- คำนำ
- อธิบายเรื่องโคบุตร
- ตอนที่ ๑ กำเนิดโคบุตร
- ตอนที่ ๒ ราชปุโรหิตชิงบัลลังก์เมืองพาราณสี นางมณีสาครและพระอรุณไปพบยักษ์ ๔ ตน
- ตอนที่ ๓ โคบุตรช่วยสองกุมาร กู้เมืองพาราณสี แล้วขอลาไปเที่ยวป่า
- ตอนที่ ๔ โคบุตรรบวิชาธร ฆ่าหัศกัณฐมัจฉาตาย
- ตอนที่ ๕ ยักขินีพาโคบุตรเข้าเมืองเนรมิต
- ตอนที่ ๖ โคบุตรได้นกขุนทองแล้วเข้าเมืองกาหลง
- ตอนที่ ๗ นกขุนทองถือหนังสือถวายนางอำพันมาลา
- ตอนที่ ๘ โคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา
- ตอนที่ ๙ โคบุตรพานางอำพันมาลาหนีไปเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๐ อภิเษกโคบุตรกับนางมณีสาครและนางอำพันมาลา ที่เมืองปราการบรรพต
- ตอนที่ ๑๑ นางอำพันมาลาให้เถรกระอำทำเสน่ห์
- ตอนที่ ๑๒ พระอรุณมาเมืองปราการบรรพต จับเสน่ห์เถรกระอำ
- ตอนที่ ๑๓ โคบุตรปรึกษาโทษนางอำพันมาลา
- ตอนที่ ๑๔ ขับนางอำพันมาลาออกจากเมือง
ตอนที่ ๑๓ โคบุตรปรึกษาโทษนางอำพันมาลา
พระทรงฟังคั่งแค้นแสนกระสัน | ก็อ้นอั้นตันใจพระทัยหาย |
อัประมาณสามนต์พลนิกาย | คิดเสียดายเดชาสง่าเมือง |
ทั่วประเทศเขตนครขจรฤทธิ์ | ปัจจามิตรต่างระบือออกลือเลื่อง |
ทั่วจังหวัดปัถพีบูรีเรือง | ลือกระเดื่องทั่วหล้าฟ้าแลดิน |
เราหลงตีนางมณีถึงสาหัส | สารพัดที่เราผิดคิดถวิล |
หลงด้วยหญิงแพศยาเป็นราคิน | เพราะดูหมิ่นของสำคัญไม่ทันคิด |
แสนสลดเหมือนอย่างทศกัณฐ์ยักษ์ | เมื่อลิงลักล่อลวงเอาดวงจิต |
เสียยศศักดิ์เสียศรีด้วยมีฤทธิ์ | พระยิ่งคิดก็ยิ่งแค้นแน่นอุรา |
พระหยุดยั้งสั่งฝูงนางสาวสรรค์ | ไปเอาตัวนางอำพันมาข้างหน้า |
สาวสนมวิ่งกลมเป็นเกลียวมา | ทูลอำพันกัลยาประหม่าใจ |
ว่าพระองค์ทรงเรียกแม่เนื้อเกลี้ยง | ทรงกริ้วเสียงดังลั่นสนั่นไหว |
เขาจับทาสากับตาเฒ่าเข้ามาไว้ | ภูวไนยโกรธาอย่าช้าที ฯ |
๏ โฉมอำพันขวัญหายพระทัยสั่น | เห็นแม่นมั่นคงจะปลงลงเป็นผี |
พระพักตร์เผือดเลือดซีดไม่สมประดี | จรลีมากับสาวเหล่ากำนัล |
หมอบประนมบังคมพระทรงฤทธิ์ | ดังชีวิตกัลยาจะอาสัญ |
เห็นพระองค์ทรงกริ้วดังไฟกัลป์ | พระทรงธรรม์ตรัสถามนางทรามวัย |
นี่แน่เจ้าเยาวลักษณ์ศักดิ์กระษัตริย์ | จงแจ้งอรรถไปให้สิ้นที่สงสัย |
เจ้าใช้นางทาสาไปหาใคร | แต่จริงใจนะนางอย่าพรางกัน ฯ |
๏ ยุพาพาลฟังถามให้คร้ามจิต | เห็นสุดคิดที่จะแก้พูดแปรผัน |
ด้วยพวกเพื่อนเหมือนพยานออกยืนยัน | พระองค์สั่นก้มกราบกับบาทา |
โอ้พระร่มโพธิ์ทองของน้องแก้ว | เมียผิดแล้วประทานโทษโปรดเกศา |
ด้วยเปลี่ยวใจไกลญาติอนาถมา | พระผ่านฟ้าห่างเหินสะเทิ้นไป |
ซึ่งทำผิดคิดกับอีทาสา | ให้เถรทำผ่านฟ้าจนหลงใหล |
ได้เมามัวชั่วแล้วพระภูวไนย | จงโปรดไว้ชีวังแต่ครั้งเดียว ฯ |
๏ พระทรงฟังดังอัคนีรุทร | มาจี้จุดปุยนุ่นให้ฉุนเฉียว |
เจ้ามารยากาลีอย่างนี้เจียว | ยังลดเลี้ยวลิ้นลมคารมดี |
เมื่อแรกรักคิดว่าศักดิ์กระษัตริย์สูง | มาเป็นฝูงสัตว์ร้ายระบายสี |
คิดว่าหงส์หลงพลัดเป็นกากี | มาย้อมสีลวงชายด้วยลายกร |
พระกริ้วตรัสตัดพ้อนางโฉมศรี | เสียแรงที่ได้ร่วมสโมสร |
สิ้นรักแล้วอย่าพักมาวิงวอน | แต่เลือดตกในนครก็อัประมง[๑] |
จะทำลายเสียให้วายชีวาวาตม์ | ทั้งวงศ์ญาติที่อยู่เมืองกาหลง |
มิให้เหลือเชื้อชาติญาติวงศ์ | แล้วเอื้อนโองการสั่งสี่กุมภัณฑ์ |
ท่านรีบไปพาราเมืองกาหลง | ไปถึงตรงเข้าในไอศวรรย์ |
สุริยวงศ์พงศาอีอำพัน | แก่ฉกรรจ์พูดไม่ชัดมัดเอามา |
ใส่แพตะรางขังไว้กลางสมุทร | เอาไฟจุดคลอกเสียทั้งวงศา |
ทั้งอำมาตย์ทาสีเถรชรา | กุมภัณฑ์พากันไปจับมาฉับพลัน ฯ |
๏ อสุรินทร์ยินกริ้วให้พรั่นจิต | ระวังผิดช่วยรอนทูลผ่อนผัน |
แข็งอารมณ์บังคมพระทรงธรรม์ | ท้าวกุมภัณฑ์พูดเปรียบประเทียบทูล |
ซึ่งพระองค์จะประสงค์วงศ์กระษัตริย์ | ใช่จะขัดพระบัญชานราสูร |
อันรบรุกนัคราไม่อาดูร | ขอกราบทูลพระภูบาลนิทานมี |
ยังมีพราหมณ์พรหมจรรย์อันวิเศษ | เที่ยวประเวศตามป่าพนาศรี |
เข้าหยุดร่มพฤกษาพอนาคี | ขบนิ้วชี้หนีไปใต้สุธา |
พราหมณ์กำจัดตัดนิ้วกระเด็นเด็ด | ก็หายเสร็จสิ้นพิษไม่สังขาร์ |
นี่ทำชั่วก็ตัวนางกัลยา | พระวงศาใหญ่น้อยจะพลอยตาย |
อันนิ้วพราหมณ์นั้นเหมือนภุชงค์กัด | ครั้นกำจัดตัดนิ้วพิษปลิดปลิวหาย |
พระฟังยักษ์ชักทำเนียบเปรียบภิปราย | จึ่งเผยผายเทวราชประภาษพลัน |
พราหมณ์กำจัดตัดนิ้วก็เจ็บเนื้อ | อันชาติเชื้อนาคาไม่อาสัญ |
อันภุชงค์เหมือนวงศ์อีอำพัน | ไม่อาสัญจะเป็นเสี้ยนในธานี ฯ |
๏ ฝ่ายกุมภัณฑ์คนนั้นก็จนจิต | สุดจะคิดที่จะทูลพระโฉมศรี |
กุมภัณฑ์หนึ่งจึ่งกราบลงสามที | อัญชลีทูลประเทียบเปรียบนิทาน |
แต่ปางหลังยังมีกรุงกระษัตริย์ | ผ่านสมบัติสาวัตถีบูรีสถาน |
ประชวรพระยอดในกายแทบวายปราณ | พิษฝีซ่านทั่วตนสกนธ์กาย |
แพทย์ประสิทธิ์คิดประกอบโอสถแก้ | ที่เจ็บแผลมิอาจจะขาดหาย |
ยังรุมรึงตรึงฤทัยไม่สบาย | พอพบชายหมอฝีอันปรีชา |
เอาคมมีดกรีดเจาะเฉพาะหวะ | ถอนศีรษะฝีออกนอกมังสา |
ก็เหือดหายคลายโรคกระษัตรา | ขอผ่านฟ้าจงรั้งยั้งพระทัย ฯ |
๏ พระฟังเล่าขุนมารนิทานแถลง | ไม่จะแจ้งแคลงจิตคิดสงสัย |
หมอเดิมนั้นเหมือนท่านไม่ชาญชัย | ตัวเราไซร้เหมือนหมอรู้เลิศผู้ชาย ฯ |
๏ ต่างนิ่งจนขัดสนทั้งสองยักษ์ | กุมภัณฑ์หนึ่งจึ่งชักนิทานถวาย |
ขอพระทูลกระหม่อมจอมนารายณ์ | ยังนิยายโบราณนิทานมี |
ในเรื่องราวว่าดาบสอยู่ไพรสณฑ์ | เที่ยวสอยผลไม้ในไพรศรี |
พบกระท้อนอ่อนแก่บรรดามี | พระฤาษีฟาดหล่นระคนกัน |
วานรป่ามาเห็นก็หัวเราะ | กล่าวเย้ยเยาะว่าโลภละโมบฉัน |
สอยกระท้อนอ่อนกินจนสิ้นพันธุ์ | ทีหลังฉันอะไรนะพระอาจารย์ ฯ |
๏ ฤาษีสิทธิ์ได้คิดเสียดายนัก | มิได้ภักษ์เสียผลผลาหาร |
ขอพระองค์ทรงดำริเรื่องโบราณ | ขอประทานโทษญาตินางกัลยา |
อันสุกแล้วจึ่งสอยอย่าพลอยอ่อน | พวกวานรทรลักษณ์จักครหา |
พระฟังอรรถตรัสเอื้อนโองการมา | อ้ายลิงป่ามันหวงกระท้อนไพร |
จึ่งจาบจ้วงล่วงว่าพระฤาษี | นิทานนี้เป็นทำเนียบพอเปรียบได้ |
ที่ทูลความสามคนก็จนใจ | ภูวไนยไม่ฟังสุนทรทูล |
พรั่นอารมณ์ก้มเศียรลงหมอบราบ | กุมภัณฑ์หนึ่งจึ่งกราบบดินทร์สูร |
ขอพระองค์ทรงพระอนุกูล | จะกราบทูลตามนิทานบูราณมา |
ว่ายังมีวาสุกรีหนึ่งกำแหง | ไม่เกรงแรงครุฑราชปักษา |
ให้พวกนาคปากอมก้อนศิลา | ขึ้นลอยเล่นยมนาชโลทร |
สุบรรณโลภโฉบฉวยข้างเศียรนาค | เล็บกระชากปากขยิกจิกเอาหงอน |
จะพาบินหินถ่วงลงสาคร | ก็ม้วยมรณ์ชีวาด้วยนาคิน |
ครั้นนานมาชีเปลือยมันกล่าวแจ้ง | ภุชงค์แรงเพราะโอษฐ์นั้นอมหิน |
ครุฑประจักษ์หัทยาในนาคิน | ครั้นจะกินบินฉวยหางภุชงค์ |
สำรอกหินสิ้นแรงเจ้ากรุงนาค | ครุฑกระชากฉวยได้โดยประสงค์ |
บรรดาฝูงนาคราชพระญาติวงศ์ | เห็นภุชงค์ฤทธิ์หย่อนเหมือนก่อนมา |
แม้นมิโปรดโทษนางที่ผิดพลั้ง | จะเหมือนดังครุฑราชปักษา |
สุริยวงศ์พงศ์พันธุ์นางกัลยา | คงเอามาตามประสงค์ทรงระแวง ฯ |
๏ พระฟังสารในนิทานประเทียบเรื่อง | ให้ขัดเคืองจึ่งตอบสุนทรแถลง |
มิเสียทีสี่นายช่างจัดแจง | จะขอแรงเมื่อมิรับก็แล้วไป |
พระตรัสสั่งเสนาให้เตรียมทัพ | ไปโจมจับชาวกาหลงให้จงได้ |
เจ้าอรุณเห็นจะวุ่นให้หวาดใจ | บังคมไหว้สวมกอดพระบาทา |
ไม่ต้องการจะไปผลาญวงศ์กระษัตริย์ | จงประหยัดยกโทษโปรดโทษา |
คนทั้งหลายชายหญิงในโลกา | ธรรมดาบิตุรงค์องค์มารดร |
เป็นบุตรแล้วนั้นใครจะให้ชั่ว | แต่ฝ่ายตัวเหลือกำลังจะสั่งสอน |
พี่อำพันมาลาพะงางอน | จากนครมาพึ่งพักพระจักรี |
ธรรมดานารีที่ร่วมผัว | ก็มีทั่วดินฟ้าทุกราศี |
ซึ่งโฉมยงหลงเป็นไปเช่นนี้ | อีทาสีทุจริตนั้นคิดการ |
พระทรงศักดิ์เหมือนหนึ่งหลักจอมพิภพ | ขจรจบสรรเสริญเจริญสถาน |
พระทรงยศทศทิศจะคิดการ | ไปล้างผลาญญาติอำพันกัลยา |
ใครจะหาญทานฤทธิ์คิดรบรับ | ก็สำหรับชีวังจะสังขาร์ |
เหมือนสุเมรุเอนพับทับสุธา | จะบ่ายหน้าพึ่งใครนั้นไม่มี |
นางผิดพลั้งครั้งเดียวไม่ควรฆ่า | ด้วยวงศานั้นอยู่ห่างต่างกรุงศรี |
เหมือนได้โปรดน้องรักที่ภักดี | ขอประทานชีวีนางกัลยา ฯ |
๏ พระฟังอรุณทูลเรื่องบรรยาย | ค่อยเสื่อมหายคลายกริ้วพระวงศา |
จึ่งเอื้อนอรรถตรัสตอบอนุชา | คำเจ้าว่านี้ก็ควรประเพณี |
แต่อำพันนั้นไว้มันไม่ได้ | มันทำให้อายชาวบูรีศรี |
จนหลงโกรธลงโทษนางมณี | เจ้ากับพี่แทบจะขาดสิ้นญาติกัน |
พระตรัสพลางทางสั่งกับอำมาตย์ | จงพิฆาตเข่นฆ่าให้อาสัญ |
แล้วเสียบไว้ให้คนเห็นเป็นสำคัญ | ทั้งอำพันเถรเฒ่าอีชาวใน |
พระสั่งเสร็จเสด็จย่างขึ้นปรางค์มาศ | เพชฌฆาตเกณฑ์กันอยู่หวั่นไหว |
โฉมอำพันขวัญหนีไม่มีใจ | นางกราบไหว้วิงวอนพระอนุชา |
พี่ชั่วแล้วแก้วพี่อย่าผูกผิด | ด้วยชั่วจิตมัวเมาเขลาหนักหนา |
พ่อช่วยด้วยอย่าให้ม้วยมรณา | เหมือนเมตตาทารกอยู่ในครรภ์ |
ประจวบจวนถ้วนทศมาสคลอด | พี่ม้วยมอดก็จะพากันอาสัญ |
พ่อขอไว้อย่าให้เขาฆ่าฟัน | นางรำพันโศกาลัยอยู่ไปมา ฯ |
๏ เจ้าอรุณทรงฟังให้สังเวช | ชลเนตรพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา |
น้องตั้งจิตคิดไว้แต่ไรมา | เหมือนพี่ยาร่วมท้องทั้งสองนาง |
มาหลงเชื่อคนชั่วจนมัวหมอง | อย่างนั้นน้องก็ไม่คิดระคางหมาง |
ด้วยสัจจาตั้งใจอยู่ฝ่ายกลาง | พระพี่นางเบาใจจึ่งได้อาย |
แทบจะวุ่นขุ่นเคืองถึงเมืองโน้น | ฉันปลอบโยนให้ทุเลาบรรเทาหาย |
จะขอดูตามบุญอย่าวุ่นวาย | แล้วห้ามนายเพชฌฆาตไปทันที |
จงหยุดยั้งรั้งรอพอสร่างโกรธ | จะขอโทษตามบุญของโฉมศรี |
แล้วนบนอบปลอบพลางนางเทวี | จรลีมายังที่พระพี่นาง |
ทูลเนื้อความตามจับตาเถรเฒ่า | นำขุดเอารูปรอยได้ต่างต่าง |
รับเป็นสัตย์ซัดถึงอำพันนาง | สั่งให้ล้างเสียด้วยกันทั้งสามรา |
ฉันสงสารแม่อำพันด้วยครรภ์แก่ | จะผันแปรทูลขอต่อเชษฐา |
นางทรงฟังคั่งแค้นแน่นอุรา | ด้วยโกรธารึงรุมกลุ้มพระทัย |
เขาทำพี่นี่หากไม่ม้วยมิด | ยังจะคิดผันแปรเข้าแก้ไข |
รู้กระนั้นไปจับจำเขาทำไม | ถึงบรรลัยก็ตัวข้าชีวาวาย ฯ |
๏ อรุณฟังตอบองค์อนงค์นาฏ | พยาบาทนี่กระไรมิใคร่หาย |
จะมาโกรธกริ้วแค้นกับคนตาย | ถึงเจ็บอายก็แจ้งอยู่เต็มใจ |
แต่เพียงนั้นเขาก็เห็นว่าเป็นผิด | เอาชีวิตไปทำอะไรได้ |
หรือรักให้เป็นกรรมติดตามไป | ดูพระทัยนั้นไม่คิดอนิจจัง |
ใครเกิดมาถ้าจิตนั้นติดปราชญ์ | ย่อมหมายมาดขันตีเป็นที่ตั้ง |
เหมือนเขาสุเมรุมาศไม่พลาดพลั้ง | ใครชิงชังเหมือนหนึ่งว่าพายุพาน |
ถึงแสนลมที่จะหมายทำลายโลก | ไม่คลอนโยกหนักแน่นเป็นแก่นสาร |
ใครเกิดจิตอิจฉาเป็นสามานย์ | สันดานพาลผู้ใดทำกรรมอนันต์ |
แม้นนางอยู่ฟูเฟื่องจะเลื่องชื่อ | ตลอดลือแหล่งหล้าสุธาสวรรค์ |
แม้นมิเชื่อถ้อยคำที่รำพัน | จะเจ็บแค้นแทนกันทำไมมี ฯ |
๏ นางฟังน้องตรองตรึกค่อยนึกได้ | เข้ากอดจูบลูบไล้พระโฉมศรี |
พี่พูดตามโกรธาอย่าราคี | พ่อเห็นดีแล้วไม่ห้ามตามอารมณ์ |
จึ่งพูดจาโดยดีกันพี่น้อง | ทั้งพวกพ้องข้าสาวเหล่าสนม |
จะกล่าวถึงขุนทองเที่ยวล่องลม | ไปเที่ยวชมพฤกษาสารสำราญใจ |
ตะวันชายบ่ายพักตร์เข้านัคเรศ | ปีนข้ามเขตเขาเขินเนินไศล |
เห็นลำดวนหวนหอมตลบไพร | คิดถึงสองทรามวัยให้เสียดาย |
ทั้งหม่อมพ่อพระองค์น้องอยู่ปรางค์มาศ | หอมประหลาดดอกไม้ได้ถวาย |
ลงจิกพวงดวงดอกลำดวนราย | แล้วผันผายบินพามาวังใน |
เข้าสู่ปรางค์นางมณีเห็นพี่น้อง | นกขุนทองปีกประนมบังคมไหว้ |
แบ่งลำดวนส่วนถวายนางทรามวัย | คาบมาให้พ่ออรุณแล้วทูลพลัน |
ลูกเที่ยวเล่นเห็นลำดวนก็หวนนึก | คิดรำลึกถึงหม่อมพ่อแล้วผายผัน |
เก็บดอกไม้พอได้มาแบ่งปัน | เหลืออยู่นั้นจะถวายหม่อมแม่น้อย |
ดอกลำดวนดกกระไรในไพรสณฑ์ | ไม่มีคนผู้ใดจะไปสอย |
อรุณรับขุนทองประคองค่อย | ช่างชดช้อยน่าจะกลืนชูชื่นใจ |
แม่อำพันของขุนทองนั้นต้องโทษ | เจ้าพ่อโกรธสั่งให้ฆ่าไม่ปราศรัย |
เดี๋ยวนี้พ่อให้เขารอเอานางไว้ | ขุนทองไปทูลขอพ่อสักพัก |
มาที่นี่พ่อดีใจจงไปก่อน | ช่วยอ้อนวอนขอองค์พระทรงศักดิ์ |
ถ้ามิได้จงกลับมาอย่าช้านัก | ให้ประจักษ์จะได้ทูลทันเวลา ฯ |
๏ ขุนทองฟังตกตะลึงคะนึงนิ่ง | ว่าจริงจริงหรือปดหม่อมพ่อจ๋า |
อรุณลูบจูบเล่าเจ้าสาลิกา | พ่อจะว่าปดเจ้าเอาอะไร |
เจ้าไปดูเถิดยังอยู่พระโรงนอก | แต่อย่าออกไปนานนั้นไม่ได้ |
จงด่วนไปทูลพระองค์ทรงชัย | ถึงมิได้กลับมาอย่าช้าที |
สาลิกาทูลลาอรุณน้อย | ถลาลอยมาพระโรงอันเรืองศรี |
เห็นอำพันกันแสงไม่สมประดี | สกุณีโผลงริมองค์นาง ฯ |
๏ นางแลเห็นสาลิกาน้ำตาตก | ประคองนกกอดแอบไว้แนบข้าง |
นางสะอื้นบอกสาลิกาพลาง | สั่งให้ล้างแม่เสียแล้วพ่อแก้วตา |
พ่ออรุณนั้นสั่งให้ยั้งไว้ | ถ้าหาไม่ไหนจะเห็นเจ้าปักษา |
เออไฉนใครบอกจึ่งออกมา | เป็นเวราของแม่ต้องแน่ใจ |
เจ้าช่วยแม่แก้ไขไปทูลขอ | บอกหม่อมพ่อยกโทษช่วยโปรดให้ |
เหมือนช่วยชีวิตน้องขุนทองไว้ | ไม่เห็นใครที่จะช่วยแม่ด้วยรา ฯ |
๏ ขุนทองฟังนางว่าน้ำตาไหล | ก็ร้องไห้ตามเพศของปักษา |
แต่เช้าตรู่ลูกสู่อรัญวา | ไม่รู้ว่าภัยพาลประการใด |
เก็บดอกไม้มาถวายสองสามดอก | อรุณบอกว่าเจ้าแม่จะตักษัย |
ได้ยินข่าวลูกอนาถเพียงขาดใจ | กรรมอะไรมาเป็นถึงเช่นนี้ |
แม้นหม่อมแม่ม้วยมอดไม่รอดแล้ว | ก็เหมือนสาลิกาแก้วนี้เป็นผี |
เคยร่วมร้อนจรพรากจากบูรี | พระชนนีนี้ไซร้บรรลัยลาญ |
จะไปเฝ้าเจ้าพ่อทูลขอโทษ | เผื่อจะโปรดลูกรักไม่หักหาญ |
แล้วปักษาลาองค์นางนงคราญ | บินทะยานมาปราสาทพระภูธร |
พอถึงห้องทำร้องอยู่กรีดกราด | เผ่นผงาดโลดขึ้นปัจถรณ์ |
พระโคบุตรสุริยาสถาวร | ประคองกรรับสาลิกาพลัน ฯ |
๏ นกขุนทองร้องไห้พิไรว่า | เจ้าพ่อจ๋าทำไมฆ่าหม่อมแม่ฉัน |
แม่ทำชั่วตัวผิดสิ้นชีวัน | น้องในครรภ์ของขุนทองจะมรณา |
จะพลอยตายเปล่าเปล่าไม่เข้าข้อ | ฉันทูลขอโทษเถิดหนอคุณพ่อจ๋า |
จะได้เล่นเลี้ยงน้องเป็นสองรา | สาลิกาอยู่เดียวก็เปลี่ยวกาย ฯ |
๏ พระลูบเศียรขุนทองสนองสาร | ไม่ต้องการจะเอาไว้เป็นเชื้อสาย |
มันชั่วแล้วก็ล้างให้วางวาย | จะเสียดายมันทำไมอีกาลี |
ถึงลูกเกิดอยู่ในกลางหว่างเสน่ห์ | มันเจ้าเล่ห์เหมือนมารดาน่าบัดสี |
คอยเลี้ยงลูกที่ในท้องแม่มณี | อีกาลีสาลิกาอย่าอาลัย ฯ |
๏ ขุนทองฟังเห็นยังกำลังโกรธ | ไม่ยกโทษกัลยาน้ำตาไหล |
เอาความหลังครั้งก่อนวอนพิไร | ลูกคิดไปก็สงสารนางเทวี |
อุตส่าห์ตั้งพยายามมาตามติด | สิ้นชีวิตพ่อแม่ไม่เห็นผี |
เห็นแต่องค์ผ่านฟ้าก็ฆ่าตี | ก็ไม่มีเห็นใครที่ไหนแล้ว |
ทั้งเจ้าแม่อำพันก็ครรภ์แก่ | สงสารแต่น้องสาลิกาแก้ว |
แม้นเจ้าแม่ม้วยมอดไม่รอดแล้ว | น้องของแก้วสาลิกามาพลอยตาย ฯ |
๏ พระฟังนกยกเรื่องแต่เบื้องหลัง | ที่แค้นคั่งแทบจะดับระงับหาย |
แล้วปั่นป่วนหวนคิดถึงเรื่องร้าย | กลับระคายเคืองแค้นแน่นพระทัย |
จึ่งเอื้อนอรรถตรัสห้ามเจ้าปักษี | อย่าเซ้าซี้ไปเลยเลี้ยงมันไม่ได้ |
ควรตายก็ให้ตายเสียดายไย | ภูวไนยแกล้งบรรทมไม่พาที |
สาลิกาอุตส่าห์ประโลมพลอด | เอาเศียรสอดเข้าในอกพระโฉมศรี |
เห็นกับนางเมียรักพระจักรี | ถึงครั้งนี้ก็เพราะรักพระภูธร |
มิใช่นางนอกจิตคิดกบฏ | จงเงือดงดหยุดยั้งสักครั้งก่อน |
พระทำกริ้วมิให้สาลิกาวอน | ข้าจะนอนแล้วอย่ามาวุ่นวาย |
จะบอกเจ้าให้รู้อย่าจู้จี้ | โมโหแล้วก็จะตีเอาง่ายง่าย |
แล้วทำเชือนเบือนพักตร์ไม่ทักทาย | นกขยายวอนทูลพระภูบาล |
แม้นไม่เลี้ยงถึงจะล้างให้วางวาย | แต่พอคลอดน้องชายน่าสงสาร |
จึงค่อยฆ่าโฉมฉายให้วายปราณ | ขอประทานโทษน้องขุนทองไว้ ฯ |
๏ พระทรงนิ่งอิงเขนยไม่เอ่ยถ้อย | ขุนทองน้อยทูลพลางทางร้องไห้ |
เอาเศียรซบจบบาทจะขาดใจ | สุดอาลัยแล้วถวายบังคมลา |
บินมาถึงหน้าปรางค์นางมณี | ลงจับที่เพลาอรุณพ่อคุณจ๋า |
ว่าทรงฤทธิ์ติดจะกริ้วเต็มประดา | ลูกวอนว่าก็ไม่หยุดเห็นสุดคิด |
พระโฉมยงนั้นทรงบรรทมนิ่ง | เห็นอยู่จริงลูกรักให้หนักจิต |
หม่อมพ่อลองไปรอขอชีวิต | เห็นทรงฤทธิ์จะโปรดซึ่งโทษทัณฑ์ ฯ |
๏ อรุณฟังนกขุนทองสนองสาร | พ่อดูการเห็นยังกริ้วอยู่กวดขัน |
ตามกุศลผลกรรมทำมานั้น | ช่วยแก้กั้นกว่าจะสิ้นกำลังไป |
อัญชุลีพี่นางแล้วย่างย่อง | ชวนขุนทองร่วมจิตพิสมัย |
มาถึงปรางค์เชษฐาประหม่าใจ | ตรงเข้าไปห้องทองทั้งสองรา ฯ |
๏ ครั้นถึงอาสน์อภิวาทถวายหัตถ์ | พงศ์กระษัตริย์เห็นน้องรักกับปักษา |
พระตรัสถามความโมโหด้วยโกรธา | เขาเข่นฆ่าแล้วหรือหนาอีกาลี |
อรุณกราบสารภาพด้วยผิดพลั้ง | ฉันให้ยั้งไว้พระโรงอันเรืองศรี |
ด้วยคิดเห็นครหาเป็นราคี | เพราะเทวีทรงครรภ์กุมารา |
เป็นน้ำเนื้อเชื้อวงศ์ของทรงฤทธิ์ | ไม่มีผิดกุมารังพลอยสังขาร์ |
ราษฎรก็จะค่อนจำนรรจา | ว่าเข่นฆ่าโอรสอยู่ในครรภ์ |
กับข้อหนึ่งเทวีไม่มีญาติ | พอพลั้งพลาดชีวาก็อาสัญ |
ไม่มีใครขอร้องช่วยป้องกัน | นินทาฉันก็มีกับพี่นาง |
ด้วยโกรธขึ้งหึงกันจึ่งเกิดเข็ญ | ใครจะเห็นในจิตว่าคิดหมาง |
ทั้งตัวน้องร่วมท้องกับพี่นาง | ไม่แคล้วทางครหาทั้งธานี |
จะว่าน้องแถลงแกล้งขอโทษ | แม้นมิโปรดเข่นฆ่านางโฉมศรี |
มันจะว่าฉันมาขอพอเป็นที | คงกระนี้แน่นักประจักษ์ใจ |
จงเมตตาทารกโอรสน้อย | ได้ติดต้อยตามเชื้อเป็นเนื้อไข |
แม้นมิจำทำอีกไม่อายใจ | ประหารให้มอดม้วยลงด้วยกัน ฯ |
[๑] อัประมง = อัปมงคล