ว่าด้วยปี่พาทย์สำหรับเล่นละคร

การเล่นละครต้องมีคนทำดุริยางค์ด้วยอีกพวกหนึ่ง เหมือนกันทั้งละครไทยละครพม่าและละครชวา เพราะฉะนั้นเห็นได้ว่า การที่มีดุริยางค์เล่นกับละครคงเป็นแบบแผนมาแต่อินเดียด้วยกันกับตำราละคร[๑]

เครื่องดุริยางค์ที่เล่นกับละคร เรียกกันเป็นสามัญว่าพิณพาทย์บ้าง ปี่พาทย์บ้าง อันที่จริงคำว่า พิณพาทย์ กับ ปี่พาทย์ หมายความต่างกัน พิณพาทย์หมายความว่า เครื่องดนตรี อันเป็นเครื่องสายสำหรับดีดสี เพราะเดิมใช้พิณเป็นหลัก ปี่พาทย์นั้นหมายความว่า เครื่องดุริยางค์ อันเป็นเครื่องตีเป่า เพราะเดิมใช้ปี่เป็นหลัก เพราะฉะนั้น เครื่องที่ทำในการเล่นละคร เรียกว่า “ปี่พาทย์” ความข้อนี้ก็สมด้วยแบบแผนซึ่งมีมาในรัชกาลที่ ๔ เช่นในหมายรับสั่งย่อมใช้ว่า “ปี่พาทย์” ทุกแห่ง

เครื่องปี่พาทย์ตามตำราอินเดียว่ามี ๕ สิ่ง เรียกรวมกันว่า “ปัญจดุริยางค์” อธิบายเป็นรายสิ่งว่า

  1. สุสิรํ คือ ปี่
  2. อาตตํ คือ กลองขึ้นหนังหน้าเดียว
  3. วิตตํ คือ กลองขึ้นหนังสองหน้า
  4. อาตตวิตตํ คือ กลองหุ้มหนังรอบตัว
  5. ฆนํ คือฆ้องโหม่ง หรือ ฉิ่ง ฉาบ อันทำด้วยโลหะ ในตำราว่า สุสิรํ สำหรับทำลำนำ อาตตํ วิตตํ อาตตวิตตํ สำหรับทำเพลงประกอบฆนํ สำหรับให้จังหวะ

เครื่องปี่พาทย์ของไทยเราก็ดี ปี่พาทย์มอญพม่าและปี่พาทย์ชวาก็ดี เห็นได้ว่าได้ต้นตำรามาแต่เครื่องปัญจดุริยางค์ของชาวอินเดียด้วยกัน เป็นแต่มาแก้ไขไปตามความนิยมในภูมิประเทศต่างๆ กัน

สุสิรํ คือ ปี่ ก็มาทำเป็นหลายอย่าง เรียกว่าปี่อ้อ ปี่ชวา ปี่มอญ ปี่ไทย เป็นต้น และปี่ไทยก็ยังต่างกันโดยขนาด เรียกเป็นปี่ใน ปี่กลาง ปี่นอก อีกชั้นหนึ่งดังนี้

อาตตํ คือ กลองขึ้นหนังหน้าเดียวนั้น ก็มาทำเป็นทับ[๒] เป็นรำมะนา เป็นกลองยาวเป็นต้น

วิตตํ ซึ่งอธิบายว่ากลองขึ้นหนังสองหน้านั้น เข้าใจว่ากลองชนิดที่ใช้สายโยงยืดหนังหน้ากลอง อาจจะทำเสียงกลองให้สูงหรือต่ำได้ด้วยเร่งและหย่อนสายที่ขึงหน้ากลอง กลองสองหน้าประเภทนี้มาเป็นตะโพน เปิงมาง และกลองแขกเป็นต้น[๓]

อาตตวิตตํ ซึ่งว่าเป็นกลองหุ้มหนังรอบตัวนั้น เข้าใจว่า จะเป็นกลองอย่างที่กรึงหนังติดแน่นกับตัวกลองทีเดียว โดยประสงค์จะให้เสียงดัง คืออย่างกลองละครนั้นเอง

ฆนํ คือ ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง โหม่ง ฆ้องคู่ (เช่นเล่นละครโนห์ราชาตรี) และฆ้องราว (เช่นเล่นระเบ็ง) เหล่านี้อยู่ในพวก ฆนํ เพราะเหตุสำหรับตีให้จังหวะ และเป็นของทำด้วยโลหะเช่นเดียวกัน

ปี่พาทย์ที่ไทยเราเล่นละครรำมี ๒ อย่างต่างกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี คือปี่พาทย์สำหรับเล่นละครชาตรีอย่าง ๑ ปี่พาทย์สำหรับเล่นโขนละครในกรุงฯ อย่าง ๑ เมื่อพิเคราะห์ดูลักษณะปี่พาทย์ทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวมา เห็นว่าปี่พาทย์ละครชาตรีคงเป็นของเก่าก่อนปี่พาทย์โขนละคร เพราะเป็นเครื่อง ๕ และมีรายสิ่งเกือบจะตรงกับที่อธิบายไว้ในลักษณะเครื่องเบญจดุริยางค์ตามตำราอินเดียคือ

  1. ปี่ ตรงกับ สุสิรํ ในตำรา
  2. ทับ (ใบที่ ๑) ตรงกับ อาตตํ ในตำรา
  3. ทับ (ใบที่ ๒) ใช้แทนโทนสองหน้า วิตตํ ในตำรา
  4. กลอง ตรงกับ อาตตวิตตํ ในตำรา
  5. ฆ้องคู่ ตรงกับ ฆนํ ในตำรา

ส่วนปี่พาทย์โขนละครนั้น ก็เป็นเบญจดุริยางค์ด้วยมีเครื่อง ๕ สิ่ง แต่ทว่าแก้ไขห่างจากตำราเครื่องเบญจดุริยางค์ของเดิมออกไป คือ

  1. สุสิรํ ปี่คงอยู่ตามตำรา
  2. อาตตํ เปลี่ยนทับเป็นระนาด
  3. วิตตํ ใช้ตะโพน คือโทนสองหน้า
  4. อาตตวิตตํ กลองคงอยู่ตามตำรา
  5. ฆนํ เปลี่ยนฆ้องคู่เป็นฆ้องวง

เครื่องปี่พาทย์โขนละครที่กล่าวมานี้ เรียก (ในชั้นหลังมา) ว่าปี่พาทย์เครื่อง ๕ เพราะมีเครื่อง ๕ สิ่ง ที่จริงจำนวนสิ่งก็เท่ากับเครื่องปี่พาทย์อย่างเช่นละครชาตรี แต่ผิดกันในข้อสำคัญ ที่ปี่พาทย์ละครชาตรีมีเครื่องทำเสียงสูงต่ำเป็นลำนำได้แต่ปี่สิ่งเดียว แต่ปี่พาทย์เครื่องห้ามีเครื่องที่ทำลำนำได้ถึง ๓ สิ่ง คือ ปี่ ระนาดและฆ้องวง จึงเห็นได้ว่าปี่พาทย์ทั้ง ๒ อย่างนั้น ปี่พาทย์ละครชาตรีคงเป็นอย่างเดิม แล้วมาคิดแก้ไขไปเป็นอย่างปี่พาทย์เครื่องห้า เพื่อจะให้ทำเพลงได้กว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิม

เครื่องปี่พาทย์ ๓ สิ่ง คือ ระนาด ฆ้องวง และตะโพนซึ่งมาใช้ในปี่พาทย์เครื่องห้าแทนทับ ๒ ใบกับฆ้องคู่ของเดิมนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นว่าจะเป็นของเกิดขึ้นด้วยเหตุต่างกัน คือ

เหตุที่เกิดฆ้องวงนั้น เดิมในเครื่องดุริยางค์คงใช้แต่ฆ้องโหม่งใบเดียว สำหรับตีเป็นจังหวะ ต่อมาเติมฆ้องเข้าให้เป็นเสียงสูงใบหนึ่ง เสียงต่ำใบหนึ่ง จึงเป็นฆ้องคู่ (อย่างเช่นเล่นละครโนห์ราชารีและหนังตะลุง) ครั้นต่อมาอีกชั้นหนึ่ง เติมฆ้องเข้าอีกใบหนึ่งให้เป็นสามเสียง จึงเป็นฆ้องราว (อย่างเช่นเล่นระเบ็งและตีเข้ากับกลองมลายู) ทีหลังมาเกิดความรู้ขึ้นในครั้งใดครั้งหนึ่งว่า ถ้าเอาผงตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งติดถ่วงในปุ่มฆ้อง อาจจะทำให้เสียงฆ้องเป็นเสียงอย่างใดก็ได้ ความรู้อันนี้ที่เป็นเหตุให้ทำฆ้องให้ครบ ๗ เสียง จึงคิดเพิ่มฆ้องราวให้เป็นฆ้องวง ๑๖ ใบ ตีเป็นเพลงลำนำต่างๆ ได้

เหตุที่เกิดระนาดนั้น เห็นจะมาแต่กระบอกเพลงของพวกชาวป่า คือตัดกระบอกไม้ไผ่ไว้ข้อข้างหนึ่ง เอากระทุ้งกับแผ่นดินให้เกิดเสียงก้องออกมาจากกระบอก กระบอกขนาดยาวสั้นต่างกัน เสียงที่ก้องก็สูงต่ำผิดกัน พวกชาวป่ามีข่าเป็นต้น รู้เค้าว่าจะตัดกระบอกอย่างไร ให้ก้องเป็นเสียงไรได้ ก็เกิดกระบอกเพลงขึ้น ใช้กระบอกเพลงหลายๆ อันกระทุ้งตามจังหวะให้เป็นเพลงลำนำ จึงมีชื่อเรียกกันว่า “เพลงกระบอก” ต่อมามีผู้คิดทำกระบอกเพลงให้เป็นเสียงต่างกันได้ ด้วยกระบวนเหลาไม้กระบอกให้หนาและบางผิดกัน จึงอาจทำกระบอกเพลงให้เบาและมีเสียงไพเราะขึ้น อย่างกระบอกเพลงที่พวกชวาเรียกว่า “อุงคลุง” คือใช้กระบอกย่อมๆ เรียงกันเป็นราวละสองสามกระบอก ถือราวไกวด้วยมือ ให้กระบอกกระทบกันก้องเป็นเสียงต่างๆ มาอีกชั้นหนึ่งจึงเกิดความคิดตัดไม้ไผ่มาเหลาเป็นซีก แล้วร้อยเชือกหรือวางเรียงบนราง ใช้รางเป็นเครื่องให้เกิดก้องและถ่วงซีกระนาดด้วยตะกั่วผสมขี้ผึ้งได้เสียงครบ ๗ เสียงอย่างเช่นฆ้องวง ไม้ ๑๙ อันก็อาจตีให้เกิดเสียงต่างๆ จนทำเป็นลำนำได้[๔]

เหตุที่เกิดตะโพนนั้น เดิมเครื่องดุริยางค์ใช้กลองใบละเสียง ๓ ใบ ทีหลังมาคิดแปลงโทนสองหน้า ที่ชาวอินเดียเรียกว่า “โทละ” นั้น ให้หน้าใหญ่ข้างหนึ่ง หน้าเล็กข้างหนึ่ง แล้วเอาข้าวสุกผสมกับขี้เถ้าติดตรงใจกลางหนังหุ้มกลองข้างหน้าใหญ่ ทำให้เป็นกลองสองเสียงได้ในใบเดียว ก็เกิดเป็นตะโพนขึ้น

เพราะตะโพนเป็นของตี ๒ มือ และทำได้เป็น ๒ เสียง ปี่พาทย์ใช้ตะโพนใบเดียวทำเพลงได้เท่ากับทับของละครชาตรี ๒ ใบ ด้วยเหตุนี้เมื่อใช้ตะโพน จึงอาจจะเลิกทับได้ทั้ง ๒ ใบ แล้วเอาระนาดเข้าแทน โดยมิต้องเพิ่มจำนวนคน ส่วนที่เปลี่ยนฆ้องราวมาเป็นฆ้องวง คือเปลี่ยนฆ้องตีจังหวะเป็นฆ้องตีลำนำนั้น ก็เห็นจะเป็นเพราะใช้ตะโพนให้จังหวะคือเห็นว่าปี่พาทย์ทำเพลงที่ใช้ตะโพน ถึงขาดฆ้องราวก็ไม่สำคัญอันใด แต่มีบางเพลงที่ไม่ใช้ตะโพน เมื่อทำเพลงเช่นนั้น จึงใช้ตีฉิ่งให้จังหวะแทน ด้วยเหตุนี้คนตะโพนจึงเป็นคนตีฉิ่งปี่พาทย์เป็นประเพณีมา สันนิษฐานว่าลักษณะการที่เปลี่ยนเครื่องปี่พาทย์เดิมมาเป็นปี่พาทย์เครื่องห้า จะเป็นดังทำนองที่ได้อธิบายมา แต่ความคิดที่เปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในประเทศนี้ทั้งนั้น หรือเราได้แบบอย่างมาแต่ที่อื่นบ้าง ข้อนี้ทราบไม่ได้ ด้วยปี่พาทย์พม่ามอญชวาก็มีระนาดฆ้องทำนองเดียวกับของเรา เขาเอาอย่างเราไป หรือเราเอาอย่างเขามา ก็อาจจะเป็นได้ทั้ง ๒ สถาน

ถึงพิเคราะห์ดูโดยทางตำนานการเล่นละครรำของไทยเรา ข้อซึ่งว่าปี่พาทย์ละครชั้นเดิมคงใช้ปี่พาทย์อย่างละครชาตรี ข้อนี้ก็มีเค้าเงื่อนอยู่มาก เพราะละครชาตรีเป็นละครนอกเดิมของเราดังได้อธิบายมาแล้ว ขุนศรัทธาคงพาทั้งแบบละครและปี่พาทย์สำหรับเล่นละครไปจากกรุงศรีอยุธยาด้วยกัน ต่อเมื่อพวกชาวนครศรีธรรมราชได้แบบละครและปี่พาทย์ลงไปเล่นกันแพร่หลายแล้ว ละครทางในกรุงฯ จึงเปลี่ยนมาใช้ปี่พาทย์เครื่องห้า เหตุไรจึงเปลี่ยนก็ดูเหมือนจะพอคิดเห็นได้ ด้วยมีเค้าเงื่อนอยู่ที่เครื่องปี่พาทย์ละครชาตรี ล้วนเป็นเครื่องขนาดย่อมๆ เห็นได้ว่าเป็นของทำสำหรับให้หอบหิ้วขนไปได้ง่าย เพราะเดิมละครมักต้องเดินทางไปเที่ยวหางานเล่น อย่างเช่นละครโนห์ราชาตรียังเที่ยวหางานอยู่จนทุกวันนี้[๕] แต่ปี่พาทย์เครื่องห้าเป็นเครื่องขนาดเขื่อง จะขนหอบหิ้วไปไม่สะดวกเหมือนเครื่องปี่พาทย์ละครชาตรี เพราะฉะนั้น คงเป็นเครื่องสำหรับการเล่นที่เล่นเป็นตำแหน่งแห่งที่ จึงสันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะเป็นปี่พาทย์โขน พึ่งเอามาใช้เป็นปี่พาทย์ละครเมื่อหัดละครผู้หญิงของหลวง แล้วละครโรงอื่นจึงเอาอย่างไป

เพราะเหตุนั้นละครที่ในกรุงฯ ทั้งละครหลวงและละครราษฎรจึงใช้ปี่พาทย์เครื่องห้าด้วยกันทั้งนั้น

ความที่กล่าวข้อนี้ คือที่ว่าละครรำของไทยเราเดิมใช้ปี่พาทย์อย่างละครชาตรี แล้วจึงเอาปี่พาทย์เครื่องห้าของโขนมาใช้นั้น ยังมีเค้าเงื่อนอยู่ในเพลงปี่พาทย์อีกทางหนึ่ง จะนำมาแสดงไว้ด้วย คือ

หน้าพาทย์ของละครชาตรีมีแต่ ๙ เพลง[๖] คือ

  1. เพลงโทน ละครรำซัด (ตรงกับเพลงช้า)
  2. เพลง (เร็ว)
  3. เสมอ
  4. เชิด
  5. โอด
  6. ลงสรง
  7. โลม
  8. เชิดฉิ่ง
  9. เพลงฉิ่ง

เพลงทั้ง ๙ ที่กล่าวมานี้ ตรงกับที่มีในแบบละครนอกละครในทั้งนั้น เห็นได้ว่าเป็นเพลงตำราละครเดิม ส่วนหน้าพาทย์ทำโขนนั้น มีตำราของเก่าอยู่ในหอพระสมุดฯ ดังนี้

โหมโรงเย็น ๕ เพลง

  1. ตระสารนิบาต แล้วรัว
  2. เข้าม่าน ทำ ๖ เที่ยว (แล้ว) ลงลา
  3. กราวใน
  4. เชิด
  5. กราวรำ

โหมโรงเช้า ๙ เพลง

  1. ตระสารนิบาต แล้วรัว
  2. เข้าม่าน ทำ ๖ เที่ยว (แล้ว) ลงลา
  3. เสมอ แล้วรัว
  4. เชิด
  5. กลม
  6. ชำนัน สองท่อน
  7. กราวใน
  8. ชุบ
  9. กราวรำ

โหมโรงกลางวัน ๑๔ เพลง

  1. กราวใน
  2. เสมอข้ามสมุทร แล้วรัว
  3. เชิด
  4. ชุบ แล้วลงลา
  5. กระบองตัน แล้วรัว
  6. ตะคุกรุกร้น
  7. ใช้เรือ แล้วรัว
  8. ปลูกต้นไม้ แล้วรัว
  9. คุกพาทย์ แล้วรัว
  10. พันพิราบ
  11. ตระสารนิบาต
  12. เสียน ๒ เที่ยว
  13. เชิด ประถม แล้วรัว
  14. บาทสกุณี ปลายลงกราวรำ

นอกเรื่องโหมโรง

ไหว้ครู ๒ เพลง

  1. ปรายข้าวตอก
  2. ตระประโคนธรรพ

เรื่องเตร็ด ๒๑ เพลง

  1. ตระตะหริ่ง
  2. ตระเชิงกะแชง
  3. ตระท้าวน้อย
  4. ตระเชิงเทียน
  5. ตระเสือขับ
  6. ตระหญ้าปากคอก
  7. ตระปลายพระลักษมณ์
  8. ตระมารละม่อม
  9. ตระแรมไพร
  10. ตระเชินเหนือ
  11. ตระเชินใต้
  12. แผละ
  13. เหาะ
  14. โคมเวียน
  15. เชิน
  16. พระยาเดิน
  17. สยาเดิน
  18. สยาครัว
  19. เชิดฉาน
  20. เชิดนอก
  21. กราวนอก

ดูตำรานี้ก็เห็นได้ว่า เพลงหน้าพาทย์โขนเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากมากกว่าหน้าพาทย์ละครหลายเท่า มีเหมือนกับหน้าพาทย์ละครชาตรีแต่เพลงเสมอกับเชิด ๒ เพลงเท่านั้น จึงเป็นเค้าเงื่อนว่า ปี่พาทย์เครื่องห้าคงเป็นปี่พาทย์สำหรับโขนอยู่ก่อน ละครเอามาใช้ภายหลัง ไม่แต่ละครเท่านั้น ถึงที่เอาปี่พาทย์เครื่องห้าไปใช้ เป็นเครื่องแห่และเครื่องประโคม ที่สุดจนใช้เป็นเครื่องบรรเลงในเวลาทำการทัพศึก ดังปรากฏในเรื่องพระราชพงศาวดาร เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยังเป็นที่เจ้าพระยาสุรสีห์ ทรงรักษาเมืองพิษณุโลก ต่อสู้อะแซหวุ่นกี้ พม่าล้อมไว้จนสิ้นเสบียงอาหาร กองทัพกรุงธนบุรีก็ไปช่วยแก้ไขไม่ได้ จะตีหักข้าศึกออกจากที่ล้อม จึงทรงพระราชดำริเป็นกลอุบาย ให้ปี่พาทย์ทำบนหอรบให้ครึกครื้นขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อจะให้ข้าศึกสำคัญว่าจะตั้งรักษาเมืองต่อไป ความที่กล่าวนี้เป็นอุทาหรณ์ว่าใช้ปี่พาทย์เครื่องห้า เป็นเครื่องบรรเลงในเวลาทำสงคราม ทำนองเดียวกับแตรวงของทหารในชั้นหลัง แต่ก็มีเค้าเงื่อนว่าเอาไปจากโขนเหมือนกัน เพราะมีความปรากฏดังได้กล่าวมาแล้วว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนได้พระราชทานอนุญาตให้ผู้มีบรรดาศักดิ์หัดโขนเพื่อประโยชน์ในการทำสงคราม เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ทั้งที่อยู่ในราชธานีและที่ปกครองหัวเมือง จึงมักหัดโขนขึ้นไว้ โขนมีที่ไหน ปี่พาทย์เครื่องห้าก็ต้องมีที่นั่น เพราะฉะนั้นปี่พาทย์เครื่องห้าจึงได้มีแพร่หลาย แล้วจึงเลยใช้เป็นเครื่องประโคมและเครื่องบรรเลงต่อไป

แต่ปี่พาทย์นั้นใช้เฉพาะเครื่องห้าสิ่งมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าจนตลอดรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ พึ่งมาจับเพิ่มเติมเครื่องปี่พาทย์ขึ้นเป็นเครื่องใหญ่ ต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๓ เข้าใจว่าเพราะเกิดเล่นเสภารับปี่พาทย์เป็นเหตุขึ้นก่อน เสภาอย่างโบราณขับอย่างเล่านิทาน หามีส่งปี่พาทย์ไม่ พึ่งเกิดวิธีส่งปี่พาทย์เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ความข้อนี้ปรากฏอยู่ในคำไหว้ครูเสภาบทหนึ่งว่า

“เมื่อครั้งพระจอมนรินทร์แผ่นดินลับ เสภาขับยังหามีปี่พาทย์ไม่
มาเมื่อพระองค์ผู้ทรงไชย ก็เกิดมีขึ้นในอยุธยา”[๗]

ความที่กล่าวในกลอนก็สมกับคำที่เล่ากันมา ว่าพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดทรงฟังเสภา ได้ทรงพระราชนิพนธ์เสภาก็หลายตอน คือตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างแล้วเข้าห้องนางแก้วกิริยา ซึ่งชอบขับชอบฟังกันมาจนทุกวันนี้นั้นเป็นต้น คงโปรดให้คนขับเสภาร้องลำนำส่งปี่พาทย์เหมือนทำนองมโหรี จึงเกิดมีเสภาส่งปี่พาทย์ขึ้นแต่นั้นมา แต่กล่าวกันว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ปี่พาทย์แม้ที่รับเสภาก็ยังคงใช้เครื่องห้าเป็นแต่ใช้สองหน้าแทนตะโพน ต่อเมื่อถึงรัชกาลที่ ๓ เห็นจะเป็นเพราะเล่นเสภาส่งปี่พาทย์กันแพร่หลาย จึงได้มีผู้คิดเครื่องปี่พาทย์เพิ่มเติมขึ้น แต่จะขอยั้งเรื่องที่ว่าด้วยเพิ่มเติมเครื่องปี่พาทย์ ไว้พรรณนาข้างหน้าต่อไป จะอธิบายว่าด้วยปี่พาทย์เครื่องห้าซึ่งเล่นละครเสียให้หมดกระบวนก่อน

ลักษณะที่ละครเล่นกับปี่พาทย์นั้นเป็น ๒ กระบวน คือใช้ร้องเป็นหลักกระบวนหนึ่ง ใช้ปี่พาทย์เป็นหลักกระบวน ๑ จะพรรณนากระบวนที่ใช้ร้องเป็นหลักก่อน ลักษณะที่ร้องละครเป็น ๓ จังหวะ คือจังหวะช้า จังหวะกลาง และจังหวะเร็ว ส่วนจังหวะช้านั้น คือ

  1. ร้องช้าลูกคู่รับไม่ใช้ปี่พาทย์ เรียกเป็นสามัญว่า “ร้องช้า” ในกระบวนร้องอย่างนี้ยังมีลำนำอื่นอีกหลายเพลง ที่เรียกว่า “ช้าอ่านสาร” “ยานี” และ “ชมตลาด” เป็นต้น
  2. ร้องช้าเข้ากับปี่ เรียกว่า “ช้าปี่” “โอ้ปี่” และ โอ้ชาตรี เป็นต้น
  3. ร้องช้าเข้ากับโทน เช่นร้อง “ลงสรง”และ “ชมดง” เป็นต้น[๘] กระบวนร้องช้าใช้ร้องแต่บางบทซึ่งจะให้เห็นเป็นบทสำคัญ กล่าวกันว่าแต่เดิมเป็นแต่ร้องเข้ากับปี่หรือเข้ากับโทน ดังบอกไว้ข้างหน้าบท หาได้รับปี่พาทย์ทั้งวงไม่ ถึงละครหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๒ ก็ว่าไม่ใคร่โปรดให้ร้องรับปี่พาทย์ทั้งวง เห็นจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าพาให้ละครรำเยิ่นเย้อไป การที่ละครร้องรับปี่พาทย์ทั้งวง ว่ามักเกิดขึ้นใหม่ในสมัยเมื่อเล่นปี่พาทย์กัน มามีชุกชุมขึ้นต่อในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ กล่าวกันมาดังนี้

ละครร้องจังหวะกลางนั้น คือ “ร้องร่าย” มีแต่ลูกคู่รับ ไม่ทำปี่พาทย์ ใช้ร้องพื้นเรื่องละคร เพราะฉะนั้น ละครจึงร้องร่ายมากกว่าอย่างอื่น

ละครร้องจังหวะเร็วนั้น พวกละครชาตรีเรียกว่า “ร้องสับ” พวกละครในกรุงฯ เรียกว่า “ร้องสับไท” เห็นจะมาแต่คำว่า “ศัพทย” ด้วยกัน มีแต่ลูกคู่รับ ไม่ทำปี่พาทย์เหมือนกับร้องร่าย แต่จังหวะเร็ว ใช้แต่เฉพาะเมื่อละครทำบทรุกร้น เช่นเวลาไล่กันเป็นต้น

ส่วนกระบวนละครที่ใช้ปี่พาทย์เป็นหลักนั้น ทำโหมโรงอย่าง ๑ ทำเพลงรำอย่าง ๑

โหมโรงคือทำปี่พาทย์บรรเลงในเวลาละครแต่งตัวก่อนจะเล่น เป็นการบอกให้มหาชนทราบว่าจะมีละคร การโหมโรงของละครชาตรี ใช้เพลงตามแบบเก่า ทำแต่ “เพลงซัด” เพลง ๑ “เชิด” เพลง ๑ กับ “เพลง” เพลง ๑ รวม ๓ เพลงเท่านั้น แต่โหมโรงละครนอกและละครในอย่างในกรุงฯ ปี่พาทย์ทำเพลงเรื่องยืดยาวตามแบบโหมโรงโขนอย่างเช่นแสดงมาแล้ว เป็นแต่แก้ไขบ้างเล็กน้อย เห็นได้ชัดว่าปี่พาทย์เอาหน้าพาทย์โขนมาใช้ เป็นเค้าเงื่อนอีกอย่าง ๑ ในช้อที่ว่าละครในและปี่พาทย์เครื่องห้ามาแต่โขน ดังได้อธิบายมา อนึ่ง เมื่อเวลาละครเลิก ปี่พาทย์ยังทำลาโรงอีกอย่าง ๑ เป็นคู่กับโหมโรง แต่ทำเพลงกราวรำเพลงเดียวเพราะเป็นเวลาเลิก ประเดี๋ยวคนก็กลับหมด

ที่ปี่พาทย์ทำเพลงรำของละครนั้น ก็ใช้จังหวะช้า กลาง และเร็ว เป็น ๓ อย่าง คล้ายกับจังหวะที่ละครร้องใช้ปี่พาทย์ทำแต่โดยลำพังอย่าง ๑ ใช้ร้องช่วยปี่พาทย์ด้วยอีกอย่าง ๑ เป็น ๒ กระบวนต่างกัน

ที่ปี่พาทย์ทำโดยลำพังนั้น เช่นรำเสมอ รำกลม รำเชิด เป็นต้น

ที่มีร้องช่วยปี่พาทย์นั้นคือ เมื่อละครรำเพลงช้า เพลงเร็ว และเชิดฉิ่ง

เพลงช้า ตะโพนทำจังหวะ จ๊ะ โจ๋ง จ๊ะ ถิ่ง โจ๋ง ถิ่ง ร้องบท “เย็นย่ำ จะค่ำอยู่แล้วลงรอนรอน” และ “ฉุยฉาย” เป็นต้น

เพลงเร็ว ตะโพนทำจังหวะ ต๊ะ ถิ่ง ถิ่ง ร้องบท “รักเจ้าสาวคำเอย” หรือ “แม่ศรีเอย” เป็นต้น

เชิดฉิ่ง ตีฉิ่งเป็นจังหวะเร็ว (ไม่ใช้ตะโพน) ร้องบท “หรง หริ่ง ได้ยินเสียงฉิ่งก็จับใจ” เป็นต้น

ลักษณะที่ร้องช่วยเพลงรำทั้ง ๓ อย่างที่กล่าวมานี้ เมื่อพิเคราะห์ดูก็ดูเหมือนจะเห็นเค้าเงื่อนในตำนาน ว่าจะเป็นประเพณีเก่าแก่แต่เมื่อละครยังใช้ปี่พาทย์ละครชาตรี ซึ่งปี่สิ่งเดียวอาจจะทำเป็นลำนำได้ เพราะเพลงช้าเพลงเร็วและเชิดฉิ่ง ๓ เพลงนี้ปี่พาทย์ต้องทำอยู่นาน ละครจึงจะรำจบกระบวน ในระหว่างนั้น ทำนองจะเห็นหนักแรงคนปี่นัก จึงคิดให้ร้องลำนำช่วยปี่พาทย์ เพราะฉะนั้น บทที่ใช้ร้องความจึงไม่เข้ากับเรื่องเสมออย่างว่า นึกบทอะไรได้ก็ร้องไป พอให้เป็นลำนำชวนละครรำแล้วก็ใช้ได้

แต่นี้จะว่าด้วยเรื่องเพิ่มเติมเครื่องปี่พาทย์ต่อไป ปี่พาทย์เครื่องห้าของเดิมมีปี่ (ใน) ๑ ระนาด (เอก) ๑ ฆ้องวง (ใหญ่) ๑ ตะโพน ๑ กลอง ๑ รวม ๕ สิ่ง มีฉิ่งอีกสิ่ง ๑ ซึ่งเข้าใจว่าใช้สำหรับให้จังหวะผลัดกันกับตะโพน จะเป็นเครื่องประกอบมาแต่ชั้นเดิม ส่วนเครื่องที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่นั้น --

หมายนั้นว่า “ให้ท่านพระยามนตรีสุริยวงศ์จัดปี่พาทย์สำรับใหญ่สำรับ ๑” มาทำด้วย ความตอนหลังนี้หมายว่า ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ระนาด ๔ ราง เห็นได้ว่าเป็นของพึ่งมีขึ้นในเวลานั้น แม้ของหลวงก็ยังไม่มี แต่ต่อมาปี่พาทย์ก็กลายเป็นเครื่องใหญ่ขึ้นตามกันอีกชั้น ๑ ปี่พาทย์เครื่องคู่ก็ใช้เล่นละครมากขึ้น คงใช้ปี่พาทย์เครื่องห้าแต่ละครนอกที่เล่นงานปลีกและงานเหมา กับปี่พาทย์หลวงวงหมื่นไฉน ที่ทำประโคมในการหลวงเท่านั้น

การเล่นปี่พาทย์เครื่องใหญ่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ชุกชุมเพียงใด จะเห็นได้ในจำนวนวงปี่พาทย์ ซึ่งปรากฏในหมายรับสั่งครั้งโปรดฯ ให้ขอแรงมาทำสมโภชพระแก้วมรกต เมื่อเดือน ๕ แรมค่ำ ๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ คือ:-

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของกรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของกรมขุนสรรพศิลป์ปรีชา

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา วง ๑

 

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของกรมหมื่นราชสีหวิกรม

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของพระยาเพชรพิไชย

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม)

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี (เพ็ง)

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้ชาย

ของพระประดิษฐ์ไพเราะ (มีแขก)

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้หญิง

ของกรมหมื่นวรจักรธรานุภาพ

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้หญิง

ของกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้หญิง

ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ

วง ๑

ปี่พาทย์ผู้หญิง

ของเจ้าพระยารวิวงศ์ (ขำ)

วง ๑

เป็นปี่พาทย์ผู้ชาย ๑๒ วง ปี่พาทย์ผู้หญิง ๔ วง รวม ๑๖ วงด้วยกัน ปี่พาทย์ ๑๖ วงนี้ มีเค้าเงื่อนเห็นได้ว่าเป็นปี่พาทย์เครื่องใหญ่สำหรับทำรับเสภาทั้งนั้น เพราะขาดปี่พาทย์ของกรมพระพิทักษเทวศร์ และปี่พาทย์ผู้ชายของกรมหมื่นมเหศวรฯ ทั้งปี่พาทย์ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ซึ่งทำนองจะเป็นแต่ปี่พาทย์เครื่องห้า หรือเครื่องคู่สำหรับใช้เล่นละครอย่างเดียว จึงมิได้เกณฑ์

การสมโภชพระแก้วมรกตครั้งนั้น นอกจากปี่พาทย์ยังเกณฑ์มโหรีและสักวาเข้ามาเล่นด้วย มีบาญชีจำนวนวงปรากฏในหมายรับสั่งดังนี้:-

มโหรีผู้หญิง

ของพระยาเพชรพิไชย

วง ๑

มโหรีผู้หญิง

ของพระยาพิพิธโภไคสวรรย์

วง ๑

สักวาผู้ชาย

ของกรมหมื่นภูบดีราชหฤไทย

วง ๑

สักวาผู้ชาย

ของพระองค์เจ้าสิงหรา (กรมหลวงบดินทร)

วง ๑

สักวาผู้ชาย

ของพระองค์เจ้าชมพูนุท (กรมขุนเจริญ)

วง ๑

สักวาผู้ชาย

ของหม่อมเจ้าพนม (ในกรมหลวงเทเวศร์)

วง ๑

สักวาผู้หญิง

ของพระสรรพากร

วง ๑

สักวาผู้หญิง

ของหลวงรัตนสมบัติ

วง ๑

สักวาผู้หญิง

ของเสมียนตรากรมนาวังหน้า

วง ๑

สักวาผู้หญิง

ของนายเลี้ยงมหาดเล็ก (ภายหลังเป็นจมื่นราชนาคา)

วง ๑

มีรายการในหมายรับสั่งว่า บรรดาปี่พาทย์ให้มีเสภาทุกวง และให้ปี่พาทย์ มโหรีสักวา ผู้หญิงอยู่ (ที่พระระเบียง) ในม่านข้างด้านใต้พระอุโบสถ ปี่พาทย์ มโหรี และสักวาผู้ชาย ให้ตั้งรายกัน (ที่พระระเบียง) ทางด้านเหนือและด้านตะวันตกตะวันออกตามฉลากที่เขียนไว้ตามห้อง ให้แต่งตัวนุ่งห่มพวกปี่พาทย์ มโหรี และสักวา ประกวดประขัน และให้เจ้าของจัดเป็นโต๊ะที่บูชาตั้งหน้าวงปี่พาทย์ มโหรี และสักวาของตนด้วย กำหนดให้ทำแต่เพลาพลบค่ำไปจนเสด็จขึ้นจึงเลิก ดังนี้

การเกณฑ์ครั้งที่กล่าวนี้ เชื่อได้ว่าเกณฑ์หมดจำนวนทั้งปี่พาทย์เครื่องใหญ่ มโหรี และสักวา ของเจ้านายและขุนนางบรรดามีอยู่ในกรุงฯ ในสมัยนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูก็เห็นได้ว่า การเล่นมโหรีอย่างโบราณร่วงโรยลงมากเหลืออยู่แต่ ๒ วง เพราะเปลี่ยนมานิยมเล่นละครผู้หญิง และปี่พาทย์รับเสภาเสียโดยมากจนถึงหัดผู้หญิงให้ทำปี่พาทย์แทนมโหรีอย่างเก่าก็มี ความนิยมที่แปรไปเป็นเล่นปี่พาทย์เช่นกล่าวมานี้ ก็มีผลต่อไปถึงละคร คือที่เกิดชอบร้องลำต่างๆ รับปี่พาทย์ในเวลาละครใช้บทนั้น มีมากขึ้นแต่รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ตลอดจนรัชกาลที่ ๕ จนถึงเจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต ให้ร้องลำ ๓ ชั้นให้ละครของท่านรำ แต่เห็นจะมีโรงเดียวเท่านั้น

ยังมีเครื่องปี่พาทย์ที่เกิดเพิ่มเติมขึ้นนอกจากที่ได้กล่าวอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า กลองนั้น ชั้นเดิมก็ใช้แต่ ๒ ใบ ภายหลังเติมขึ้นเป็นสำรับละ ๓ ใบ ๔ ใบ เข้าใจว่าเป็นของเดิมขึ้นเมื่อละครใช้ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ยังกลองฝรั่งซึ่งมักเรียกกันมาแต่ก่อนว่า “กลอง(อะ)เมริกัน” ก็เป็นของเติมขึ้นเมื่อละครเล่นเรื่องพระอภัยมณี เพราะเหตุที่ทำเพลงฝรั่ง ปี่พาทย์เล่นละครเพิ่มเครื่องมากขึ้นโดยลำดับแสดงมา

ละครครั้งรัชกาลที่ ๕ ใช้ปี่พาทย์เครื่องใหญ่เป็นพื้น ต่อละครโรงเล็กๆ หรือละครบ้านนอกจึงใช้เครื่องคู่ ที่จะใช้เครื่องห้าหาใคร่มีไม่ ส่วนปี่พาทย์เบญจดุริยางค์อย่างดั้งเดิม ยังใช้เล่นแต่ละครโนห์ราชาตรีกับหนังตะลุงอยู่จนทุกวันนี้ ว่าด้วยเรื่องปี่พาทย์ที่เล่นละครจบเนื้อความเพียงเท่านี้

[๑] อธิบายเรื่องปี่พาทย์ตอนนี้ กล่าวตามความที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงชี้แจงให้เข้าใจเป็นพื้น

[๒] เรามักเรียกกันว่า โทน ที่ถูกนั้นโทนเป็นกลองอย่างขึ้นหนังสองหน้า ชาวอินเดียเรียกว่า โทละ

[๓] บรรดากลองประเภทนี้เดิมใช้ตั้งเสียงด้วยสายขึงทั้งนั้น วิธีที่เอาข้าวสุกกับขี้เถ้าติดพอกหน้ากลองให้เป็นเสียงสูงต่ำมาคิดได้ต่อทีหลัง กลองของชาวอินเดียและชวา มลายู ยังไม่ใช้จนบัดนี้

[๔] ระนาดเดิมมีแต่ ๑๙ ซีก เป็นของเติมในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ๒ ซีก จึงเป็น ๒๑ ซีก

[๕] ลักษณะละครโนห์ราชาตรีเที่ยวหางาน จะปรากฏในตอนว่าด้วยประเพณีละครต่อไปข้างหน้า

[๖] กระบวนเพลงของละครชาตรีในนี้ กล่าวตามคำชี้แจงของนายสระ ครูละครชาตรีในกรุงเทพฯ

[๗] บทหลังนี้ ผู้ที่จำไว้บอกว่า “ก็เกิดคนดีในอยุธยา” เห็นว่าผิด ด้วยความไม่รับกับคำต้น

[๘] ร้องชมดงรับปี่พาทย์ เป็นของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ริขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ