- คำนำ
- อธิบายเรื่องโคบุตร
- ตอนที่ ๑ กำเนิดโคบุตร
- ตอนที่ ๒ ราชปุโรหิตชิงบัลลังก์เมืองพาราณสี นางมณีสาครและพระอรุณไปพบยักษ์ ๔ ตน
- ตอนที่ ๓ โคบุตรช่วยสองกุมาร กู้เมืองพาราณสี แล้วขอลาไปเที่ยวป่า
- ตอนที่ ๔ โคบุตรรบวิชาธร ฆ่าหัศกัณฐมัจฉาตาย
- ตอนที่ ๕ ยักขินีพาโคบุตรเข้าเมืองเนรมิต
- ตอนที่ ๖ โคบุตรได้นกขุนทองแล้วเข้าเมืองกาหลง
- ตอนที่ ๗ นกขุนทองถือหนังสือถวายนางอำพันมาลา
- ตอนที่ ๘ โคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา
- ตอนที่ ๙ โคบุตรพานางอำพันมาลาหนีไปเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๐ อภิเษกโคบุตรกับนางมณีสาครและนางอำพันมาลา ที่เมืองปราการบรรพต
- ตอนที่ ๑๑ นางอำพันมาลาให้เถรกระอำทำเสน่ห์
- ตอนที่ ๑๒ พระอรุณมาเมืองปราการบรรพต จับเสน่ห์เถรกระอำ
- ตอนที่ ๑๓ โคบุตรปรึกษาโทษนางอำพันมาลา
- ตอนที่ ๑๔ ขับนางอำพันมาลาออกจากเมือง
อธิบายเรื่องโคบุตร
นิทานคำกลอนเรื่องโคบุตรนี้ สันนิษฐานตามสำนวนการประพันธ์เห็นว่า น่าจะเป็นกวีนิพนธ์ที่สุนทรภู่แต่งขึ้นก่อนเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลง เมื่อ พุทธศักราช ๒๓๕๐ ซึ่งในครั้งนั้นสุนทรภู่แต่งนิราศเมืองแกลงเป็นนิราศเรื่องแรก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์อธิบายไว้ ในหนังสือประว้ดิสุนทรภู่ ตอนที่กล่าวถึงเรื่องโคบุตรว่า
...ลองพิเคราะห์ดูหนังสือกลอนของสุนทรภู่ที่ยังปรากฏอยู่บัดนี้ เห็นมีเค้าเงื่อนในทางสำนวนว่าจะแต่งก่อนนิราศเมืองแกลงแต่เรื่องโคบุตรเรื่องเดียว มีคำขึ้นต้นว่า
“๏ แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา | |
เป็นปฐมสมมตกันสืบมา | ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย |
ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง | จึงแสดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย |
ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย | ให้เพริศพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอน” |
ดังนี้ สำนวนดูเหมือนน่าจะแต่งถวายเจ้าวังหลังองค์ใดองค์หนี่ง เป็นหนังสือ ๘ เล่มสมุดไทย จะแต่งในคราวเดียวทั้งนั้นหรือแต่งเป็นหลายครั้งหลายคราวข้อนี้ทราบไม่ได้ แต่ว่าแต่งค้างอยู่ไม่หมดเรื่อง กลอนเรื่องอื่นของสุนทรภู่ดูสำนวนเป็นชั้นหลังเรื่องโคบุตรทั้งนั้น
เรื่องโคบุตรเป็นนิทานคำกลอนที่สุนทรภู่วางโครงเรื่องและจินตนาการ สร้างสรรค์ไว้อย่างสนุกสนาน การดำเนินเรื่องชวนให้อ่านติดตาม และให้ความ เพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน มีเรื่องย่อว่า
นางฟ้าองค์หนึ่งตั้งจิตปรารถนาจะมีพระสวามีและโอรสกับพระอาทิตย์ ด้วยอำนาจแรงอธิษฐาน นางจึงไปจุติอยูในดอกบัวหลวง ณ เมืองมนุษย์ เมื่อพระอาทิตย์ทรงทราบจึงมาสมกับนางจนตั้งครรภ์ ครั้นนางคลอดโอรสแล้วก็ดับชีพกลับไปจุติบนสวรรค์ พระอาทิตย์จึงนำโอรสไปฝากให้ดื่มนมราชสีห์ จนกระทั่งพระกุมารเจริญวัยได้ ๑๐ ขวบ มีพละกำลังเป็นอันมาก
พระอาทิตย์ประทานนามโอรสว่าพระโคบุตรสุริยา ตามนามของพระชนก และนางราชสีห์ที่เลี้ยงดู พร้อมทั้งให้เครื่องประดับกายซึ่งเป็นทิพศาสตราสำหรับ ป้องกันตัวและใช้เหาะเหินได้ แล้วบอกให้พระโคบุตรเดินทางไปยังถิ่นต่าง ๆ และหาเนื้อคู่ซึ่งอยู่ทางทิศบูรพาของเมืองพาราณสี พระโคบุตรจึงตัดสินใจลาราชสีห์ ออกเดินทางไปตามคำของพระบิดา ก่อนเดินทาง ราชสีห์ได้ให้ยาสำหรับพ่นผู้ที่ตายแล้วให้ฟื้นคืนชีพ ซึ่งเป็นของวิเศษอีกอย่างหนึ่ง
พระโคบุตรเหาะมาเห็นยักษ์ ๔ ตน กำลังไล่จับกุมารสองคนในสระกลางป่า จึงตรงเข้าช่วยเหลือและฆ่ายักษ์ตาย เมื่อไต่ถามทราบว่าพระกุมารนั้นคือ นางมณีสาคร และพระอรุณ พระธิดาและพระโอรสของท้าวพรหมทัต กรุงพาราณสี ที่หนีออกจากเมืองเพราะถูกราชปุโรหิตชิงบัลลังก์ พระโคบุตรจึงคิดจะช่วยเหลือ แล้วพ่นยาวิเศษให้ยักษ์ทั้ง ๔ ตน กลับมีชีวิตเพื่อไม่ให้เป็นเวรกรรมต่อกัน จากนั้นพระโคบุตร พร้อมด้วยนางมณีสาครพระอรุณและยักษ์ ๔ ตนไปช่วยกู้บัลลังก์คืนได้สำเร็จแล้ว ชุบชีวิตท้าวพรหมทัตกับพระนางประทุมทัศมเหสี ส่วนปุโรหิตและบุตรที่คิดการร้าย ท้าวพรหมทัตมีรับสั่งให้แห่ประจานทั่วเมืองแล้วนำไปถ่วงน้ำที่ทะเลหลวง
ท้าวพรหมทัตมีพระราชประสงค์จะยกเมืองพาราณสีพร้อมทั้งพระธิดาและ พระโอรสให้แก่พระโคบุตร ทั้งทรงเห็นว่าพระโคบุตรกับพระธิดามณีสาครคู่ควรกัน แต่ด้วยทั้งสององค์ยังอยู่ในวัยเด็ก จึงได้แต่ชักชวนให้พระโคบุตรอยู่ที่เมืองพาราณสีระยะหนึ่งก่อน ต่อมาพระโคบุตรต้องการเดินทางไปตามความประสงค์ของพระบิดา จึงขอลาท้าวพรหมทัตไปประพาสป่าท้าวพรหมทัตมิอาจทัดทานได้จึงให้พระอรุณติดตามไปด้วย ทั้งสององค์เหาะเหินเดินทางและผจญภัยต่างๆ นับตั้งแต่สู้รบและฆ่าพวกวิทยาธรตายแล้วชุบให้เป็นขึ้น อีกทั้งรบกับหัศกัณฐมัจฉาที่ฆ่าไม่ตาย เพราะได้รับพรจากพระอิศวร จนพระโคบุตรต้องไปเชิญพญาวานรที่เขาเหมรามาช่วยรบจึงสังหารได้สำเร็จ และยังมีนางยักขิณีซึ่งแปลงเป็นนางงามมาล่อลวงให้เข้าเมืองเนรมิต ครั้นพระโคบุตรรู้ความจริงก็มิได้ฆ่าเพราะเห็นว่าเป็นสตรี แต่สั่งสอนและให้นางยักษ์สัญญาว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้เป็นบาปติดตัวไปชาติหน้า
จากนั้นพระโคบุตรและพระอรุณเดินทางต่อไปตามทิศที่พระอาทิตย์บอก ระหว่างทางได้พบนกสาลิกาพูดได้อย่างมนุษย์ แล้วพากันเหาะมาจนถึงเมืองกาหลงของท้าววิหลราช ซึ่งมีพระธิดาโฉมงามทรงพระนามว่านางอำพันมาลา พระโคบุตรให้นกสาลิกาถือสารไปถวายนางถึงปราสาทที่ประทับ แล้วพระโคบุตรเข้าหานางอำพันมาลา ท้าววิหลราชสังเกตเห็นความผิดปกติ จึงสั่งให้เสนาทำพระแท่นบรรทมที่มียักษ์พยนต์มาประทานแก่นางอำพันมาลา เพื่อจับคอยผู้ที่ลอบเข้าปราสาทพระธิดา แต่พระธำมรงค์และพระสังวาลประดับกายช่วยป้องกันไว้ พระโคบุตรจึงพานางอำพันมาลาพร้อมด้วยพระอรุณและนกสาลิกาเหาะกลับเมืองพาราณสี
เมื่อพระโคบุตรเดินทางมาถึง ได้พบนางมณีสาครซึ่งมีสิริโฉมงดงามเพิ่งแรกรุ่นก็มีจิตประดิพัทธ์ จึงทูลท้าวพรหมทัตว่าจะอภิเษกนางมณีสาครที่ทรงยกให้ตั้งแต่เด็กเป็นมเหสีฝ่ายขวา ส่วนนางอำพันมาลาให้เป็นมเหสีฝ่ายซ้าย ท้าวพรหมหัตจึงกำหนดพิธีอภิเษกสมรสพระโคบุตรกับสองนาง เมื่อพระอาทิตย์ทรงทราบจึงมาช่วยสร้างเมืองเนรมิตให้แก่พระโคบุตร นามว่าปราการบรรพต และจัดการอภิเษกให้ แล้วพระโคบุตรครองเมืองต่อมาจนมีเมืองขึ้นจำนวนมาก ฝ่ายนางอำพันมาลาทรงครรภ์ และน้อยพระทัยที่พระโคบุตรโปรดปรานแต่นางมณีสาคร จึงปรึกษากับสาวใช้คนสนิทลอบให้เถรกระอำทำเสน่ห์พระโคบุตร นางมณีสาครจึงวานนกสาลิกาถือสารไปบอกพระอรุณให้มาช่วยเหลือ พระอรุณจึงเดินทางมากับยักษ์ ๔ ตน ช่วยจับเสน่ห์เถรกระอำได้สำเร็จ เมื่อพระโคบุตรทราบความก็ทรงพระพิโรธมาก จึงสั่งประหารนางอำพันมาลาพร้อมกับเถรกระอำและสาวใช้ พระอรุณทูลขอให้ยกโทษประหารนางอำพันมาลาไว้ได้ แต่นางยังต้องโทษเนรเทศ ให้ออกไปจากเมืองพาราณสี
นิทานคำกลอนเรื่องโคบุตรนี้ แม้เป็นกวีนิพนธ์ที่สันนิษฐานกันว่าสุนทรภู่ แต่งขึ้นเป็นเรื่องแรก แต่พิจารณาสำนวนกลอนแล้วเห็นว่าบทประพันธ์มีสุนทรียภาพทางภาษาและมีความไพเราะงดงาม อาทิบทชมธรรมชาติที่ว่า
พระโคบุตรชวนน้องสองกษัตริย์ | ชมพนัสหิมวาพฤกษาไสว |
ที่ผลิดอกออกผลระคนไป | วายุไกวกิ่งกวดเป็นวงกง |
ชมพู่เทศเกดแก้วตะโกโกฐ | ชะลูดโลดตุมกามหาหงส์ |
หันเหียนตะเคียนคางยางประยงค์ | วัลย์เปรียงปรงปรูปรางตะลิงปลิง |
ฝูงอีลุ้มแอบพุ่มอุโลกลับ | กระสาจับไซ้ขนบนต้นสิง |
กาลิงเลี้ยวไล่หานางกาลิง | อัญชันชิงคู่เคียงอยู่เรียงกัน |
นกกระเหว่าเฝ้าแฝงฝรั่งร้อง | ฝูงยูงทองย่องเหยียบพยุงชัน |
สามกุมารเพลิดเพลินเจริญครัน | แล้วพากันชมนกไม้ไพรพนม |
นอกจากนี้ เนื้อเรื่องโคบุตรยังแทรกด้วยความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ในเรื่องกรรม บุญบาป และการไม่อาฆาตพยาบาท อีกทั้งคติธรรมคำสอนนี้เป็น คุณประโยชน์เหมาะสมนี้จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น
พี่จะชุบกุมกัณฑ์ที่บรรลัย | จึ่งจะไม่เป็นกรรมประจำกาย |
ตอนที่พระโคบุตรชุบชีวิตยักษ์ ๔ ตน มีคำกลอนว่า
พระแย้มยิ้มพริ้มพรายภิปรายโปรด | ถ้างดโทษแล้วอย่าทำเหมือนหนหลัง |
กระทิงถึกมฤคาในป่ารัง | ชิวิตยังแล้วอย่าทำให้จำตาย |
จงถือมั่นขันตีเป็นที่สุด | เมื่อม้วยมุดจะไปเกิดให้เฉิดฉาย |
วันนี้มึงจะถึงชีวาวาย | ได้รอดตายแล้วอุตส่าห์รักษาตน |
นางยักษ์รับอัพภิวาทถวายสัตย์ | จะบำหยัดบาปกรรมทำกุศล |
ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตให้วายชนม์ | ประจวบจนชีวันนั้นบรรลัย |
ตอนพระโคบุตรขอให้นางยักษ์สัญญาว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตลอดชีพ กล่าวไว้ว่า
และคำสอนที่มีคุณค่าในการครองเรือน ดังตอนที่พระนางประทุมทัศสอนนางมณีสาคร ความว่า
เจ้าโฉมงามทรามรักของแม่เอ๋ย | อย่าลืมเลยจงจำคำแม่สอน |
ภัสดาอุปมาเหมือนบิดร | จงโอนอ่อนฝากองค์พระทรงฤทธิ์ |
สรงเสวยคอยระวังอย่าพลั้งพลาด | เมื่อไสยาสน์ผ่อนพร้อมถนอมจิต |
ถ้าท้าวโศกแม่อย่าสรวลจงควรคิด | ระวังผิดอย่าให้ผ่านวรกาย |
ผัวเคียดแม่อย่าเคียดทำโกรธตอบ | เอาความชอบมาดับให้สูญหาย |
ถึงท้าวรักก็อย่าเหลิงละเลิงกาย | ครั้นระคายแล้วมักมีราคีคาว |
ความลับแม่อย่าแจ้งแถลงไข | จงกล้ำกลืนกลบไว้อย่าให้ฉาว |
แม้นปากชั่วตัวจะดีก็มีคาว | พระทัยท้าวเธอจะแหนงระแวงความ |
อันหญิงชั่วผัวร้างนิราศรัก | อัปลักษณ์ถ้าคนจะหยาบหยาม |
มารดาพรํ่าร่ำสอนจงทำตาม | แล้วโฉมงามแต่งกายให้สายใจ |
ด้านการตรวจสอบชำระต้นฉบับเพื่อจัดพิมพ์ในครั้งนี้ได้สอบเทียบกับต้นฉบับสมุดไทยในหมวดวรรณคดี หมู่กลอนอ่าน ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียน และจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้งเทียบเคียงกับเรื่องโคบุตรฉบับพิมพ์ครั้งแรกเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และปรับอักขรวิธีบางส่วนเป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งจัดทำเชิงอรรถอธิบายความเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่าน