- คำนำ
- คำปรารภของผู้เรียบเรียงพระประวัติ
- พระประวัติ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๑)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๒)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๓)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๔)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๕)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๖)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๗)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- คำอธิบายของกรมศิลปากร
- เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๘ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๑๐ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๑๑ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๑ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๒ จุลศักราช ๑๒๔๓
สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๓)
ที่ ๑/๕๗
วันที่ ๙ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐
ถึง บุรฉัตร
ด้วยพ่อไม่ได้เขียนหนังสือถึงนานแล้ว เวลานี้เป็นโอกาสเหมาะที่ดิลกจะออกจากสิงคโปร์ไป จึงได้ฝากหนังสือฉะบับนี้มา เพื่อจะแสดงความยินดีที่ได้ทราบข่าวคราวเนืองๆ ในความเจริญขึ้นของการเล่าเรียนที่เจ้าได้เรียนไปแล้ว เป็นที่ให้เกิดความยินดีของพ่อเป็นอันมาก ขอชมในความอุสาหและความเพียรซึ่งได้เห็นปรากฏแล้วเป็นอันมาก หวังใจว่าเมื่อกลับเข้ามาเมื่อใด คงจะหางานทำได้โดยง่าย
แต่ความเห็นในการที่จะดำเนินทางเล่าเรียน มีต่างแตกกันอยู่ในเรื่องที่จะเข้ายุไนเวอซิติฤาไม่ การเข้ายุนิเวอซิติซึ่งมีสิ่งที่เสียก็อย่างเดียว แต่เพียงเวลาจะช้าและเร็ว ประโยชน์ที่จะได้นั้นคงจะได้เต็มที่ แต่จะมาใช้เป็นประโยชน์ในเมืองเราคุ้มกับเวลาที่เสียไปหรือไม่ ข้อนี้พ่อไม่อาจตัดสินเด็ดขาดโดยลำพัง ต้องอาไศรยคำแนะนำ แต่คำแนะนำก็ต่างแตกกัน จะกล่าวได้อย่างเดียวแต่ว่าในเมืองเราเวลานี้ ไม่ได้ต้องการอะไรยิ่งกว่าคนมีความรู้ซึ่งจะบรรจุน่าที่ยังต้องการอีกเป็นอันมาก ถ้าสำเร็จการเล่าเรียนเข้ามาได้เท่าใดก็ยิ่งดี เดี๋ยวนี้เจ้าก็โตมากแล้ว ขอให้ระวังรักษาตัวประพฤติให้ดี อย่าปล่อยน้ำใจให้หลงไปในความสนุกจนเหลือเกินได้
แม่มาหาฤาด้วยเรื่องที่จะทำตึกแถวให้เช่าที่บ้าน แต่ยังรั้งรออยู่กลัวว่าจะไม่เป็นที่พอใจของเจ้า พ่อยังขอผัดคิดดูก่อน เพราะเหตุว่าทุนที่จะต้องลงนั้นก็มาก จะหาดอกเบี้ยให้เท่ากับที่แม่เจ้ารับจำนำอยู่นั้นกลัวจะไม่ใคร่ได้ เมื่อกลับไปครั้งนี้จึงจะได้ตรวจดูให้เลอียด แต่ยายนั้นได้ไปขะแหม่วท้องคอยอยู่ที่บ้านนั้นแล้ว แต่หวังใจว่าจะยังไม่ตายทันกลับเข้ามาพบกัน เพราะดูแกยังแข็งแรงดีอยู่มาก พ่อมาเที่ยวคราวนี้กำหนดไว้ว่า ๕๐ วัน โดยจะเกินไปก็ไม่มาก ถ้าไปเที่ยวแห่งใดขอให้ทำรายงานฉะเพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งสามารถจะทำได้ส่งเข้ามาให้ทุกคราวที่ไป
(พระปรมาภิไธย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.