ตำนานละครครั้งรัชกาลที่ ๓

ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจการเล่นละคร พอเสวยราชย์ก็โปรดให้เลิกละครหลวงเสีย ไม่ทรงเล่นละครจนตลอดรัชกาล เล่ากันมาว่า ถึงโขนข้าหลวงเดิม ซึ่งโปรดให้ฝึกหัดไว้เมื่อครั้งยังเป็นกรม เมื่อเสด็จผ่านพิภพแล้วก็โปรดให้เลิกเสียด้วย แต่การเลิกละครหลวงครั้งนั้น กลับเป็นเหตุให้เล่นละครกันขึ้นแพร่หลายกว่าแต่ก่อน เพราะผู้นิยมแบบอย่างละครหลวงครั้งรัชกาลที่ ๒ มีมาก แต่ก่อนไม่กล้าเอาอย่างไปเล่น ด้วยเกรงว่าจะเป็นการแข่งของหลวง ครั้นละครหลวงเลิกเสียแล้ว ผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ก็พากันหัดละครตามแบบหลวงครั้งรัชกาลที่ ๒ ขึ้นหลายแห่ง ส่วนเจ้านายนั้น มีกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเป็นต้น ตลอดจนเจ้านายต่างกรมและหากรมมิได้ก็หลายพระองค์ ส่วนขุนนางก็มีตั้งแต่เสนาบดีเป็นต้น ต่างหัดละครแบบหลวงขึ้นตามกัน ผู้ที่เกรงว่า พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ในชั้นแรกก็เป็นแต่ลักเล่น ดังเช่นเจ้านายที่หัดโขนมาตามแบบโบราณ ก็หัดโขนให้เล่นละครด้วย ที่กล้าหัดละครขึ้นใหม่ทีเดียวก็มี ดังเช่นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ก็ทรงหัดละครผู้หญิงวังหน้าขึ้นทั้งชุด นอกจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ยังมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) ที่กล้าหัดละครผู้หญิงขึ้นอีก ๒ โรง[๑] ก็ไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กริ้วกราดหรือทรงห้ามปรามอย่างใด ผู้ที่ฝึกหัดละครขึ้นในชั้นหลัง จึงมิใคร่จะปิดบังดังชั้นแรก

ความที่ว่า พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดละคร แต่ไม่ทรงห้ามปรามผู้อื่นที่เล่นละคร ข้อนี้ในประกาศกระแสรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้อื่นมีละครผู้หญิงได้นั้น ก็กล่าวความว่า “พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่โปรดละคร เป็นแต่ว่าทรงแช่งชักติเตียนจะมิให้ผู้อื่นเล่น ถึงกระนั้นก็มีผู้ลักเล่นเงียบๆ ด้วยกันหลายราย” ดังนี้ เนื้อความก็ตรงกัน เมื่อพิเคราะห์ดูในเวลานี้ ก็ดูเหมือนจะแลเห็นได้ว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ทรงห้าม เพราะพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรังเกียจการเล่นละครเป็นส่วนพระองค์จึงทรงเลิกละครหลวงเสีย เมื่อทรงทราบว่าใครหัดละครขึ้น ก็ย่อมจะทรงติเตียนเป็นธรรมดา แต่มิได้มีพระราชประสงค์จะให้เลิกละครเสียทั้งนั้นทีเดียว เพราะละครเป็นการเล่นสำหรับบ้านเมืองมาแต่โบราณ แม้มีงานมหรสพของหลวงก็ยังต้องเล่นละครอยู่ตามประเพณี ข้อที่ทรงรังเกียจเฉพาะแต่การที่ผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละคร แต่ฝ่ายข้างผู้ที่หัดเล่นละครก็มีข้ออ้างอย่างหนึ่งว่า แบบและบทละครซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงไว้เป็นของประณีตบรรจงไม่เคยมีเสมอเหมือนมาแต่ก่อน ถ้าทอดทิ้งเสียไม่มีใครฝึกหัดให้ละครเล่นรักษาไว้ แบบแผนละครหลวงก็จะสูญไปเสีย ความที่กล่าวข้อนี้เป็นความจริง ก็เหมือนเป็นเครื่องป้องกันอีกอย่าง ๑ แม้พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจการเล่นละคร จึงมิได้ทรงห้ามปรามผู้อื่นโดยพระราชานุภาพ

เพราะประวัติเหตุเป็นดังได้แสดงมา ละครที่หัดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ จึงเป็นแต่ละครของเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่หัดขึ้นเป็นเครื่องประดับเกียรติยศเป็นพื้น ล้วนหัดตามแบบละครหลวงครั้งรัชกาลที่ ๒ ทั้งนั้น เวลานั้นครูทองอยู่กับครูรุ่ง ซึ่งเป็นครูละครหลวงครั้งรัชกาลที่ ๒ ยังมีชีวิตอยู่ ครูทั้งสองนั้น จึงได้เป็นผู้ฝึกหัดทุกโรง เล่ากันว่า ครูทองอยู่ ครูรุ่ง ได้บำเหน็จจนสามารถสร้างบ้าน และปลูกเรือนฝากระดานอยู่ได้ใหญ่โตทั้ง ๒ คน บรรดาละครที่หัดขึ้นครั้งนั้น เล่นทั้งละครในและละครนอก ซึงทรงพระราชนิพนธ์บทไว้เมื่อรัชกาลที่ ๒ แต่เรื่องอิเหนาเป็นเรื่องที่นิยมกันยิ่งกว่าเรื่องอื่น แต่ละครนอกซึ่งราษฎรเล่นกันในพื้นเมือง ยังคงเล่นกันตามแบบและบทโบราณ ไม่มีใครกล้าเอาบทพระราชนิพนธ์ไปเล่น จนตลอดรัชกาลที่ ๓

ละครของเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งหัดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ ที่มีชื่อปรากฏมีมาจนบัดนี้หลายโรง คือ:-

(๑) ละครวังหน้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงหัดขึ้นโรง ๑ เป็นละครผู้หญิงทั้งโรง เล่นทั้งเรื่องพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ และเรื่องอื่นซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอกขึ้นใหม่ มี ๔ เรื่อง[๒] คือ :

เรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานอาสา แต่งบทให้นางเบญกาย กับนางสุวรรณกันยุมาหึงกัน ทำนองเรื่องไกรทองเรื่อง ๑

เรื่องกากี ตอนครุฑลักพานางกากีเรื่อง ๑

เรื่องพระลอ ตอนพระลอคลั่งเรื่อง ๑

เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนลาวทองลงมาพบกับนางวันทองตอน ๑ ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างตอน ๑ ตอนนางวันทองห้ามทัพตอน ๑

ละครวังหน้าเล่นอยู่เพียง ๘ ปี พอสิ้นพระชนมายุ กรมพระราชวงบวรมหาศักดิพลเสพแล้วก็เลิก

(๒) ละครพระบาทสมเด็จฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศร์รังสรรค์โรง ๑ เล่ากันว่ากระบวนเล่นเป็นแต่กระนั้นเอง เพราะเจ้าของไม่สู้เอาพระทัยใส่ ทรงเล่นอยู่หน่อยหนึ่งก็เลิกเสียแต่เมื่อยังเป็นกรม โปรดทรงแต่ปี่พาทย์

(๓) ละครกรมหลวงรักษรณเรศร์โรง ๑ เล่ากันว่าเล่นอิเหนาบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ หาเล่นบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ เหมือนโรงอื่นไม่

(๔) ละครกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ เมื่อยังเป็นกรมขุนพิพิธภูเบนทร์โรง ๑ เล่ากันว่ากระบวนรำดีกว่าโรงอื่นทั้งนั้น

(๕) ละครกรมพระพิทักษเทเวศร์ เมื่อยังเป็นกรมหมื่นโรง ๑

(๖) ละครกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เมื่อยังเป็นพระองค์เจ้าทินกรโรง ๑ เล่ากันว่าตัวละครหัดรำแบบละครหลวงแต่โปรดทรงเรื่องละครนอก ได้ทรงแต่งบทละครนอกขึ้น ๓ เรื่อง คือ :

เรื่องสุวรรณหงส์เรื่อง ๑

เรื่องนางแก้วหน้าม้าเรื่อง ๑

เรื่องนางกุลาเรื่อง ๑

ดูเหมือนจะยังมีเรื่องอื่นอีก แต่ไม่ทราบแน่เหมือน ๓ เรื่องที่กล่าวมา บทละครของกรมหลวงภูวเนตรฯ ละครชั้นหลังเล่นกันแพร่หลาย นับถือกันว่าดีทัดพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒

(๗) ละครพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ เล่ากันว่าเดิมได้โขนข้าหลวงเดิมพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไปทรงเล่นโขนตามประเพณีเก่าอยู่ก่อน ภายหลังจึงโปรดให้นายเกษ พระรามโขนข้าหลวง เดิมเป็นครูหัดละครขึ้นโรง ๑ เพราะฉะนั้น นายเกษพระรามจึงได้เป็นครูครอบโขนละครเมื่อรัชกาลที่ ๔

(๘) ละครกรมหมื่นภูมินทรภักดี เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าลดาวัลย์ โรง ๑ แต่มาเลิกเสียเมื่อรัชกาลที่ ๔

(๙) ละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ หัดขึ้นเมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์โรง ๑ แต่ว่าเล่นอยู่ไม่ช้าก็เลิก

(๑๐) ละครเจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นละครผู้หญิงโรง ๑ เล่ากันว่าเดิมหัดโขนให้เล่นเป็นละครผู้ชาย แล้วจึงหัดละครผู้หญิงขึ้น ครั้นเมื่อไปขัดตาทัพอยู่ที่เมืองอุดงค์มีชัยพาละครผู้หญิงไปด้วย จึงไปเป็นครูหัดละครผู้หญิงของสมเด็จพระหริรักษ์ (นักพระองค์ด้วง) เจ้ากรุงกัมพูชาขึ้นอีกโรง ๑ ด้วยละครที่มีในกรุงกัมพูชานั้น แรกมีขึ้นเมื่อครั้งนักพระองค์จันเป็นสมเด็จพระอุทัยราชาเจ้ากรุงกัมพูชา ได้ครูออกไปจากกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ ๑ เป็นละครนอกสมเด็จพระหริรักษ์ มาหัดละครในไปจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา จึงได้มีละครที่ในกรุงกัมพูชาแต่นั้น

(๑๑) ละครเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นละครผู้หญิงอีกโรง ๑ เล่ากันว่าเดิมหัดโขนผู้ชาย แล้วกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ พระราชทานเครื่องละครและตัวละครผู้หญิงวังหน้าไปหลายคน[๓] เพราะเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เป็นพระญาติของกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นั้น จึงหัดละครผู้หญิงขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ตัวละครโรงนี้ ได้เป็นครูละครที่เมืองนครฯ และเมืองตะกั่วป่า ที่เล่นต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕

ความนิยมแบบและบทละครหลวงรัชกาลที่ ๒ ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่เล่นละครเท่านั้น ถึงข้าราชการที่หัดมโหรีผู้หญิงมาแต่ก่อน ก็แปลงกระบวนมโหรีเล่นเป็นละครกลายกันชุกชุม คือเอาบทละครอิเหนาพระราชนิพนธ์มาให้พวกมโหรีร้องลำนำเข้ากับเครื่องมโหรีปี่พาทย์ เป็นเรื่องไปอย่างเล่นละคร ผิดกันแต่ไม่มีตัวละครเท่านั้น ที่พระมหามนตรี (ทรัพย์) กล่าวในเพลงยาวว่า พระมหาเทพ (ทองปาน) เมื่อยังเป็นจมื่นราชามาตย์ว่า :-

“ถึงเพลาเจ้าคุณออกจากเฝ้า ให้ร้องเรื่องอิเหนาเมื่อเข้าถ้ำ
ฝ่ายหม่อมหม่อมก็คะนองร้องลำนำ จนท้องน้ำเลื่องลือระบือชา”

ดังนี้ก็คือการที่เล่นละครกลายนั้นเอง

ละครนอกครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่มีชื่อปรากฏต่อมา คือ ละครของเจ้าจอมมารดาอัมพารัชกาลที่ ๒ หัดขึ้นเองโรง ๑ กับละครเจ้ากรับโรง ๑ แต่ละครเจ้ากรับ[๔] เป็นมีชื่อเสียงยิ่งกว่าโรงอื่น

ตัวเจ้ากรับนั้น เกิดในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ เป็นบุตรนายถิน นางกุ บ้านเดิมอยู่หลังวัดระฆัง ว่าที่จริงนั้นชื่อกลับ เพราะเดิมมีพี่ชายคนหนึ่ง มารดาพาลงเรือไปเที่ยวขายขนม ตกน้ำหายไปที่หน้าวัดระฆัง ต่อมามารดาพายเรือไปขายขนมถึงตรงนั้นเข้า มักร้องไห้ด้วยความคิดถึงบุตรที่หาย วันหนึ่งไปพบหญิงมอญจอดเรืออยู่ที่หน้าวัดระฆัง หญิงมอญนั้นรับจะทำวิทยาอาคมให้ได้บุตรกลับคืนมา แต่นั้นมารดาก็ตั้งครรภ์ ครั้นคลอดเป็นชาย จึงให้ชื่อว่า กลับ ตามที่สมคำยายมอญรับว่าจะให้บุตรกลับมานั้น แรกเจ้ากรับจะเป็นละคร ได้ไปฝึกหัดต่อครูทองอยู่ก่อนแล้วจึงมาเป็นตัวละครโรงครูบุญยัง อยู่กับครูบุญยังมาจนครูบุญยังตาย เจ้ากรับจึงเป็นหัวหน้ารวบรวมพวกละคร เล่นเป็นละครของเจ้ากรับเอง เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้รักษาแบบละครนอกของครูบุญยังต่อมา เมื่อได้เป็นนายโรงละครแล้ว เจ้ากรับย้ายไปตั้งบ้านเรือนที่ปากคลองบางตำหรุ หาผู้คนมาฝึกหัดเป็นละครเพิ่มเติมจนเป็นละครโรงใหญ่ ได้ผลประโยชน์ฟุ่มเฟือย จึงสร้างวัดนายโรงขึ้นที่ใกล้บ้าน ตัวเจ้ากรับนั้น ถวายตัวเป็นข้าในกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว เป็นข้าในสมเด็จพระนางโสมนัส ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ ได้เล่นถวายตัวในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร และว่าเมื่อมีงานฉลองคลองผดุงกรุงเกษม เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ เจ้ากรับอาสาเล่นละครถึง ๗ โรง แต่ละครเจ้ากรับเป็นละครผู้ชายทั้งนั้น มาถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หัดละครผู้หญิงได้ข้างนอกวัง เจ้ากรับคิดอ่านหัดลูกหลานขึ้นหมายจะให้เล่นผสมโรงกับผู้หญิง แต่พอหัดรำได้ ก็มักมีข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ขอไปเสีย (มีชื่อปรากฏเป็นครูละครต่อไปข้างหน้า) เจ้ากรับก็เลยไม่ได้เล่นผสมโรงกับผู้หญิง เจ้ากรับตายในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ อายุได้ ๖๑ ปี

ในรัชกาลที่ ๓ ไม่มีละครหลวง ตัวละครครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่เป็นครูต่อมาจึงเป็นผู้ชายเป็นพื้น มีชื่อเสียงปรากฏหลายคน คือ :-

ครูยืนเครื่อง

๑. นายเกษ เป็นตัวพระราม โขนข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นครูละครพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ในรัชกาลที่ ๓ แล้วเป็นครูครอบโขนละครต่อมาในรัชกาลที่ ๔

๒. นายขุนทอง เป็นตัวอิเหนา ละครกรมหลวงรักษรณเรศร์ ว่าได้เป็นครูหัดละครกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ในรัชกาลที่ ๔

๓. นายทองอยู่ เป็นตัวพระลักษมณ์ละครกรมหลวงรักษรณเรศร์ ได้เป็นครูละครพระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ) ในรัชกาลที่ ๕

๔. นายน้อย เป็นตัวสังคามาระตา ละครกรมหลวงรักษรณเรศร์ ได้เป็นครูละครพระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ) ในรัชกาลที่ ๕

๕. นายทับ เป็นตัวล่าสำ ละครกรมหลวงรักษรณเรศร์ หัดลูกหลานเป็นละครนอกขึ้น ในรัชกาลที่ ๔

๖. นายบัว เป็นตัวอิเหนา ละครกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ และเป็นครูละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย

๗. นายนิ่ม เป็นตัวอิเหนา ละครกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ได้เป็นครูละครพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ละครเจ้าพระยานรรัตน์ และได้เป็นครูครอบละครหลวงในรัชกาลที่ ๕ ด้วย

๘. นายแสง เป็นตัวนายโรง ละครเจ้าจอมมารดาอัมพา ว่าได้ออกไปเป็นครูละครสมเด็จพระนโรดม ในกรุงกัมพูชา

๙. นายพ่วง เป็นตัวเงาะ ละครเจ้าจอมมารดาอัมพาได้เป็นครูละครเจ้าจอมมารดาจันรัชกาลที่ ๔ ละครพระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ) ในรัชกาลที่ ๕ และเป็นครูละครนอกอีกหลายโรง

ครูยักษ์

๑๐. คุณขำ เป็นตัวรามสูร ละครวังหน้าในรัชกาลที่ ๓ แล้วไปเป็นภรรยาเจ้าพระยานครฯ น้อย ถึงรัชกาลที่ ๔ กลับมาเป็นครูละครหลวง แล้วเป็นครูละครเจ้าคุณจอมมารดาเอมในพระราชวังบวรฯ เมื่อรัชกาลที่ ๕

๑๑. นายแจ้ง เป็นตัวมโหธร ละครกรมหลวงรักษรณเรศร์ ได้เป็นครูละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ครูนาง

๑๒. นายเมือง เป็นตัวนางบุษบา ละครกรมหลวงรักษรณเรศร์ ได้เป็นครูละครกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ

๑๓. นายเพ็ง เป็นตัวนางวิยะดา ละครกรมหลวงรักษรณเรศร์ ได้เป็นครูละครกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ แล้วไปเป็นครูละครของสมเด็จพระนโรดมที่กรุงกัมพูชา

๑๔. นายมั่ง เป็นตัวนางบุษบา ละครกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ได้เป็นครูละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

๑๕. นายผึ้ง เป็นตัวนางวิยะดา ละครกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ได้เป็นครูละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

๑๖. นายเกลื่อน เป็นตัวนางเอก ละครกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ได้เป็นครูละครพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์และละครเจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต

๑๗. นายอ่ำ เป็นตัวนาง ละครกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ได้เป็นครูละครหม่อมเจ้า (เต่า) ลมุน ในกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์

๑๘. นายฟ้อน เป็นตัวนางเอก ละครกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ได้เป็นครูละครเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง แล้วขึ้นไปเป็นครูละครของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ที่เมืองเชียงใหม่

๑๙. ชื่อเรือง เป็นตัวนางศุภลักษณ์ ละครผู้หญิงของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้ไปเป็นครูละครของสมเด็จพระนโรดมที่กรุงกัมพูชา

๒๐. ชื่ออิ้ว เป็นตัวนางบุษบา ละครผู้หญิงของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้ไปเป็นครูละครเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ที่เมืองพระตะบอง

[๑] กล่าวกันที่เมืองนครศรีธรรมราชว่า เจ้าพระยานครฯ น้อย หัดละครผู้หญิงมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ข้อนี้ข้าพเจ้าสงสัยอยู่ ด้วยครั้งนั้น ยังเป็นแต่พระยา พึ่งเป็นเจ้าพระยาต่อในรัชกาลที่ ๓

[๒] เรื่องละครนอกของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ที่กล่าวในนี้ว่าตามบทละครซึ่งมีฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ

[๓] ที่กล่าวกันว่าพระราชทานตัวละครผู้หญิงวังหน้าออกไปนั้น ข้าพเจ้าสงสัยว่า จะได้เป็นมรดกไปเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตแล้ว

[๔] ตัวละครผู้ชายเรียกกันว่า “เจ้า” ด้วยเหตุใดหาทราบไม่ ได้ยินแต่เรียกกันว่า เจ้ากรับ ดังนี้มาแต่ไรๆ นายเนตร นายต่าย ละครที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๔ ที่ ๕ ก็มีคนเรียกกันว่า เจ้าเนตร เจ้าต่าย

เรื่องประวัติของเจ้ากรับที่กล่าวต่อไปนี้ ได้ความจากพระภิกษุหมาด เดิมเป็นคนบอกบทละครของเจ้ากรับ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ