- คำนำ
- คำปรารภของผู้เรียบเรียงพระประวัติ
- พระประวัติ นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๑)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๒)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๓)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๔)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๕)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๖)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ฉะบับที่ ๗)
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- คำอธิบายของกรมศิลปากร
- เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๘ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๙ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๑๐ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๑๑ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๑ จุลศักราช ๑๒๔๓
- เดือน ๒ จุลศักราช ๑๒๔๓
คำอธิบายของกรมศิลปากร
หนังสือนี้ต้นฉบับเป็นอักษรพิมพ์ดีดมี ๑๐ เล่ม กำหนดเล่มละ ๑ ปี คือตั้งแต่ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๓๙ (พ.ศ. ๒๔๒๐) ถึงปีกุน จุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ. ๒๔๓๐) ขาดปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑ ไป ๑ ปี ปรากฏในบาญแผนกบางเล่มของหนังสือนั้นว่า กรมหลวงปราจิณกิติบดีตรัสสั่งให้คัดขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหอพระสมุดหลวงมาเป็นสมบัติของหอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็นหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรในบัดนี้ หนังสือนี้จึงได้ตกมาเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติด้วย เห็นได้ว่าหนังสือเรื่องนี้ต้องเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแน่นอน
ที่ว่า “ต้องเป็นพระราชนิพนธ์” ก็เพราะปรากฏในภาคต้น ๆ ที่หอสมุด ฯ ได้จัดให้พิมพ์มาแล้วนั้น ได้ทรงไว้เป็นคำสามัญ ไม่มีราชาศัพท์เลย จนถึงหน้า ๑๙ ในภาคที่ ๕ ต่อแต่นั้นไปเข้าใจว่ารับสั่งให้ผู้อื่นจด จึงใช้ราชาศัพท์เช่น “เสด็จพระราชดำเนิน” “ทรงพระราชนิพนธ์” เหล่านี้เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีสำนวนพอเป็นเครื่องสังเกตได้ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ คือตรัสสั่งให้อาลักษณ์หรือผู้หนึ่งผู้ใดจด เช่นตรัสเล่าว่า “บ่ายไปศาลเจ้า และข้ามไปดูงานวัดนิเวศน์ ย่ำค่ำกลับ” ผู้จดก็เติมราชาศัพท์ลงไปว่า “บ่ายเสด็จไปศาลเจ้าและข้ามไปทอดพระเนตร์งานวัดนิเวศน์ ย่ำค่ำเสด็จกลับ” (หน้า ๑๔ ภาค ๗) แต่ที่ยังสังเกตได้อยู่ว่าเป็นพระราชนิพนธ์นั้น ก็เพราะมีคำบางคำหรือโดยมากที่ผู้รับรับสั่งให้จดลืมเปลี่ยนหรือเติมราชาศัพท์ลงไปให้สมบูรณ์ เช่น “องค์มนุษย์ถวายเรื่องพระพุทธรัตน์” คำว่า “องค์มนุษย์” คือ “พระองค์เจ้ามนุษยนาคมาณพ” ซึ่งเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และเช่นคำว่า “ถ้าสมเด็จกรมพระ ฉันก็ต้องร่างเอง เพราะมหาดไทยและกรมเมืองเหมือนอยู่ในพระองค์” คำว่า “ฉัน” เป็นคำแทนพระนามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ตรัสหมายพระองค์เองและผู้รับรับสั่งให้จดลืมเปลี่ยน แต่คำว่า “พระองค์” เป็นคำที่ผู้รับรับสั่งได้เปลี่ยนแล้ว ซึ่งความจริง ถ้าทรงจดลงเอง ก็คงจะเป็นว่า “ถ้าสมเด็จกรมพระ ฉันก็ต้องร่างเอง เพราะมหาดไทยและกรมเมืองเหมือนอยู่ในตัวฉัน” หรือถ้าผู้รับรับสั่งจะไม่ลืมเปลี่ยน ก็จะเป็นว่า “ถ้าสมเด็จกรมพระ พระองค์ก็ต้องร่างเอง เพราะมหาดไทยและกรมเมืองเหมือนอยู่ในพระองค์” ดังนี้เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าในตอนหลัง ๆ มา ตรัสสั่งให้ผู้อื่นจด แต่ยังคงถือเป็นพระราชนิพนธ์อยู่
หนังสือนี้ถ้าได้อ่านแต่ฉะเพาะวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ไม่ค่อยได้เรื่องราวอะไรนัก เพราะพูดถึงเรื่องโน้นนิดเรื่องนี้หน่อย ข้อความไม่ติดต่อกัน แต่ถ้าอ่านไปหลาย ๆ วันจะเห็นว่า ล้วนมีข้อความติดต่อเกี่ยวโยงถึงกันตลอด ย่อมอำนวยประโยชน์ให้แก่นักอ่านหลายจำพวก โดยฉะเพาะ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่จากหนังสือนี้มี ๒ จำพวก คือ
จำพวกที่ ๑ นักประวัติศาสตร์ จะมองเห็นคุณค่าของหนังสือนี้อย่างแท้จริง เมื่อเขียนพงศาวดารประเทศสยามยุคนี้ เพราะพระราชกิจรายวันๆละเล็กละน้อยนี้ เป็นต้นเหตุให้รู้ถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การออกพระราชบัญญัติ กฎหมาย หรือราชการแผ่นดินต่างๆ อันปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นนั้น ยิ่งกว่านั้น ในปีใดถ้าไม่มีการออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา เช่นในปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ และปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๔๔ ก็ไม่อาจทราบได้ว่า ใน ๒ ปีนั้นได้มีราชการงานเมืองอะไรบ้าง ถึงแม้อาจค้นได้ในหนังสืออื่น เช่นหนังสือราชการตามกระทรวงต่างๆ เป็นต้น ก็ต้องค้นหาด้วยความลำบากยิ่ง ทั้งอาจไม่ได้เรื่องราวตลอดและเป็นหลักฐานพอ แต่อาจค้นหาได้ในหนังสือนี้
จำพวกที่ ๒ นักศึกษาทางการเมือง เมื่อได้อ่านหนังสือนี้แล้ว จะมองเห็นทางรัฐประศาสโนบาย ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับต่างประเทศและเป็นการภายใน ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำสยามประเทศหลีกลัดเกาะแก่งและมรสุมแห่งการเมืองมาด้วยความยากลำบากเพียงไร สมควรเป็นทิฏฐานุคติของนักการเมืองในชั้นหลังได้เป็นอย่างดี
หวังใจว่า หนังสือนี้จะเป็นที่พอใจของผู้ที่ได้รับไปอ่านเป็นอันมาก