๏ ยังมีบุตรสาลิกาปักษาสัตว์ |
ขนระบัดพึ่งขึ้นพอบินได้ |
จิตคะนองลองปีกจะบินไป |
เหยี่ยวตะไกรโฉบฉาบจะคาบกิน |
สาลิกาก็ถลาแถลบหลบ |
เหยี่ยวประจบจับพลัดสะบัดดิ้น |
พอถึงองค์ทรงฤทธิ์บนคิรินทร์ |
นกน้อยดิ้นสิ้นกำลังถลามา |
สองปีกป้องร้องจ้อคุณพ่อช่วย |
เหยี่ยวจะฉวยลูกรักเป็นภักษา |
ก็โผนลงตรงพักตร์พระราชา |
เหยี่ยวถลากลับหันไปทันใด |
ทั้งพี่น้องเข้าประคองเอานกน้อย |
เห็นริ้วรอยเล็บเหยี่ยวเฉี่ยวเลือดไหล |
พระหัตถ์ลูบลูกนกอย่าตกใจ |
เหยี่ยวมันไปลับแล้วนะแก้วตา |
นี่ร้อยชั่งรวงรังเจ้าอยู่ไหน |
เหยี่ยวจึ่งไล่ลูกรักเป็นหนักหนา |
นกขุนทองป้องปีกขึ้นวันทา |
ลูกอยู่ค่าคบไม้พระไทรพราย |
ออกเที่ยวเล่นเห็นเหยี่ยวไม่ทันหลีก |
มันกางปีกต้อนจับลูกใจหาย |
ได้พึ่งบุญคุณพ่อจึ่งรอดตาย |
ลูกถวายชีวาเป็นข้าไท |
สองพระองค์ทรงฟังขุนทองพลอด |
เข้าจูบกอดเชยชิดพิสมัย |
น่าเอ็นดูรู้พูดเล่นเป็นพ้นใจ |
เจ้ามาไปด้วยพ่อจะขอชม |
อันเหยี่ยวกาสารพัดที่สัตว์ร้าย |
ไม่ให้กรายลูกเลยเท่าเส้นผม |
พระตรัสพลางทางชวนกันเชยชม |
จนแดดร่มสุริยงเย็นสบาย |
สองกระษัตริย์ตรัสชวนสกุณชาติ |
ภาณุมาศสายัณห์จะผันผาย |
อีเหยี่ยวเฉี่ยวลูกน้อยเป็นรอยลาย |
ยังเจ็บกายพ่อกอดอย่าบินบน |
แล้วชวนน้องประคองนกเหาะระเห็จ |
สองเสด็จมาในท้องห้องเวหน |
พระแรมไพรไคลคลานภาดล |
ประจวบจนเจ็ดราษราตรี |
บรรลุถึงพาราเมืองกาหลง |
พอสุริยงรุ่งรางสว่างศรี |
พระลอยลมชมราชธานี |
ประกอบมีปรางค์มาศปราสาททอง |
ทั้งตึกกว้านบ้านเรือนโรงหัตถี |
ตลอดมีร้านรายขายข้าวของ |
ทั้งม้ารถคชพลอนนต์นอง |
นครของใครหนอสนุกครัน |
จะลงไปไถ่ถามแต่ตามชื่อ |
จะอึงอื้อตกใจทั้งไอศวรรย์ |
สำนักนอกธานีเห็นดีครัน |
ถามสำคัญนัคราดูอาการ |
นกขุนทองสององค์ก็พร้อมจิต |
พลางพินิจหาที่รโหฐาน |
พอเห็นสวนพฤกษาน่าสำราญ |
นฤบาลรีบเหาะระเห็จไป |
ครั้นถึงจึ่งลงพลางที่กลางสวน |
พระชี้ชวนให้น้องชมพฤกษาไสว |
ทั้งสระศรีมีบัวขึ้นบังใบ |
ตำหนักใหญ่งามหยาดสะอาดตา |
เห็นกระท่อมตายายอยู่ท้ายสวน |
พระชี้ชวนคลาไคลเข้าไปหา |
ครั้นถึงเรือนเอื้อนโอษฐ์จำนรรจา |
จึ่งตรัสว่าปราศรัยเป็นไมตรี |
ท่านตายายอย่าระคายระคางหมาง |
นี่ใครสร้างพระตำหนักแลสวนศรี |
ดูพฤกษาน่าชมอุดมดี |
ไม่เห็นมีคนผู้มาเก็บกิน ฯ |
๏ ฝ่ายตายายใจหายเมื่อแลเห็น |
มองเขม้นเพ่งพิศคิดถวิล |
ทั้งสองทรงดังองค์อมรินทร์ |
สองเฒ่าสิ้นสมประดีไม่มีใจ |
แล้วยับยั้งตั้งสติตอบสนอง |
พ่อทั้งสองเจ้าข้ามาแต่ไหน |
เจ้าเป็นนายหรือชายสัญจรไพร |
ขออภัยเถิดจงแจ้งแห่งความจริง |
นี่สวนหลวงมีกระทรวงกระษัตริย์สร้าง |
ประทานนางองค์ธิดาพระยาหญิง |
ให้ข้าเฒ่าเฝ้าไล่ฝูงค่างลิง |
แล้วหมอบนิ่งก้มหน้าไม่พาที ฯ |
๏ พระฟังสารสองเฒ่าเล่าแถลง |
ประจักษ์แจ้งฤทัยพระโฉมศรี |
ว่าจอมจักรพรรตราธิดามี |
ให้ยินดีเป็นคู่เชยเคยประคอง |
จึ่งตรัสว่าตายายอย่าพรายแพร่ง |
จงเล่าแจ้งความจริงสิ่งทั้งสอง |
เจตนาหานางเป็นคู่ครอง |
ทั้งพี่น้องจากเมืองมาเดินไพร |
อันลูกสาวเจ้านายของยายนั้น |
ดูผิวพรรณชันษาสักเพียงไหน |
พระบุตรีกับบูรีนั้นชื่อไร |
ช่วยบอกให้รู้ความแต่ตามตรง |
แม้นเหมือนหมายยายตาอย่าเศร้าหมอง |
ทั้งเงินทองกองให้งามตามประสงค์ |
สองตายายแกก็ไหว้พระโฉมยง |
พ่อคุณจงกรุณาอย่าพาที |
ถึงเงินทองจะมากองให้ท่วมเกศ |
ลูกเกรงเดชพระผู้ผ่านบูรีศรี |
แม้นรู้ว่าข้าสื่อพระบุตรี |
ทราบคดีตายายจะวายชนม์ |
แต่ชื่อเสียงรู้เพียงจะบอกได้ |
ที่จะให้สมจิตคิดขัดสน |
ทูลกระหม่อมจอมเมืองมิ่งมงคล |
ชื่อท้าวหลวิราชเจริญพร |
ได้ดำรงนัคราเมืองกาหลง |
อันนามองค์บุตรีศรีสมร |
ชื่ออำพันมาลาพะงางอน |
อรชรน้อยแน่งดังแกล้งกลึง |
ถึงรูปเขียนเจียนวาดสะอาดเอี่ยม |
จะเทียบเทียมพระลูกเจ้าไม่เท่าถึง |
เหมือนรูปพ่อเห็นพอจะคล้ายคลึง |
อย่าอื้ออึงให้เขารู้เอ็นดูยาย ฯ |
๏ พระฟังข่าวกล่าวโฉมประโลมจิต |
พระทัยคิดเหมือนจะเห็นนางโฉมฉาย |
หยิบจินดามาจากพระน้องชาย |
พระนึกให้ตายายเป็นเงินทอง |
กวักพระหัตถ์ตรัสเรียกทั้งสองเฒ่า |
จงมาเอาไว้เถิดอย่าหม่นหมอง |
ถึงเรื่องรักจะไม่ชักให้สมปอง |
เราพี่น้องขอสำนักตำหนักจันทน์ |
ช่วยปกปิดกิตติศัพท์ให้สูญหาย |
พอสบายแล้วเราจะผายผัน |
พระตรัสพลางย่างขึ้นตำหนักพลัน |
ให้ป่วนปั่นถึงสายสวาทเพียงขาดใจ |
สนธยาจะไปหาเจ้าถึงห้อง |
ที่อยู่ของน้องรักตำหนักไหน |
ถ้าเล้าโลมโฉมยงไม่ปลงใจ |
ก็ผิดในธรรมดาปรีชาชาย |
จะรุกรบบิตุรงค์ให้ส่งเจ้า |
มาคลึงเคล้าก็จะได้ดังใจหมาย |
แม่ขวัญเมืองจะได้เคืองเรื่องระคาย |
จำเบี่ยงบ่ายถ่ายความตามทำนอง |
จึ่งตรัสเรียกสาลิกาเข้ามาใกล้ |
พ่อจะใช้ให้เจ้าถือสารสนอง |
จะได้หรือมิได้เล่าเจ้าขุนทอง |
ดูทำนองเล้าโลมนางโฉมยง ฯ |