พระประวัติ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระนามเดิม พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาวาด ราชินิกุล รัชกาลที่ ๕ เป็นเจ้าจอมมารดา

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ประสูติณวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๔

ในชั้นต้น ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยอยู่ที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง พระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) ขณะนั้นยังเป็นขุนในราชทินนามเดียวกัน เป็นผู้ถวายพระอักษร

ราว พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาในประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาวิชาชั้นต้นที่โรงเรียนแฮโรว์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับบุตรหลานคฤหบดีชั้นสูง บุตรหลานผู้มีบรรดาศักดิ์และเจ้านาย เพราะเป็นโรงเรียนที่ในประเทศออังกฤษนิยมกันว่าเป็นสำนักที่อบรมนิสสัยและอัธยาศัยเด็กเป็นอย่างดี

เมื่อได้ทรงสำเร็จจากการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ก็ได้เข้าทรงศึกษาวิชาการทหารช่าง ทรงสำเร็จการศึกษาได้เป็นนายร้อยตรีในเหล่าทหารช่าง เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้วได้ประทับทอดพระเนตรการงานและทรงศึกษาหาความชำนาญด้วยพระองค์เองอยู่ในประเทศอังกฤษจนถึงปลาย พ.ศ. ๒๔๔๖ หรือต้น พ.ศ. ๒๔๔๗ จึงได้เสด็จกลับกรุงเทพ ฯ รวมเวลาที่ได้ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษราว ๑๐ ปี ทรงรับสัญญาบัตรเป็นนายพันตรี เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗

ณวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เศกสมรสกับพระเจ้าวรวงศเธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธนฤมล ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ณวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นกรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน ส่วนยศทหารในขณะนั้น ทรงเป็นนายพันเอก แต่วันที่ ๒๑ กันยายน และทรงมีตำแหน่งเป็นจเรทหารช่าง ในระหว่างนี้เองที่ได้ทรงใช้พระอุตสาหะวิริยภาพ และพระปรีชาสามารถในการฝึกฝนอบรมวิชาการทหารช่างแก่นายทหารช่างอย่างไม่ทรงเห็นแก่การเหน็ดเหนื่อย การทหารช่างได้เจริญขึ้นเพราะพระองค์ท่านเป็นผู้นำ แม้ในทุกวันนี้ หลักการในวิชาทหารช่างซึ่งเป็นหลักใหญ่ ๆ ก็ยังคงใช้หลักที่พระองค์ท่านได้ทรงวางไว้ เพราะฉะนั้น บรรดานายทหารในเหล่าทหารช่างจึงคงเคารพรักและนับถือพระองค์ท่านฐานป็นครูบาอาจารย์อยู่จนตลอดพระชนม์ชีพ

พระอุตสาหะวิริยภาพ ประกอบกับพระกำเนิดในราชตระกูลอันสูงศักดิ์ และกาลสมัยที่กองทัพบกของเรากำลังจะได้รับการปรับปรุงให้เข้ารูปตามแบบของกองทัพแห่งอารยประเทศ กับทั้งเรายังขาดนายทหารผู้ปราดเปรื่องปรีชาในทางวิทยาการอยู่ด้วยเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงเลื่อนยศและตำแหน่งในราชการทหารบกอย่างรวดเร็ว ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ ๕ นั้น ได้ทรงดำรงพระยศทหารเป็นนายพลตรี สัญญาบัตร์ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้ทรงเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ เป็นราชองครักษ์พิเศษ และคงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง

ในต้นรัชกาลที่ ๖ คือเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้ทรงเลื่อนยศทหารเป็นนายพลโท และในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระอิสสริยยศพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นกรมขุนในพระนามเดิม ส่วนทางราชการทหารนั้นก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นแม่ทัพกองทัพน้อยที่ ๑ คงทรงรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์และจเรการช่างทหารบกต่อไป

เมื่อคราวงานพระราชพิชีบรมราชาภิเศกรัชกาลที่ ๖ นั้น ได้มีการรวมพลสวนสนามเป็นการใหญ่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงเป็นผู้นำกระบวนสวนสนาม ซึ่งมีทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ถึง ๔๓,๐๐๐ คน นับเป็นประวัติการณ์ในยามปกติที่ได้มีการรวมพลในพระนครที่มีจำนวนทหารมากถึงเพียงนั้น และนับเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกที่นายพลของเราได้นำกองทัพใหญ่ทำการรับตรวจพล แล้วเดินสวนสนามด้วยความเรียบร้อย จนผู้แทนมหาประเทศต่าง ๆ ที่ได้เข้ามาช่วยในงานพระราชพิชีบรมราชาภิเศกสมโภชในครั้งนั้น ต้องสรรเสริญเป็นเสียงเดียวกัน

ดั่งได้กล่าวแล้วข้างต้นและในคำปรารภว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงมีคุณสมบัติพิเศษประจำพระองค์มาแต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ คือความฉลาดเฉียบแหลมและความขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่งยวด คุณสมบัติเหล่านี้ ย่อมไม่พ้นสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระบรมเชษฐาธิราชและได้เคยทรงร่วมการศึกษากับพระองค์มาแต่ในประเทศอังกฤษนั้นไปได้ จึงได้ทรงพระเมตตาพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้ป็นอันมาก และทรงพอพระราชหฤทัยที่จะทรงใช้สอยด้วยความสนิทชิดชอบเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในกิจการส่วนพระองค์ที่ต้องใช้วิชาความรู้ (เช่นการสร้างทางรถไฟเล็กในบริเวณพระราชวังสนามจันทน์เป็นต้น) และส่วนราชการแผ่นดิน ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ก็ได้ทรงปฏิบัติการให้เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยทุกครั้งไป

เมื่อรัฐบาลสยามได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมันนีและเอาสเตรีย-ฮุงกาเรีย ณวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงได้ว่างลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เสด็จไปทรงดำรงตำแหน่งนั้น ซึ่งเป็นโอกาสให้พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยม และได้ทรงนำความเจริญมาสู่กรมรถไฟหลวง ทั้งในทางที่เกี่ยวกับวิชาฉะเพาะของการรถไฟและในทางติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีสหรัฐมะลายู เป็นต้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงรับความยกย่องให้เป็นประธานในการประชุมการรถไฟระหว่างรัฐ

ในระหว่างนี้เอง ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเลื่อนยศทหารขึ้นเป็นนายพลเอก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒

ครั้นถึงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายพลเอก พระเจ้าน้องยาเธอ. กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงพระปรีชาสามารถ ประกอบด้วยทรงพระอุตสาหะวิริยภาพอันแรงกล้า ได้ทรงทำความดีความชอบทั้งในส่วนราชการแผ่นดินและส่วนพระองค์ไว้มากมาย สมควรจะได้เลื่อนพระอิสสริยยศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่ง ได้กล่าวพระนามข้างต้นแล้วนั้น ขึ้นเป็นกรมหลวงในพระราชทินนามเดิม

ตกมาในรัชกาลที่ ๗ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ก็เป็นผู้ที่ได้ทรงรับความไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกเป็นอันมาก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอที่กล่าวพระนามแล้วเสด็จขึ้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ใน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้วได้เลื่อนพระอิสสริยยศขึ้นเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระ ในพระราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ และได้ทรงพ้นจากหน้าที่ราชการเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

ในส่วนทางการสมาคมกับชาวต่างประเทศนั้น ได้ทรงเอาพระทัยใส่เป็นพิเศษ เพราะทรงเห็นทางไกลและทรงมั่นพระทัยว่าเป็นทางเดียวที่จะทรงเผยแพร่เกียรติคุณของชาติไทยให้ขจรทั่วไปในอารยประเทศ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงเป็นผู้มีส่วนจัดตั้งสมาคมโรตารี่ขึ้นในกรุงเทพฯ และได้ทรงเป็นนายกแห่งสมาคมนั้นอยู่ตลอดเวลาที่ทรงรับราชการ

สมาคมโรตารี่นั้น เป็นสมาคมสากลซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ที่สมาชิกทั้งหลายซึ่งมีอาชีพต่างกัน จะได้ไปประชุมวิสสาสะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน สมาชิกของสมาคมในประเทศหนึ่งเป็นสมาชิกของทุก ๆ สมาคมในโลก จะไปในที่ใดๆ ก็มีสโมสรสถานของตน และมีเพื่อนสมาชิกคอยต้อนรับอยู่ทั่วไป เท่าที่กล่าวโดยย่อๆ นี้ ก็พอจะเห็นได้แล้วว่านโยบายของพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ไม่ได้อยู่ที่จะหาเพื่อนเสวยกลางวันสัปดาห์ละ ๑ ครั้งเท่านั้น ความมุ่งหมายสำคัญของพระองค์ย่อมอยู่ที่จะให้ประเทศสยามเปนที่รู้จักของคนทั่วโลก

เมื่อได้ทรงพ้นจากราชการแล้ว ได้ทรงประกอบการค้าขายส่วนพระองค์อยู่ที่สิงคโปร์ แล้วก็ได้ทรงรับการแต่งตั้งให้เป็นเกาเวอร์เนอร์แห่งสมาคมนั้นในภาคตะวันออกไกล และได้เสด็จไปในประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา อันเป็นโอกาสให้ได้ทรงเผยแพร่ประเทศสยามทั้งๆ ที่มิได้ทรงมีหน้าที่ในทางราชการอยู่จนตลอดพระชนม์ชีพ

เมื่อได้สิ้นพระชนม์ลงนั้น สมาคมโรตารี่ทั้งในและนอกประเทศสยาม ได้แสดงความอาลัยรักพระองค์เป็นอันมาก ดั่งมีพะยานปรากฏอยู่ด้วยพวงมาลาอันวิจิตร ที่ชาวต่างประเทศได้นำมาและส่งมาถวายพระศพเป็นอันมาก

อาศัยความกว้างขวางส่วนพระองค์ ถึงแม้จะมิได้มีหน้าที่โดยทางราชการ ก็ได้ทรงช่วยติดต่อส่งเสริมการค้าขายระหว่างสยามกับสิงคโปร์ ซึ่งป็นตลาดใหญ่สำหรับการค้าขายของโลกในภาคตะวันออกไกลนี้ได้เป็นอันมาก ซึ่งต้องนับว่าพระองค์ได้เป็นคนไทยที่ได้ทำคุณทำประโยชน์ให้แก่บ้านเกิดเมืองมารดรของพระองค์ ทั้งในระหว่างเวลาที่ทรงรับราชการอยู่และนอกเวลาที่ทรงรับราชการอยู่ ตลอดเวลากาลอวสานแห่งพระชนม์ชีพ เป็นการสมควรแล้วที่ประเทศสยามจะรู้สึกพูมใจที่ได้มีเจ้านายเช่นนี้ และเป็นการสมควรแล้วที่พวกเราชาวสยามจะมีความรู้สึกขอบพระคุณในกิจการต่างๆ ที่พระองค์ท่านได้ทรงทำมาเพื่อประโยชน์แห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นการสมควรแล้วที่พระประยูรญาติทั้งหลายจะมีความเสียดายอาลัยรักในพระองค์ท่านอย่างสุดซึ้ง

พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้เสด็จเข้ามาเยี่ยมพระนครเป็นครั้งสุดท้ายในปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ ได้เสด็จกลับออกไปสิงคโปร์ในต้นเดือนกันยายน แล้วประชวรสิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลสิงคโปร์ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายนปีนี้ คำนวณพระชันษาได้ ๕๔ ปี ๗ เดือนกับ ๒๒ วัน

พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงมีพระโอรสและธิดาที่ยังมีพระชนม์ รวมด้วยกัน ๑๑ องค์ คือ

๑. พระวรวงศเธอ พระองค์เจ้าหญิงมยุรฉัตร

๒. พระวรวงศเธอ พระองค์เจ้าชายเปรมบุรฉัตร

๓. พระวรวงศเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลฉัตร

๔. หม่อมเจ้าหญิงฉัตรสุดา ฉัตรชัย

๕. หม่อมเจ้าหญิงกาญจนฉัตร ฉัตรชัย

๖. หม่อมเจ้าหญิงภัทรลดา ฉัตรชัย

๗. หม่อมเจ้าชายสุรฉัตร ฉัตรชัย

๘. หม่อมเจ้าหญิงเฟื่องฉัตร ฉัตรชัย

๙. หม่อมเจ้าหญิงหิรัญฉัตร ฉัตรชัย

๑๐. หม่อมเจ้าชายทิพย์ฉัตร ฉัตรชัย

๑๑. หม่อมเจ้าชายพิบูลย์ฉัตร ฉัตรชัย

พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงรับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ตามลำดับดั่งนี้

๑. วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๔๗ มหาจักรีบรมราชวงศ์

๒. วันที่ ๒๐ กันยายน พ ศ. ๒๔๔๘ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

๓. วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๔๘ ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ

๔. วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๔๙ ปฐมาภรณ์มงกุฎสยาม

๕. วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ รัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๕ ชั้น ๒

๖. วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๖ รัตนวราภรณ์

๗. วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๕๙ รัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ ชั้น ๑

๘. วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๐ เข็มราชการแผ่นดินแห่งเหรียญดุษฎีมาลา

๙. วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๖ เหรียญจักรมาลา

๑๐. วันที่ ๒ ชันวาคม ๒๔๖๑ มหาโยธินรามาธิบดี ชั้น ๒

๑๑. วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๕ นพรัตนราชวรากรณ์

๑๒. วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๙ รัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๗ ชั้น ๑

๑๓. วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

ส่วนเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ต่างประเทศนั้น ได้ทรงรับ:

๑. ตราอาร์มนาเซาชั้นที่ ๑ ฮอลแลน

๒. มงกุฎเบลเยียมชั้นที่ ๑ เบลเยียม

๓. ดันเนบรอกชั้นที่ ๑ เดนมาร์ค

๔. เลยิอองดอนเนอร์ชั้นที่ ๑ ฝรั่งเศส

๕. มงกุฎอิตาลีชั้นที่ ๑ อิตาลี

๖. เซนต์มอริสและเซนต์ลาซารัสชั้นที่ ๑ อิตาลี

๗. ตราช้าง เดนมาร์ค

๘. โพโลเนียชั้นที่ ๑ ญี่ปุ่น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ