- คำนำ
- อธิบายเรื่องโคบุตร
- ตอนที่ ๑ กำเนิดโคบุตร
- ตอนที่ ๒ ราชปุโรหิตชิงบัลลังก์เมืองพาราณสี นางมณีสาครและพระอรุณไปพบยักษ์ ๔ ตน
- ตอนที่ ๓ โคบุตรช่วยสองกุมาร กู้เมืองพาราณสี แล้วขอลาไปเที่ยวป่า
- ตอนที่ ๔ โคบุตรรบวิชาธร ฆ่าหัศกัณฐมัจฉาตาย
- ตอนที่ ๕ ยักขินีพาโคบุตรเข้าเมืองเนรมิต
- ตอนที่ ๖ โคบุตรได้นกขุนทองแล้วเข้าเมืองกาหลง
- ตอนที่ ๗ นกขุนทองถือหนังสือถวายนางอำพันมาลา
- ตอนที่ ๘ โคบุตรได้นางอำพันมาลาเป็นชายา
- ตอนที่ ๙ โคบุตรพานางอำพันมาลาหนีไปเมืองพาราณสี
- ตอนที่ ๑๐ อภิเษกโคบุตรกับนางมณีสาครและนางอำพันมาลา ที่เมืองปราการบรรพต
- ตอนที่ ๑๑ นางอำพันมาลาให้เถรกระอำทำเสน่ห์
- ตอนที่ ๑๒ พระอรุณมาเมืองปราการบรรพต จับเสน่ห์เถรกระอำ
- ตอนที่ ๑๓ โคบุตรปรึกษาโทษนางอำพันมาลา
- ตอนที่ ๑๔ ขับนางอำพันมาลาออกจากเมือง
ตอนที่ ๗ นกขุนทองถือหนังสือถวายนางอำพันมาลา
๏ ขุนทองรับอัพภิวันท์รำพันพลอด | ลูกจะสอดสืบความตามประสงค์ |
ลูกอาสากว่าจะได้ดังใจจง | คุณพ่อคงได้ชมสมคะเน |
จะพูดพลอดสอดคล้องให้ต้องจิต | ดูจริตนางในให้หลายเล่ห์ |
ปะเลาะเลียบเลียมชวนให้รวนเร | สมคะเนแล้วจะทูลประโลมนาง ฯ |
๏ พระกอดจูบลูบสาลิกาแก้ว | ดีจริงแล้วคิดเหมือนใจไม่ขัดขวาง |
ระงับภัยที่จะไปในกลางทาง | อย่านอนค้างกลางดงจงกลับมา |
นกขุนทองป้องปีกเคารพรับ | ยืนขยับโผผันด้วยหรรษา |
ขึ้นลอยลมไปในหว่างกลางนภา | เข้าพาราร่อนลงตรงวังใน |
โสตสดับตรับเหตุสังเกตจิต | ว่ามิ่งมิตรอยู่ปรางค์มุขอันสุกใส |
มีต้นกร่างข้างแกลปราสาทไชย | สำราญใจลงจับขยับมอง |
นัยน์ตาสอดลอดแลเห็นแกลแย้ม | ไอกระแอมส่งเสียงสำเนียงก้อง |
หัวเราะร่าอยู่หน้าพระแกลทอง | นัยน์ตามองโฉมเฉลาดูเยาวมาลย์ ฯ |
๏ โฉมอำพันมาลาไสยาหลับ | ให้วาบวับแว่วเสียงสำเนียงหวาน |
นางลงจากแท่นรัตน์ชัชวาล | แล้วเผยบานพระแกลเหลียวแลมา |
พอเสียงอาดนกฉลาดเข้าแอบลับ | นัยน์ตาจับเพ่งพิศขนิษฐา |
สะอาดเอี่ยมเทียมเทพธิดา | สาลิกาพิศวงด้วยองค์นาง |
ทำเลียบเมินเดินมาตรงหน้ามุข | ยืนหัวซุกไซ้ขนบนกิ่งกร่าง |
นางเนื้อเย็นเห็นสาลิกาพลาง | งามสำอางเลิศล้ำสกุณี |
ปากเหลืองดังทองคำธรรมชาติ | ขนสะอาดผาดขำดูดำสี |
คะนึงในน้ำพระทัยนางเทวี | เมื่อตะกี้ชะรอยเสียงสาลิกา |
ดำริพลางนางเรียกขุนทองเอ๋ย | เป็นไรเลยเสียไม่พูดเล่าปักษา |
หัวเราะหยอกหลอกแม่ให้แลมา | แล้วเมินหน้าเสียไม่พูดให้แม่ฟัง ฯ |
๏ นกขุนทองหัวร่อแล้วขอโทษ | อย่าถือโกรธลูกไม่มีนัยน์ตาหลัง |
เมื่อแรกมาเห็นหน้าพระแกลบัง | แต่พูดพลั้งออกไปนิดยังคิดกลัว |
มิชอบใจจะว่าใครมาพูดแจ้ว | ถ้ากริ้วแล้วว่าขุนทองนี้ชาติชั่ว |
จะให้สาวชาววังมาจับตัว | ลูกก็กลัวที่จะไปไม่ใคร่ทัน ฯ |
๏ ฟังเสนาะเพราะเสียงสำเนียงนก | นางลูบอกแล้วก็ทรงพระสรวลสันต์ |
แม่เจ้าเอ๋ยรู้จริงทุกสิ่งอัน | แล้วรับขวัญเรียกสาลิกาทอง |
มานี่เถิดเจ้าสาลิกาเอ๋ย | ให้แม่เชยแต่พอชื่นอารมณ์หมอง |
ข้าวกับไข่แม่จะใส่จานทองรอง | เจ้าขุนทองเข้ามาชิมให้อิ่มใจ ฯ |
๏ สกุณีตีปีกหัวร่อร่า | เจ้าแม่จ๋ามาลวงให้หลงใหล |
ครั้นเข้าชิดแล้วจะปิดพระแกลไว้ | แม่คงจับลูกได้ไว้ใส่กรง ฯ |
๏ อนิจจาว่าเปล่าดอกเจ้าเอ๋ย | แม่ไม่เคยลวงใครให้ใหลหลง |
จะจับเจ้าไว้ทำไมที่ในกรง | แม่ชมเชยแล้วจะส่งไปรวงรัง |
จริงกระนั้นหรือฉันจะไปหา | สาลิกาทำขยับแล้วกลับหลัง |
หัวเราะร่าว่าเจ้าแม่กรุณัง | ลูกฝรั่งหรืออะไรจะให้ทาน |
จะให้จริงทิ้งมาเถิดเจ้าแม่ | แต่พอแก้แสบท้องเป็นของหวาน |
พอค่ำไปเช้ากลับมารับประทาน | อ้างพยานกิ่งกร่างกับปรางค์ทอง |
ดูดู๋เจ้าใจแข็งเสียแรงปลอบ | คิดเห็นชอบหรือไฉนให้ทิ้งของ |
บุญแม่น้อยมิได้อุ้มเจ้าขุนทอง | นุชน้องเจ้างับพระแกลบัง |
นกขุนทองป้องปีกเคารพรับ | น้อมคำนับขยับบินแล้วผินหลัง |
อนิจจาผิดล้นพ้นกำลัง | นี่หรือยังจะรักไปให้ยืดยาว |
ก็สาสมที่อารมณ์เราทำชั่ว | ท่านรักตัวแล้วยังดื้อทำอื้อฉาว |
โอ้เคราะห์ร้ายเรื้อรังมาทั้งคราว | ฉันลาเจ้าแม่แล้วอย่าโกรธเลย |
ทำยกปีกเหมือนจะถาไปอากาศ | สุดสวาทผลักบานบัญชรเผย |
มาเถิดมาสาลิกาอย่าโกรธเลย | แม่เจ้าเอ๋ยใจน้อยนี่สุดใจ |
นกขุนทองว่าฉันลองใจเจ้าแม่ | คิดอยู่แต่จะไม่เผยบัญชรให้ |
คอยรับลูกเถิดจะโผนโจนลงไป | ลูกอ่อนใจแสบท้องมาสองวัน |
แล้วย่างเหยียบเลียบโจนจากกิ่งกร่าง | พอถึงนางเหมือนจะตกทำหกหัน |
นางผวาคว้ารับขุนทองพลัน | แล้วรับขวัญจูบกอดเจ้าสาลิกา |
เอาจานทองมารองข้าวกับไข่คลุก | กล้วยน้ำสุกปอกส่งให้ปักษา |
ลูกฝรั่งมังคุดอันโอชา | สาลิกากินพลอดเฉาะฉอดไป |
เจ้าแม่จ๋าถ้าลูกกินอิ่มแล้ว | จะปล่อยแก้วสาลิกาหรือหาไม่ |
นางยิ้มหลอกหยอกนกให้ตกใจ | ถึงมือแล้วจะไปจากเห็นยากครัน |
เออนี่แน่แม่จะถามเนื้อความหน่อย | เขาเลี้ยงปล่อยหรืออยู่ป่าพนาสัณฑ์ |
มาท่องเที่ยวอดอยากลำบากครัน | อยู่ด้วยกันเถิดเป็นไรอย่าไปเลย |
สาลิกาแสนกลเห็นคนว่าง | ได้ท่าทางก็ตอบสารเฉลย |
ไม่ทุกข์ร้อนก็จะนอนให้แม่เชย | นี่ใครเลยจะแจ้งที่ใจจง |
แม้นแม่รู้ความหลังจะสังเวช | ซึ่งทุเรศมรรคาในป่าระหง |
ด้วยเจ้าพ่อพี่น้องทั้งสององค์ | เป็นเชื้อวงศ์จักรพรรดิสวัสดี |
พึ่งแรกรุ่นรูปราวกับเจ้าแม่ | เขาลือแซ่เฟื่องฟุ้งทั้งกรุงศรี |
ว่าโฉมยงองค์หนึ่งในธรณี | เป็นบุตรีจักรพรรดิกระษัตรา |
ว่าทรงโฉมงามประโลมวิไลโลก | เธอแสนโศกมาเสาะแสวงหา |
แต่พี่น้องสององค์กับสาลิกา | ถึงพาราเจ้าแม่ได้สามวัน |
มาพบเหยี่ยวเฉี่ยวโฉบลูกบินหนี | มันตามตีสาลิกาแทบอาสัญ |
ครั้นพ้นเหยี่ยวเที่ยวหาไม่พบกัน | จึงโศกศัลย์ตกยากลำบากมา |
ได้กินข้าวคลุกไข่ของเจ้าแม่ | สงสารแต่เจ้าพ่อของปักษา |
พระพักตร์งามยามโศกจะโรยรา | ทำมารยายืนเหงาไม่จิกกิน ฯ |
๏ นางฟังคำนกสาลิกาเล่า | โอ้แม่เจ้าช่างจำได้เสร็จสิ้น |
ให้ปั่นป่วนครวญคิดถึงภูมินทร์ | แต่ได้ยินกล่าวโฉมให้ชื่นครัน |
นางเสแสร้งแกล้งซักเจ้าปักษา | สาลิกาปดดอกกระมังนั่น |
ถ้าคุณพ่อเป็นเจ้าเหมือนเล่ากัน | จะด้นดั้นหาคู่ไม่ควรเลย |
จริงจริงหรือชื่อไรเล่าเจ้าพ่อ | มิรูปหล่อหรือเจ้าสาลิกาเอ๋ย |
นกขุนทองต้องใจกระไรเลย | จะชมเชยชวนคบเฝ้ารบไป ฯ |
๏ ตามแต่เยาะเถิดเป็นเคราะห์ของลูกร้าย | พระโฉมฉายเธอไม่มาก็ว่าได้ |
ถึงมิหล่อก็แต่พอประโลมใจ | บุรุษในธรณีไม่มีปาน |
หญิงที่เห็นเว้นไว้แต่เจ้าแม่ | จะงามแก้กันได้ไม่หักหาญ |
ไม่เชื่อแล้วถึงจะเล่าไม่เข้าการ | มาอยู่นานแล้วจะลาไปหากัน ฯ |
๏ นางฟังนกยกยอชะลอโฉม | ยิ่งประโลมลานจิตคิดกระสัน |
ฟังปักษาว่าประหลาดพูดพาดพัน | หรือทรงธรรม์ใช้สาลิกามา |
ดำริพลางนางแกล้งกระซิบสั่ง | แม้นกลับหลังพบคุณพ่อของปักษา |
อย่าบอกเล่าว่าเข้ามาปรางค์ปรา | คุณพ่อเจ้าเธอจะว่าไม่เกรงใจ |
เมื่อแรกคิดว่าเจ้ามาแต่ป่า | ไม่แจ้งว่าคุณพ่อเจ้ารักใคร่ |
ได้จับผิดนิดหน่อยก็แล้วไป | รำคาญใจเขาจะว่าดูน่าชัง ฯ |
๏ นกขุนทองรู้ทำนองว่านางแกล้ง | ทำเสแสร้งตอบไปเหมือนใจหวัง |
แม่ให้ทานข้าวกับไข่มิใช่ชัง | ถึงมิสั่งลูกจะบอกทำไมมี |
เป็นการด่วนจวนจะจรไปหาคู่ | เจ้าแม่อยู่จะมาบ้างในปรางค์ศรี |
ฉันจะลาเจ้าแม่อยู่จงดี | แล้วทำทีจะบินออกนอกบัญชร ฯ |
๏ นางขยับจับสาลิกากอด | ระทวยทอดฤทัยสะท้อนถอน |
กลัวปักษาจะมิทูลพระภูธร | เธอจะจรไปเสียจากพารา |
จะสั่งไปให้บอกก็อายจิต | แต่นึกคิดป่วนปั่นกระสันหา |
เล้าโลมลูบจูบกอดสกุณา | สาลิกาเอ๋ยแม่เชยไม่สิ้นรัก |
แม้นเจ้าพ่อพบสาลิกาเข้า | จะพาเจ้าจรไปจากไตรจักร |
พ่อหนีมาให้แม่ชมพอสมรัก | อย่าเพ่อหักหวนไปเสียไกลตา |
รำพันพลางทางหยิบสุคนธ์รื่น | อันหอมชื่นมาชโลมเจ้าปักษา |
ให้รู้ถึงทรงธรรม์ด้วยปัญญา | สาลิกาแจ้งความก็ตามใจ ฯ |
๏ ขุนทองเคารพจบปีกขึ้นเหนือเกล้า | จะลาเจ้าแม่แล้วอย่าโหยไห้ |
พอพบพ่อลูกจะมาอย่าอาลัย | สำราญใจโผผินบินทะยาน ฯ |
๏ นางเยี่ยมแกลแลดูจนลับเนตร | พูนเทวษพิศวงด้วยสงสาร |
ไม่เล่นด้วยสาวสนมพนักงาน | อาลัยลานถึงคุณพ่อสาลิกา ฯ |
๏ ฝ่ายขุนทองบินถลามาถึงสวน | พลางสำรวลพูดจ้อคุณพ่อจ๋า |
จูบขุนทองลองรสสุคนธา | สาลิกาเจ้าก็เต้นขึ้นเพลาพลัน ฯ |
๏ พระโคบุตรสุดสวาทด้วยนกพลอด | พระกรกอดสาลิกาแล้วรับขวัญ |
หอมระรื่นชื่นใจกระแจะจันทน์ | เกษมสันต์แจ้งความว่าทรามเชย |
จึงยิ้มเยื้อนเอื้อนถามไปตามเล่ห์ | สมคะเนแล้วหรือเจ้าสาลิกาเอ๋ย |
ใครทาแป้งแต่งตัวให้ทรามเชย | เจ้าข้าเอ๋ยหอมหวนรัญจวนใจ ฯ |
๏ ขุนทองฟังเจ้าพ่อหัวร่อร่า | ลูกอาสาพระองค์ก็คงได้ |
แล้วเล่าเรื่องกล่าวโฉมประโลมใจ | งามวิไลล้ำนางสำอางตา |
ถึงนางในไกรลาสว่างามล้ำ | ไม่งามขำเหมือนเจ้าแม่ของปักษา |
จะเปรียบกรอ่อนดังงวงไอยรา | จะดูสองนัยนาดังนิลแนม |
เปรียบขนงเหมือนหนึ่งวงธนูน้าว | ทั้งสองเต้าตั้งเต่งเปล่งแฉล้ม |
ดังสัตตบุษย์ผุดปริ่มคงคาแวม | ทั้งสองแก้มเปรียบอย่างมะปรางทอง |
เหมือนเจ้าพ่อพอสมเป็นคู่ชื่น | อันชายอื่นแล้วไม่มีเสมอสอง |
ทั้งสมบัติพัสถานก็เนืองนอง | ดุจทองแกมแก้วประกอบกัน ฯ |
๏ พระฟังนกยกโฉมให้ปั่นป่วน | ทรงพระสรวลสาลิกาแล้วรับขวัญ |
พระฟังพลอดเพลิดเพลินเจริญครัน | ถ้าแม่นมั่นเหมือนเล่าเจ้าขุนทอง |
เอานกแอบแนบชมอารมณ์ชื่น | หอมระรื่นพระยิ่งให้อาลัยหมอง |
เย็นพยับอับฟ้าน้ำตานอง | พระตรึกตรองถึงแก้วตายิ่งอาวรณ์ |
ชวนอรุณขุนทองขึ้นแท่นรัตน์ | สองกระษัตริย์บรรทมเหนือบรรจถรณ์ |
พระโคบุตรสุริยาพะงางอน | อนาถนอนนิ่งนึกถึงเทวี |
โอ้อำพันขวัญใจวิไลลักษณ์ | จะประจักษ์หรือว่าเรียมอยู่สวนศรี |
นกมาเล่าเหมือนหนึ่งเจ้าจะปรานี | รุ่งพรุ่งนี้จะให้อ่านสารแสดง |
ให้ขวัญเมืองรู้เรื่องว่าเรียมรัก | แจ้งประจักษ์ตื้นลึกไม่นึกแหนง |
ยิ่งกลัดกลุ้มรุ่มร้อนดังเพลิงแรง | แต่พลิกแพลงปลาบปลื้มไม่ลืมคิด |
จะใกล้หลับคลับคล้ายเหมือนสายสวาท | มาร่วมอาสน์อิงแอบแนบสนิท |
พระหัตถ์สอดกอดน้องประคองคิด | แล้วจุมพิตเชยปรางทางสุนทร |
นิจจาเจ้าเยาวลักษณ์วิไลโฉม | งามประโลมล้ำเทพอักษร[๑] |
อรุณฟื้นตื่นปลุกพระภูธร | ละเมอนอนเล้าโลมประหลาดครัน |
พระรู้สึกนึกเขินเมินหน้านิ่ง | ยิ่งคิดยิ่งสร้อยเศร้าถึงสาวสวรรค์ |
ไม่หลับใหลด้วยพระทัยนั้นผูกพัน | จนไก่ขันจวนรุ่งน้ำค้างโปรย |
หอมจำปาดอกลำดวนในสวนหลวง | เรณูร่วงหอมหวนรัญจวนโหย |
รื่นรื่นชื่นอารมณ์เมื่อลมโชย | พระพายโรยพัดเฉื่อยระเรื่อยมา |
สุริยงทรงราชรถเร่ง | ขึ้นปลั่งเปล่งหมดเมฆในเวหา |
พระตื่นขึ้นสรงพักตร์แลกายา | แล้วจารึกสาราเป็นความใน |
ด้วยยอดตองรองเขียนประดิษฐ์คิด | ตามจริตแรกเริ่มจะรักใคร่ |
สลักหลังสั่งซ้ำประจำไป | พระมอบให้สาลิกาแล้วพาที |
พระสั่งนอกบอกว่าโศกานัก | แล้วลูกรักอยู่บรรทมกับโฉมศรี |
อย่าปิดแกลนิทราเมื่อราตรี | พอเขาตีฆ้องยามจะตามไป |
ขุนทองกราบคาบตองจำลองสาร | บินทะยานจากสวนพฤกษาไสว |
ลงจับกร่างข้างแกลปราสาทไชย | หนังสือพิงกิ่งไม้ไว้ดิบดี |
แล้วขุนทองร้องเรียกคุณแม่จ๋า | เจ้าแม่มามารับเจ้าปักษี |
นางฟังแจ้วแว่วเสียงสกุณี | นางเทวีวิ่งผวามาหน้าแกล |
ขุนทองเห็นยกปีกเคารพรับ | ขุนทองกลับมาแล้วจ้ะพระเจ้าแม่ |
สาลิกาถาทะยานจับบานแกล | ไหนเจ้าแม่จะให้ข้าวกับไข่กิน |
นางกอดแก้วสาลิกาแล้วกล่าวถ้อย | ให้กล้วยหน่อยข้าวกับไข่เหมือนใจถวิล |
เอาใส่จานทองคลุกน้ำผึ้งริน | ขุนทองกินทางพลอดฉะฉอดไป |
ลูกประสบพบสองเจ้าพ่อแล้ว | เธอจูบแก้วสาลิกาเป็นไหนไหน |
ว่าหอมกลิ่นบุปผาสุมาลัย | ถามว่าใครให้แป้งมาแต่งทา |
ฉันไม่บอกออกความว่าเจ้าแม่ | ลูกปดแก้ว่าไปเกลือกกลีบบุปผา |
ทั้งสององค์หลงเชื่อลูกเจรจา | เฝ้าจูบกอดสาลิกาไม่อิ่มใจ |
ประเดี๋ยวพี่เอาไปจูบแล้วน้องจูบ | เฝ้าโลมลูบลูกรักจนเหงื่อไหล |
ลูกหนีมาเสียให้สาแก่น้ำใจ | ไม่กลับไปแล้วจะอยู่เสียในวัง ฯ |
๏ นางฟังเล่าเศร้าจิตคิดถวิล | กลัวภูมินทร์จะไม่แจ้งเหมือนใจหวัง |
ทำแกล้งโกรธสาลิกาด้วยวาจัง | ข้าเบื่อฟังแล้วเจ้าลิ้นทะเลวน |
เขาทาแป้งแต่งตัวให้หอมกรุ่น | เอาบุญคุณนั้นไปล้างเสียกลางหน |
ขี้ปดพ่อว่าไปเกลือกกลีบอุบล | ราวกับคนไม่เคยพบกระแจะจันทน์ |
อันคุณพ่อเจ้าหรือกระสือแป้ง | ไม่เคยแต่งอยู่แต่ป่าพนาสัณฑ์ |
นี่หรือรูปจะมิงามอร่ามครัน | เห็นไรฟันเสียสิ้นทุกสิ่งไป ฯ |
๏ นกขุนทองพูดแก้ว่าแม่สั่ง | ไปลับหลังว่าอย่าแจ้งแถลงไข |
หรือเจ้าแม่อยากให้บอกจะออกไป | ลูกดีใจอยากจะอยู่ในพารา ฯ |
๏ นางฟังคำทำโกรธเป็นทีหยอก | ไยมิบอกจะทำอะไรข้า |
ขุนทองตอบไปให้ชอบด้วยปรีชา | พระบิดาเธอจะทำอะไรมี |
ลูกคิดดูเธอยิ่งรู้ก็ยิ่งรัก | ไม่รู้จักก็ได้จูบแต่ปักษี |
แล้วหัวร่อขอโทษนางเทวี | เมื่อวานนี้ลูกทูลพระบิดา |
ว่าแม่เจ้าให้กินข้าวกับไข่คลุก | ทั้งส้มสูกให้ลูกรักนั้นหนักหนา |
แป้งอำพันจันทน์จวงกระแจะทา | พระบิดาดีใจแล้วให้พร |
ว่าแม่เจ้ามีคุณการุญด้วย | จึ่งให้กล้วยกินอิ่มสโมสร |
เหมือนเจ้าแม่มีคุณกับบิดร | ไม่ม้วยมรณ์ก็ไม่ลืมปลื้มอาลัย |
แต่แสนยากจากเมืองได้เคืองยิ่ง | ไม่มีสิ่งจะแทนพระคุณให้ |
จะมาเฝ้าเจ้าแม่ในปรางค์ไชย | ก็เกรงใจสองกระษัตริย์จะขัดเคือง ฯ |
๏ ชะปดแล้วปดเล่าเฝ้าแต่ปด | ช่างเลี้ยวลดยืนยาวเป็นราวเรื่อง |
ยิ่งให้หลอกแล้วก็หลอกอยู่เนืองเนือง | ราวกับเรื่องรามเกียรติ์เจียวสาลิกา |
แต่แรกบอกว่าออกไปหลอกพ่อ | ประดิษฐ์ต่อข้อกลอนมาย้อนว่า |
พ่อร้อยลิ้นกินหวานน้ำตาลทา | กินข้าวปลาเสียเถิดเจ้าข้าเข้าใจ |
อนิจจาไม่ว่าเปล่าหนาเจ้าแม่ | แม้นไม่แน่แล้วจงฟัดให้ตัดษัย |
พยานลูกเอามาพิงไว้กิ่งไทร | ไม่เชื่อใจฉันจะอ้างต้นกร่างทอง |
พูดพลางทางบินไปต้นไทรใหญ่ | จับกิ่งไทรไพรศรีไม่มีสอง |
ก็สมใจไม่วิตกนกขุนทอง | มาคาบตองไปถวายนางเทวี |
เจ้างามพริ้มยิ้มหยิบใบตองอ่อน | เห็นอักษรเรื่องราชสารศรี |
เป็นความขำตามคำสกุณี | พระหัตถ์คลี่นิ่งอ่านสำราญใจ ฯ |
๏ ในสารว่าอิศเรศเกศมงกุฎ | พระโคบุตรเลิศล้ำในต่ำใต้ |
นิราศร้างแรมวังตั้งพระทัย | มาอยู่ในสวนขวัญอันบรรจง |
พี่มุ่งหมายมาถวายชีวาวาตม์ | พระจอมนาฏกัลยาเมืองกาหลง |
ใบตองแทนแผ่นสุวรรณอันบรรจง | จิตจำนงต่างเครื่องบรรณาการ |
ด้วยไกลวังครั้งนี้จนเหลือแสน | ขุนทองแทนอุปทูตที่ถือสาร |
มาถึงองค์พระธิดายุพาพาล | ให้แจ้งการเรื่องรักประจักษ์ใจ |
แม้นมิพบสบสมสวาทนุช | จนสิ้นสุดชนมชีพให้ตักษัย |
เป็นกุศลดลจิตสาลิกาไป | เรียมจึงได้ชมกลิ่นสุคนธา |
ค่ำวันนี้พี่จะมาสู่หาน้อง | ขอชมห้องพระตำหนักขนิษฐา |
พอจบสารพจมานที่มีมา | พระธิดาปั่นป่วนรัญจวนครัน |
แกล้งทรงฉีกยอดตองที่รองเรื่อง | ทำทีเคืองสกุณินแล้วผินผัน |
เจ้าปักษีดีแล้วได้เห็นกัน | เที่ยวกล่าวขวัญให้รู้ทุกผู้คน |
จะพาเจ้าขึ้นไปเฝ้าพระบิตุเรศ | ให้ทรงเดชรู้ความตามเหตุผล |
ยังพวกพ้องเจ้าจะมีสักกี่คน | ทำเล่ห์กลลามเลียมไม่เจียมใจ ฯ |
๏ สกุณีรู้ทีไม่ทุกข์ร้อน | พูดอ้อนวอนไปให้ชอบอัชฌาสัย |
นี่ยอดตองฟ้องลูกประการใด | ไม่ถามไถ่บ้างเลยแม่ให้แน่ความ ฯ |
๏ นางยิ้มพลางทางตอบเจ้าปักษิณ | พ่อร้อยลิ้นสิ้นอาลัยไถลถาม |
จะยอกย้อนซ่อนเงื่อนให้เลื่อนความ | เจ้าทำงามแล้วจะเป็นอะไรมี ฯ |
๏ โอ้ตายจริงแล้วเจ้าสาลิกาเอ๋ย | ไม่รู้เลยเป็นอย่างไรไฉนนี่ |
จะฟ้องร้องให้ลูกต้องถูกตี | มิปรานีแล้วกรรมของสาลิกา |
พลางชะอ้อนวอนทูลว่าร้อยชั่ง | ขอโทษครั้งหนึ่งเถิดเจ้าแม่จ๋า |
นางแกล้งเมินเดินไปที่ไสยา | สาลิกาเต้นตามนางทรามวัย |
พลอดประโลมโฉมฉายให้คลายจิต | แสงอาทิตย์ล่วงดับลับไศล |
โฉมอำพันปั่นป่วนรัญจวนใจ | ตั้งพระทัยคอยดูพระภูมินทร์ ฯ |
[๑] เทพอักษร = เทพอัปสร