ตำนานละครครั้งกรุงธนบุรี
ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น ที่จริงหาได้เสียสยามประเทศไม่ ถ้าจะเรียกอย่างทุกวันนี้ ก็เสียแต่มณฑลอยุธยา มณฑลกรุงเทพฯ มณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลนครสวรรค์ รวม ๕ มณฑล กับมณฑลปราจีนบุรีอีกครึ่งมณฑลเท่านั้น หัวเมืองมณฑลที่กองทัพพม่าไม่ได้ไปถึง ไทยยังเป็นอิสระอยู่ทุกมณฑล แต่ถึงกระนั้น ธรรมดาของที่เป็นอย่างดีอันมีในประเทศ แม้จนในการเล่น เช่นโขนละคร มักมีอยู่ในราชธานี เมื่อเสียกรุงฯ แก่พม่าข้าศึก ตัวละครและบทละครครั้งกรุงเก่าจึงเป็นอันตรายหายสูญไปเสียเป็นอันมาก ส่วนละครนอกเป็นของราษฎร เล่นกันในพื้นเมืองแพร่หลาย ตัวละครเห็นจะหลบหลีกเหลืออยู่ได้มาก แต่ละครในน่าจะมีตัวละครเหลืออยู่น้อยเต็มที ด้วยมีแต่ของหลวง ที่แบบแผนละครในไม่สาบสูญไปเสียทีเดียว ก็เพราะมีตัวละครหลวงหลบหนีไปอยู่ตามหัวเมือง ที่ยังเป็นสิทธิ์แก่ไทยได้บ้าง และมีผู้ที่ได้เคยรู้เห็นลักษณะการเล่นละครใน เช่นเจ้าฟ้าพินทวดี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นต้น อยู่มาจนครั้งกรุงธนบุรี[๑] และเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๑๒ ได้ละครผู้หญิงของเจ้านครฯ ซึ่งพวกละครหลวงที่หนีไปจากกรุงเก่าไปเป็นครูฝึกหัดขึ้น มาสมทบกับพวกละครที่รวบรวมได้จากที่อื่น จึงหัดละครหลวงขึ้นใหม่ครั้งกรุงธนบุรี และครั้งนั้นก็ถือแบบอย่างครั้งกรุงเก่า มีละครผู้หญิงแต่ละครหลวงโรงเดียว ต่อมาเมื่อโปรดให้เจ้านครฯ กลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้ากรุงธนบุรีประทานละครผู้หญิงคืนให้เจ้านครฯ ไปเล่นอย่างเดิม ด้วยทรงยกย่องเกียรติยศเป็นพระเจ้าประเทศราช จึงมีละครผู้หญิงของเจ้านครฯ อีกโรง ๑ ปรากฏว่าได้เคยเกณฑ์เข้ามาเล่นประชันกับละครหลวงในงานสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๒๓ มีแจ้งในหนังสือพระราชวิจารณ์
ละครผู้หญิงครั้งกรุงเก่า ที่ได้มาเป็นครูละครครั้งกรุงธนบุรี ปรากฏชื่อแต่คนเดียวว่าชื่อ จัน เป็นตัวนางเอกละครหลวงครั้งกรุงเก่า[๒] นอกจากนี้จะมีใครอีกบ้างหาปรากฏชื่อไม่ ส่วนบทละครนั้น ครั้งกรุงธนบุรีได้บทละครครั้งกรุงเก่า ที่เหลืออยู่แต่บางเรื่องบางตอนไม่บริบูรณ์ พระเจ้ากรุงธนบุรี ต้องทรงพระราชนิพนธ์เพิ่มเติม ตรงตอนที่จะเล่นละครหลวงในครั้งกรุงธนบุรี ความข้อนี้ ปรากฏในบานแพนกบทละครเรื่องรามเกียรติ์ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี “ทรงแต่งแต่ชั้นต้นเป็นปฐม” เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๓๒ (พ.ศ. ๒๓๑๓ คือภายหลังตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ปี ๑) จะคัดบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ตอนบุตรลพ มาลงไว้ในที่นี้ พอให้เห็นเป็นตัวอย่างสักตอนหนึ่ง
บทละครพระราชนิพนธ์ครั้งกรุงธนบุรี
๏ มาจะกล่าวบทไป | หน่อในอวตารรังสี |
หาผลปรนนิบัติชนนี | ทั้งพระฤๅษีมีญาณ |
วันหนึ่งชวนน้องเข้าพาที | พระมุนีจงโปรดเดฉาน |
ข้าไซร้เกลือกคนอันธพาล | ขอประทานร่ำเรียนวิชา |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ ฤๅษีรักจูบกระหม่อมเกศ | สอนให้เล่าเวทคาถา |
ฯ เจรจา ฯ
๏ หุดีกูณฑ์กองวิทยา | เจ็ดราตรีศรผุดพลัน |
ฯ ตระ ฯ
๏ จึงประสิทธิ์ประสาทธนูศิลป์ | เจ้าจินดารมณ์หมายมั่น |
เมื่อลั่นซั้นซ้ำมนต์พลัน | สรรพโลกไม่ทนฤทธา |
ฯ ๔ คำ ฯ เจรจา
๏ ฝ่ายสองกุมารเรียนเสร็จ | ได้ทั้งกลเม็ดคาถา |
รับเอาธนูศิลป์มา | ลาล่าหาผลพนาลี |
เข้าม่าน
๏ ครั้นถึงกาลวาศพนาลัย | ปราศรัยน้องลพเรืองศรี |
ฝ่ายพี่จะแผลงฤทธี | ยิงรังต้นนี้ให้ขาดไป |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ เจ้าลพว่าใหญ่ถึงแสนวา | ข้าเจ้าเห็นหาหักไม่ |
พระมงกุฎก็วางศรชัย | สนั่นไปถึงชั้นพรหมา |
ฯ ตระ เชิด ฯ
๏ ถูกรังต้นใหญ่สินขาด | ยับเยินพินาศดังฟ้าผ่า |
แล้วกลับต่อว่าอนุชา | น้องยาจะว่าประการใด |
ฯ ๔ คำ ฯ
๏ พระลพสรรเสริญบุญญา | อานุภาพเป็นหาที่สุดไม่ |
พระชนนีจะมิตกใจ | ก็ชวนเก็บผลไม้กลับมา |
ฯ ๒ คำ ฯ พระยาเดิน
เรื่องที่เล่นละครผู้หญิงของหลวงครั้งกรุงธนบุรี นอกจากเรื่องรามเกียรติ์ ปรากฏว่าเล่นเรื่องอิเหนาอีกเรื่องหนึ่ง และเข้าใจว่าเล่นเรื่องอุณรุทด้วย เพราะมีบทละครเรื่องอุณรุทความก่อนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เข้าใจว่าจะเป็นบทครั้งกรุงเก่าเหลือมา มิใช่พระราชนิพนธ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยสังเกตดูกระบวนกลอนเห็นผิดกับบทรามเกียรติ์มากนัก แต่เรื่องดาหลังอิเหนาใหญ่นั้น หาปรากฏเค้าเงื่อนว่าได้เล่นละครหลวงในครั้งกรุงธนบุรีไม่
ส่วนเรื่องละครนอก จะรวบรวมบทครั้งกรุงเก่าได้ในครั้งกรุงธนบุรีกี่เรื่อง ข้อนี้ทราบไม่ได้ บทละครนอกครั้งกรุงเก่าที่มีฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ บัดนี้ ๑๔ เรื่อง[๓] จะบอกชื่อไว้พอให้รู้ว่า ละครเรื่องใดมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้วบ้าง คือ :
เรื่องการะเกด | ๑ |
เรื่องคาวี | ๑ |
เรื่องไชยทัต | ๑ |
เรื่องพิกุลทอง | ๑ |
เรื่องพิมพ์สวรรค์ | ๑ |
เรื่องพิณสุริยวงศ์ | ๑ |
เรื่องนางมโนห์รา | ๑ |
เรื่องโม่งป่า | ๑ |
เรื่องมณีพิไชย | ๑ |
เรื่องสังข์ทอง | ๑ |
เรื่องสังข์ศิลป์ไชย | ๑ |
เรื่องสุวรรณศิลป์ | ๑ |
เรื่องสุวรรณหงส์ | ๑ |
เรื่องโสวัต | ๑ |
นอกจากนี้ ยังมีบทละครนอกสำนวนกลอนเป็นของเก่าก่อนรัชกาลที่ ๒ อยู่อีก ๕ เรื่อง คือ:
เรื่องไกรทอง | ๑ |
เรื่องโคบุตร | ๑ |
เรื่องไชยเชษฐ์ | ๑ |
เรื่องพระรถ | ๑ |
เรื่องศิลป์สุริย์วงศ์ | ๑ |
เข้าใจว่าเป็นเรื่องละครครั้งกรุงเก่าเหมือนกัน แต่บทที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ จะเป็นของแต่งครั้งกรุงเก่าหรือกรุงธนบุรี หรือในรัชกาลที่ ๑ พิเคราะห์ดูไม่แน่ใจเหมือน ๑๔ เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น
[๑] เจ้าฟ้าพินทวดีอยู่มาจนรัชกาลที่ ๑ สิ้นพระชนม์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๔๙
[๒] ชื่อปรากฏในเพลงยาวเก่า เรียกว่า ‘จันอุสา’
[๓] แต่ไม่มีบริบูรณ์สักเรื่องเดียว เข้าใจว่าจะบกพร่องมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี