- คำนำ
- อธิบายเรื่องโคบุตร
- ตอนที่ ๑ กำเนิดโคบุตร
- ตอนที่ ๒ ราชปุโรหิตชิงบัลลังก์เมืองพาราณสี นางมณีสาครและพระอรุณไปพบยักษ์ ๔ ตน
- ตอนที่ ๓ โคบุตรช่วยสองกุมาร กู้เมืองพาราณสี แล้วขอลาไปเที่ยวป่า
- ตอนที่ ๔ โคบุตรรบวิชาธร ฆ่าหัศกัณฐมัจฉาตาย
- ตอนที่ ๕ ยักขินีพาโคบุตรเข้าเมืองเนรมิต
- ตอนที่ ๖ โคบุตรได้นกขุนทองแล้วเข้าเมืองกาหลง
- ตอนที่ ๗ นกขุนทองถือหนังสือถวายนางอำพันมาลา
- ตอนที่ ๘ โคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา
- ตอนที่ ๙ โคบุตรพานางอำพันมาลาหนีไปเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๐ อภิเษกโคบุตรกับนางมณีสาครและนางอำพันมาลา ที่เมืองปราการบรรพต
- ตอนที่ ๑๑ นางอำพันมาลาให้เถรกระอำทำเสน่ห์
- ตอนที่ ๑๒ พระอรุณมาเมืองปราการบรรพต จับเสน่ห์เถรกระอำ
- ตอนที่ ๑๓ โคบุตรปรึกษาโทษนางอำพันมาลา
- ตอนที่ ๑๔ ขับนางอำพันมาลาออกจากเมือง
คำนำ
วรรณคดีกวีนิพนธ์เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมอันลํ้าค่าของชาติ มีคุณสมบัติสะท้อนภาพสังคม วีถีชีวิต วัฒนธรรมของคนไทยในอดีต และความเจริญด้านต่าง ๆ ของประเทศ กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญด้านการอนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่วรรณคดีกวีนิพนธ์ของชาติ มีนโยบายจัดพิมพ์หนังสือเก่าที่มีคุณค่าสู่สังคมไทย เพื่อสืบทอดอายุของหนังสือและฟื้นฟูทรัพย์สินทางปัญญา ที่บรรพชนอุตสาหะสร้างสรรค์ไว้ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า นิทานคำกลอนเรื่อง โคบุตร จันทโครบ ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ เป็นกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าทั้งด้านเนื้อหาสาระและวรรณศิลป์ ปัจจุบันหาหนังสืออ่านได้ยาก จึงเห็นควรรวบรวมพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งโดยมอบให้ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ รวมพิมพ์เรื่องโคบุตรและจันทโครบขึ้นก่อน ส่วนเรื่องลักษณวงศ์และสิงหไกรภพจะจัดพิมพ์เป็นลำดับต่อไป
เรื่อง โคบุตร นี้ นักวิชาการสันนิษฐานว่า สุนทรภู่แต่งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และน่าจะเป็นกวีนิพนธ์เรื่องแรกของ สุนทรภู่ สังเกตสำนวนโวหารในการประพันธ์และการผูกเรื่องยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่บทกลอนมีความไพเราะ ทั้งยังให้คติธรรมและคำสอนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน กรมศิลปากรจึงมอบให้นายหรีด เรืองฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบวรรณคดีไทย ซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว เป็นผู้ตรวจสอบชำระจากต้นฉบับสมุดไทยจำนวน ๘ เล่ม ซึ่งเก็บรักษาในหอสมุดแห่งชาติ ฉบับพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๕๐๑
ส่วนเรื่อง จันทโครบ เป็นกวีนิพนธ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา ดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่าเป็นสำนวนกลอนของผู้อื่นแต่งตามอย่างสุนทรภู่ แล้วอาจขอให้สุนทรภู่ตรวจแก้ไข แต่นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่า สุนทรภู่เป็นผู้แต่งไว้ถึงตอนจันทโครบเข้าถํ้านางมุจลินท์แล้วคงจะมีผู้อื่นแต่งต่อ อย่างไรก็ดี กวีนิพนธ์ตอนต้นเรื่องดังกล่าวนับว่ามีคุณค่าทางวรรณศิลป์ กรมศิลปากรจึงมอบให้นายหรีด เรืองฤทธิ์ ตรวจสอบชำระกับสมุดไทย ฉบับพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๙๙
หนังสือนิทานคำกลอนสุนทรภู่เรื่อง โคบุตรและจันทโครบ ฉบับรวมพิมพ์ ครั้งแรกนี้ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์มอบให้นางพันธุ์อร จงประสิทธิ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สอบทานกับสมุดไทย และหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก พร้อมทั้งจัดพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งได้ปรับปรุงอักขรวิธีบางส่วน และจัดทำเชิงอรรถอธิบายศัพท์เพิ่มเติมเพื่อประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือนิทานคำกลอนสุนทรภู่เรื่องโคบุตรและจันทโครบ จะอำนวยประโยชน์ทั้งด้านความบันเทิง และให้สาระอันมีคุณค่าแก่ผู้อ่าน ตลอดจนผู้สนใจศึกษาวรรณคดีกวีนิพนธ์ของชาติโดยทั่วกัน
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗