรื่องอิเหนาแพร่หลายมาจนแดนมลายู ก็เพราะพวกชวามาเล่นละครและหนังในเมืองมลายู พวกมลายูชอบใจ ก็เอาอย่างมาเล่นบ้าง คือที่เราเรียกว่า “ละครแขก” และ “หนังแขก” เคยมีเข้ามาเล่นจนในกรุงเทพฯ ไทยเราเห็นรูปหนังที่ทำให้ผิดเพี้ยนรูปคนก็ติเตียน ดังกล่าวไว้ในเสภาตอนทำศพนางวันทอง เมื่อพรรณนาถึงเครื่องมหรสพต่าง ๆ ว่า

“เหล่าเจ้าพวกหนังแขกแทรกเข้ามา

พิศดูหน้าตามันปอหลอ

รูปร่างโสมมผมหยิกงอ

จมูกโด่งโก่งคอเหมือนเปรตยืน” ดังนี้

แต่พวกชวามลายูที่เข้าใจคำพากย์ เขานับถือว่าดูหนังเป็นประโยชน์ เพราะได้ความรู้และได้ฟังคำกวีอันเป็นนักปราชญ์ฉลาดเฉลียว ถึงเจ้าบ้านผ่านเมืองก็ต้องยกย่องผู้ที่เป็นดาหลัง ด้วยคติอันนี้ ในเรื่องอิเหนาใหญ่จึงปรากฏว่า อิเหนาปลอมตัวเป็นดาหลัง และในเรื่องอิเหนาเล็กก็ปรากฏว่า เพราะเล่นหนังจึงได้รู้ว่านางแอหนังเป็นนางบุษบา

แต่ส่วนเรื่องประวัติของตัวอิเหนาเองนั้น ชาวต่างประเทศที่ได้ศึกษาพงศาวดารชวากล่าวกันว่า เรื่องที่ปรากฏในพงศาวดารชวา เนื้อความจะเอาเป็นหลักฐานในทางพงศาวดารได้แน่นอนมีน้อย เพราะเป็นเรื่องเกิดเมื่อก่อนมีหนังสือจดหมายเหตุ เป็นแต่เล่าแถลงสืบต่อกันมาช้านาน พวกชวานับถืออิเหนาว่ามีอิทธิฤทธิ์ เรื่องราวที่เล่า ก็กล่าวแต่เป็นปาฏิหาริย์การอัศจรรย์ต่างๆ ซ้ำมาในชั้นหลัง มีผู้แต่งเรื่องอิเหนาเป็นกาพย์กลอนบ้าง เรียบเรียงเป็นเรื่องเล่นมหรสพบ้าง เรื่องประวัติของอิเหนาก็กลายเป็นหลายเรื่องหลายอย่าง[๓] แต่ต้นเค้าคงยุติต้องกันในเรื่องกษัตริย์วงศ์เทวาทั้ง ๔ พระนคร และในเรื่องที่อิเหนาได้ตุนาหงันกับราชธิดาท้าวดาหา แล้วไปลุ่มหลงนางอื่นเสีย จึงเป็นเหตุให้ต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง เที่ยวสัญจรไปตามเมืองน้อยใหญ่ในแดนชวาและเมืองที่ตั้งอยู่ตามเกาะอื่นๆ อิเหนามีฤทธานุภาพ เมื่อเที่ยวไปก็ปราบปรามเมืองน้อยใหญ่เอาไว้ในอำนาจได้โดยมาก ครั้นเมื่อได้กลับมาครอบครองเมืองเดิม จึงมีราชอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่ากษัตริย์แต่ก่อนๆ ด้วยเหตุนี้พวกชวาจึงนับถืออิเหนาว่าเป็นมหาราชองค์หนึ่ง ในสมัยเมื่อพวกชวายังถือศาสนาพราหมณ์ (จึงปรากฏการไหว้พระปฏิมา คือเทวรูป และมีสังปะลิเหงะ คือฤๅษีในเรื่องละครอิเหนา) แต่อานุภาพมีมากอยู่แต่เพียงตัวอิเหนาชั่วเดียว พอถึงลูกซึ่งเรียกชื่อในพงศาวดารชวาว่า “มิสาตันตรมัน ” ได้รับรัชทายาท เมืองขึ้นที่อิเหนาได้ไว้ ก็กลับแยกกันไปอย่างเดิม ว่าโดยทางพงศาวดารเรื่องอิเหนามีเนื้อความดังกล่าวมานี้

[๑] ศักราชพงศาวดารชวาตอนเรื่องอิเหนา ต่างฉบับต่างอ้างผิดกันเป็นหลายอย่าง ที่ลงในนี้ ตาม เซอร์ สแตมฟอด แรฟฟั่ล ว่าเป็นพงศาวดารฉบับหลวงที่เมืองสุรเกษตร

[๒] หนังไทยแต่โบราณก็เห็นจะเล่นทำนองนี้ คำฉันท์เรื่องสมุทโฆษก็แต่งสำหรับเล่นหนัง บอกไว้ข้างต้นหนังสือนั้นชัดเจน ต่อมาชั้นหลัง หนังจึงเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว แต่หนังตะลุงนั้น เป็นของใหม่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๕ พวกชาวบ้านกวน (มะ) พร้าว แขวงจังหวัดพัทลุง คิดเอาอย่างหนังแขก (ชวา) มาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อน แล้วจึงแพร่หลายไปที่อื่น ในมณฑลนั้นเรียกกันว่า “หนังควน” เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พาเข้ามากรุงเทพฯ ได้เล่นถวายตัวที่บางปะอินเป็นทีแรก เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙

[๓] ที่เราเรียกว่า เรื่องอิเหนาใหญ่และเรื่องอิเหนาเล็ก ก็คือเรื่องพงศาวดารอิเหนาคนเดียวกันนั้นเอง เป็นแต่เล่าเรื่องแตกต่างกันไป จึงกลายเป็น ๒ เรื่อง ที่ในหอพระสมุดฯ ยังมีหนังสือเรื่องอิเหนาภาษามลายูอีกฉบับ ๑ หวันเต๊ะ มารดาเจ้าพระยาไทรบุรีถวายไว้ ในต้นฉบับว่าเดิมดาหลังชื่อ อริยะ เป็นผู้แต่ง เป็นภาษาชวา แปลมาเป็นภาษามลายู ได้ลองให้แปลเป็นภาษาไทย เรื่องก็ไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนทั้งอิเหนาใหญ่และอิเหนาเล็ก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ